วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ข่าวกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง,วัสดุและอสังหาริมทรัพย์53

14/01/53
ยอดโอนคอนโดฯ 11 เดือนปี 52 ทะลุ 4.7 หมื่นยูนิต
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ศูนย์ข้อมูลฯ เผยผลสำรวจยอดโอนกรรมสิทธิ์ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 5 จังหวัด รอบ 11 เดือนแรกของปี 52 รวม 1.38 แสนยูนิต คอนโดฯ ทะลุ 4.7 หมื่นหน่วย
เปิดเผยข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 5 จังหวัด ในรอบ 11 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ามีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท ทั้งที่อยู่อาศัย ที่ดินเปล่า และอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย รวมกันประมาณ 189,300 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาแบ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย รวมกันประมาณ 138,500 หน่วย โดยในจำนวนนี้ เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดคอนโดมิเนียมมากที่สุดประมาณ 47,400 หน่วย โดยแบ่งเป็นอาคารชุดที่โอนจากนิติบุคคล (คาดว่าเป็นอาคารชุดใหม่) 28,700 หน่วย และอาคารชุดที่โอนจากบุคคลธรรมดา (คาดว่าเป็นอาคารชุดมือสอง) 18,700 หน่วย รองลงมาเป็นทาวน์เฮาส์ 44,600 หน่วย และบ้านเดี่ยวประมาณ 28,600 หน่วย อาคารพาณิชย์ 13,500 หน่วย และบ้านแฝดประมาณ 4,100 หน่วย ส่วนอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยนั้น พบว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเปล่ามากถึง 43,800 แปลง

จังหวัดกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีสถิติจำนวนแปลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ของที่อยู่อาศัยมากที่สุด ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 60 ของที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด โดยเฉพาะห้องชุดคอนโดมิเนียม ซึ่งมีสถิติการโอนคิดเป็นถึงร้อยละ 78 ของจำนวนห้องชุดที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมดในกทม.และปริมณฑล และมีพื้นที่ของห้องชุดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์คิดเป็นร้อยละ 82

มูลค่าการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท ทั้งที่อยู่อาศัย ที่ดินเปล่า และอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย รวมกันประมาณ 478,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากช่วงเวลาเดียวกัน

อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์รวมกันประมาณ 288,500 ล้านบาท โดยกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีมูลค่าการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยสูงที่สุด ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 69 ของที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด เป็นมูลค่าการโอนบ้านเดี่ยวสูงที่สุดประมาณ 97,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34 ของที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธ์ทั้งหมด รองลงมาเป็นมูลค่าการโอนห้องชุด ประมาณ 87,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30 ของที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธ์ทั้งหมด ทาวน์เฮาส์มีมูลค่าประมาณ 58,400 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธ์ทั้งหมด

สำหรับห้องชุดคอนโดมิเนียมที่มีการโอนกรรมสิทธิ์จากนิติบุคคล คาดว่าเป็นคอนโดมิเนียมใหม่จำนวน 28,700 หน่วยนั้น มีมูลค่าการโอนรวมกันประมาณ 68,700 ล้านบาท ดังนั้น คิดเป็นราคาเฉลี่ยต่อหน่วย 2.39 ล้านบาท ในเชิงเปรียบเทียบกัน จำนวนห้องชุดคอนโดมิเนียมที่มีการโอนกรรมสิทธิ์จากบุคคลธรรมดา ซึ่งคาดว่าเป็นคอนโดมิเนียมมือสองจำนวน 16,800 หน่วยนั้น มีมูลค่าการโอน 18,300 ล้านบาท หรือประมาณ 983,000 บาทต่อหน่วย

สำหรับอสังหาริมทรัพย์อื่นที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยนั้น มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์รวมกันประมาณ 189,500 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าการโอนที่ดินเปล่ามากถึง 140,700 ล้านบาท
krunthepturakij
*********
14/01/53
สมาคมรับสร้างบ้านตั้งเป้าปี53แตะ1.2หมื่นล้าน
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สมาคมฯรับสร้างบ้านเปิดแนวรุกปี 53 ตั้งเป้ากระตุ้นตลาดโต 10% ประเดิมไตรมาสแรกจัดงาน Home Builder Focus 2010 ตั้งเป้ายอดขาย 500 ล้านบาท
นายวิบูล จันทรดิลกรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า ปี 2553 สมาคมฯ ได้วางนโยบายครอบคลุม 4 เรี่องหลักๆ ประกอบไปด้วย ด้านการสร้างมูลค่าตลาดรวมธุรกิจรับสร้างบ้าน นโยบาย ด้านผู้บริโภค นโยบายด้านสมาชิก และ นโยบายด้านความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจต่อสังคม (CSR : Corporate Social Responsibility)

สำหรับเป้าหมายในส่วนของการเติบโตของมูลค่าตลาดรวมธุรกิจรับสร้างบ้านคาดว่าจะสามารถแตะระดับ 12,000 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 9-10% ในปี 2553 จากมูลค่าตลาดรวมในปี 2552 ที่ประมาณ 11,000 ล้านบาท

โดยมูลค่าตลาดรวมที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ ประการแรก การเติบโตของตลาดรับสร้างบ้านที่เพิ่มขึ้นผ่านการทำกิจกรรม และประชาสัมพันธ์ของสมาคมฯ ซึ่งส่งผลให้ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมตัวกันจัดงานรับสร้างบ้าน และ งาน Home Builder Focus ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคได้รู้จักกับบริษัทรับสร้างบ้านมากยิ่งขึ้น ประการที่สอง ราคาบ้านเฉลี่ยที่ผู้บริโภคนิยมซื้อที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นโดยเพิ่มจาก 4.2 ล้านบาทในปี 2551 มาเป็น 4.7 ล้านบาทในปี 2552 ขณะที่ในปี 2553 คาดว่าราคาเฉลี่ยของบ้านที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคก็น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

สำหรับนโยบายด้านผู้บริโภค โดยสมาคมฯ จะให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการร่วมร่างสัญญามาตรฐานเพื่อสร้างความเป็นธรรมและป้องกันการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคจากบริษัทรับสร้างบ้านที่ขาดจริยธรรม

