วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

ข่าวอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น 1

21/12/52
กลุ่มส่งออกรองเท้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผย ในปีนี้คาดว่าการส่งออกรองเท้าของไทยจะมีมูลค่า 800-900 ล้าน
เหรียญสหรัฐ จะขยายตัวลดลง 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร รวมถึงค่าเงินบาท
ของไทยที่แข็งค่ามากกว่าคู่แข่ง ในปี 2553 คาดว่าการส่งออกรองเท้าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้อยู่ที่ 10% ตัวเลขการส่งออกจะอยู่ที่ 1,000
ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งมีคำสั่งซื้อสินค้า(ออเดอร์) ของอุตสาหกรรมรองเท้าในไตรมาสที่ 1 ปี
2553 เริ่มเข้ามาถึง 100% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีนี้ คาดว่าในไตรมาสที่ 2 น่าจะทรงตัว และจะเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มอีกในช่วง
ไตรมาสที่ 3 เนื่องจากเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อเข้ามามากของทุกปี ขณะที่ปี 53 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้นด้วย (บ้านเมือง)
**********
30/11/52
สิ่งทอไทยล้านนาชี้เวียดนามลดค่าเงินดองกระทบยอด
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยล้านนาชี้ เวียดนามประกาศลดค่าเงินดองกระทบยอดส่งออก หวั่นถูกแย่งส่วนแบ่งตลาด เหตุลูกค้าหันสั่งซื้อสินค้าจากเวียดนาม
นายวิกรณ์ พรหมชนะ นายกสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยล้านนา กล่าวว่า เชื่อว่าการที่ประเทศเวียดนามประกาศลดค่าเงินดองจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสิ่งทอของผู้ประกอบการในภาคเหนือ เนื่องจากเวียดนามเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดการลดค่าเงินจะทำให้ประเทศคู่ค้าหันไปสั่งซื้อสินค้าจากเวียดนามแทน เพราะไทยและเวียดนามมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน แต่เวียดนามมีข้อได้เปรียบเรื่องวัตถุดิบที่หาง่าย ต้นทุนการผลิตและค่าแรงงานต่ำ แต่ไทยมีข้อได้เปรียบเรื่องคุณภาพสินค้า รูปแบบ และดีไซน์ที่หลากหลายกว่า

ทั้งนี้คาดว่าในระยะยาวประเทศที่เป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เช่น กลุ่มอาหรับ หันไปสั่งสินค้าจากเวียดนาม ส่วนประเทศที่เป็นตลาดหลัก เช่น ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ระยะแรกผลกระทบอาจยังไม่ปรากฏชัดเจนเพราะมีการสั่งซื้อสินค้าไว้ล่วงหน้า แต่ระยะยาวลูกค้าเหล่านี้จะหันไปให้ความสนใจสินค้าจากเวียดนามแทน เพราะมีราคาถูกกว่าอาจมีผลให้ในอนาคตออร์เดอร์ใหญ่ๆจากประเทศคู่ค้าหลักหายไป

นายวิกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกสิ่งทอของไทยและเวียดนามมีสัดส่วนใกล้เคียงกันเฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท สำหรับกลุ่มสิ่งทอภาคเหนือมีมูลค่าส่งออกปีละ 2,000 ล้านบาท และตั้งแต่ต้นปี2552 ถึงปัจจุบันการส่งออกสิ่งทอภาคเหนือมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นราว 2% ถือว่าเพิ่มขึ้นไม่มากนักเพราะได้รับผลกระทบปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้น

ส่วนปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นกับดูไบ จนต้องประกาศพักชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปี เชื่อว่าจะส่งผลกระทบกับตลาดส่งออกสิ่งทอเช่นกันเพราะดูไบถือเป็นตลาดใหม่ สำหรับภาคเหนือมีการส่งออกไปดูไบประมาณ 15% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดวิกฤตที่เกิดขึ้นมีผลให้กำลังซื้อของดูไบลดลง ทั้งสองปัจจัยที่เกิดขึ้นกับเวียดนามและดูไบ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการสิ่งทอต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือวิกฤตที่เกิดขึ้น หันมาปรับปรุงพัฒนามาตรฐาน รูปแบบและดีไซน์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด

นายณัฐพงศ์ หาญภัทรไชยกุล นายกสมาคมผู้ผลิตและส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ กล่าวกับ”กรุงเทพธุรกิจ”ว่า ตั้งแต่เวียดนามประกาศรุกตลาดส่งออกในระยะ 5 - 6 ปีที่ผ่านมา เวียดนามกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยโดยเฉพาะในตลาดสินค้าหัตถกรรม ก่อนที่เวียดนามจะประกาศลดค่าเงินดองการส่งออกสินค้าหัตถกรรมของไทยแข่งขันกับเวียดนามแทบไม่ได้เพราะค่าแรงงานและต้นทุนการผลิตถูกกว่าไทยมาก ยิ่งเมื่อเวียดนามประกาศลดค่าเงินดองเชื่อว่าตลาดจะพากันหันไปสั่งซื้อสินค้าจากเวียดนามมากขึ้น

เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบตลาดสินค้าหัตถกรรมไทยและเวียดนามมีความคล้ายคลึงกัน ทั้ง สินค้าประเภทไม้ กระดาษ เครื่องจักรสาน ฯลฯ รวมทั้งอาศัยแรงงานฝีมือระดับรากหญ้าเหมือนกัน แต่ค่าแรงงานเวียดนามจะต่ำกว่าจึงได้เปรียบไทย แม้ว่ารูปแบบและดีไซน์จะแตกต่างแต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ

นายณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาที่เกิดกับภาคอสังหาริมทรัพย์ของดูไบ ซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ของกลุ่มหัตถกรรมจนถึงขั้นประกาศพักชำระหนี้ ทำให้ความคาดหวังจะใช้ตลาดนี้ช่วยกระตุ้นยอดส่งออกในปี 2552 หลังจากประเมินแล้วว่ายอดขายโดยรวมจะลดลงไม่ต่ำกว่า 30% ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นประมาณ 15 - 20% อาจไม่เป็นไปตามคาด เพราะตลาดหัตถกรรมของดูไบเป็นกลุ่มสินค้าของใช้ของตกแต่งในบ้านพักอาศัยและโรงแรม ขณะที่สินค้าหัถกรรมถือเป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยเมื่อตลาดมีปัญหากำลังซื้อย่อมลดลงจนส่งผลต่อยอดส่งออก

"ปัจจุบันยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกสินค้าหัตถกรรมที่สำคัญ โดยจีนมีส่วนแบ่งในตลาดส่งออกมากที่สุด สำหรับไทยและเวียดนามมีสัดส่วนใกล้เคียงกันมาก แต่การประกาศลดค่าเงินดองอาจทำให้เวียดนามแซงหน้าไทยไปได้"นายณัฐพงศ์กล่าว
krungthepturakij
************
27/11/52
ชี้เสรีอาเซียนไหมเวียดนามเบียดตลาดไทย
กสิกรไทยชี้เปิดเสรีอาเซียนสินค้าไหมแข่งแรง โดยเฉพาะจากเวียดนามหลังลดค่าเงินด่อง แนะเร่งปรับตัว ลดต้นทุนการผลิตจับตลาดบน
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า 9 เดือนแรกของปี 52 วัตถุดิบไหมและผ้าผืนที่ทำจากไหมยังคงได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 170.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 77.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้เพื่อนำไปผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ทำด้วยไหมในช่วงเวลาดังกล่าวหดตัวแรงกว่าการส่งออกพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ภายในวันที่ 1 ม.ค. 53 กลุ่มวัตถุดิบและผ้าไหมทั้งหมดจะ 23 รายการจะต้องลดภาษีและยกเลิกมาตรการโควตาภาษีสินค้าเกษตรภายใต้ข้อตกลง AFTA ย่อมจะทำให้ตลาดวัตถุดิบไหมและผ้าไหม รวมถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ทำจากไหมและผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ทำจากไหมในภูมิภาคนี้คึกคักขึ้น

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขจัดอุปสรรคทางภาษีศุลกากรจะทำให้ผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าวจากไทยมีโอกาสและช่องทางในการส่งออกไปยังประเทศต่างๆได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ผลิตผ้าไหม เสื้อผ้าสำเร็จรูปและ ผลิตภัณฑ์ต่างๆจากผ้าไหม ก็จะมีต้นทุนในการผลิตลดลงจากการนำเข้าวัตถุดิบต่างๆจากสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะการนำเข้าด้ายไหมจากเวียดนาม

