วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ข่าวเศรษฐกิจมหภาค 53

12/01/53
BOIเผยปี52ยอดขอส่งเสริมลงทุนสูงสุดรอบ40ปี
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

บีโอไอเผยปี 52 ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 7.23 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนนักลงทุนเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยว่า ปี 2552 มีจำนวนโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 1,573 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 723,400 ล้านบาท ซึ่งมากเป็นประวัติการตั้งแต่มีการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 40 ปี สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีปัจจัยดี ๆ ทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย แม้ว่าจะอยู่ในช่วงแก้ไขปัญหาการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดก็ตาม

ทั้งนี้คำขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากมาตรการพิเศษกระตุ้นการลงทุนตามนโยบายปีแห่งการลงทุน พ.ศ. 2551 – 2552 ที่ให้สิทธิประโยชน์เป็นพิเศษแก่กิจการใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรม มีกำหนดสิ้นสุดลงในปี 2552 จึงทำให้โครงการลงทุนจำนวนมากยื่นขอรับส่งเสริมเข้ามาในช่วงปลายปีส่งผลให้มูลค่าเงินลงทุนของโครงการที่ขอรับส่งเสริมในปี 2552 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนช่วงต้นปีที่ 400,000 ล้านบาท ถึง 323,400 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 80

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีความสนใจจะเข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค 709 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 430,800 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ต้องการลงทุนในด้านพลังงานทดแทน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 219 โครงการ มูลค่า 100,900 ล้านบาท ส่วนใหญ่มีความสนใจจะลงทุนในกิจการผลิตชิ้นส่วนฮาร์ด ดิสก์ไดรฟ์ กิจการผลิตแผงวงจรรวม กิจการผลิตชิ้นส่วนกล้องดิจิตอล กิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนต์ และกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น

ส่วนอันดับ 3 อุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร 212 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 66,800 ล้านบาท ส่วนใหญ่มีความสนใจจะลงทุนในกิจการผลิตพลังงานทดแทนจากพืช เช่น เอทานอลและไบโอดีเซล กิจการผลิตอาหารสำเร็จรูป และอาหารแปรรูป และอันดับ 4 อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วน เครื่องจักร และโลหะ 217 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 55,500 ล้านบาท ส่วนใหญ่มีความสนใจจะลงทุนในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ทั่วไปและชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ

โดยโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมในปีที่ผ่านมามีโครงการขนาดใหญ่มูลค่าเงินลงทุนสูงกว่า 1,000 ล้านบาท ถึง 106 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนถึง 460,300 ล้านบาท แต่กิจการที่ยื่นขอรับส่งเสริมมากที่สุดเป็นกิจการขนาดกลางมูลค่าระหว่าง 20-200 ล้านบาท จำนวน 689 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 52,600 ล้านบาท
krungthepturakij
**********
07/01/53
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดส่งออกปีนี้โต 10.5%

Posted on Thursday, January 07, 2010
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกถึงผลการวิเคราะห์ทิศทาง ปัญหา และอุปสรรค ภาคการค้าระหว่างประเทศของไทยปี 2553 ว่า การส่งออกของไทยในปีนี้ น่าจะขยายตัวได้ 10.5% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวม 166,907 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2552 ที่หดตัวลง 15.1% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัวเป็นบวก 3.1% จากที่ปี 2552 ที่หดตัว 1.1% ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าโลกที่จะขยายตัวได้ถึง 6% จากที่หดตัว 12.5% ในปีก่อน

ส่วนการนำเข้าในปีนี้จะมีมูลค่า 149,883 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ขยายตัว 14.4% จากที่หดตัว 26.7% ในปี 2552 ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยอันดับหนึ่ง จะเป็นการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเชื้อเพลิงที่มีทิศทางราคาน้ำมันสูงขึ้น รองลงมา คือ กลุ่มสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะเกินดุล 18,474 ล้านดอลลาร์ลดลงจากที่เกินดุล 21,249 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีก่อน