นอกจากนี้ยังเน้นการสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมากับกลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยสมาคมฯมีแผนงานที่จะพัฒนาเว็บไซต์ www.hba-th.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของสมาคมฯ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น และยังมีแนวทางที่จะใช้เว็บไซต์เป็นที่เสาะหา และเก็บรวบรวมข้อมูลความต้องการของผู้บริโภคเพื่อที่จะนำมาพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการต่อไป

นายวิบูล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้สมาคมฯ จะเพิ่มจำนวนสมาชิกขึ้น เพื่อสร้างมาตรฐานของการให้บริการรับสร้างบ้าน ขณะเดียวกันจะให้การส่งเสริมกับสมาชิกที่สมัครใจจะพัฒนาองค์กรตามรูปแบบของระบบมาตรฐาน ISO รวมถึงการสนับสนุนให้สมาชิกมีการจดลิขสิทธิ์แบบบ้าน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาด้านการออกแบบให้มากขึ้น

ส่วนนโยบายที่เกี่ยวกับด้านการตอบแทนสู่สังคม หรือ CSR ปัจจุบันสมาคมฯ มีกิจกรรมหลัก 2 ส่วนคือ การให้การสนับสนุนกิจกรรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และการให้ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนในสาขา วิชาการก่อสร้างโดยเป็นโครงการร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคดอนเมืองซึ่งในปี 2553 ทั้งสองกิจกรรมก็จะยังคงดำเนินนโยบายต่อไป และจะเพิ่มกิจกรรมเพื่อสังคมอีกหนึ่งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดกิจกรรมดังกล่าว

สำหรับในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 สมาคมฯ จะเน้นในเรื่องของนโยบายการเร่งสร้างมูลค่าตลาดรวม และนโยบายในเชิงของผู้บริโภค ผ่านการจัดงาน Home Builder Focus 2010 ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว โดยภายในงานจะเป็นการรวมตัวของบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำ พร้อมด้วยสถาบันการเงินที่จะมาให้สินเชื่อในอัตราพิเศษ โดยสมาคมฯ คาดว่าภายในงานดังกล่าวจะสามารถสร้างยอดขายได้ประมาณ 500 ล้านบาท
krungthepturakij
************
08/01/53
INDUSTRY UPDATE
พัฒนาที่อยู่อาศัย (Housing) by asp
ขอต่ออายุมาตรการ ถึงสิ้นปี 2553 ... ถ้าสำเร็จ Profit Margin จะยังสูงต่อไป

** สมาคมอาคารชุดไทย เตรียมยื่นขอต่ออายุมาตรการถึงสิ้นปี 2553
** ปี 2553 ดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับขึ้น ขณะที่การแข่งขันเข้มข้น
** ผลประกอบการดี ราคาถูก AP, SC, และ SPALI ซื้อลงทุนระยะยาว
** สมาคมอาคารชุดไทย เตรียมยื่นขอต่ออายุมาตรการถึงสิ้นปี 2553
สมาคมอาคารชุดไทย เตรียมยื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อ
เสนอขอให้ต่ออายุมาตรการภาษีกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่จะหมดอายุใน
วันที่ 28 มีนาคม 2553 ซึ่งประกอบด้วยการลดภาษีธุรกิจเฉพาะจาก 3.3% เหลือ
0.1%, ค่าธรรมเนียมการโอนฯ และจดจำนองจาก 2% และ 1% เหลือ 0.01% โด
จะเสนอขอยื่ดอายุออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2553 ทั้งนี้ให้เหตุผลสนับสนุนว่า
หากไม่ต่ออายุมาตรการออกไป ราคาบ้านอาจปรับขึ้นไป 5-8% ซึ่งเป็นผลมาจาก
สิทธิประโยชน์จากมาตรการที่หายไปและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ในความเห็นของ
ฝ่ายวิจัย เห็นว่ามาตรการที่จะหมดอายุ 28 มีนาคม 2553 โดยหลักแล้วผู้ที่ได้รับ
ประโยชน์อย่างเต็มที่ได้แก่ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาษี
ธุรกิจเฉพาะ 3.3% ซึ่งโดยปกติเป็นภาระของฝ่ายผู้ประกอบการ ส่วนที่ผู้ซื้อได้รับ
ได้แก่ เรื่องของค่าธรรมเนียมการโอนฯ ซึ่งเป็นภาระของฝ่ายผู้ซื้อ และผู้ขายคนละ
ครึ่ง และค่าธรรมเยมจดจำนอง 1% ของเงินกู้ สำหรับในส่วนของการกระตุ้น
กำลังซื้อ หากพิจารณาจากยอดจดทะเบียนบ้านใหม่ในงวด 10M52 พบว่ามีการ
ขยายตัว 3.9% YoY ซึ่งหากเข้าไปดูในรายละเอียดพบว่าส่วนที่เติบโตสูงที่สุด
ได้แก่ คอนโดฯ เติบโต 31% ขณะที่บ้านเดี่ยวและทาวเฮ้าส์หดตัว 15% และ 8%
ตามลำดับ ซึ่งฝ่ายวิจัยเห็นว่าการที่ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อคอนโดฯ มาตรการกระตุ้น
เรื่องภาษีธุรกิจเฉพาะ และค่าธรรมเนียมต่างๆ มีผลไม่มากนัก อย่างไรก็ตามหาก
มีการต่ออายุมาตรการจริง ก็จะทำให้ Profit Margin ของผู้ประกอบการสูงกว่า
ประมาณการที่ฝ่ายวิจัยนำเสนอ เนื่องจากประมาณการดังกล่าวอยู่บน
สมมุติฐานว่าไม่มีการต่ออายุมาตรการ
** ปี 2553 ดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับขึ้น ขณะที่การแข่งขันเข้มข้น
ภาพรวมผลประกอบการปี 2553 ฝ่ายวิจัยประเมินว่าโดยภาพรวมยังมีแนวโน้ม
เติบโตต่อเนื่อง ทั้งนี้ประเมินจาก Backlog ของผู้ประกอบการที่ยังอยู่ในระดับสูง
(ดูกราฟด้านหลังประกอบ) แต่อย่างไรก็ตามการลงทุนในหุ้นอสังหาฯ ยังมีความ
เสี่ยงที่ต้องระวังอยู่ 2 ประการคือ การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากพบว่า
ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดย
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมตั้วเลขแผนเปิดตัวโครงการใหม่ของ
ผู้ประกอบการรายใหญ่ 8 แห่ง พบว่าจะมีมูลค่าโครงการสูงถึง 1.27 แสนล้าน
บาท และจากข้อมูลในงบการเงินของ 29 บริษัทในกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยพบว่ามี
รายการสินค้าคงเหลือสูงถึง 1.56 แสนล้านบาท (เป็นตัวเลขรวมทั้งที่ขายแล้วรอ
โอนฯ และยังไม่ขาย) ปัจจัยเสียงอีกประเด็นสำหรับราคาหุ้นอสังหาฯ ได้แก่
ทิศทางอัตราดอกเบี่ยที่ปรับขึ้น เพราะถึงแม้กระทบต่อกำลัง.ซื้อไม่มาก แต่น่าจะ
กระทบต่อ Sentiment ราคาหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ
**ผลประกอบการดีราคาถูก AP, SC และ SPALI ซื้อลงทุนระยะยาว
หุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย ราคาหุ้นมีการปรับตัวขึ้นไปมากแล้วจน
แทบไม่เหลือ Upside จาก Fair Value ฝ่ายวิจัยจึงแนะนำให้สลับมาลงทุนในหุ้น
ขนาดกลาง-เล็ก ซึ่งมีหลายตัวที่ราคายังต่ำ และมีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ซึ่ง
Top Pick ได้แก่ AP (FV @B7.59), SC (FV@B 14.78) และ SPALI (FV@B8.87)
asp view
**********
06/01/52
8 บิ๊กอสังหาฯ โหมลงทุนปีนี้รวมกว่า 1.27 แสนล.
บิ๊กอสังหาฯ โหมลงทุนใหม่ต่อปีเสือ พบ 8 รายใหญ่กระหน่ำผุดโปรเจครวมมูลค่ากว่า 1.27 แสนล้านบาทรับกำลังซื้อกับมารอบใหม่
ผู้ประกอบการรายใหญ่หวังกินรวบทุกระดับราคา-สินค้า เพิ่มสัดส่วนเก็บลูกค้า ควบแผนขยายการลงทุนสู่ต่างจังหวัด ตลาดคอนโดฯยังเฟื่องส่งผลกลุ่มทุนจากอุตสาหกรรมอื่นๆต่อยอดกำไรธุรกิจด้วยการโยกเงินลงอสังหาฯ