แต่ในขณะเดียวกัน ผลจากการปฏิบัติตามพันธะภายใต้ข้อตกลง AFTA ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมและโรงงานสาวไหมในระดับหนึ่ง เนื่องจากการแข่งขันในประเทศจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นจากการเปิดตลาดนำเข้าเสรี โดยเฉพาะเส้นไหมดิบจากเวียดนามจะไหลเข้ามามากขึ้น

โดยอาจจะเกิดการฉวยโอกาสหาประโยชน์นำเส้นไหมดิบ หรือด้ายไหมที่ไม่สามารถแยกได้ว่ามาจากแหล่งใดไปผสมปนกับเส้นไหมดิบหรือด้ายไหมของไทย ซึ่งก็จะส่งผลต่อคุณภาพไหมทั้งที่จำหน่ายในประเทศ และตลาดส่งออก จนอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไหมไทยในต่างประเทศได้

ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนยังอาจทำให้เกิดการสวมสิทธิ์ของประเทศสมาชิกอาเซียน จนทำให้ยากต่อการควบคุมปริมาณและคุณภาพตามมา ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาการลักลอบนำเข้าเส้นไหมดิบจากจีนเข้าสู่ไทย ก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมค่อนข้างสูงอยู่แล้ว

นอกจากนี้การปรับลดค่าเงินด่องของประเทศเวียดนามยังส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไหมของไทย เพราะไหมของเวียดนามจะมีราคาที่เสมือนถูกลงในสายตาของต่างชาติ เวียดนามจึงมีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาคส่งออกในรูปเงินบาทต่อไป เพราะมูลค่าการส่งออกไหมไทยที่ค้าขายกันในเทอมดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อแปลงค่าเป็นเงินบาทแล้วลดลง

ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่านับจากนี้ตลาดไหมและผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไป พร้อมๆกับภาวะการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงขึ้น

สำหรับแนวทางการรองรับการเปิดตลาดเสรีการค้าอาเซียน นั้นคณะกรรมการหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พิจารณากำหนดมาตรการรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการนำเข้าสินค้าเส้นไหมดิบ ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน เพื่อบรรเทาปัญหาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมและโรงงานสาวไหม อาทิ การจดทะเบียนผู้นำเข้าเส้นไหม เพื่อง่ายต่อการติดตามข้อมูลและทราบปริมาณการนำเข้าแต่ละปี เพิ่มมาตรการเข้มงวดในการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้า การตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนนำเข้า และวางมาตรการควบคุมการนำเข้าเส้นไหมคุณภาพต่ำจากกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อรักษาคุณภาพผ้าไหมที่ทอในประเทศให้อยู่ในระดับมาตรฐาน

นอกจากนี้ ก็ได้มีการกำหนดตราสัญลักษณ์เป็นนกยูงพระราชทาน 4 ชนิด เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองไหมไทย โดยตราสัญลักษณ์แต่ละชนิดขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันทั้งชนิดของไหม การสาวไหม การทอ การย้อม และกระบวนการผลิตตามข้อบังคับในการขอใช้เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ไหมไทย ของสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ สำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษามาตรฐาน ชื่อเสียง และภาพลักษณ์ของไหมและผลิตภัณฑ์ของไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และได้รับการยอมรับจากต่างชาติค่อนข้างสูงมาอย่างยาวนาน

ขณะเดียวกันควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาหม่อนไหมไทยให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้มีศักยภาพในการแข่งขัน พร้อมกับสนับสนุนให้ผู้เลี้ยงไหมของไทยสามารถยกระดับไปสู่ไหมที่มีเอกลักษณ์เพื่อป้อนผลผลิตไหมเข้าสู่ตลาดสิ่งทอระดับบน ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดสิ่งทอมีเอกลักษณ์ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย (Value Creation) และหลีกเลี่ยงการแข่งขันจากเวียดนาม และจีน รวมไปถึงการมุ่งพัฒนาด้านการตลาดในเชิงรุกทั้งในอาเซียนและต่างประเทศมากขึ้น

แม้ว่าการแข่งขันสำหรับสินค้าวัตถุดิบไหมและผ้าไหมของไทยจะเต็มไปด้วยอุปสรรครอบด้าน ทั้งในส่วนของปัจจัยภายในเองที่ยังคงมีต้นทุนการผลิตที่สูงเมื่อเทียบกับเวียดนาม จีน และอินเดีย รวมไปถึงปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะจากการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ที่แต่ละประเทศต่างต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่ยากเกินความพยายามและความตั้งใจของผู้ที่เกี่ยวข้องเพราะสินค้าไหมและผลิตภัณฑ์ของไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ได้รับการยอมรับจากต่างชาติค่อนข้างสูง

