วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552

ข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศ 1

29/10/52
หุ้น – น้ำมันปรับลง นักลงทุนแห่ขายทำกำไร

ตัวเลขยอดขายบ้านที่น่าผิดหวังทำให้ดัชนีหุ้น S&P 500 ร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 4 นำโดยแรงขายในหุ้นกลุ่มผู้รับสร้างบ้าน ที่รวมถึงบริษัท D.R. Hrtn และ Lennar ทำให้ดัชนีหุ้นกลุ่มธุรกิจนี้ปรับตัวลงกว่า 5%

นอกจากนั้น บริษัทผลิตยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ อย่าง Gdyear Tire & Rubber ราคาหุ้นก็ดิ่งลงถึง 20% ทำสถิติการลดลงครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติตลาดหุ้นเมื่อปี 1987 บริษัทคาดว่าจะยังมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนอยู่ในไตรมาสนี้ แม้ในไตรมาส 3 จะสามารถรายงานกำไรที่เพิ่มขึ้นได้มากกว่าสองเท่ามาที่ 72 ล้านเหรียญ หรือ 30 เซนต์ต่อหุ้น จาก 31 ล้านเหรียญเมื่อปีที่แล้ว โดยยอดขายลดลง 15% มาอยู่ที่ 4,400 ล้านเหรียญ

และเมื่อคืนนี้ หุ้นกลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบก็ปรับตัวลงกว่า 5% ถือเป็นหุ้นกลุ่มที่ราคาลดลงมากที่สุดในบรรดา 24 กลุ่มอุตสาหกรรมในดัชนี S&P นำโดย หุ้น Frd Mtr ที่ร่วงลง 5.1% และ Harley-Davidsn ปรับตัวลง 4.7%

ข้ามมาดูที่ราคาน้ำมัน สัญญาน้ำมันส่งมอบเดือนธันวาคมร่วงลง 2 เหรียญ หรือราว 2.6% มาปิดที่ 77.46 เหรียญต่อบาร์เรลที่ตลาดนิวยอร์ก หลังทางการเปิดเผยตัวเลขสต็อกที่เพิ่มขึ้นผิดไปจากที่ตลาดคาด โดยซัพพลายน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นไปทำนิวไฮในรอบสองเดือน กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ รายงานสต็อกน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 1.62 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1 ล้านบาร์เรล

ส่วนตัวเลขความต้องการเชื้อเพลิงในสัปดาห์ที่แล้วก็ออกมาลดลง 0.8% มาอยู่ที่ 18.5 ล้านบาร์เรล ทำให้มีหลายคนที่มองว่าดีมานด์ในอเมริกายังไม่ฟื้นตัวแบบชัดเจน

ทางด้านผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มนี้ ล่าสุดก็คือ Conoco Phillips ที่เป็นผู้ครอบครองกำลังการกลั่นน้ำมันและก๊าซที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ก็รายงานกำไรที่ร่วงลงถึง 71% ในไตรมาสล่าสุด เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และทำให้บริษัทต้องประกาศแผนการกระจายขายสินทรัพย์มูลค่า 10,000 ล้านเหรียญไปเมื่อไม่นานมานี้
***********
29/10/52
Goldman Sachs หั่น GDP Q3 สหรัฐฯ ขณะที่ตัวเลขยอดขายบ้านน่าผิดหวัง

นอกจากปัจจัยผลประกอบการที่หลังๆ เริ่มจะแผ่วลงจนทำให้นักลงทุนใช้โอกาสล็อกราคาหุ้นและเทขายทำกำไรกันออกมา ก็ถึงคราวของโบรกเกอร์ชั้นนำ Goldman Sachs ที่ประกาศหั่นคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 3 ลงมาอยู่ที่ 2.7% จาก 3% เหตุผลก็เพราะตัวเลขสต็อกและการส่งมอบสินค้าคงทนที่ออกมาจากกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันก่อน โดยตัวเลข GDP จะเปิดเผยตามมาในคืนวันนี้ และนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะขยายตัว 3.2% ในไตรมาสที่แล้ว

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ที่ออกมาน่าผิดหวังในเดือนกันยายน และสร้างความกังวลมากขึ้นว่าการฟื้นตัวของตลาดบ้านอาจจะลดกำลังลง หลังจากที่มาตรการจูงใจทางภาษีของรัฐหมดอายุ

ยอดขายบ้านใหม่ร่วงลง 3.6% มาที่อัตรา 402,000 หน่วยต่อปี ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 440,000 หน่วย และในเวลาเดียวกัน เครื่องชี้ราคาบ้านใหม่ก็ปรับตัวลงถึง 9.1% จากเดือนกันยายนปีที่แล้ว

จากตัวเลขดังกล่าวนักเศรษฐศาสตร์ก็มีความกังวลกันว่า สัญญาซื้อขายบ้านที่ได้มีการเซ็นกันเอาไว้ในเดือนที่แล้ว ท้ายที่สุดอาจจะไม่สามารถปิดดีลกันได้ทันก่อนที่มาตรการจูงใจทางภาษีจากรัฐที่ให้สิทธิยกเว้นภาษี 8,000 เหรียญแก่ผู้ซื้อบ้านหลังแรก จะสิ้นสุดลงภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ แม้สภาวะตลาดบ้านจะถือเป็นปัจจัยหลักที่เชื่อกันว่าอาจชี้เป็นชี้ตายต่อแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ก็ตาม

ในส่วนความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็ปรากฏว่ามีข่าวความพยายามวิ่งล็อบบี้ให้ทางการขยายอายุมาตรการจูงใจทางภาษีแก่ผู้ซื้อบ้านหลังแรกออกไปอีก เนื่องจากกลัวกันว่าดีมานด์จะกลับมาร่วงลงอีกครั้งหากมาตรการสิ้นสุดลง ความเคลื่อนไหวนี้ก็รวมถึงบรรดาผู้นำสมาชิกวุฒิสภาที่ในสัปดาห์นี้มีกำหนดที่จะมานั่งพูดคุยกันถึงเรื่องการขยายการเครดิตภาษีออกไปจนถึงปี 2553

ถ้าไปดูถึงสถานะของผู้ประกอบการที่เกี่ยวโยงกับการก่อสร้างบ้านในไตรมาสที่ผ่านมาจะพบว่ายังคงไม่ดีนัก ดูจากบริษัท Caterpillar ที่เป็นผู้ผลิตเครื่องจักรก่อสร้างรายใหญ่ของโลก ที่เพิ่งจะประกาศผลประกอบการไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยกำไรไตรมาส 3 ที่หล่นลงไปมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับปีที่ 2551 แม้บริษัทจะปรับคาดการณ์ผลการดำเนินงานของทั้งปีเพิ่มขึ้นก็ตาม

ซีอีโอของ Caterpillar นาย Jim Owens ก็ได้ตั้งความหวังว่าไตรมาส 3 น่าจะเป็นจุดตกต่ำถึงขีดสุดของทั้งยอดขายและรายได้แล้ว ซึ่งก็หวังว่าจากสัญญาณบวกต่างๆ เท่าที่มีออกมา น่าจะเป็นตัวชี้ถึงแนวโน้มการฟื้นตัวที่กำลังดำเนินอยู่ในตอนนี้
money wake up**********
28/10/52
ยอดส่งออกของฮ่องกง 9 เดือนแรก ร่วง 16.2 %

Posted on Wednesday, October 28, 2009
กระทรวงสถิติและสำมะโนประชากรฮ่องกง บอกว่า มูลค่าการส่งออกโดยรวมของฮ่องกงในช่วง 9 เดือนแรกของปี ลดลง 16.2% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นยอดส่งออกกลับไปยังต่างประเทศ ( re-export) ลดลง 15.3% และยอดส่งออกในประเทศลดลง 40.8% และมูลค่าการนำเข้าลดลง 15.7%

ส่วนยอดขาดดุลการค้าอยู่ที่ระดับ 150,300 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือเท่ากับ 7.8% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้า

สำหรับยอดส่งออกสินค้านับรวมยอดส่งออกกลับไปยังต่างประเทศและยอดส่งออกในประเทศเดือนกันยายน ลดลง 8.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 225,900 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หลังจากที่ลดลง 13.9% ในเดือนสิงหาคม โดยในเดือนกันยายนยอดส่งออกกลับไปยังต่างประเทศลดลง 7.8% แตะ 220,800 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ส่วนยอดส่งออกในประเทศร่วง 35% แตะ 5,100 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

ด้านโฆษกรัฐบาลบอกว่า ยอดส่งออกในเดือนกันยายนเริ่มหดตัวในอัตราที่ช้าลง หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเอเชียเริ่มฟื้นตัว โดยยอดส่งออกไปจีนและบางประเทศในเอเชียขยายตัวในเดือนดังกล่าว แต่ยอดส่งออกไปยังประเทศเศรษฐกิจหลักยังคงซบเซา และอาจมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอน
money news update
***************
28/10/52
ยอดค้าปลีกเดือนก.ย.ของญี่ปุ่นร่วงลง1.4%
28 ตค. 2552 09:06 น.

