วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศ 3

07/01/53
นายกฯญี่ปุ่นเลือกรองนายกฯแทน"ฟูจิอิ"

นายยูคิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ตัดสินใจเลือกนายนาโอโตะ คัง รองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่รัฐมนตรีกระทรวงคลังคนใหม่ แทนนายฮิโรฮิสะ ฟูจิอิ ที่ขอลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ และรองนายกฯก็ประกาศรับข้อเสนอทำหน้าที่รมว.คลังแล้ว

นายกฯญี่ปุ่นยอมรับว่า การลาออกของนายฟูจิอินั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากนายฟูจิอิมีความจำเป็นในเรื่องของสุขภาพร่างกาย เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงคลังญี่ปุ่น วัย 77 ปี ได้ยื่นเรื่องขอลาออกจากตำแหน่ง

หลังจากที่เขาต้องเข้ารับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 เพราะโหมงานร่างงบประมาณปี 2553 อย่างหนักจนทำให้เขามีอาการความดันโลหิตสูงและอ่อนเพลียอย่างมาก
***********
28/12/52
นักเศรษฐศาสตร์เก็งมูลค่าบ้านในเมืองหลักสหรัฐฯ จ่อขยับขึ้น

ท่ามกลางความเงียบเหงาของการซื้อขายจากนักลงทุนในช่วงสัปดาห์ส่งท้ายปลายปี ก็มีรายงานทางเศรษฐกิจอีก 1-2 ชิ้น ที่กำลังจะประกาศออกมาเตรียมต้อนรับศักราชใหม่ นำโดยตัวเลขตลาดบ้าน ที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าภาวะการหดตัวของมูลค่าบ้านจะอ่อนแรงลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น

ตัวเลขที่ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีหน้านั้น เริ่มจากที่ตลาดคาดการณ์ว่า มูลค่าบ้านในเขต 20 เมืองหลักของสหรัฐฯ หรือดัชนี S&P / Case-Shiller น่าจะออกมาร่วงลง 7% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งจะถือเป็นอัตราการลดลงที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2550 อีกด้วย ขณะความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่จัดทำโดย the Conference Board นักเศรษฐศาสตร์ใน Bloomberg poll ก็คาดการณ์ว่าจะบวกขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53 ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบกับระดับ 49.5 ในเดือนพฤศจิกายน หลังจากที่ตัวเลขความเชื่อมั่นนี้เคยย่อลงไปแตะจุดต่ำสุดถึงระดับ 25.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ หรือเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี่เอง

ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ต่างมองว่า มาตรการจูงใจทางภาษีสำหรับตลาดบ้านประสบผลสำเร็จในการดึงดูดผู้ซื้อมากขึ้น รวมถึงทำให้สต็อกบ้านลดจำนวนลง ซึ่งมีการประเมินกันว่า มีผู้ซื้อราวๆ 2 ล้านคนที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว

และเมื่อมองผลสะท้อนผ่านตลาดหุ้น ก็พบว่า ดัชนีหุ้นกลุ่มผู้รับสร้างบ้านใน S&P ได้ปรับตัวขึ้นมาถึง 22% นับจากสิ้นเดือนมิถุนายนเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นช่วงเวลาที่มาพร้อมๆ กับการคาดการณ์ของนักลงทุนที่มองแนวโน้มตลาดบ้านกำลังสดใส และนี่ก็สอดคล้องกับผู้รับสร้างรายใหญ่ที่สุดในแถบ New Jersey อย่างบริษัท Hovnanian Enterprises ที่ออกมาบอกไว้เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาว่า ยอดขาดทุนของบริษัทในไตรมาส 4 น่าจะลดลง โดยหัวหน้าผู้บริหารฝ่ายการเงินก็มองว่า ราคาบ้านในตลาดกำลังทรงตัวดีขึ้นแล้วในขณะนี้

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากบริษัท RealtyTrac ที่เป็นผู้นำในตลาดออนไลน์สำหรับการซื้อขายบ้านที่ถูกยึด เปิดเผยว่า จำนวนการยื่นขอเข้ายึดจำนองบ้านในปีนี้อาจจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นรอบที่ 2 เมื่อดูจากจำนวน notice ที่ยื่นให้กับบรรดาเจ้าของบ้านในสหรัฐฯ กว่า 3.9 ล้านราย โดยตัวเลขได้พุ่งเกินกว่าระดับ 3.8 ล้านราย ที่เคยบันทึกไว้เมื่อปี 2008
money wake up
***********
25/12/52
เกาหลีใต้เตรียมใช้อัตราภาษี GSP กับประเทศกำลังพัฒนา

รัฐบาลเกาหลีใต้มีแผนที่จะให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences : GSP) แก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือประชาคมโลกในฐานะประเทศพัฒนาแล้ว

GSP คือระบบภาษีที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในโลกกำลังพัฒนา ด้วยการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าบางรายการที่นำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา

สำนักข่าวยอนฮัปรายงานอ้างเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังและวางแผนว่า รัฐบาลเกาหลีใต้จะพิจารณารายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับ GSP และมีเป้าหมายที่จะเปิดตัวโครงการให้ได้ภายในปีหน้า

ทั้งนี้ โครงการอัตราภาษีศุลกากรพิเศษริเริ่มโดยสหรัฐอเมริกาและประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆในช่วงทศวรรษที่ 1970
*********
25/12/52
รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกร้อง BOJ แก้ปัญหาเงินฝืด

เจ้าหน้าที่ตัวแทนจากกระทรวงการคลังญี่ปุ่น เรียกร้องคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ให้ความสนใจกับความเสี่ยงของเงินฝืด โดยกล่าวว่า GDP ของญี่ปุ่นชะลอตัวลง จึงทำให้ญี่ปุ่นเผชิญกับภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาวะเงินฝืดถือเป็นความเสี่ยงที่กำลังบั่นทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น"รัฐบาลคาดหวังว่า BOJ จะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเงินฝืด และยังคงใช้มาตรการหนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไป

สถานการณ์ด้านการจ้างงานภายในประเทศยังคงตึงตัว และมีความเป็นไปได้ว่าตัวเลขจ้างงานในญี่ปุ่นจะอ่อนแอกว่าประเทศอื่นๆ

เมื่อไม่นานมานี้ BOJ ได้จัดหาเงินทุนมูลค่า 1 ล้านล้านเยนให้กับสถาบันการเงินภายในประเทศ รวมถึงธนาคารพาณิชย์และบริษัทโบรกเกอร์ โดยผ่านการดำเนินการในตลาดเงิน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนปรนด้านการเงินฉบับใหม่ของ BOJ และมีเป้าหมายที่จะยับยั้งภาวะเงินฝืดตามที่ BOJ ได้ออกแถลงการณ์ไปก่อนหน้านี้
money wake up
**********
25/12/52
วุฒิสภาสหรัฐฯ โหวตผ่านกฏหมายสุขภาพด้วยคะแนน 60:39

ในที่สุดวุฒิสภาสหรัฐฯ ก็โหวตผ่านกฏหมายปฏิรูประบบสุขภาพ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษ และกำลังจะทำให้เป้าหมายอันดับแรกๆ ของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ใกล้เป็นความจริงมากขึ้นทุกขณะ

บรรดาวุฒิสมาชิกต่างลงเสียงให้กฏหมายดูแลสุขภาพนี้ผ่านด้วยคะแนน 60 ต่อ 39 ด้วยเสียงสนับสนุนของสมาชิกพรรคเดโมแครตทุกราย รวมถึงสมาชิกอิสระอีก 2 ราย ที่เห็นดีเห็นงามกับมาตรการมูลค่า 871,000 ล้านเหรียญนี้ กฏหมายฉบับประวัติศาสตร์ได้ครอบคลุมชาวอเมริกันที่ไม่อยู่ในระบบสวัสดิการสังคมอีกกว่าหลายสิบล้านคน ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากสมาชิกพรรครีพับลิกัน ที่กังวลว่ามาตรการดังกล่าวจะนำไปสู่การปรับขึ้นภาษี และเพิ่มภาระการขาดดุลงบประมาณ รวมถึงธุรกิจประกันที่เกี่ยวข้อง

หลังจากนี้ ทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรจะต้องกลับไปนั่งหารือกันเพื่อนำกฏหมายที่ตัวเองผ่านให้ทั้ง 2 เวอร์ชั่น มาหาจุดที่ลงตัว ก่อนที่ประธานาธิบดีจะอนุมัติและมีผลบังคับใช้จริง ซึ่งกระบวนการดังกล่าว ทางพรรคเดโมแครตก็แสดงท่าทีอยากจะให้ผ่านทันวันแถลงต่อรัฐสภาประจำปีของประธานาธิบดี โอบามา ที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงราวปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์

การเจรจาหาข้อสรุปสำหรับกฏหมายทั้งสองฉบับจะมุ่งเน้นในจุดที่เป็นความแตกต่างระหว่างภาษีสำหรับมาตรการย่อยต่างๆ รวมถึงข้อยกเว้นสำหรับการทำแท้ง ตลอดจนโครงการประกันที่ภาครัฐจัดตั้งขึ้นมาใหม่ด้วย ซึ่งอันหลังนี้รวมอยู่ในกฏหมายที่เป็นเวอร์ชั่นของสภาผู้แทนฯ แต่กลับไม่อยู่ในฉบับของวุฒิสภา

สิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับการผลักดันกฏหมายให้ผ่านมาได้จนถึงจุดนี้ ก็คือ ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงระบบดูแลสุขภาพครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สภาคองเกรสผ่านโครงการสวัสดิการผู้สูงอายุ หรือที่รู้จักกันว่า Medicare มาตั้งแต่ปี 2508 และต้องเรียกว่าเป็นการปรับโครงสร้างระบบที่ครอบคลุมสัดส่วนราว 18% ของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ ซึ่งเป็นไปตามแผนที่ประธานาธิบดี โอบามา ต้องการสกัดกั้นต้นทุนค่ารักษาพยาบาลในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาว


Dow Jones บวก 0.5% หลังคำสั่งซื้อสินค้าคงทนเพิ่มสูงกว่าคาด

สัญญาณบวกทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ยังมีอยู่ต่อก่อนก้าวขึ้นสู่ปีใหม่และเป็นไปได้ที่จะขยายตัวต่อเนื่องในปีหน้า เมื่อล่าสุดยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนปรับตัวขึ้น ขณะที่จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอรับสิทธิสวัสดิการว่างงานลดน้อยลงในสัปดาห์ล่าสุด ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขยับขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปีเมื่อคืนนี้ แม้ว่าตลาดจะปิดทำการก่อนวันปกติถึง 3 ชั่วโมงเนื่องในเทศกาลวันคริสต์มาส

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นด้วยเช่นกัน นำโดย ทองแดง ที่ราคากำลังมุ่งหน้าทำสถิติดีที่สุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นทั่วโลกที่ยังมีแรงซื้ออย่างต่อเนื่อง นักเศรษฐศาสตร์ของ Bank of America – Merrill Lynch คาดการณ์ว่า ความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนมีแนวโน้มพุ่งขึ้นตามเศรษฐกิจที่น่าจะขยายตัวได้มากกว่า 10% ซึ่งจะทำให้ยอดการเกินดุลการค้าของประเทศปรับตัวลงราว 19% ในปีหน้า

ขณะที่ราคาทองแดงจะบวกขึ้นมาได้ 100 กว่าเหรียญเมื่อคืนนี้ ราคาทองคำก็ขยับขึ้น 1.6% มาที่ 1,104 เหรียญต่อออนซ์ ที่ตลาดลอนดอน และกำลังจะทำสถิติการปรับตัวขึ้นเป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นการเพิ่มที่ยาวนานที่สุดอย่างน้อยๆ นับตั้งแต่ปี 2491 เลยทีเดียว

แม้ว่าทุกอย่างกำลังเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้นในปีหน้า โดยเฉพาะหลังจากทางการประกาศตัวเลขยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดคาดการณ์ในเดือนพฤศจิกายน แต่ทางด้านของผู้ประกอบการค้าปลีกก็กำลังพยายามกันอย่างเต็มที่ในการดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้านมากที่สุดในช่วงโค้งสุดท้ายของปี หลังจากพายุหิมะทำเอาธุรกิจปั่นป่วนไปพักหนึ่ง

กลยุทธ์ที่ร้านค้านำมาใช้ก็คือ การขยายเวลาในการเปิดให้บริการ โดยห้าง Target ขยายเวลาให้ลูกค้าเลือกจับจ่ายซื้อของกันจนถึงเที่ยงคืนเมื่อวันก่อน เช่นเดียวกับ Wal-Mart Stores และ Toys “R” Us ที่เลือกวิธีขยายเวลาปิดทำการของร้านเช่นกัน ขณะที่ผู้นำค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง Best Buy ก็ชูโปรโมชั่นสินค้า DVD บางยี่ห้อที่หั่นราคาลงเหลือเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น สำหรับกลยุทธ์เรียกลูกค้าในช่วงทิ้งทวนปี 2552 นี้
money wake up
*********
24/12/52
GDP Q3 ของนิวซีแลนด์ ขยายตัว 0.2%

เงินดอลลาร์นิวซีแลนด์อ่อนค่าลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน หลังทางการนิวซีแลนด์เผยเศรษฐกิจไตรมาส 3 ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ โดยเศรษฐกิจขยายตัวเพียง 0.2% จากไตรมาส 2 และร่วงลง 1.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ตัวเลขดังกล่าวทำให้คาดว่า ธนาคารกลางอาจไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงกลางปีหน้า ซึ่งสอดคล้องกับนายอลัน บอลลลาร์ด ผู้ว่าการธนาคารกลางที่ส่งสัญญาณว่าจะยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงเดือนมิ.ย.2553 เช่นเดียวกัน

อุตสาหกรรมก่อสร้าง การผลิต และการลงทุนภาคธุรกิจที่ชะลอตัวลงส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนิวซีแลนด์ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในรอบ 30 ปี

ขณะนี้ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังประเมินถึงกรอบเวลาในการยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยเริ่มคลี่คลายลง โดยออสเตรเลียและนอร์เวย์เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ส่วนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมลดสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์จำนองค้ำประกัน


9 เดือนปีนี้ราคาอพาร์ทเมนท์ในเกาหลีใต้ทะยานแล้ว 23.7%

เกาหลีใต้ระบุว่าราคา Apartment ในโซล พุ่งขึ้น 23.7% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้

ราคาอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เป็นที่จับตาของนักลงทุน เนื่องจากความวิตก ต่อโอกาสในการเกิดภาวะฟองสบู่ ด้านราคาสินทรัพย์

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วนั้น อาจจะเป็นการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายเข้าคุมเข้มนโยบายการเงิน

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ได้เตือนเมื่อ ก.ย. ว่า ธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากราคาอสังหาริมทรัพย์และการขยายตัวของการปล่อยกู้ในภาคที่อยู่อาศัยได้เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าได้ชะลอตัวลงหลังรัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมการปล่อยกู้

ณะนี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้คงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 7 วัน ไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2% ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่า ธนาคารจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ต้นปี 2553 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
money wake up
*********
24/12/52
หุ้นแกว่งหลังยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯ ร่วงผิดคาด ขณะรายได้ผู้บริโภคขยับขึ้น

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แกว่งตัวอยู่ในแดนบวกและลบสลับกัน ก่อนที่จะปิดบวกขึ้นได้ในที่สุด ท่ามกลางแรงขายที่เกิดขึ้นหลังจากตัวเลขยอดขายบ้านใหม่สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการออกมาลดลง ขณะกระทรวงพาณิชย์รายงานยอดการใช้จ่ายผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนพฤศจิกายน แต่ก็ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.7%

อย่างไรก็ดี ทางฝั่งของระดับรายได้ก็ขยับเพิ่มขึ้นในอัตรา 0.4% ทำสถิติปรับตัวขึ้นแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม โดยตัวเลขในส่วนของระดับค่าจ้างและเงินเดือนออกมาเพิ่มขึ้น 0.3% ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน

ผลตอบรับจากรายงานเศรษฐกิจเมื่อคืนนี้ก็ทำให้นักลงทุนเทขายเงินดอลลาร์กันออกมา ซึ่งส่งผลบวกต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์และหุ้นที่เกี่ยวข้อง โดยทางด้านราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนมาจากตัวเลขสต็อกที่ออกมาลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดอีกด้วย และนี่ยังไม่รวมถึงการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจจีนและอินเดีย ที่มีคนเริ่มออกมาพูดกันมากขึ้นถึงการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นโบรกเกอร์หุ้นรายใหญ่ อย่าง Citic Securities ที่เก็งว่าเศรษฐกิจอาจจะขยายตัวได้ถึงระดับ 12% ขณะรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอินเดียก็บอกว่า เศรษฐกิจประเทศมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง หลังจากเห็นการผลิตภาคอุตสาหกรรมดีดตัวขึ้นได้แล้ว

แรงซื้อมีเข้ามาในหุ้นกลุ่มวัตถุดิบและพลังงาน ตามทิศทางราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไปยืนเหนือ 76 เหรียญต่อดอลลาร์ในตลาดนิวยอร์ก ขณะราคาทองแดงพุ่งขึ้น 2% ส่งผลให้ราคาหุ้นผู้ผลิตรายใหญ่ อย่าง บริษัท Freeport กระโดดขึ้นไปกว่า 3% ส่วนหุ้นผู้ผลิตทองคำรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ บริษัท Newmont Mining ก็บวกขึ้นได้เกือบ 3%

และนอกจากหุ้นกลุ่ม commodity และพลังงานจะบวกได้แล้ว หุ้นกลุ่มสื่อเมื่อคืนนี้ก็คึกคักไม่แพ้กัน หลังนักวิเคราะห์ของ Wells Fargo ออกมาปรับเพิ่มคำแนะนำการลงทุนในหุ้นผู้ผลิตหนังสือพิมพ์ อย่าง บริษัท Gannett ที่เป็นเจ้าของ USA Today รวมถึงหุ้น New York Times ด้วยเหตุผลที่มองว่ายอดขายโฆษณาของธุรกิจนี้กำลังฟื้นขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมนี้
money wake up
************
23/12/52
ยอดขายบ้านสหรัฐฯ พุ่งทำสถิติใหม่ ดันหุ้นบวกต่อ

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขยับขึ้น ขณะตัวเลขยอดขายบ้านที่สร้างเสร็จพุ่งขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ในเดือนพฤศจิกายน และทำสถิติสูงสุดใหม่นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2007 ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ก็ปรับตัวขึ้นเช่นกัน ในเวลาเดียวกับที่ทางผู้บริหารธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ออกมาบอกว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคลดลงแตะจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 4 ขณะทางด้านอังกฤษก็มีการประกาศตัวเลขปรับปรุงจีดีพีไตรมาส 3 ที่ออกมาร่วงลง 0.2% ซึ่งต่ำกว่าอัตราการหดตัว 0.3% ที่ทางการประกาศไว้ในครั้งแรก

อย่างไรก็ดี บรรยากาศการจับจ่ายของคนอเมริกันในช่วงก่อนวันคริสต์มาสยังดูไม่สดใสนัก เมื่อข้อมูลของ International Council of Shopping Centers ออกมาว่า ยอดขายของร้านค้าที่เปิดมาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ปรับตัวขึ้นเพียง 0.4% ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ธันวาคมที่เพิ่งผ่านไปนี้ ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 15 สัปดาห์ หลังจากพายุหิมะครั้งใหญ่ทำให้ผู้คนต้องติดอยู่แต่ในบ้านและไม่สามารถเดินทางไปจับจ่ายซื้อหาของได้สะดวกเหมือนเคย

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้านี้ บอกว่า ปกติแล้ววันเสาร์ก่อนวันคริสต์มาสของทุกๆ ปี หรือที่เรียกว่า Super Saturday จะเป็นวันที่บรรดาร้านค้าสามารถบันทึกยอดขายได้สูงสุดของปี ยกเว้นในปีนี้ ที่ผลออกมาสร้างความผิดหวัง แม้จะมีนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งที่ยังตั้งความหวังไว้ว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกจะสามารถกลับมาทำยอดขายให้พุ่งขึ้นได้อีกครั้ง แม้ในอีกไม่กี่วันก่อนถึงวันคริสต์มาส เพื่อชดเชยสถานการณ์ความซบเซาที่เกิดจากสภาวะอากาศที่ไม่เป็นใจในสัปดาห์ที่แล้ว

ตัวเลขยอดขายบ้านในสหรัฐฯ ออกมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี สาเหตุหลักก็เป็นเพราะผู้ซื้อบ้านหลังแรกเร่งเข้าใช้ประโยชน์จากมาตรการจูงใจทางภาษีของรัฐ รวมถึงเรื่องราคาที่น่าดึงดูดใจ ซึ่งผลของรายงานในตลาดบ้านก็ทำให้มีแรงซื้อเข้ามายังหุ้นกลุ่มผู้รับสร้างบ้าน นำโดย KB Home ที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปเกือบ 7%


มูดี้ส์ลดอันดับเครดิตกรีซเหลือ A2 หลังหนี้พุ่ง

มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความเชื่อถือระหว่างประเทศ ประกาศลดอันดับเครดิตของกรีซลงหนึ่งขั้นสู่ระดับ A2 จากเดิมที่ A1 เนื่องจากยอดขาดดุลงบประมาณที่พุ่งสูง

แถลงการณ์ของมูดี้ส์ระบุว่า มีแนวโน้มสูงมากที่กรีซจะเผชิญภาวะขาดสภาพคล่องในระยะสั้น หรือเผชิญปัญหารีไฟแนนซ์ นอกจากนี้ Moody’s ยังกล่าวถึงความเสี่ยงในการชำระหนี้ในระยะกลาง ถึงยาว จากการก่อหนี้จำนวนมากของกรีซ

ขณะที่แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือยังอยู่ในเชิงลบ นั้นเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่อาจจะมีการปรับลดอันดับลงต่อ

การตัดสินใจลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซโดยมูดี้ส์ในวันนี้ มีขึ้นหลังจาก ฟิทช์ และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ได้ประกาศลดเครดิตกรีซลงสู่ระดับ BBB+ จากระดับ A- ไปก่อนหน้านี้

S&P เตือนว่า จะลดอันดับเครดิตลงอีก นอกเสียจากว่านายจอร์จ พาพันเดรอู นายกรัฐมนตรีของกรีซจะดำเนินการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณ ซึ่งในขณะนี้ยอดขาดดุลงบประมาณของกรีซพุ่งขึ้นสูงสุดในบรรดาชาติสมาชิกสหภาพยุโรป

ก่อนหน้านี้รัฐบาลกรีซประกาศขายพันธบัตรมูลค่า 2 พันล้านยูโร (2.9 พันล้านดอลลาร์) ให้กับธนาคาร 5 แห่ง ขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามที่จะฟื้นฟูสถานภาพทางการเงินที่กำลังย่ำแย่ โดยพันธบัตรดังกล่าวจะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนก.พ. 2558

รัฐบาลกรีซออกมาให้คำมั่นว่า จะใช้มาตรการเพื่อปรับปรุงด้านการเงินภาคสาธารณะ หลังถูกปรับลดอันดับเครดิต

แม้อันดับความหน้าเชื่อถือที่กรีซได้รับจากมูดี้ส์ สูงกว่าที่ได้รับจากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส และ ฟิทช์ เรตติงส์ อยู่ 2 ขั้น แต่ก็ถือเป็นระดับต่ำสุดในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร 16 ประเทศ โดยรั้งท้ายร่วมกับโปแลนด์และบอสวานา

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ทำการพรรคโซเชียลลิสต์ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของกรีซในกรุงเอเธนส์ ถูกวางเพลิงได้รับความเสียหาย ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับความไม่น่าเชื่อถือทางด้านการเงินครั้งใหม่ ก่อนหน้าการอภิปรายในสภาเกี่ยวกับเรื่องหนี้สินจำนวนมหาศา


อังกฤษไฟเขียวทิคเก็ตมาสเตอร์ควบไลฟ์เนชั่น

คณะกรรมการกำกับดูแลการแข่งขันของอังกฤษ อนุมัติข้อเสนอควบรวมกิจการระหว่างทิคเก็ตมาสเตอร์และไลฟ์เนชั่นแล้ว หลังจากที่พิจารณาเห็นว่าการควบรวมกิจการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดในอังกฤษดังเช่นที่หวั่นวิตก

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอควบรวมกิจการดังกล่าวยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาโดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐและหน่วยงานกำกับดูแลของแคนาดา

ทั้งนี้ เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯได้มีคำตัดสินเฉพาะกาลคัดค้านข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าการรวมตัวกันระหว่างบริษัทจำหน่ายตั๋วรายใหญ่สุดของโลกกับบริษัทจัดคอนเสิร์ตรายใหญ่สุดของโลกจะจำกัดการพัฒนาการแข่งขันในตลาดจำหน่ายตั๋วชมคอนเสิร์ต

