วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กลุ่มเกษตรและอาหาร53

14/01/53
เอกชนคาดส่งออกข้าวปีนี้พุ่งแตะ 10 ล้านตัน

Posted on Thursday, January 14, 2010
น.ส.กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย บอกว่า ในปีนี้ไทยน่าจะสามารถส่งออกข้าวได้ 9 - 9.5 ล้านตันตามเป้าที่ตั้งไว้ และมีโอกาสเพิ่มไปถึง 10 ล้านตัน จากปี 52 ที่ส่งออกได้ 8.6 ล้านตัน เนื่องจากข้อตกลงการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา จะทำให้ข้าวไทยส่งออกไปมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะมีการเจรจาขายข้าวในสต๊อกที่มีอยู่ประมาณ 5-6 ล้านตัน

นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย บอกด้วยว่า ข้อตกลง AFTA จะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวเพื่อการบริโภคของไทย เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการรองรับไว้หลายด้าน ทั้งการเปิดศูนย์ Hot Line ให้คำปรึกษา, การกำหนดประเภทของข้าวที่ให้นำเข้าได้เฉพาะปลายข้าวสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม, การตรวจสอบสารตกค้าง, การลงทะเบียนผู้นำเข้า, การตรวจสอบติดตามการนำข้าวไปใช้ และการกำหนดด่านนำเข้านั้น เชื่อว่าเพียงพอที่จะเป็นเกราะป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

**********
14/01/53
นายกฯเร่งพัฒนาศก.อาหาร-เกษตรแทนพึ่งพาอุตฯ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

นายกรัฐมนตรี เผยแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตยั่งยืน จำเป็นต้องขับเคลื่อนด้านการเกษตรและอาหาร แทนการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “อนาคตอุตสาหกรรมในสายตานายกฯ” ในงานสัมมนา “กรีนจีดีพี อนาคต ประเทศไทย” ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยย้ำว่า จากเศรษฐกิจที่ติดลบร้อยละ 3 ในปีที่ผ่านมา ก่อนที่ในปลายปี 2552 จะเริ่มฟื้นตัวขึ้น จึงคาดว่า จีดีพีในปี 2553 น่าจะเติบโตได้มากกว่าร้อยละ 3.5 แม้ยังมีวิกฤติหลายด้าน และที่สำคัญเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและมีพื้นฐานเข้มแข็ง รัฐบาลยังยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในภาคส่วน

และยอมรับว่า แม้ภาคอุตสาหกรรมจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ไทยยังมีศักยภาพด้านการเกษตร และอุตสาหกรรมอาหารที่มีความสำคัญมาก จึงให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจด้านการเกษตรและอาหารให้เพิ่มขึ้นมากกว่าการพึ่งพาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า จากแนวคิดในการเน้นพัฒนาเศรษฐกิจด้านอาหารและการเกษตร ดังนั้น จึงเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ ทางด้านพื้นที่ทำกิน แก้ปัญหาหนี้สินการแทรกแซงด้วยการใช้ระบบประกันราคาสินค้าเกษตร การพัฒนาระบบชลประทานเพื่อให้ต้นทุนเกษตรกรลดลง และเพิ่มผลผลิตสินค้าให้มีคุณภาพแข่งขันกับต่างชาติได้ ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน จะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น แนวโน้มต่อไปจะเน้นเรื่องการปลูกพืชพลังงาน อาหารแปรรูป เพื่อให้เป็นที่พึ่งทางเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง เพราะจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมัน และกระจายรายได้ให้เกษตรกร

ส่วนปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ยอมรับว่า ขณะนี้แนวทางการแก้ปัญหาคืบไปมาก จึงน่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ เพราะรัฐบาลได้ออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA ) และการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีก็ได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการวางข้อกำหนดให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อปูทางไปสู่ขั้นตอนพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมในอนาคต

“ยอมรับว่า ธุรกิจด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม จะเติบโตและขยายตัวได้ดี เนื่องจากกระแสสังคมให้ความสำคัญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นข้อกฎเกณฑ์หรือการส่งเสริมธุรกิจด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ก็จะมีออกมาสนับสนุนมากขึ้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายอภิสิทธิ์ ยอมรับว่า ภาคเอกชนมีความพร้อมในการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่าง ๆ แต่ภาคเอกชนกังวลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลง เพราะทำให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และเกรงว่า เมื่อกฎเกณฑ์ต่าง ๆ หย่อนยานลงไปเหมือนในอดีต จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเข้าลงทุน และข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ต้องการให้ครอบคลุมไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพราะเมื่อนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดโตเต็มที่ รัฐบาลมีแผนย้ายนิคมอุตสาหกรรมลงไปยังภาคใต้ เพราะมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะมีความขัดแย้งกับการเติบโตภาคอุตสาหกรรม

จึงให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปศึกษาอย่างละเอียด จากผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งการเดินหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) ที่เชื่อมท่าเรือฝั่งตะวันตกและตะวันออก ในการส่งเสริมการเติบโตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ไทยยังต้องการรายได้จากการท่องเที่ยว จึงต้องศึกษาอย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดความสมดุล

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในคำถามการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออก เมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา ยอมรับว่า เมื่อไทยอยู่ในเวทีการค้าเสรี คงไม่สามารถจำกัดการแสวงหาโอกาสที่ดีเมื่อบรรยากาศการค้าการลงทุนระหว่างประเทศดีขึ้น ก็ไม่ควรจำกัดโอกาส เมื่อพื้นฐานเศรษฐกิจภายในประเทศเข้มแข็งขึ้นในระดับหนึ่ง ก็ยังสามารถเน้นการพึ่งพารายได้จากการค้า การลงทุนกับต่างประเทศได้เหมือนเดิม ขณะเดียวกันยังต้องให้ความสำคัญการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศควบคู่กันไปด้วย
krungthepturakij***************

14/01/53
กลุ่มเกษตรและอาหารแนวโน้มดี
รายงานโดย :เจียรนัย อุตะมะ:

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ วิเคราะห์ว่าราคาสินค้าเกษตรน่าจะสร้างความประหลาดใจตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2553 เป็นต้นไป และมีมุมมองที่ดีต่อธุรกิจสินค้าเกษตรและอาหารในปี 2553

เนื่องจากสาเหตุหลัก 3 ประการ ได้แก่

1.มีโอกาสที่ราคาสินค้าเกษตรจะปรับตัวสูงขึ้นจากการขาดแคลนอุปทาน อันเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เลวร้ายจากภาวะ El Nino

2.ธุรกิจแปรรูปอาหารของไทยมีแนวโน้มปรับเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูง สินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่ม

3.การเติบโตของความต้องการจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากประเทศจีนและอินเดีย โดยหุ้นที่ชอบได้แก่ บริษัท ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) บริษัท น้ำมันพืชไทย (TVO) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF)

อย่างไรก็ตาม ยังคงแนะนำ “ขาย” สำหรับหุ้นบริษัท น้ำตาลขอนแก่น (KSL) จากมูลค่าหุ้นที่ตึงตัวและการปรับขึ้นต่อผลประกอบการที่ค่อนข้างจำกัด

TVO : มีโอกาสลดลงจำกัด และกำลังการผลิตสูงขึ้นจำกัด รวมถึงการขยายกำลังการผลิต 50% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ยังเป็นประโยชน์ต่อ TVO เนื่องจากจะทำให้การส่งออกน้ำมันถั่วเหลืองของบริษัทไปยังภูมิภาคเพิ่มขึ้น

KSL : ซื้อขายตามการขึ้นลงของราคาน้ำตาล แม้ว่าราคาน้ำตาลดิบในปัจจุบันจะทำสถิติสูงสุดในรอบ 29 ปี แต่เห็นว่าการปรับขึ้นต่อผลประกอบการในปี 2553 ของบริษัทค่อนข้างจำกัด เนื่องจาก KSL ได้ทำการล็อกราคาน้ำตาลไปแล้ว 70-80% ของการผลิตในปี 2553 ด้วยราคาที่ต่ำ

