วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

ข่าวอุตสาหกรรมประกันชีวิต 1

21/12/52
ประกันชีวิต นายกสมาคมประกันชีวิตไทยฟันธงธุรกิจประกันปี 53 ขยายตัว 15-20% จากปัจจัยดอกเบี้ยต่ำ ประชาชนมีทัศนคติที่ดี
ขึ้น ช่องทางการจำหน่ายและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เชื่อสินค้าระยะสั้นประเภทซิงเกิลพรีเมี่ยมอาทิ 10/2 10/3และ 10/6 ขายดี หลังแบงก์
แอสชัวรันส์รุกหนัก เน้นเจาะลูกค้ากลุ่มระดับกลางและบนมากขึ้น แนะกระจายการลงทุนให้ระยะเวลาและผลตอบแทนสอดคล้องกับความ
คุ้มครอง (ข่าวหุ้น)
*********
18/12/52
เปิด 3 ยุทธภูมิประกันชีวิตปีขาล "บำนาญ-ไมโครฯ-เวลธ์ฯ" มาแรง

สภาพเศรษฐกิจปีนี้อาจไม่เอื้ออำนวยให้กับธุรกิจหลาย ๆ ประเภท แต่ยกเว้นธุรกิจประกันชีวิตที่เติบโตสวนกระแสได้ดี จนสมาคมประกันชีวิตต้องปรับเพิ่มเป้าหมายการเติบโตถึง 3 ครั้ง ขณะที่ปีหน้าก็มีการประกาศแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตออกมาแล้วที่ประมาณ 15-20%

นอกจากการเติบโตด้วยแบบกรมธรรม์ ที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว ผลิตภัณฑ์ใน 3 กลุ่มหลัก ทั้งประกันบำนาญ, ไมโคร อินชัวรันซ์ และเวลธ์แมเนจเมนต์ จะเป็น อีก 3 แนวรบของธุรกิจประกันชีวิตในปีหน้าที่ สู้กันอย่างดุเดือด

เริ่มต้นที่ตลาดประกันบำนาญซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการสำรองเบี้ยประกัน ซึ่งตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทยกำหนดให้รวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในไตรมาส 4 นี้ และจะปรับแก้กฎหมายในไตรมาส 1 ปี 2553 เพื่อให้ประกันบำนาญสามารถออกสู่ตลาดได้แบบไม่ขาดทุน

"สาระ ล่ำซำ" นายกสมาคมประกันชีวิตไทย บอกว่า เงินบำนาญเป็นสิ่งที่สามารถเตรียมไว้ได้ตลอด และเป็นสิ่งที่ไม่เคยพอ เพราะระบบโครงสร้างสวัสดิการของไทย ยังไม่รองรับเรื่องนี้มากนัก แม้จะมีระบบประกันสังคมที่รัฐเข้ามาสนับสนุนหรือเงินเก็บส่วนตัวก็ไม่เพียงพอ ฉะนั้นประกันชีวิตจึงเข้ามาตอบโจทย์นี้ได้อย่างไม่จำกัดเช่นกัน

"โอกาสของตลาดนี้ยังมีอีกมาก เพราะตามหลักแล้วการออมสำหรับบำนาญไม่ใช่อายุมากแล้วถึงมาทำ แต่ควรเริ่มออมตั้งแต่เริ่มทำงานเลย ค่อยๆ ออม เพราะประกันชีวิตสามารถซื้อเพิ่มได้ตลอดเวลา เรื่องบำนาญนี้เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ ซึ่งประกันชีวิตเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เข้ามา สนับสนุนได้ สำหรับคนที่พอจะช่วยเหลือ ตัวเองได้"