ทิคเก็ตมาสเตอร์และไลฟ์เนชั่นระบุว่า การควบรวมกิจการกันจะเป็นการเพิ่มทางเลือกเรื่องราคาตั๋ว เพิ่มจำนวนผู้ชมคอนเสิร์ตรายการต่างๆ และทำให้เทคโนโลยีด้านการจำหน่ายตั๋วได้รับการปรับปรุงดีขึ้น

แต่คณะกรรมการฯมีความเห็นที่แตกต่างออกไป โดยมองว่า การควบรวมกิจการของสองบริษัทจากแคลิฟอร์เนียนี้จะเป็นการขัดขวาง ซีทีเอส อีเวนทิม คู่แข่งรายใหม่และรายสำคัญจากเยอรมนีไม่ให้เข้ามารุกตลาดจำหน่ายตั๋วของอังกฤษได้

ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศแผนการควบรวมกิจการดังกล่าว ไลฟ์เนชั่นได้ตกลงที่จะให้บริการจัดจำหน่ายตั๋วคอนเสิร์ตในอังกฤษซึ่งซีทีเอสเป็นผู้จัด ซึ่งคณะกรรมการฯเห็นชอบเนื่องจากมองว่าจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันในตลาด

ไลฟ์เนชั่นไม่ได้ทำธุรกิจจัดคอนเสิร์ตในอังกฤษเท่านั้น แต่ยังทำธุรกิจค่ายเพลงโดยมีศิลปินชั้นนำในสังกัด อาทิ เจย์-ซี และมาดอนน่า ซึ่งไลฟ์เนชั่นรับหน้าที่จัดทัวร์คอนเสิร์ต ตลอดจนผลิตและจำหน่ายอัลบัมเพลง นอกจากนี้ ไลฟ์เนชั่นยังได้รับสิทธิมูลค่ามหาศาลในการจัดและโฆษณาประชาสัมพันธ์ทัวร์คอนเสิร์ตให้กับ ยูทู และ ชาคิร่า ด้วย
money wake up
********
22/12/52
“บัฟเฟตต์” มั่นใจเศรษฐกิจทุ่มเงินซื้อกิจการ”เบอร์ลิงตัน”

Posted on Tuesday, December 22, 2009
นายวอร์เรน บัฟเฟตต์ ประธานบริษัท เบิร์คเชียร์ แฮทธาเวย์ บอกในที่ประชุมพนักงานบริษัท เบอร์ลิงตัน นอร์ทเธิร์น ซานตาเฟ คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทสร้างทางรถไฟขนาดใหญ่ที่บัฟเฟตต์เพิ่งเข้าซื้อกิจการไปเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ว่า การเข้าซื้อกิจการนอร์ทเธิร์น ซานตาเฟ ก็เพราะเชื่อมั่นว่า ภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันตกของสหรัฐมีแนวโน้มที่แข็งแกร่งมากกว่าในฝั่งตะวันออก

เบิร์คเชียร์ แฮทธาเวย์เข้าซื้อกิจการเบอร์ลิงตัน นอร์ทเธิร์น ซานตาเฟ คอร์ป ด้วยเงินสดจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาถึง 26,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 100 ดอลลาร์ต่อหุ้น ทำให้เบิร์กเชียร์เข้าถือหุ้นในเบอร์ลิงตัน 77.4%

ทั้งนี้การเข้าซื้อกิจการเบอร์ลิงตัน นอร์ทเธิร์น ทำให้สถาบันจัดอันดับดับ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ขู่ลดอันดับเครดิตบริษัท เบิร์คเชียร์ แฮทธาเวย์ เพราะเกรงว่า อาจทำให้สภาพคล่องและเงินทุนในธุรกิจประกันของเบิร์คเชียร์หดตัวลง นอกจากนี้ S&P ยังให้เครดิตพินิจ ซึ่งมีนัยว่า เบิร์คเชียร์อาจถูกลดอันดับเครดิตลงจากระดับปัจจุบันที่ระดับ AAA
money news update
***********
22/12/52
ญี่ปุ่นฟื้นตัวหลังได้เปรียบดุลการค้าต่างประเทศเป็นเดือนที่ 10

กระทรวงการคลัง ญี่ปุ่นรายงานว่า ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้าต่างประเทศเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกันเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยคิดเป็นมูลค่า 373,930 ล้านเยน หรือประมาณ 13,620 ล้านบาท เป็นผลจากความต้องการสินค้าญี่ปุ่นจากสหรัฐและจีนฟื้นตัว

ตัวเลขดังกล่าวสูงเกินตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ 319,000 ล้านเยน หลังจากขาดดุลการค้าปีที่แล้วไปเป็นจำนวน 227,510 ล้านเยน

ตัวเลขดุลการค้ากับต่างประเทศ ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ 10.6% เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 27 เดือน เนื่องจากความต้องการรถยนต์ และเครื่องจักรอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ สูงขึ้น

ส่วนตัวเลขการค้ากับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ยกเว้นจีน ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้าสูงถึง 4 เท่า เนื่องจากมีคำสั่งนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นสูงขึ้น 4.7% เป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน โดยเฉพาะความต้องการสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เคมีและชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์

ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าของญี่ปุ่นลดลง 14.1% นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเสียเปรียบดุลการค้ากับจีนลดลงถึง 62.3% เนื่องจากส่งออกมากขึ้น 7.8% ขณะที่การนำเข้าลดลง 11.2% อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้ากับสหภาพยุโรปลดลงถึง 39.8% เนื่องจากการส่งออกและการนำเข้าลดลง

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 9 ธ.ค. 52 ญี่ปุ่นรายงานว่า GDP ในช่วงไตรมาสที่ 3/52 โตเพียง 0.3% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขในการประเมินขั้นต้นที่ 1.2%

ความวิตกว่า เศรษฐกิจอาจจะเผชิญกับอุปสรรคในช่วงต้นปีหน้า ทำให้รัฐบาล และ BOJ ดำเนินมาตรการทางนโยบาย ถึงแม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกกำลังยุติมาตรการฉุกเฉินที่เคยนำมาใช้ในการต่อต้านวิกฤติการเงิน


เกาหลีใต้ปรับปรุงแผนพัฒนาศูนย์กลางการเงินในประเทศ

คณะกรรมาธิการบริการด้านการเงิน (FSC) ของเกาหลีใต้ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการได้ประชุมร่วมกันเพื่อปรับปรุงแผนพัฒนาศูนย์กลางการเงินในประเทศ พร้อมให้คำมั่นว่าจะพัฒนาให้ยิ่งใหญ่ระดับมหานครเลยทีเดียว

FSC ได้พิจารณาแผนซึ่งเสนอโดยรัฐบาลท้องถิ่นอีกครั้ง และยืนยันว่าจะมีการก่อสร้างศูนย์กลางการเงินแบบครบวงจรและศูนย์การเงินของรัฐที่เขต “ยออีโด” ในกรุงโซล และเขต “มุนฮยอน” ในเมืองปูซาน ตามลำดับ

นอกจากนั้น FSC ยังสั่งการให้สถาบันนโยบายเศรษฐกิจนานาชาติแห่งเกาหลีใต้ (KIEP) ทำการศึกษาว่าควรเชื่อมพื้นที่รอบนอกเข้ากับศูนย์กลางการเงินดังกล่าวหรือไม่

ผลการศึกษาของ KIEP เปิดเผยว่า การเชื่อมเขต ยออีโด เข้ากับใจกลางกรุงโซล รวมถึงพื้นที่ ยองซาน กังนัม และโกยัง จะทำให้เกิดการขยายตัวร่วมกันอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันผลการศึกษาก็เผยว่าเขต มุนฮยอน ในเมืองปูซาน ก็สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางการเดินเรือและศูนย์กลางการเงินได้ด้วยการเชื่อมต่อกับพื้นที่เซ็นทรัลเบย์ซึ่งอยู่ใกล้กับเมือง

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาศูนย์กลางด้านการเงิน ทาง FSC ให้คำมั่นว่าจะลดความเข้มงวดของข้อกำหนดต่างๆ และพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการลงทุนยิ่งขึ้นในปีหน้า
money wake up
**********
22/12/52
นักลงทุนเก็งเศรษฐกิจยังมีแรงฟื้นต่อ หนุนตลาดหุ้นบวก

แม้ตลาดหุ้นเอเชียจะอ่อนแรงลงเมื่อวานนี้ จากปัจจัยความกังวลที่ทางการจีนมีแผนเดินหน้าใช้มาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ทางฝั่งตลาดยุโรปและอเมริกากลับบวกสวนขึ้นมาได้ สาเหตุยังเป็นเพราะการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกำลังมีแรงขับดันให้ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นทุกขณะ ซึ่งปัจจัยนี้ยังส่งผลให้นักวิเคราะห์แนะนำให้ลงทุนในหุ้น commodity อย่างเช่น Alcoa ที่เป็นผู้ผลิตอลูมินั่มรายใหญ่ ไปจนถึงหุ้นผู้ผลิตชิพคอมพิวเตอร์ อย่าง Intel ที่มีแนวโน้มความต้องการมากขึ้น

นอกจากนั้น หุ้นกลุ่มค้าปลีกก็ปรับตัวขึ้นเช่นกัน เมื่อ National Retail Federation ออกมาบอกว่า เทศกาลช็อปปิ้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายปลายปีจะกลับมาคึกคักและทำเงินให้กับผู้ประกอบการอีกครั้ง หลังจากพายุหิมะที่เกิดขึ้นในแถบชายฝั่งตะวันออกของประเทศทำให้บรรดาร้านรวงต่างๆ ต้องปิดทำการและขัดขวางการเดินทางจับจ่ายของคนอเมริกันในช่วงที่ผ่านมา

ทางด้านหุ้นกลุ่มประกันก็มีแรงซื้อเข้ามา นำโดย บริษัท Cigna และ Aetna ที่หุ้นบวกขึ้นเป็นวันที่ 2 หลังจากวุฒิสภาสหรัฐฯ ประกาศยอมให้กฏหมายปฏิรูปสุขภาพลดระดับความเข้มข้นของการเข้ามามีบทบาทของรัฐในตลาด รวมถึงยืดเวลาในการบังคับใช้ภาษีในธุรกิจประกันออกไป

สำหรับปัจจัยที่เคยเขย่าตลาดหุ้นโลกไปเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีความคืบหน้ามาจากทาง Dubai World ที่มีรายงานข่าวว่า บริษัทจะขอธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ให้ยืดเวลาการชำระหนี้ออกไปอีกในเดือนหน้า หลังพยายามปรับโครงสร้างหนี้ของตนที่มีอยู่กว่า 22,000 ล้านเหรียญ

บริษัทที่มีรัฐบาล Dubai เป็นเจ้าของรายนี้ บอกกับธนาคารว่า มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาในการรอให้มูลค่าสินทรัพย์ที่ปรับตัวลงจากเหตุวิกฤติสินเชื่อกลับมาฟื้นขึ้นได้เสียก่อน โดยสินทรัพย์บางส่วนนั้นอาจจะนำออกมาขายเพื่อจ่ายคืนหนี้เมื่อเวลาผ่านไป

ผู้บริหารธุรกิจหลักทรัพย์รายหนึ่งใน Dubai มองว่า ข่าวดีในที่นี้ก็คือ ทั้งสองฝ่ายมานั่งลงคุยกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด แม้ว่าจริงๆ แล้วควรจะทำให้เร็วกว่านี้ก็ตาม

สำหรับ Dubai World นั้น เคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า บริษัทมีแผนที่จะหยุดหรือเลื่อนการชำระหนี้คืนจนกระทั่งสิ้นเดือนพฤษภาคมปีหน้า และต่อมาในวันที่ 1 ธันวาคม ก็บอกว่า บริษัทต้องการที่จะเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้วงเงิน 26,000 ล้านเหรียญ ที่มีธุรกิจของบริษัท Nakheel PJSC รวมอยู่ด้วย และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทก็เพิ่งจะจ่ายหนี้ Islamic bond จำนวน 4,100 ล้านเหรียญ หลังจากที่ได้รับเงินกู้ช่วยเหลือ 10,000 ล้านเหรียญ มาจากทาง Abu Dhabi


กลุ่มอุตสาหกรรมอังกฤษปรับเพิ่มมุมมองเศรษฐกิจปีหน้า

ตลาดหุ้น FTSE ได้แรงหนุนหลังสมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอังกฤษ (The Confederation of British Industry: CBI) ออกมาปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2553 พร้อมกับบอกว่าธนาคารกลางอาจจะยุติแผนการอัดฉีดซื้อพันธบัตรในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ซึ่งก็หมายความว่าทางการกำลังเตรียมความพร้อมในการปรับขึ้นดอกเบี้ย

CBI ได้ปรับขึ้นคาดการณ์ตัวเลข GDP ปี 2553 จากอัตราการขยายตัว 0.9% ที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อคราวที่แล้ว ขึ้นมาอยู่ที่ 1.2% หลังจากประเมินว่าตัวเลขจะหดตัวลง 4.5% ในปีนี้ ส่วนในเรื่องดอกเบี้ย ทางสมาพันธ์ฯ ก็คาดว่า แบงก์ชาติจะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจาก 0.5% ในไตรมาส 2 ก่อนที่จะไต่ขึ้นมาแตะระดับ 2% ภายในสิ้นปี แม้ว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกอาจจะยังดูอ่อนแรงและบอบบางอยู่ก็ตาม

สำหรับในไตรมาสนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมของที่นี่ก็คาดด้วยว่า เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ระดับ 0.5% ซึ่งถือเป็นการยุติภาวะถดถอยที่ดำเนินมายาวนานที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำแห่งนี้

อย่างไรก็ตาม นาย Gordon Brown นายกรัฐมนตรีอังกฤษกำลังพยายามอย่างเต็มความสามารถในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งขณะเดียวกันก็ยังต้องปลุกปั่นฐานคะแนนเสียงให้ดีกลับขึ้นมาให้ได้ก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงด้วย

CBI ยังได้ประเมินว่า การฟื้นตัวในรอบนี้จะถูกขับเคลื่อนโดยการผลิตสะสมสต็อกหรือสินค้าคงคลังครั้งใหม่ เพื่อให้สอดรับการกลับมาของดีมานด์ในตลาดโลก ขณะที่ผู้ส่งออกของประเทศเองก็กำลังยิ้มรับภาวะเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง ซึ่งหากนับตั้งแต่ต้นปี 2550 เป็นต้นมา เงินปอนด์สเตอลิงก็ได้อ่อนค่าลงมาแล้วกว่า 20% เมื่อเทียบตะกร้าของค่าเงินสกุลหลัก

นักเศรษฐศาสตร์ประจำสมาพันธ์ฯ ก็มองว่า แนวโน้มความต้องการสินค้าที่มีมากขึ้นในตลาดโลก เมื่อมารวมกับการอ่อนค่าของเงินปอนด์ จะทำให้ภาคส่งออกของประเทศกลับมาดีขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย แม้ในปีหน้าก็อาจมีความเป็นไปได้ด้วยเช่นกันว่า อัตราการขยายตัวของยอดส่งออกอาจจะค่อยๆ แผ่วลง จนทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาหดตัวลงอย่างรวดเร็ว
money wake up************
21/12/52
เศรษฐกิจญี่ปุ่นส่งสัญญาณหลุดพ้นจากภาวะถดถอย

Posted on Monday, December 21, 2009
กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น บอกว่า กิจกรรมด้านอุตสาหกรรม (Industrial Activity) ในเดือนตุลาคม ขยายตัว 1.2% ปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่เดือนกันยายน ตัวเลขอุตสาหกรรมหดตัวลง 0.7% จนทำให้หลายฝ่ายวิตกว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจถดถอยซ้ำอีกครั้ง

กิจกรรมด้านอุตสาหกรรมตติยภูมิ (Tertiary industry activity) ขยายตัว 0.5% ในเดือนตุลาคมเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่กิจกรรมด้านการทำเหมืองแร่และการผลิตก็ดีดตัวในอัตราใกล้เคียงกัน แต่กิจกรรมด้านอุตสาหกรรมของรัฐหดตัวลง 0.4% ขณะที่กิจกรรมภาคการก่อสร้างลดลง 0.9%

และเมื่อเทียบกับปีที่แล้วกิจกรรมด้านอุตสาหกรรมโดยรวมร่วงลง 6.4% และมีเพียงกิจกรรมด้านการบริการของรัฐที่ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.9% ส่วนผลผลิตอุตสาหกรรมร่วงลง 15.1% ขณะที่กิจกรรมด้านการก่อสร้างลดลง 10.7% ส่วนกิจกรรมด้านอุตสาหกรรมตติยภูมิหดตัวลง 4.7%

ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นเดือนรัฐบาลผสม โดยการนำของพรรคดีพีเจ ได้ประกาศทุ่มงบ 7.2 ล้านล้านเยน หรือ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และป้องกันมิให้ภาวะเงินฝืดทวีความรุนแรงขึ้น
money news update
********
21/12/52
10 บริษัทยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 57.3%

Posted on Monday, December 21, 2009
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ บอกว่า ข้อมูล เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ 10 แห่ง ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 57.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่าตลาดรวมทั้งสิ้น 472.6 ล้านล้านวอน หรือ 401,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัททั้ง 10 แห่งนี้ รวมถึง บริษัท ซัมซุง กรุ๊ป ซึ่งมีทุนจดทะเบียนพุ่งขึ้นแตะ 73.2 ล้านล้านวอน หรือ 62,100 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ระดับ 117.5 ล้านล้านวอน หรือ 99,700 ล้านดอลลาร์ บริษัท ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 175.5% มาอยู่ที่ 63.8 ล้านล้านวอน หรือ 54,200 ล้านดอลลาร์ และบริษัท แอลจี กรุ๊ป มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 70.3% มาอยู่ที่ 71.4 ล้านล้านวอน หรือ 60,600 ล้านดอลลาร์

ส่วนทุนจดทะเบียนของบริษัท ฮุนได เฮฟวี่ อินดัสทรีส์ ลดลงมาแตะที่ 2.98 ล้านล้านวอนหรือ 2,500 ล้านดอลลาร์ และบริษัท คัมโฮ เอเชียนา กรุ๊ป ลดลงแตะระดับ 690 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 580 ล้านดอลลาร์
money news update
***********
21/12/52
อานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้นญี่ปุ่นดุลการค้าพุ่ง

Posted on Monday, December 21, 2009
ญี่ปุ่น ได้เปรียบดุลการค้าในเดือน พฤศจิกายนที่ 373,930 ล้านเยน หรือประมาณ 138,534 ล้านบาท สวนทางกับปีก่อนที่ขาดดุลการค้า 227,510 ล้านเยน หรือประมาณ 84,178 ล้านบาท และมากกว่าตัวเลขที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะได้เปรียบดุลการค้า 319,000 ล้านเยน หรือประมาณ 118,030 ล้านบาท

ส่วนยอดการส่งออก ได้ลดลง 6.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 4.99 ล้านล้านเยน เป็นการลดลงน้อยที่สุดในรอบ 14 เดือน ขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 16.8% อยู่ที่ 4.62 ล้านล้านเยน

กระทรวงการคลังญี่ปุ่น ระบุว่า ตัวเลขได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 10.6% ไปอยู่ที่ 404,540 ล้านเยน เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 27 เดือน จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในภาคยานยนต์ และเครื่องจักรกลหนัก ส่วนการขาดดุลการค้าในจีนหดตัว 62.3% ไปอยู่ที่ 119,970 ล้านเยน เนื่องจากยอดส่งออกเพิ่มขึ้น 7.8% ขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 11.2%

นายชีวอง ลี นักเศรษฐศาสตร์โกลด์แมนแซคส์ บอกว่า ตัวเลขการส่งออกดังกล่าวสะท้อนว่า ภาคส่งออกญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ
**********
21/12/52
นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลแนะสหรัฐฯออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ2

Posted on Monday, December 21, 2009
นายโจเซฟ สติกลิทซ์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ บอกว่า สหรัฐฯจำเป็นต้องเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับที่ 2 เนื่องจากเศรษฐกิจยังเปราะบางและจำเป็นต้องได้รับมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาล

สติกลิทซ์ยอมรับว่า เป็นไปได้ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ดังนั้นรัฐบาลต้องมีเงินในคลังที่พร้อมจะนำออกมาอัดฉีดในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่เตรียมพร้อมตั้งแต่ตอนนี้และเศรษฐกิจเกิดชะลอตัว ถึงเวลานั้นสหรัฐฯจะเข้าสู่สถานการณ์ที่ยากลำบากมากๆ สำหรับการที่สหรัฐฯและประเทศอื่นๆเริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น นับว่าเร็วเกินไป เนื่องจากตลาดแรงงานของสหรัฐฯยังตึงตัวอย่างหนัก

ทั้งนี้ สติกลิทซ์เป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และเป็นอดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของทำเนียบขาวในยุคที่บิล คลินตัน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยสติกลิทซ์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2544 จากงานวิจัยเรื่องปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในตลาดทั่วโลก
money news update
********
21/12/52
จับตาวุฒิสภาสหรัฐฯ โหวตกฏหมายปฏิรูประบบสุขภาพ

ต้องจับตาดูกันให้ดีสำหรับการโหวตผ่านกฏหมายปฏิรูประบบดูแลสุขภาพครั้งใหญ่โดยวุฒิสภาสหรัฐฯ ในวันนี้ หลังจากที่ต้องรอคอยกันมานาน ซึ่งจะถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่อีกหนึ่งก้าวของประธานาธิบดี บารัค โอบามา หากกฏหมายที่เรียกได้ว่าเป็นการพลิกโฉมระบบสาธารณสุขครั้งสำคัญที่สุดในรอบกว่า 4 ทศวรรษนี้สามารถได้รับความเห็นชอบจากบรรดาวุฒิสมาชิกได้

ก่อนหน้านี้พรรคเดโมแครตก็ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักก่อนที่จะทำให้สมาชิกพรรคของตนเห็นด้วยเป็นเสียงเดียวกัน และขณะนี้ก็เหลือเพียงด่านสุดท้ายที่จะต้องฟันฝ่าอุปสรรคจากสมาชิกทางฝั่งรีพับลิกันไปให้ได้

นาย Harry Reid ประธานสมาชิกเสียงข้างมากของวุฒิสภา ในที่สุดก็สามารถตกลงกันได้กับทางนาย Ben Nelson วุฒิสมาชิกจาก Nebraska ที่ก่อนหน้านี้แสดงความไม่เห็นด้วยกับกฏหมายบางข้อ โดยเฉพาะเรื่องการทำแท้งและต้องการให้ขยายขอบเขตการประกันสุขภาพให้ครอบคลุมผู้คนมากขึ้น จนนำไปสู่การเรียกร้องให้ขยายเวลาในการพิจารณากันออกไปอีก

นาย Harry Reid ต้องการเสียงสนับสนุนจากนาย Nelson ก็เพราะ การผ่านกฏหมายนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของสมาชิกทั้งหมด 60 ราย ที่ถูกควบคุมโดยพรรค Democrats เพื่อหลีกเลี่ยงแท็คติคการถ่วงเวลาจากทางฝั่ง Republican

กฏหมายสาธาณสุขมูลค่า 871,000 ล้านเหรียญภายใต้ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปีฉบับนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อให้ครอบคลุมชาวอเมริกันกว่า 31 ล้านคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสุขภาพ และมุ่งให้เกิดการลดต้นทุนในระบบ รวมถึงให้ปรับเปลี่ยนกฏเกณฑ์ใหม่ในธุรกิจประกันด้วย

ขณะที่ผู้คัดค้าน หรือสมาชิกพรรค Republican ก็โต้แย้งว่า มาตรการดังกล่าวจะนำไปสู่การปรับขึ้นภาษี และส่งผลกระทบทางด้านลบต่อธุรกิจประกัน ตลอดจนทำให้รัฐมีภาระการขาดดุลงบประมาณที่รุนแรงมากขึ้น

สำนักงบประมาณสภาคองเกรส (Congressional Budget Office) ได้มีการประเมินว่า แผนการของ Reid นี้ จะครอบคลุมชาวอเมริกันถึง 94% ของคนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์และมีอายุต่ำกว่า 65 ปี นอกจากนี้ แผนดังกล่าวก็น่าจะลดการขาดดุลงบประมาณลงได้ถึง 132,000 ล้านเหรียญในช่วง 10 ปีแรกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากกฏหมายนี้ผ่านวุฒิสภาไปได้ ก็จะต้องมีการนำไปพิจารณาควบคู่กับกฏหมายเวอร์ชั่นที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อไม่นานมานี้ ก่อนที่จะถูกประทับตราให้ผ่านโดยประธานาธิบดี โอบามา เป็นขั้นตอนสุดท้าย
**********
21/12/52
ยอดแบงก์ล้มในสหรัฐฯ สูงสุดในรอบ 17 ปี

บรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) เผยจำนวนธนาคารที่ล้มละลายในสหรัฐปีนี้พุ่งสูงถึง 140 แห่ง ทำสถิติสูงสุดในรอบ 17 ปี

