วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี53

12/01/53
หุ้นกลุ่มปิโตรเทรดสนั่น เก็งน้ำมันพุ่ง-ควบรวมปตท.
ทันหุ้น
– กลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่นเทรดคึกคักยกก๊วนทั้ง PTTCH-PTTAR -TPC-TOP-SCC รับอานิสงส์จิตวิทยา 2 เด้ง หลังราคาน้ำมันดิบทยานยืนเหนือ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว เหตุดีมานด์จีนพุ่งสวนทางกำลังผลิตไนจีเรียวูบหายกว่า 2 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ผสานกำลังข่าวควบรวม 4 บริษัทในเครือ ปตท.เดินหน้า นักวิเคราะห์สั่งลุย TPC-TOP ชูพื้นฐานแกร่ง
ผู้สื่อข่าวรายงาน ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น (11 ม.ค. 52) กลุ่มปิโตรเคมีปรับเพิ่มขึ้นยกแผง นำโดย บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) PTTCH ปิดที่ 83.75 บาท เพิ่มขึ้น 7.75 บาท บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) PTTAR ปิดที่ 26.50บาท เพิ่มขึ้น 1 บาท
ขณะที่บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) TOP ปิดที่ 45.75 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) TPC ปิดที่ 18.80 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) SCC ปิดที่ 236 บาท เพิ่มขึ้น 9 บาท
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า หุ้นกลุ่มปิโตรเคมีที่ปรับเพิ่มขึ้นแรง น่าจะมีปัจจัยบวกทางจิตวิทยาตามกลุ่มพลังงงาน และกลุ่มโรงกลั่น ภายหลังจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น
อนึ่ง สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ที่สิงคโปร์ในช่วงเที่ยงของวานนี้ (11 ม.ค. 52) พุ่งขึ้น 80 เซนต์ แตะที่ 83.55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากมีสัญญาณบ่งชี้ว่าดีมานด์น้ำมันดิบในจีนแข็งแกร่งขึ้น และจากข่าวกลุ่มกบฏโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันบริษัท เชฟรอน คอร์ป ในไนจีเรีย ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของเชฟรอนลดลง 2 หมื่นบาร์เรลต่อวัน
ขณะที่ทางการจีน ระบุว่ายอดนำเข้าน้ำมันดิบเดือนธันวาคม 2552 พุ่งขึ้น 14% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 56% ซึ่งข้อมูลการค้าที่แข็งแกร่งของจีน ส่งผลให้นักลงทุนคลายความกังวลกรณีตัวเลขการจ้างงานเดือนธันวาคมของสหรัฐที่ร่วงลง 8.5 หมื่นราย และอัตราว่างงานที่ยืนอยู่ที่ระดับ 10%
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้นไปแล้ว 20% ในเดือนธันวาคม เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นในหลายพื้นที่ของสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย ได้กระตุ้นดีมานด์พลังงาน รวมถึงน้ำมันฮีทติ้งออยล์
นายกิตติชาญ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้นกลุ่มปิโตรเคมี และโรงกลั่นน่าจะมามีการเข้าเก็งกำไรประเด็นการควบรวมกิจการของ 4 บริษัทในเครือ ปตท.(PTT) ได้แก่ PTTCH, PTTAR, TOP และ IRPC ที่มีแนวโน้มจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 1/2553 นี้ด้วย