กระทรวงการค้าของญี่ปุ่น เปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนก.ย.ปรับตัวลดลง 1.4% จากปีก่อนหน้า โดยปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่า การใช้จ่ายผู้บริโภคยังคงซบเซาและยังไม่สามารถช่วยนำพาให้เศรษฐกิจฟื้นตัว จากภาวะถดถอยครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศได้โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกนั้นเริ่มชะลอตัวลง เช่นเดียวกับการใช้จ่ายผู้บริโภค ซึ่งมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของตัวเลขผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ นอกจากนี้ อัตราว่างงานที่พุ่งใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และค่าจ้างแรงงานที่ลดลง ฉุดรั้งบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในช่วงวัดหยุด Silver Week ในญี่ปุ่นเมื่อเดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ร้านค้าปลีกบางประเภทขยายตัวดีขึ้น อาทิ ร้าน ยูนิโคล ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือ Fast Retailing Co. รายงานยอดขายที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงวันหยุด โดยยอดขายในเดือนก.ย.พุ่งขึ้น 31.6% จากอานิสงส์การซื้อสินค้าและจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น ซึ่งช่วยกระตุ้นอุปสงค์ให้คึกคักขึ้น

************
สหรัฐฯเตรียมเพิ่มการจ้างงานใน 6 เดือนข้างหน้า

Posted on Monday, October 26, 2009
ผลสำรวจความคิดเห็นซึ่งจัดทำโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธุรกิจแห่งชาติของสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า บริษัทในสหรัฐฯกำลังวางแผนเพิ่มการจ้างงานและการลงทุนในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นสถิติเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 1 ปี และเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นตัวไปจนถึงปีหน้า

สำหรับจำนวนบริษัทที่คาดว่าจะจ้างงานพนักงานเพิ่มขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า มีมากกว่าบริษัทที่จะปลดพนักงานอยู่ 4% ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว นอกจากนี้ มีบริษัทที่วางแผนลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ก็มีมากขึ้น

ผลสำรวจยังบ่งชี้ว่า บริษัทในสหรัฐฯมีมุมมองที่เป็นบวกต่ออนาคตมากขึ้น หลังจากยอดขาย ราคาสินค้า และกำไรปรับตัวเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่มีการสำรวจในเดือนกรกฎาคม ซึ่งผลการสำรวจอาจบ่งชี้ว่าวิกฤตการณ์ด้านการจ้างงานในสหรัฐฯอาจสิ้นสุดเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทในสหรัฐฯที่ครอบคลุมถึงธุรกิจบริการ ค้าปลีก บริการด้านสุขภาพ โรงแรม และภัตตาคาร มีมุมมองด้านการจ้างงานที่เป็นบวกมากที่สุด รองลงมาคือบริษัทไฟแนนซ์ ประกัน และอสังหาริมทรัพย์ แต่บริษัทอุตสาหกรรมเพียงประเภทเดียวเท่านั้นที่วางแผนลดการจ้างงานมากขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า
***************
ผลผลิตอุตสาหกรรมสิงคโปร์เดือนก.ย.ทรุด 7.7%

Posted on Monday, October 26, 2009
ผลผลิตอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ปรับตัวลดลงในเดือนก.ย. ซึ่งสวนทางกับที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังเป็นไปอย่างทุลักทุเล

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมบอกว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกันยายนปรับตัวลดลง 7.7% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่ขยายตัวขึ้น 12% ในเดือนสิงหาคม และทะยานขึ้น 17% ในเดือนกรกฎาคม ขณะที่หากเทียบเป็นรายเดือนพบว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมร่วงลง 9.1%

สำหรับภาคอุตสาหกรรมยา ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของผลผลิตอุตสาหกรรในสิงคโปร์ดิ่งลง 15% หลังจากทะยานขึ้น 108% ในเดือนสิงหาคม ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของภาคการผลิตโดยรวมขยับลง 1.1%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาส 2/52 ขยายตัวในอัตรา 15% ต่อปี ซึ่งทำสถิติขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 หลังจากที่ต้องเผชิญภาวะถดถอยมาเป็นเวลา 1 ปี ขณะที่รัฐบาลคาดว่า เศรษฐกิจในปีนี้จะหดตัวกว่า 2.5% หลังจากที่ขยายตัวได้ 1.1% ในปีที่ผ่านมา
**************
ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมันร่วงครั้งแรกในรอบ 14 เดือน

Posted on Monday, October 26, 2009
GfK AG บริษัทวิจัยตลาดรายใหญ่ของเยอรมัน เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายนร่วงลงแตะระดับ 4 จุด จากระดับ 4.2 จุดในเดือนตุลาคม ซึ่งสวนทางกับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 4.5 จุด และนับเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 14 เดือน เนื่องจากผู้บริโภควิตกกังวลว่าราคาพลังงานและอัตราว่างงานที่พุ่งขึ้นจะส่งบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคและขัดขวางกระบวนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยชาวเยอรมนีส่วนใหญ่ยังวิตกกังวลว่าการที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลหมดอายุลงและการแข็งค่าของยูโรจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าลงในปีหน้า

ทั้งนี้ รัฐบาลเยอรมันได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะติดลบ 5% ปีนี้ และกลับมาขยายตัวได้ 1.2% ในปีหน้า เทียบกับการคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนว่า เศรษฐกิจของประเทศจะหดตัว 6% ในปี 2552 และขยายตัวแค่ 0.5% ในปี 2553

*************
นายกฯญี่ปุ่นยอมรับอัตราว่างงานญี่ปุ่นยังสูง

Posted on Monday, October 26, 2009
นายยูคิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยอมรับว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากภาวะถดถอยครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นยังมีผลกระทบที่รุนแรงกับเศรษฐกิจและอัตราว่างงาน

ทั้งนี้ รัฐบาลชุดใหม่ของญี่ปุ่นต้องรับหน้าที่ดูแลแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่อจากรัฐบาลชุดก่อน ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการที่พุ่งสูงขึ้น หนี้สินรัฐบาลที่สูงเป็นประวัติการณ์ ประชากรที่หดตัวลง ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า อัตราว่างงานจะสูงขึ้นแตะระดับ 6% ในปีหน้า

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังยืนยันที่จะใช้นโยบายกระตุ้นรายได้ภาคครัวเรือน และไม่คิดค่าธรรมเนียมโรงเรียนมัธยมเอกชน รวมทั้งยังได้ระงับงบประมาณเกือบ 3 ล้านล้านเยนหรือ 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นงบส่วนหนึ่งของงบประมาณพิเศษที่รัฐบาลชุดก่อนได้จัดทำไว้

นายฮาโตยามะบอกด้วยว่า วาระที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลคือ การช่วยเหลือระบบเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและช่วยเหลือธุรกิจต่างๆ ให้สามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและยังให้คำมั่นเรื่องการส่งร่างพรบ.ช่วยเหลือบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กให้สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้มากขึ้น
money news update
**********
22/10/52
โตเกียวมอเตอร์โชว์ 09 เงียบเหงาหลัง เศรษฐกิจถดถอย

ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกในขณะนี้ ทำให้งานโตเกียวมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 41 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายนนี้ อาจจะไม่ยิ่งใหญ่เหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากค่ายรถยนต์จากต่างประเทศขอถอนตัวจากการร่วมงานเกือบทั้งหมด