หลังจากที่ธนาคารต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอันสืบเนื่องจากภาวะล่มสลายในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และทาง FDIC คาดว่าจะยังมีธนาคารอีกหลายแห่งที่ประสบภาวะล้มละลายในอนาคต ล่าสุดวันนี้มีธนาคาร 7 แห่งในสหรัฐประสบภาวะล้มละลาย ซึ่งธนาคารทั้ง 7 แห่งนี้ซึ่งมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 14,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ก่อนหน้านี้ FDIC ได้ปรับเพิ่มเงินงบประมาณปีหน้าขึ้นอีก 56% แตะที่ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้รับมือกับธนาคารที่อาจล้มละลายในอนาคต โดยยอดเงินบัญชีงบประมาณดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจาก 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับปีหน้า และในปีนี้ เงินช่วยเหลือที่ธนาคารจัดสรรไว้สำหรับธนาคารที่ล้มละลายเพิ่มขึ้น 2 เท่าแตะที่ 2,500 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้นแล้วจะมีการเพิ่มพนักงานขึ้นเป็น 8,653 คนในปีหน้า จากระดับในปีนี้ที่มีอยู่ประมาณ 7,000 คน

ทั้งนี้ นางเชลา แบร์ ประธาน FDIC กล่าวว่า การเพิ่มวงเงินงบประมาณดังกล่าวจะเป็นหลักประกันความพร้อมในการรับมือกับการล้มละลายของธนาคารในปีหน้า ขณะที่การล้มละลายของธนาคาร 7 แห่งเมื่อวันศุกร์ทีผ่านมาทำให้ทางหน่วยงานมีค่าใช้จ่ายราว 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

***********
19/12/52
บีโอเจลั่นเผด็จศึกวิกฤตเงินฝืด
โพสต์ทูเดย์
— ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับท่าที ยอมรับต้องจัดการกับปัญหาเงินฝืด พร้อมตรึงดอกเบี้ยในอัตราเดิม 0.1%

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศลั่นจะไม่ยอมปล่อยให้ปัญหาเงินฝืดเริ่ม รุมเร้าเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และจะไม่ปล่อยให้ระดับราคาสินค้าในตลาดปรับลดลงอย่างรุนแรง จนยังผลให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจซ้ำสอง หลังจากที่เพิ่งฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2
“คณะกรรมการนโยบายจะไม่ยอมอดทนกับอัตราดัชนีราคาผู้บริโภครายปีที่ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าระดับ 0%” แถลงการณ์ของบีโอเจ ระบุ หลังการประชุมเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งล่าสุดยังคงตรึงในระดับเดิมที่ 0.1% พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัว จากผลของมาตรการกระตุ้นในด้านต่างๆ แต่ภาวะฟื้นตัวยังไม่มีแรงหนุนมากพอที่จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้

บีโอเจแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อปัญหาเงินฝืด หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามกดดันบีโอเจให้ใช้นโยบายเชิงรุกมากกว่านี้ในการจัดการกับปัญหาเงินฝืด และเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ นายกรัฐมนตรี ยูคิโอะ ฮาโตยามา ได้หารือกับมาซาอากิ ชิราคาวา ผู้ว่าการบีโอเจ เพื่อหาหนทางรับมือกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งฮาโตยามา เปิดเผยในภายหลังว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ภาวะเงินฝืดจะฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นชะลอตัว เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ทำให้ผลประกอบการของภาคธุรกิจลดต่ำลง ทำให้ภาคธุรกิจต้องลดเงินเดือนและทำให้ผู้บริโภคเกิดความวิตกกังวลจนลังเลที่จะใช้จ่าย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ญี่ปุ่นเคยประสบมาแล้วหลังภาวะฟองสบู่แตกเมื่อช่วงทศวรรษที่ 90 ขณะที่ล่าสุดดัชนีราคาผู้บริโภคช่วงเดือนต.ค. ปรับลดลงเป็นประวัติการณ์ที่ 2.2%

ด้านฮิโรอากิ มูโตะ นักวิเคราะห์ของบริษัทลงทุนหลักทรัพย์สุมิโตโม มิตซุย กล่าวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ว่า ท่าทีของบีโอเจ ในครั้งนี้บ่งชี้ว่า จะไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าระดับเงินเฟ้อปรับขึ้นมาอยู่ในระดับเป้าหมายโดยเฉลี่ยที่ 1% ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนักวิเคราะห์ที่ระบุกับสำนักข่าวเอเอฟพี ว่า บีโอเจคาดการณ์ภาวะเงินฝืดยืดเยื้อยาวนานหลายปี ทำให้จำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยไปอีกระยะหนึ่ง

ขณะที่ซูสุมุ คาโตะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากแครียอน ซีเคียวริตีส์ กล่าวว่า บีโอเจอาจแก้ปัญหาเงินฝืดด้วยการเปิดทางให้ปล่อยเงินกู้เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มปริมาณการซื้อพันธบัตร ซึ่งเมื่อต้นเดือนนี้ บีโอเจเพิ่งตัดสินใจอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอีกถึง 1.12 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.6 ล้านล้านบาท)

ทั้งนี้ ปัญหาเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ยังส่งผลให้คะแนนนิยมของรัฐบาลญี่ปุ่นปรับลงมาต่ำกว่า 50% เป็นครั้งแรกจากการสำรวจโดยสำนักข่าวจิจิ
posttoday
**********
18/12/52
อันดับเครดิตกรีซเขย่าหุ้นอีกรอบ ขณะตัวเลขว่างงานสหรัฐฯ พุ่งต่อ

มีหลายข่าวที่รุมเร้าตลาดหุ้น เริ่มกันตั้งแต่ตัวเลขการขอรับสวัสดิการว่างงานของคนอเมริกันในสัปดาห์ล่าสุดที่ออกมาเพิ่มขึ้นผิดไปจากที่ตลาดคาด ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ บอกภายหลังจากสิ้นสุดการประชุมนโยบายการเงินว่า มาตรการอัดฉีดสินเชื่อส่วนใหญ่จะหมดอายุลงภายในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

แรงขายยังมาจากหุ้นที่เกี่ยวโยงกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เมื่อเงินดอลลาร์กลับแข็งค่าขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน เทียบกับยูโร เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ถูกขายออกมาหลังจาก Citigroup ตัดสินใจทิ้งหุ้นในราคา discount

ที่สำคัญ ตลาดยังมีความเป็นห่วงถึงกรณีสถาบันจัดอันดับ Standard & Poor’s ตัดสินใจปรับลดอันดับเครดิตประเทศกรีซลงอีกเป็นครั้งที่ 2 ว่า วิกฤติการเงินโลกที่เกิดขึ้นในรอบนี้อาจยังส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจของบางประเทศต่อไป

อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังพอมองเห็นโอกาสทางด้านบวกได้บ้าง เมื่อดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จัดทำโดย the Conference Board ออกมาเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 8 ในเดือนพฤศจิกายน ทำสถิติการปรับตัวขึ้นยาวนานกว่าที่เคยบันทึกไว้ระหว่างปี 2546 - 2546 นอกจากนี้ ผลสำรวจภาคอุตสาหกรรมในแถบ Philadelphia ที่จัดทำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็บ่งชี้ว่ามีการผลิตเพิ่มขึ้น จนทำให้ดัชนีเศรษฐกิจโดยรวมในภูมิภาคนี้ปรับตัวขึ้นแรงที่สุดในรอบกว่า 4 ปี

และทั้งหมดก็สอดคล้องกับมุมมองของซีอีโอ General Electric นาย Jeffrey Immelt ที่บอกว่า ยอดคำสั่งซื้อของผู้ผลิตเครื่องยนต์เจ็ทไปจนถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์รายใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้ กำลังขยับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน หลังจากที่บริษัทสามารถสะสมงานในมือ หรือ backlog ได้สูงถึง 174,000 ล้านเหรียญ ณ สิ้นสุดไตรมาส 3 ด้วยตัวเลขคำสั่งซื้อรวมกันกว่า 18,400 ล้านเหรียญ

ขณะที่อีกด้านเป็นบริษัทซอฟท์แวร์รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก อย่าง Oracle ก็เปิดเผยตัวเลขกำไรที่สูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากลูกค้าหลายรายต่ออายุสัญญาบริการของบริษัทแห่งนี้ แม้ตัวเลขคำสั่งซื้อใหม่จะยังออกมาดูอ่อนแรงอยู่ก็ตาม


กรีนสแปนแนะลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แนะรัฐบาลลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังดัชนี S&P 500 ตลาดหุ้นนิวยอร์กทะยานขึ้น 64% แตะระดับสูงสุดในรอบ 70 ปี พร้อมคาดว่า บริษัทที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นดังกล่าวจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 65% ในไตรมาส 4

กรีนสแปนกล่าวว่า นักลงทุนส่งแรงซื้อเข้าหนุนตลาดให้ทะยานสูงสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค. ซึ่งกระแสเงินทุนที่หลั่งไหลเข้ามาในตลาดมากขึ้นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 787,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้นส่งผลดีต่อตลาดอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น 11.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอาจไม่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจอีกต่อไป เพราะดัชนีตลาดหุ้นที่สูงขึ้นจะช่วยกระตุ้นผลกำไรและทำให้ประชาชนเข้าถึงเงินกู้ได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้น มูลค่าหุ้นสามัญในตลาด หรือหุ้นกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินรายอื่นๆจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสทั้งจากตัวเลขความมั่งคั่งในภาคครัวเรือนของสหรัฐในไตรมาส 3 ที่เพิ่มขึ้นแตะ 53.4 ล้านล้านดอลลาร์ จากระดับ 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาสก่อนหน้านี้ ยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยยอดค้าปลีกในเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้น 1.3% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า การใช้จ่ายในธุรกิจค้าปลีกเดือนพ.ย.พุ่งสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของเฟดกล่าววานนี้ว่า เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นระหว่างธนาคารไว้ที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะ แม้ว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อตลาดเงินจะเริ่มมีส่วนช่วยหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแล้วก็ตาม
********
18/12/52
ยอดค้าปลีกอังกฤษอ่อนตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

ยอดค้าปลีกของอังกฤษในเดือนพ.ย.ร่วงลง 0.3% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนต.ค. นับเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้ผู้บริโภคลดการจับจ่ายสินค้าในช่วงเทศกาลคริสตมาสที่กำลังจะมาถึง

สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเผยยอดขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารร่วงลง 0.9% ในเดือนพ.ย. โดยเฉพาะยอดขายที่ร้านเสื้อผ้าและห้างสรรพสินค้าร่วงลงมากที่สุด

ขณะที่ยอดขายสินค้าหมวดอาหารเพิ่มขึ้น 0.4% ทั้งนี้ เมื่อเทียบเป็นรายปี ยอดขายเพิ่มขึ้นเพียง 3.1% หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 3.7% ในเดือนต.ค.

นักวิเคราะห์มองว่า อัตราว่างงานที่สูงขึ้นและการฟื้นตัวที่ยังไม่มีความแน่นอนของเศรษฐกิจอังกฤษทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง.

ขณะที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส เตือนว่า หากรัฐบาลอังกฤษประกาศขึ้นภาษีและลดการบริการ ก็จะให้เกิดความไม่สงบในสังคม อีกทั้งเตือนว่าหลายประเทศรวมทั้งอังกฤษและสหรัฐอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ทันเวลา

ทั้งนี้ มูดีส์แนะนำว่ารัฐบาลควรกำหนดกรอบเวลาในการแก้ไขปัญหา อันดับแรกคือการแก้ไขวิกฤตการเงิน จากนั้นเป็นขั้นตอนการประกาศแผนการในอนาคต และท้ายที่สุดให้นำแผนการดังกล่าวมาปฏิบัติเป็นรูปธรรม ปัจจุบันอังกฤษได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ AAA ซึ่งเป็นระดับสูงสุด


กระทรวงคลังสหรัฐเลื่อนขายหุ้นซิตี้กรุ๊ป เหตุราคาขายต่ำเกินไป

หลังจากที่ซิตี้กรุ๊ป อิงค์ ประกาศระดมทุน 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการขายหุ้น 5,400 ล้านหุ้นที่ราคา 3.15 ดอลลาร์/หุ้นเพื่อหาเงินชำระหนี้ให้กับรัฐบาล

กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศเลื่อนแผนขายหุ้น 1 ใน 3 ที่ถืออยู่ในซิตี้กรุ๊ป เนื่องจากเห็นว่าราคาขายหุ้นต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้นซิตี้กรุ๊ปที่รัฐบาลซื้อมาในราคา 3.25 ดอลลาร์/หุ้นเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา โดยทางกระทรวงคลังสหรัฐถือหุ้นสามัญของซิตี้กรุ๊ปอยู่ 25,000 ล้านดอลลาร์ และถือหุ้นบุริมสิทธิ์รวมกับหุ้นที่ได้จากข้อตกลงค้ำประกันหลักทรัพย์มูลค่า 2.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนหุ้นสามัญค้างชำระของซิตี้กรุ๊ปเพิ่มขึ้นแตะที่ 28,300 ล้านหุ้น จากระดับ 22,900ล้านหุ้นในสิ้นเดือนก.ย. และขยายตัวขึ้นจาก 5 พันล้านหุ้นเมื่อช่วงสิ้นปี 2550

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ซิตี้กรุ๊ป, แบงก์ ออฟ อเมริกา และเวลส์ ฟาร์โก เป็นสามธนาคารที่ระดมทุนเป็นเงินรวมกันกว่า 31,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ เพื่อชำระหนี้คืนรัฐบาลในโครงการบรรเทาสินทรัพย์ที่มีปัญหาของรัฐบาล (TARP)

ขณะเดียวกัน เวลส์ ฟาร์โก เสร็จสิ้นการขายหุ้น 12,250 ล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โคได้จ่ายหนี้คืนรัฐบาลจำนวน 25,000 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ซิตี้กรุ๊ปเปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ว่า ธนาคารจะขายหุ้นและหนี้สินรวมอย่างน้อย 20,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อชำระหนี้คืนรัฐบาล และหลังจากนั้นทางกระทรวงคลังสหรัฐได้ออกมาประกาศขายหุ้น 5 พันล้านดอลลาร์
money wake up
*********
17/12/52
แบงก์เฮรับข่าวเลื่อนใช้กฏเข้มใหม่ Basel

สำนักข่าว Bloomberg รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวถึงความคืบหน้าในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบกิจการธนาคารของ Basel ว่า ธนาคารทั่วโลกจะมีเวลามากขึ้นก่อนเข้ามาอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ที่เข้มงวดกว่าเดิมสำหรับระดับเงินกองทุนที่แบงก์ต้องกันไว้ โดยช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงนี้จะทยอยเริ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2555 หรือ 2556 เป็นต้นไป

ในขณะที่มีการยืดเวลาการใช้กฏเข้มดังกล่าวออกไป บรรดาผู้คุมนโยบายของชาติต่างๆ มีโอกาสให้ธุรกิจธนาคารในประเทศตนทำการฟื้นฟูและปรับปรุงงบดุลของตัวเองให้ดูดีขึ้น หลังจากประสบวิกฤติการขาดทุนและล้างหนี้สูญไปแล้วรวมกันกว่า 1.7 ล้านล้านเหรียญทั่วโลก

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน กลุ่มประเทศ G20 ได้แสดงความต้องการอยากให้ภาคธนาคารสร้างระดับเงินกองทุนให้แข็งแกร่งมากกว่าเดิม เพื่อลดความเสี่ยงในระบบการเงินโลก

สำหรับการประชุมของ Basel Committee ที่จัดขึ้นในเมืองชื่อเดียวกันของสวิสนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความร่วมมือของสมาชิก 27 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีความเห็นชอบในหลักการร่วมกันว่า Core capital หรือเงินกองทุนหลักควรที่จะต้องรองรับกับการขาดทุนที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องและสามารถเข้าถึงได้ในทันที โดยการปรับปรุงเกณฑ์ครั้งล่าสุดเป็นการพัฒนาต่อเนื่องมาจากกรอบ Basel II ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547

ขณะที่การพัฒนามาตรฐานในการดูแลธุรกิจการเงินยังเดินหน้าต่อไป ก็มีความคืบหน้าของประเทศในยุโรปที่ออกมาตรการจำกัดการจ่ายเงินโบนัสพนักงานในอุตสาหกรรมนี้ด้วยเช่นกัน รายล่าสุดก็คือฝรั่งเศสที่เดินตามรอยอังกฤษในการประกาศขวางลำธุรกิจธนาคารในเรื่องนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนผู้บริหาร โดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง Christine Lagarde บอกว่า รัฐจะกำหนดอัตราภาษี 50% สำหรับเงินโบนัสที่ธนาคารจะจ่ายในปีหน้า ในส่วนที่เกิน 27,500 ยูโร หรือประมาณ 40,050 เหรียญ ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสจะนำเสนอกฏหมายดังกล่าวในเดือนมกราคม ก่อนที่จะนำมาบังคับใช้เพื่อเก็บเป็นเงินภาษีต่อไป

ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษต่างต้องการให้ประเทศในยุโรปอื่นๆ มุ่งเก็บเงินภาษีจากเงินโบนัสเหมือนกับตน ขณะที่นายกรัฐมนตรี Angela Merkel ของเยอรมันกลับปฏิเสธว่า เขาจะไม่ใช้มาตรการดังกล่าว เพราะอาจเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญ


เฟดคงดอกเบี้ย ขณะนักลงทุนวิตกเงินเฟ้อพุ่ง

นักลงทุนทยอยขายหุ้นกันออกมาหลังมีความกังวลกันมากขึ้นในเรื่องปัจจัยเงินเฟ้อจากการคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะคำแถลงของคณะกรรมการ FOMC ในการตัดสินใจยืนอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปก็ทำให้มีแรงซื้อหุ้นในกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากภาวะแวดล้อมเงินเฟ้อสูง อย่างเช่น หุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ พลังงาน และธนาคาร ที่ยังสามารถยืนอยู่ในแดนบวกได้

แถลงการณ์เฟดระบุว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนกำลังปรับตัวดีขึ้นแล้ว แม้ว่าจะยังถูกกดดันจากสภาวะการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง ไปจนถึงเรื่องของข้อจำกัดทางด้านสินเชื่อที่มีอยู่ในตลาด นอกจากนั้น ภาคธุรกิจเองก็ยังไม่หลุดพ้นจากอุปสรรคและทำให้ต้องมีการปรับลดการใช้จ่ายด้านทุนลงอีก ซึ่งไปกระทบต่อการตัดสินใจจ้างงานใหม่

อย่างไรก็ดี เฟดเองก็ได้ให้ความหวังไว้เช่นกันว่า สภาวะการหดตัวของตลาดแรงงานค่อยๆ คลี่คลายลงได้บ้างแล้ว

ล่าสุดเมื่อคืนนี้ก็มีข่าวดีสำหรับผู้บริโภคชาวอเมริกันอีกหนึ่งเรื่อง เมื่อสภาผู้แทนราษฎรโหวตให้ขยายมาตรการอุดหนุนค่าธรรมเนียมประกันสำหรับผู้ตกงานออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งถือเป็นการต่ออายุการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาภาระของผู้ว่างงานในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีนี้

สภาผู้แทนฯ ลงเสียงให้ผ่านกฏหมายดังกล่าว ที่ลดภาระเบี้ยประกันลง 65% ด้วยการต่ออายุจาก 9 เดือน เป็น 15 เดือน ตลอดจนให้ครอบคลุมการช่วยเหลือคนอเมริกันที่ตกงานมาจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ด้วย และหลังจากนี้ กฏหมายดังกล่าวก็รอแค่เพียงให้ผ่านไฟเขียวจากวุฒิสภา ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ต่อไป

กลับไปดูที่ตลาดหุ้นอเมริกาที่ในช่วงแรกได้รับข่าวดีจากรายงานของรัฐ ก็คือ ตัวเลขการสร้างบ้านและดัชนีราคาผู้บริโภคที่ส่งสัญญาณยืนยันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ก่อนที่จะมีแรงเทขายกันออกมาในช่วงหลัง ซึ่งรวมถึงหุ้น Intel ที่ร่วงลงกว่า 2% หลังจากคณะกรรมการกำกับภาวะการค้าของสหรัฐฯ หรือ Federal Trade Commission กล่าวหาผู้ผลิตชิพคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ว่า บริษัทพยายามใช้ความเป็นผู้นำในตลาดมาเอาเปรียบสถานะทางด้านการแข่งขันและทำให้เกิดการผูกขาดมากยิ่งขึ้น
********
17/12/52
ธนาคารกลางสวีเดนคงดอกเบี้ย-อาจคงถึงครึ่งหลังของปีหน้า

ธนาคารกลางสวีเดนตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิมที่ 0.25% และมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับต่ำต่อไปจนถึงครึ่งหลังของปี 2553 เนื่องจากหวังว่าอัตราดอกเบี้ยต่ำจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสวีเดน และทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับเป้าหมายที่ 2% ได้

แถลงการณ์ของแบงก์ชาติสวีเดนระบุว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเดินหน้าฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลให้สวีเดนได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่แน่นอน เมื่อพิจารณาจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงอ่อนแอ อีกทั้งอัตราว่างงานที่คาดว่าน่าจะปรับตัวขึ้นอีกในปีหน้า

ทั้งนี้ เศรษฐกิจของสวีเดนหดตัวมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเดนมาร์กและนอร์เวย์ เนื่องจากสวีเดนเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจมูลค่า 480,000 ล้านดอลลาร์ของสวีเดน

ผู้ผลิตหลายรายของสวีเดนได้เลย์ออฟพนักงานจำนวนมากเพื่อปรับตัวให้เข้ากับตลาดที่หดตัวลงทั้งในและต่างประเทศ


กรีซขายพันธบัตร หวังฟื้นฟูสถานภาพทางการเงิน

กรีซได้ขายพันธบัตรมูลค่า 2 พันล้านยูโร หรือ 2,900 ล้านดอลลาร์ ให้กับธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง

ขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามที่จะฟื้นฟูสถานภาพทางการเงินที่กำลังย่ำแย่ โดยพันธบัตรดังกล่าวจะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนก.พ. 2558

ธนาคารที่เข้าร่วมในการขายพันธบัตรครั้งนี้ได้แก่ เนชั่นแนล แบงค์ ออฟ กรีซ, อัลฟา แบงค์, อีเอฟจี ยูโรแบงค์ เออร์กาเซียส, พีราอุส แบงค์ และซานเปาโล ไอเอ็มไอ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พันธบัตรและหุ้นของกรีซร่วงลงเนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่า รัฐบาลอาจจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ขณะที่ยอดขาดดุลงบประมาณของประเทศสูงขึ้น ส่งผลให้นายจอร์จ พาพันเดรอู นายกรัฐมนตรีออกมาเรียกร้องสหภาพและนายจ้างให้ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ขณะที่รมว.คลังกรีซระบุว่า ตอนนี้ยังไม่ได้มีการหารือเรื่องการออกมาตรการพิเศษเพื่อพยุงเศรษฐกิจแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกรีซออกมาสร้างความเชื่อมั่นว่า จะใช้มาตรการเพื่อปรับปรุงด้านการเงินภาคสาธารณะ หลังจากที่ฟิทช์ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลงสู่ระดับ BBB+ จากระดับ A- ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำจัดอันดับให้กรีซอยู่ต่ำกว่า 'A'


อเมริกันแอร์ไลน์สอาจเพิ่มข้อเสนอแก่ JAL

เจอราร์ด อาร์พีย์ ซีอีโอของอเมริกัน แอร์ไลน์ส เผยอาจจะเพิ่มข้อเสนอด้านการลงทุนในสายการบินเจแปน แอร์ไลน์สมากขึ้น โดยกลุ่มพันธมิตรการบินอย่างวันเวิลด์และทีพีจี อิงค์ เตรียมลงทุนถึง 1,100 ล้านดอลลาร์ หวังตัดหน้ากลุ่มสกายทีมซึ่งทาบทาม JAL เข้ากลุ่มโดยมีเดลต้า แอร์ ไลน์สเป็นแกนนำ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รมว.คมนาคมญี่ปุ่นได้พบกับผู้บริหารของเดลต้า ซึ่งเสนอเงินช่วยเหลือ 1,020 ล้านดอลลาร์ร่วมกับกลุ่มสกายทีม ซึ่งนับรวมถึงเงินลงทุนมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ด้วย

นอกจากนี้ ในระหว่างการเดินทางเยือนญี่ปุ่น ซีอีโอของอเมริกัน แอร์ไลน์ส ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มวันเวิลด์ ได้เข้าพบกับนายเซอิจิ มาเอฮาระ รัฐมนตรีคมนาคมญี่ปุ่น เพื่อโน้มน้าวให้เจเอแอลคงความเป็นพันธมิตรกับกลุ่มวันเวิลด์ต่อไป

ความเคลื่อนไหวในการยื้อยุด JAL ให้เป็นหนึ่งในสมาชิกเพื่อเจาะตลาดเส้นทางบินในเอเชียนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐและญี่ปุ่นได้บรรลุข้อตกลงในการเปิดน่านฟ้า เพื่อปูทางให้สายการบินของทั้ง 2 ประเทศสามารถกำหนดและประสานงานเรื่องเส้นทางบินและตั้งราคาร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวคาดว่า จะทำให้การแข่งขันดุเดือดมากยิ่งขึ้นระหว่างเดลต้า แอร์ ไลน์ส และอเมริกัน ซึ่งพยายามที่จะเข้ามาช่วยเหลือสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ส
money wake up********
16/12/52
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเยอรมันอ่อนตัวต่อเนื่อง