นอกจากนี้ ยังคาดว่าราคาน้ำตาลที่ปรับตัวสูงขึ้นจะดึงดูดให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอุปทานส่วนเกิน ปัจจัยเสี่ยงต่อประมาณการของเรา คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในอุตสาหกรรม อันเนื่องมาจากความต้องการเอทานอลที่เพิ่มมากขึ้น
CPF : คาดผลประกอบการทรงตัว ด้วยราคาวัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นน่าจะส่งผลให้อัตราส่วนกำไรขั้นต้นของ CPF แคบลงในครึ่งหลังปี 2553 อย่างไรก็ตามสต๊อกวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำที่มีอยู่เพียงพอ และการทำสัญญาล่วงหน้า (Forward Contracts) ของต้นทุนขนส่ง น่าจะส่งผลให้การลดลงต่ออัตรากำไรของบริษัทสำหรับทั้งปี 2553 จำกัด อัตราส่วนกำไรขั้นต้นของบริษัทน่าจะได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของสินค้าอาหารที่มีอัตรากำไรสูง และธุรกิจอาหารสัตว์ในต่างประเทศ

“เรายังคงแนะนำ ‘ซื้อ’ หลังจากปรับประมาณการผลประกอบการสำหรับปี 2553 ขึ้น 20% มาอยู่ที่ 9,900 ล้านบาท และปรับราคาเป้าหมายมาเป็น 14.20 บาท”

ด้านบล.ธนชาต ได้รับเกียรติให้เข้าร่วม Executive Forum กับผู้บริหารระดับสูงของ CPF โดยข้อมูลที่ได้นั้นโดยรวมแล้วเป็นบวก ซึ่งได้ยืนยันมุมมองที่เป็นบวกที่มีต่อ CPF และ CPF ยังคงเป็นหุ้นที่แนะนำให้เลือกลงทุนสูงสุดในกลุ่มอาหาร คงคำ แนะนำ “ซื้อ” โดยมีราคาเป้าหมาย 14 บาท/หุ้น

กำไรแกร่ง

กำไรในช่วงไตรมาส 4 ปี 2552 น่าจะออกมาแข็งแกร่งตามคาด ซึ่งทำให้ CPF จ่ายปันผลในช่วงครึ่งหลังปี 2552 ที่ 0.50 บาท/หุ้น ได้ (หมายถึงอัตราผลตอบแทนที่ 4.1% สำหรับการถือหุ้น 5 เดือน)

นอกจากนี้ ยังมีกำไรที่แน่นอนชัดเจนต่อเนื่องไปยังช่วงครึ่งแรกปี 2553 ผลักดันโดยอัตรากำไรที่ขยายตัว เนื่องจากมีสต๊อกวัตถุดิบที่ถูก และกำไรของธุรกิจอาหารสัตว์และอาหารที่เติบโต

นอกจากธุรกิจอาหารสัตว์และเลี้ยงสัตว์ที่มีกำไรที่มีเสถียรภาพ และอัตรากำไรที่ดีแล้ว แนวโน้มการส่งออกกุ้งยังสดใส ผลักดันโดยการขาดแคลนอุปทานในจีน เนื่องจากอากาศหนาวกว่าปกติ ถึงแม้ว่าแนวโน้มกำไรในช่วงครึ่งหลังปี 2553 จะมีความไม่ชัดเจนในช่วงครึ่งแรกปี 2553 แต่ก็ยังคงไม่มีสัญญาณที่เป็นลบในสายตาของผู้บริหาร

เน้นธุรกิจอาหารสัตว์

CPF จะยังคงเน้นการเติบโตของธุรกิจอาหารสัตว์และอาหาร โดยมี เป้าหมายที่จะทำให้ธุรกิจอาหารสัตว์และธุรกิจอาหารมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 55% มาอยู่ที่ 75% ของยอดขายในช่วง 3-5 ปีข้างหน้าให้ได้

ปัจจัยที่ช่วยผลักดันธุรกิจอาหารสัตว์ คือ การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของส่วนแบ่งรายได้จากต่างประเทศ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ อินเดีย และรัสเซีย

ขณะที่ความมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของแบรนด์ CP และการเป็นศูนย์การกระจายสินค้าไปทั่วประเทศของกลุ่ม CP จะช่วยให้ CPF แทรกซึมเข้าไปยังตลาดอาหารนำกลับบ้านได้ CPF เชื่อว่านวัตกรรมอาหารเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจอาหารประสบความสำเร็จ และบริษัทได้ตั้งเป้าการอัตราเติบโตของยอดขายอาหารไว้ที่ 20-30% ต่อปี