"เพียงแต่หากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่องทั้งในส่วนของการผลิตและการตลาด อุตสาหกรรมวัตถุดิบไหมและผลิตภัณฑ์ไหมไทยก็น่าจะมีศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้นได้ในอนาคต"
krungthepturakij***********
05/11/52
เครื่องนุ่งห่มไทยโชว์แผนชิงธงผู้นำอาเซียน รับศึกเปิดเสรีอาฟต้า
จี้รัฐบาล"อภิสิทธิ์"หนุนตั้งศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้สิทธิประโยชน์บริษัทการค้าข้ามชาติตั้งสำนักงานซอร์ซซิ่ง และร่วมพัฒนาสินค้าในไทย ฟันธงเครื่องนุ่งห่มอาเซียนรุ่ง หลังคู่แข่งทั้งอียู-อเมริกาเริ่มล่มสลาย ขณะที่คู่แข่งรายใหญ่ทั้งจีน อินเดีย ก็ไม่น่ากลัว
นายวัลลภ วิตนากร เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการวิเคราะห์แนวโน้มทิศทางของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย จะมีทิศทางเป็นอย่างไรเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และจะสามารถแข่งขันได้หรือไม่ เมื่อมีการเปิดเสรีภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน(อาฟต้า) ในปีหน้า
ทั้งนี้คณะผู้บริหารสมาคมที่ร่วมกันวิเคราะห์ ได้ใช้กรณีศึกษาจากคู่แข่งสำคัญ อาทิเช่น เม็กซิโกและกลุ่มประเทศในอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่ม(การ์เมนต์)รายสำคัญป้อนให้กับทวีปอเมริกา รวมถึงกรณีศึกษาของกลุ่มประเทศสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรป(อียู) 12 ประเทศที่เป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มป้อนให้กับอีก 15 ประเทศสมาชิกเดิมของอียู
ทั้งนี้จากสถิติในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ทั้งสองกลุ่ม ประสบกับปัญหาไม่สามารถแข่งขันได้ จากค่าจ้างแรงงาน และต้นทุนวัตถุดิบที่สูงจากการขนส่งที่ไกล ส่งผลให้โรงงานในกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้ปิดกิจการลงไปเป็นจำนวนมาก และได้ทำการย้ายฐานการผลิต รวมทั้งฐานการสั่งซื้อสินค้ามายังภูมิภาคเอเชียซึ่งมีความพร้อมของอุตสาหกรรมสนับสนุน และมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่ามากขึ้นทุกขณะ
"นาทีนี้อาเซียนที่ประกอบด้วยอินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ไทย และลาว และเอเชียใต้ได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา และเนปาลถือเป็นกลุ่มที่จะเป็นดาวรุ่งในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเพื่อส่งออก ขณะที่จีน และอินเดีย ซึ่งเป็นสองผู้ผลิตส่งออกรายใหญ่ของโลกเวลานี้ไม่น่ากลัวเพราะเศรษฐกิจยังขยายตัวสูงมีกำลังซื้อสูงขึ้น ทำให้ทั้งสองประเทศหันไปทำตลาดในประเทศมากขึ้น โดยพบว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยอดส่งออกเครื่องนุ่งห่มของสองประเทศขยายตัวลดลงเรื่อยๆ"
สำหรับยุทธศาสตร์ในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยที่ได้หารือกันนายวัลลภ ยังกล่าวว่า จะมุ่งเน้นในหลายเรื่อง เช่น การพัฒนาคุณภาพสินค้าจับกลุ่มตลาดบน(ไฮเอนด์)ให้มากขึ้น เพื่อลดผลกระทบการแข่งขันกับสินค้าระดับกลางและล่างของเพื่อนบ้าน การพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำให้มีความหลากหลายเพื่อตอบสนองการผลิตสินค้าไฮเอนด์ การสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
นอกจากนี้สิ่งที่ต้องการสนับสนุนจากรัฐบาลคือ การให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทการค้า(เทรดดิ้ง คัมปะนี) ที่เป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าชั้นนำของโลก เข้ามาตั้งสำนักงาน และใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)ของภูมิภาค ในการร่วมพัฒนาสินค้า การจัดหาและสั่งซื้อสินค้าในภูมิภาค ที่สำคัญจะเสนอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์(พับลิกโปรดักต์ ดีเวลอปเมนต์) ในภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม
ทั้งในเรื่องการพัฒนาดีไซน์ ตลาด และวัตถุดิบให้มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อการแข่งขัน โดยจะขอใช้งบจากโครงการครีเอทีฟไทยแลนด์ อีกส่วนหนึ่งคือ การจัดตั้งศูนย์พัฒนาสินค้าของผู้ประกอบการแต่ละรายร่วมกับลูกค้า(ไพรเวต โปรดักต์ ดีเวลลอปเมนต์ เซ็นเตอร์)จะขอให้รัฐบาลสนับสนุนสิทธิประโยชน์ด้านภาษี เช่นการลดภาษีรายได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีรายได้นิติบุคคลให้กับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งสำนักงานในไทยเพื่อร่วมพัฒนาสินค้า เป็นต้น
อนึ่ง ตลาดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโลกในปี 2551 มีมูลค่ารวม 324,539 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 11 ล้านล้านบาท(อัตราแลกเปลี่ยน 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ)โดยจีนมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดสัดส่วน 35 % รองลงมาคืออินเดีย 27% ส่วนไทยมีส่วนแบ่ง 1%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

**********
05/11/52
ไทยลุ้น"อียู"ขยายเวลาเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดรองเท้าจากจีนและเวียดนามอีก 15 เดือน
ชี้หากเป็นจริงจะช่วยต่อลมหายใจได้อีกเฮือก แต่ยังผวาผลข้างเคียงหวั่นสินค้าจากทั้งสองประเทศเข้ามาสวมสิทธิ์ไทยส่งออกอีกรอบ หนักใจอินโดฯคู่แข่งที่น่ากลัวรายใหม่
นายมิ่งพันธ์ ฉายาวิจิตรศิลป์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการยุโรปเตรียมเสนอร่างกฎหมายขยายเวลาการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี)สินค้ารองเท้าหนังจากจีน และเวียดนามในอัตราเดิมคือ จีน 16.5% และเวียดนาม 10% ตามคำร้องขอของสมาพันธ์ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรองเท้าของสหภาพยุโรป(อียู)ออกไปอีก 15 เดือนนับจากเดือนมกราคม 2553 ถือเป็นข่าวดีต่อการส่งออกรองเท้าของไทย หลังจากการเรียกเก็บภาษีเอดีในสินค้ารองเท้าจากทั้งสองประเทศจะครบระยะเวลา 2 ปีภายในสิ้นปีนี้ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวจะนำเสนอต่อที่ประชุมประเทศสมาชิกอียูพิจารณาตัดสินในปลายเดือนนี้
สำหรับในช่วง 2 ปีที่อียู เรียกเก็บภาษีเอดีจากจีนและเวียดนามทำให้รองเท้าของไทยซึ่งส่วนใหญ่จับตลาดระดับกลางสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น เนื่องจากอัตราภาษีเอดีที่อียูเรียกเก็บทำให้สินค้าไทยเทียบกับสินค้าจีนและเวียดนามในระดับเดียวกันมีราคาถูกกว่า เพราะไทยเสียภาษีนำเข้าเพียง 2-3% ขณะที่สินค้าระดับล่างซึ่งเป็นสินค้าส่วนใหญ่ที่จีนและเวียดนามผลิตไทยไม่สามารถแข่งขัน
"การเก็บภาษีเอดีสินค้ารองเท้าจากจีนและเวียดนามของอียูช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้เรารอดตายได้ หากมีการขยายเวลาออกไปอีกจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันเราดีขึ้น โดยปัจจุบันผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างความได้เปรียบคือรับออร์เดอร์เล็กๆ ในหลากหลายดีไซน์ และได้มูลค่าเพิ่ม แต่ของจีนและเวียดนามจะผลิตไม่กี่แบบในปริมาณมากและเน้นราคาถูกเป็นหลัก"นายมิ่งพันธ์ กล่าวและว่า
สิ่งที่ไทยต้องระวังหากอียูขยายเวลาการเก็บภาษีเอดีรองเท้าจีนและเวียดนามออกไปอีกคืออาจมีสินค้ารองเท้าจากทั้งสองประเทศเข้ามาสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้าจากไทยเพื่อส่งออกไปอียูเพื่อเสียภาษีในอัตราต่ำ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นและสามารถจับได้บางรายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรองเท้าจากจีนและเวียดนามเข้ามาสวมสิทธิ์โดยสมคบกับโรงงานรองเท้าไทยที่มีชื่อแปลกๆ ไม่คุ้นหูเพื่อขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า(C/O)จากกระทรวงพาณิชย์ในการส่งออกสินค้าไปอียู ในเรื่องนี้ได้เตรียมให้สมาชิกช่วยจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะหากอียูตรวจพบอาจขึ้นภาษีเอดีตอบโต้ไทยได้
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า กล่าวถึงภาพอุตสาหกรรมรองเท้าไทยว่า มีโรงงานผลิตทั่วประเทศ 400-500 ราย มีคนงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 500,000 คน ในปี 2552 คาดการส่งออกรองเท้าของไทยจะขยายตัวลดลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว(ดูตารางประกอบ) เป็นผลกระทบจากจากภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่ามาก ส่วนปีหน้าคาดจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว โดยมีคู่แข่งที่น่ากลัวในเวลานี้คืออินโดนีเซียที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันการตั้งโรงงานในพื้นที่ที่มีแรงงานมาก และราคาถูก ทำให้ในปีนี้มีโรงงานรองเท้าเกิดใหม่ในอินโดนีเซีย 10-20 โรง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ผลิตได้ 5,000-10,000 คู่ต่อวัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