“กลุ่มปิโตรน่าจะได้ปัจจัยบวกจากการเข้ามาเก็งกำไรกลุ่มพลังงาน จากข่าวการควบรวมบริษัทลูก PTT และยังมีประเด็นกรณีมาบตาพุด แต่ PTTAR, TOP น่าจะได้ปัจจัยหนุนจากแนวโน้มค่าการกลั่นที่ยังทรงตัวดี” นายกิตติชาญกล่าว
สำหรับในสัปดาห์นี้ ฝ่ายวิจัยคาดค่าการกลั่นในภูมิภาคมีแนวโน้มทรงตัวในระดับ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น หลังสหรัฐ ยุโรป และ จีน ประสบปัญหาสภาพอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติ
ส่วนกลยุทธ์การลงทุน แนะนำ “ซื้อ” หุ้น TPC ราคเป้าหมาย 22.20 บาท TOP ราคา 48.00 บาท และ SCC ราคเป้าหมาย 250 บาท พร้อมกับแนะนำ “เก็งกำไร” IRPC ราคเป้าหมาย 4.80 บาท และPTTAR ราคา 31.00 บาท ส่วน PTTCH มองว่าราคาหุ้นปรับขึ้นสูงจนเกินมูลค่าพื้นฐาน 74 บาท แล้ว จึงแนะนำ “ขาย”
นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มปิโตรเคมียังคงไม่มีปัจจัยบวกใหม่ โดยส่วนต่างราคา (สเปรด) ปิโตรเคมีภัณฑ์ยังคงทรงตัว และอาจมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ยังเป็นไปตามการคาดการณ์ไว้
“เท่าที่ประเมินสเปรดเฉลี่ยใน Q4/2552 ที่ผ่านมายังคงทรงตัวจาก Q3/2552 และแนวโน้มยังเป็นไปตามที่คาดไว้ แต่สาเหตุที่ราคาหุ้นปรับขึ้นอาจเพราะเข้ามาเก็งกรณีมาบตาพุดด้วย แต่ไม่แนะนำลงทุนในตอนนี้เพราะราคาหุ้นในกลุ่ม เพิ่มขึ้นจนสูงกว่าราคาพื้นฐานเกือบทุกตัวแล้ว” นักวิเคราะห์กล่าว
ขณะที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า สาเหตุที่ PTTCH ราคาปรับตัวขึ้นสูง และมีวอลุ่มเข้ามาอย่างคึกคัก คาดว่าจะเป็นผลจากที่มีโบรกเกอร์ต่างชาติรายหนึ่งปรับราคาเป้าหมายของหุ้น PTTCH ขึ้นถึง 108 บาท จากเดิมให้ไว้ที่ 73 บาท ซึ่งตรงนี้ทำให้คาดว่ามีเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติได้ไหลเข้ามาลงทุน
อย่างไรก็ดีฝ่ายจัยบล.ทิสโก้ ได้แนะนำ “ซื้อ” หุ้น PTTCH ให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 83 บาทต่อหุ้น เนื่องจากคาดว่าปีนี้บริษัทจะมีกำไรที่เติบโต 50-60% โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากปี 2552 ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 6 พันกว่าล้านบาท
thunhoon***********
11/01/53
แนวโน้มน้ำมันในระยะสั้นน่าจะลง ดีมานด์ในกลุ่มโออีซีดียังคงลดลง
แนวโน้มราคาน้ำมันในระยะสั้นน่าจะลดลงมากกว่าเพิ่มขึ้น แม้ว่าสภาพอากาศที่หนาวเย็นในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะทำให้ราคาน้ำมันทะลุเกิน 82 ดอลลาร์ แต่ข้อมูลชี้ว่า จริง ๆ แล้ว ดีมานด์ในกลุ่มประเทศที่เป็นผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่สุดของโลกอย่างโออีซีดีลดลง
**********
11/01/53
เสนอกพช.ขึ้นราคา NGV 14 บาท พลังงานรับมาบตาพุดยื้อ หวั่นต่างชาติถอนลงทุน
"พลังงาน" เล็งชง กพช. เข็นราคาขายเอ็นจีวี-แอลพีจี ตามต้นทุนจริง สนพ. เผยผลการศึกษาตัวเลขราคาเอ็นจีวี ควรอยู่ที่ 14 บาทต่อกิโลกรัม มั่นใจได้ข้อสรุปภายใน 6 เดือนข้างหน้า "วรรณรัตน์" หวั่นนักลงทุนต่างชาติถอนลงทุน เหตุกลัวผลกระทบมาบตาพุดยืดเยื้อ
pantip
**********
11/01/53
เชฟรอนหยุดผลิตน้ำมัน 2 หมื่นบาร์เรลจากความวุ่นวายที่ไนจีเรีย