"กรุงเทพธุรกิจ" สำรวจและสอบถามแผนการลงทุนของผู้ประกอบอสังหาริมทรัพย์ในปี 2553 "ปีเสือ" เฉพาะรายใหญ่ 8 รายที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย พฤกษาฯ, ศุภาลัย ,แอล.พี.เอ็นฯ ,แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, เอเซี่ยน พร้อพเพอร์ตี้ (เอพี), เอสซี แอสเสท และควอลิตี้ เฮ้าส์ พบแต่ละรายเตรียมพร้อมที่จะเปิดตัวโครงการใหม่รวมมูลค่าไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาทด้วยเพราะหวังรับกำลังซื้อที่คาดว่าจะกลับมาคึกคัก

โดยสินค้าที่เปิดขายใหม่จะมีทุกประเภท ทั้งคอนโด บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด หลายรายเริ่มคิดที่จะขยายฐานตลาดสู่ต่างจังหวัดจากที่ไม่เคยลงทุนผ่านการลงทุนโดยตรงหรือผ่านบริษัทในเครือ ด้วยเพราะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ขยายฐานลูกค้า หลังจากที่แนวโน้มตลาดในกรุงเทพฯ มีขนาดเล็กลง โดยบริษัท แอลพีเอ็น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งเป้ายอดรายได้ปี 2553 ไว้ 1 หมื่นล้านบาท เตรียมเปิดโครงการใหม่ประมาณ 10 โครงการรวมมูลค่าโครงการร่วม 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันก็ขยายฐานการลงทุนสู่ต่างจังหวัดครั้งแรกปักหลักที่จ.ชลบุรี ด้วยการรขึ้นคอนโดมิเนียมตากอากาศย่านพัทยาเหนือ

ส่วนบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งเป้ายอดขายทั้งปีไว้ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่รายได้ทั้งปีตั้งไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท มีแผนเปิดโครงการใหม่กว่า 10 โครงการรวมมูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยต่างจังหวัดนั้นได้ขยายสู่จ.เชียงใหม่ เป็นครั้งแรกโดยได้ซื้อที่ดิน 60 ไร่ ทำโครงการบ้านจัดสรร 300 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท เนื่องจากมองว่าเป็นทำเลที่มีศักยภาพ มีความสมบูรณ์ มีดีมานด์ขนาดใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดต่างจังหวัดที่ศุภาลัยเคยลงทุนมาแล้ว เช่น ขอนแก่น ภูเก็ต และหาดใหญ่ แม้จะเป็นผู้เล่นรายใหม่ในทำเล แต่ความแข็งแกร่งของแบรนด์น่าจะได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

ขณะที่ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าโครงการใหม่ 48 -50โครงการ มูลค่ากว่า3 หมื่นฃ้านบาท กระจายทั้งกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ต่างจังหวัด และ ต่างประเทศ ด้านบริษัทเอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ฯเปิดตัวโครงการใหม่ 20 โครงการวมมูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันมีที่ดินที่พร้อมทยอยเปิดตัวแล้วรวมมูลค่าเกือบ 1.6 หมื่นล้านบาท เป็นบ้านเดี่ยว 6 โครงการ,ทาวน์เฮ้าส์ 4 โครงการและคอนโดอีก 1 โครงการแต่คาดว่าทั้งปีน่าจะเปิดคอนโดใหม่ได้รวม 4 โครงการ

บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) จะเปิด 13 โครงการ มูลค่า 1.56 หมื่นล้านบาท ด้านบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เตรียมเปิดโครงการ 10 โครงการ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท และบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ลงทุน 12-13 โครงการ มูลค่า 9 พันล้านบาทถึง 1 หมื่นล้านบาท ฯลฯ