อย่างไรก็ตามสาระเชื่อว่า บทบาทของรัฐยังจำเป็นและต้องเข้ามาช่วยกระตุ้นด้วยการปรับแก้ให้มีโครงสร้างการออมเงินระยะยาวสำหรับบำนาญมารองรับอย่างจริงจัง และต้องช่วยกระตุ้นให้คนที่พอจะช่วยเหลือตัวเองได้เดินเข้ามาสู่ระบบนี้ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ควรต้องมีเพิ่มขึ้นสำหรับการประกันบำนาญ ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยให้ตลาดบำนาญขยายตัวได้

ด้านไมโครอินชัวรันซ์หรือประกันชีวิตสำหรับผู้มีรายได้น้อย สาระบอกว่า ตลาดนี้เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เพราะโครงสร้างประชากรไทยปัจจุบัน 70% เป็นกลุ่มที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย วันนี้หลาย ๆ บริษัทต่างก็อยากเข้ามาทำอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าคนทุกคนอยากออมเงินไว้อยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญ คือ รูปแบบกรมธรรม์ที่เหมาะสมกับลูกค้า กลุ่มนี้ที่จะต้องไม่ซับซ้อนมากนัก และราคาเบี้ยอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล สามารถจ่ายได้ รวมถึงช่องทางการขายที่จะต้องเข้าถึงฐานลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่าง ใกล้ชิดอีกด้วย

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้พูดถึงรูปแบบของกรมธรรม์ไมโครอินชัวรันซ์ในเบื้องต้นนั้นจะต้องมีเงื่อนไขผลประโยชน์ที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เช่น ไม่ต้องตรวจสุขภาพ เงินเอาประกันภัยไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น ซึ่งต้องกำหนดเป็นรูปแบบสินค้ามาตรฐานร่วมกัน ส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายอาจจะสร้างตัวแทนเฉพาะไมโครอินชัวรันซ์ โดยต้องปรับแก้เงื่อนไขในการสอบใบอนุญาตให้ง่ายกว่าตัวแทนทั่วไป เพื่อให้กลุ่มกำนันและผู้ใหญ่บ้านเข้ามาสู่ระบบได้ง่ายขึ้น และทำให้เข้าถึงประชาชนกลุ่มใหญ่ได้ง่ายด้วย

ขณะที่แบบประกันที่จะเข้ามาสนับสนุน บริการทางการเงินที่ช่วยบริหารความมั่งคั่งให้แก่ลูกค้า หรือเวลธ์แมเนจเมนต์ ซึ่งถือเป็นอีกบริการหนึ่งที่ยกระดับขึ้นมามากขึ้น โดยสาระมองว่า บริการส่วนนี้จะช่วยลูกค้าคัดสรรรูปแบบการลงทุนต่าง ๆ ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ทั้งเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทนได้ดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ประกันชีวิตเข้ามาเสริมได้ คือ การตอบโจทย์ด้านความมั่นคงของชีวิตผ่านแบบประกันที่เน้นความคุ้มครองเป็นหลักซึ่งบางคนอาจ ละเลยไป จึงต้องทำให้เห็นภาพว่ากรมธรรม์มีประโยชน์ในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างไรบ้าง

ทั้ง 3 ตลาดดังกล่าวถือเป็นสมรภูมิที่ธุรกิจประกันชีวิตจะต้องเผชิญในปีหน้าและต้องแข่งขันกันหนักขึ้น บนสภาพตลาดที่ถูกประเมินแล้วว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่ดีมาก จึงอยู่ที่แต่ละค่ายว่าจะปรับกลยุทธ์และหมุนเข็มทิศกันอย่างไรต่อไป บนสมรภูมิการตลาดที่เข้มข้น
prachachat**********
18/12/52
ประกันรถเดือดเปิดศึกชิงเค้กปั๊มยอดโค้งท้ายปี

ประกันรถแย่งชิงเค้กโค้งท้ายปี ลุ้นอานิสงส์มอเตอร์เอ็กซ์โปดันเบี้ย หลังต้นไตรมาส 4 ตลาดประกันมอเตอร์ส่งสัญญาณฟื้นชัดแล้ว หวังโหนกระแสถึง ปีหน้า บางค่ายระวังตัวยอมชะลอรถใหม่ เหตุแข่งเดือดเกิน

หลังการจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โปช่วงปลายปีได้ช่วยกระตุ้นยอดตลาดรถยนต์ ใหม่ให้คึกคัก พร้อมกับจังหวะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้ 2 เดือนสุดท้ายของปี มียอดขายรถใหม่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งค่ายประกันภัยรถยนต์ได้อานิสงส์ความคึกคักนี้ด้วยเช่นกัน

นายวาสิต ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันภัย กล่าวว่า ในช่วงโค้งท้ายปีน่าจะมียอดรถใหม่เพิ่มขึ้นกว่าช่วง 3 ไตรมาสแรก โดยเฉพาะการมีงาน

มอเตอร์เอ็กซ์โปที่จะทำให้ตลาดมีความต้องการประกันภัยรถยนต์เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า ซึ่งก่อนหน้านี้ตลาดประกันภัยรถยนต์เริ่มส่งสัญญาณปรับตัวที่ ดีขึ้นแล้ว โดยเดือน ต.ค.บริษัทมีเบี้ยขยายตัวขึ้น 10% เมื่อเทียบกับยอดเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี จึงคาดว่าปีนี้เบี้ยประกันรถยนต์ของบริษัทจะเติบโตติดลบประมาณ 2-3% เท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับพอร์ตช่วงกลางปีเพื่อเน้นคุณภาพงานมากขึ้น

"การแข่งขันช่วงปลายปีน่าจะยังรุนแรง และเชื่อว่าการดัมพ์ราคาน่าจะยังมีให้เห็นแต่คงน้อยลง เพราะหลายบริษัทที่แข่งเรื่องนี้คงเห็นผลกระทบที่สะท้อนผ่านกำไรของธุรกิจแล้ว รวมถึงกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งเกณฑ์ดำรงเงินกองทุน 150% และการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงบีบให้ธุรกิจต้องเข้มงวดมากขึ้น" นายวาสิตกล่าว

นายกฤษณ์ หิญชีระนันทน์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท วิริยะ ประกันภัย กล่าวว่า ยอดขายรถใหม่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นน่าจะทำให้บริษัทได้รับอานิสงส์ให้ประกันรถป้ายแดงของบริษัทขยายตัวด้วย ซึ่งคาดว่าปีนี้ เบี้ยประกันรถยนต์จะเติบโต 3% แม้ตลาดจะคึกคักมากกว่านี้ได้ แต่กำลังการผลิตรถถูกวางแผนไว้แล้ว คงปรับไม่ได้มากนัก ส่วนที่เหลือจึงน่าจะไปส่งมอบรถและทำประกันในปีหน้า

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ กล่าวว่า ยอดขายรถใหม่ที่เริ่มฟื้นตัวช่วงปลายปีจะทำให้ยอดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ป้ายแดงของบริษัทหดตัวน้อยลงเหลือ 20-25% จากช่วงต้นปีที่หดตัวถึง 30% อย่างไรก็ตามปีนี้บริษัทได้มีดีลเลอร์รายใหม่ 3-4 ราย มาเป็นพันธมิตรในการส่งงานให้บริษัทตั้งแต่กลางปี ทำให้ยอดเบี้ยไม่ติดลบมากนัก

"โดยภาพรวมแล้วปีนี้เบี้ยประกันรถยนต์ของเรายังเติบโตได้ดีถึง 15% จากที่ตั้งเป้าไว้โต 7% ซึ่งเป็นผลจากการออกกรมธรรม์ประเภท 2+ และ 3+ มารองรับลูกค้าที่ ต้องการจ่ายเบี้ยน้อยลง จึงช่วยรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ด้วย ทำให้อัตราการต่ออายุกรมธรรม์ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 60% จากปีที่แล้ว 45% เท่านั้น" นายจีรพันธ์กล่าว