นอกจากนี้ บริษัทกำลังพิจารณาการขายธุรกิจเลี้ยงสัตว์ที่มีความผันผวนออกไป ไก่ ซึ่งมีความผันผวนมากที่สุดน่าจะเป็นสิ่งแรกที่ CPF ตั้งใจจะขายออกไป สำหรับหมูและกุ้ง ซึ่งมีการทำวิจัยและพัฒนา น่าจะช่วยให้ CPF สามารถเพิ่มผลผลิตที่เร็วขึ้นกว่าเดิมได้ ดังนั้นการมีอัตรากำไรที่สูงขึ้น น่าจะทำให้หมูและกุ้งเป็นสิ่งสุดท้ายที่ CPF จะขายออกไป
โครงสร้างธุรกิจ

บริษัทย่อยของ CPF กำลังมองหาโอกาสในการเพิ่มผู้ถือหุ้นในบริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL) จาก 24% มาอยู่เหนือระดับ 25% เพื่อได้รับประโยชน์ทางภาษี

TUF : คาดผลประกอบการปี 2553 สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

บล.ทิสโก้ คาดว่า TUF จะรายงานผลประกอบการที่สร้างสถิติสูงสุดใหม่ 3,650 ล้านบาท ในปี 2553 (บวก 16% จากปี 2552) หลังจากประมาณการอัตราการเติบโตผลประกอบการ 43% สำหรับปีที่ผ่านมา ปัจจัยหนุนมาจากอิงจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการปิดโรงงานใน Samoa ที่ลดลงอย่างมาก การประหยัดต้นทุนสำหรับ CoS อัตรากำไรที่อยู่ในระดับสูงและสัดส่วนเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-Added) น่าจะกระตุ้นผลประกอบการ นอกจากนี้บริษัทยังได้รับแรงหนุนจากราคาปลาทูน่าที่ผันผวนน้อยลง

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ประเมินราคาสินค้าเกษตรโดยรวม โดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน เช่น น้ำตาล ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม รวมถึงยางพารา มีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นในปี 2553 เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2550-2551 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น และความต้องการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อใช้เป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ที่มากขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ที่จะส่งผลกระทบต่อการผลิตของสินค้าเกษตรให้ลดลง

พืชผลทางการเกษตร : แม้ SCRI จะประเมินว่าราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่จะปรับตัวสูงขึ้นในปี 2553 ก็ตาม แต่ด้วยปัจจัยพื้นฐานด้านความต้องการซื้อและความต้องการขายที่แตกต่างกัน จะทำให้การปรับตัวขึ้นของราคาพืชผลทางการเกษตรแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันไป ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดพบว่าพืชผลทางการเกษตรที่มีแนวโน้มอุปทานตึงตัวมาก ที่สุด (เรียงตามลำดับ) ได้แก่ น้ำตาล ข้าว และยางพารา

ดังนั้น ราคาสินค้าเหล่านี้มีแนวโน้มจึงมากกว่าตลาด ครึ่งแรกปีนี้ส่วนพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ เช่น ถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มดิบ มีปริมาณความต้องการซื้อ-ความต้องการขายค่อนข้างสมดุล ทำให้แนวโน้มราคาจะปรับตัวตามราคาน้ำมันดิบเป็นหลัก

ธุรกิจเนื้อสัตว์ : ในส่วนของธุรกิจเนื้อสัตว์ คาดอุปสงค์-อุปทานจะเริ่มสมดุล แต่ราคามีแนวโน้มปรับขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งอัตรากำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการมีแนวโน้มลดลงในปี 2553

อาหารทะเลและสัตว์น้ำ : คาดอุปสงค์ในปี 2552 เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่ราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบของผู้ประกอบการ

สถาบันวิจัยนครหลวงไทยแนะนำหุ้นของกลุ่มเกษตรและอาหาร ได้แก่ TUF (แนะนำ “ซื้อ” มูลค่าเหมาะสม 40 บาท) เนื่องจาก แนวโน้มผลการดำเนินงานที่เติบโต จากการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และราคาหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าเหมาะสม 19.4%
posttoday