***********
23/10/52
ส.อุตฯนุ่งห่มปรับแผนส่งออกจีนหลังยอด8เดือนทะลัก300%


สมาคมอุตฯเครื่องนุ่งห่มตะลึง ยอดส่งออกจีน 8 เดือนทะลุ 300% เตรียมปรับตัว ชี้ปี"53 มีโอกาสมากขึ้นหลังกรอบเอฟทีเออาเซียน-จีน ลด 0% ทุกรายการ เตรียมปรับตัวจากเดิมเน้นตลาดสหรัฐ- อียู หันมาเจาะตลาดจีน-ญี่ปุ่น ที่ได้รับผลดีจาก FTA แทน

นายเดช พัฒนเศรษฐพงษ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบปรับตัวลดการพึ่งตลาดหลัก โดยมุ่งเน้นเจาะตลาดอาเซียน และประเทศที่ไทยมีข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรีระดับทวิภาคี (FTA) ซึ่งเริ่มจะเห็นผลชัดเจน โดยเฉพาะตลาดจีน การส่งออก 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ของปี 2552 มีมูลค่า 16.80 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 334% จากปีก่อน

แต่มีสัดส่วนการส่งออกไม่ถึง 1% ซึ่งในปี 2553 ตลาดนี้จะได้รับผลดีจากลดภาษีเครื่องนุ่งห่มทุกรายการเป็น 0% จากปัจจุบันอัตราภาษีเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ด้านกำลังซื้อผู้บริโภคกว่า 1,300 ล้านคน มีกำลังซื้อในประเทศสูง ฉะนั้นตลาดจีนจึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจะต้องติดตามการเพิ่มมาตรการทางการค้าซึ่งรัฐบาลจีนได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้า รายงานสารปนเปื้อนต่าง ๆ มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดที่มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น ภายหลังจากการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น ส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกช่วง 8 เดือนแรก ไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจาก 6.12% เป็น 7.84% มีมูลค่า 157.49 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.06% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนตลาดสหรัฐมีมูลค่า 796.86 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 27.98% อังกฤษมูลค่า 127.93 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15.81%

ส่วนภาพรวมการส่งออกรายสินค้านั้นเป็นที่น่าสังเกตว่า มีเพียงกลุ่มสินค้าที่ทำจากผ้าไหมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 5.75 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 30.70% ส่วนสินค้าที่เป็นกลุ่ม produce champion ที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตมีการส่งออก ลดลงทั้งหมด ได้แก่ เสื้อผ้าเด็กลดลง 8.80% ชุดชั้นในลดลง 15.97% และชุดกีฬาจากผ้าใยสังเคราะห์ลดลง 9.51%

การส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มปีนี้ คาดว่าจะติดลบต่ำกว่า 10% มูลค่า 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการติดลบที่มากกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 5-7% โดยขณะนี้การส่งออกช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) 2552 มีมูลค่า 2,009.84 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 68,335 ล้านบาท ปรับลดลง 15.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนในปี 2553 คาดว่า การส่งออกสินค้าเครื่องนุ่มห่มจะขยายตัวเป็นบวกอย่างต่ำ 10% ขึ้นไป เพราะภาวะเศรษฐกิจเริ่ม ฟื้นตัว ประเทศคู่ค้าเริ่มกลับมาสั่งซื้อ สินค้าปกติ โดยจะเริ่มมีออร์เดอร์กลับมาในช่วงไตรมาส 4/2552 คาดว่าอัตราขยายตัวจะเพิ่มขึ้นหากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ภาวะส่งออกเริ่มชะลอตัวลงอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มหาช่องทางไปสู่ตลาดอื่นเพื่อชดเชยตลาด หลังทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป ต่างได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ด้านนายสุกิจ คงปิยาจารย์ อุปนายก สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า การเปิดเสรีการค้าอาเซียนในปี 2553 ซึ่งมีกำหนดจะลดภาษีสินค้าทั้งหมดเป็น 0% นั้น ไทยจะได้ประโยชน์ในแง่ที่จะสามารถขยายฐานการตลาดจากไทยซึ่งมีผู้ซื้อ 60 ล้านคน เพิ่มเป็น 580 ล้านคน และการใช้ประโยชน์แหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียน

ซึ่งจะสามารถเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ ผลิตภายในอาเซียนได้ อีกทั้งไทยมีความเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางอาเซียน เพราะไทยได้เปรียบภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางมีพื้นที่เชื่อมโยงกับหลายประเทศ มีแรงงานที่มีฝีมือ การออกแบบ และการตลาด ในอนาคตจะสามารถผลักดันเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้
prachachart
**********
16/10/52
อุตฯ สิ่งทอของบ ครีเอทีฟฯ 80 ล้านพัฒนา
อุตสาหกรรมสิ่งทอของบ ครีเอทีฟ ดีโคโนมี 80 ล้านบาท ตั้งเป้าพัฒนาสิ่งทอ 4 สาขา
นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่าสถาบันอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่าสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ยื่นของบประมาณจำนวน 70-80 ล้านบาท จากโครงการไทยเข้มแข็งหรือในโครงการ ครีเอทีฟ อีโคโนมี เพื่อนำมาพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอใน 4 สาขา ได้แก่ 1.สิ่งทอสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ 2.สิ่งทอสำหรับวงการแพทย์ 3.สิ่งทอสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร 4.สิ่งทอสำหรับงานโยธา
***********
07/10/52
คาดส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยปีนี้ยังติดลบสูงกว่า 20%

Posted on Wednesday, October 07, 2009
นายเดช พัฒนเศรษฐพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย คาดว่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่มในปีนี้จะยังติดลบสูงถึง 21 -22% มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะติดลบอยู่ประมาณ 15% เนื่องจากผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่เชื่อว่าการเติบโตจะกลับมาเป็นบวกได้ในปีหน้าประมาณ 5-10% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของไทยยังมีปัญหาเรื่องการแข่งขัน ดังนั้นจำเป็นต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า

นายเดช บอกด้วยว่า สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ได้พัฒนาวัตถุดิบในการผลิตจากต้นไผ่ ซึ่งจะเป็นเส้นใยที่ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา สวมใส่สบาย และยังสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เนื่องจากผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มในปัจจุบันยังทำมาจากฝ้ายหรือใยสังเคราะห์ ซึ่งมีการใช้สารเคมีในวัตถุดิบ ทั้งนี้หากเส้นใยจากต้นไผ่ได้รับการตอบรับที่ดี ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการผลิตและนำออกสู่ตลาด ซึ่งคาดว่าน่าจะทำให้ธุรกิจเครื่องนุ่งห่มขยายตัวได้มากขึ้น
money news update
**********
29/09/52
สิ่งทอไทยไปญี่ปุ่นโตสวนวิกฤติ อานิสงส์กรอบความตกลง'JTEPA /AJCEP'ซามูไรลดนำเข้าจากจีน
อานิสงส์ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจสองกรอบใหญ่ ดันส่งออกสิ่งทอไทยไปญี่ปุ่นพุ่งกระฉูด สวนทางตลาดอื่นยังติดลบ เสื้อผ้า-ผ้าผืนชี้อนาคตสดใส ญี่ปุ่นหันมาพัฒนาสินค้าร่วมกับผู้ประกอบการไทยหวังนำเข้าเพิ่ม ลดพึ่งพาจีน มั่นใจไทยชิงแชร์ตลาดญี่ปุ่นมูลค่ากว่า 22,000 ล้านดอลลาร์ได้เพิ่มขึ้น