โฟกัสทุกตลาดเสริมรายได้-กระจายเสี่ยง

หากพิจารณาถึงความเคลื่อนไหวในการเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2553 เป็นการตอกย้ำว่าตลาดเป็นของผู้เล่นรายใหญ่จริงๆ กล่าวคือ ทุกรายหันลงมาเล่นตลาดทุกระดับราคา มีการขึ้นโครงการทั้งแนวสูง แนวราบ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มแอล.พี.เอ็น.ฯ เดิมเน้นตลาดคอนโดมิเนียม แต่ปีนี้ก็ขยายฐานสู่ตลาดแนวราบผ่านบริษัทในเครือ คือ บริษัท พรสันติ จำกัด ส่วนเอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ปีนี้ปรับแผนหันมาให้น้ำหนักกับโครงการแนวราบ เพราะในช่วงปี 2552 ได้ลุยโครงการแนวสูงไว้ค่อนข้างมาก

ขณะที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เห็นสัดส่วนตลาดที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ประกอบกับเพื่อเพิ่มโอกาสในธุรกิจ ก็จะหันมาพัฒนาโครงการแนวสูงเพิ่มขึ้น เพื่อเสริมที่อยู่อาศัยแนวราบ โดยแลนด์ฯ มีแผนเปิดตัวคอนโดใหม่อีก 4-5 โครงการ

นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวให้ความคิดเห็นว่า โดยส่วนตัวไม่กังวลปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม เพราะหากพิจารณาถึงอัตราการเข้าพักอาศัยจากโครงการที่บริษัทเปิดขายและส่งมอบห้องชุดให้ลูกค้ามีการเข้าอยู่อาศัยกว่า 80-90% ทุกโครงการ

แต่ทั้งนี้ การลงทุนในโครงการใหม่ๆ นั้นผู้ประกอบการจะต้องมีความระมัดระวัง และต้องศึกษาตลาดให้ดี โครงการที่จะเกิดใหม่ในปี 2553-2554 หากผู้ประกอบการไม่คาดการณ์ตลาดให้ดีก็อาจจะเกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายได้อนาคต เพราะกว่าโครงการจะสร้างเสร็จและส่งมอบก็ใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการ

ส่วนการแข่งขันของตลาดคอนโดฯ น่าจะรุนแรง แต่ก็ขึ้นกับทำเล และยังมั่นใจในทำเลสุขุมวิทยังไปได้ดี แต่จะแข่งกันหนักเรื่องการซื้อที่ดิน

นายอนุพงษ์ กล่าวอีกว่า แม้ตลาดอสังหาฯ จะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่วงการแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะจะถูกสกัดโดยสถาบันการเงิน ทำให้โอกาสเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่

ข้อมูลเพิ่มเติม

ประมาณการแผนลงทุน 8 บิ๊กอสังหาฯ ในปี 2553 รวมมูลค่ากว่า 1 แสนล.

@ บมจ.แอลพีเอ็น เปิดใหม่ 10 โครงการ มูลค่า 1.5 หมื่นล.

@ บมจ.ศุภาลัย เปิดใหม่กว่า 10 มูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล.

@ บมจ.พฤกษาฯเปิดใหม่กว่า 48 -50โครงการ มูลค่ากว่า3 หมื่นล.

@ บมจ.เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ฯเปิดใหม่ 20 โครงการวมมูลค่าเกือบ 2 หมื่นล.

@ บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ เปิดใหม่ 13 โครงการ มูลค่า 1.56 หมื่นล.

@ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค เปิดใหม่ 10 โครงการ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท

@ บมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เปิดใหม่ 14 โครงการมูลค่ากว่า 1หมื่นล.

@ บมจ.เอสซี แอสเสทฯ เปิดใหม่ 12-13 โครงการ มูลค่าเกือบ 1 หมื่นล.
krungthepturakij**********
04/01/53
ตลาดคอนโดฯแสนยูนิตแข่งดุปีเสือ ยักษ์อสังหาฯ-ทุนใหม่-ต่างชาติสั่งลุย เชื่อดีมานด์สูงยันไม่เกิดฟองสบู่

คอนโดฯฮอตข้ามปี เผยดีมานด์ในตลาดยังมีสูงต่อเนื่องตลอดปีเสือ ยักษ์อสังหาฯ-ทุนหน้าใหม่-ต่างชาติ แห่ลงทุนผุดโปรเจ็กต์ใหม่เพิ่ม ส่งผลซัพพลายทะลัก ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯระบุมียอดสะสมกว่า 1 แสนยูนิต สั่งจับตากลุ่มซื้อเพื่อลงทุน-พวกเก็งกำไร หวั่นจุดชนวนห้องชุด ล้นตลาด ด้านบิ๊กแบรนด์ "เอเชี่ยนพร็อพเพอร์ตี้-พฤกษา เรียลเอสเตท-แอล.พี.เอ็น.ฯ" ยอมรับปี"53 แข่งเดือด เพราะต้องวัดดวงเศรษฐกิจ-กำลังซื้อโตตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ ประสานเสียงการันตีไม่เกิดปัญหาฟองสบู่แน่

หลายปีติดต่อกันที่คอนโดฯกลายเป็นที่อยู่อาศัยยอดฮิตเพราะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้ได้ดีกว่าที่อยู่อาศัยประเภทอื่น ๆ ทั้งแง่การใช้ชีวิตประจำวัน หรือไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่ส่วนใหญ่ เป็นคนรุ่นใหม่ ระดับราคาขายที่ไม่สูงเกินไป ตลอดจนทำเลที่ตั้งโครงการที่อยู่ในเมืองหรือแนวรถไฟฟ้า สะดวกสบายในการเดินทาง ห้องชุดในโครงการคอนโดฯจึงเป็น ทางเลือกใหม่ของการอยู่อาศัย และดูเหมือนจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ

ส่งผลให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะบริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลุ่มทุนใหญ่จากธุรกิจอื่นที่ขยายไลน์มาสู่อสังหาฯ รวมทั้งกลุ่มทุนต่างชาติที่จับมือเป็นพันธมิตรกับทุนไทย ต่างหันมารุกลงทุนคอนโดฯกันอย่างคึกคัก