บริษัท เชฟรอน คอร์ป เผยผ่านแถลงการณ์ว่า เหตุมือปืนโจมตีท่อส่งน้ำมันของบริษัทในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ เมื่อวานนี้ ทำให้บริษัทต้องปิดการผลิตน้ำมันดิบจำนวน 20,000 บาร์เรลต่อวัน

สำนักข่าวซินหัวรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวด้านความมั่นคงว่า การโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมือปืนไม่พอใจที่เกิดเหตุสังหารลูกจ้างที่โรงงาน Escravos- Gas-To-Liquid (EGTL) โดยกลุ่มทหาร

ท่อส่งน้ำมันที่ได้รับความเสียหายอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองวาร์รี โดยขนส่งน้ำมันดิบจากบ่อน้ำมันของบริษัทเชฟรอนในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งผลิตน้ำมันได้วันละ 77,000 บาร์เรลเมื่อปี 2551 ทางทหารได้ออกสำรวจความเสียหายต่อระบบท่อส่งน้ำมันแล้ว ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าจะยังส่งผลต่อเนื่องทำให้ราคาน้ำมันยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

หลังจากที่หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีสัญญาณบ่งชี้ว่ากิจกรรมด้านการผลิตกำลังฟื้นตัวทั้งในสหรัฐและจีน และปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นคือ เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากตั้งคำถามว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวอยู่ในระดับดังกล่าวได้อีกนานแค่ไหน เนื่องจากสภาพตลาดแรงงานที่ย่ำแย่จะทำให้ดีมานด์น้ำมันลดลง ดูได้จากตัวเลขสต็อกน้ำมันฮีทติ้งออยล์ของสัปดาห์นี้ที่แทบไม่มีการเคลื่อนไหวทั้งที่หลายพื้นที่ในประเทศกำลังเผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวจัด

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันกล่าวว่าตลอดปี 2552 ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเคลื่อนไหวตามเงินดอลลาร์มากกว่าดีมานด์ที่แท้จริง และการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันเมื่อคืนนี้ก็เป็นไปในทิศทางดังกล่าวเช่นกัน
money wake up
**********
07/01/53
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานใช้โครงสร้างค่าไฟใหม่ต้นปี 2554

Posted on Wednesday, January 06, 2010
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน บอกว่า ในขณะนี้ได้ว่าจ้างที่ปรึกษามาพิจารณาการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าทั้งระบบ คาดว่าจะเสร็จและเริ่มใช้ในปี 2554 โดยจะเน้นทำให้โครงสร้างค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) มีความชัดเจนและมีความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งค่า FT ใหม่จะปรับปรุงคิดเพียงต้นทุนเชื้อเพลิงและอัตราแลกเปลี่ยนเท่านั้น

ส่วนการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าภาคเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) รวมถึงเรื่องการจัดเก็บเงินกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้ารวมถึงการประมาณการเรื่องปริมาณผู้ใช้ไฟฟ้าจะมีการแยกออกมา

นอกจากนี้ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ยังอยู่ระหว่างการหารือและรับฟังความคิดเห็นร่างระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (3) ร่างที่ 1 โดยจะรับฟังความเห็นจากทั่วประเทศและปรับปรุงใหม่ เช่น ยกเลิกการกำหนดรัศมีการดูแลประชาชนจากเดิม 5 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า โดยจะเปลี่ยนเป็นการให้คณะกรรมการในพื้นที่กำหนดแทน

นายดิเรก บอกด้วยว่า ค่าไฟฟ้าในปีนี้จะมีต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันและราคาก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า แต่ เรกูเรเตอร์ยังมีมติทำตามข้อเสนอของรัฐบาลที่ตรึงค่าไฟฟ้า FT ไปจนถึงเดือนสิงหาคมนี้ ทำให้ผลกระทบจะตกอยู่กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่ยังแบกภาระแทนประชาชนจากการตรึงค่า FT ตั้งแต่ปลายปี 2550 โดยยอดหนี้ปัจจุบันอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท จากวงเงินเต็ม 2 หมื่นล้านบาท และยังมีภาระค่าดอกเบี้ยอีก 2 พันล้านบาท
money news update**********
07/01/53
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ปิดพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบ 14 เดือน

Posted on Thursday, January 07, 2010
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์ก ส่งมอบเดือน ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้นถึง 1.41 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 83.18 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ปัจจัยบวกที่มีผลต่อราคาน้ำมัน

- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร มาอยู่ที่ 1.4408 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร หลังจากรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มนโยบายใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจยังคงไม่ฟื้นตัว ซึ่ง FED น่าจะยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำ

- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้นักลงทุนหันมาเก็งกำไรในตลาดน้ำมันและทองคำมากขึ้น โดยล่าสุดราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2551 ในขณะที่ราคาทองคำก็ปรับสูงขึ้นเช่นกัน มาอยู่ที่ 1,136.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

- จากสภาพอากาศที่หนาวเย็นทั้งในเอเชียเหนือ ยุโรปและสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนความต้องการน้ำมันให้เพิ่มขึ้น

- ดัชนีภาคการบริการ (ISM-non- manufacturing index) เดือน ธ.ค. ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 50.1 จากเดือน พ.ย.ที่อยู่ที่ 48.7 ซึ่งการที่ดัชนีมากกว่า 50 ถือว่าภาคการบริการขยายตัวแล้ว

- จากรายงานสถานการณ์ตลาดแรงงาน (ADP Employment) พบว่าภาคเอชนมีการปลดพนักงานลดลงจากเดือน พ.ย. ที่อยู่ที่ 145,000 คน มาอยู่ที่ 84,000 คนในเดือน ธ.ค.