*********
05/01/52
อินโดฯ ตั้งเป้าผลิตข้าวปี 53 ที่ 66.8 ล้านตัน

รัฐบาลอินโดนีเซียประเมินว่า ปริมาณการผลิตข้าวในประเทศปีนี้จะอยู่ที่ 66.8 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่ายอดการผลิตปี 2552 อยู่ 4.45% โดยการผลิตข้าวปีที่แล้วของอินโดนีเซียอยู่ที่ 63.84 ล้านตัน

ฮัตตา ราดจาซา รัฐมนตรีฝ่ายประสานงานเศรษฐกิจอินโดนีเซีย กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดส่งปุ๋ย 4.615 ตันแก่เกษตรกร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 84% ของเป้าหมายเบื้องต้นที่ได้กำหนดไว้

ทางด้านมุสตาฟา อาบูบาคาร์ รัฐมนตรีวิสาหกิจรัฐบาลกล่าวว่า อินโดนีเซียจะสามารถส่งออกข้าวได้ในปีหน้าถึง 1-2 ล้านตัน หากอินโดนีเซียสามารถบรรลุเป้าหมายในการผลิตข้าว
*********
30/12/52
อินโดฯ ยืนยันสำรองข้าวเพียงพอสำหรับ 6 เดือน

สำนักงานลอจิสติคส์ของอินโดนีเซียเผยสำรองข้าวของประเทศในช่วงสิ้นปี 2552 มีปริมาณที่เพียงพอตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งในช่วงสิ้นปีนี้ สำรองข้าวของอินโดนีเซียอยู่ที่ 1.7 ล้านตัน

อย่างไรก็ดี สำนักงานระบุว่า สำรองข้าวจำนวนมากนี้จะทำให้เกิดปัญหาใหม่ๆตามมา อาทิ คุณภาพของข้าวที่กักเก็บไว้ แม้ว่าสำรองข้าวจำนวนมหาศาลจะสามารถเติมเต็มคลังข้าวในหลายภูมิภาคได้ก็ตาม

ซูตาร์โต อาลีโมโซ ผู้อำนวยการของสำนักงานกล่าวว่า ยิ่งสำรองข้าวมีจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม การจัดส่งข้าวก็จะยิ่งใช้เวลามากขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน และมีความเป้นไปได้ที่จะมีการนำข้าวที่เหลืออยู่มาแปรรูปเพื่อการพาณิชย์ เช่น การผลิตแป้งสำหรับทำอาหารและแป้งสำหรับทำบะหมี่

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สำรองข้าวจำนวนมากนี้เป็นเพราะการผลิตที่สูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่นักวิเคราะห์จากสถาบันวิทยาศาสตร์อินโดนีเซีย (LIPI) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัวราว 5.9% ในปีหน้า มากกว่าที่รัฐบาลคาดว่าจะขยายตัวเพียง 5.5% โดยอากัส อีโค นูโกรโฮ นักวิเคราะห์จาก LIPI กล่าวว่า ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวอ้างอิงจากดีมานด์โลกที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงผลงานของรัฐบาลในการรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันเขาคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจทะยานแตะ 5.6% ในปีหน้า หรือมากกว่าที่รัฐบาลคาดไว้ว่าจะอยู่ที่ราว 5% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจกดดันให้ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ยแตะ 7% ในปีหน้า มากกว่าที่รัฐบาลคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยแตะ 6.5%

ภาคการส่งออกและนำเข้าคาดว่าจะขยายตัว 6.0% และ 7.1% ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าที่รัฐบาลคาดว่าจะขยายตัว 4.1% และ 6.9% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม นายอากัสกล่าวว่าอินโดนีเซียอาจเผชิญอุปสรรคหลายประการในปีหน้า อย่างจำนวนผู้ยากไร้ที่เพิ่มขึ้น
money news update
********
30/12/52
เกษตรขาขึ้นส่งออกสวย