นายเดช พัฒนเศรษฐพงษ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ในส่วนของประเทศไทยที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2552 โดยทั้งสองกรอบความตกลงได้ลดภาษีนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มระหว่างกันลงเป็น 0% แล้วในเวลานี้ ได้ส่งผลดีต่อการส่งออกสิ่งทอของไทยอย่างมาก

โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มของไทยซึ่งเป็นปลายน้ำของอุตสาหกรรมสิ่งทอไปยังญี่ปุ่นมีมูลค่า 157.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีการส่งออก 147.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.54% ถือเป็นตลาดส่งออกหลักเพียงตลาดเดียวของไทยที่ยังขยายตัวเป็นบวก ขณะที่ตลาดหลักอื่นๆ คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และอาเซียนยังขยายตัวติดลบตามภาวะเศรษฐกิจโลก

ด้านนายวัลลภ วิตนากร เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวเสริมว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยไปญี่ปุ่นยังขยายตัวสวนกระแสตลาดอื่นๆ สืบเนื่องจากภาษีที่ลดลงเป็น 0% จูงใจให้คู่ค้าจากญี่ปุ่นได้เข้ามาพัฒนาสินค้าร่วมกับผู้ผลิตของไทยเพื่อส่งออกไปญี่ปุ่นมากขึ้น ประกอบกับญี่ปุ่นต้องการที่จะลดการพึ่งพาการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากจีนเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องคุณภาพและการส่งมอบสินค้า โดยจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งห่มของญี่ปุ่นประมาณ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ในอดีตต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนสัดส่วนกว่า 91% แต่ในปีนี้จะลดสัดส่วนลงเหลือ 83%

"ญี่ปุ่นได้เริ่มย้ายฐานการผลิตและการสั่งซื้อมาที่อาเซียน เช่น ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า และลาวมากขึ้น บางส่วนไปบังกลาเทศโดยให้สิทธิภาษีนำเข้าอัตรา 0% เช่นกัน อย่างไรก็ดีปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยไปญี่ปุ่นยังน้อย โดยช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ส่งออกไปสัดส่วนประมาณ 8% ของการส่งออกในภาพรวม ส่วนตลาดที่ไทยส่งออกมีสัดส่วนมากที่สุดคือสหรัฐฯและอียู มีสัดส่วน 40 และ 33% ตามลำดับ"

นายวัลลภ กล่าวอีกว่า คาดการส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยในปีนี้จะขยายตัวลดลงจากปีที่แล้ว 7-10% จากปีที่แล้วส่งออกมูลค่า 3,505 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยตัวเลขรอบ 8 เดือนส่งออกมูลค่า 2,009.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้สถานการณ์เศรษฐกิจและการส่งออกได้เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้มั่นใจว่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยในปีหน้าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกอย่างแน่นอน

ขณะที่นายสมศักดิ์ ศรีสุภรณ์วาณิชย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทอผ้าไทย กล่าวว่า จากความตกลง JTEPA และ AJCEP ที่มีผลให้สินค้าผ้าผืนส่งออกไปญี่ปุ่นลดภาษีจาก 11-13% ลงเป็น 0% แล้วในเวลานี้ มีผลให้ไทยส่งออกผ้าผืนไปญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นเช่นผ้าดิบเพื่อเอาไปฟอกย้อมจากปกติญี่ปุ่นจะซื้อจากจีนเป็นหลัก นอกจากนี้เป็นผลจากโครงการความร่วมมือด้านสิ่งทอภายใต้ความตกลงทั้งสองกรอบ โดยญี่ปุ่นได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือจำนวน 11 ล้านเยน หรือประมาณ 3 ล้านบาทในการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาช่วยพัฒนาด้านสิ่งทอของไทย แยกเป็นโรงงานทอผ้า 6 โรง โรงฟอกย้อม 4 โรง และโรงงานเครื่องนุ่งห่ม 4 โรง ซึ่งในอนาคตโรงงานเหล่านี้จะช่วยเพิ่มยอดส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นรวมถึงตลาดอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น

"ตัวอย่างที่ผ่านมาโรงงานทอผ้าของผมไม่เคยได้รับออร์เดอร์จากญี่ปุ่น แต่ขณะนี้เขาเริ่มมาลงออร์เดอร์เพื่อนำไปตัดเย็บชุดยูนิฟอร์มมากขึ้น
ฐานธุรกิจ
**********
ข่าวอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น