ความเชื่อมั่นนักลงทุนเยอรมนีปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในเดือนธันวาคม เนื่องจากความวิตกว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเริ่มชะลอตัว รวมถึงการที่กรีซมีตัวเลขขาดดุลสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในยุโรป

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป ZEW เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนที่มีเป้าหมายเพื่อชี้วัดแนวโน้มของนักลงทุนสำหรับช่วงเวลา 6 เดือนข้างหน้า ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 50.4 ในเดือนธ.ค. จากระดับ 51.1 จุดในเดือนพ.ย. ซึ่งลดลงมากกว่าระดับคาดการณ์เฉลี่ยที่ 50 จุดของนักเศรษฐศาสตร์ที่บลูมเบิร์ก นิวส์ได้สำรวจความคิดเห็นไว้

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นหลายแห่งในยุโรปปรับตัวลดลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลังจากที่ฟิทช์ เรตติ้ง ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซ

ขณะที่วานนี้ ธนาคารกลางเยอรมนีกล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศอาจไม่สามารถรักษาระดับการขยายตัวที่อัตรา 0.7% ในไตรมาส 3 เอาไว้ได้

หลังจากที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งเคยเป็นปัจจัยหนุนการขยายตัวในไตรมาสที่ผ่านมาได้หมดอายุลง


กรีซจะลดรายจ่าย เก็บภาษีโบนัสนายธนาคารแก้ปัญหาหนี้

นายกรัฐมนตรีจอร์จ ปาปันเดรอู ของกรีซ ประกาศจะลดรายจ่ายและเก็บภาษีโบนัสนายธนาคารสูงถึงร้อยละ 90 เพื่อแก้ปัญหาหนี้ของประเทศ

นายกฯ กล่าวกับสหภาพแรงงานและนายจ้างก่อนที่พรรคฝ่ายค้านจะผละงานทั่วประเทศในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดว่า การปฏิรูปนโยบายภาษีจะทำให้ผู้มีฐานะต้องแบกรับภาระหนี้สินของประเทศมากขึ้น มาตรการหลายอย่างของรัฐบาลจะสร้างความลำบากแต่ขอให้ทุกคนร่วมกันเผชิญความลำบากนี้ โดยจะยกเลิกการจ่ายโบนัสของธนาคารรัฐ เรียกเก็บภาษีโบนัสจากนายธนาคารเอกชนสูงถึง 90%

นอกจากนี้จะมีการลดการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมในปีหน้าลง 10% เรียกเก็บภาษีกำไร ขณะเดียวกันจะปราบปรามการทุจริตและการเลี่ยงภาษีซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศ

อย่างไรก็ดี จะขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการที่มีเงินเดือนต่ำกว่าเดือนละ 2,000 ยูโร (ราว 100,000 บาท) ให้ทันกับภาวะเงินเฟ้อ

รัฐบาลกรีซถูกบริษัทจัดอันดับเครดิตและสมาชิกสหภาพยุโรปกดดันในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาให้ดำเนินมาตรการจริงจังเพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณที่สูงถึงร้อยละ 12.7 ของ GDP และหนี้สาธารณะที่คาดว่าจะสูงถึงร้อยละ 121 ของ GDP ในปีหน้า


ซัมซุง ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่-ตั้งซีอีโอใหม่

บริษัท ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ประกาศ แต่งตั้ง จีซุง ชอย (Geesung Choi) ดำรงตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างองค์กรซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และเพิ่มความเป็นอิสระของแผนกธุรกิจต่างๆของบริษัท

พร้อมกันนี้ ซัมซุงยังได้ยกระดับทีมผู้บริหารระดับสูง (C-suite) ด้วยการแต่งตั้ง เจย์ วาย. ลี (Jay Y. Lee) เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นใหม่ และจู-ฮวา ยูน (Ju-Hwa Yoon) เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน โดย ยูน-วู ลี ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการและซีอีโอ จะนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการของบริษัท

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระเพิ่มมากขึ้นในระดับการดำเนินงาน ซัมซุงยังได้ประกาศใช้ “ระบบบริษัท" ซึ่งจะส่งผลให้หน่วยธุรกิจแต่ละแห่งมีรูปแบบการบริหารงานเช่นเดียวกับบริษัทที่มีความเป็นเอกเทศ

แต่เดิม ซัมซุงมีแผนกการดำเนินงาน 10 แผนกซึ่งได้รับการรวบรวมและจัดตั้งเป็น 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจดิจิตอลมีเดียและการสื่อสารโทรคมนาคม (Digital Media & Communications) และ ธุรกิจโซลูชั่นอุปกรณ์ (Device Solutions) โดยการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่นี้จะเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ 2 แห่งดังกล่าว ไปเป็นบริษัทอิสระ 7 แห่ง ภายใต้องค์กรบริษัทและคณะผู้บริหารระดับสูงชุดเดียวกัน

นายชอย ว่าที่ซีอีโอคนใหม่ กล่าวว่า “ซัมซุงฟื้นตัวขึ้นได้เป็นอย่างดีในช่วงปีที่ผ่านมา ด้วยความเป็นผู้นำและการรับมือต่อวิกฤตการเงินโลกอย่างระมัดระวังและละเอียดรอบคอบของยูน-วู ลี" “และด้วยแรงขับเคลื่อนไปข้างหน้านี้ เชื่อว่าบัดนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะทำการเปลี่ยนแปลงองค์กรที่สำคัญนี้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายและโอกาสต่างๆที่รออยู่เบื้องหน้า"

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทซัมซุงมีผลกำไรจากการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 7.22 ล้านล้านวอน (6.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 30 ก.ย.) // จากยอดขาย 97.05 ล้านล้านวอน (8.169 หมื่นล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 30 ก.ย.) เปรียบเทียบกับผลกำไรจากการดำเนินงานตลอดปี 2551 ที่ 6.03 ล้านล้านวอน (4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากยอดขาย 121.29 ล้านล้านวอน (9.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)
********
16/12/52
ADB คาดเศรษฐกิจเอเชียขยายตัวนำโดยเอเชียตะวันออก

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของ 45 ประเทศกลุ่มกำลังพัฒนาในเอเชียมีแนวโน้มขยายตัว 4.5% ในปีนี้ และคาดว่าจะขยายตัว 6.6% ในปีหน้า ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการคาดการณ์เมื่อเดือนก.ย. หลังจากข้อมูลไตรมาส 3 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจในหลายประเทศของเอเชียแข็งแกร่งเกินคาด

ADB กล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศเอเชียตะวันออกซึ่งประกอบไปด้วยสาธารณรัฐประชาชนจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เกาหลีใต้ มองโกเลีย และไต้หวัน มีแนวโน้มขยายตัว 5.1% ในปีนี้ และ 7.3% ในปีหน้า

ขณะที่เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบไปด้วย ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ พม่า มาเลเซีย ลาว อินโดนีเซีย กัมพูชา และ บรูไน จะขยายตัว 0.6% ในปีนี้ และ 4.5% ในปีหน้า

ส่วนเศรษฐกิจจีนนั้น คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 8.2% ในปีนี้ และจะขยายตัว 8.9% ในปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มขยายตัว 7.0% ในปีนี้และปีหน้า

นายจง วา ลี หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบีกล่าวว่า "สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก ทำให้ ADB ต้องประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจหลายครั้งใปนี้

ADB คาดว่าเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มแข็งแกร่งมากกว่าที่ประเมินไว้ในเดือนก.ย. โดยนโยบายการะตุ้นเศรษฐกิจและการคลังในกลุ่ม G3 ซึ่งได้แก่ยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกฟื้นตัวขึ้น

ส่วนทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงาน "World Economic Outlook" โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.1% ในปี 2553 ซึ่งการขยายตัวที่แข็งแกร่งของเอเชียจะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า

ทั้งนี้ IMF คาดว่าเอเชียจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 9% และเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัว 6.4% ในปี 2553 ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืดอย่างรุนแรงนั้น คาดว่าจะหดตัวลง 5.4% ในปี 2552 และจากนั้นจะเริ่มขยายตัว 1.7% ในปี 2553 เนื่องจากยอดส่งออกญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น

ส่วนในฟากยุโรปนั้น ไอเอ็มเอฟคาดว่าเยอรมนีซึ่งมีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป จะขยายตัว 1.6% ในปี 2553 แต่คาดว่าจะหดตัวลง 4.9% ในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจละตินอเมริกานั้น คาดว่า เศรษฐกิจบราซิลจะขยายตัว 5% เนื่องจากยอดส่งออกฟื้นตัวขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจเม็กซิโกจะขยายตัว 3% และชิลีจะขยายตัว 5% ในปี 2553

นอกจากนั้น IMF คาดว่าเศรษฐกิจในตะวันออกกลางซึ่งได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบ จะขยายตัว 2% ในปี 2552 และขยายตัว 4.2% ในปี 2553


กังวลเฟดเร่งถอนมาตรการอัดฉีด หลังตัวชี้เงินเฟ้อออกมาสูงเกินคาด

ขณะที่เงินดอลลาร์ทำสถิติแข็งค่ามากที่สุดในรอบกว่าสองเดือน ตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อคืนนี้ก็ปรับตัวลง เมื่อนักลงทุนเก็งกันว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจจะทำให้ธนาคารกลางลดมาตรการกระตุ้นต่างๆ ที่มีอยู่ในตอนนี้

แรงขายมีเข้ามาในตลาด สวนกับรายงานทางเศรษฐกิจที่แสดงถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีดัชนีราคาผู้ผลิตที่เป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้ออย่างหนึ่ง ออกมาสร้างความกังวลว่าเฟดอาจจะดึงมาตรการอัดฉีดเงินหรืออื่นๆ ที่ใช้อยู่ออกจากระบบ โดยเฉพาะหลังจากที่เห็นว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และรวมถึงหุ้น ปรับตัวขึ้นมามากแล้วในปีนี้

เฟดรายงานว่าผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ขยับขึ้นมาอีก 0.8% ในเดือนที่แล้ว หลังจากไม่เปลี่ยนแปลงในเดือนตุลาคม ขณะที่ทางด้านกระทรวงแรงงานก็เปิดเผยดัชนีราคาค้าส่งเพิ่มขึ้น 1.8% ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ถึงสองเท่า และแม้ว่าจะไม่มีนักวิเคราะห์สำนักไหนคาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมคราวนี้ แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ปักใจเชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ เตรียมที่จะดึงเงินอัดฉีดบางส่วนจากวงเงิน 12 ล้านล้านเหรียญกลับในเร็วๆ นี้

ออเดอร์ขายหุ้นกลุ่มธนาคารก็เป็นส่วนหนึ่งที่ฉุดให้ตลาดโดยรวมปรับตัวลง หลังจากที่ Citigroup ประกาศแผนขายหุ้นเพื่อจ่ายคืนหนี้รัฐไปแล้ว ส่วนอีกหนึ่งราย ก็คือ Wells Fargo ก็มีแผนการออกขายหุ้นมูลค่า 10,650 ล้านเหรียญสำหรับการจ่ายคืนหนี้โครงการ TARP เช่นกัน ในขณะเดียวกัน ปัจจัยกดดันอีกส่วนก็มาจากรายงานของ JPMorgan Chase ที่ระบุว่า ยอดการผิดนัดชำระค่าบัตรเครดิตของธนาคารขยับตัวสูงขึ้น

สำหรับสภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ ล่าสุดก็มีผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน ที่จัดทำโดยสมาคมผู้ก่อสร้างและธนาคาร Wells Fargo โดยตัวเลขปรับตัวสู่จุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่งผิดไปจากที่บรรดานักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักๆ เป็นเพราะความวิตกเรื่องปัญหาการว่างงานในประเทศจะขวางทางการฟื้นตัวของตลาดบ้านในปีหน้า นอกจากนี้ ยังเป็นเพราะเรื่องของสินเชื่อที่มีอยู่อย่างจำกัดในตอนนี้
money wake up********
15/12/52
ที่ประชุมโลกร้อนยังไม่ได้ข้อสรุปเงินช่วยเหลือฯ

ผู้แทนจาก 192 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกน ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปได้

เซลวิน ฮาร์ท ผู้แทนจากบาร์บาดอส ยืนยันว่าถ้าไม่ได้รับเงินช่วยเหลือก็จะไม่มีการทำข้อตกลงใดๆทั้งสิ้น เพราะเงินเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งสอดคล้องกับที่ อีโว เดอ โบเออร์ หัวหน้าด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติกล่าวว่า ประเทศกำลังพัฒนาต้องการเงินช่วยเหลืออย่างน้อย 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี

การกระชุมที่มีอุปสรรคมากขึ้นเรื่อยๆในช่วงสัปดาห์แรกทำให้ ทอดด์ สเติร์น ผู้แทนจากสหรัฐ และ ซี เจินหัว ผู้แทนจากจีน ต้องเดินทางไปที่กรุงโคเปนเฮเกนเร็วกว่ากำหนด ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐ และนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า ของจีน จะเดินทางไปถึงก่อนสิ้นสุดการประชุมในวันที่ 18 ธันวาคม

มาร์กาเรตา วาห์ลสตรอม ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ผู้รับผิดชอบด้านการลดความเสี่ยงภัยพิบัติ กล่าวในที่ประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกนว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปีนี้นั้น มากกว่า 90% มีสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่รุนแรง

วาห์ลสตรอมเปิดเผยข้อมูลที่ได้จากศูนย์การวิจัยระบาดวิทยาของภัยพิบัติ ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2552 ที่เผยให้เห็นว่า ในบรรดาภัยพิบัติทางธรรมชาติ 245 ครั้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปีนี้ พบว่า 224 ครั้งเป็นภัยพิบัติที่มีความเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ หรือคิดเป็น 91.4%

ภัยพิบัติทางธรรมชาติเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อประชากร 55 ล้านคน และทำให้มีผู้เสียชีวิต 7,000 คน อีกทั้งยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากที่สุดคือเอเชียและแอฟริกา โดยเอเชียได้รับผลกระทบจากพายุและน้ำท่วมมากเป็นพิเศษ ขณะที่แอฟริกาได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
**********
15/12/52
Citigroup ได้ข้อสรุปกับกระทรวงคลังถึงแผนจ่ายคืนหนี้ TARP

ผ่านไปด้วยดีสำหรับการจ่ายคืนหนี้เงินช่วยเหลือตามโครงการ TARP จาก Citigroup ที่ในที่สุดสามารถตกลงตัวเลขกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานรัฐได้ และจบลงที่ธนาคารจะออกขายหุ้นและตราสารหนี้จำนวน 25,000 ล้านเหรียญ โดยในจำนวนนี้จะเป็นการออกขายหุ้นสามัญจำนวน 17,000 ล้านเหรียญ ในเวลาเดียวกัน ทางกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็จะขายหุ้น Citigroup ที่ตัวเองถือไว้จำนวน 5,000 ล้านเหรียญออกมาด้วย

การบรรลุจุดมุ่งหมายจ่ายคืนหนี้รัฐไปให้หมดนี้ เป็นความพยายามของซีอีโอ นายวิกรม บัณฑิต ที่มุ่งมั่นอยากจะก้าวออกจากโครงการ TARP มาตลอดในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อต้องการไม่ให้กลายเป็นธนาคารขนาดใหญ่แห่งสุดท้ายที่ยังต้องตกอยู่ภายใต้โครงการช่วยเหลือภาคการเงินที่มีพันธะผูกพันมากมายดังกล่าว และไม่อยากเป็นเหมือนกับผู้ป่วยห้องพิเศษ อย่างเช่น บริษัท American International Group หรือ AIG รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ General Motors ที่กำลังดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากบ่วงเงินช่วยเหลือที่มาจากภาษีประชาชนด้วยเช่นกัน

ทางด้านเพื่อนร่วมอุตสาหกรรม อย่าง Bank of America ก็เพิ่งหลุดออกจากโครงการ TARP ด้วยการคืนเงิน 45,000 ล้านเหรียญไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

มีรายงานข่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้นายบัณฑิต ซีอีโอ วัย 52 ผู้นี้ กวาดสายตามองหาวิธีการจ่ายคืนหนี้เงินช่วยเหลือพิเศษมาโดยตลอด นั่นก็เป็นเพราะพันธนาการที่รัฐกำหนดให้แบงก์ต้องจำกัดการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้บริหารของตน ซึ่งหมายถึงการบังคับให้ทรัพยากรบุคคลของบริษัทต้องถูกดูดออกไปยังบรรดาธนาคารคู่แข่งทั้งหลาย

และหากย้อนอดีตกลับไปดูเมื่อปีที่แล้ว Citigroup ได้เงินจากกองทุน TARP นี้มาถึง 45,000 ล้านเหรียญ และมีการแปลงสภาพเงินจำนวน 25,000 ล้านเหรียญ ให้ไปอยู่ในรูปของหุ้นสามัญเมื่อเดือนกันยายน ซึ่งเทียบเท่ากับสัดส่วนหุ้น 34% ในธนาคารที่มีฐานที่มั่นในนิวยอร์กรายนี้

สำหรับธนาคารรายอื่น ก็คือ JPMorgan Chase, Goldman Sachs Group และ Morgan Stanley ต่างจ่ายคืนหนี้ที่ได้มาจากโครงการนี้ไปเมื่อเดือนมิถุนายน ขณะที่ธนาคาร Wells Fargo ที่ติดหนี้โครงการ TARP อยู่ 25,000 ล้านเหรียญ กลับไม่ต้องมีภาระผูกมัดในเรื่องข้อจำกัดการจ่ายเงินผู้บริหารแต่อย่างใด นั่นก็เพราะแบงก์จากซานฟรานซิสโกแห่งนี้ไม่ได้แบมือขอเงินช่วยเหลือจากรัฐเป็นรอบที่สองนั่นเอง


ผู้เชี่ยวชาญคาดตลาดแรงงานสหรัฐเริ่มฟื้นตัวปีหน้า

ทางการสหรัฐคาดตลาดแรงงานในประเทศจะฟื้นตัวดีขึ้นในปีหน้า โดยนายจ้างจะเริ่มจ่ายเงินเดือนมากขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง

ความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับมุมมองของนายอลัน กรีนสแปน อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐที่คาดว่า การจ้างงานจะดีดตัวขึ้นเพราะบริษัทหลายแห่งเริ่มเพิ่มกำลังการผลิตหลังจากที่ปรับลดการจ้างงานลงในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

นายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐกล่าวว่า ในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ อัตราการจ้างงานจะปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากที่ขณะนี้มีชาวสหรัฐตกงานสูงถึง 7.2 ล้านตำแหน่งนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ตลาดแรงงานในสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น หลังจากที่ตัวเลขการจ้างงานเดือนพ.ย.ลดลงเพียง 11,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับที่ลดลงน้อยที่สุดในรอบ 23 เดือน

อัตราว่างงานลดลงสู่ระดับ 10% จากระดับสูงสุดในรอบ 26 ปีที่ 10.2% ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานสหรัฐเริ่มคลายความตึงเครียดลงแล้ว

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐจะหารืออย่างจริงจังกับผู้บริหารธนาคารรายใหญ่ 12 แห่งในวันนี้ เพื่อกดดันให้การมีขยายวงเงินกู้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน

หลังจากเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา โอบามาได้ประกาศโครงการกระตุ้นการจ้างงาน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มงบการใช้จ่ายด้านถนน สะพาน และการให้เงินช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก ตลอดจนการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ซื้อบ้าน และการใช้พลังงานที่คุ้มค่ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายคาดว่า อัตราว่างงานของสหรัฐจะยังคงไต่ระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึง 10.75% ภายในกลางปี 2554
money news update
************
15/12/52
นักลงทุนทั่วโลกจ่อใช้เงินเยนทำ carry trade

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเงินเยนจะมาแทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินที่นักลงทุนทั่วโลกใช้ระดมทุนผ่านการทำธุรกรรม carry trade ซึ่งเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นจาก การกู้ยืมเงินในสกุลที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด ไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลอื่นๆที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

การที่เยน Carry trade จะกลับมาเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับสหรัฐเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

นอกจากนี้ นักลงทุนเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ย Libor ในสหรัฐจะเพิ่มขึ้นภายในเดือนมิ.ย.ปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นรวดเร็วกว่าญี่ปุ่น โดยคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัว 2.6% ในปีหน้า ซึ่งขยายตัวรวดเร็วกว่าญี่ปุ่นถึง 2 เท่าเนื่องจากญี่ปุ่นยังคงเผชิญกับภาวะเงินฝืด

สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้เทรดเดอร์เมินสกุลเงินดอลลาร์และหันไปใช้สกุลเงินเยนเพื่อซื้อสินทรัพย์ในประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า เช่น ออสเตรเลียและบราซิล

การร่วงลงของต้นทุนการกู้ยืมในสหรัฐในปีนี้ส่งผลให้นักลงทุนเทขายดอลลาร์เพื่อทำ carry trade เพื่อทำกำไรจากการที่สหรัฐมีอัตราดอกเบี้ยต่ำไปซื้อสกุลเงินของประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า

ทั้งนี้ นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.1% ไปจนถึงปีหน้า และคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นจากระดับ 0 - 0.25% ในอนาคต
money wake up
********
14/12/52
ความเชื่อมั่นธุรกิจญี่ปุ่น Q4/52 ดีขึ้น

Posted on Monday, December 14, 2009
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) บอกถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นจากบริษัทชั้นนำกว่า 10,000 บริษัท พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของบรรดาผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น ในไตรมาส 4/52 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่- 24 จากระดับ- 33 ในไตรมาส 3/52 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้น 3 ไตรมาสติดต่อกัน หลังจากได้ดำดิ่งสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่- 58 ในไตรมาส 1/52

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของบรรดาผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นในไตรมาส 4/52 ขยายตัวในอัตราที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอย เนื่องจากภาคเอกชนของญี่ปุ่นยังคงกังวลว่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้กำไรของบริษัทหดตัวลงด้วย

ผลการสำรวจพบว่ากลุ่มผู้ผลิตขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นวางแผนที่จะลดการใช้จ่ายลงราว 13.8% ในปีงบประมาณ 2552 เพราะเงินเยนที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐส่งผลให้กำไรและส่วนแบ่งตลาดของบริษัทส่งออกญี่ปุ่นหดตัวลงด้วย

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจนอกภาคการผลิตเพิ่มขึ้นแตะระดับ -22 จุด ซึ่งสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ดัชนีที่ติดลบบ่งชี้ว่าจำนวนผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีมุมมองในด้านลบมีอยู่มากกว่าผู้ที่มองในด้านบวก

ผู้ว่าการ BOJ บอกว่า เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นและตลาดหุ้นโตเกียวที่ร่วงลงอาจส่งผลกระทบที่หนักอย่างมีนัยสำคัญต่อบรรยากาศการลงทุนในภาคเอกชน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ BOJ ต้องประกาศอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเป็นวงเงินสูงถึง 10 ล้านล้านเยน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 7.2 ล้านล้านเยนเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เงินเยนอ่อนตัวลง
money news update
**********
11/12/52
เกาหลีใต้มีมติคงดอกเบี้ยที่ 2% ตามคาด

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2% ตามความคาดหมาย ซึ่งนับเป็นการคงดอกเบี้ยนานต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 เนื่องจากธนาคารยังไม่มั่นใจว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะดำเนินไปอย่างยั่งยืน

แถลงการณ์ของธนาคารกลางเกาหลีใต้ ระบุว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ดียังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะมีเสถียรภาพ ทำให้ธนาคารต้องใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนต่อไปในระยะนี้ เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างรากฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเกาหลีใต้มีปัจจัยบ่งชี้เศรษฐกิจหลายรายการที่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองในแง่บวกที่ว่า เศรษฐกิจในประเทศสามารถหลุดพ้นจากภาวะตกต่ำหนักสุดในรอบกว่า 10 ปีได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้เกิดการถกเถียงกันเรื่องกรอบเวลาและวิธิการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินและการคลัง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในไตรมาส 3 ขยายตัวขึ้น 3.2% จากไตรมาสก่อนหน้านี้ ซึ่งทำสถิติพุ่งสูงขึ้นเร็วที่สุดในรอบกว่า 7 ปี เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศดีขึ้นและการส่งออกแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไป 3.25% นับตั้งแต่เดือนต.ค.2551 ถึงเดือนก.พ.2552 เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงภาวะถดถอย
*********
11/12/52
ออสเตรเลียเผยยอดขาดดุลการค้าเดือนต.ค.พุ่งสูงขึ้น

ยอดขาดดุลการค้าของออสเตรเลียเดือนต.ค.พุ่งขึ้นแตะ 2.4 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เนื่องจากอุปสงค์จากจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ปรับตัวลดลง หลังจากที่ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จีนได้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์จากออสเตรเลียเป็นจำนวนมาก

ยอดส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนร่วงลงต่อเนื่อง และในเดือนต.ค.ที่ผ่านมาออสเตรเลียส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนคิดเป็นมูลค่า 3.1 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งทรุดฮวบลง 25% จากระดับสูงสุดในเดือนมี.ค.