นายอัทธ์บอกด้วยว่า ปัจจัยเสี่ยงการส่งออกในปีนี้ ได้แก่ การลดค่าเงินดองของประเทศเวียดนาม ซึ่งขณะนี้ลดค่าเงินดองลงแล้ว 5% ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย 0.27% และคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังของเวียดนามอาจจะลดค่าเงินลงอีก 10% ทำให้กระทบการส่งออกของไทยอีก 0.82% รวมทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีโอกาสแข็งค่าขึ้นอีก เนื่องจากธนาคารกลางประเทศต่างๆลดถือครองดอลลาร์สหรัฐลง โดยคาดว่า ค่าเงินบาทจะแข็งค่าที่แตะระดับ 32.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จาก 34.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับสถานการณ์การเมืองที่มีความวุ่นวาย ปัญหาการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ยังไม่มีความชัดเจน และวิกฤตเศรษฐกิจดูไบ ยังคงเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกยังคงเป็นห่วงที่อาจจะกระทบความมั่นใจการลงทุน
money news update
**********
07/01/53
กระทรวงการคลังสั่งสรรพสามิตเพิ่มเป้ารายได้ 10-15 %

Posted on Thursday, January 07, 2010
นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า ได้สั่งการให้กรมสรรพสามิตขยายเป้าการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในปีงบประมาณ 2553 เพิ่มขึ้นอีก 10-15 % จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 2.9 แสนล้านบาท หลังพบว่าการจัดเก็บรายได้ในช่วงไตรมาส 1/53 เกินเป้าถึง 1.5 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอลล์ที่ขยายตัวค่อนข้างมาก

นพ. พฤฒิชัย เชื่อว่า ภาวะการลงทุนในประเทศจะเริ่มคึกคักขึ้น ขณะเดียวกันราคาพืชผลทางการเกษตรที่สูงขึ้นทำให้เกษตรกรมีรายได้มาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และน่าจะมีส่วนช่วยให้กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บรายได้สูงขึ้นด้วย แต่ยืนยันว่าในขณะนี้ยังไม่มีนโยบายเปลี่ยนแปลงอัตราหรือวิธีการจัดเก็บภาษีโดยเฉพาะในเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอลล์แต่อย่างใด

นพ.พฤฒิชัยบอกด้วยว่า กรมสรรพสามิตมีแนวคิดแก้ไขกฏเกณฑ์ในการนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งของกรมสรรพสามิตที่ให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส. ) และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย มาใช้ในการสนับสนุนผู้พิการโดยตรงอีกด้วย
money news update
*********
05/01/53
ดัชนีSMEพ.ย.พุ่งแตะ 50.3รับเศรษฐกิจฟื้น
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สสว. เผยดัชนีเอสเอ็มอีเดือนพ.ย.เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50.3 ขณะที่คาดการณ์ 3 เดือนเพิ่มเป็น 53.1 รับอานิสงส์เศรษฐกิจฟื้น และเทศกาลจับจ่ายใช้สอย
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนพฤศจิกายน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2552 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูงโดยอยู่ที่ 50.3 จากระดับ 44.4 และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ
โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.7 , 50.0 และ 51.3 จากระดับ 43.3 , 43.5 และ 45.7 เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.0 จากระดับ 41.1 ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 46.5 จาก 46.9
“ผลการสำรวจในเดือนพฤศจิกายนนี้ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นทั้งภาพรวม ความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนเอง รวมทั้งความเชื่อมั่นรายภูมิภาค ทั้งปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นในระดับสูงทั้งหมด สาเหตุสำคัญมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ขณะที่ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศทรงตัวทำให้ผู้ประกอบการคลายความกังวลด้านต้นทุน สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้บรรยากาศการค้า การลงทุน และการบริโภคดีขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นในระดับสูง” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ภาคการค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าเกษตร ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 46.5 จากระดับ 39.7 (เพิ่มขึ้น 6.8) ผลจากสถานการณ์ด้านปริมาณผลผลิตและระดับราคาของผลผลิตการเกษตรที่สำคัญปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังคลายความกังวลต่อสถานการณ์ด้านต้นทุนเนื่องจากระดับราคาน้ำมันทรงตัว
นอกจากนี้การบริโภคในภาพรวมเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับภาคการค้าปลีก กิจการสถานีบริการน้ำมัน มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 52.9 จากระดับ 44.0 (เพิ่มขึ้น 8.9) ผลจากระดับราคาน้ำมันที่ทรงตัว กอรปกับเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ส่งผลให้เริ่มมีการเดินทางท่องเที่ยวและขนส่งสินค้าเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนเพิ่มมากขึ้น
ส่วนภาคบริการ พบว่า บริการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องโดยเฉพาะร้านอาหารและภัตตาคาร มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด และมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับทุกประเภทธุรกิจที่ทำการสำรวจ โดยอยู่ที่ระดับ 57.5 และ 54.5 จากระดับ 46.0 และ 43.8 (เพิ่มขึ้น 11.5 และ 10.7 ตามลำดับ) ผลจากเริ่มเข้าสู่ช่วง High Season ของภาคการท่องเที่ยว และใกล้ช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
นอกจากนี้รัฐบาลได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน

ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูงเช่นกัน โดยอยู่ที่ 53.1 จากระดับ 47.9 และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกประเภทกิจการ
โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52.9 52.9 และ 53.5 จากระดับ 51.3 46.6 และ 48.0 ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 55.5 และ 61.0 จากระดับ 53.2 และ 53.3
สำหรับผลสำรวจดัชนีรายภูมิภาคในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม พบว่าทุกภูมิภาคมีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก เป็นภูมิภาคที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 54.0 จากระดับ 34.9 (เพิ่มขึ้น 19.0)
"สาเหตุสำคัญมาจากการที่โรงงานต่างๆ ในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ดังกล่าว เริ่มมีการจ้างงานเป็นปกติและบางแห่งก็มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้บรรยากาศการค้าและบริการในพื้นที่ดังกล่าวดีขึ้น"
รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50.4 จากระดับ 41.0 (เพิ่มขึ้น 9.4) ภาคใต้ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50.2 จากระดับ 47.7 (เพิ่มขึ้น 2.5) ภาคเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 49.8 จากระดับ 48.0 (เพิ่มขึ้น 1.8) และ กรุงเทพฯ ปริมณฑล ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.4 จากระดับ 46.7 (เพิ่มขึ้น 1.7)
“อย่างไรก็ดีความเชื่อมั่นของเดือนพฤศจิกายนที่สะท้อนตัวเลขดีขึ้นมากนี้ อาจจะเป็นการฟื้นตัวในระยะสั้นเนื่องจากอยู่ในช่วงเริ่มฤดูกาลท่องเที่ยว และเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ เพราะปัจจัยที่ผู้ประกอบการเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อกิจการในระดับสูง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศและอำนาจซื้อของประชาชน รองลงมาคือการหดตัวของความต้องการสินค้าและบริการ การแข่งขันในตลาด ราคาต้นทุนสินค้าและค่าแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ระดับราคาน้ำมันและค่าขนส่ง และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้นผู้ประกอบการ SMEs จึงต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการในการแก้ปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง”
krungthepturakij
*********
04/01/53
กระทรวงพาณิชย์ คาด เงินเฟ้อปีนี้โต 3.-3.5 %

Posted on Monday, January 04, 2010
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2552 เพิ่มขึ้น 3.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.1% จากเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2552 ติดลบ 0.9 % โดยสาเหตุที่เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าและราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น ผักสด ไก่สด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนเริ่มมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และทำให้ไทยพ้นจากการเกิดภาวะเงินฝืดแล้ว รวมทั้งทำให้กำลังซื้อปรับตัวขึ้นเป็นรูปตัว V ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 คาดว่า จะยังคงอยู่ในกรอบ 3-3.5 % ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับจีดีพีของประเทศ ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันโลกเฉลี่ยไม่เกิน 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 0.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนพฤศจิกายน 2552 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปีขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.3 %