จนทำให้หลายฝ่ายเริ่มเป็นห่วงว่า การแห่ลงทุนพัฒนาคอนโดฯพร้อม ๆ กันจำนวนมากอาจส่งผลให้เกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายตามมา สะท้อนได้จากพฤติกรรมการซื้อห้องชุดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่นอกจากจะซื้อเพื่อการอยู่อาศัยและลงทุนด้วยการถือครองระยะยาวแทนการฝากเงินกับสถาบันการเงินที่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำ หรือเพื่อปล่อยเช่าแล้ว นับวันกลุ่มที่ซื้อเพื่อเก็งกำไรก็ยิ่งมีเพิ่มขึ้น

ซัพพลายพุ่ง 1.07 แสนยูนิต

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยผลสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพ มหานคร (กทม.) และปริมณฑลช่วงครึ่งหลังปี 2552 ว่า ณ กลางเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมามีคอนโดฯเปิดตัวใหม่ 46 โครงการ รวม 14,806 ยูนิต ในจำนวนนี้เป็นโครงการของบริษัทพัฒนาที่ดินในตลาดหลักทรัพย์ฯ 27 โครงการ บริษัทนอกตลาด 19 โครงการ แยกเป็นจำนวนหน่วยของบริษัทพัฒนา ที่ดินในตลาดหลักทรัพย์ฯ 5,687 ยูนิต หรือ 38% บริษัทนอกตลาด 9,119 ยูนิต หรือ 62% โดยผู้ประกอบการที่มีจำนวนหน่วยเปิดขายใหม่มากสุด 5 อันดับ คือ แอล.พี.เอ็น.ฯ 2 โครงการ 3,720 ยูนิต เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ 4 โครงการ 1,530 ยูนิต ศุภาลัย 2 โครงการ 1,370 ยูนิต นารายณ์พร็อพเพอร์ตี้ 2 โครงการ 1,050 ยูนิต พฤกษาเรียลเอสเตท 3 โครงการ 785 ยูนิต

กลุ่มทุนใหม่-ต่างชาติแจมตลาด

ไม่รวมโครงการใหม่ที่พัฒนาโดยกลุ่มทุนใหญ่และตระกูลดังทั้งที่อยู่ในวงการอสังหาฯและธุรกิจอื่น อาทิ VOQUE Condominium ของบริษัท เคพีแอสเซ็ท จำกัด ซึ่งเปิดตัวช่วงต้นเดือนธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา เดอะ โคสท์ แบงคอก คอนโดมิเนียม ของบริษัท บีเคเค แกรนด์ เอสเตท ในกลุ่มบีเคเคกรุ๊ปของตระกูล ลิขิตพฤกษ์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เบนซ์ นิสสัน และไครสเลอร์ ตรงข้ามไบเทค บางนา โครงการมหานคร โครงการร่วม ทุนระหว่างบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ของตระกูลเตชะไกรศรี กับบริษัท อินดัสเทรียล บิลดิ้งส์ คอร์ปอเรชั่น (ไอบีซี) จำกัด (มหาชน) บริษัทพัฒนาอสังหาฯที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อิสราเอล ในเครือฟิช แมน กรุ๊ป ที่จะพัฒนาแบบมิกซ์ยูส ประกอบด้วยพื้นที่ส่วนโรงแรมบูติคหรู คอนโดฯระดับลักเซอรี่ ราคาเริ่มต้น 30 ล้านบาท/ยูนิต และศูนย์การค้าแบบไลฟ์สไตล์ มูลค่าโครงการรวม 1.8 หมื่นล้านบาท

แย่งเค้กแนวรถไฟฟ้า-แอร์พอร์ตลิงก์

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯระบุว่า พิจารณาเป็นรายทำเลพบว่า รัชดาฯ-ลาดพร้าว มี คอนโดฯเปิดขายใหม่ครึ่งหลังปี 2552 สูงสุด 4,541 ยูนิต บางพลัด-ตลิ่งชัน 2,862 ยูนิต เพลินจิต-พญาไท 1,938 ยูนิต สุขุมวิทตอนปลาย 1,430 ยูนิต คลองสาน 1,024 ยูนิต สุขุมวิทตอนต้น 919 ยูนิต และสีลม-สาทร 849 ยูนิต ฯลฯ

เทียบกับ ณ ครึ่งแรกปี 2552 มีคอนโดฯสะสมอยู่ในตลาดทั้งหมด 248 โครงการ 107,749 ยูนิต แยกเป็น กทม. 81,770 ยูนิต นนทบุรี 19,713 ยูนิต สมุทรปราการ 2,165 ยูนิต และนครปฐม 1,056 ยูนิต ไม่รวมคอนโดฯบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ (กคช.)

โดยการพัฒนาส่วนใหญ่จะเน้นเกาะแนวรถไฟฟ้าหรืออยู่ใกล้เส้นทางรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและบนดิน อาทิ แนวรถไฟฟ้าใต้ดินย่านรัชดาภิเษก อโศก เพชรบุรี ลาดพร้าว ฯลฯ แนวรถไฟฟ้าบีทีเอส เช่น สุขุมวิท สาทร เพลินจิต สีลม พหลโยธิน รวมทั้งทำเลตากสิน บางนา สำโรง ซึ่งเป็นทำเลส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่น่าจับตามองอีกทำเลหนึ่ง คือ ทำเลแนว รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์

เก็งกำไรห้องชุด 1-2 ล้าน 20%

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า จากกระแสบูมอย่างต่อเนื่องของตลาด คอนโดฯ ก่อนหน้านี้นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ได้แสดงความเป็นห่วงว่า การที่ผู้ประกอบการแห่เข้ามาลงทุนจำนวนมากอาจจะทำให้เกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายได้ ขณะเดียวกันจากการสำรวจพบว่าหลังเศรษฐกิจและการเมืองคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น กลุ่มผู้มีเงินเย็นและนักลงทุนหันมาซื้อคอนโดฯระดับราคา 1-2 ล้านบาท เพื่อลงทุนในระยะยาวหรือปล่อยเช่ามากขึ้น โดยพบว่ามีถึง 10-20% ของห้องชุดที่ขายออกไปทั้งหมด เนื่องจากกลุ่มนี้จะเป็นคู่แข่งของตลาดอพาร์ตเมนต์ให้เช่าโดยตรง เพราะจากการสำรวจพบว่าปัจจุบันมีห้องเช่าใน อพาร์ตเมนต์ไม่น้อยกว่า 7 แสนยูนิต