กระทรวงการค้าของออสเตรเลียระบุว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการส่งออกที่ดิ่งลงอย่างหนัก 3.5% ในเดือนต.ค. ขณะที่ยอดนำเข้าขยับลง 0.8%

ทั้งนี้ ดุลบัญชีการค้าของออสเตรเลียเคลื่อนไหวตามทิศทางอุปสงค์จากประเทศจีน ซึ่งภาวะอุปสงค์ของจีนที่แข็งแกร่งในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ได้ช่วยหนุนให้ออสเตรเลียรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้เป็นประเทศแรกๆเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว


การจ้างงานออสเตรเลียพุ่งขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

ยอดการจ้างงานปรับเพิ่มสูงขึ้นตลอด 3 เดือน โดยบริษัทต่างๆ รับพนักงานในจำนวนที่มากกว่าการคาดการณ์ของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย ถึง 6 เท่า ซึ่งจากการรายงานของตัวเลขดังกล่าวได้ทำให้ทั้งค่าเงินออสเตรเลียดอลลาร์ และ ตลาดหุ้นต่างตอบรับดัวยการปรับบวก

ตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 31,200 ตำแหน่งในปัจจุบัน หากเทียบกับเดือน ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งหากตัวเลขกรจ้างงานยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากรัฐบาลออสเตรเลียออาจจะปรับลดการประมาณการตัวเลขการว่างงานลง

ภาคการส่งออก จะกลายมาเป็นแรงหนุนนำในการจ้างคนเพิ่ม อย่าง BHP บริษัทเหมืองแร่ชั้นนำ / สายการบิน ประเภท Low cost airline ภายใต้การบริหารของ Qantas Airways รวมถึง บริษัท Chevron ผู้นำทางด้านพลังงาน เป็นต้น

Craig James นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ CommSec ให้ความเห็นว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นการตอกย้ำ ถึงงการฟื้นตัว และ เศษฐกิจที่แข็งแกร่งของออสเตรเลีย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มีคำถามจากทั่วโลก ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของออสเตรเลียนั้น เพื่อการอยากจะเป็นผู้นำในการฟื้นตัวก่อนประเทศอื่นๆ ทั้งที่ ศก. จริงๆ แล้วจะไม่ฟื้นตัวเต็มที่

การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของออสเตรเลียนั้นมาจาก การเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้สินแร่ รวมถึงการใช้ก๊าซ ในเอเชียเป็นหลัก ไม่ใช่เพียงภาคการส่งออกเท่านั้นที่ช่วยในเกิดการจ้างงานเพิ่ม การบริโภคภายในประเทศที่เพิมขึ้นก็เป็นอีกแรงหนุนที่ช่วย หลังจากรัฐบาลออสเตรเลีย ภายใต้การนำของ Kevin Rudd ได้ใช้เม็ดเงินกระตุ้นการบริโภค คิดเป็นเงิน 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ธุรกิจสายการบิน low cost ในประเทศนั้นเติบโตขึ้นอยางมาก สวนกับภาพธุรกิจสายการบินทั่วโลก

ออสเตรเลีย เป็นเพียงประเทศเดียวในโลก ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปีนี้
money news wake up
**********
11/12/52
แบงก์ชาติอังกฤษยืนเป้าอัดฉีดสภาพคล่อง ขณะที่สวิสเตรียมถอนมาตรการ

ธนาคารกลางอังกฤษก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ประกาศยึดแนวนโยบายอัดฉีดเศรษฐกิจไว้อย่างเดิม ด้วยการยืนแผนการเข้าซื้อพันธบัตรในวงเงิน 200,000 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 326,000 ล้านเหรียญไว้ต่อไป ทั้งหมดก็เพื่อทำให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจของประเทศจะสามารถหลุดพ้นบ่วงวิกฤติการเงินได้แล้วจริงๆ

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ที่มีนาย Mervyn King นั่งเป็นประธาน มีมติให้ยืนเป้าหมายมาตรการอัดฉีดเงินซื้อสินทรัพย์ไว้ตามเดิม ซึ่งก็ไม่ได้เป็นที่น่าแปลกใจของตลาดแต่อย่างใด และพร้อมกันนั้น ยังได้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 0.5% อีกด้วย

ผู้ดำเนินนโยบายเคยส่งสัญญาณไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการกลับมานั่งทบทวนนโยบายอีกครั้งน่าจะอยู่ในช่วงราวเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อมีความเป็นไปได้ว่าจะมีตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายๆ ตัวออกมาดูดีขึ้น จนต้องมีการปรับคาดการณ์กันใหม่อีกครั้ง

เช่นเดียวกับทางด้านรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง Alistair Darling ที่แสดงความเห็นสอดคล้องกันว่า เขายังต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจจนกระทั่งเห็นการฟื้นตัวอย่างจริงจัง ขณะนักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท Investec Securities ในลอนดอน มองว่า MPC กำลังอยู่ในโหมด “wait and see” นั่นคือ การรอดูจังหวะเพื่อหาเวลาที่เหมาะสมในการชักกลับนโยบายอัดฉีดเศรษฐกิจที่เข้มข้นนี้ ซึ่งที่แน่ๆ ก็คือจะไม่มีการเสริมเพิ่มเติมมาตรการช่วยสภาพคล่องใดๆ ออกมาหลังจากนี้ ในเมื่อทุกอย่างกำลังมีแนวโน้มดีขึ้น

และขณะที่ BOE ยังคงแผนการอัดฉีดเงินซื้อสินทรัพย์อยู่ ณ เวลานี้ ธนาคารกลางอีกแห่งในยุโรป คือ Swiss National Bank หรือ ธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์ ล่าสุดก็ได้ออกมาประกาศว่าจะหยุดการเข้าซื้อพันธบัตรเอกชน ตามอย่างแบงก์ชาติของประเทศอื่นๆ ที่ส่งสัญญาณถอนมาตรการช่วยเหลือฉุกเฉินทั้งหลาย ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสวิสยังประกาศคงดอกเบี้ย Libor เป้าหมายไว้ที่ 0.25% ตามเดิม ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์

สำหรับสวิส เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้ง ที่ระดับ 0.3% ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดสภาวะถดถอยที่ดำเนินมายาวนานกว่าหนึ่งปี ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ ของประเทศก็กำลังบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี เมื่อดูจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่บวกขึ้นได้เป็นเดือนที่ 7 แล้ว และตัวเลขภาคการผลิตก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน


ตัวเลขดุลการค้าและการใช้สวัสดิการแรงงานหนุนหุ้นสหรัฐฯ บวก

ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียยังเผชิญแรงกดดันในเรื่องค่าเงินแข็งจะกระทบภาคส่งออก และการที่จีนออกมาประกาศใช้มาตรการสกัดฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตัวเลขเศรษฐกิจทางฝั่งสหรัฐฯ เมื่อคืนนี้ก็ออกมาสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรายงานการขาดดุลการค้าที่ลดลง หรือจำนวนแรงงานที่เข้าขอรับสวัสดิการว่างงานจากรัฐที่ลดลงในช่วง 4 สัปดาห์ล่าสุด

นักลงทุนกวาดซื้อหุ้นใหญ่ที่นักวิเคราะห์มีมุมมองที่ดี อย่างเช่น ผู้ผลิตซอฟท์แวร์รายใหญ่ อย่าง Oracle ที่นักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs บอกว่า บริษัทอาจจะมีการเปิดเผยถึงแนวโน้มธุรกิจที่สดใสมากขึ้นอีกในวันที่รายงานผลประกอบการไตรมาสล่าสุดในกลางเดือนนี้ ขณะที่หุ้นอีกตัวในธุรกิจบันเทิง อย่าง Disney นักวิเคราะห์จาก Sanford C. Bernstein ก็ประเมินว่า บริษัทเจ้าของสวนสนุกระดับโลกรายนี้จะเพิ่มการซื้อคืนหุ้นอีกครั้งในปีงบประมาณ 2010 ด้วยจำนวน 58.5 ล้านหุ้น ในเวลาเดียวกัน ยังได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรและราคาเป้าหมายในปี 2009 และ 2010 ขึ้นอีกด้วย

หุ้นในธุรกิจน้ำอัดลม อย่าง Coca-Cola เมื่อคืนนี้ ก็บวกขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 18 เดือน เมื่อผู้ค้ารายใหญ่ คือ บริษัท Costco Wholesale บอกว่า จะเริ่มกลับมาสต็อกสินค้าเครื่องดื่มยี่ห้อนี้อีกครั้ง นอกจากนั้น นักลงทุนยังสนใจหุ้นที่ได้อานิสงส์จากค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า ที่รวมถึงธุรกิจจัดส่งพัสดุ เช่น FedEx และ United Parcel Service หรือ UPS ด้วยเช่นกัน

และแม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะยังคงขยับดีขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะมีนักวิเคราะห์บางรายที่ยังมองในแง่ลบ รายล่าสุด คือ นาย Alan Shaw อดีตนักวิเคราะห์ทางเทคนิคของ Citigroup ที่ประเมินว่า วงจรตลาดขาลงในรอบใหญ่ (Bear Market) ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2543 ยังไม่สิ้นสุดลงดีในตอนนี้ และอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าตลาดจะกลับมาบูมอีกครั้งในช่วง 5 ปีหลังจากนี้

ที่แย่กว่านั้นอดีตนักวิเคราะห์ที่เคยติดโผขวัญใจนักลงทุนสถาบันผู้นี้ก็มองว่า ดัชนีตลาดหุ้นของอเมริกาอาจจะร่วงลงไปทำจุดต่ำสุดได้อีกครั้งก่อนที่ทุกอย่างจะหันทิศกลับมาดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดก็ได้ทำการประเมินจากอัตราการฟื้นตัวของตลาดที่ค่อยๆ แผ่วลงในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา และดูจากจุดต่ำสุดที่ดัชนีหุ้นเคยลงไปทำไว้
money news update
********
09/12/52
ญี่ปุ่นงัดแผนกระตุ้นศก.ครั้งใหม่ หวั่นภาวะเงินฝืดฉุดการฟื้นตัว
รัฐบาลญี่ปุ่น ทุ่มงบกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ราว 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สู้ภาวะเงินฝืด และปัญหาการจ้างงาน

วานนี้ คณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น โดยนายกรัฐมนตรี ยูคิโอะ ฮาโตยามา ได้ตกลงอนุมัติงบประมาณเพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2.74 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 9 ล้านล้านบาท) โดยมีเงินจำนวนมากกว่า 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.65 ล้านล้านบาท) ที่จะใช้จ่ายโดยตรง
ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ของรัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นต้องใช้เงินแผนกระตุ้นเศรษฐกิจนี้อย่างระมัดระวังและเหมาะสมที่สุด เพื่อที่จะสนับสนุนให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว เนื่องจากญี่ปุ่นยังคงเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและการจ้างงาน อีกทั้งภาวะการแข็งตัวของค่าเงินเยน อีกด้วย

นอกจากนี้ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จะรวมการใช้จ่ายโดยตรง การค้ำประกันเงินกู้ และมาตรการอื่นๆ ซึ่งรวมถึงมาตรการที่จะสนับสนุนการจ้างงาน กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศในการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้การสนับสนุนบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะการแข็งตัวของค่าเงินเยน

ด้านฮิโรฮิสะ ฟูจิอิ รัฐมนตรีคลัง ของญี่ปุ่น กล่าวว่า รัฐสภาจะอนุมัติเงินงบประมาณก้อนนี้ในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นเงินพิเศษสำหรับปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดในเดือนมี.ค.ปีหน้านี้ อีกทั้งยังได้กล่าว เตือนว่าเงินภาษีของญี่ปุ่นจะลดลงถึง 3.69 หมื่นล้านเยน (ราว 1.37 หมื่นล้านบาท) ในช่วงไตรมาสแรกของปี

“การเงินการคลังของญี่ปุ่นอยู่ในสถานการณ์ที่เคร่งเครียดเป็นอย่างมาก” ฟูจิอิ กล่าว

ในขณะเดียวกันนี้ ยังมีรายงานว่า คณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้ตกลงและเจรจาในเรื่องแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งใหม่นี้ กับพรรคร่วมรัฐบาลเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งก่อนหน้านี้คาดว่าแผนดังกล่าวนี้จะได้รับการอนุมัติออกมาตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่ได้มีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับขนาดของแผนดังกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้นในรายงานระบุว่า เศรษฐกิจ ของญี่ปุ่นยังคงอยู่ในสภาพที่เปราะบาง เกินกว่าที่จะเดินหน้าโดยไร้การสนับสนุนจากทางรัฐบาล อีกทั้งความต้องการของสินค้าจากยุโรปและสหรัฐก็กระเตื้องขึ้นอย่างเชื่องช้า

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ต้องพยายามอย่างมากที่จะลดการพึ่งพาการค้าและการส่งออก โดยการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น แต่มาตรการดังกล่าวก็ต้องใช้เวลาหลายปีในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของเศรษฐกิจ
posttoday**********
09/12/52
เบอร์แนนคียันไม่ขึ้นดอกเบี้ยแบงก์
เบอร์แนนคี ย้ำเฟดยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปอีกนาน ดันทองกลับมาพุ่งพรวดอีกครั้ง

เบน เบอร์แนนคี ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงวานนี้ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่การประชุมคณะกรรมาธิการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15-16 ธ.ค.นี้ จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยธนาคารในระดับต่ำต่อไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังจาก ที่พบว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในประเทศยังเป็นแบบเปราะบาง รวมถึงอัตราว่างงานยังสูงอยู่
ขณะเดียวกันถ้อยแถลงของ ผู้ว่าการเฟดครั้งล่าสุด ยังมีส่วนช่วยให้กระแสการคาดการณ์ของกลุ่มนักลงทุนที่ว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยธนาคารในระยะเวลาอันใกล้นี้ผ่อนคลายลงไปด้วย หลังจากที่กระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยข้อมูล อัตราการว่างงานในประเทศเดือน พ.ย. ลดลงแล้ว และกำลังฟื้นตัวดีขึ้น

“เราจะยังเดินหน้าคงดอกเบี้ยต่อ ก่อนจะมีการรับรองว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งแล้ว” เบอร์แนนคี กล่าวต่อที่ประชุมอีโคโนมิก คลับ ในกรุงวอชิงตัน

ผู้ว่าการเฟด ยังได้ย้ำอีกว่า ไม่ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะทำให้เกิดการสร้างงานมากขึ้นหรือไม่ แต่สหรัฐก็ยังจำเป็นต้องหาปัจจัยที่เหมาะสมในการช่วยลดอัตราการว่างงานในประเทศไปพร้อมกันด้วย

การเปิดเผยตัวเลขอัตราการ ว่างงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อัตราว่างงานในเดือนพ.ย. ได้ลดลงจาก 10.2% มาอยู่ที่ 10% ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ด้านตลาดแรงงานในสหรัฐปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับที่ดี ที่สุดนับตั้งแต่ต้องเผชิญกับภาวะถดถอยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

รายงานสถานการณ์แรงงานดังกล่าวได้ทำให้เกิดการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐเมื่อ 2 วันที่แล้วดีดตัวกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง และทำให้ราคาทองคำในตลาดโลกลดลงอย่างฮวบฮาบ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาราคาทองคำที่ฮ่องกงลดลงไปถึง 60 เหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ท่าทีจาก เบอร์แนนคี ในครั้งนี้ที่ยืนยันว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไปได้ส่งผลให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งในการซื้อขายเมื่อวานนี้ โดยร่วงลงมาแตะที่ 88.84 เยนต่อเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ ยังทำให้ราคาทองคำในตลาดซื้อขายล่วงหน้าในฮ่องกงทะยานแตะระดับ 1,167.50-1,168.50 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ในช่วงการซื้อขายวานนี้ ก่อนปรับลงมาเล็กน้อยในช่วงท้ายของการซื้อขายที่ 1,158.50-1,159.50 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ โดยเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่ 1,147-1,148 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์
posttoday
**********
09/12/52
ไต้หวันคาดบริษัทจีนเริ่มซื้อขายในตลาดหุ้นไต้หวันปีหน้า

ประธานตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันเผยบริษัทสัญชาติจีนอาจเริ่มดำเนินการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไต้หวันในปีหน้า

ในขณะที่จีนและไต้หวันเตรียมเจรจากรอบการทำงานด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ECFA) ในเดือนนี้ หลังจากที่บรรลุข้อตกลงทางการค้ากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยประธานตลาดหุ้นไต้หวันกล่าวว่า หากจีนและไต้หวันสามารถลงนามข้อตกลง ECFA ได้ภายในปีหน้า ก็นับเป็นโอกาสดีที่บริษัทจากจีนจะเข้ามาจดทะเบียนในไต้หวัน

ไต้หวันและจีนหวังว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเกิดขึ้นในปี 2553 ซึ่งการบรรลุข้อตกลงทางการค้าของจีนและไต้หวันจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเข้าถึงการให้บริการในธนาคาร ประกันภัย และบริษัทหลักทรัพย์ระหว่างกันได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันที่เคยตึงเครียดในสมัยของประธานาธิบดีเฉินสุ่ยเปียน เริ่มพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นนับตั้งแต่นายหม่า อิง-จิว ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อเดือนพ.ย.2551

ในปีนี้ ดัชนีเวทเต็ดตลาดหุ้นไต้หวันพุ่งสูงขึ้นถึง 69% ทำสถิติขยายตัวแข็งแกร่งที่สุดในรอบ 16 ปี ซึ่งเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา พุ่งขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2534 หลังจากที่ไต้หวันอนุญาตให้จีนสามารถเข้ามาลงทุนในดินแดนของไต้หวันได้นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง


ญี่ปุ่นประกาศอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 7 ล้านล้านเยน

คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายยูคิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้มีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่มูลค่า 7.2 ล้านล้านเยน(8.1 หมื่นล้านดอลลาร์) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้น

มาตรการดังกล่าว มีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ ศก.กลับเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ญี่ปุ่นยังประสบกับภาวะเงินฝืด และค่าเงินเยนที่แข็งค่ากดดันภาคส่งออก โดยการตัดสินใจมีขึ้นหลังจากเมื่อพรรคดีพีเจได้เสนอให้เพิ่มวงเงินในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่จากเดิมที่ 7.1 ล้านล้านเยน เป็น 7.2 ล้านล้านเยน และมีขึ้นหลังจากพรรคพีเพิล นิวปาร์ตี้ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเรียกร้องให้รัฐบาลอัดฉีดงบประมาณมากขึ้น

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่มูลค่า 7.2 ล้านล้านเยนจะมุ่งเน้นในการกระตุ้นการจ้างงาน ช่วยเหลือสถาบันการเงินขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมทั้งกระตุ้นอัตราการอุปโภคบริโภคด้วยการสนับสนุนให้มีการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บีโอเจได้ตัดสินใจอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินมูลค่า 10 ล้านล้านเยน พร้อมจัดสรรเงินทุนสำรองรอบใหม่เพื่อใช้ต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อในยามที่ญี่ปุ่นยังคงใช้นโยบายดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกในระยะยาว

อย่างไรก็ดี ภายใต้มาตรการใหม่นี้ บีโอเจจะปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.1% ให้กับสถาบันการเงินต่างๆเป็นเวลา 3 เดือน รวมถึงการออกพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ภาคเอกชน
money news update
***********
09/12/52
มูดีส์ชี้เครดิตของสหรัฐ-อังกฤษอ่อนแอ

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศในวันนี้ว่า อันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ อยู่ในกลุ่มยืดหยุ่น (Resilient AAA) ซึ่งถูกจัดว่าด้อยกว่าแคนาดา เยอรมนี และฝรั่งเศสที่อยู่ในกลุ่มต้านทาน (Resistant AAA) เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินโลกน้อยกว่าสหรัฐและอังกฤษ

ทั้งนี้ มูดีส์ได้จัดอันดับเครดิต AAA ไว้ 3 กลุ่ม ซึ่งได้แก่กลุ่มต้านทาน (Resistant) ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ดีทีสุด กลุ่มยืดหยุ่น (Resilient) ซึ่งเป็นกลุ่มรองลงมา และกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable) ซึ่งเป็นกลุ่มที่อ่อนแอที่สุด อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับในครั้งนี้มูดีส์ไม่ได้จัดประเทศใดให้อยู่ในกลุ่มเปราะบาง

มูดีส์กล่าวว่า ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษร่วงลงเมื่อเทียบกับ 16 สกุลเงินหลักๆที่เป็นคู่ค้าของอังกฤษ โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเหตุนี้มูดีส์เห็นว่าอันดับเครดิต AAA ของอังกฤษจึงติดกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบยืดหยุ่น หรือ มีโอกาสที่จะชนขอบ AAA เนื่องจากอังกฤษถูกกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการณ์การเงินโลก

มูดีส์ระบุว่า การพิจารณาจัดกลุ่มสถานะของทุกประเทศที่มีอันดับเครดิต AAA นั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสามารถในการรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์การเงินเป็นหลัก โดยประเทศที่ติดกลุ่มต้านทานนั้น นอกเหนือจากแคนาดา เยอรมนี และฝรั่งเศสแล้ว มูดีส์ยังระบุว่านิวซีแลนด์และสวิตเซอร์แลนด์ก็ติดกลุ่มต้านทานด้วย

จากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) พบว่า หนี้สาธารณะของอังกฤษมีแนวโน้มพุ่งแตะ 89.3% ของกิจกรรมเศรษฐกิจโดยรวมในปี 2553 จากปีนี้ที่ระดับ 75.3% ขณะที่หนี้สาธารณะของสหรัฐมีแนวโน้มพุ่งแตะ 97.5% ของกิจกรรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมในปี 2553 จากปีนี้ที่ระดับ 87.4%

ทั้งนี้ มูดีส์มองว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของสหรัฐยังไม่มากพอที่จะทำให้ยอดขาดดุลงบประมาณปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ


ตลาดแรงงานสหรัฐต้นปีหน้ามีแววสดใส

ผลสำรวจเผยนายจ้างในสหรัฐมีแผนปรับเพิ่มการจ้างพนักงานเป็นครั้งแรกในรอบปีในช่วงต้นปีหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการเริ่มมีความเชื่อมั่นด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานเดือนพ.ย.ที่ลดลงน้อยสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2550 ด้วยตัวเลขที่ลดลงเพียง 11,000 ตำแหน่ง

ผลสำรวจแนวโน้มการจ้างงานล่าสุดที่จัดทำโดย แมนพาวเวอร์ บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลระดับโลกบ่งชี้ว่า การจ้างงานในสหรัฐช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6 จุดจากที่ติดลบ 2 จุดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เพราะหลายบริษัทเริ่มเห็นถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ และคาดว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะดีขึ้นแม้ว่าจะอัตราการขยายตัวจะไม่พุ่งสูงพรวดพราดมากก็ตาม

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่ชี้ว่าวิกฤตการณ์ในตลาดแรงงานที่เลวร้ายที่สุดหลักยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจสิ้นสุดลงแล้ว หลังอัตราว่างงานสหรัฐในเดือนพ.ย.ร่วงลงจากระดับสูงสุดในรอบ 26 ปีที่ระดับ 10.2% ในเดือนต.ค.มาอยู่ที่ 10% ในเดือนพ.ย. ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ตลาดแรงงานเริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ในแง่บวก และเริ่มที่จะดีดตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

โดยดัชนีการจ้างงานของแมนพาวเวอร์เริ่มดีขึ้น ขณะที่หลายบริษัทเริ่มเบนเข็มจากการลดตั้งเป้าลดจำนวนพนักงานมาเป็นการคงตำแหน่งพนักงานไว้ตามเดิม ซึ่ง 73% ของนายจ้างที่ทำการสำรวจคาดว่า จำนวนพนักงานในไตรมาสแรกของปีหน้าจะเริ่มคงที่ ขณะที่ 12% คาดว่าจะมีการเพิ่มการจ้างงานมากขึ้น และ 12% คาดว่าจะยังคงปลดพนักงาน

นอกเหนือจากสหรัฐที่มีแนวโน้มการจ้างงานที่ดีขึ้นในช่วงต้นปีหน้าแล้ว ตลาดแรงงานในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เช่น จีน สิงคโปร์ ไต้หวัน และออสเตรเลียก็มีทิศทางที่สดใสเช่นกัน ต่างจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น เม็กซิโก สเปน และไอร์แลนด์ที่มีแนวโน้มการจ้างงานซบเซามากที่สุด

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ที่สหรัฐเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งแรกในเดือนธ.ค.2550 เศรษฐกิจในประเทศต้องสูญเสียแรงงานไปแล้วถึง 7.2 ล้านราย
money news update
************
09/12/52
นักวิเคราะห์แห่ปรับเพิ่มเป้าดัชนีหุ้นสหรัฐฯ – ยุโรป ปีหน้า