ด้านนายประสาน ลิ้มพิพัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มประกันภัยรถยนต์ บมจ.ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย กล่าวว่า การขยายตัวของยอดรถใหม่อาจไม่ส่งผลต่อการเติบโตของพอร์ตประกันรถยนต์ของบริษัทมากนัก เพราะประกัน ชั้น 1 ของบริษัทมีสัดส่วนรถป้ายแดงเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น เนื่องจากเป็นตลาดที่การ แข่งขันสูงและเบี้ยต่ำ จึงทำตลาดได้ค่อนข้างยาก และมีอัตราความเสียหายสูงถึง 65% ทำกำไรได้ยาก หากตลาดปรับระดับเบี้ยให้เหมาะสมกับความเสียหาย บริษัทจึงจะสนใจเข้าไปทำตลาดมากขึ้น
prachachat*************
07/12/52
3ค่ายไล่บี้ชิงเจ้าแบงก์แอสชัวรันซ์ อัดผลตอบแทนเพิ่มเร่งธนาคารแม่ปั๊มเบี้ยปีแรก

แบงก์แอสชัวรันซ์สุดเดือด 3 ค่ายยักษ์ ไล่บี้แหลก หวังเบียดแย่งแชมป์อุตลุด "SCNYL" เบี้ยเข้าเป้าสิ้นปีแล้ว พร้อมเร่งเครื่องอัดเดือนสุดท้าย ด้าน "เมืองไทยฯ" ชูนโยบายแบงก์กสิกรไทยถือหุ้น มั่นใจเบี้ยพุ่งกระฉูดแน่ ค่าย "กรุงเทพฯ" เดินหน้าลุยสื่อสารครบวงจร สร้างแบรนด์ต่อเนื่อง หลัง 9 เดือน เบียดขึ้นเบอร์ 2 แบงก์แอสชัวรันซ์

นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยพาณิชย์ นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต (SCNYL) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การทำตลาดแบงก์แอสชัวรันซ์ช่วงปลายปีนี้ซึ่งมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมาก ธนาคารยังคงเน้นการขายแบบประกันออมทรัพย์ และจับคู่กับการตอบโจทย์ด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งถือเป็นจุดขายช่วงปลายปี โดยเฉพาะแบบประกัน "Saver Plus" ที่เป็นกรมธรรม์ออมทรัพย์จ่ายเบี้ยระยะสั้น 5 ปี แต่คุ้มครอง 10 ปี ซึ่งกรมธรรม์นี้สร้างยอดขายสูงถึง 70% ของเบี้ยที่บริษัททำตลาดผ่านแบงก์แอสชัวรันซ์ทั้งหมดในปีนี้

"จุดแข็งของเราอยู่ที่ความสัมพันธ์ที่ดีกับทางธนาคารไทยพาณิชย์ และโครงสร้างผลตอบแทนที่ให้แก่ทางธนาคารถือว่าดีที่สุดในตลาดขณะนี้ ซึ่งตอบโจทย์นโยบายการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคาร ขณะ เดียวกันแบบประกันก็ตอบโจทย์ความต้อง การการออมของลูกค้าด้วย ซึ่งขณะนี้บริษัทสร้างเบี้ยจากช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ ได้กว่า 7,000 ล้านบาท เข้าเป้าหมายปีนี้แล้ว แม้จะยังเหลือเวลาอีกประมาณ 1 เดือน จึงจะครบปีก็ตาม เนื่อง จากช่องทางนี้เติบโตมาก 60-70%" นายบัณฑิตกล่าว

ด้านนายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด กล่าวว่า ภายหลังธนาคารกสิกรไทยถือหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นจะยิ่งทำให้เบี้ยประกันชีวิตที่ผ่าน ช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์เติบโตเพิ่มขึ้น อย่างก้าวกระโดด ซึ่งปัจจุบันเติบโตสูงเฉลี่ยมากกว่า 50% ต่อปี ธนาคารส่งงานให้เฉลี่ย 7,000-8,000 ราย/เดือน โดยบริษัทมีแผนจะเริ่มทำตลาดแบบประกันประเภทคุ้มครองและประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีแบบประกันออมทรัพย์เป็นหลัก