จดทะเบียนแซงบ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮาส์

ขณะเดียวกันนายสัมมาได้รายงานสถิติยอดจดทะเบียนโอนที่อยู่อาศัยช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2552 โดยระบุว่า มียอดโอนอสังหาฯทุกประเภทรวมกัน 146,300 ยูนิต ในจำนวนนี้เป็นที่อยู่อาศัยใหม่และมือสอง 107,600 ยูนิต แบ่งเป็นคอนโดฯ 38,200 ยูนิต หรือ 36% รองลงไปเป็นทาวน์เฮาส์ 32,900 ยูนิต หรือ 31% บ้านเดี่ยว 22,600 ยูนิต หรือ 21% อาคารพาณิชย์ 10,400 ยูนิต หรือ 10% ที่เหลือเป็นประเภทอื่น ๆ

ส่วนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ใน กทม.และ 5 จังหวัดปริมณฑลช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2552 มีทั้งสิ้น 64,300 ยูนิต เป็นห้องชุดในคอนโดฯ 32,800 ยูนิต หรือ 51% (รวมบ้านเอื้ออาทร 12,000 ยูนิต) ที่อยู่อาศัยแนวราบ 31,500 ยูนิต ถือเป็นปีแรกที่จำนวนหน่วยห้องชุดสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่มีมากกว่าที่อยู่อาศัยแนวราบสร้างเสร็จจดทะเบียน

ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาฯระบุว่า ในส่วนของที่อยู่อาศัยแนวราบสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่แบ่งเป็นบ้านเดี่ยว 22,300 ยูนิต หรือ 34.6% ของหน่วยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ทั้งหมด ทาวน์เฮาส์ 6,000 ยูนิต หรือ 9.3% อาคารพาณิชย์ 2,200 ยูนิต หรือ 3.4% และบ้านแฝด 1,000 ยูนิต หรือ 1.5% สำหรับยอดที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนทั้งปี 2552 ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯประมาณการไว้ที่ 85,000 ยูนิต เทียบกับ ปี 2551 จำนวน 83,000 ยูนิต สรุปแล้ว คอนโดฯยังได้รับความนิยมจากผู้ซื้อมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงแห่เข้ามาลงทุนจนหลายฝ่ายเริ่มเป็นห่วง แม้เวลานี้การดูดซับของกำลังซื้อในตลาดคอนโดฯยังอยู่ในระดับที่ดี ยกเว้นบางทำเลที่ยอดขายอาจจะอืดบ้างแต่ยังห่างไกลคำว่าฟองสบู่อสังหาฯ

บิ๊กอสังหาฯยันไม่โอเวอร์ซัพพลาย

ขณะที่ในมุมมองของผู้ประกอบการอสังหาฯ โดยเฉพาะบิ๊กแบรนด์ในตลาดหลักทรัพย์ฯต่างมั่นใจว่า ปี 2553 ยังเป็นปีที่ตลาดคอนโดฯมาแรง และแม้จะมีผู้เล่นเข้ามาแจมเค้กมากขึ้นก็มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายซ้ำรอยวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 แน่ สาเหตุเพราะดีเวลอปเปอร์ทุกบริษัทต่างระมัดระวังในการลงทุน ที่สำคัญปัจจุบันสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัท อสังหาฯในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ต่ำ

นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ ยอมรับว่า ปี 2553 ผู้ประกอบการจะเปิดตัวโครงการใหม่เยอะมาก เพราะมองว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น และจีดีพีจะเติบโตที่ 3-4% ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้นด้วย

"เปิดตัวกันมากขนาดนี้ ความเสี่ยงอยู่ตรงไหน ผมมองว่า ถ้าตลาดไม่โตเท่าที่คาดการณ์ไว้ การแข่งขันก็จะหนักกว่าปี 2552 เยอะมาก แต่คงไม่เลวร้ายเหมือนปี 2540 เพราะแม้จะมีโครงการออกมาเยอะแต่จำนวนที่สร้างจะออกมาไม่เยอะ จะมีการพัฒนาเป็นเฟส ๆ"

เช่นเดียวกับความเห็นของนายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.พฤกษาเรียล เอสเตท และนายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ มองว่าปี 2553 ตลาดคอนโดฯจะแข่งขันกันรุนแรงขึ้น โดยผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องสร้างจุดขายให้แตกต่าง และลอนช์โปรดักต์ให้ตรงความต้องการของผู้บริโภค ที่สำคัญภายใต้สถานการณ์ตลาดปัจจุบันไม่ห่วงว่าโอเวอร์ซัพพลายจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะตลาดคอนโดฯ เพราะพฤติกรรมการอยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไป ปี 2553 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่คอนโดฯยังได้รับความนิยม
prachachat
**********
04/01/53
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ปี 2553 รุ่ง หรือ ร่วง

โดย บรรยง วิเศษมงลชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด

หากมีคนถามว่าปี 2553 ที่จะถึงนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยจะดีกว่าปี 2552 หรือไม่ ถ้าให้ตอบตามความรู้สึกของคนทั่ว ๆ ไป ก็อาจบอกได้ว่าไม่ค่อยดีเท่าที่ควร แต่ก็ไม่มีใครฟันธงได้ว่าที่ไม่ดีนั้นเพราะอะไร เพื่อให้การตอบคำถามนี้มีเหตุผลยิ่งขึ้น เราลองมาดูปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์กันดีกว่า

ปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์

รายละเอียด
2551
2552
2553

(ประมาณการ)

ปัจจัยภายใน

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (ร้อยละต่อปี)
ปริมาณการส่งออกและบริการ (ร้อยละต่อปี)
เงินเฟ้อทั่วไป (ร้อยละต่อปี)
การว่างงาน (ร้อยละของกำลังแรงงานรวม)
อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ณ สิ้นปี)
การลงทุนภาคเอกชน (ร้อยละต่อปี)
การลงทุนภาครัฐ (ร้อยละต่อปี)