เป็นธรรมเนียมก่อนวันหยุดยาวช่วงสิ้นปี ที่บรรดานักวิเคราะห์จากค่ายต่างๆ ได้เวลาออกมาประเมินแนวโน้มดัชนีหุ้นในปีหน้า ซึ่งล่าสุดเป็นมุมมองของ strategist จาก Goldman Sachs Group ที่คาดว่าดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ อาจจะขยับขึ้นต่ออีกกว่า 10% ในปี 2010 ภายใต้สภาวะดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ยอดขายของบริษัทที่เติบโต และการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินของนักลงทุนเข้ามาที่ตลาดหุ้น

S&P 500 มีโอกาสขึ้นไปยืนอยู่ที่ระดับ 1,250 จุดภายในสิ้นปี 2553 ตามการคาดการณ์ของโบรกเกอร์รายใหญ่จากนิวยอร์กแห่งนี้ โดยรายได้จากการดำเนินงานของบริษัทต่างๆ น่าจะพุ่งขึ้นถึง 33% อันเนื่องมาจากยอดขายที่เติบโตเกือบ 9% ขณะเดียวกัน ก็ประเมินว่านักลงทุน ที่รวมถึงนักลงทุนสถาบัน และบริษัทต่างๆ จะโยกย้ายเม็ดเงินกว่า 600,000 ล้านเหรียญเข้ามายังหุ้นสหรัฐฯ ในปีหน้าด้วย ซึ่งเทียบเท่ากับมูลค่าตลาด หรือ Market Cap ที่จะเพิ่มขึ้น 6%

นักเศรษฐศาสตร์ของโบรกเกอร์รายเดียวกันนี้ ยังให้ข้อสมมติฐานไว้ด้วยว่า เฟดจะยืนดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำแบบนี้ หรือ ที่ระดับ 0 – 0.25% ต่อไปจนถึงอย่างน้อยในปี 2012

ในรายงานยังบอกละเอียดถึงขนาดที่ว่า นักลงทุนอาจจะดึงเงินกลับออกจากตลาดหุ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า เมื่อเริ่มมีความกังวลเข้ามาในเรื่องความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และเป็นช่วงที่ตลาดเริ่มเห็นกระบวนการหันทิศนโยบายการเงินมาเป็นแบบเข้มงวดจากธนาคารกลางมากขึ้น

นักกลยุทธ์รายเดิมประเมินว่า ผลของอัตรากำไรที่ทำได้อย่างต่อเนื่องหลังจากมีการปรับลดต้นทุนอย่างหนักหน่วง จะนำไปสู่ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในราวๆ ต้นปีหน้า และอาจจะดันให้ดัชนี S&P 500 วิ่งกระจัดกระจายขึ้นไปแตะระดับ 1,300 จุดได้เลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ เขาก็ได้เตือนไว้ด้วยเช่นกันว่า คำทำนายดังกล่าวก็อาจต้องถูกโยนทิ้งถังขยะได้ด้วยเช่นกัน ถ้าหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ใช้มาตรการทางออก หรือ exit strategy เร็วกว่าที่คาดไว้

สำหรับตลาดหุ้นยุโรป ก็มีทางนักวิเคราะห์อีกค่าย อย่าง Bank of America – Merrill Lynch Global Research ที่ล่าสุดออกมาประเมินว่า ดัชนี Dow Jones Stoxx 600 ที่ใช้วัดราคาหุ้นของยุโรป อาจพุ่งขึ้นอีกกว่า 20% ในปี 2553 ด้วยสาเหตุผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นและมูลค่าหุ้นยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ หรือ ยังไม่แพงจนเกินไปนัก
money news update
********
08/12/52
อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ชูโลกร้อนเป็นโอกาสทางธุรกิจ

Posted on Tuesday, December 08, 2009
นายบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ บอกว่า ทุกฝ่ายควรเห็นว่าการประชุมเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นโอกาสทางธุรกิจ จึงจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้

นายคลินตัน แสดงความกังวลว่า อาจจะเสียโอกาสแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หากการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์กไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อบังคับใช้ หลังจากเป้าหมายแรกของพิธีสารเกียวโตครบกำหนดในปี 2555 พร้อมเตือนว่า ไม่มีทางทราบได้แน่นอนว่าเหตุเลวร้ายด้านสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นเมื่อใด และหากปราศจากความมั่นใจเกี่ยวกับปัจจุบันทุกอย่างก็พร้อมจะล้มเหลว

อดีตผู้นำสหรัฐ ซึ่งรณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อนตั้งแต่พ้นตำแหน่งเมื่อปี 2544 ระบุว่า จนถึงขณะนี้มีเพียง 4 ประเทศ คือ อังกฤษ สวีเดน เยอรมนีและเดนมาร์ก ที่คาดว่าจะทำได้ตามเป้าหมายเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2555 จากประเทศร่ำรวยทั้งหมด 44 ประเทศ ที่รับปากจะลดการปล่อยก๊าซตามพิธีสารเกียวโต ทั้ง 4 ประเทศนี้โดดเด่นกว่าประเทศร่ำรวยอื่น ๆ เรื่องการสร้างงานและธุรกิจในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และไม่ประสบปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้ เพราะได้ดำเนินนโยบายการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ดังนั้นเขาหวังว่า ที่ประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกนจะตระหนักถึงความจริงที่ว่าการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศที่ปฏิบัติตาม
money news update
**********
08/12/52
ผลสำรวจชี้ธุรกิจค้าปลีกอเมริกาจ้างงานเพิ่มขึ้นในเดือนพ.ย.

ล่าสุดผลสำรวจสภาวะการจ้างงานของบรรดาห้างร้านต่างๆ ในอเมริกา ที่รวมไปถึงร้านอาหาร ภัตตาคาร และร้านค้าเฉพาะทางทั้งหลายในเดือนพฤศจิกายน ออกมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในปีนี้ ซึ่งเป็นเหมือนสัญญาณแสดงความหวังที่ธุรกิจค้าปลีกฝากไว้กับผู้บริโภคที่น่าจะยอมควักเงินซื้อของกันมากขึ้น

รายงานดังกล่าวก็เป็นของผู้ผลิตซอฟท์แวร์ บริษัท Kronos ที่ทำการรวบรวมตัวเลขเปอร์เซนต์การจ้างงานของร้านค้าประเภทที่กล่าวมา หลังจากตัวเลขใบสมัครงานในเดือนที่แล้วร่วงลงมาที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ด้วยจำนวนใบสมัคร 1.27 ล้านฉบับ และพลิกสถานการณ์จากที่เคยเพิ่มอย่างต่อเนื่อง 10 เดือนติดต่อกัน

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทซอฟท์แวร์รายนี้บอกว่า ตัวเลขล่าสุดเป็นเครื่องยืนยันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างช้าๆ หลังสภาวะวิกฤติ ด้วยข้อมูลการสำรวจที่บริษัทครอบคลุมถึง 68 บริษัท และจำนวนสาขากว่า 27,034 แห่งทั่วสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เขากลับตั้งข้อสังเกตว่า ผลสำรวจของเดือนที่แล้วอาจเป็นอานิสงส์ผ่านมาจากเดือนตุลาคม ที่ผู้ประกอบการชะลอการจ้างงานใหม่ออกไป จนทำให้ตัวเลขส่วนหนึ่งตกมาเป็นของเดือนล่าสุด

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ก็เพิ่งรายงานอัตราการว่างงานแผ่วลงมาอยู่ที่ระดับ 10% ในเดือนพฤศจิกายน หลังขึ้นไปทำสถิติสูงสุดในรอบ 26 ปี ที่ 10.2% ในเดือนตุลาคม ท่ามกลางความกังวลและไม่มั่นใจว่าสถานการณ์จะดีหรือร้ายอย่างไรต่อไปในปีนี้ ซึ่งแน่นอนว่าจากเหตุการณ์ในปี 2550 และ 2551 ทำให้เจ้าของกิจการส่วนหนึ่งยังคงมีฝันร้ายและฝังใจอยู่กับสภาวะสต็อกสินค้าคงค้างที่มีอยู่จำนวนมาก ขณะพนักงานส่วนใหญ่ไม่มีงานทำ และของก็ขายออกยาก

ซอฟท์แวร์ของบริษัท Kronos นี้ ก็ครอบคลุมนับตั้งแต่กระบวนการจ้างงาน บัญชีเงินเดือน และการบริหารงานบุคคล โดยบริษัทอ้างว่า ลูกจ้างของธุรกิจในสหรัฐฯ ที่ใช้ซอฟท์แวร์นี้ คิดเป็นสัดส่วนถึง 15% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในธุรกิจค้าปลีกของประเทศอีกด้วย
money wake up***********
08/12/52
หวั่นเฟดขึ้นดบ.ฉุดหุ้นสหรัฐฯผันผวน
Tuesday, 08 December 2009 07:40
นักลงทุนต่างๆหวั่นเฟดอาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้ ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐเคลื่อนไหวกระจัดกระจายและแกว่งตัวในแดนลบเป็นส่วนใหญ่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นสหรัฐเคลื่อนไหวกระจัดกระจายและแกว่งตัวในแดนลบเป็นส่วนใหญ่ ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าเฟดอาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ การปิดการซื้อขายตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนีหุ้นเคลื่อนไหวกระจัดกระจายแต่ส่วนใหญ่ปรับเพิ่มลดลง แม้จะมีสัญญาณเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในช่วงหลัง ทั้งเรื่องของตลาดแรงงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค แต่นักลงทุนวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจที่ดีขึ้นอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ซึ่งจะมีการประชุมในสัปดาห์นี้ อาจพิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่ยึดนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ใกล้ 0% มานาน ด้านราคาน้ำมันดิบตลาดไนเม็กซ์ ลดลง 1.54 ดอลลาร์ หรือ 2% ไปปิดที่ 73.93 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำให้หลังปิดตลาด ดัชนีดาวโจนส์ ปิดที่ 10,390.11 จุด เพิ่มขึ้น 1.21 จุด หรือ 0.01% ดัชนีแนสแดค ปิดที่ 2,189.61 จุด ลดลง 4.74 จุด หรือ 0.22% ดัชนีเอสแอนด์พี ปิดที่ 1,103.25 จุด ลดลง 2.73 จุด หรือ 0.25%

ตลาดหุ้นสำคัญของยุโรป ดัชนี FTSE 100 ตลาดลอนดอน ปิดที่ 5,310.66 จุด ลดลง 11.70 จุด หรือ 0.22% ดัชนี DAX ตลาดแฟรงก์เฟิร์ต ปิดที่ 5,784.75 จุด ลดลง 32.90 จุด หรือ 0.57% และดัชนี CAC 40 ตลาดปารีส ปิดที่ 3,840.05 จุด ลดลง 6.57 จุด หรือ 0.17% ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนต์ ตลาดลอนดอน ลดลง 1.09 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 77.53 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่วนราคาทองคำตลาดนิวยอร์ก ปิดที่ 1,163.40 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ลดลง 5.40 ดอลลาร์สหรัฐ
stock wave
*********
07/12/52
รัฐบาลญี่ปุ่นอัด7.7พันล้านเหรียญอุ้มเจแปน แอร์ไลน์

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานวานนี้(6 ธ.ค.2552)ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจจะให้หลักประกันเงินกู้ราว 7,730 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 250,000 ล้านบาทแก่สถาบันการเงินที่จะจัดสรรเงินกู้ให้แก่สายการบินเจแปน แอร์ไลน์ โดยรัฐบาลจะจัดสรรเงินกองทุนจำนวนนี้ผ่านงบประมาณพิเศษซึ่งคาดว่าจะมีการอนุมัติภายในสัปดาห์นี้

สำหรับแผนการรับประกันเงินกู้นี้ เป็นการช่วยเหลือเจแปน แอร์ไลน์ สายการบินแห่งชาติ ให้รอดพ้นจากการต้องระงับการบินเนื่องจากขาดแคลนเงินทุนในการดำเนินการ หลังจากมีรายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่าเจแปน แอร์ไลน์ ขาดทุนติดต่อกันมาแล้วถึง 4 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลจากการซบเซาของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกโลก การบริหารจัดการที่ผิดพลาด รวมทั้งภาระในการจ่ายเงินบำนาญก้อนโตของเจแปน แอร์ไลน์
prachachart
*********
07/12/52
กองทุนคูเวตขายหุ้นซิตี้ 4.1 พันล้านดอลลาร์

กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติคูเวตเผยขายหุ้นในซิตี้กรุ๊ป ฟันกำไร 1.1 พันล้านดอลาร์
เอพีอ้างแถลงการณ์ของหน่วยงานด้านการลงทุนของคูเวตว่า ได้ขายหุ้นบุริมสิทธิ์ หลังแปลงเป็นหุ้นสามัญในราคา 4.1 พันล้านดอลลาร์ โดยสามารถทำกำไรได้เกือบ 37% จากการลงทุน 3 พันล้านดอลลาร์

กองทุนคูเวตไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ขณะที่โฆษกของซิตี้ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
ที่ผ่านมา กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศอาหรับถือเป็นนักลงทุนรายสำคัญของบริษัทยุโรปและสหรัฐ โดยนำเงินรายได้จากการขายน้ำมันไปซื้อหุ้นจำนวนมากในบริษัทต่างๆ เช่น ซิตี้ โฟล์กสวาเก้น เอจี และเดมเลอร์ เอจี
ทั้งนี้กองทุนคูเวตและนักลงทุนรายใหญ่อื่นๆ เช่น บรรษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ และเจ้าชายอัลวาลีด บิน ทาลัลแห่งซาอุดิอาระเบีย ได้ทุ่มเงินราว 12.5 พันล้านดอลลาร์ ลงทุนในซิตี้เมื่อเดือนมกราคม 2551 ซึ่งในขณะนั้นธนาคารกำลังประสบปัญหาสินทรัพย์จำนองที่ถืออยู่มีมูลค่าลดลงมาก

นอกจากลงทุนในซิตี้แล้ว กองทุนคูเวตยังเข้าไปถือหุ้นมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ในเมอร์ริล ลินซ์ด้วย ซึ่งภายหลังถูกแบงก์ ออฟ อเมริกา ซื้อกิจการไป ความเคลื่อนไหวของกองทุนคูเวตเป็นสิ่งเหนือความคาดหมาย เพราะเมื่อเดือนกันยายน กองทุนระบุว่า ในระยะสั้น ยังไม่มีความตั้งใจที่จะขายหุ้นในซิตี้ หรือ แบงก์ ออฟ อเมริกา เนื่องจากนโยบายการลงทุนของกองทุนเป็นการลงทุนระยะยาว

กองทุนคูเวตได้เข้ามาซื้อหุ้นของซิตี้เมื่อปีที่ผ่านมา หลังจากกองทุนเพื่อการลงทุนของอาบูดาบี ได้ทุ่มเงิน 7.5 พันล้านดอลลาร์ ซื้อหุ้น 4.9% ในซิตี้ ซึ่งจะเริ่มแปลงเป็นหุ้นสามัญตั้งแต่เดือนมีนาคมปีหน้า ทั้งนี้โฆษกของกองทุนอาบูดาบี ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนขายหุ้นซิตี้ของกองทุน
prachachart
***********
04/12/52
โอบามาจัดประชุมสุดยอดการสร้างงานที่ทำเนียบขาว

บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมเผยขีดความสามารถในการรับมือกับปัญหาว่างงาน ระหว่างการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดการสร้างงาน (Job-creation summit) ที่ทำเนียบขาวเมื่อคืนนี้

การประชุมดังกล่าวมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมมากมายไม่ว่าจะเป็น นักเศรษฐศาสตร์ ผู้นำสหภาพแรงงาน ผู้นำทางธุรกิจอย่าง เอริค ชมิดท์ ซีอีโอของ กูเกิล อิงค์ และ เฟรด สมิธ ผู้บริหาร เฟดเอ็กซ์ คอร์ป รวมถึงตัวแทนจากอีกหลายบริษัท อาทิ เอทีแอนด์ที, โบอิ้ง และ ไฟเซอร์

ทั้งนี้ โอบามาได้เรียกร้องให้เอกชนเป็นส่วนหนึ่งและเป็นผู้นำในการกระตุ้นการจ้างงาน และรัฐบาลก็จะเข้ามาช่วยภาคเอกชนให้สามารถเพิ่มการจ้างงานได้ในระยะใกล้ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าโอบามาจะเรียกร้องให้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการสร้างงาน อาทิ การให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับธุรกิจขนาดเล็ก หรือการให้เครดิตภาษีกับบริษัทต่างๆ แต่ผู้บริหารของบริษัทแห่งหนึ่งกล่าวว่า การใช้มาตรการดังกล่าวก็สู้การที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างแข็งแกร่งไม่ได้ และทางบริษัทจะไม่ยอมจ้างงานจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างแท้จริง

ปัจจุบันอัตราว่างงานในสหรัฐฯอยู่ที่ 10.2% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 26 ปี

*********
04/12/52
อินเดียตั้งเป้าลดคาร์บอนไดออกไซด์ 35% ภายใน 22 ปี

รัฐบาลอินเดียตั้งเป้าควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่ไปกับกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ได้ภายในปี 2574 หลังจากที่ได้ใช้มาตรการลดการใช้พลังงานและก๊าซคาร์บอนอย่างจริงจังในช่วงที่ผ่านมา

นายกรัฐมนตรีมานโมฮาน ซิงห์ ผู้นำอินเดีย ทูตพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กล่าวว่า อินเดียจะสามารถลดอัตราการใช้พลังงานต่อหนึ่งหน่วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ลงได้มากถึง 35% ภายใน 22 ปี หรือภายในปี 2574 รวมไปถึงการลดอัตราปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นตัวการภาวะโลกร้อนได้ที่ระดับ 35% เช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียโดยเฉลี่ยที่ 6% ขณะที่ปริมาณการใช้พลังงานขยายตัวเพียง 3.8% ต่อปีนับตั้งแต่ปี 2533

ทั้งนี้ อินเดีย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ปล่อยมลพิษทางอากาศมากที่สุดอันดับ 4 ของโลก และเป็นประเทศผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่อันดับ 3 ในเอเชีย กำลังเผชิญแรงกดดันให้ควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นเดียวกับจีนและสหรัฐฯ ซึ่งสองประเทศหลังได้ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ก่อนที่การประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสหภาพอากาศในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก จะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 7 ธันวาคมนี้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนประกาศว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยจีดีพีลงราว 40-45% จากระดับในปี 2548 ขณะที่สหรัฐจะลดระดับการปล่อยก๊าซดังกล่าวลง 17%

นอกจากนี้ บรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเชื่อว่า อินเดียอาจยื่นข้อเสนอเรื่องการควบคุมมลพิษในครั้งนี้ต่อที่ประชุม หลังจากที่ได้ประกาศถึงแผนการเพิ่มระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในเดือนมิ.ย.2551 และการประหยัดพลังงาน รวมไปถึงการปลูกป่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

ขณะเดียวกันรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินเดียอาจกำหนดเป้าหมายการควบคุมก๊าซเรือนกระจกในวันนี้ ซึ่งรัฐบาลคาดว่าอินเดียอาจกำหนดตัวเลขควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากปี 2548 ลงให้ได้ 24% ภายในปี 2563 ก่อนที่จะลดการปล่อยก๊าซดังกล่าวลง 37% ภายในปี 2573

**********
04/12/52
แบงก์ ออฟ อเมริกา ประกาศระดมทุน 1.93 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

Posted on Friday, December 04, 2009
แบงก์ ออฟ อเมริกา คอร์ป ผู้ปล่อยกู้รายใหญ่สุดในสหรัฐฯประกาศระดมทุน 1.93 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านการขายหุ้นในราคาหุ้นละ 15 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเตรียมนำเงินทุนดังกล่าวมาชำระหนี้คืนรัฐบาล 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ แบงก์ ออฟ อเมริกาได้ขายหุ้นสามัญที่เทียบเท่ากับหลักทรัพย์ในวงเงิน 1,286 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หุ้นดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นและเจ้าหน้าที่กำกับดูแลก่อนที่จะประกาศขาย

การระดมทุนเพื่อชำระหนี้ของ แบงก์ ออฟ อเมริกา ในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในแผนการของหลีกเลี่ยงข้อกำหนดเรื่องการห้ามจ่ายเงินโบนัสพนักงาน หลังจากที่ธนาคารได้รับเงินทุนจากโครงการฟื้นฟูสินทรัพย์ที่มีปัญหา (TARP)

นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังช่วยให้ทางธนาคารสามารถหาผู้บริหารคนใหม่ได้ง่ายขึ้น หลังจากที่ เคนเนธ ดี. ลูวิสซีอีโอ ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม

สำหรับแผนการชำระหนี้ให้รัฐบาล จะใช้สภาพคล่องส่วนเกินที่มีอยู่ 2.62 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมไปถึงการขายหุ้นจำนวน 1.93 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐที่ประกาศไป นอกจากนั้น ทางธนาคารยังวางแผนเพิ่มหลักทรัพย์ให้ได้ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านการขายสินทรัพย์ และจะออกหุ้นจำกัดสิทธิ์มูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับพนักงานบางส่วนแทนการจ่ายเงินโบนัส
**************
04/12/52
ญี่ปุ่นประกาศงบกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่วันนี้

Posted on Friday, December 04, 2009
นายกรัฐมนตรียูกิโอะ ฮาโทยาม่า ของญี่ปุ่นเตรียมประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งแรกนับตั้งแต่เข้าสู่อำนาจบริหารเมื่อเดือนกันยายนวันนี้ หลังคะแนนความนิยมตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว ประกอบกับค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องกดดันภาคส่งออกอย่างหนัก

ขณะที่ เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ประเมินว่าผู้นำญี่ปุ่นจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาด 4 ล้านล้านเยน หรือ 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในวันนี้ ซึ่งเป็นงบประมาณพิเศษไม่รวมงบประมาณประจำปี 2553 โดยเม็ดเงินส่วนใหญ่จะมาจากงบประมาณพิเศษมูลค่า 2.7 ล้านล้านเยนของคณะรัฐบาลชุดก่อน จะมุ่งเน้นที่การช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงการช่วยเหลือด้านแรงงานและการกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ความคืบหน้าดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ขณะนี้มีสัญญาณบ่งชี้ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่นขาดปัจจัยหนุนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนตุลาคมที่ขยายตัวได้ช้าที่สุดในรอบ 8 เดือน รวมถึงการที่ภาคเอกชนปรับลดตัวเลขการใช้จ่ายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 25.7% ในไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่ค่าจ้างแรงงานลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ซึ่งทำสถิติร่วงยาวนานที่สุดในรอบ 6 ปี
money news update************
04/12/52
ยุโรปร่วมฉลองสนธิสัญญาลิสบอนมีผลบังคับใช้

สนธิสัญญาลิสบอนของสหภาพยุโรป (EU) มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้นำสหภาพยุโรปถือว่าเป็นการเปิด "ยุคใหม่" ของกลุ่มสมาชิก 27 ประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้เฉลิมฉลองด้วยการจุดพลุและปราศรัยที่กรุงลิสบอน โปรตุเกส

นายโฮเซ่ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมมาธิการEU กล่าวว่า สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึง "เสรีภาพและประชาธิปไตย" ของยุโรป อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้นำEUไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะยังมีภารกิจอีกมากที่ต้องทำ

นายกรัฐมนตรีเฟรดริก ไรน์เฟลด์ท ของสวีเดน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานระบบหมุนเวียนของEUในขณะนี้ กล่าวว่า สนธิสัญญาดังกล่าวทำให้EU "เปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น"

ทั้งนี้ สนธิสัญญาลิสบอน (Lisbon Treaty หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า Reform Treaty) เป็นเสมือนกฎหมายแม่บทระหว่างสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ถูกกำหนดขึ้นเพื่อช่วยให้การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อให้EUมีอิทธิพลในกิจการต่างๆ ของโลกมากขึ้น

เป้าหมายหลักๆ ในสนธิสัญญาลิสบอน มี 4 เรื่องได้แก่ 1) ยกระดับความโปร่งใสและประชาธิปไตยในยุโรป 2) เพิ่มศักยภาพภายในของยุโรป 3) สร้างคุณค่า ความเป็นปึกแผ่น และความมั่นคงของสหภาพยุโรป 4) เน้นการเป็นผู้นำในเวทีโลก

นอกจากนั้นสนธิสัญญานี้ยังทำให้เกิดตำแหน่งใหม่ขึ้นมา 2 ตำแหน่ง ได้แก่ ประธาน EU คนแรกที่ทำหน้าที่แบบเต็มเวลา และ หัวหน้าด้านนโยบายต่างประเทศ