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปีที่ไม่มีบริษัทผู้ผลิตรถต่างชาติรายใหญ่รายใดเข้าร่วมงานเลย โดย บีเอ็มดับเบิลยู และ เมอร์เซเดส เบนซ์ เป็นสองค่ายแรกที่ตัดสินใจถอนตัว ตามมาด้วย โฟล์คสวาเกน, ออดี้, เจเนอรัล มอเตอร์, ฟอร์ด, ไครส์เลอร์, วอลโว่, ซาบบ์, เปอโยต์, เฟียต, จากัวร์, แลนด์โรเวอร์, ฮุนได ฯลฯ โดยแทบทั้งหมดให้เหตุผลว่าต้องการ “ประหยัดงบ"

สรุปแล้วงานปีนี้มีผู้ตอบรับร่วมงานเพียง 108 บริษัท ซึ่งในจำนวนนั้นมีบริษัทต่างชาติเพียงแค่ 3 บริษัทคือ อัลพิน่า จากเยอรมนี รวมถึง แคเทอร์แรม คาร์ส และ กรุ๊ป โลตัส จากอังกฤษ (เทียบกับงานในปี 2007 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมถึง 241 บริษัทและเป็นบริษัทต่างชาติมากถึง 26 บริษัท)

ค่ายญี่ปุ่นต่างก็เตรียมใช้ รถพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญของงาน โดยค่ายรถทุกค่ายต่างพร้อมที่จะก้าวไปอีกขั้นจากรถยนต์ไฮบริดซึ่งใช้พลังงานผสมระหว่างน้ำมันและไฟฟ้า ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟเต็มตัว

สอดรับกับกระแสโลกการประหยัดพลังงานและแก้ปัญหาโลกร้อน และสอดคล้องกับ Theme ของงาน "Fun Driving for US, Eco Driving for Earth" หรือ “Fun & Eco" (การขับขี่ที่สนุกสนานและรักษ์สิ่งแวดล้อม)

Toyota จัดทัพพร้อมลุยด้วยการนำรถต้นแบบอย่าง “FT-EV II" (Future Toyota Electric Vehicle II) มาแสดง รถคันนี้ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจากแบตเตอร์รีลิเทียมไอออน วิ่งได้ไกลถึง 90 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุดเกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนลูกเล่นคือจอยสติ๊กที่ใช้บังคับทิศทางของรถแทนพวงมาลัย กำหนดวางจำหน่ายรถรุ่นนี้ในปี 2555

ล่าสุด โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป จะเรียกคืนรถยนต์ "วิตซ์ "(Vitz) ประมาณ 82,000 คันในญี่ปุ่น หลังจากพบปัญหาขัดข้องที่สวิทช์หน้าต่างไฟฟ้าข้างคนขับซึ่งอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้ แต่ญี่ปุ่นก็นิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะว่าบริษัทรถยนต์ต่างประเทศหลายรายอย่าง พอร์ช, เดมเลอร์ และ โฟล์คสวาเกน ส่งผู้บริหารระดับสูงร่วมปูทางจัดงานเซี่ยงไฮ้มอเตอร์โชว์ ทั้งที่ถอนตัวจากการเข้าร่วมงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ แสดงให้เห็นว่าตลาดเกิดใหม่อย่างจีนกำลังจะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในอนาคตได้


ค่ายรถจีนเจอปัญหาลิขสิทธิ์ ส่อแววดีลซื้อวอลโว่ล่ม

จีลี่ โฮลดิ้ง กรุ๊ป มีแนวโน้มว่า จะไม่สามารถซื้อกิจการวอลโว่จากฟอร์ด มอเตอร์ได้ หลังจากที่ใช้ความพยายามมาเป็นเวลานานถึง 10 เดือน เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญา

เจ้าหน้าที่ของจีลี่และฟอร์ดได้ประชุมกันที่ลอนดอนสัปดาห์นี้ เพื่อหาวิธีการที่จะคลายความวิตกกังวลของค่ายรถสหรัฐเกี่ยวกับการแบ่งปันเทคโนโลยีและแผนการณ์ด้านผลิตภัณฑ์ในอนาคต โดยฟอร์ดอาจจะคงธุรกิจวอลโว่ไว้ ขณะที่ยอดขาดทุนลดลงและยอดขายปรับตัวดีขึ้น

ฟอร์ด มอเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทรถรายใหญ่เพียงรายเดียวที่ไม่ล้มละลาย สนใจที่จะขายกิจการวอลโว่ตั้งแต่เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เพราะต้องการลดธุรกิจรถหรูในต่างประเทศออกไปเพื่อที่จะได้หันมาให้ความสำคัญกับแบรนด์รถในเครือ

ส่วนจีลี่ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถรายใหญ่สุดของจีน เสนอซื้อวอลโว่เป็นเงิน 2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่ฟอร์ดซื้อไป 1 ใน 3 เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

การเจรจาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้นหลังจากที่มีการจับกุมตัวนายเซียง ตง ยู อดีตวิศวกรของฟอร์ด วัย 47 ปีที่ถูกตั้งข้อหาว่าขโมยเอกสารกว่า 4,000 แผ่นจากฟอร์ด เพื่อที่จะได้เข้าไปทำงานที่เซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ อินดัสทรี คอร์ป ซึ่งหลังจากนั้น นายยูก็ได้เข้าไปทำงานที่ปักกิ่ง ออโต้

สหภาพยุโรปและสหรัฐได้วิจารณ์เรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของจีนและการผลิตสินค้าผิดกฎหมาย โดยบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ และจีเอ็มที่เกาหลีใต้ได้ฟ้องร้องบริษัทผู้ผลิตรถของจีนอันเนื่องมาจากความขัดแย้งเกี่ยวกับสิทธิบัตร
money wake up
***********
22/10/52
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน เดือนก.ย. พุ่งสูงสุดในรอบ 1 ปี

Posted on Thursday, October 22, 2009
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ประกาศ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ พบว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายนสูงขึ้น 13.9% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในรอบกว่า 1 ปี ส่งผลให้ไตรมาส 3 ผลผลิตอุตสาหกรรมจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 12.4% ส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 8.7%

ผลผลิตของโรงงานเอกชนเพิ่มขึ้นมากที่สุด 7.9% ส่วนผลผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ พุ่งขึ้น 4.1% และผลผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมที่ต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนเพิ่มขึ้น 3.4%

อลิส แตร์ ชาน นักวิเคราะห์จาก Moody’s Economy.com ระบุว่า ยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นช่วยให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาก โดยบริษัท โฟล์คสวาเก้น เอเจี ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติรายใหญ่สุดในจีน กวาดยอดขายสูงสุดถึง 150,000 คันในเดือนกันยายน

ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นผลมาจากธนาคารจีนปล่อยเงินกู้มากขึ้น และมีอัตราการลงทุนในสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจีนพึ่งพาการส่งออกน้อยลง แต่ยอดส่งออกที่ยังคงอ่อนแอ จะทำให้รัฐบาลจีนยังไม่เร่งถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขณะนี้
money news update*********
22/10/52
ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้าสูงสุดในรอบ 18 เดือน

Posted on Thursday, October 22, 2009
สำนักงานสถิติญี่ปุ่น ระบุว่า ช่วงเดือนกันยายน ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้าเพิ่มขึ้นมากเกือบ 6 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเมื่อปีก่อน หรือเทียบเท่ากับระดับสูงสุดในรอบ 18 เดือนทั้งที่การส่งออกยังคงเติบโตขึ้นอย่างช้าๆ

รายงานของกระทรวงการคลัง ระบุว่า ในเดือนกันยายนญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้า 5.2 แสนล้านเยน หรือ 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่ในเดือนกันยายนของปีที่แล้วได้เปรียบดุลการค้า 9 หมื่นล้านเยน ทำให้เป็นการได้เปรียบการค้าสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 กับเป็นการได้เปรียบดุลค้าเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันแล้ว

ทั้งนี้การส่งออกในเดือนกันยายนลดลง 30.7% เมื่อเทียบเมื่อปีก่อน มาอยู่ที่ 5 ล้านล้านเยน หลังจากที่เคยลดลงไป 30.6% ในเดือนสิงหาคม และค่อยๆดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีนี้ แต่การส่งออกยานยนต์ยังคงลดลง 42.2% ส่วนการส่งออกเหล็กก็ลดลง 44.3% ขณะที่การนำเข้าลดลงไป 36.9% มาอยู่ที่ 4 ล้านล้านเยน เนื่องจากราคาน้ำมันและพลังงานลด
money news update**********
22/10/52
GDP จีนไตรมาส 3 พุ่ง 8.9%