นักวิเคราะห์ให้น้ำหนักการลงทุนระดับปกติหุ้นกลุ่มเกษตรเหตุปริมาณการส่งออกกุ้งไทยงวด 10 เดือนของปี 2552เพิ่มขึ้น 7.76%เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คาดการส่งออกกุ้งมีแนวโน้มดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกขณะที่ปัญหาค่าเงินบาทและการเปิดเสรีนำเข้าไม่น่าจะกระทบ ชี้ TUF เด่นสุดในกลุ่มราคาเหมาะสม 34.50 บาท ด้านผู้บริหาร ธีรพงศ์ จันศิริŽการันตรีผลประกอบการทั้งปีสูงสุดเป็นประวัติการณ์ขึ้นสู่ระดับ 3,000 ล้านบาทชัวร์
นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับการลงทุนหุ้นในกลุ่มธุรกิจการเกษตรให้คำแนะนำ: "ลงทุนปกติ" ระบุว่า กรมศุลกากรได้รายงานปริมาณการส่งออกกุ้งของไทยใน 10 เดือนแรกของปี 2552 ที่ 320,855 ตันเพิ่มขึ้น 7.76% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว จากปริมาณ 297,745 ตัน
ขณะที่มูลค่าการส่งออกกุ้งอยู่ที่ 77,132 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 12.24% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วจาก 68,719 ล้านบาททั้งนี้ตลาดส่งออกหลักคืออเมริกาซึ่งมีสัดส่วนการ ส่งออกราว 48% ของปริมาณการส่งออกของไทยพบว่ามีการส่งออกเพิ่มขึ้น 3% ขณะที่ เอเชียคิดเป็น 27% ของการส่งออกพบว่าปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 6% โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ส่วนสหภาพยุโรปพบว่าปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 33.3% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วซึ่งคิดเป็น 14% ของการส่งออก
นายกสมาคมกุ้งไทยคาดการส่งออกกุ้งจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยคาดปริมาณการส่งออกกุ้งในปี 2553 อยู่ที่ 380,000 ตันซึ่งคาดว่าจะใกล้เคียงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552 ขณะที่คาดว่าผลผลิตและราคาขายจะเพิ่มขึ้นราว 10% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ 2552
ขณะที่ยังมีความกังวลต่อปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย รวมถึงการเปิดเสรีการนำเข้า อาจทำให้กุ้งจากประเทศอื่นที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาในไทย โดยได้สอบถามข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตกุ้ง ในอุตสาหกรรมคาดว่าปริมาณการส่งออกกุ้งของไทยในปี 2553 จะยังขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจ และไม่คาดว่าปัญหาการลดค่าเงินของเวียดนามจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากกุ้งของไทยจะเน้นในกลุ่มสินค้ามูลค่าเพิ่มเป็นหลัก
โดยมีมุมมองที่ดีต่อการส่งออกกุ้งของไทยแม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวแต่ยังสามารถส่งออก ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลัก และคาดว่าการส่งออกกุ้งในปี 2553 ยังมีแนวโน้มที่ดีต่อได้ แนะนำ "ลงทุนปกติ" ในกลุ่มดังกล่าว จากปัจจัยรับอานิสงส์จากการส่งออกกุ้งที่มากขึ้นและยังคงให้น้ำหนักที่ TUF แนะนำ "ซื้อ" ราคาเหมาะสม 34.50 บาท ขณะที่ CPF และ CFRESH แนะนำเพียง "ถือ" ราคาเหมาะสม 11.30 บาท และ 3.94 บาท ตามลำดับ
ขณะที่ก่อนหน้านี้นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) TUF กล่าวว่า ปีนี้จะเป็นปีที่บริษัทสามารถทุบสถิติการทำกำไรสุทธิ และต้องจดบันทึกสถิติใหม่ว่า เป็นปีที่มีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมั่นใจกำไรสุทธิในปีนี้จะทะลุถึง 3,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน สถิติกำไรสุทธิสูงสุดของบริษัทที่ผ่านมาคือ ปี 2546 ที่มีกำไรสุทธิทั้งปีเท่ากับ 2,279 ล้านบาท
โดยผลการดำเนินงานไตรมาส3/2552 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,017.9 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ทำกำไรสุทธิเท่ากับ 911.9 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 1.15 บาท เพิ่มขึ้น12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่อยู่ระดับ 1.03 บาท
สำหรับการเคลื่อนไหวราคาหุ้น TUF ปิดที่ บาท เพิ่มขึ้น เปลี่ยนแปลง มูลค่าการซื้อขาย ล้านบาท
www.thunhoon.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น