2.6

5.4

5.5

1.4

2.75

3.2

-4.8


-3.0

-14.8

-0.8

1.8

1.25

-13.7

5.3


3.3-3.5

5.6

2.5

1.3

1.5

6.6

8.2

ปัจจัยภายนอก

การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (ร้อยละต่อปี)
การขยายตัวของเศรษฐกิจอเมริกา (ร้อยละต่อปี)
ราคาน้ำมัน (ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล)


2.7

0.4

95.0


-1.5

-3.2

61.2


2.8

1.0

80.0


หมายเหตุ : เศรษฐกิจโลก หมายถึง เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ สหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, จีน, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฮ่องกง, ทวีปออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์, อินเดีย และไต้หวัน


ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก พอสรุปได้ ดังนี้

คาดการณ์ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2553 จะดีกว่าปี 2552 ค่อนข้างชัดเจน
การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนปี 2553 ดีขึ้นกว่าปี 2552 ค่อนข้างมากเช่นกัน อีกทั้งการส่งออกก็มีแนวโน้มที่ดีกว่าปี 2552
อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 1.50% เท่านั้น และยังคงอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งเพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้
เศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นตัว แม้จะมีปัจจัยลบในเรื่องของราคาน้ำมัน ที่มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นถึง 80 เหรียญต่อบาร์เรลในปี 2553 แต่ก็เป็นไปตามการคาดการณ์ของประเทศต่าง ๆ อยู่แล้ว

ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 2553 จึงมีทิศทางที่ดีกว่าปี 2552 ด้วยเหตุผลว่ามีปัจจัยบวกหลาย ๆ ปัจจัย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเริ่มต้นของปีที่ผ่านมาแล้ว นับว่าปี 2553 ดีกว่ากันมาก อีกทั้งโดยพื้นฐานของสังคมชาวเอเชียยังถือว่า การมี “ที่อยู่อาศัย” เป็นหนึ่งในปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ รวมทั้งยังบ่งบอกถึงความสำเร็จและความภาคภูมิใจในชีวิต ทุกคนจึงต้องการมีบ้านเป็นของตนเอง และไม่น่าแปลกใจเลยว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเอเชียจะ “บูม” มากกว่าตลาดอื่น ๆ


จากเหตุผลทั้งหมดคงพอจะฟันธงได้ว่า ปี 2553 ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยดีกว่าปี 2552 อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามยังประมาทไม่ได้!! เพราะสิ่งที่ไม่คาดคิดอาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ อีกทั้ง ตามข้อมูลที่ได้รับ พบว่าการซื้อ-ขายคอนโดมิเนียมในปัจจุบันก็เริ่มที่จะมีการเก็งกำไรกันบ้างแล้ว แม้จะไม่มากมายนัก ซึ่งก็หวังว่า วงการอสังหาริมทรัพย์ของเราจะช่วยกันดูแล อย่าปล่อยให้มีการเก็งกำไรจนส่งผลเสียหายในภาพรวม เพราะตลาดอสังหาฯ ปีหน้าที่หวังว่าจะ “รุ่ง” อาจจะกลายเป็น “ร่วง” ได้เช่นกัน
stock wave
*********
30/12/52
คอนโด ยังรุ่ง-บิ๊กอสังหาฯ ลุยเมืองท่องเที่ยว
โดย : ปรียา เทศนอก
ก่อนที่จะก้าวสู่ปีเสือ 2553 ขอสะท้อนภาพธุรกิจในปี 2552 พบว่า คอนโด ยังเป็นสินค้าดาวรุ่ง และบรรดาบิ๊กอสังหาฯ เล็งเป้าปีหน้ารุกเมืองท่องเที่ยว
ทำเลที่ฮอตก็คือทำเลตามแนวตะเข็บรถไฟฟ้าสายปัจจุบัน ปี 2553 สินค้าคอนโด ก็จะยังบูมต่อ ส่วนที่ยู่อาศัยแนวราบแม้ในปี 2552 แรงจะแผ่วแต่เมื่อมีการพัฒนาโครงข่ายขนส่งมวลชนครบทุกสาย บ้านจัดสรรรอบนอกกทม.จะต้องได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ในกรณีนี้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่คร่ำหวอดในวงการได้ตบเท้าไล่เก็บ ที่ดินผุดโครงการดักหน้าเรียบ.... ภาพการเปิดตัวโครงการ และขายจะคึกคักในปี 2553 เป็นต้นไป

ส่วนอสังหาฯ ในหัวเมืองท่องเที่ยวหลักๆทั้งหัวหิน พัทยา ภูเก็ต และสมุย ต้องยอมรับว่า นอกจากจะโดนพิษเศรษฐกิจโลกแล้วย้ำกระหน่ำซ้ำเติมด้วยปัญหาการเมืองภายใน ต้องขอบอกว่าหัวเมืองหลักๆ เหล่านี้แย่ไปตามๆ กัน เหงาทั้งคนซื้อ และคนลงทุน ที่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ จะพอมีความเคลื่อนไหวด้านการซื้อขายอยู่บ้างก็เห็นจะเป็นที่หัวหิน แต่บรรยากาศการซื้อ การขายนั้นเกือบ 100% เป็นกลุ่มลูกค้าคนไทย

ปี 2553 คนในวงการอสังหาฯ ต่างหวังว่าหัวเมืองใหญ่เหล่านี้จะกลับมามีบรรยากาศคึกคัก ทั้งการลงทุน การซื้อ ขายอีกครั้ง ส่วนที่ว่าต่างชาติจะกลับเข้ามาอีกหรือไม่ ประเด็นใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจคือ การเมือง หากวุ่นวายไม่รู้จบก็ ซึมต่อ ..

แต่อย่างไรก็ดี บรรยากาศที่จะเห็นในปีนี้ ก็คือ การเคลื่อนทัพของบิ๊กอสังหาฯจากส่วนกลาง ได้ขยายฐานตลาดสู่หัวเมืองท่องเที่ยวหลัก ซึ่งก็รวมถึงภาคเหนือ เชียงใหม่ ส่วนหนึ่งเพราะสร้างโอกาสธุรกิจ หลังจากที่พบว่า ขนาดของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกทม.แคบลงๆ
กรุงเทพธุรกิจ**********
30/12/52
เกาะติดอสังหาฯดิ้นหนี หลุมดำ เศรษฐกิจ และ กฎหมาย
โดย : ปรียา เทศนอก
นับถอยหลังลั่นระฆังส่งท้ายปี วัว 2552 ...เป็นปีที่ทำให้วงการอสังหาฯต้องออกแรงดิ้นหนี หลุมดำ ฝ่าวงล้อมวิกฤติทั้งจากเศรษฐกิจ การเมือง
และอุบัติเหตที่เกิดจากกระบวนการทำงานที่ (ผิด) พลาดไปหน่อย เมื่อสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(สวล.) เข้ามาจัดระเบียบ "ดัดหลังพวกซิกแซ็ก" แบบไม่มีข้อยกเว้น!!! ปัญหาที่ว่า...นี้คงมียาวข้ามปี 2553 เป็นที่คาดการณ์กันว่า สวล.จะต้องเข้มสุดๆ ด้วยการวางแนวปฎิบัติเช่นเดี่ยวกับ 65 โครงการมาบตาพุด

ปัญหาก่อสร้างผิดกฎหมายควบคุมอาคาร ไม่ผ่านกฎหมายสิ่งแวดล้อม ที่พูดกันตามจริงนั้นล้วนมีเกือบทุกโครงการ ประเภทคอนโดมิเนียม โดนหมด ต่างกันเพียงแค่ "มาก -น้อย " บางโครงการยื่นสวล.ไปแล้วไม่ผ่านก็ต้องมาปรับแบบ แก้แบบใหม่ บางโครงการไม่รู้ไปทำอีท่าไหน ก่อสร้างจนเสร็จ ถึงเวลาโอนให้ลูกค้าไม่ได้ต้อง "ทุบ" ต้อง "รื้อ" ใหม่ให้ถูกต้อง

ตัวอย่างเช่น กลุ่มแสนสิริ ที่ต้องเร่งกู้ภาพลักษณ์หลัง สินค้าคอนโดภายใต้แบรนด์ "พลัส" สะดุด ปมปัญหานี้ แสนสิริสั่งลดบทบาทการเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ทันทีเหลือเพียง ดำเนินธุรกิจเซอร์วิส แมเนจเมนท์เพียงอย่างเดียว...

ด้าน บมจ.ปริญสิริ เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีปัญหาคล้ายกับพลัส ที่ขณะนี้ได้สางปมปัญหาไปได้เกือบ 100% ในปี 2553 ที่จะถึงนี้คงเห็นภาพลักษณ์ใหม่ หลังจากที่ได้ Re Branding โฉมใหม่ที่จะเปิดตัวในเร็วๆ นี้จะสื่อถึงความกระฉับกระเฉงต้องตาต้องใจกับ ลูกค้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนโลโก้ใหม่ คอนเซ็ปท์ของสินค้าในโครงการที่จะเน้นพื้นที่สีเขียวมากขึ้นกว่ากฎหมายกำหนด

ปัญหาที่ติดขัดกฎระเบียบที่ต้องแก้ ..หรือ ตีความกันนั้นใช่จะมีเพียงกฎหมายสวล.เท่านั้น แต่หากรวมถึง การเข้ามาทำงานด้านการออกแบบอาคารของสถาปนิกต่างชาติ ที่ระหว่างที่รอเปิดเสรีตามข้อตกลงเอฟทีเอ จะมีผลในปี 2558 หรืออีก 5 ปีข้างน้านั้น ระหว่างนี้ก็มีบางอาคารที่ถูกจับตามองพร้อมกับทำการตรวจสอบข้อมูล หลังจากที่สภาสถาปนิก พิจารณาแล้วเบื้องต้นว่า (อาจ) เข้าข่ายใช้สถาปนิกต่างชาติเป็นผู้ออกแบบอาคาร "มหานคร" อาคารที่สูงที่สุดในน่านฟ้ากรุงเทพฯ ที่เจ้าของโครงการ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด พร้อมที่จะผลักดันให้โครงการเป็นแลนด์มาร์คของประเทศไทย โชว์ศักยภาพเหนือประเทศคู่แข่ง

ขณะนี้ คณะกรรมการสภาสถาปนิก ได้มีมติให้แจ้งความกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ท้องที่ที่เกิดเหตุ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้รับมอบอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ เพื่อดำเนินคดีกับผู้มีส่วนร่วมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด อันเป็นการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 ในโครงการมหานครทั้งหมด ต่อพนักงานสอบสวนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยถ้อยแถลงของสภาสถาปนิกระบุว่า มีผู้ต้องหาที่ต้องรับผิดชอบในฐานะนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ทั้งหมด 23 ราย

ทั้งนี้ สภาสถาปนิกได้ตรวจสอบจากระเบียบสภาสถาปนิกแล้ว ไม่พบว่า นายโอเล เซียเรน ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมจากสภาแต่อย่างใด การที่นายโอเล เซียเรน แสดงตนว่า เป็นผู้ออกแบบโครงการมหานคร จึงเป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการกระทำฝ่าฝืน พระราชบัญญัติสถาปนิกฯ มาตรา 45 มีโทษตามมาตรา 71
ในกรณีนี้ แม้จะยังไม่สรุปผลออกมาชัดเจนว่า "ถูก" หรือ "ผิด" แต่ทางผู้บริหารเจ้าของโครงการ สรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพซฯ ก็ออกโรงชี้แจงว่าการออกแบบครั้งนี้บริษัทได้ใช้สถาปนิกอินเฮ้าส์

นั่นเป็นตัวอย่างปัญหาที่เกิดจากตัวบทกฎหมายที่ผู้ประกอบการเจ้าของโครงการ ต้องคิดแก้เกมไว้ ... แต่หากหันกลับมาดูผลกระทบธุรกิจอสังหาฯ ต่อวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปัญหาการเมืองภายในประเทศแล้ว ขอบอกว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2552 ค่อนซึม จะคึกคักหน่อยก็ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปี ในขณะที่ปี 2553 พบว่าผู้ประกอบการต่างก็กังวลปัญหาการเมืองว่าจะเป็นตัวฉุดธุรกิจ
กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น