นอกจากนี้การเข้ามาถือหุ้นเพิ่มขึ้นของธนาคารกสิกรไทยทำให้เมืองไทยประกันชีวิตกลายเป็นบริษัทประกันชีวิตอันดับ 1 ในตลาดประเทศไทยที่มีธนาคารพาณิชย์เป็น ผู้ถือหุ้น ทำให้ธนาคารต้องเร่งทำตลาดเพื่อไล่ขึ้นไปสู่ตำแหน่งเบอร์ 1 ในตลาดแบงก์ แอสชัวรันซ์ให้ได้เป็นอย่างแรก เพราะจะสะท้อนให้ธนาคารเริ่มมีรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้เงินปันผลตามสัดส่วนการถือหุ้นที่เพิ่มมากขึ้นจากผลงานตั้งแต่นี้เป็นต้นไป

นายชาญ วรรธนะกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทได้เริ่มทำตลาดเชิงรุกผ่านรูปแบบการสื่อสารครบวงจรไปยังลูกค้าตลอดจนกลุ่มเป้าหมายและประชาชนทั่วไปให้มากขึ้น เพื่อสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัท ขณะเดียวกันจะเป็นการสร้างการจดจำในด้านผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตของบริษัทด้วย

อย่างไรก็ตามในปีนี้กรุงเทพประกันชีวิตมีการเติบโตที่สูงมาก โดยผลการดำเนินงานช่วง 10 เดือนแรกปีนี้บริษัทมีเบี้ยปีแรกจากทุกช่องทาง 4,888 ล้านบาท เติบโตถึง 65% ซึ่ง 70-80% ของเบี้ยปีแรกมาจากช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ที่ทำตลาดร่วมกับธนาคารกรุงเทพ และถือเป็นการทำตลาดอย่างจริงจังมากในปีนี้จนทำให้บริษัทมีเบี้ยใน ช่องทางนี้เบียดขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในตลาด
prachachart**********
20/11/52
ธุรกิจประกันแจ่มโต20%
โพสต์ทูเดย์
— คปภ.มั่นใจปิดหีบเบี้ยประกันชีวิตปี 2552 โต 20% แน่ เหตุยอดขายผ่านธนาคาร ตัวแทน สวนกระแสเศรษฐกิจ

นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยต่อที่ประชุมผู้บริหารบริษัทประกันชีวิตทั้งระบบว่า จากการติดตามตัวเลขเบี้ยประกันชีวิตมาตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน คาดว่าสิ้นปี 2552 นี้ เบี้ยประกันชีวิตทั้งระบบจะเติบโตเพิ่มขึ้น 18-20% หรือเป็นเบี้ยประกันประมาณ
จันทรา

2.63-2.68 แสนล้านบาท คิดเป็นเบี้ยประกันต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือจีดีพี ประมาณ 4.1-4.2%
ทั้งนี้ เป็นการปรับตัวเลขการเติบโตเพิ่มขึ้นครั้งที่ 4 ในปีนี้ เนื่องจากตัวเลขยอดขายประกันชีวิตผ่านช่องทางธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างมาก และตัวแทนยังทำผลงานดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเบี้ยประกันประเภทชำระครั้งเดียวในกลุ่มประกันสินเชื่อซื้อบ้านและประกันเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้น สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา

สำหรับเบี้ยประกันวินาศภัยในปีนี้ คาดว่าเติบโตเพิ่มขึ้น 5-6% จากช่วงต้นปีที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 2% เนื่องจากสัญญาณทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์เติบโตเป็นบวกเป็นครั้งแรกในปีนี้ จึงคาดว่ายอดขายประกันภัยรถยนต์เพิ่มขึ้น และทำให้เบี้ยประกันภัยรับรวมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ (ไทยรี) คาดว่าปี 2552 เบี้ยประกันวินาศภัยทั้งระบบจะอยู่ที่ 1.08 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันภัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่รถยนต์และประกันอัคคีภัย โดยทั้งสองประเภทการรับประกันภัยจะมีรายรับโดยตรงเป็นมูลค่า 7,709 ล้านบาท และ 3.42 หมื่นล้านบาท