Posted on Thursday, October 22, 2009
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในไตรมาส 3 ปีนี้ ขยายตัว 8.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคาพาณิชย์ก็ยังคงปล่อยกู้จำนวนมาก

นายฉิน เซียว ประธาน ไชน่า เมอร์ชานท์ แบงค์ บอกว่า GDP ที่สูงขึ้นอาจจะกระตุ้นให้ผู้บริหารระดับนโยบายพิจารณาถึงวิธีการในการยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเงินในปีหน้า เนื่องจากมาตรการต่างๆเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ด้านสินทรัพย์ ดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จีนจะเปลี่ยนนโยบายผ่อนปรนทางการเงิน

ด้านซัน หมิงชุน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ โฮลดิ้งส์ บอกว่า ได้มองเห็นความเสี่ยงมากขึ้นกับภาวะฟองสบู่ด้านราคาสินทรัพย์ หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการสร้างงาน

ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรีของจีนเมื่อวานนี้ได้ยืนยันจะยังคงใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปแม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวสูงกว่าการคาดการณ์ของเจ้าหน้าที่ และยังได้ส่งสัญญาณว่าจะจับจากเงินเฟ้อมากขึ้น
money news update
***********
21/10/52
ตัวเลขสร้างบ้านสหรัฐฯ ฉุดหุ้นร่วง - Yahoo รายงานกำไรเหนือคาด

ตัวเลขการสร้างบ้านใหม่ในสหรัฐฯ ออกมาน่าผิดหวัง ส่งผลให้เกิดแรงขายในหุ้นกลุ่มผู้รับสร้างบ้านและฉุดตลาดหุ้นโดยรวมให้ปรับตัวลงเมื่อคืนที่ผ่านมา แม้บางบริษัทชั้นนำ อย่าง Apple หรือว่าจะเป็น Caterpillar จะรายงานผลประกอบการที่ดีเกินคาดก็ตาม

ขณะที่หุ้นชะลอตัวลง เงินดอลลาร์ก็สามารถฟื้นขึ้นได้จากระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน ขณะที่ราคาน้ำมันแผ่วลงหลังจากที่ขึ้นไปทำนิวไฮในรอบหนึ่งปี ราคาน้ำมันตลาดนิวยอร์กส่งมอบเดือนพฤษจิกายน ปิดลดลง 0.7% หรือ 52 เซนต์ ลงมาที่ 79.09 เหรียญต่อบาร์เรล

นักลงทุนขายหุ้นที่เกี่ยวโยงกับตลาดบ้าน อย่าง Home Depot หรือผู้รับสร้างบ้าน อย่าง Pulte Homes และ Lennar Corp. เมื่อตัวเลขการเริ่มก่อสร้างออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ด้วยการเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% ในเดือนสิงหาคม ขึ้นมาอยู่ที่อัตรา 590,000 หน่วยต่อปี ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 610,000 หน่วย

สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะบริษัทเริ่มชะลอการรับออเดอร์เมื่อใกล้จะสิ้นสุดอายุโครงการที่รัฐบาลยกเว้นภาษีให้แก่ผู้ซื้อบ้านหลังแรกในสิ้นเดือนพฤษจิกายนนี้ ซึ่งตัวเลขที่ออกมายังสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน NAHB / Wells Fargo ที่ออกมาเมื่อวันก่อน ลดลงผิดคาดในเดือนตุลาคม จากความกังวลที่มาตรการจูงใจทางภาษีในตลาดบ้านกำลังจะหมดอายุและทำให้ดีมานด์ชะลอตัวลง

ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งผู้ประกอบการที่เล็งเห็นอุปสรรคดังกล่าว ก็กำลังเรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติขยายเวลามาตรการช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านนี้ต่อไป ซึ่งรัฐมนตรีคลัง Timothy Geithner ก็บอกเมื่อเดือนที่แล้วว่า รัฐบาลมีแผนที่จะพิจารณาประเด็นข้อเสนอดังกล่าวด้วยความรอบคอบ ขณะที่สมาชิกสภาฯ บางรายก็แสดงท่าทีต้องการให้รัฐบาลต่ออายุมาตรการภาษีนี้ รวมถึงเห็นว่าน่าจะขยายไปยังกลุ่มคู่สมรสที่มีรายได้ต่ำกว่า 300,000 เหรียญอีกด้วย

กลับมาที่ตลาดหุ้น หลังจากปิดการซื้อขายสิ้นวัน Yahoo ซึ่งเป็นเบอร์สองแห่งวงการ Search Engine ก็เป็นอีกรายที่เปิดเผยผลกำไรในไตรมาสสามที่ดีกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ หลังจากบริษัทปรับลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงานและกำจัดส่วนงานที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไป โดยราคาหุ้นของ Yahoo ก็พุ่งขึ้นราว 3% ในช่วงการซื้อขายหลังจากปิดตลาด


Pfizer โชว์กำไรดีเกินคาด หลังลดต้นทุนเพื่อซื้อธุรกิจ Wyeth

ผู้ผลิตยารายใหญ่ที่สุดของโลก บริษัท Pfizer ประกาศผลประกอบการดีเกินความคาดหมายของนักวิเคราะห์ ด้วยตัวเลขกำไรที่เพิ่มขึ้น 26% ในไตรมาส 3 จากการที่บริษัทสามารถลดต้นทุนทางด้านพนักงานได้อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าครอบครองกิจการอดีตคู่แข่ง อย่าง บริษัท Wyeth

ยอดกำไรของ Pfizer ออกมาที่ 2,880 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจาก 2,280 ล้านเหรียญในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่กำไรต่อหุ้น ก่อนหักรายการพิเศษออกมาที่ 51 เซนต์ ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์ได้ประเมินไว้ว่าน่าจะอยู่แค่เพียง 3 เซนต์เท่านั้น ส่วนรายได้ของบริษัทในไตรมาสล่าสุดอยู่ที่ 11,600 ล้านเหรียญ ลดลง 3% แต่ก็ยังสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ราว 200 ล้านเหรียญ

ในส่วนความคืบหน้าการขยายธุรกิจของผู้ผลิตยาจากนิวยอร์กรายนี้ บริษัทเพิ่งจะสำเร็จในการปิดดีลเข้าซื้อธุรกิจของ Wyeth มูลค่า 68,000 ล้านเหรียญในเดือนนี้ ก่อนที่จะเข้าครอบครองเป็นเจ้าของตัวยาหลายตัว ซึ่งรวมถึงวัคซีน Prevnar ที่ใช้ป้องกันโรคนิวโมเนียด้วย นอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมที่จะรุกเข้าไปทำธุรกิจผลิตยาในแบบขายสู่ผู้ใช้โดยตรงและไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือที่เรียกกันว่า Over-the-counter medicines อีกด้วย

จากนี้ บริษัทคงต้องพึ่งรายได้จากยาของ Wyeth มากขึ้น เพื่อนำมาช่วยชดเชยภาวะการขาดทุนที่ดำเนินมาในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ หลังถูกกระทบจากการเข้ามาสู่ตลาดของตัวยาลอกเลียน Lipitor (ลิ-ปิ-ทอร์) ที่เป็นยาลดคลอเรสตอรอลยอดฮิตของบริษัท ที่ทำให้รายได้ร่วงลงอย่างหนัก

ยาที่ขายดีที่สุดในโลก อย่าง Lipitor มียอดขายร่วงลง 9% ในไตรมาสล่าสุด มาอยู่ที่ 2,850 ล้านเหรียญ โดยความต้องการยาลดคลอเรสตอรอลตัวนี้มีแนวโน้มลดลงมาตั้งแต่ปี 2549 เมื่อมียาลอกเลียนของคู่แข่ง บริษัท Merck & Co. ที่ชื่อว่า Zocor (โซคอร์) ออกมาสู่ตลาด