นายกรัฐมนตรีแคนาดาเดินสายเยือนจีน-ฮ่องกง

นายสตีเฟน ฮาร์เปอร์ นายกรัฐมนตรีแคนาดาเดินสายเยือนจีนและฮ่องกงในสัปดาห์นี้ โดยนายกรัฐมนตรีแคนาดาได้เดินทางถึงกรุงปักกิ่งแล้วเมื่อวานนี้ ซึ่งในการเดินทางครั้งนี้ แคนาดามีเป้าหมายที่จะผลักดันให้บริษัทในจีน อาทิ ไชน่า ปิโตรเลียม แอนด์ เคมิคอล คอร์ป เข้ามาลงทุนในธุรกิจเหมืองและพลังงานของประเทศ เนื่องจากแคนาดากำลังหาทางลดการพึ่งพาสหรัฐ หลังจากที่ดีมานด์สำหรับไม้ รถยนต์ และสินค้าโภคภัณฑ์ของสหรัฐหดตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ

จิม ฟลาเฮอร์ที รัฐมนตรีคลังแคนาดาได้ชักชวนนักลงทุนจีนให้เข้ามาลงทุนในธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติของแคนาดาไปแล้วระหว่างการเดินทางเยือนจีนเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีของแคนาดาก็พยายามหาช่องทางในการเข้าถึงตลาดจีนให้กับบริษัทเอกชนของแคนาดา เช่น บริษัท แมนูไลฟ์ ไฟแนนเชียล และบอมบาร์ดิเยร์

นายกรัฐมนตรีแคนาดากล่าวก่อนหน้านี้ว่า แคนาดาต้องการย้ำกับพันธมิตรจีนว่า เราทุ่มเทในเรื่องการเปิดตลาด และตลาดดังกล่าวจะต้องเป็นระบบของการติดต่อกันได้ทั้ง 2 ทาง

นายฮาร์เปอร์จะได้เข้าพบประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และนายเหวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน ตลอดจนนายกเทศมนตรีเซี่ยงไฮ้ โดยนายกรัฐมนตรีแคนาดาจะขึ้นกล่าวปราศรัยที่สมาคมธุรกิจจีน-แคนาดาที่โรงแรมเซี่ยงไฮ้ ไฮแอท วันที่ 4 ธันวาคม


Google จำกัดการอ่านข่าวฟรี หลังถูกกดดันจากสื่อฯ

Google อิงค์ ประกาศว่า นับจากนี้ไป บริษัทผู้ผลิตหนังสือพิมพ์สามารถจำกัดจำนวนข่าวที่จะอนุญาตให้อ่านฟรีผ่าน Google ได้แล้ว ซึ่งการยินยอมในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่บริษัทสื่อบางแห่งร้องเรียนว่า Search Engine รายใหญ่หาผลประโยชน์จากหน้าข่าวออนไลน์ของสื่อหนังสื่อพิมพ์ต่างๆ

นายจอห์น โคเฮน ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์ธุรกิจของ Google เปิดเผยผ่านบล็อกว่า "ตอนนี้กูเกิ้ลได้มีการอัพเดทโปรแกรมขึ้น เพื่อที่สำนักพิมพ์จะได้สามารถจำกัดผู้ใช้ไม่ให้คลิกอ่านข่าวมากกว่า 5 ชิ้นต่อวัน โดยไม่ได้ลงทะเบียนหรือสมัครสมาชิก" ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า First Click Free ทางสำนักพิมพ์ผู้ผลิตเนื้อหาข่าวสามารถป้องกันมิให้มีการเข้าสู่เว็บไซต์ที่ต้องสมัครสมาชิก

และเมื่อผู้ใช้คลิกอ่านข่าวเป็นชิ้นที่ 6 ก็จะมีหน้าต่างให้ผู้ใช้ลงทะเบียนหรือจ่ายค่าบริการปรากฏขึ้น ถ้าไม่สมัคร หรือ ไม่จ่ายค่าบริการก็จะไม่สามารถใช้งานในส่วนนั้นๆ ได้

ก่อนหน้านี้มหาเศรษฐี รูเพิร์ต เมอร์ด็อค เจ้าพ่อสื่อเจ้าของ นิวส์ คอร์ป ออกมาต่อว่าเว็บไซต์หลายแห่ง รวมถึงGoogle ว่าหารายได้จากการโฆษณาด้วยการนำข่าวของหนังสือพิมพ์ไปเสนอให้ผู้อ่านผ่านทาง Google

ขณะเดียวกันผู้ใช้งานหัวใสบางคนก็อ่านข่าวผ่านลิงค์ใน Google ทำให้ไม่ต้องเสียค่าบริการให้กับเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์


BOJ ประสานงานรัฐบาลใกล้ชิดเพื่อดำเนินนโยบายใหม่

นายมาซาอากิ ชิรากาว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เผยภายหลังการประชุมร่วมกับนายยูคิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อวานนี้ว่า BOJ จะติดต่อพูดคุยกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิดเมื่อมีการออกนโยบายใหม่ๆ พร้อมกับปฏิเสธว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้ต้องการให้ธนาคารกลางใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม

ทั้งนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศจัดหาเงินทุนมูลค่า 1 ล้านล้านเยนให้กับสถาบันการเงินภายในประเทศ รวมถึงธนาคารพาณิชย์และบริษัทโบรกเกอร์ เมื่อวานนี้ โดยผ่านการดำเนินการในตลาดเงิน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนปรนด้านการเงินฉบับใหม่ของบีโอเจและมีเป้าหมายที่จะยับยั้งภาวะเงินฝืดตามที่บีโอเจได้ออกแถลงการณ์ไปเมื่อต้นสัปดาห์

นายยูคิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแสดงความกังวลต่อกรณีบังคับใช้นโยบายจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมในปีงบประมาณ 2553 ซึ่งจะเริ่มในเดือนเม.ย.ปีหน้า ขณะที่กำลังพิจารณายกเลิกการจัดเก็บภาษีน้ำมันเบนซินและภาษีที่เกี่ยวกับยานยนต์

ฮาโตยามะกล่าวว่า "ประชาชนจะมองว่ารัฐบาลผิดสัญญาที่ให้ไว้ หากเรานำนโยบายจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมมาปะปนกับนโยบายด้านภาษีเชื้อเพลิง"

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีคนสำคัญของรัฐบาลชุดนายกรัฐมนตรีฮาโตยามะมองว่า รัฐบาลจำเป็นต้องรับภาระขาดแคลนรายได้ดังกล่าว ด้วยการนำภาษีสิ่งแวดล้อมมาใช้ในปีงบประมาณ 2553

ขณะที่นายฮาโตยามะกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลของเขาจะเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ได้ให้คำมั่นไว้เมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้งในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ถ้าประชาชนเรียกร้องสิ่งที่แตกต่างออกไป
money wake up
************
04/12/52
เฟดชี้เศรษฐกิจฟื้นต่อ ขณะนักลงทุนขายหุ้นพลังงาน

นักลงทุนขายหุ้นกลุ่มพลังงานตามราคาน้ำมันที่ร่วงลงมากกว่า 2% หลังจากรัฐบาลรายงานตัวเลขความต้องการพลังงานที่ลดลง 2.6% ส่งผลตลาดหุ้นสหรัฐฯ แผ่วลงจากระดับนิวไฮในรอบ 14 เดือน แม้จะมีแรงซื้อกลับเข้ามาในหุ้นกลุ่มอื่นหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ระบุว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้น

ทางด้านราคาทองยังเดินหน้าทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 จากความต้องการของนักลงทุนที่กระจายสินทรัพย์ออกจากเงินดอลลาร์ที่กำลังอ่อนค่าลง ราคาทองขึ้นไปแตะที่ระดับ 1,218.4 เหรียญต่อออนซ์ที่ตลาดนิวยอร์ก เช่นเดียวกับราคาทองที่อยู่ในรูปของเงินปอนด์สเตอลิง ยูโร และฟรังก์สวิส ที่ขยับขึ้นทำนิวไฮเช่นกัน

สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในผลสำรวจรายภูมิภาคของเฟดล่าสุด พบว่า เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวหรือขยับดีขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยการใช้จ่ายผู้บริโภคเป็นตัวสร้างความหวังว่าแนวโน้มหลังจากนี้น่าจะดีขึ้นอีก แม้จะยังมีแรงกดดันมาจากสถานการณ์แรงงานและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ดูอ่อนแออยู่ก็ตาม

ข้อมูลเฟดยังชี้ว่า ธุรกิจสถาบันการเงินยังเผชิญกับความต้องการสินเชื่อในระดับต่ำ การปล่อยสินเชื่อที่ยังถูกคุมเข้มอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคุณภาพสินเชื่อที่อยู่ในภาวะทรงตัว หรือแม้แต่ลดลง

ตลาดยังจับตาดูการแถลงของนาย Ben Bernanke ต่อคณะกรรมาธิการทางด้านธนาคารของวุฒิสภาในคืนวันนี้ เพื่อยืนยันการต่ออายุในตำแหน่งประธานธนาคารกลางเป็นเทอมที่ 2 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีหน้า

จากผลสำรวจเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของเฟด ก็มาดูต่อกันที่เศรษฐกิจโลกผ่านมุมมองของสถาบันการเงินชั้นนำ โดยหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs Group คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.4% ในปีหน้า และ 4.5% ในปีถัดไป หลังโลกหลุดพ้นจากวิกฤติการเงินรอบนี้ ซึ่งข่าวดีที่นักลงทุนจะได้เจอก็น่าจะมีทั้งอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงเกินคาด ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออาจจะไม่ได้ออกมาสูงอย่างที่หลายคนคาดไว้

การคาดการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวได้มากกว่า 4% ในช่วงสองปีจากนี้นั้น ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า จะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นในช่วงเวลาดังกล่าว และทั้งหมดก็น่าจะเป็นตัวกระตุ้นความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น รวมทั้งอาจนำไปสู่การปรับตัวขึ้นสูงเกินจริงสำหรับสินทรัพย์บางประเภทได้อีกด้วย


GM วุ่นหาผู้นำใหม่ หลังบอร์ดกดดันซีอีโอลาออก

ข่าวเซอร์ไพร์สเมื่อวานนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการลาออกอย่างกระทันหันของประธานเจ้าหน้าที่บริหารของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ อย่าง General Motors ซึ่งก็คือ นาย Fritz Henderson หลังจากที่เขาทำงานมาได้เพียงแค่ 8 เดือน ก่อนที่จะถูกคณะกรรมการบริษัทบอกว่ายังทำงานได้ไม่ดีพอสำหรับการแก้ไขปัญหาทางการเงินและวัฒนธรรมองค์กร

แหล่งข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้บอร์ด GM ให้เวลา Henderson สำหรับการทบทวนผลงานของตัวเองในช่วง 100 วันที่ผ่านมา หรือ นับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ที่ GM เดินออกจากภาวะคุ้มครองการล้มละลาย ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานข่าวว่าคณะกรรมการบริษัทก็มีความคิดที่จะสรรหาผู้บริหารคนนอกเข้ามาดูแลกิจการของผู้ผลิตรถยนต์รายนี้อีกด้วย

การลาออกของ Henderson ได้ทิ้งภาระต่างๆ ไว้ให้กับคนที่จะเดินเข้ามารับงานต่อ ซึ่งรวมถึง การหาทางออกหลัง GM ยกเลิกดีลขายรถแบรนด์ Saturn, Saab และ Opel และก็ยังมีเรื่องความพยายามในการหาคนมาแทนที่ผู้บริหารระดับสูงในแผนกต่างๆ ที่ออกจากบริษัทไป นอกจากนั้น เรื่องสำคัญ ก็คือ การแก้ปัญหาส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทในตลาดสหรัฐฯ ที่ลดลง

ทั้งหมดก็ทำให้ประธานของ General Motors นาย Ed Whitacre ที่ลงมาดูแลธุรกิจชั่วคราว มีงานสำคัญที่ต้องหาคนมาแทนที่ เพื่อเดินหน้าอาณาจักรผลิตรถยนต์แห่งนี้ต่อ ซึ่งนักวิเคราะห์ก็เก็งว่า ซีอีโอคนใหม่ที่จะเข้ามาน่าจะเป็นคนที่บอร์ดส่งมาลุยงานนี้เอง

สำหรับตัว Whitacre ถ้ามองย้อนกลับไป เขาก็เป็นคนที่คณะทำงานที่ดูแลอุตสาหกรรมรถยนต์จากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ส่งเข้ามานั่งเป็นประธานในบอร์ดชุดใหม่ ที่รัฐบาลหวังจะช่วยให้กิจการจากเมืองดีทรอยต์แห่งนี้เดินหน้าต่อไปได้ หลังจากบริษัทหลุดพ้นจากภาวะคุ้มครองการล้มละลาย ภายใต้การถือหุ้นใหญ่โดยรัฐบาล ซึ่งประธานผู้นี้ได้ประกาศอย่างชัดเจนเมื่อวันก่อนว่า GM จำเป็นที่จะต้องเดินหน้าต่อไปให้เร็วกว่านี้

ที่ผ่านมา ไม่เคยมีสัญญาณมาก่อนเลยว่า เก้าอี้ของ Henderson จะร้อนจนถึงขีดสุด ในเมื่อบอร์ดก็เพิ่งจะอนุมัติแผนธุรกิจของ GM ปี 2553 และพิมพ์เขียวของแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของ Opel ในยุโรป ก่อนที่จะมาถึงคิวการประเมินผลงานของซีอีโอรายนี้
money wake up
**********
03/12/52
ภาคการผลิตสิงคโปร์พุ่งเป็นเดือนที่ 7

Posted on Thursday, December 03, 2009
สิงคโปร์ เผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดผลผลิตภาคการผลิต ได้ขยายตัวเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันในเดือนพฤศจิกายน โดยดัชนี PMI รวมขยายตัว 1.8% จากเดือนตุลาคม แตะระดับ 52 จุด ซึ่งการที่ได้ค่าดัชนีเกิน 50 จุด แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตได้ขยายตัวอย่างมั่นใจ

นักวิเคราะห์บอกว่า การที่ ดัชนี PMI รวมปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจากยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่และยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้น รวมถึงระดับการผลิตและจำนวนสินค้าในสต็อกที่ปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ ภาคการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังดีดตัวขึ้นแตะ 51.3 จุดในเดือนพฤศจิกายน จากที่อยู่ในแดนลบเมื่อเดือนตุลาคม 2552
money news update
**********
03/12/52
อเมริกัน แอร์ไลน์ส เตรียมทุ่มเงิน 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐลงทุนใน JAL

Posted on Thursday, December 03, 2009
อเมริกัน แอร์ไลน์ส อิงค์ และอีกหลายบริษัท เตรียมทุ่มเงินลงทุน 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน เจแปน แอร์ไลน์ส คอร์ป (JAL) ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่าง เดลต้า แอร์ไลน์ส อิงค์ ก็ยื่นข้อเสนอให้กับ JAL เช่นกัน

ทั้งนี้ ตัวแทนจากอเมริกัน แอร์ไลน์ส และ เดลต้า แอร์ไลน์ส ต่างเดินทางไปยังกรุงโตเกียว เพื่อยื่นข้อเสนอให้กับ JAL ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน โดยทั้งสองสายการบินใหญ่ต่างหวังพึ่ง JAL ในการเจาะเส้นทางการบินในเอเชีย

อเมริกัน แอร์ไลน์ส ซึ่งเป็นสายการบินในเครือ เอเอ็มอาร์ คอร์ป พร้อมด้วยพันธมิตรในกลุ่ม oneworld และ ทีพีจี อิงค์ บริษัทลงทุนรายใหญ่ของสหรัฐ เสนอให้ความช่วยเหลือทางการเงินมูลค่าสูงสุด 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กับ JAL เพื่อขัดขวางไม่ให้ JAL หันไปเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรคู่แข่งอย่าง SkyTeam

นายเอ็ดเวิร์ด บาสเตียน ประธานเดลต้า ประกาศว่า บริษัทพร้อมจับมือกับบริษัทร่วมทุน เพื่อให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมกับ JAL หลังจากที่เคยเสนอไปแล้ว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หาก JAL ยอมร่วมกลุ่มพันธมิตร SkyTeam

นายทอม ฮอร์ตัน หัวหน้าฝ่ายการเงินของอเมริกัน แอร์ไลน์ บอกว่า บริษัทได้ยื่นข้อเสนอต่อ JAL และรัฐบาลญี่ปุ่นแล้ว และหาก JAL มีสถานภาพที่แข็งแกร่งก็จะเป็นผลดีต่อญี่ปุ่น ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นและสหรัฐฯจะเปิดเจรจารอบสุดท้าย เรื่องสนธิสัญญาเปิดน่านฟ้าในช่วงปลายเดือนนี้ และคาดว่าจะสามารถลงนามข้อตกลงเบื้องต้นได้ก่อนสิ้นปี โดยสนธิสัญญาดังกล่าวจะช่วยให้สายการบินของทั้งสองประเทศมีอิสระมากขึ้นในการเปิดเส้นทางบินและเลือกจำนวนเที่ยวบินระหว่างสองประเทศ
money news update
***********
03/12/52
นักวิเคราะห์เตือนแบงก์สหรัฐฯจะเผชิญความเสี่ยงครั้งใหญ่

ในภาวะซื้อขายของตลาดหุ้นสหรัฐฯยังผันผวน นักวิเคราะห์จาก Citigroup ก็ออกมาเตือนว่า หุ้นในกลุ่มธนาคารยังคงต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงครั้งใหญ่ในเร็วๆ นี้

นักวิเคราะห์จาก Citigroup เตือนว่า ธุรกิจธนาคารในสหรัฐฯ ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงครั้งใหญ่เร็วๆ นี้ ทั้งจากนโยบายของธนาคารกลางและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า

คำแนะนำดังกล่าวยังรวมไปถึง การจับตาดูหุ้นต่างๆ ในกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด โดยการลงทุนควรเน้นที่ธนาคารที่มีสถานะเงินทุนที่เข้มแข็งไว้ก่อน และหลีกเลี่ยงสถาบันการเงินที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งในเรื่องของการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ และระดับทุนที่ไม่น่าไว้ใจ

สำหรับหุ้นที่ Citigroup แนะนำในช่วงนี้ก็มี Bank of America และธนาคารขนาดกลาง อย่าง BB&T, Fifth Third Bancorp และ Suntrust Banks

ทีมนักวิเคราะห์ระบุด้วยว่า ธนาคารที่มีความแข็งแกร่งทางด้านทุนเหลือเฟือจะทะยานขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม และอาจได้เข้าเป็นเจ้าของธุรกิจคู่แข่งที่อ่อนแอกว่าด้วย

AIG ได้ข้อสรุปลดเงินช่วยเหลือจากธนาคารกลาง

หลังจากได้รับเงินช่วยเหลือมาเมื่อปีที่แล้ว ล่าสุด AIG ก็สามารถคืนเงินกู้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯให้หยิบยืมไปได้กว่าครึ่ง หลังบรรลุข้อตกลงยกหุ้นในบริษัทลูกให้กับธนาคารกลางสาขานิวยอร์ก

AIG เพิ่งได้ข้อสรุปในสัญญาที่ทำไว้กับธนาคารกลางสาขานิวยอร์ค ที่จะส่งผลให้ยอดเงินช่วยเหลือที่ได้รับมาเพื่อพยุงกิจการตั้งแต่ปีที่แล้ว ลดหายไปกว่าครึ่งและเหลือประมาณ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และการทำสัญญารอบนี้ ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของ AIG ในการจ่ายคืนเงินกู้ที่รัฐนำเงินภาษีของประชาชนมาให้ยืมกว่า 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นยอดเงินที่รวมทั้งดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แล้ว

นอกจากนั้น ทางบริษัทยังจะเดินหน้าแยกส่วนงานประกันใหญ่ ๆ ของตนอีก 2 บริษัทให้เป็นอิสระ ซึ่งก็คือ American Life Insurance และ American International Assurance ( AIA) เพื่อช่วยให้ฐานะทางการเงินของบริษัทแม่เข้มแข็งขึ้นด้วย

ธุรกิจส่งออกญี่ปุ่นเจ็บตัวจากค่าเงินเยนแข็ง

ผู้ส่งออกรายใหญ่จากญี่ปุ่นเริ่มออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารกลางลงมือแก้ไขปัญหาเงินเยนที่แข็งค่าจนแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปีไปแล้ว หลังกำไรมีแนวโน้มหดตัวลงหนัก

ผู้ส่งออกรายใหญ่ของญี่ปุ่นเริ่มเดือดร้อนจากการแข็งค่าของเงินเยน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเงินเยนทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเมื่อไม่นานมานี้ จนทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องออกมาเตือน แต่ก็ยังไม่มีการแทรกแซงจากทางการในเวลานี้

ผู้บริหารจาก Fuji Heavy Industries เรียกร้องให้รัฐบาลลงมือทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะปัจจุบัน รถยี่ห้อ Subaru ที่บริษัทขายอยู่ในตลาดสหรัฐฯ กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมถึง ผู้ผลิตสุขภัณฑ์ชั้นนำอย่าง Toto ซึ่งเคยทำกำไรในบ้านตัวเองได้สบาย ต้องออกมายอมรับว่า เงินเยนที่แข็งค่าได้กลายเป็นปัญหาหนักอกแล้ว พร้อมระบุว่า ทุกๆ 1 เยนที่แข็งค่าขึ้น ทำให้กำไรของบริษัทหดหายลงไปถึง 100 ล้านเยน หรือกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
global money**************
03/12/52
FEDชี้ศก.สหรัฐเริ่มฟื้นตัว
FED ออกรายงาน ชี้ เศรษฐกิจในภูมิภาคส่วนใหญ่เริ่มฟื้นตัว ผู้บริโภค-ภาคเอกชนใช้จ่ายมากขึ้น

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงาน Beige Book ซึ่งเป็นรายงานสำรวจภาวะเศรษฐกิจจากเฟดทั้ง 12 เขต ครั้งล่าสุดว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคส่วนใหญ่ของสหรัฐเริ่มฟื้นตัวขึ้น ขณะที่ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคดีดตัวขึ้นด้วยแม้ตัวเลขจ้างงานและภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐยังอ่อนแออยู่ก็ตาม นอกจากนั้น รายงานของเฟดระบุว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐฟื้นตัวขึ้นด้วยเช่นกัน

รายงานระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของ 8 ใน 12 เขตของสหรัฐเริ่มฟื้นตัวขึ้น ได้แก่ บอสตัน นิวยอร์ก ชิคาโก เซนต์หลุยส์ มินนีอาโพลิส แคนซัสซิตี้ ดัลลัส และซานฟรานซิสโก ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอีก 4 เขต คือ ฟิลาเดลเฟีย คลีฟแลนด์ ริชมอนด์ และแอตแลนต้า ค่อนข้างทรงตัว ซึ่งรายงานดังกล่าวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยรุนแรง

"ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจของเฟดทั้ง 12 สาขายังพบว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นเฟดจึงเห็นว่าการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำนั้น จะช่วยให้ผู้บริโภคและภาคเอกชนเพิ่มการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ขยายตัวขึ้นได้อีกทางหนึ่ง" รายงานของเฟดกล่าว

อย่างไรก็ตาม เฟดยอมรับว่าอาจเกิดผลกระทบด้านลบที่เกิดจากการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำและจากการที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคณะกรรมการมองว่าสภาวะดังกล่าวอาจทำให้ตลาดการเงินตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกกดดันจากกระแสเก็งกำไร และจะทำให้เศรษฐกิจทั้งระบบเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อในที่สุด

ส่วนในด้านการจ้างงานนั้น เฟดเชื่อว่าตลาดแรงงานของสหรัฐต้องใช้เวลาอีกราว 5 -6 ปีจึงกลับสู่ภาวะปกติ โดยเฟดได้ปรับลดคาดการณ์อัตราว่างงานในปี 2553 และ 2554 โดยคาดว่าอัตราว่างงานจะลดลงสู่ช่วง 9.3 - 9.7% ซึ่งลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 9.5 - 9.8%

นอกจากนี้ รายงานของเฟดบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐฟื้นตัวขึ้นในบางพื้นที่ โดยในเขตบอสตันมีผลผลิตอุตสาหกรรมดีขึ้น ขณะที่ดัลลัสมีรายงานว่าผลผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูง กระดาษ และเคมีภัณฑ์ ปรับตัวสูงขึ้น และอุตสาหกรรมอาหารดีดตัวขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐ

เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดให้คำมั่นสัญญาว่า จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0 - 0.25% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้น พร้อมกับกล่าวว่าแม้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น แต่ตัวเลขเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เฟดตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ เบอร์นันเก้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงขยายตัวในปีหน้า แต่เตือนว่าจะมีปัจจัยลบหลายด้านเข้ามาขัดขวางกระบวนการฟื้นตัว รวมถึงอัตราว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลให้ภาคครัวเรือนจะลดการใช้จ่าย และยังทำให้ธุรกิจขาดเล็กเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยากขึ้น

นักลงทุนจับตาดูเบอร์นันเก้ที่เตรียมตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภาสหรัฐในคืนนี้ตามเวลาประเทศไทย เพื่อดูว่าคณะกรรมาธิการฯจะมีมติรับรองเบอร์นันเก้ให้เป็นประธานเฟดสมัยที่สองหรือไม่ โดยเบอร์นันเก้จะครบวาระการดำรงตำแหน่งประธานเฟดในวันที่ 31 ม.ค.2553