นายยรรยงบอกด้วยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอของบประมาณจากคณะรัฐมนตรี 300 ล้านบาท เพื่อต่ออายุโครงการธงฟ้า ชะลอไม่ให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น โดยยอมรับว่า ขณะนี้ราคาวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูน เหล็ก สายไฟฟ้า ในไตรมาส 1/53 จะปรับตัวสูงขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดมายื่นขอปรับขึ้นราคา
money news update
**********
30/12/52
ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือนพ.ย.ปรับตัวดีขึ้น
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ย.ปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวด้านบริโภคและการลงทุน การบริโภคภาคเอกชนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤติศก.โลก
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงภาวะเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวดีขึ้นหลังจากชะลอลงเล็กน้อยในเดือนก่อน ตามการขยายตัวของอุปสงค์รวมซึ่งขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน ส่วนการส่งออกแผ่วลงบ้างเมื่อเทียบกับที่ส่งออกได้ในเดือนก่อนแต่ยังขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวและอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก

แต่การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ การส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่นยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า แผ่วลงบ้างหลังจากขยายตัวในระดับสูงมาหลายเดือน สินค้าเกษตรและน้ำตาลส่งออกได้สูงขึ้นทั้งด้านปริมาณและราคา การเบิกจ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้นหลังจาก พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีผ่านสภาแล้ว การท่องเที่ยวและการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2552 มีดังนี้
อุปสงค์โดยรวมขยายตัวดี การบริโภคภาคเอกชน กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากที่ชะลอลงในเดือนก่อน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) ขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยการใช้จ่ายในด้านรถยนต์เพิ่มขึ้น ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

การบริโภคภาคเอกชนปรับที่ตัวดีขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่อยู่ในเกณฑ์ดีจากราคาพืชผลที่สูงขึ้น การว่างงานที่ลดลง

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน
การลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต และการลงทุนส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนเพื่อทดแทนการเสื่อมสภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์ อีกทั้ง ยังคงมีความเปราะบาง สะท้อนจากการปรับลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนนี้ และความกังวลต่างๆ ของนักธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ปัญหาการเมืองในประเทศ และปัญหากรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ภาคการคลัง กลับมาเป็นปัจจัยสนับสนุนและมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2552 ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยรัฐบาลเปลี่ยนจากเกินดุลเงินสด 6.8 พันล้านบาทในเดือนก่อนเป็นขาดดุลเงินสด 79.0 พันล้านบาท

การส่งออกมีมูลค่า 13,726 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 17.3 จากระยะเดียวกันปีก่อนส่วนหนึ่งเนื่องจากฐานที่ต่ำในปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อน การส่งออกแผ่วลงบ้างจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงและสินค้าที่ใช้แรงงานในการผลิต ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตร และน้ำตาล ขยายตัวสูงขึ้น การนำเข้า ปรับตัวดีขึ้น ทั้งการนำเข้าเพื่อการบริโภค

การลงทุน และการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรมและอุปสงค์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยในเดือนนี้การนำเข้ามีมูลค่า12,620 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 4.7 และเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหดตัวเพียงร้อยละ 0.3 ลดลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 19.0

นักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับมาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
ที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลัก ทั้งจากกลุ่มประเทศเอเชีย โดยเฉพาะจากประเทศจีน และกลุ่มประเทศยุโรป ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2552 นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 1.37 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 13.1 และอัตราการเข้าพักหลังปรับฤดูกาลอยู่ที่ร้อยละ 53.8 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ภาคการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน MPI ที่ปรับฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ตามการชะลอตัวของการผลิตสินค้าที่ได้เร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า อาทิ เหล็กแผ่นรีดร้อนรีดเย็นและสิ่งทอ

สำหรับการผลิตเพื่อส่งออก เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะ Hard Disk Drive ยังคงมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การผลิตเพื่อขายในประเทศ เช่น การผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และเครื่องดื่ม ขยายตัวดีสอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชน

สภาพคล่องในระบบการเงิน เงินฝากของสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน เนื่องจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจระดมเงินฝากเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อตามโครงการภาครัฐ และธนาคารพาณิชย์ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนสินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ที่สำคัญเป็นการให้สินเชื่อกับภาคครัวเรือน โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย
เสถียรภาพภายในและต่างประเทศยังคงแข็งแกร่ง แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2552 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 แต่เป็นผลจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน อัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน

ดุลการชำระเงินเกินดุลสุทธิ ลดลงจาก 2.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในเดือนก่อนเป็น 2.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในเดือนพฤศจิกายน
krungthepturakij
**********
30/12/52
ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจเดือนพ.ย.ลดลงเล็กน้อย
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ธปท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนพ.ย.2552 ลดลง ขณะความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้าดีขึ้นต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 7
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน พ.ย.2552 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 49.0 จากระดับ 50.3 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงขององค์ประกอบด้านผลประกอบการและการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมอาหาร หลังจากที่ได้เร่งขึ้นไปแล้วในช่วงก่อนหน้า เพื่อให้ทันการจัดจำหน่ายในช่วงเทศกาลสิ้นปี ในขณะที่แรงกดดันด้านต้นทุนในเดือนนี้ปรับตัวสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน

ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ภาคธุรกิจแสดงความเชื่อมั่นต่อภาวะธุรกิจโดยรวมเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับสูงขึ้นอยู่ที่ 54.3 จากระดับ 53.0 ในเดือนก่อนหน้าและสูงกว่าระดับความเชื่อมั่นที่ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 จากการปรับตัวดีขึ้นขององค์ประกอบเกือบทุกด้าน
krungthepturakij*********
29/12/52
คลังทุบโต๊ะศก.โต3.5%

เศรษฐกิจไทยพ้นน้ำ สศค. ประเมินปี 2552 ติดลบแค่ ลบ 2.8% ปีหน้าบวก 3.5%

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน โดยคาดว่าจีดีพีปี 2553 จะขยายตัว 3.5% ปรับตัวดีขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3%
“หากสามารถแก้ไขโครงการลงทุนในมาบตาพุดได้ และเบิกจ่ายงบในโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 ได้ 80% หรือประมาณ 2.8 แสนล้านบาท ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มได้เป็น 4%” นายสาธิต กล่าว

สำหรับปี 2552 สศค.คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวติดลบ 2.8% ดีขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ติดลบ 3% เป็นผลมาจากการเร่งรัดใช้จ่ายภาครัฐ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เร็วกว่าที่คาดไว้ และจะเห็นผลบวกต่อเนื่องไปยังปีหน้า

นายสาธิต กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจเฉพาะเดือนพ.ย. 2552 มีสัญญาณชัดเจนเป็นบวกทุกด้าน มีมูลค่าการส่งออกเป็นบวกรอบ 1 ปีขยายตัวที่ 17.2% การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 1 ปี ที่ 7.8%

ขณะที่การลงทุนเอกชนขยายตัวในหมวดก่อสร้างที่ประเมินจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ เป็นบวกในรอบ 7 เดือนขยายตัว 10.7% การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัว 14.2% เป็นระดับที่น่าพอใจ

นอกจากนี้ ปริมาณนักท่องเที่ยวมีถึง 1.4 ล้านคน แม้ว่าจะมีหลายปัจจัยรุมเร้า เช่น ปัญหาเศรษฐกิจการเมืองในประเทศ

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มีปัจจัย 6 ด้านที่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ประกอบด้วย 1.เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ซึ่งเริ่มมีสัญญาณบวกตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2552 2.ราคาน้ำมัน มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่ม 3.รายได้ภาคการส่งออกเพิ่มขึ้น 4.ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 5.อัตราดอกเบี้ย ปรับขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และ 6.การเบิกจ่ายงบประมาณตามเป้าหมาย
posttoday**********
25/12/52
กนง.มั่นใจเงินเฟ้อปี'53 อยู่ในกรอบ 2-4%
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
กนง.เผยเงินเฟ้อพุ่งแรง 3-4% ในช่วง 1-2 เดือนสุดท้ายปี"52 จากตลอดทั้งปีติดลบ หลังราคาน้ำมันทะยาน แต่ยังมั่นใจปี"53 อยู่ในกรอบ 2-4%
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า มีโอกาสค่อนข้างมากที่จะเห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นเร็วถึง 3-4% ในช่วงปลายปี 2552 ต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี 2553 หลังจากที่ติดลบมาเกือบตลอดทั้งปี 2552 อย่างไรก็ตาม กนง.ประเมินว่าการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวจะเป็นเรื่องชั่วคราว โดยต่อจากนั้นคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 2-4%

ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นไม่ได้สะท้อนแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์จนทำให้ผู้ผลิตปรับราคาสินค้า และบริการขึ้นอย่างกว้างขวาง แต่เป็นผลจากระดับราคาน้ำมันในปัจจุบันที่สูงกว่าราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและชั่วคราว ทั้งๆ ที่ราคาสินค้าและบริการในกลุ่มอื่นอาจไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และราคาน้ำมันในปัจจุบันก็ไม่ได้สูงมากไปกว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีความผันผวนสูงมาก

ราคาน้ำมันดิบดูไบเดือน ม.ค.2550 เฉลี่ยอยู่ที่ 51.7 ดอลลาร์/บาร์เรล และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงระดับสูงสุดในเดือน ก.ค.51 ที่ 131.3 ดอลลาร์/บาร์เรล ก่อนจะลดลงอย่างรวดเร็วมาเฉลี่ยอยู่ที่ 40.5 ดอลลาร์/บาร์เรล ในเดือนธ.ค.51 หลังจากนั้นได้ปรับสูงขึ้นอีกครั้งจนกระทั่งปัจจุบันในเดือน พ.ย.52 เฉลี่ยอยู่ที่ 77.7 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2553 จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่ในช่วงครึ่งปีแรกจะเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐเป็นสำคัญ โดยประเมินว่ายังไม่มีแรงกดดันต่อราคาสินค้าที่เกิดจากอุปสงค์ เนื่องจากเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 จะอยู่ในระดับไม่เกิน 1% แต่สูงกว่าขอบล่างของเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ 0.5-3.0%

และเมื่อมาตรการภาครัฐสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค.2553 จะทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน เม.ย.2553 เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.5% แม้ว่าราคาสินค้าและบริการที่เคยได้รับการอุดหนุนจะสูงขึ้นสู่ระดับราคาปกติ ทั้งนี้ เป็นเพราะรัฐบาลได้เริ่มทยอยลดการอุดหนุนลงตั้งแต่ต้นปี 2553

ส่วนในเดือน พ.ค.2553 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2% เนื่องจากผลของนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในปี 2552 ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นหมดลง เพราะดำเนินมาครบรอบ 1 ปี ทำให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการ

ส่วนครึ่งหลังของปี 2553 แนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อาจสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 2-3%

สำหรับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น กนง.จะพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นสำคัญ เพราะเป็นเครื่องสะท้อนแรงกดดันต่อราคาสินค้าที่เกิดจากอุปสงค์ได้ดีกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป

นอกจากนี้ ยังพิจารณาถึงตัวแปรทางเศรษฐกิจอื่นประกอบไปด้วย เช่น แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ, แนวโน้มการบริโภคและการลงทุนของทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ, ภาวะการจ้างงาน และอัตราการใช้กำลังการผลิต และความไม่สมดุลทางการเงินในด้านต่างๆ

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว จึงยังไม่มีแรงกดดันต่อเสถียรภาพด้านราคาในขณะนี้ แต่แรงกดดันจะมีมากขึ้นเป็นลำดับสอดคล้องกับประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะอยู่ประมาณค่ากลางของช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2553 แต่ในระยะต่อไปเมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวได้แข็งแกร่งขึ้น อาจสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและทำให้มีการขึ้นราคาสินค้าและบริการอย่างกว้างขวาง ซึ่ง กนง.จะประเมินแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อไป
krungthepturakij
********
ข่าวเศรษฐกิจมหภาค 2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น