ปัจจัยลบที่มีผลต่อราคาน้ำมัน

- การประกาศตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 1 ม.ค. 53 ปรับเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล สวนทางจากการคาดการณ์ว่าจะปรับลดลง เนื่องจากการนำเข้าน้ำมันดิบที่มากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับโรงกลั่นต่างๆลดกำลังการผลิตลดลงตามค่าการกลั่นที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง เพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล
ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลัง เพิ่มขึ้น 3.7 ล้านบาร์เรล
ปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลัง ลดลง 0.3 ล้านบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือน ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้น 1.30 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 81.89 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบดูไบ ตลาดสิงคโปร์ ปรับเพิ่มขึ้น 0.05 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 79.67 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

- สนับสนุนข้อมูลโดย บมจ. ไทยออยล์ -

***********
06/01/53
จับสัญญาณราคาน้ำมันปี 53
ทอแสง ไชยประวัติ ผู้จัดการแผนกวางแผนการพาณิชย์ บมจ.ไทยออยล์ กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบในปี 2552 เคลื่อนไหวจาก 45 เหรียญต่อบาเรลตอนต้นปีมาอยู่ที่ 80 เหรียญตอนปลายปี หรือเพิ่มขึ้นถึง 78% ส่วนในปี 2553 คาดว่า ราคาน้ำมันจะเคลื่อนไหวในช่วงราคาระหว่าง 70 – 90 เหรียญ และมีความผันผวนน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นในระยะนี้จนล่าสุด (5 ม.ค. 53) อยู่ที่ 81.77 เหรียญต่อบาเรลเป็นผลมาจากอากาศที่หนาวทั้งในยุโรป สหรัฐฯ และจีนทำให้ความต้องการใช้น้ำมันทำความร้อนเพิ่มขึ้น และเงินดอลลาร์สหรัฐฯก็อ่อนค่าลงอีก ประกอบกับยังคงมีแรงเก็งกำไรเข้ามา ทั้งนี้ทอแสงกล่าวว่า หากไม่มีการเก็งกำไรเข้ามาเกี่ยวข้อง ราคาน้ำมันจะอยู่ที่กว่า 70 เหรียญเท่านั้น และมีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะขึ้นไปถึง 90 เหรียญ

อย่างไรก็ตาม ทอแสงเชื่อว่า หากราคาน้ำมันสูงเกินไปกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) จะเริ่มส่งสัญญาณ เช่น อาจเพิ่มกำลังการผลิต เพราะ OPEC ไม่ต้องการให้ราคาน้ำมันสูงหรือผันผวนจนเกินไป เพราะหากราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงจะไม่เป็นผลดีต่อ OPEC ในระยะยาว เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันจะลดลง

นอกจากนี้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า มีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะขึ้นไปแตะ 100 เหรียญต่อบาเรล หากเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวดี และความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นจนเริ่มตึงตัวเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2551 เนื่องจากการลงทุนหาแหล่งน้ำมันใหม่ ๆ ทำได้ยากขึ้นในปัจจุบัน
hard topic**********
04/01/53
กฟผ.สรุปภาพรวมการใช้ไฟฟ้าปี 52
Monday, 04 January 2010 16:06
นายวิรัช กาญจนพิบูลย์ รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยในปี 2552 คิดเป็นพลังงานไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 145,233 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากปี 2551 เล็กน้อยประมาณ 5.5 ล้านหน่วย หรือร้อยละ 0.004 ซึ่งนับเป็นสัญญาณด้านบวกสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ภายหลังจากที่สถิติการใช้ไฟฟ้าในช่วงต้นปีปรับลดลง โดยเฉพาะในเดือนมกราคม 2552 ลดลงสูงสุดถึงร้อยละ 13 เนื่องจากภาคธุรกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม สถิติการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 2552 และเป็นบวกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนธันวาคม 2552 การใช้ไฟฟ้าปรับสูงขึ้นกว่าเดือนธันวาคม 2551 ถึงร้อยละ 16 จึงทำให้ภาพรวมการใช้ไฟฟ้าของประเทศในปี 2552 ปรับเพิ่มขึ้น
stock wave
**********
04/01/53
ราคาน้ำมันแรงข้ามปี โอเปคเร่งตุนเกินโควต้า

ข้ามสู่ศักราชใหม่ นักลงทุนยังต้องจับตาสถานการณ์ราคาน้ำมันกันอย่างใกล้ชิด หลังจากปิดบวกทำสถิติสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ที่ตลาดนิวยอร์ก และส่งผลให้ทั้งปี 2552 ที่เพิ่งสิ้นสุดลง กลายเป็นปีที่ราคาน้ำมันสามารถบวกขึ้นได้แรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2542 โดยมีปัจจัยเรื่องภูมิอากาศที่หนาวเย็นในช่วงส่งท้ายปีเป็นตัวเร่งดันให้ต้นทุนน้ำมันขยับขึ้น

สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงาน (EIA) ประกาศในวันทำการสุดท้ายของปี 2552 ว่า ตัวเลขสำรองน้ำมันดิบร่วงลง 1.5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2552 ขณะที่ American Petroleum Institute (API) รายงานว่า ระดับสำรองน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล

ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวในทิศทางบวก นับตั้งแต่กลุ่มโอเปคมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เปลี่ยนแปลงเพดานการผลิตน้ำมัน เนื่องจากพอใจที่ระดับราคาในตอนนี้ ขณะกำหนดการประชุมโอเปคในครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 17 มี.ค.

ประธานโอเปคมีความเห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในอัตราที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของตลาดเอเชีย แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีคำเตือนออกมาด้วยว่า ภาคการเงินทั่วโลกยังอยู่ในสภาวะที่มีความไม่แน่นอน เช่นเดียวกับตลาดแรงงานที่มีอัตราการว่างงานยืนอยู่ในระดับสูง นอกจากนั้น ความกังวลยังมุ่งไปที่เรื่องรัฐบาลในหลายประเทศอาจถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วกว่าที่ควร

นาย Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลและเป็นศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มองว่า สหรัฐจำเป็นที่จะต้องเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 2 เมื่อดูจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐยังคงเปราะบางและมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลต่อไป

ผลสำรวจของสำนักข่าว Bloomberg ล่าสุดชี้ว่า กลุ่มประเทศโอเปคปรับเพิ่มการผลิตในเดือนธันวาคม ไปสู่ระดับสูงที่สุดของปี เมื่อบรรดาประเทศสมาชิกต่างหาประโยชน์จากสภาวะราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น บริษัทน้ำมัน นักวิเคราะห์ รวมถึงผู้ผลิตในการสำรวจครั้งนี้ เชื่อว่าปริมาณการผลิตจะเฉลี่ยอยู่ที่ 28.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 65,000 บาร์เรลนับจากเดือนพฤศจิกายน ขณะ 11 ประเทศที่อยู่ภายใต้ระบบโควต้า ยกเว้นอิรัก ใช้กำลังการผลิต 26.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมากกว่าโควต้าที่ตัวเองได้รับถึง 1.77 ล้านบาร์เรล
money wake up***********
29/12/52
ไทยออยล์คาดปีหน้าเก็งกำไรราคาน้ำมัน
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"ไทยออยล์" คาดราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี53 อยู่ที่ประมาณ 75 ดอลลาร์/บาร์เรล การเก็งกำไรจะกลับมาเพิ่มขึ้น แต่ยอมรับค่าการกลั่นยังคงต่ำ
บมจ.ไทยออยล์ รายงานว่า จากผลพวงจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยในปี 2552 เศรษฐกิจไทยหดตัวลงมากถึงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้การใช้น้ำมันสำเร็จรูปรวมในประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะปริมาณการใช้น้ำมันอากาศยานปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 6 เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศและปัญหาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวปรับลดลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับปี 2551 ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล ได้ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 และร้อยละ 2.8 ตามลำดับ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงมากในช่วงต้นปี ขณะที่ก๊าซปิโตรเลียมเหลวมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ส่งผลให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวเพิ่มขึ้น

ส่วนเศรษฐกิจโลกในปี 2553 คาดว่า มีโอกาสขยายตัวอย่างช้า ๆ ประมาณร้อยละ 3 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วจะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 1.25 ในขณะที่ประเทศที่กำลังพัฒนา นำโดยจีน และอินเดีย จะเติบโตในอัตราที่เร็วกว่าที่ประมาณร้อยละ 5 โดยเชื่อว่าภาคการเงินทั่วโลกยังคงมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากภาคธนาคารยังต้องจัดการกับหนี้เสียอีกจำนวนมาก

ไทยออยล์ คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบในปี 2553 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับสูงขึ้นจากราคาเฉลี่ยในปี 2552 ที่ประมาณ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันคงคลังทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูงตลอดปี 2552 เริ่มปรับลดลง โดยการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบน่าจะยังคงผันผวน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญดังต่อไปนี้

ในขณะที่การใช้น้ำมันของโลกในปี 2553 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยสำนักงานพลังงานสากลประมาณการความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 2553 จะอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 86.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับเพิ่มขึ้น 1.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปี 2552 โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น จีน อินเดีย และตะวันออกกลาง ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐ และยุโรป แม้ว่าจะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง แต่ก็ปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนักและยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าความต้องการใช้จะกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้ง

ส่วนกำลังการผลิตน้ำมันของโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นไปแล้วมากถึง 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2552 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจีนและอินเดีย จะกดดันให้โรงกลั่นในภูมิภาค รวมทั้งในยุโรปและสหรัฐ ที่เป็นโรงกลั่นที่มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ทันสมัยและไม่ครบวงจร อาจจะต้องปรับลดการผลิตลงอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่โรงกลั่นที่ไม่มีกำไรอาจจะต้องปิดตัวไปอย่างถาวร ดังที่เริ่มเห็นตัวอย่างบ้างแล้วในสหรัฐ ที่มีโรงกลั่นปิดตัวลดงไปจากภาวะขาดทุนสะสมในช่วงปลายปี 2552 ไทยออยล์คาดว่า สถานการณ์การผลิตของโรงกลั่นในปี 2553 น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2552 หลังจากที่ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกปรับสูงขึ้นและอุปทานส่วนเกินน่าจะปรับลดลงจากการลดกำลังการผลิตของโรงกลั่นที่ไม่คุ้มทุน

ไทยออยล์ระบุด้วยว่านักลงทุนจะยังคงเคลื่อนย้ายเงินลงทุนมายังตลาดน้ำมันเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือจากการอัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบเงินโดยรัฐบาลทั่วโลก ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ยังคงเปราะบาง ทำให้นักลงทุนยังไม่กล้านำเงินเข้าไปลงทุนซื้อสินทรัพย์ถาวร รวมทั้งนักลงทุนยังคงมีความอ่อนไหวต่อข่าวการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลให้การเคลื่อนย้ายเงินในตลาดเงิน ตลาดหุ้นและตลาดน้ำมัน มีมากขึ้น

นอกจากนี้ ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2553 มีแนวโน้มอ่อนค่า จะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้มีการลงทุนในตลาดน้ำมันเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ จะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในปี 2553 มีความผันผวนมากขึ้น โดยเชื่อว่า มาตรการของรัฐบาลสหรัฐ ในการป้องกันการเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จะยังไม่สามารถป้องกันการเก็งกำไรของนักลงทุนได้

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นหลายฝ่ายคาดเศรษฐกิจไทยจะเติบโตร้อยละ 3.3 จึงคาดการณ์ว่าการใช้น้ำมันสำเร็จรูปโดยรวมในประเทศ ในปี 2553 จะปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 จากปี 2552 โดยความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานจะปรับตัวสูงขึ้นมาก หลังจากหดตัวมากถึงร้อยละ 6 ในปี 2552 ส่วนการใช้ก๊าซหุงต้มก็คาดว่าน่าจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนโยบายภาครัฐที่ยังคงตรึงราคาก๊าซหุงต้มต่อไป

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยก็ยังคงมีปัจจัยเสี่ยง หากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้และการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วหรือมากกว่าที่คาดไว้ รวมถึงความไม่สงบทางการเมืองในประเทศที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชนรวมทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศด้วย

ด้านปริมาณการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากการขยายกำลังการผลิตของโรงกลั่นในประเทศในปี 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดในประเทศทวีความรุนแรงขึ้น ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์อะโรมาติกส์ในปี 2553 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

โดยไทยออยล์คาดว่า ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์อะโรมาติกส์น่าจะขยายตัวได้ในอัตราร้อยละ 3 ถึง 5 เนื่องจากผลิตภัณฑ์อะโรมาติกส์เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ได้แก่ สิ่งทอ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จะส่งผลให้การผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเหล่านี้ปรับตัวสูงขึ้นด้วย