ทั้งนี้ Beige Book เป็นรายงานที่จัดเตรียมไว้เพื่อช่วยประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ โดยเฟดจะเปิดเผยรายงาน Beige Book ปีละ 8 ครั้ง
posttoday
*************
03/12/52
บริษัทยุ่นถือโอกาสเงินเยนแข็ง เร่งซื้อกิจการต่างประเทศ

ปัจจัยเงินเยนที่แข็งค่าจนถึงระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี ก็ทำให้บรรดานายธนาคารและนักวิเคราะห์ลงความเห็นว่า ผู้ประกอบการในประเทศ ที่รวมถึงผู้ผลิตยาหรือแม้แต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ คงต้องรีบมองหาดีลไปเข้าซื้อกิจการยังต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน การแข็งค่าของเงินเยนยังอาจส่งผลให้ดีลการควบรวมกิจการภายในประเทศกันเองเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งเหตุผลง่ายๆ ก็คือ จุดประสงค์การลดต้นทุนเพื่อนำไปชดเชยราคาสินค้าของตนที่เพิ่มขึ้นในตลาดต่างประเทศ

และตามข้อมูลของสำนักข่าว Bloomberg พบว่า การแข็งค่าของเงินเยนกว่า 30% เมื่อเทียบดอลลาร์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการซื้อกิจการของบริษัทแดนอาทิตย์อุทัยที่ต่างประเทศจำนวนมากกว่า 800 ดีล ด้วยมูลค่าราว 90,000 ล้านเหรียญ

นักวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษาในธุรกิจรถยนต์รายหนึ่งที่ญี่ปุ่น มองว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ธุรกิจในยุโรปและสหรัฐฯ จะตกเป็นเป้าหมายการซื้อกิจการของบริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศเอเชียตะวันออกรายนี้ หลังจากที่วิกฤติเศรษฐกิจทำเอาสถานะการเงินย่ำแย่กันไปหลายราย

นอกจากนั้น ดีล M&A ที่จะเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากความจำเป็นที่จะต้องดิ้นเอาตัวรอดด้วยการหารูปแบบทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะสามารถสร้างกำไรและใช้ประโยชน์จากภาวะเงินเยนที่แข็งค่าได้

มีข้อมูลระบุว่า บริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของประเทศ อย่าง Kirin Holdings ได้ขึ้นแท่นผู้นำการซื้อกิจการที่ต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่นในปีนี้ ด้วยการควักเงิน 4,600 ล้านเหรียญ เพื่อเข้าครอบครองกิจการของ Lion Nathan ที่มีฐานที่มั่นในซิดนีย์ รวมถึงการกวาดซื้อหุ้นของบริษัท San Miguel Brewery ที่ประเทศฟิลิปปินส์ด้วย

ล่าสุด ก็เป็นคิวของผู้ผลิตยารายใหญ่ของประเทศ ซึ่งก็คือ Takeda Pharmaceutical ที่ประธานบริษัทออกมาบอกเมื่อวันก่อนว่า กำลังพิจารณาแผนการเข้าซื้อกิจการในอเมริกาใต้ รวมถึงมีความสนใจที่จะขยายธุรกิจผลิตยาแบบ generic drug หรือยาสามัญ ที่สิทธิบัตรยาดั้งเดิมหมดอายุ

ข้อมูลปี 2552 ระบุว่า Takeda ใช้เงินถึง 8,900 ล้านเหรียญเพื่อซื้อกิจการของ Millennium Pharmaceuticals ในรัฐแมสซาชูเสตส์ จนทำสถิติดีลที่มีมูลค่าสูงสุดในบรรดาการซื้อกิจการของบริษัทญี่ปุ่นจำนวน 441 ดีลในปีนั้น


เยอรมนีเผยจ้างงานเพิ่มขึ้น-ว่างงานลดลง

สถานการณ์ด้านแรงงานในประเทศเยอรมนีปรับตัวไปในทิศทางที่สดใส หลังจากรัฐบาลเยอรมนีใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 8.5 หมื่นล้านยูโร (1.27 แสนล้านดอลลาร์) จนช่วยหนุนเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยได้

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนีรายงานว่า ระดับการจ้างงานในประเทศปรับตัวสูงขึ้นในเดือนต.ค. โดยจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 157,000 คนจากเดือนก.ย. หรือเพิ่มขึ้น 0.4% แต่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ปรากฏว่า ผู้มีงานทำมีจำนวนลดลง 260,000 คน มาอยู่ที่ 40.51 ล้านคน หรือลดลง 0.6% ซึ่งนับเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกันที่ตัวเลขจ้างงานอยู่ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่ลดลงเมื่อเทียบเป็นรายปีไม่ถือว่าเลวร้ายมาก เพราะอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและโครงการช่วยเหลือลูกจ้าง อาทิ การลดชั่วโมงการทำงาน แทนการไล่ออก

ขณะเดียวกัน สำนักงานแรงงานกลางเปิดเผยว่า ตัวเลขว่างงานของเยอรมนีร่วงลงในเดือนพ.ย. เนื่องจากมาตรการของรัฐบาลที่ไม่สนับสนุนการไล่พนักงานออก และเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวจากภาวะถดถอย

จำนวนผู้ไม่มีงานทำลดลง 7,000 คน มาอยู่ที่ 3.42 ล้านคน ขณะที่อัตราว่างงานเดือนพ.ย.ขยับลงแตะ 8.1% จาก 8.2% ในเดือนต.ค.

เศรษฐกิจของเยอรมนีซึ่งมีขนาดใหญ่สุดในยุโรป สามารถหลุดพ้นจากภาวะถดถอยมาได้ในไตรมาสสอง ด้วยอัตราการขยายตัว 0.3% และขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสสามที่ระดับ 0.7%

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจประจำเดือนพ.ย.ของเยอรมนีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน และทำสถิติเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ซึ่งส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องในปีหน้า

ทั้งนี้ โครงการช่วยเหลือตลาดแรงงาน ซึ่งบริษัทหลายแห่งของเยอรมนีได้เข้าร่วม อาทิ โฟลค์สวาเกน ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดของยุโรป ได้ช่วยให้อัตราว่างงานหยุดปรับตัวขึ้น

บริษัทสามารถยื่นขอความช่วยเหลือจากแผนการมูลค่า 5 พันล้านยูโร (7,500 ล้านดอลลาร์) ซึ่งช่วยสมทบค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนให้แก่พนักงานที่มีชั่วโมงทำงานลดลงในขณะที่นายจ้างของพวกเขาต้องลดการผลิตให้สอดคล้องกับยอดสั่งซื้อที่ซบเซา
money wake up
***********
02/12/52
ราคา-สินเชื่อบ้านในอังกฤษปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

โฮมแทร็คเผยราคาบ้านในอังกฤษปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนพ.ย. โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนต.ค. มาอยู่ที่ 156,700 ปอนด์ หรือ 258,000 ดอลลาร์ เนื่องจากเกิดการขาดแคลนบ้านพร้อมขายในตลาด

ริชาร์ด ดอนเนล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของโฮมแทร็ค กล่าวว่า เอเยนต์ขายบ้านเริ่มมีความรู้สึกมั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับระดับของราคาที่มีความยั่งยืน อย่างน้อยก็ในระยะสั้นนี้ โดยลอนดอนและพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเป็นพื้นที่ที่ราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้นมาก

สำหรับดีมานด์ที่ลดลงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ไปจนถึงช่วงคริสต์มาส แต่ก็มีสัญญาณบ่งชี้ว่าแรงกดดันต่อราคาบ้านจะลดลง

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า อัตราว่างงานที่สูงขึ้นอาจจะทำให้ราคาบ้านในอังกฤษไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้มากกว่าไปกว่านี้

อัตราการอนุมัตสินเชื่อเพื่อบ้านในอังกฤษเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีครึ่งในเดือนต.ค. นับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจของอังกฤษกำลังฟื้นตัวจากภาวะถดถอย โดยธนาคารกลางอังกฤษเผยว่า ยอดปล่อยกู้เพื่อซื้อบ้านในเดือนต.ค.อยู่ที่ 57,345 ราย เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.ที่ 56,205 ราย

นายเมอร์วิน คิง ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จังหวะของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะสดใสในระยะสั้นนี้ แม้ว่าการฟื้นตัวจะยังไม่แข็งแกร่งนัก

นักเศรษฐศาสตร์มองว่า การอนุมัติสินเชื่อจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่สูงเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤต และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะยั่งยืนหรือไม่


BOJ ตัดสินใจลดเงินเดือนผู้ว่าฯและผู้บริหาร

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันนี้ว่า ธนาคารจะปรับลดเงินเดือนผู้บริหารซึ่งจะมีผลตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 นี้ โดยเงินเดือนต่อปีของผู้ว่าการแบงก์ชาติจะถูกลดลงไป 860,000 เยน เหลือ 34.92 ล้านเยน ขณะที่ เงินเดือนต่อปีสำหรับรองผู้ว่าบีโอเจจะถูกลดลง 680,000 เยน เหลือ 27.59 ล้านเยน และเงินเดือนต่อปีสำหรับสมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารจะถูกลดลงไป 650,000 เยน เหลือ 24.46 ล้านเยน

การตัดสินใจลดเงินเดือนผู้บริหารของธนาคารกลางญี่ปุ่นมีขึ้น ในขณะที่รัฐสภาญี่ปุ่นได้อนุมัติร่างกฎหมายลดเงินเดือนคณะรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางตำแหน่งพิเศษอื่นๆ

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การลดเงินเดือนผู้บริหารบีโอเจครั้งหลังสุดเกิดขึ้นเมื่อสามปีก่อน
money wake up
************
02/12/52
ออสซีขึ้นดอกรอบ3รับศก.
ธนาคารกลางออสเตรเลียขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ตอบรับเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น

ธนาคารกลางออสเตรเลีย (อาร์บีเอ) ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แล้วเมื่อวานนี้ โดยปรับเพิ่มอีก 0.25% มาอยู่ที่ 3.75% ตามที่ นักวิเคราะห์หลายฝ่ายได้คาดการณ์ กันไว้ ตอบสนองกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินโลก
เกรน สตีเวน ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย ได้อธิบายเหตุผลถึงการตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ว่า เนื่องจากออสเตรเลียสามารถรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ดีกว่าประเทศ อื่นๆ ทั่วโลก รวมถึงยังประสบ ผลสำเร็จจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมูลค่า 4.2 หมื่นล้านเหรียญออสเตรเลีย (ราว 1.32 ล้านล้านบาท)

นอกจากนี้ เศรษฐกิจของออสเตรเลียยังได้รับอานิสงส์จากปริมาณความต้องการสินแร่เหล็กจากจีน และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ทางด้านตลาดหุ้นของออสเตรเลียได้ขานรับการตัดสินใจ ประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง โดยในช่วงท้ายของการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นออสเตรเลีย ดัชนีออล ออดินารีย์ ปรับตัวขึ้นไป 0.38% หรือ 17.6% มายืนอยู่ที่ 4,733.1 จุด

ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศอัดฉีดเงินอีกกว่า 10 ล้านล้านเยน (ราว 3.8 ล้านล้านบาท) เข้าไปเสริมสภาพคล่องให้กับตลาดการเงินของประเทศ เพื่อช่วย สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากภาวะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุด

กระนั้นก็ตาม แถลงการณ์ของ บีโอเจ ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่มีเสถียรภาพ ธนาคารยังมีความจำเป็น ต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยธนาคารไว้ที่ 0.1% ต่อไป เพื่อรับมือกับภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นในเวลานี้
posttoday
***********
30/11/52
แนะจับตา Carry Trade ดอลลาร์ สัญญาณอันตราย ศก.โลกปี 53

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 30 พฤศจิกายน 2552 12:28 น.

ศูนย์วิจัยฯ แบงก์ทหารไทย คาดแนวโน้ม ศก.ไทยปี 53 โตได้ 3.2% แต่ยังมีความเสี่ยงจากการฟื้นตัว ศก.โลก พร้อมเตือน 4 ปัจจัยเสี่ยงต่อ ศก.โลกในปีหน้า แนะจับตาธุรกรรม Carry Trade จุดชนวนฟองสบู่วิกฤตการเงินถล่ม ศก.โลกระลอกใหม่ ชี้ นโยบายการเงินที่ต้องการรักษาอัตรา ดบ.ในระดับต่ำของสหรัฐฯ จะเร่งการเก็งกำไรให้มากขึ้น และทำให้ตลาดการเงินโลกปั่นป่วนอีกครั้ง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เผยคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2553 โดยเชื่อว่าจะขยายตัวได้ในอัตรา 3.2% พลิกฟื้นจากในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะหดตัวประมาณ 3% พร้อมระบุว่า บทบาทและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่สร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการส่งออก จะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อจากนี้

อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติเต็มที่ยังคงเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตา โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2553 จะเผชิญ 4 ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากฐานราคาที่ต่ำในปี 2552 ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับ 75-85 ดอลลาร์ต่อบาเรล และสภาพคล่องส่วนเกินจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก จะส่งผลกดดันให้ธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งเพียงพอ

ปัจจัยที่สอง เกิดจากการปรับตัวในดุลยภาพของตลาดแรงงานกลุ่มประเทศตะวันตก ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น และค่าจ้างที่มีระดับต่ำลง ซึ่งทำให้การบริโภคภาคเอกชนจะยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว

ปัจจัยที่สาม ได้แก่ ความเสี่ยงจากการผ่อนปรนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนเวลาอันควรและไม่เป็นระบบระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศ G20 ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เพื่อทดแทนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังชะลอตัวจากอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการตึงตัวของตลาดสินเชื่อ อย่างเช่นในสหรัฐฯ และอังกฤษ

ส่วนปัจจัยตัวที่สี่ คือ ธุรกรรม Carry Trade ในตลาดการเงินระหว่างประเทศที่ต้องจับตา โดยการลงทุนเพื่อสร้างกำไรจากส่วนต่างในดอกเบี้ย จากการกู้ในเงินสกุลที่มีดอกเบี้ยต่ำ แล้วนำไปลงทุนในเงินสกุลที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า ซึ่งเป็นแรงผลักดันการเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อเก็งกำไร ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นในแถบเอเชีย และละตินอเมริกา โดยปัจจุบันสภาพคล่องที่มีอยู่ล้นเหลือและโอกาสการลงทุนที่น้อยในประเทศพัฒนาแล้ว เป็นตัวขับเคลื่อนเงินทุน ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ แต่ในทางกลับกันแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับตัวสูงขึ้นในประเทศต่างๆ จะส่งผลให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยขยายกว้างมากขึ้น

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธ.ทหารไทย ยังมองว่า ในอนาคตอันใกล้ การทำ carry trade มีโอกาสจะขยายตัวต่อเนื่องมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพาะสภาวะฟองสบู่ในอนาคต อีกทั้งปริมาณของธุรกรรมจะใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ตามขนาดของภาคการเงินในสหรัฐฯ ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก และสามารถดึงดูดนักลงทุนมาได้จากทั่วทุกมุมโลก

ขณะเดียวกันนโยบายการเงินที่ต้องการรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำของสหรัฐฯ จะเร่งการเก็งกำไรให้มากขึ้น ประกอบกับ การขึ้นดอกเบี้ยของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ก็ยิ่งดึงดูดให้เกิดการทำ carry trade มากขึ้นตามไปด้วย และผลกระทบจากการถอนการลงทุนกลับในทันทีจะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์และอัตราแลกเปลี่ยนตกลงอย่างรุนแรง ตลาดการเงินจะเผชิญกับความผันผวนจากจำนวนเงินมหาศาลที่จะถูกเคลื่อนย้ายอีกครั้ง
manager online
************
USA:นักวิเคราะห์ชี้ศก.โลกอาจฟื้นตัวไม่ยั่งยืน ขณะตลาดจับตาอัตราว่างงานสหรัฐ
วอชิงตัน--30 พ.ย.--รอยเตอร์

อนาคตของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจจะขึ้นอยู่กับความรวดเร็ว
ของนายจ้างสหรัฐในการเริ่มต้นจ้างงานอีกครั้ง อย่างไรก็ดี แนวโน้มดังกล่าว
ยังไม่ค่อยสดใสนัก
สหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก กลับมามี
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวกในช่วงไตรมาสสามของปี 2009 หลังจาก
ประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1930 อย่างไรก็ดี
ประเด็นสำคัญในขณะนี้คือเรื่องแนวทางในการรักษาความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ
ให้ดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืน ในขณะที่แรงหนุนจากงบใช้จ่ายของรัฐบาลจางหายไป
นายโจนาธาน บาซิล ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเครดิต สวิส
กล่าวว่า "เศรษฐกิจยังคงเผชิญแรงต้านจากตัวเลขการปลดพนักงาน และตัวเลข
การยึดบ้านติดจำนอง ซึ่งเป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับสูง"
มีแนวโน้มว่าความอ่อนแอในจุดใดก็ตามของเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะส่งผล
กระทบในวงกว้างไปยังยุโรปและเอเชีย เนื่องจากเศรษฐกิจของภูมิภาคดังกล่าว
ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งเท่ากับว่าต้องพึ่งพาพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย
ของผู้บริโภคสหรัฐ
ปัจจัยนี้อาจจะสร้างความกังวลเป็นอย่างมากต่อเจ้าหน้าที่ของธนาคาร
กลางยุโรป (ECB) ซึ่งจะประชุมกันในวันพฤหัสบดีที่ 3 ธ.ค. โดยตลาดคาดว่า
ในการประชุมครั้งนี้ ECB อาจจะส่งสัญญาณว่า ECB จะดำเนินการอย่างไรบ้าง
ในการเริ่มต้นเรียกคืนมาตรการฉุกเฉินที่ใช้ในการรับมือกับวิกฤติสินเชื่อโลก
จะมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวในสัปดาห์นี้ที่จะช่วยให้นักลงทุน
คาดการณ์ได้ว่า เศรษฐกิจโลกสามารถฟื้นตัวขึ้นอย่างยั่งยืนหรือไม่ โดยตัวเลขที่สำคัญ
เป็นอันดับหนึ่งก็คือรายงานการจ้างงานประจำเดือนพ.ย.ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐ
จะเปิดเผยออกมาในวันศุกร์ที่ 4 ธ.ค.
เป็นที่คาดกันว่าการจ้างงานในสหรัฐอาจลดลงอีก 140,000 ตำแหน่ง
ในเดือนพ.ย. ซึ่งเท่ากับว่าการจ้างงานลดลงติดต่อกันนานเกือบ 2 ปี ส่วนอัตรา
การว่างงานอาจจะยังคงอยู่ที่จุดสูงสุดรอบ 26 ปีที่ 10.2 %
ส่วนในเยอรมนีนั้น มาตรการอันแข็งกร้าวของรัฐบาลในการสนับสนุนให้
ภาคเอกชนปรับลดชั่วโมงการทำงานของลูกจ้าง แทนที่จะใช้วิธีปลดลูกจ้าง มีส่วน
สำคัญในการช่วยยับยั้งความเสียหายจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อย่างไรก็ดี เยอรมนี
จะเปิดเผยอัตราการว่างงานในวันพรุ่งนี้ และเป็นที่คาดกันว่าอัตราการว่างงาน
อาจพุ่งขึ้นสู่ 8.2 % หลังจากร่วงลงนาน 4 เดือน
ส่วนในสหรัฐนั้น ภาวะว่างงานสูงติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้ผู้ค้าปลีก
กังวลกับฤดูการช้อปปิ้งช่วงสิ้นปี โดยยอดจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐครอง
ส่วนแบ่งใหญ่ในเศรษฐกิจสหรัฐ
นายอีริค ลาส์แซลส์ หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนเศรษฐกิจของ
บล.ทีดีกล่าวว่า "นักลงทุนจะจับจ่ายใช้สอยน้อยลง โดยเป็นผลจากการลดลง
ของการจ้างงาน"
ประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐกำลังจะจัดประชุมสุดยอด
ที่กรุงวอชิงตันในสัปดาห์นี้เพื่อหารือเรื่องวิธีการในการส่งเสริมการสร้างงาน
นอกจากเรื่องการจ้างงานแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง
ที่ทำให้นักลงทุนหลายคนไม่มั่นใจว่ากิจกรรมทางธุรกิจจะฟื้นตัวขึ้นได้อย่าง
ยั่งยืนหรือไม่ และปัจจัยนี้ก็คือความผันผวนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในตลาด
ในขณะที่ตลาดอาจจะกลับเข้าสู่ภาวะฟองสบู่อีกครั้ง
ในผลการศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่ในสัปดาห์ที่แล้ว นายลาส์แซลส์พบว่า
การเพิ่มขึ้นของการกู้ยืมเงินเพื่อเก็งกำไรในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดโลก
มีความโน้มเอียงที่จะประสบภาวะฟองสบู่มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ นายลาส์แซลส์ยัง
กล่าวเสริมว่า ถึงแม้เศรษฐกิจทรุดตัวในช่วงที่ผ่านมา การกู้ยืมเงินจำนวนมาก
เพื่อนำมาลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินก็ยังคงเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
ในตลาด โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกได้แสดงให้เห็น
แล้วว่า พวกเขาจะก้าวเข้ามาช่วยโอบอุ้มบริษัทด้านการลงทุนขนาดใหญ่ให้
รอดพ้นจากการล้มละลาย
สินทรัพย์หลายประเภทเผชิญกับความผันผวน โดยตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้น
มาแล้ว 60 % จากจุดต่ำสุดของเดือนมี.ค. ส่วนราคาทองทะยานขึ้นสู่สถิติสูงสุด
ใกล้ 1,200 ดอลลาร์/ออนซ์ และปัจจัยเหล่านี้ก็สร้างความยากลำบากให้แก่
ภาคธุรกิจในด้านการวางแผน
นายลาส์แซลส์กล่าวว่า "แรงหนุนภาวะฟองสบู่ยังคงดำเนินต่อไป
เป็นอย่างดี"
ตลาดโลกแกว่งตัวผันผวนในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ที่แล้ว หลังจาก
รัฐบาลดูไบแถลงว่าจะขอให้เจ้าหนี้ของบริษัทสำคัญสองแห่งของดูไบ ซึ่งรวมถึง
บริษัทดูไบ เวิลด์ พักการเรียกชำระหนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้าง
ปัจจัยต่างๆเหล่านี้สร้างความไม่แน่นอนให้กับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
โดยภาวะตลาดเปราะบางและเศรษฐกิจอ่อนแอทำให้สหรัฐจำเป็นต้องดำเนินนโยบาย
การเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป แต่ในเวลาเดียวกัน นโยบายผ่อนคลายแบบ
พิเศษของเฟดก็ยังคงส่งผลลบต่อดอลลาร์สหรัฐ และดอลลาร์ก็ร่วงลงแตะจุดต่ำสุด
รอบ 15 เดือนเทียบยูโรในสัปดาห์ที่แล้ว
นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า เฟดกำลังจับตา
ดอลลาร์อย่างใกล้ชิดเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ว่า นักเก็งกำไรอาจฉวยโอกาสทำประโยชน์
จากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่ระดับต่ำ โดยใช้ดอลลาร์ในการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ให้อัตรา
ผลตอบแทนสูงในประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ เป็นที่เชื่อกันว่านายเบอร์นันเก้จะถูกตั้งคำถาม
เกี่ยวกับเรื่องนี้ในวันพฤหัสบดีนี้ ขณะที่เขาเข้าร่วมในการประชุมรับฟังในรัฐสภา
เพื่อยืนยันการแต่งตั้งเขาเข้าดำรงตำแหน่งประธานเฟดเป็นสมัยที่สอง
เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายรายในเอเชียกล่าวว่า มีการเก็งกำไรเกิดขึ้น
แล้วในช่วงนี้ และประธานาธิบดีบารัค โอบามาก็ถูกตำหนิเกี่ยวกับเรื่องนี้จาก
เจ้าหน้าที่จีนในระหว่างที่เขาเดินทางเยือนจีนในเดือนนี้ โดยในขณะที่จีนผูกติด
สกุลเงินของตนกับดอลลาร์ ประเทศอื่นๆในเอเชียก็อาจได้รับผลกระทบ ในขณะที่
การพุ่งขึ้นของสกุลเงินเอเชียทำให้สินค้าเอเชียมีราคาแพงขึ้น
นายฮิโรฮิสะ ฟูจิอิ รมว.คลังญี่ปุ่นส่งสัญญาณในวันศุกร์ว่า มีโอกาส
ที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือจี-7 อาจจำเป็นต้องออกแถลงการณ์
ร่วมกันเรื่องสกุลเงินเพื่อชะลอการพุ่งขึ้นของเยน หลังจากดอลลาร์/เยนร่วงลง
แตะจุดต่ำสุดรอบ 14 ปี

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปล; ก้องเกียรติ กอวีรกิติ เรียบเรียง)

***************
ข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศ2