วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

ข่าวอุตสาหกรรมค้าปลีก 1

23/12/52
News Comment
Commerce ครม. ผ่านร่างพ.ร.บ.ค้าปลีก เตรียมส่งเข้าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา (ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์)

ความเห็นนักวิเคราะห์ :
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง : โดยให้ยึดร่างของกระทรวงพาณิชย์เป็นหลัก ขั้นตอนหลังจากนี้ให้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาคาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 60 วันและส่งเรื่องกลับมายังครม. อีกครั้งก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภาปีหน้า โดยเนื้อหาสาระหลักของร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้คือ

1. มีการกำหนดการขออนุญาตตั้ง หรือขยายสาขาโดยแบ่งขนาดเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1.1 ร้านค้าขนาดใหญ่มาก พื้นที่ 3,000 ตร.ม.ขึ้นไป ต้องมีระยะห่างจากเขตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 10 กม. เวลาเปิด-ปิด 12-16 ชั่วโมง
1.2 ร้านค้าขนาดใหญ่ พื้นที่ 1,000-2,999 ตร.ม. ต้องห่างเขตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 5 กม. เวลาเปิด-ปิด 12-16 ชั่วโมง
1.3 ร้านค้าขนาดกลางพื้นที่ 300-999 ตร.ม. ต้องห่างจากเขตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 3 กม. เวลาเปิด-ปิด 12-16 ชั่วโมง
1.4 ร้านค้าขนาดเล็ก พื้นที่ 120-299 ตร.ม. ต้องห่างจากเขตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 1 กม.ไม่กำหนดระยะเวลาเปิด-ปิด
2. และในส่วนของการจัดตั้งคณะกรรมการนั้นนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จะมีเพียงชุดเดียว คือคณะกรรมการกำกับธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ทำหน้าที่ทั้งกำกับนโยบายและออกใบอนุญาต ไม่จำเป็นต้องตั้งกรรมการระดับจังหวัด แต่ให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขยายสาขาในบางท้องถิ่นได้
ผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของ Modern Trade : SCRI ประเมินผลกระทบของพ.ร.บ.ค้าปลีก – ค้าส่งหากผ่านที่ประชุมรัฐสภา และได้ออกเป็นกฎหมายในปีหน้าดังนี้
1. ระยะสั้นในปี 2553 คาดว่าการเปิดสาขาใหม่ของผู้ประกอบการยังคงเป็นไปตามตามแผนเดิมที่วางไว้ เพราะกว่ากฎหมายค้าปลีก – ค้าส่งจะมีผลบังคับใช้ น่าจะต้องใช้เวลาเร็วที่สุดคือในช่วง 2H/53
2. ระยะยาวมีมุมมองว่าผู้ประกอบการยังคงเปิดสาขาใหม่ได้ เนื่องจากกฎหมายค้าปลีก – ค้าส่งฉบับนี้ไม่ได้จำกัดการขยายสาขาของธุรกิจ Modern Trade เพียงแต่เน้นในเรื่องของสถานที่ในการเปิดสาขา ตามแต่ละประเภทร้านค้าที่กำหนดโดยขนาดพื้นที่ขาย แต่จะส่งผลให้การเปิดสาขาใหม่ทำได้ยากขึ้น เพราะมีขั้นตอนกระบวนการขออนุญาตที่มากขึ้น และการหาทำเลพื้นที่การเปิดสาขาใหม่ที่เหมาะสมทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะร้าน Modern Trade ขนาดใหญ่
3. หากพิจารณาในอีกมุมมองหนึ่งคือ พ.ร.บ.ค้าปลีกฉบับนี้จะเป็น “Barrier to Entry” ของผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง เนื่องจากการเปิดสาขาใหม่ที่ทำได้ยากขึ้น เพราะผู้ประกอบการรายเดิมในปัจจุบันมีการเปิดสาขาไว้ครอบคลุมพื้นที่จำนวนมากแล้ว
4. ผู้ประกอบการในกลุ่มพาณิชย์มีแนวโน้มที่จะเปิดสาขาขนาดเล็กมากขึ้น เนื่องจากมีข้อกำหนดในกฎหมายที่น้อยกว่าซึ่งจะทำให้การแข่งขันในธุรกิจประเภทร้านสะดวกซื้อ เช่น CPALL และโชห่วย รุนแรงมากขึ้น
คงน้ำหนักการลงทุนเป็น “BULLISH” : SCRI ยังคงน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มพาณิชย์เป็น “Bullish” โดยประเมินว่าหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากพ.ร.บ.ค้าปลีก-ค้าส่งน้อยที่สุด คือ GLOBAL เพราะมีกลยุทธ์การเปิดสาขาในพื้นที่ชานเมือง และ CPALL เพราะเป็นร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กที่มีข้อกำหนดในกฎหมายไม่มากนัก สำหรับคำแนะนำการลงทุนในหุ้นกลุ่มพาณิชย์ SCRI แนะนำ “ซื้อ” GLOBAL / BIGC และ MAKRO ที่มูลค่าเหมาะสม 4.00 บาท / 51.00 บาท และ 100.00 บาท ตามลำดับ แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” CPALL ที่มูลค่าเหมาะสม 25.00 บาท และแนะนำ “ถือ” HMPRO ที่มูลค่าเหมาะสม 4.60 บาท

**********
18/12/52
ร้านใกล้บ้านแรงปีหน้าผุดพันสาขา "บิ๊กซี-คาร์ฟูร์"เดินหน้าโมเดลไซซ์เล็กชนเจ้าตลาด

ยักษ์ค้าปลีก โหมหนักเล็งปูพรมสาขาใหม่ รับกระแสประหยัด ลูกค้าซื้อของใกล้บ้าน พร้อมปรับตัวรับ พ.ร.บ.ค้าปลีกฯ จับตา "บิ๊กซี-คาร์ฟูร์" เล็งต่อยอดไซซ์เล็ก ระเบิดศึกร้านค้าใกล้บ้าน ซันร้อยแปด เผยปีนี้ทุ่มเวลารีวิว ปีหน้าลุยสาขาใหม่ 400 สาขา สมาคมค้าปลีกคาดตลาดโต 5-6% ปีหน้า

ทิศทางการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในปีหน้า สิ่งที่น่าจับตามองของแต่ละค่ายคือการปรับตัวในเรื่องการขยายสาขาเพื่อให้สอดรับทั้งกับพฤติกรรมผู้บริโภค สภาพเศรษฐกิจ รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นั่นทำให้คนในวงการคาดกันว่าทุกค่ายจะเริ่มมองมาที่ สาขาไซซ์เล็กที่มีขนาดพื้นที่ที่ไม่เกิน 300 ตร.ม. ร้านค้าใกล้บ้าน โดยเฉพาะบรรดาไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่จะเป็นช่องทางใหม่ในการขยายสาขา

รายงานข่าวจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้ว่าภาพรวมปีหน้าผู้ประกอบการแต่ละค่ายยังคงมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่ม แต่อาจชะลอตัวบ้างจากมาตรการภาครัฐที่เข้ามาคุม โดยปีนี้คาดว่าตลาดโตขึ้น 3-4% และปีหน้าถ้าไม่เลวร้ายนักน่าจะโตได้ 5-6%

"คาร์ฟูร์-บิ๊กซี" รุกเพิ่มสาขาอย่างต่ำ 10 แห่ง

แหล่งข่าวในวงการค้าปลีกกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปีหน้าการแข่งขันของรีเทลในเซ็กเมนต์ของคอนวีเนี่ยนสโตร์และซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ร้านค้าใกล้บ้านจะรุนแรงอย่างยิ่ง นอกจากผู้เล่นหลัก ๆ ที่มีอยู่ ปีหน้าคาร์ฟูร์และบิ๊กซีก็มีแผนเพิ่มสาขาค่ายละไม่ต่ำกว่า 10 สาขา เพื่อทดลองโมเดล หากได้รับการตอบรับที่ดี ก็จะเปิดสาขาใหม่ต่อเนื่อง

แหล่งข่าวจากบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า มินิบิ๊กซี ถือเป็นธุรกิจใหม่ของบริษัท ตามหลักการก็ควรจะขยายต่อ โดยปีหน้าจะขยายสาขามินิบิ๊กซีต่อแน่นอน แต่ยังตอบไม่ได้ว่ากี่สาขา

ปัจจุบัน มินิบิ๊กซี มี 11 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ สาขาล่าสุดที่เปิด ได้แก่สาขาพิบูลสงครามและแฮปปี้แลนด์ รูปแบบร้านขนาด 80-100 ตร.ม. จำหน่ายสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน และที่แตกต่างจากร้านสะดวกซื้ออื่น ๆ คือมีเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้สดจำหน่ายด้วย

ผู้สื่อข่าวยังได้สอบถามไปยังผู้บริหารคาร์ฟูร์ ซึ่งระบุว่ายังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ในขณะนี้

สำหรับโลตัสเอ็กซ์เพรส มีแผนเพิ่มสาขาอีก 50-60 สาขาในปีหน้า ใช้พื้นที่ต่อสาขา 300 ตารางเมตร ภายใต้คอนเซ็ปต์ซูเปอร์ มาร์เก็ตขนาดเล็ก จำหน่ายทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารสด ขณะที่ท็อปส์เดลี่ ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตขนาด 300 ตารางเมตร ปีหน้ามีแผนเพิ่ม 40 สาขา จากที่ปัจจุบันมี 22 สาขา ส่วนคาร์ฟูร์ซิตี้ ซูเปอร์มาร์เก็ต ขนาดเล็ก โมเดลใหม่ของคาร์ฟูร์ ปัจจุบันทดลองเพียง 1 สาขา ส่วนเซเว่นอีเลฟเว่น เจ้าตลาดคอนวีเนี่ยนสโตร์ สิ้นปีนี้จะมีสาขาไม่ต่ำกว่า 5,200 สาขา และวางแผนขยาย ปีหน้าอีก 450 สาขา

108 ช็อป เปิดอีก 400 แห่ง

นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซันร้อยแปด จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้าน 108 ช็อป เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ร้านค้าชุมชน หรือร้านค้าใกล้บ้าน ยังขยายได้อีกมาก เพราะไทยยังมีการขยายตัวของชุมชนต่อเนื่อง หลายโลเกชั่นเดิมที่เป็นโลเกชั่น B ก็ขยับเป็น A ซึ่งก็จะรองรับร้านค้าชุมชนที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดย 108 ช็อป ก็จะมีการพัฒนา ปรับร้านให้ใหญ่ขึ้น ตามการขยายตัวของชุมชนเช่นกัน

สำหรับร้าน 108 ช็อป ไม่ได้มีเป้าหมายแข่งกับบรรดาร้านไฮเปอร์มาร์ท ที่ลงมาแข่งขันในตลาดนี้ แต่เป็นคอนวีเนี่ยนสโตร์เพื่อต้องการเป็นทางออกของบรรดาโชห่วยในการแข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ปัจจุบันมีสาขา 700 สาขา แม้จะมีการเปิดร้านเกือบ 200 สาขาในปีนี้ แต่จากนโยบายปีนี้เน้นรีวิวสาขาที่มีอยู่ จึงมีการปิดร้านในหลายทำเลที่ยอดขายไม่ดี ทำให้ตั้งแต่ปีหน้าจะมีการขยายสาขาอย่างเต็มที่ โดยตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 400 สาขา เป็นลงทุนเองและผ่านแฟรนไชส์อย่างละ 50:50

ชี้เทรนด์ร้านค้าใกล้บ้านแรง

นางวรรณี รัตนพล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินิทิเอทีฟว์ จำกัด กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่าแนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกส่วนใหญ่จะโฟกัสมายังไซซ์เล็กที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต เห็นชัดจากกรณีการขยายตัวของเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ขณะเดียวกันยังมุ่งขยายไปยังตลาดต่างจังหวัดด้วยเช่นกัน เพื่อตอบโจทย์ความสะดวกให้กับกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เทรนด์ของร้านค้าใกล้บ้านเกิดขึ้นมาพักใหญ่แล้ว การที่บรรดาไฮเปอร์มาร์เก็ตต่างลงมาสู่ตลาดนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะว่าห้างขนาดใหญ่ค่าใช้จ่ายสูง หาโลเกชั่นยากขึ้น ขณะเดียวกัน ข้อดีสำหรับร้านค้าขนาดเล็ก หากไม่ดี ก็เลิกได้ง่าย ต้นทุนในการขาย การบริหารงานต่ำกว่า หาทำเลเปิดได้ง่ายกว่า

อย่างไรก็ตาม มองว่าจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ผู้บริโภคเดินทางไปศูนย์การค้าน้อยลง จะเอื้อต่อการเติบโตของร้านค้าใกล้บ้านตลอดปีข้างหน้านี้

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีก ชี้ว่า ค้าปลีกไซซ์เล็ก ขณะนี้มีผู้นำรายใหญ่อย่าง เซเว่นฯ และโลตัส เอ็กซ์เพรส ซึ่งให้บริการครอบคลุมแล้ว หากจะมีผู้เล่นเบอร์ 3 มาเพิ่ม น่าจะทำตลาดลำบากพอสมควร เพราะต้องทุ่มลงทุนมาก นอกจากนี้ยังต้องรอดูความคืบหน้าของ พ.ร.บ.ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ที่กำลังจะเกิดว่าจะมีข้อกำหนดอย่างไร
prachachat
************
07/12/52
ชำแหละ 2 ร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง กระทรวงพาณิชย์ & ผู้แทนการค้า "ใคร" เจ๋งกว่ากัน

ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจ ค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ... ได้กลายเป็นร่างกฎหมายฉบับประวัติศาสตร์ที่ใช้เวลาในกระบวนการออกกฎหมายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปีจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผ่านรัฐบาลมาไม่ต่ำกว่า 4 ชุด และมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อต่อไปอีก หลังจากที่ต้องผจญกับปัญหาการเมืองภายในรัฐบาลชุดต่าง ๆ และการ "ล็อบบี้" จากบรรดา "ยักษ์ใหญ่" ของผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูก "แช่แข็ง" มาเป็นระยะเวลายาวนาน

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ พร้อม ๆ กับร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง ที่ถูกเสนอโดยผู้แทนการค้าไทย (TTR-นายเกียรติ สิทธีอมร) โดยคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ มีมติ "รับหลักการ" ซึ่งก็เหมือนกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในหลาย ๆ รัฐบาลที่ผ่านมา

เนื่องจากมีเงื่อนไขว่ายังมีหลายประเด็นสำคัญที่มีความเห็นแตกต่างกันในร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ดังนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จึงให้กระทรวงพาณิชย์ กับ ผู้แทนการค้าไทย กลับไปหารือร่วมกันในประเด็นที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ อาทิ คณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง, การกำหนดธุรกิจ ค้าปลีกค้าส่ง และการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งแบบดั้งเดิม (ร้านโชห่วย) โดยนายอภิสิทธิ์ได้ตั้งความหวังไว้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีความคืบหน้าในอีก 1 เดือนข้างหน้า

ความต่างของร่าง พ.ร.บ.

เริ่มตั้งแต่คณะกรรมการกลางกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ในร่างฉบับกระทรวงพาณิชย์เสนอให้มี คณะกรรมการ 2 ชุดด้วยกัน คือ คณะกรรมการกลางว่าด้วยการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง กับคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง โดย คณะกรรมการกลางจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการส่วนจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ในขณะที่ร่างฉบับผู้แทนการค้าไทยเสนอให้มี คณะกรรมการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพียงชุดเดียว

ดูเหมือนว่า ร่างฉบับผู้แทนการค้าไทย มีเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะ "กีดกัน" การเข้ามามี "เอี่ยว" ของบรรดานักการเมืองและผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง ทั้งหลาย จนถึงกับระบุว่า ห้ามมิให้ กรรมการ เป็นข้าราชการการเมือง ผู้มีตำแหน่งในพรรคการเมือง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง

อย่างไรก็ตาม การแบ่งคณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่งออกเป็น 2 ชุด ในร่างฉบับกระทรวงพาณิชย์ มีนัยสำคัญอยู่ที่การให้อำนาจคณะกรรมการในส่วนจังหวัดสามารถพิจารณา "ออกใบอนุญาต" การประกอบธุรกิจและการขยายสาขาได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยคณะกรรมการกลาง ในประเด็นนี้ ร่างฉบับ ผู้แทนการค้าไทยค่อนข้างเป็นห่วงในเรื่องของ "ผลประโยชน์" จึงเสนอให้มีคณะกรรมการตัดสินเพียงชุดเดียวในส่วนกลาง

การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง

นับเป็น "หัวใจ" สำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ทางร่างฉบับกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจ จะต้องมี 1) ขนาดพื้นที่ของสถานที่ประกอบการขายสินค้าตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป (ไม่รวมพื้นที่ใช้สอยอย่างอื่นที่ไม่ได้ใช้ในการขายสินค้า อาทิ พื้นที่ให้เช่า-คลังสินค้า-ที่จอดรถ) 2)การมียอดรายได้ หรือประมาณการรายได้ของทุกสาขาใน ปีภาษีที่ผ่านมา หรือ ประมาณรายได้ตามแผนธุรกิจในปีแรกรวมกันตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และ 3)ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ที่ผู้ประกอบการให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา

ผลของ "นิยาม" ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งฉบับของกระทรวงพาณิชย์ข้างต้น ทำให้สามารถแบ่งประเภทธุรกิจค้าปลีกค้าส่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่มาก มีพื้นที่ตั้งแต่ 3,000 ตารางเมตรขึ้นไป, ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป, ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งขนาดกลางมีพื้นที่ตั้งแต่ 300-999 ตารางเมตรขึ้นไป และธุรกิจค้าปลีกค้าส่งขนาดเล็กมีพื้นที่ ตั้งแต่ 120-299 ตารางเมตรขึ้นไป

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่เข้าเกณฑ์จะต้องขออนุญาตในการประกอบการตามหลักเกณฑ์ที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้กำหนดก็คือ ธุรกิจขนาดใหญ่มากกับธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ถ้าธุรกิจขนาดกลางกับขนาดเล็กแม้พื้นที่จะไม่เข้าเกณฑ์ แต่มียอดขายรวมกันในแต่ละสาขามากกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ก็ต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจ

ในขณะที่ร่างฉบับผู้แทนการค้าไทย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเกณฑ์พื้นที่-รายได้ และประเภทธุรกิจ แต่คำนึงถึงการอยู่ร่วมกัน ความเป็นธรรม ของผู้ประกอบการสมัยใหม่กับผู้ประกอบการโชห่วยดั้งเดิม ตามเกณฑ์ 2 ประการ คือ 1)สถานที่ตั้ง-ขนาดของพื้นที่-การกระจายตัวของ ผู้ประกอบการเดิม-ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการแข่งขันในพื้นที่ และความหนาแน่นของจำนวนประชากรในพื้นที่ 2)การกำหนดเวลาเปิด-ปิด เวลาทำการของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในกรณีที่พื้นที่นั้น ๆ มีผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกค้าส่งอยู่อย่างหนาแน่น

นอกจากนี้ร่างฉบับของผู้แทนการค้าไทยยัง "ไปไกล" ถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง กับผู้ผลิต/จำหน่ายสินค้า รวมไปถึงการ เปิดทางให้ประชาชนในพื้นที่แสดงความคิดเห็นประกอบการพิจารณากรณีเกิดความ ขัดแย้งอย่างรุนแรงอันเป็นผลมาจากการประกอบธุรกิจด้วย ซึ่งร่างฉบับกระทรวงพาณิชย์ไม่มีในส่วนนี้

มีข้อน่าสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่งทั้ง 2 ฉบับนั้น ไม่ได้ลงไปในรายละเอียดถึงการกำหนดหลักเกณฑ์-วิธีการ-เงื่อนไขในการประกอบธุรกิจแต่ละประเภท รวมถึง หลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาต เพียงแต่เขียนไว้อย่างกว้าง ๆ ว่า ให้คำนึงถึงวัฒนธรรม/ประเพณี-สภาพสังคม-วิถีชุมชน-สิ่งแวดล้อม-อัตราความหนาแน่นของประชากร-การทำประชาพิจารณ์ เพื่อเปิดทางให้ออกเป็น "กฎกระทรวง" ต่อไป
prachachart
**********
28/11/52
บิ๊กมูฟ "อนันต์ อัศวโภคิน" ปั้น "Terminal 21" ค้าปลีกแนวใหม่ค่าย "แลนด์ & เฮ้าส์"
แม้บางสิ่งบางอย่างอาจแตกต่างกัน แต่ก้าวย่างทางธุรกิจของบิ๊กแบรนด์วงการอสังหาริมทรัพย์ทุกประเทศทั่วโลกหนีไม่พ้นการแตกไลน์ขยายฐานครอบคลุมการพัฒนาอสังหาฯ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหลากหลาย ตั้งแต่การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขายและให้เช่า ออฟฟิศ โรงแรม รีสอร์ต ศูนย์การค้า ฯลฯ รวมทั้งสถาบันการเงินซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงธุรกิจนี้ที่ต้องอาศัยเงินทุนในการลงทุนค่อนข้างสูง ราวกับเป็นสูตรสำเร็จ

เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของเบอร์หนึ่งวงการพัฒนาที่ดินเมืองไทยอย่าง "แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์" ที่กำลังถูก บริษัทอสังหาฯอันดับรอง ๆ เร่งสปีด ยอดขายไล่ตามมาติด ๆ เพียงแต่ครั้งนี้แลนด์ฯพลิกโมเดลขยายไลน์สู่ธุรกิจค้าปลีก โดยผนึกกำลังกับ Goverment of Singapore Investment Corporation หรือ GIC ทุ่มเม็ดเงินก้อนโต 6,000 ล้านบาท ลงทุนพัฒนาโครงการ Terminal 21 โครงการศูนย์การค้าแนวใหม่ บนทำเลทองใจกลางเมือง ใกล้แยกอโศก-สุขุมวิท จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสกับรถไฟฟ้าใต้ดิน

โดยดำเนินการภายใต้บริษัท แอล แอนด์ เอช พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัทลูกของแลนด์ฯ และมีสยามรีเทลฯในกลุ่มเดียวกัน ผู้บริหารศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ รับหน้าที่บริหาร

เป็นการแตกไลน์ธุรกิจอีกครั้ง หลังจากเมื่อหลายปีก่อนเคยสร้างความฮือฮาด้วยการแตกไลน์ธุรกิจสู่วงการเงิน โดยก่อตั้งธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) เน้นปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายย่อยโดยเฉพาะ ถือเป็นการ ต่อยอดและเสริมศักยภาพให้ธุรกิจหลักคือพัฒนาที่ดินของเครือแลนด์ฯ และบริษัท ในกลุ่ม ถึงวันนี้ธนาคารแห่งนี้กำลังไต่บันไดดาวเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ

ขณะที่บอสใหญ่ "อนันต์ อัศวโภคิน" ที่พยายามสานฝันปั้นธุรกิจค้าปลีกใต้ร่มเงาแลนด์ฯมานาน เริ่มมองเห็นเค้าลาง หลังประสบความสำเร็จในการเจรจาเช่าที่ดิน 9 ไร่เศษ บริเวณซอยสุขุมวิท 19 ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของโชว์รูมรถยนต์วอลโว่ จากกลุ่มตระกูล "หวั่งหลี" โดยทำสัญญาเช่าระยะยาว 30 ปี บวกกับช่วงเวลาก่อสร้างอีก 3 ปี ตั้งแต่ปลายปี 2550 จากนั้นใช้เวลาเตรียมการ ออกแบบ วางผัง และยื่นขออนุญาต จนได้ฤกษ์ก่อสร้าง 15 กันยายนที่ผ่านมา

"อนันต์" ย้ำอย่างมั่นใจว่า โครงการนี้แม้จะถือเป็นการรุกเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกโครงการแรกอย่างเต็มตัว ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทลูกของแลนด์ฯ แต่ด้วยศักยภาพของทำเลที่ตั้งของโครงการที่เป็นสถานีเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 2 สาย คอนเซ็ปต์โครงการ Terminal 21 ที่แตกต่างและฉีกแนวไปจากศูนย์การค้าที่มีอยู่ขณะนี้ และไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย ซึ่งจะตอบโจทย์ได้ตรงความต้องการของลูกค้าบวกกับประสบการณ์ในวงการค้าปลีกมาเป็นระยะเวลายาวนานของสยามรีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มแลนด์ฯ น่าจะทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ในส่วนของ โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทในกลุ่มแลนด์ฯ ก็มีประสบการณ์ในการบริหารพื้นที่ค้าปลีกมาหลายโครงการ

"Terminal 21" พัฒนาขึ้นเพื่อให้เป็นอาณาจักรใหม่ของชีวิตคนเมือง ภายใต้แนวคิด "Market Street" แห่งแรกของเมืองไทย แม็กเนต คือการมอบประสบการณ์ในการช็อปปิ้งบนถนนแฟชั่นที่จำลองมาจาก ทั่วโลก มีสินค้าและบริการที่หลากหลาย ครบครัน เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น อาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงภาพยนตร์ ฟิตเนส สปา มีพื้นที่อาคารรวม 145,000 ตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่ส่วนให้เช่า 40,000 ตร.ม. ประกอบด้วยช็อปปิ้งมอลล์ 9 ชั้น เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และโรงแรม 20 ชั้น ที่จอดรถ 1,100 คัน

โรงภาพยนตร์ 7 โรง 1,500 ที่นั่ง ฟิตเนสเซ็นเตอร์และสปา 2,400 ตร.ม.ซูเปอร์มาร์เก็ตและ Take Home กว่า 1,000 ตร.ม.ร้านแฟชั่นแบรนด์เนมและ Urbanista Shop กว่า 600 ร้าน

โครงสร้างภายนอกเน้นความล้ำสมัย สะดุดตา ราวกับอาคารท่าอากาศยาน โถงภายในเปิดโล่งกว้างในลักษณะของ Terminal โดดเด่นด้วยบันไดเลื่อนยาว 36 เมตร กลางเอเทรียม การตกแต่งภายในจะแฝงด้วยความสนุกสนานทุกตารางนิ้ว และบรรยากาศที่จำลองมาจากถนนแฟชั่นที่มี ชื่อเสียงทั่วโลก อาทิ โตเกียว ซานฟรานซิสโก โรม ปารีส แคริบเบียน เปรียบเสมือน "ท่าอากาศยานช็อปปิ้ง" สอดคล้องกับชื่อ Terminal 21 ที่ตั้งอยู่บริเวณซอยสุขุมวิท 21

"ก่อนโครงการนี้จะเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เราสำรวจวิเคราะห์ละเอียดยิบ พบว่ามีแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่เป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 2 สาย แต่ละวันมีทราฟฟิกเยอะมาก ่ศูนย์การค้าที่มีอยู่ส่วนใหญ่จะจับกลุ่มลูกค้าเกรดเอ แต่ที่นี่จะเน้นคนกินเงินเดือน คนรุ่นใหม่ มีการศึกษา มีเทส 80%"

ร้านค้ากว่า 600 ร้านจึงต้องเก๋ มีดีไซน์ คุ้มค่า อาหารต้องดีและไม่แพง ทุกร้านจะไม่มีการฟิกซ์ราคา ต่อรองราคาได้ แต่ละฟลอร์จะเป็น "Market Street" ที่จำลองมาจากแต่ละประเทศ คนจะตื่นตาตื่นใจ เพราะคอนเซ็ปต์นี้ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน อย่างโรงหนังเราจะตกแต่งเหมือนฮอลลีวูด แฟชั่นก็ต้องกินซ่า โตเกียว

ขณะที่ "ประเสริฐ ศรีอุฬารพงศ์" กรรมการบริหาร สยามรีเทล ดีเวล ล็อปเม้นท์ กล่าวว่า ที่ตั้ง Terminal 21 มีคนใช้บริการรถไฟฟ้าเกือบ 100,000 คน/วัน ในรัศมี 5 กิโลเมตร มีออฟฟิศ 850 แห่ง โรงแรม 107 แห่ง ฯลฯ รวมแล้วคนสัญจรไปมาประมาณ 500,000 คน/วัน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพว่ามีค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ตาม นอกจากศักยภาพของทำเลที่ตั้งแล้ว ตัวโครงการเองก็ให้ความ สำคัญกับการออกแบบและการวางคอนเซ็ปต์อย่างมาก เช่น การสร้างบรรยากาศช็อปปิ้งแบบ "Market Street" โดยแบ่งโซนแต่ละชั้นตามแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง

ส่วนแฟชั่น นอกจากจะมีร้านค้า แบรนด์เนม ในโซน Urbanista Shop ซึ่งมีร้านค้ากว่า 600 ร้าน บริษัทจะตกแต่งบูทให้เรียบร้อย สอดรับกับคอนเซ็ปต์ที่วางไว้

ถามถึงสนนราคาค่าเช่าพื้นที่ มือโปรบริหารธุรกิจค้าปลีกในกลุ่มแลนด์ฯบอกว่า ตั้งราคาไว้เพียงแค่ 40,000 บาท/บูทขนาด 3X2 ถึง 3X5 เมตร ขณะนี้มีผู้จองพื้นที่ราว 30% ของทั้งหมด

อยากยลโฉม "ท่าอากาศยานช็อปปิ้ง" ศูนย์การค้าที่ฉีกแนวไม่เหมือนใคร ต้องอดใจรอ "Terminal 21" อาณาจักรใหม่ของชีวิตคนเมือง ภายใต้สโลแกน "The Destination for Inspiration" เปิดให้บริการปลายปี 2554
prachachart***********
19/11/52
ห้างบิ๊กซีบอกยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคเริ่มฟื้นตัวแล้ว

Posted on Thursday, November 19, 2009
นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ รองประธานฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร บริษัท บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ บอกว่า ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคขณะนี้ เริ่มมีการปรับตัวดีขึ้นแล้ว ตามภาวะเศรษฐิจที่ฟื้นตัวทำให้ประชาชนกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าของขวัญ ของชำร่วย ประกอบกับเป็นช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่ ที่คนไทยนิยมส่งของขวัญให้กัน ทั้งนี้ คาดว่า ยอดขายสินค้าของขวัญ และของชำร่วย ปีนี้ จะเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ประชาชนให้ความสนใจ คือ สินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ สินค้าที่ใช้สำหรับจัดงานปาร์ตี้

นางสาวจริยา บอกด้วยว่า ผลประกอบการของบิ๊กซีในปีนี้ คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่มีกำไรอยู่ที่ 2,850 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยคาดว่าจะเติบโตเพียง 0-2% ส่วนในปีหน้า คาดว่า กำไรและยอดขายจะเติบโตประมาณ 6-7% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และการลงทุนที่เพิ่มขึ้น โดยในปีหน้า จะมีการลงทุนอีก 2,000 ล้านบาท เพื่อขยายสาขาอีก 4 สาขา

ทั้งนี้ บิ๊กซี ได้เตรียมกระเช้าของขวัญปีใหม่ 2553 ในราคาเริ่มต้น 259 - 2,369 บาท ซึ่งเป็นกระเช้าเพื่อสุขภาพ พร้อมบริการพิเศษ ส่งสินค้าถึงบ้านลูกค้าที่มีรัศมีไม่เกิน 25 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีแคมเปญ บิ๊กคลิก สามารถสั่งซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ต ราคาตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป โดยจะทดลองใน 3 สาขา คือ เอกมัย ราชดำริ และรัตนาธิเบศร์
money news update
*************
18/11/52
โชห่วยแห้ว!ครม.ไม่ถกค้าปลีก รอผนึกร่าง กม.2หน่วยงาน
โชห่วยกินแห้ว! ครม.ไม่พิจารณากฎหมายค้าปลีก “อภิสิทธิ์”สั่งให้รวมร่างพาณิชย์กับร่างของผู้แทนการค้าไทยเข้าด้วยกันก่อนเสนอครม.ใหม่ ส่งผลให้การออกกฎหมายต้องล่าช้าออกไปอีก ขณะที่ห้างค้างปลีกยอมรับการออกพรบ.ค้าปลีกฯแต่ขอให้รัฐพิจารณาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจหวั่นไปกระทบสิทธิการบริโภคของประชาชน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วานนี้ (ครม.) ยังไม่ได้มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ. … เพราะรัฐบาลต้องการให้นำร่างกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ และร่างกฎหมายที่ประธานผู้แทนการค้าไทยได้จัดทำขึ้น นำมารวมเป็นฉบับเดียวกัน ก่อนนำเสนอให้ครม.พิจารณาอีกครั้ง เพราะได้ให้นโยบายไปแล้วว่า กฎหมายนี้ต้องมีความชัดเจน ไม่ใช่ร่างกฎหมายขึ้นเพื่อให้อำนาจกรรมการไปทั้งหมด และมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ผลจากการที่ครม. ไม่ได้มีการพิจารณากฎหมายค้าปลีกในครั้งนี้ และนายกฯ ได้สั่งการให้นำร่างกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ ไปรวมกับร่างกฎหมายของผู้แทนการค้าไทย ทำให้การออกกฎหมายค้าปลีกต้องล่าช้าออกไปอีก เพราะกว่าจะนำร่างทั้ง 2 ฉบับมารวมกันได้ คงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร และทำให้การดูแลผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อย (โชห่วย) ต้องล่าช้าออกไปอีก

ก่อนหน้านี้ ครม.ได้มีมติให้กระทรวงพาณิชย์ไปยกร่างกฎหมายค้าปลีกให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และให้ส่งร่างกฎหมายให้ครม.พิจารณาภายในกลางเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการตามมติครม.อย่างเคร่งครัด และสามารถยกร่างกฎหมายได้แล้วเสร็จตามที่ครม.กำหนดไว้

สำหรับสาระของร่างกฎหมายค้าปลีก ที่ทำเสร็จแล้ว และได้เสนอบรรจุเป็นวาระให้ครม.พิจารณานั้น มีสาระสำคัญๆ ดังนี้ คือ การกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องการขออนุญาตตั้งหรือขยายสาขา โดยแบ่งขนาดเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ร้านค้าขนาดใหญ่มาก พื้นที่ 3,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีระยะห่างจากเขตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 10 กม. เวลาเปิดปิด 12-16 ชั่วโมง ร้านค้าขนาดใหญ่ พื้นที่ 1,000-2,999 ตารางเมตร ต้องห่างเขตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 5 กม. เวลาเปิดปิด 12-16 ชั่วโมง ร้านค้าขนาดกลางพื้นที่ 300-999 ตารางเมตร ต้องห่างจากเขตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 3 กม. เวลาเปิดปิด 12-16 ชั่วโมง และร้านค้าขนาดเล็ก พื้นที่ 120-299 ตารางเมตร ต้องห่างจากเขตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 1 กม.ไม่กำหนดระยะเวลาเปิดปิด

อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาระยะเวลาเปิดปิด ได้ให้สิทธิคณะกรรมการระดับจังหวัดของแต่ละพื้นที่ พิจารณาเปิดปิดได้ตามความเหมาะสมอีกครั้ง ส่วนตลาดสดและร้านค้าสหกรณ์ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องขออนุญาตการจัดตั้งหรือขยายสาขาภายใต้กฎหมายฉบับนี้

ขณะเดียวกัน ได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุดเพื่อทำหน้าที่ดูแลกฎหมายค้าปลีก ได้แก่ คณะกรรมการกลางกำกับดูแลค้าปลีกค้าส่งกำกับดูแลภาพรวมของนโยบาย และคณะกรรมการระดับจังหวัด กำกับดูแลเรื่องการขยายสาขาธุรกิจค้าปลีกค้าส่งให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ รวมถึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาค้าปลีกรายย่อยของไทยด้วย

สำหรับธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท แต่ผลจากการที่ประเทศไทย ไม่มีกฎหมายออกมาควบคุมการแข่งขัน ส่งผลให้รายได้ส่วนใหญ่ตกอยู่กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่เพียง 5-6 ราย และมีการขยายสาขาแข่งขันกับร้านค้าปลีกรายย่อย หรือโชห่วย จนต้องปิดกิจการจำนวนมาก โดยข้อมูลการขยายสาขาของห้างค้าปลีกสมัยใหม่จากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าตั้งแต่ปี 2548 ถึงเดือนก.ค.2552 มีการขยายสาขาเกิดขึ้นมากมาย โดยมี เทสโก้ โลตัสเพิ่มสาขามากสุดจากปี 2548 มี 184 แห่ง เป็น 633 แห่ง บิ๊กซี 50 แห่ง เป็น 77 แห่ง คาร์ฟูร์ 23 แห่ง เป็น 34 แห่ง แม็คโคร 29 แห่ง เป็น 42 แห่ง ท็อป ซูเปอร์มาร์เก็ต 81 แห่ง เป็น 109 แห่ง และเซเว่น อีเลฟเว่น 3,311 แห่ง เป็น 4,943 แห่ง