ด้านธุรกิจการประกันภัยทางทะเลและการขนส่ง จะชะลอตัวลงเหลือ 3,650 ล้านบาท การประกันภัยรถยนต์คาดว่าจะสร้างรายได้ลดลงโดยเฉลี่ย 1.39% หรือ 6.32 หมื่นล้านบาท

สำหรับในปี 2553 นั้น เบี้ยประกันวินาศภัยโดยรวมจะมีมูลค่าประมาณ 1.15 แสนล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับมูลค่าของปี 2552 อันเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของธุรกิจในทุกประเภทการประกันภัย เช่น มูลค่าของเบี้ยอัคคีภัยจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.1% มูลค่าของเบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่งจะปรับสูงขึ้น 4.8% มูลค่าเบี้ยของการประกันภัยรถยนต์จะขยายตัวในอัตรา 4% และมูลค่าของเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ดจะเพิ่มขึ้น 9.8% เมื่อสิ้นสุดปี
posttoday
************
02/10/52
คาดสรุปลดหย่อนภาษีประกันเพิ่มเติมได้ในสิ้นปีนี้

Posted on Monday, November 02, 2009
นายแพทย์พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า กระทรวงการคลังจะพิจารณาข้อเสนอของสมาคมประกันชีวิตไทยที่จะให้นำเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษี เพื่อดึงดูดให้มีผู้หันมาทำประกันด้านสุขภาพเหมือนกับการประกันภัยด้านการออมที่ปัจจุบันสามารถนำเบี้ยประกันไปหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท แต่การประกันด้านสุขภาพจะหักค่าลดหย่อนไม่เกิน 50,000 บาท โดยขณะนี้ กรมสรรพากรและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด คาดว่าจะสรุปแนวทางไม่เกินสิ้นปี

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังจะเร่งส่งเสริมธุรกิจประกันภัยตามนโยบาย เพื่อดึงดูดให้คนไทยเข้าสู่ระบบการออมระยะยาว เนื่องจากไทยกำลังจะก้าวสู่สังคมคนชรามากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายมีผู้ทำประกันชีวิตในระบบการออมเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีก 50% หรือประมาณ 30 ล้านคน

ด้านนายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย บอกว่า เตรียมเสนอการลดหย่อนภาษีสำหรับการทำประกันบำเหน็จบำนาญให้กับผู้สูงอายุ เพื่อดูแลคนชรา โดยเห็นว่าค่าลดหย่อนอาจมากกว่าการประกันชีวิตด้านการออม เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีเงินใช้จ่ายยามเกษียณอายุและ ช่วยลดภาระการชดเชยจากรัฐบาล

สำหรับธุรกิจประกันชีวิตในปีนี้ อาจขยายตัวได้ประมาณ 20% จากช่วงที่ผ่านมา และมีจำนวนผู้ทำประกันชีวิตเพิ่มเป็น 25% ของประชากรในไทยจากปัจจุบันอยู่ที่ 13% เนื่องจากประชาชนเริ่มมีความรู้ความเข้าใจและเห็นความสำคัญในการทำประกันชีวิต

ขณะที่ธุรกิจประกันชีวิตเตรียมเข้าสู่ข้อกำหนดมาตรฐานเกณฑ์ดำรงเงินกองทุนใหม่ 2011 ตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อทำให้ธุรกิจประกันชีวิตมีความมั่นคงเป็นที่เชื่อมั่นของผู้ทำประกันภัยในอนาคต
money news update
************
ข่าวอุตสาหกรรมประกันชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น