ทางด้านซีอีโอ นาย Jeffrey Kindler วางแผนที่จะปลดพนักงานอีกมากกว่า 19,000 คน เพื่อเดินหน้าลดต้นทุนอีกรอบ หลังผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่ลดจำนวนพนักงานมาในปีนี้แล้วกว่า 5,000 คน และนับตั้งแต่ที่ได้ธุรกิจของ Wyeth มาไว้ในอาณาจักรยาแห่งนี้ Pfizer ก็วางแผนที่จะปิดโรงงาน 3 โรงของ Wyeth ในเพนซิลวาเนีย และอีกแห่งในนิวเจอร์ซี่


กองทุนฯ กาตาร์เล็งขายหุ้นในบาร์เคลย์ส

กาตาร์ โฮลดิ้ง แอลแอลซี กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของรัฐบาลกาตาร์เตรียมขายหุ้นในบาร์เคลย์ส พีแอลซี จำนวน กว่า 379 ล้านหุ้น ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นเกือบ 4 เท่าในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม หุ้นบาร์เคลย์ส ธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ของอังกฤษร่วงลงหนักสุดในรอบ 4 เดือนถึง 5.5% ในตลาดหุ้นลอนดอน หลังมีการรายงานข่าวนี้

กาตาร์ โฮลดิ้ง ระบุในแถลงการณ์ว่า บริษัทจะใช้สิทธิวอร์แรนต์ครั้งแรกที่ราคา 197.775 เพนซ์ และจะทำเงินได้ราว 630 ล้านปอนด์ (1 พันล้านดอลลาร์) ตามราคาตลาดเมื่อวานนี้

อาห์เมด อัล-ซาเยด ซีอีโอของกาตาร์ โฮลดิ้งกล่าวว่า "การตัดสินใจใช้สิทธิวอร์แรนต์และขายหุ้นครั้งนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของการปรับพอร์ทลงทุนของกองทุน”

คาดกันว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการดำเนินงานในปัจจุบันที่ยังคงยึดมั่นในกลยุทธ์การเป็นผู้ถือหุ้นระยะยาวของบาร์เคลย์ส

บลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อปีที่ผ่านมา บาร์เคลย์สได้เงินระดมทุนจากกลุ่มนักลงทุนในตะวันออกกลางกว่า 5 พันล้านปอนด์ ซึ่งได้จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ถือหุ้นที่ไม่มีโอกาสซื้อหุ้นใหม่ๆ


BNP Paribas คาดตลาดหุ้นในเอเชียทะยานขึ้นปีนี้

BNP Paribas คาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นในเอเชียจะพุ่งขึ้นอีกในปีนี้ เพราะได้แรงหนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งในภาคเอกชน นอกจากนี้ สกุลเงินในเอเชียที่แข็งแกร่งขึ้นจะเป็นอีกปัจจัยที่หนุนตลาดหุ้นในเอเชียทะยานขึ้นด้วย

โรมัน พอดโคลไซน์ นักวิเคราะห์จาก BNP ให้มุมมองว่า สกุลเงินในประเทศเอเชียที่แข็งขึ้น รวมถึงจีน บราซิล และอินเดีย สะท้อนให้เห็นว่าดีมานด์ภายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สกุลเงินที่แข็งแกร่งยังช่วยหนุนตลาดหุ้นในเอเชียทะยานขึ้นด้วย

นับตั้งแต่ต้นปี 2552 เป็นต้นมา ดัชนี MSCI Emerging Markets Index พุ่งขึ้นไปแล้ว 73% ซึ่งเป็นสถิติที่พุ่งขึ้นแข็งแกร่งที่สุดในรอบปี และพุ่งขึ้นแซงหน้าดัชนี MSCI World Index ซึ่งเป็นดัชนีตลาดหุ้นของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวขึ้นเพียง 27% ในช่วงเวลาเดียวกัน

พอดโคลไซน์กล่าวว่า ผลประกอบการภาคเอกชนกำลังขยายตัวขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนตลาดหุ้นในเอเชียพุ่งขึ้นแข็งแกร่งกว่าในช่วง 10 ปีที่แล้ว และคาดว่าผลประกอบการภาคเอกชนจะยังคงเป็นแรงจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนตลาดหุ้นเอเชียจนถึงช่วงต้นปีหน้า โดยคาดว่าบริษัทจีนจะมีผลประกอบการตามเป้าในปีนี้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น อันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

นักวิเคราะห์ทบลูมเบิร์กนิวส์สำรวจความคิดเห็น คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวขึ้นรวดเร็วถึง 8.9% ในไตรมาส 3 ปีนี้ จากไตรมาส 2 ที่ระดับ 7.9% และจากไตรมาสแรกที่ระดับ 6.1%


จีน รอลุ้น GDP ไตรมาส 3

รองนายกรัฐมนตรีจีน (หลี่ เคอเฉียง) ได้กล่าวว่า “เศรษฐกิจจีนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นในแต่ละเดือน และมองว่าการฟื้นตัวโดยรวมกำลังปรับตัวดีขึ้น”

ในช่วงนี้ นักลงทุนต่างให้ความสนใจต่อถ้อยแถลงขอบรรดาผู้นำจีนในการให้ความเห็นต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ว่าจีนจะเริ่มคุมเข้มนโยบายการเงิน หรือถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ และจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ความเห็นจากสำนักข่าวซินหัว เผยว่า คำกล่าวของรองนายกฯ ถือเป็นหนึ่งในการแสดงความเห็นในเชิงบวกมากที่สุดของภาครัฐ นับตั้งแต่เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤติการเงินโลก และในวันพฤหัสนี้ จีนจะรายงานตัวเลข GDP ไตรมาส 3 เวลา 9.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

นักวิเคราะห์ และนักวิจัยของรัฐบาลจีน หลายคน ประเมินว่า GDP อาจจะพุ่งกว่า 9% ในไตรมาส 3 วานนี้ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ แตะระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน ช่วง Trade ระหว่างวัน

ล่าสุด นายกรัฐมนตรีเหวินเจียเป่าของจีนตอบรับเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 15 ที่จะจัดขึ้น ที่ หัวหิน 23-25 ต.ค. นี้ อย่างแน่นอนแล้ว

สิงคโปร์แข็งแกร่งขึ้นในฐานะศูนย์กลางการเงิน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสิงคโปร์เปิดเผยว่า สิงคโปร์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินโลก สามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจโลกมาได้อย่างองอาจโดยมีชื่อเสียงและสถานะดีกว่าเดิม

นายเค ชานมูกัม รัฐมนตรกระทรวงกฎหมายและรัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทยของสิงคโปร์ กล่าวว่า สิงคโปร์บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้เพราะธนาคารต่างๆ เลี่ยงที่จะทุ่มลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง และกฎข้อบังคับต่างๆ ก็มีความละเอียดรอบคอบมาก

นอกจากนั้นช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจยังทำให้นักลงทุนตระหนักว่าการเติบโตอย่างยั่งยืนต้องพึ่งพิงความสมดุลระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นวัตกรรม และความเสี่ยง
นายเค ชานมูกัม ยังเปิดเผยด้วยว่าต่อจากนี้ไปสิงคโปร์จะต้องพัฒนาตนเองให้เป็นศูนย์กลางการเงินที่มั่นคง ได้มาตรฐาน และน่าเชื่อถือ มิใช่เป็นเพียงแหล่งพักเงินหรือฟอกเงิน โดยต้องกำหนดตัวบทกฎหมายที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการฟอกเงิน และต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่กับผู้ที่ต้องการข้อมูลด้านภาษีผ่านข้อตกลงละเว้นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน

เขากล่าวทิ้งท้ายว่ารากฐานที่มั่นคงของสิงคโปร์ บวกกับเศรษฐกิจเอเชียที่ขยายตัวเป็นอย่างดี จะช่วยหนุนให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการเงินระดับนานาชาติที่น่าเชื่อถือและมีความสามารถในการแข่งขันตามที่ตั้งเป้าไว้
money news update
*********
20/10/52
หุ้นสหรัฐฯ เดินหน้านิวไฮต่อ หลังบริษัทรายงานผลประกอบการดีเกินคาด

บริษัทอเมริกันยังทยอยรายงานผลประกอบการที่ดูจะเข้าตานักลงทุนอีกรอบ จนทำให้ดัชนีดาวโจนส์ขยับขึ้นทำนิวไฮด้วยการบวกอีก 1% เมื่อคืนนี้ นำโดยหุ้นหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ Gannett ที่บวกกระโดดขึ้นกว่า 8% หลังเปิดเผยผลการดำเนินงานที่ดีกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ จากกำไรที่ทำได้ในไตรมาส 3 ออกมาอยู่ที่ 44 เซนต์ต่อหุ้น เทียบกับที่ตลาดคาดไว้แค่เพียง 3 เซนต์ ทำให้ความกังวลที่มีต่อยอดการโฆษณาในธุรกิจสิ่งพิมพ์ผ่อนคลายลงได้

ทางด้านเชนดีพาร์ทเมนท์สโตร์เจ้าใหญ่ อย่าง Nordstrom ราคาหุ้นก็บวกกว่า 4% หลังโบรกเกอร์ Barclays ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาหุ้นขึ้นถึง 60% ด้วยเหตุผลที่รายได้มีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี จากยอดขายที่ฟื้นตัวและสต็อกสินค้าที่อยู่ในระดับต่ำ

หุ้นกลุ่มแบงก์ก็ได้อานิสงส์หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก เปิดเผยว่ากำลังประเมินการใช้เครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่า reverse repurchase agreement ที่มีจุดประสงค์ในการดูดเม็ดเงินที่ทางการเคยโหมอัดฉีดอย่างหนักออกจากตลาดการเงิน

นอกจากนั้น ยังมีมุมมองที่ดีต่อแนวโน้มหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น เมื่อดูจาก RBC Capital Markets ที่ออกมาให้แนวโน้มการลงทุนของหุ้นผู้ผลิตเครื่องจักรก่อสร้างเจ้าใหญ่ที่สุดในโลก อย่าง Caterpillar ด้วยระดับ outperform หลังจากเห็นความพยายามอย่างหนักของบริษัทในการปรับลดต้นทุนในช่วงที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ นักวิเคราะห์ของ Bank of America ที่ปรับเพิ่มแนวโน้มรายได้ของผู้ผลิตเครื่องจักรรายนี้สำหรับปี 2553 และ 2554 จากเหตุผลการฟื้นตัวที่รวดเร็วของรายได้ในธุรกิจเครื่องจักร

และที่น่าจับตาก็อยู่ตรงที่ตอนปิดตลาด เมื่อถึงคิวการประกาศผลประกอบการของผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ Mac,iPod และโทรศัพท์ยอดฮิต iPhones นั่นก็คือ บริษัท Apple ที่คราวนี้รายงานกำไรออกมาดีเกินกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ หลังรายได้ของสินค้าที่กล่าวมาปรับตัวสูงขึ้น จากอานิสงส์ของฤดูการเปิดภาคเรียน

Apple เปิดเผยกำไรที่พุ่งขึ้นถึง 47% มาที่ 1,670 ล้านเหรียญในไตรมาสล่าสุด หรือ 1.82 เหรียญต่อหุ้น ขณะยอดขายเพิ่มขึ้น 25% มาอยู่ที่ 9,870 ล้านเหรียญ ซึ่งทั้งหมดก็ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่ากำไรจะอยู่ที่ 1.4 เหรียญต่อหุ้น และยอดขายที่ระดับ 9,000 ล้านต้นๆ เท่านั้น

ราคาหุ้นของ Apple ในช่วงหลังปิดตลาดก็พุ่งขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เรียบร้อยแล้ว


จับตาดีลเทคโอเวอร์ตลาดอนุพันธ์สหรัฐฯ แม้ล่าช้าจากปัญหาคดีความ

กระแสการเทคโอเวอร์ยังมาแรงไม่เว้นแม้กระทั่งบริษัทที่ทำธุรกิจตลาดอนุพันธ์ อย่าง CME Group ที่กำลังเดินหน้าผลักดันดีลการซื้อตลาดออปชั่นรายใหญ่ อย่าง Chicago Board Options Exchange (CBOE) ที่ปัจจุบันครองมาร์เก็ตแชร์ที่มียอดคำสั่งซื้อขายผ่านตลาดกว่า 30% สำหรับการเทรดอนุพันธ์ทั้งสินค้าที่เป็นหุ้นและดัชนีจากบรรดาตลาดในอเมริกาทั้งหมด 7 แห่ง

อย่างไรก็ดี มีรายงานข่าวว่าการประมูลซื้อกิจการของตลาดอนุพันธ์แห่งนี้ กว่าจะสำเร็จก็อาจจะถูกลากยาวไปจนกระทั่งครึ่งหลังของปีหน้า หลังจากที่ตลาดอนุพันธ์หุ้นเจ้าใหญ่ของสหรัฐฯ แห่งนี้จัดการสะสางคดีความที่กำลังเป็นปัญหาในเรื่องความเป็นเจ้าของลงได้

สื่อรายงานว่า บริษัทที่มีฐานที่มั่นใหญ่ในชิคาโก้ อย่าง CME Group ที่รั้งตำแหน่งตลาดฟิวเจอร์สรายใหญ่ที่สุดในโลก กำลังพิจารณาตรวจสอบดีลการซื้อ CBOE ในมูลค่า 5,000 ล้านเหรียญ แม้ผู้บริหารตลาดออปชั่นแห่งนี้ได้เคยบอกเอาไว้ว่า ยังไม่สามารถเคลียร์ปัญหาการแปลงสภาพให้กลายเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้น หรือ stock-based company ได้ ซึ่งการที่จะทำได้นั้น บริษัทก็จะต้องสะสางคดีความที่บรรดาสมาชิกในตลาดกำลังฟ้องร้องในเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างกันให้เรียบร้อยเสียก่อน

การซื้อขายสินค้าอนุพันธ์ประเภทออปชั่นได้รับความนิยมอย่างมากท่ามกลางความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงที่ผ่านมา โดยมูลค่าการซื้อขายกำลังจ่อขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ด้วยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่านับตั้งแต่ปี 2545 หลังนักลงทุนแห่เข้ามาปิดสถานะความเสี่ยงสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นและหวังเพิ่มอัตราผลตอบแทนด้วยในอีกทางหนึ่ง

CME group ยังเดินหน้าขยายธุรกิจหลังไปซื้อธุรกิจของตลาดอนุพันธ์อื่นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็คือ CBOT และ New York Mercantile Exchange

ทางด้านความเห็นของผู้บริหารกองทุนรายหนึ่งมองความเคลื่อนไหวการเข้าซื้อกิจการของตลาดอนุพันธ์นี้ว่า เป็นเพราะการที่ตลาดขยายตัวขึ้นมาอย่างมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าของตลาดสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งนั่นก็คือ โอกาสในการทำรายได้จากการซื้อขายอย่างมหาศาลในอนาคต และก็รวมถึงตลาดออปชั่นนี้ด้วย

Crain’s ที่เป็นสื่อจากชิคาโก้ ระบุว่า มูลค่าการประมูลซื้อที่นั่งสมาชิกใน CBOE นั้นอยู่ที่ 4 ล้านเหรียญ ซึ่งถ้าคำนวณจากรายได้ค่าพรีเมี่ยมในสัดส่วน 50% แล้ว ก็จะทำให้มูลค่าของทั้งตลาดอนุพันธ์แห่งนี้สูงถึง 5,000 ล้านเหรียญเลยทีเดียว

ความเย้ายวนของตลาดออปชั่นที่นำไปสู่การเข้าซื้อกิจการสามารถดูได้จากปริมาณการซื้อขายในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น 25% มาอยู่ที่ 3,580 ล้านสัญญาเมื่อปีที่แล้ว ขณะเท่าที่ผ่านมาของปีนี้ โวลุ่มตลาดอยู่ที่ 2,880 ล้านสัญญา หรือ 14.5 ล้านสัญญาต่อวัน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ในปีนี้ปริมาณการซื้อขายน่าจะพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง


ที่ปรึกษาโอบามาจี้แบงค์หนุนการปรับกฎระเบียบตลาดหุ้น

คณะที่ปรึกษาประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐฯชี้ธนาคารในสหรัฐฯที่ได้รับความช่วยเหลือจากเงินภาษีของประชาชนควรจะมีหน้าที่ในการสนับสนุนแผนการปรับโครงสร้างกฎระเบียบในตลาดหุ้นของประธานาธิบดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการเงินขึ้นอีกในอนาคต

ขณะที่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเองก็รู้สึกเหนื่อยหน่ายกับบริษัทไฟแนนซ์รายใหญ่ๆที่ออกมาคัดค้านการยกเครื่องกฎระเบียบของโอบามา ทั้งที่สถาบันการเงินเหล่านี้ต้องเอาเงินภาษีประชาชนมาฟื้นฟูกิจการและกำไรขององค์กร แต่ก็ยังมีการจ่ายเงินโบนัสหรือเงินเดือนที่สูงมากให้กับผู้บริหารขององค์กร

ประชาชนโกรธเคืองแม้แต่กับเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค และโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป ที่ได้คืนเงินที่ได้รับมาจากรัฐบาลและรายงานตัวเลขรายได้ที่สูงเป็นประวัติการณ์เมื่อไตรมาส 3

ราห์ม เอ็มมานูเอล หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว กล่าวว่า ชาวอเมริกันมีสิทธิที่จะเหนื่อยหน่ายและโกรธเคือง แบงค์ที่ได้รับความช่วยเหลือไปกำลังออกมาคัดค้านกับการปฏิรูปที่ถือได้ว่ามีความจำเป็นที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตขึ้นอีก

บลูมเบิร์กรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวกล่าวต่อไปว่า ธุรกิจการธนาคารโดยรวมนั้นถือว่า พื้นฐานแข็งแกร่งเพราะรัฐบาลให้ความช่วยเหลืออยู่

การออกมาคัดค้านแผนการปรับโครงสร้างกฎระเบียบของประธานาธิบดีมีแต่จะฉุดรั้งผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศ

โอบามาเคยกล่าวไว้ในงานระดมทุนหาเสียงของพรรคเดโมแครตเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้เป็นเวลาของการใช้กฎระเบียบที่แข็งแกร่ง เพื่อที่ธนาคารจะได้ไม่ทำความเสียหายให้กับระบบและตลาดวอลล์สตรีทจะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนและประชาชนทั่วไป


สมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษจี้รัฐลดใช้จ่าย

สมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษ (CBI) เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษลดงบประมาณการใช้จ่ายลง 120,000 ล้านปอนด์ หรือ 196,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะที่วุฒิสมาชิกอังกฤษประมาณการว่าตัวเลขหนี้สินของรัฐบาลในขณะนี้มีอยู่กว่า 2 ล้านล้านปอนด์

CBI ระบุว่า รัฐบาลอังกฤษควรลดงบประมาณรายได้และเพิ่มพูนเม็ดเงินคงคลัง โดยเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังกล่าวภายในปี 2558 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดที่รัฐบาลเคยตั้งเป้าไว้ประมาณ 2 ปี

ทั้งนี้ CBS ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อนายอลิสแตร์ ดาร์ลิ่ง รมว.คลังอังกฤษ ก่อนที่รัฐบาลอังกฤษจะเปิดเผยตัวเลขงบประมาณในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า โดยความคิดเห็นของ CBI สอดคล้องกับที่นายเดวิด คาเมรอน ผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมที่มองว่ารัฐบาลจำเป็นต้องลดงบประมาณรายจ่ายอย่างเร่งด่วน

เศรษฐกิจไตรมาส 2 ของอังกฤษหดตัวลง 5.5% จากปีที่แล้ว ซึ่งทำให้รายได้จากภาษีของรัฐบาลหดตัวลงและทำให้อัตราว่างงานพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง โดยกระทรวงการคลังอังกฤษคาดว่ายอดขาดดุลงบประมาณจะพุ่งขึ้นแตะ 175,000 ล้านปอนด์ในปีนี้ หรือคิดเป็น12% ของรายได้โดยรวมของชาติ ซึ่งทำให้อังกฤษเป็นประเทศที่ขาดดุลงบประมาณมากที่สุดในกลุ่ม G20

นายบรู๊คส์ นิวมาร์ค วุฒิสภาจากพรรคอนุรักษ์นิยมเชื่อว่า ตัวเลขหนี้สินของรัฐบาลอังกฤษในขณะนี้มีอยู่ทั้งสิ้น 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่าตัวเลขที่รัฐบาลระบุว่ามีอยู่ 8.05 ล้านล้านปอนด์ ถึง 2 เท่า โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้สินจากสำนักงานบำเน็จบำนาญที่มีอยู่กว่า 1.1 ล้านล้านปอนด์ และคาดว่าหนี้สินของรัฐที่เกิดจากการนำเข้าไปช่วยเหลือธนาคารที่ประสบปัญหาจะมีอยู่ทั้งสิ้น 130,000ล้านปอนด์


หุ้น JAL วิ่ง แม้แผนปรับโครงสร้างถูกตีกลับ

หุ้นสายการบิน Japan Airline Corp ดีดตัวบวกขึ้นมาถึง 11.9% ในวันแรกของสัปดาห์ หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับร่วง ทรุดหนัก ถึง 26 %

การปรับตัวบวกในครั้งนี้ เกิดจากแรงหนุนของนักวิเคราะห์ที่ต่างลงความเห็นว่า ราคาหุ้นนั้นปรับตัวมากกว่าที่ควรจะเป็น ถึงแม้ว่าเจ้าหนี้ของ JAL ได้ปฏิเสธแผนปรับโครงสร้างฉบับล่าสุดที่เสนอไปในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาก็ตาม

JAL นั้นขอให้ธนาคารต่างๆ ยอมแปลงหนี้เป็นทุน และยกหนี้ประมาณ 3 แสนล้านเยน หรือ ประมาณ 3,300 ล้านดอลลาร์ โดยปัจจุบัน JAL อยู่ภายใต้การดูแลของคณะทำงานเฉพาะกิจที่แต่งตั้งขึ้นโดยภาครัฐ

ล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา Bank of Japan (เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด มีหนี้ค้าง 230,000 ล้านเยน) ได้ปฏิเสธแผนของ JAL โดยให้ข้อเสนอแนะว่า แผนใหม่ที่อยากจะเห็นนั้น อย่างเช่น ให้มีการยกหนี้ให้น้อยกว่านี้ และขอความชัดเจนในแนวทางที่ JAL จะปรับลดการจ่ายเงินบำนาญ และการอัดฉีดเงินทุนของภาครัฐ (จะมีการทบทวนแผนปรับโครงสร้างอีกครั้งในสัปดาห์หน้า)

JAL นับว่าเป็นสายการบินที่มีรายได้มากที่สุดในเอเชีย แต่แนวโน้มที่จะขาดทุนเป็นปีที่ 2 ของ JAL มีขึ้นสูงมาก อันเป็นผลมาจากแรงกดดันจากหนี้สินที่มากถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ และค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้น จนทำให้ความสามารถในการแข่งขันของ JAL เทียบกับ ANA นั้นดูจะด้อยลง

รัฐบาลก็พยายามหาวิธีในการอัดฉีดเงินทุนเข้า JAL รวมถึงการเสนอค้ำประกันเงินกู้ และการใช้ประโยชน์จากหน่วยงานฟื้นฟูภาคเอกชน (เป็นหน่วยงานใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล)


จีนเตรียมโครงการยักษ์ โยกย้ายคนกว่า 3 แสน

ทางการจีนเริ่มโยกย้ายประชาชนครั้งมโหฬาร 330,000 คน ออกจากพื้นที่ในภาคกลางของประเทศ เพื่อผุดอภิมหาโครงการผันน้ำใต้สู่เหนือ ดูดน้ำไปหล่อเลี้ยงกรุงปักกิ่ง และกลุ่มเมืองยักษ์ใหญ่ในภาคเหนือที่แห้งแล้ง และขาดแคลนน้ำอย่างหนัก

แผนการผันน้ำจากบริเวณภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันตก ของแผ่นดินใหญ่ ไปยังภาคเหนือที่มีภูมิอากาศแห้ง นับเป็นอภิมหาโครงการผันน้ำ ที่เรียกกันสั้นๆว่าโครงการผันน้ำใต้สู่เหนือ ที่รัฐบาลทุ่มทุนถึง 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าสามเท่าตัว เทียบกับงบประมาณสร้างเขื่อนใหญ่ที่สุดในโลก คือ ซันเสีย (Three Gorges Dam)