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า สาเหตุที่ครม. ยังไม่พิจารณาร่างปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้กระทรวงฯ ถอนเรื่องดังกล่าวออกไปก่อน เพราะต้องการให้การเสนอร่างกฎหมายถูกบรรจุในวาระปกติ เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องครม.ต้องพิจารณา โดยคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการเสนอร่างกฎหมายกลับเข้าไปใหม่เป็นวาระปกติ เพื่อให้ครม.พิจารณา

“การเสนอกครั้งนี้เป็นวาระจร เพราะเพิ่งส่งเรื่องไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้บรรจุในวาระปกติไม่ทัน ส่วนร่างกฎหมายค้าปลีกที่ผู้แทนการค้าไทยจัดทำขึ้นมาอีกฉบับ ยังไม่เห็นร่างดังกล่าว แต่ครม.จะต้องให้ความเห็นชอบเพียงร่างเดียว เพื่อเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และถึงส่งกลับครม.เพื่อเข้าสภาฯ” นางสาวชุติมา กล่าว

เอกชนเตือนรัฐดูผลกระทบเศรษฐกิจ

ดร. ดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส เทสโก้ โลตัส กล่าวถึงกรณีที่ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ฯไม่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ว่า ทางบริษัท ไม่เคยขัดข้องหากภาครัฐเห็นสมควรให้มีกฎหมายเข้ามาดูแลควบคุมธุรกิจ เพียงแต่ว่า อยากให้มีการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างถ่องแท้ก่อนออกกฎหมาย เพื่อไม่ให้จำกัดสิทธิผู้บริโภคและกระทบต่อ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาของภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ว่าที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์บอกแต่ว่าค้าปลีกสมัยใหม่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว กระทรวงฯ ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการรายย่อยเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องออกกฏหมาย ซึ่งเราพยายามอธิบายให้ภาครัฐเข้าใจมาโดยตลอดว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรถึง 67 ล้านคน มูลค่าผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ถึง 9 ล้าน ล้านบาท ไม่ใช่ประชากร 59 ล้านคน และมูลค่า GDP ที่ 4.5 ล้าน ล้านบาทเหมื่อนเมื่อสิบห้าปีที่แล้ว ดังนั้น กฏหมายที่จะออกมาจะต้องเป็นผลดีสำหรับผู้บริโภค และเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ใช่ออกกฏหมายมาเพียงเพื่อจำกัดสิทธิของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เพียงอย่างเดียว

“จากข้อมูลล่าสุด ในปัจจุบันภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่งมีมูลค่ากว่า 1.7 ล้าน ล้านบาท หรือประมาณ 20% ของGDP มีธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เป็น SME เกี่ยวข้องกว่า 7 แสนราย การจ้างงานนอกภาคเกษตรกว่า 3.7 ล้านคน และภาคการเกษตรอีกกว่า 16 ล้านคน เพราะปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกค้าส่งเป็นกลุ่มผู้รับซื้อสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ดังนั้นหากออกกฏหมายโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เป็นกฎหมายที่ไปจำกัดสิทธิของธุรกิจกลุ่มหนึ่ง และผู้บริโภค อาจจะไปกระทบต่อวงจรธุรกิจ การพัฒนาทางเศรฐกิจ และมูลค่าผลผลิตมวลรวมประชาชาติก็ได้” ดร.ดามพ์ กล่าว

ซีพี.ออลล์ยันมาตรการต้องชัดเจน

นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย ให้ความเห็นว่า ต้องการที่จะให้ภาครัฐออกมาตรการต่างๆออกมาที่มีกรอบชัดเจนว่าควรจะต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง อีกทั้งภาครัฐน่าจะมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ขึ้นมาดูแลธุรกิจโชว์ห่วยโดยเฉพาะ เพื่อให้มีการพัฒนาและส่งเสริมธุกริจให้อยู่รอดได้
manager.co.th
**********
16/11/52
ห้างค้าปลีกประเมินมาตรการรัฐหนุนประชาชนใช้จ่ายมากขึ้น

Posted on Monday, November 16, 2009
นางจิรนันท์ ผู้พัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดใหญ่อาวุโส สายบริหารจัดซื้อและการตลาด บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล บอกว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล ปีใหม่ ที่ประชาชนจะกลับมาซื้อสินค้าของขวัญมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ทาง บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ได้จัดแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนอย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าภาพรวมธุรกิจกระเช้าของขวัญจะขยายตัวได้ 10 % คิดเป็นมูลค่า 1.1 พันล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทได้ตั้งเป้าส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจกระเช้าของขวัญไว้ที่ 41% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 39% โดยจะเน้นให้ความสำคัญกับสุขภาพของผู้บริโภคมาเป็นอันดับแรก

ด้านนางสาวภัทรพร เพ็ญประพัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการตลาดและประชาสัมพันธ์บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล บอกว่า บริษัทได้ตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายรวมในปีนี้ไว้ที่ 8 % หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งน่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะซบเซา เพราะบริษัทได้มีการทำโปรโมชั่นจูงใจลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก ส่วนยอดขายปีหน้ายังต้องประเมินถึงปัจจัยเศรษฐกิจและปัจจัยการเมืองภายในประเทศก่อนว่าเป็นอย่างไร