ส่วนด้านอุปทานของโรงอะโรมาติกส์ในภูมิภาคมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2553 หลังจากที่มีโรงอะโรมาติกส์ใหม่ในภูมิภาคได้เปิดดำเนินการไปแล้วในปี 2552 นอกจากนี้ มีโรงอะโรมาติกส์อีก 2 แห่ง ในประเทศจีนและตะวันออกกลางที่จะเริ่มเปิดดำเนินการในปี 2553 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอุปทานในตลาดมากขึ้นและจะส่งผลกดดันราคาอะโรมาติกส์ในปี 2553 และทำให้อัตรากำลังการผลิตของโรงอะโรมาติกส์ในภูมิภาคโดยรวมปรับลดลง

อย่างไรก็ตาม ราคาอะโรมาติกส์อาจจะได้รับแรงสนับสนุนและปรับตัวสูงขึ้นได้ หากโรงอะโรมาติกส์ใหม่เลื่อนการเปิดดำเนินการออกไป รวมทั้งปัญหาวัตถุดิบตั้งต้นไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ถ้าโรงกลั่นน้ำมันยังคงกำลังการผลิตไว้ที่ระดับต่ำ ประกอบกับโรงโอลิฟินส์ที่ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นลดการผลิตลง เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับโรงโอลิฟินส์ในแถบตะวันออกกลางที่ใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าว อาจจะส่งผลให้การผลิตผลิตภัณฑ์อะโรมาติกส์ต้องปรับลดลง ด้วยสาเหตุที่วัตถุดิบตั้งต้นไม่เพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาอะโรมาติกส์ดีดกลับมาได้ในช่วงกลางปี 2553

นายสุรงค์ บูลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ กล่าวว่า จากการแข่งขันที่มีสูงขึ้นในปี 2553 บริษัทฯ ได้วางแผนที่หาตลาดใหม่ ๆ โดยการขยายฐานลูกค้า โดยครอบคลุมลูกค้าที่เป็นผู้ใช้โดยตรงด้วย โดยบริษัทฯ มีความได้เปรียบคู่แข่งในด้านการเป็นโรงกลั่นแบบครบวงจร ทำให้มีความแน่นอนในการที่จะสามารถผลิตผลิตภัณฑ์อะโรมาติกส์ได้ตามข้อตกลงของลูกค้า ในขณะเดียวกันกลุ่ม ปตท.ก็ได้วางแผนในการจัดหาน้ำมันดิบราคาถูกเพื่อลดต้นทุนร่วมกันด้วย
krungthepturakij

********
29/12/52
ถ่านหินลุ้นแตะ85ดอลล์
ถ่านหินสัญญาณฟื้นตัว หลังจีนนำเข้าสูงถึง 483% เพิ่มจากปีก่อนเป็น 12.65 ล้านตัน หวังตุนไว้ผลิตไฟฟ้า บวกอากาศหนาวผิดปกติ เซียนหุ้นฉายภาพธุรกิจ 1-2 ปีนี้ราคา-ปริมาณถ่าหนินตรึงตัว คาดปี 53 ราคาถ่านหิน 84.8 ดอลล์ หนุนมีแรงเก็งกำไร BANPU จาการปรับตัวถ่านหินทุก 5 ดอลล์ กำไรเพิ่ม 6.8% แนะ ซื้อŽ เป้า 688 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า แนวโน้มราคาถ่านหินสัปดาห์นี้ คาดปรับตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และและความต้องการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในจีน จากการที่หลายพื้นที่ประสบปัญหาสภาพอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติ
ล่าสุดจีนรายงานการนำเข้าถ่านหินเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 12.65 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13.6% จากเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้น 483.1% จากปีก่อน
ขณะที่สัญญาล่วงหน้า 1 เดือนถ่านหิน ในตลาด API ไม่มีรายงาน สำหรับราคาถ่านหินใน BJI สัปดาห์ที่ผ่านมา ปิดที่ระดับ 80.65 เหรียญสหรัญ เพิ่มขึ้น 0.10 เหรียญสหรับ/ตันและยังปรับขึ้นต่อหลังจากลดลงครั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
www.thunhoon.com
********
29/12/52
กพช. วางแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติถึงปี 2558 รองรับภาคไฟฟ้า-อุตสาหกรรม-ขนส่ง เติบโต
ที่ประชุม กพช. เห็นชอบแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติปี 2552 — 2558 เพื่อรองรับความต้องการที่ขยายตัวทั้งภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมและภาคการขนส่ง พร้อมเห็นชอบสัญญาซื้อขายก๊าซฯ จากแหล่งซอติก้าของพม่า และร่างเอ็มโอยูรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำงึม 3
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลัง การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 52 ว่า ที่ประชุม กพช. เห็นชอบแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติปี 2552 — 2558 เพื่อรองรับความต้องการก๊าซธรรมชาติที่จะเพิ่มขึ้นทั้งภาคการไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2551 — 2564 (PDP 2007 : ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ตามการคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศหลังวิกฤตเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการก๊าซธรรมชาติของไทยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5,142 ล้านลบ.ฟุตต่อวันในปี 2558 โดยประมาณการจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่จะเข้าระบบในปี 2552 — 2558 ตามแผน PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 จำนวนประมาณ 6,890 เมกะวัตต์ รวมถึงแผนการขยายการใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งในภาคอุตสาหกรรม (อัตราเติบโตเฉลี่ย 11%ต่อปี) ภาคการขนส่ง (อัตราเติบโตเฉลี่ย 23%ต่อปี) และการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 รวมทั้งการก่อสร้างโรงแยกก๊าซอีเทนของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งในการดำเนินการจัดหาก๊าซธรรมชาตินั้น ปตท.เตรียมแผนการจัดหา ก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากอ่าวไทย และการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมีแผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)

สำหรับการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาวปี 2559 — 2564 จะวางแผนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยหรือแผน PDP ฉบับใหม่ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวน

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งซอติก้า จากประเทศสหภาพพม่า โดยแหล่งซอติก้าตั้งอยู่ในแปลง M9 และ M11 ในอ่าวเมาะตะมะ สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติในเชิงพาณิชย์ได้ประมาณ 300 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นการจำหน่ายภายในสหภาพพม่าประมาณ 60 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน และเป็นสัญญาซื้อขายกับไทยในปริมาณที่เหลือ 240 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน โดยจะพัฒนาและพร้อมผลิตก๊าซธรรมชาติได้ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป

ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) การรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำงึม 3 จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 440 เมกะวัตต์ โดยได้มอบหมายให้ กฟผ. นำร่าง MOU ที่ได้รับความเห็นชอบไปลงนามร่วมกับผู้ลงทุนต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าโดยให้คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ยังคงบริหารงานกองทุนฯ ต่อไปได้อีกระยะหนึ่งจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ตามระเบียบการนำส่งเงินและการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

สำหรับการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าขณะนี้อยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านไปอยู่ภายใต้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2553
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)
*********
29/12/52
PTTประเมินปี 53 ค่าการกลั่น 1-2เหรียญ/บาร์เรล ห่วงธุรกิจโรงกลั่นอยู่ยาก

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.(PTT) ประเมินว่าค่าการกลั่นในปี 53 จะอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 1-2 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มอุตสาหกรรมโรงกลั่นที่อยู่นช่วงขาลง ประกอบกับจะมีโรงกลั่นขนาดใหญ่เพิ่มเข้ามาทั้งที่อินเดียและจีน แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวและทำให้ความตอ้งการใช้น้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น
"ค่าการกลั่นต่ำกว่า 2 เหรียญ ธุรกิจโรงกลั่นก็เจ๊งแล้ว ได้แต่หวังว่าถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัว ความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น โรงกลั่นก็อาจจะไม่แย่มากอย่างที่คิดไว้"นายประเสริฐ กล่าว

ทั้งนี้ ในปีหน้าธุรกิจโรงกลั่นของไทยค่อนข้างลำบาก เนื่องจากต้องแข่งขันกับสิงคโปร์ที่มีต้นทุนการขนส่งและต้นทุนน้ำมันดิบต่ำกว่าไทย รวมทั้ง ภาระภาษีก็ต่ำกว่าด้วย ดังนั้น โอกาสการแข่งขันของไทยที่จะสู้กับสิงคโปร์คงยังเป็นเรื่องยาก

สำหรับปี 53 คาดว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะอยู่ที่ระดับ 70-80 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งสูงกว่าปีนี้ที่อยู่ในระดับ 60-70 เหรียญ/บาร์เรล แต่ปีหน้าเชื่อว่ากำลังการผลิตน้ำมันในประเทศจะสูงถึง 9 แสน ถึง 1 ล้านบาร์เรล/วัน แบ่งเป็นการใช้ในประเทศ 7 แสนบาร์เรล/วัน ใช้ในธุรกิจปิโตรเคมี 1 แสนบาร์เรล/วัน และส่งออกประมาณ 1-2 แสนบาร์เรล/วัน

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น