สำหรับการกระตุ้นยอดขายกระเช้าของขวัญในช่วงปีใหม่นี้ จะอัดแคมเปญกระเช้าปัญจธาตุ ที่สื่อถึงเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละธาตุ ให้เลือกถึง 84 แบบประกอบด้วย กระเช้าสำหรับธาตุไม้ กระเช้าธาตุดิน กระเช้าธาตุน้ำ กระเช้าธาตุทอง และกระเช้าธาตุไฟ ซึ่งราคากระเช้าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2,500-3,000 บาท
money news update
************
12/10/52
ค้าปลีกอัดแคมเปญชิงดำQ4 ชี้เป็น3เดือนที่ทุกค่ายโหมโปรโมชันเข้มข้นหลังสัญญาณแรงซื้อฟื้น
ฟันธงค้าปลีกไตรมาส 4 ฟื้นแน่ "เดอะ มอลล์ กรุ๊ป" ชี้เป็น 3 เดือนที่เข้มข้น จับตาพ.ย.-ธ.ค. ชิงดำโค้งท้าย ทั้งแคมเปญปิดเทอม M card Mega Sale สุดเซอร์ไพรส์ ดันรายได้ 4 หมื่นล้านเข้าเป้า "ยักษ์เซ็นทรัล" ลั่นอัดงบกว่า 100 ล้านบาท ชูอีเวนต์ ซีอาร์เอ็มเพียบ มั่นใจกำลังซื้อฟื้น แห่ ช็อปโต 7% กวาดยอดขายทะลุ 27,000 ล้านบาท ด้านแฟชั่นไอส์แลนด์ ทุ่มงบ 10 ล้านบาท ประเดิมอัด 9 กิจกรรมรับไฮซีซัน รั้งนักช็อปไม่หนีเข้าเมือง


นายชำนาญ เมธปรีชากุล ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายการตลาด บริษัท เดอะ มอลล์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารเดอะ มอลล์ ,ดิ เอ็มโพเรียม และพาราก้อน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ภาพรวมของค้าปลีกในไตรมาส 4 น่าจะดีขึ้น โดยใน 3 เดือนนี้เป็นช่วงที่เข้มข้น เพราะแต่ละเดือนจะมีไฮไลต์สำคัญ คือ เดือนตุลาคม มีทั้งปิดเทอม อีเวนต์ และต่อด้วย M card Mega Sale ส่วนพฤศจิกายนไม่มีเทศกาล แต่จะมีบิ๊กอีเวนต์ที่เตรียมไว้ ส่วนธันวาคมจะมีเป็นไฮไลต์สำคัญ ที่เสริมเข้ามาร่วมกับเทศกาลต่างๆ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง

"ปีนี้อีเวนต์ไม่ได้มากขึ้นกว่าปีก่อน แต่อีเวนต์ที่จัดจะมีความแตกต่างและเฉพาะมากขึ้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เดอะ มอลล์เริ่มนำมาใช้ และปรับแผนการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยจะวางแผนล่วงหน้าแค่ 3 เดือน และมุ่งเน้นการระดมสมองระหว่างเลือดใหม่กับเลือดเก่า ที่มาช่วยกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การทำงานเพื่อให้ได้สิ่งใหม่ๆ กิจกรรมใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายกิจกรรมที่เกิดจากไอเดียของเลือดใหม่ ซึ่งผลตอบรับที่ออกมาก็ดี"

สำหรับในไตรมาส 4 นี้บริษัทตั้งเป้าที่จะเติบโต 6-7% แม้ 9 เดือนที่ผ่านมาจะเติบโตแค่ 3% แต่เชื่อมั่นว่ากำลังซื้อจะกลับมา จากสัญญาณต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้การเติบโตโดยเฉลี่ยทั้งปีได้ 5% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะมียอดขายรวม 40,000 ล้านบาท

นางยุวดี จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล กล่าวว่า ทิศทางการทำตลาดในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน เป็นจุดพีกของปี ที่ปกติผู้บริโภคจะออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าจำนวนมาก การทำตลาดของเซ็นทรัลจึงมุ่งเน้นไปที่การทำซีอาร์เอ็ม หรือการเน้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ผ่านบัตรสมาชิก The 1 card ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกอยู่กว่า 2.5 ล้านคน โดยการทำตลาดรูปแบบซีอาร์เอ็ม จะควบคู่ไปกับการนำกลยุทธ์การทำกิจกรรมทางการตลาดให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ และความต้องการของผู้บริโภค

สำหรับงบการตลาดที่ใช้ในไตรมาสสุดท้าย โดยเฉพาะในงานครบรอบ 62 ปีของบริษัทจะใช้งบกว่า 110 ล้านบาท ในการจัดงานฉลองร่วมกับแคมเปญต่างๆ นอกจากนี้ยังเตรียมแคมเปญที่จะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 3 เดือนนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศและกระตุ้นยอดขาย ทั้งนี้ต้องการให้ยอดขายในไตรมาส 4 มีการเติบโตมากกว่า 7% ซึ่งคาดว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูง หลังจากที่ไตรมาส 3 มียอดขายเพิ่มขึ้นแล้ว 7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่เติบโต 5% โดยหากเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ ยอดขายโดยรวมของเซ็นทรัลในปีนี้จะเท่ากับ 27,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 5% ตามเป้าหมายที่วางไว้

"ตัวเลขในไตรมาส 3 ที่เติบโตในอัตราที่น่าพอใจ คาดว่าเกิดจากกระแสไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่เริ่มซาลง และเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทำให้เชื่อมั่นว่าในไตรมาส 4 ของปีนี้จะดีกว่าไตรมาส 4 ของปีก่อน และภาพรวมของธุรกิจก็จะดีตามไปด้วย"

ด้านนายประเสริฐ ศรีอุฬารพงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท สยาม รีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ กล่าวว่า ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้บริษัทเตรียมใช้งบกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของงบรวมทั้งปีที่ใช้อยู่ 30 ล้านบาท ในการจัดกิจกรรม เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเน้นการทำกิจกรรม 9 รายการ เพื่อให้ตรงกับพฤติกรรมลูกค้า ซึ่งปัจจุบันพบว่าลูกค้าในย่านชานเมืองยังมีกำลังซื้อค่อนข้างดี โดยใน 9 เดือนมียอดลูกค้าที่มาใช้บริการเพิ่มขึ้น 8-9% โดยลูกค้าให้ความชื่นชอบในกิจกรรมที่มีหลากหลาย

ทั้งนี้การจัดกิจกรรมต่างๆ คาดว่าจะเป็นสีสันที่ดึงดูดลูกค้าในย่านชานเมืองให้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นและไม่เลือกที่จะเข้าไปใช้บริการห้างในเมืองแทน
ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวอุตสาหกรรมค้าปลีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น