การโยกย้ายคนออกจากพื้นที่ดังกล่าว จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2554 โดยรัฐบาลจะจ่ายค่าชดเชยสำหรับการสูญเสียทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ และสร้างหมู่บ้าน กำหนดที่ทำกินแห่งใหม่ให้ชาวบ้าน อีกทั้งจ่ายงบฯอุดหนุนประจำปี 600 หยวน ต่อคน เป็นเวลา 20 ปี

กำหนดเส้นตายสร้างเส้นทางหลักสายกลาง แล้วเสร็จในปี 2557 หรือใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะผันน้ำไปป้อนกรุงปักกิ่ง 1 ใน 4 ของน้ำบริโภคทั้งหมดที่ชาวเมืองใช้กัน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มวิพากษวิจารณ์เตือนว่า อภิมหาโครงการฯดังกล่าว นอกจากจะสร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อม ยังไม่สามารถดับกระหายของเหล่าเมืองยักษ์ใหญ่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

จีนทุบสถิติกินขาดในเรื่องการโยกย้ายประชาชนออกจากพื้นที่เพื่อผุดอภิมหาโครงการฯ อาทิ การโยกย้ายประชาชน มากกว่า 1.4 ล้านคน เพื่อผุดโครงการเขื่อนซันเสียบริเวณตอนกลางของลำน้ำฉางเจียง ซึ่งต้องสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดมหึมา ที่มีความยาวถึง 660 กิโลเมตร


เทมาเส็ก เตรียมออกพันธบัตรวงเงิน 500 ล้านดอลลาร์

เทมาเส็ก โฮลดิ้งส ซึ่งเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ วางแผนที่จะขายพันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์อายุ 10 ปี โดยจะมอบหมายให้ดอยช์ แบงค์, โกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ เป็นผู้ดำเนินการขายพันธบัตร ร่วมกับบริษัท เทมาเส็ก ไฟแนนเชียล และเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จะเป็นผู้รับประกันพันธบัตร ซึ่งพันธบัตรล็อตนี้มีมูลค่าราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

บลูมเบิร์กระบุว่า ผลกำไรในรอบ 12 เดือนซึ่งสิ้นสุด ณ เดือนมี.ค.2552 ดิ่งลง 66% เหลือเพียง 6.2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากเทมาเส็กตัดสินใจขายหุ้นในแบงค์ ออฟ อเมริกา และธนาคารบาร์เคลย์ส

เดือนก.ย.ปี 2548 เทมาเส็กได้นำพันธบัตรมูลค่า 1.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯออกจำหน่ายให้กับนักลงทุน โดยพันธบัตรชุดดังกล่าวจะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนก.ย.ปี 2558 มีอัตราผลตอบแทน 3.604%
money wake up
***********
16/10/52
ราคาหุ้น Citigroup – Goldman Sachs ยังร่วง แม้รายงานกำไร Q3

นักลงทุนยังคงไม่พอใจกับผลประกอบการของธนาคารยักษ์ใหญ่สองราย คือ Citigroup และ Goldman Sachs เมื่อคืนที่ผ่านมา แม้ว่าทั้งคู่จะเปิดเผยตัวเลขกำไรที่ดีกว่าผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ โดยราคาหุ้น Citigroup ดิ่งลง 5% ขณะที่ Goldman Sachs ลดลง 1.9%

มาเริ่มจากธนาคารที่มีรัฐบาลสหรัฐฯ ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 34% อย่าง Citigroup กันก่อน ธนาคารรายงานตัวเลขกำไร 101 ล้านเหรียญในไตรมาสล่าสุด ซึ่งผิดไปจากที่นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารจะยังประสบกับภาวะขาดทุน และเหตุผลก็เป็นเพราะการบันทึกยอดสำรองขาดทุนที่น้อยที่สุดในรอบสองปี

ธนาคารที่มีฐานที่มั่นในนิวยอร์กรายนี้รายงานตัวเลขกำไรในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับการขาดทุน 2,820 ล้านเหรียญในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และถ้าหากดูตัวเลขต่อหุ้น ธนาคารยังคงบันทึกตัวเลขขาดทุน 27 เซ็นต์ต่อหุ้น ซึ่งใกล้เคียงกับผลสำรวจของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะขาดทุน 29 เซ็นต์ อย่างไรก็ดี ซีอีโอ นายวิกรม บัณฑิต น่าจะยิ้มได้เมื่อเห็นสถานการณ์หนี้เสียที่ดีขึ้นในไตรมาสที่แล้ว จนยอดการกันสำรอง หรือที่เรียกว่า loan-loss reserve ออกมาเพิ่มขึ้นเพียงราว 800 ล้านเหรียญเท่านั้น และดีกว่าที่นักวิเคราะห์บางคนคาดไว้

ในส่วนความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อ Citigroup นั้น อยู่ที่แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4 ที่มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่ตัวเลขหนี้ที่ไม่สามารถจัดเก็บได้ และสินทรัพย์ที่เป็น NPL ทั้งหลายจะขยับขึ้นสู่ระดับสูงสุดอีกรอบ หลังตัวชี้วัดคุณภาพสินทรัพย์ยังไม่ดีขึ้นเด่นชัดนัก

ข้ามมาดูที่ขาใหญ่ในธุรกิจหลักทรัพย์ ที่เป็นผู้ทำกำไรได้มากที่สุดในวอลล์สตรีท อย่าง Goldman Sachs Group ล่าสุดก็รายงานกำไรประจำไตรมาสสามได้ที่ 3,190 ล้านเหรียญ หรือ 5.25 เหรียญต่อหุ้น ซึ่งเป็นระดับที่สูงเกินกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ขณะนักวิเคราะห์คาดการณ์กำไรต่อหุ้นว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4 เหรียญ

ผลงานล่าสุดก็ต้องยกความดีความชอบให้กับนาย Lloyd Blankfein ที่เป็นทั้งประธานและซีอีโอ ด้วยการโหมภารกิจที่มุ่งเน้นในส่วนงานให้คำปรึกษา ธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ และการลงทุนในช่วงกว่าปีที่ผ่านมา หลังจากแปลงสภาพมาเป็นแบงก์ และได้รับการหนุนหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ในที่สุดเพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ก็มีความเห็นจากผู้จัดการกองทุนที่มองว่า ถึงแม้พื้นฐานของ Goldman จะยังคงดีต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะปราศจากความเสี่ยงไปเลยทีเดียว เพราะยังมีปัจจัยทางด้านการเมืองที่จะมาเกี่ยวโยงกับการทำธุรกิจในอนาคต ไปจนถึงการคาดการณ์ของตลาดที่ดูจะตั้งไว้สูงจนเกินไปสำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารในระยะใกล้นี้

รายได้ของ Goldman ไตรมาสล่าสุดลดลง 7% จากไตรมาสสองที่เคยทำไว้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยตัวเลข 3,440 ล้านเหรียญ


น้ำมันพุ่งยืนเหนือ 77 เหรียญ ดันดาวโจนส์ปิดบวกต่อเนื่อง

แม้ว่าหุ้นกลุ่มการเงินจะกดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบเป็นส่วนใหญ่ตลอดช่วงการซื้อขายเมื่อคืนนี้ แต่แรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงานจากราคาน้ำมันที่ไต่ขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี ก็ทำให้ดัชนีดาวโจนส์สามารถปิดบวกและยืนอยู่เหนือระดับ 10,000 จุดซึ่งเป็นนิวไฮได้เป็นวันที่สอง

ทั้ง Exxon Mobil และ Chevron บวกได้อย่างน้อย 1.5% ขณะที่ราคาน้ำมันกระโดดขึ้นไปอยู่เหนือ 77 เหรียญต่อบาร์เรลเรียบร้อยแล้ว

ราคาน้ำมันส่งมอบเดือนพฤศจิกายน พุ่งขึ้นกว่า 2 เหรียญที่ตลาดนิวยอร์ก หรือราว 3% มาอยู่ที่ 77.58 เหรียญต่อบาร์เรล หลังจากที่กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ รายงานตัวเลขสต็อกน้ำมันที่ลดลงผิดไปจากที่ตลาดคาดในสัปดาห์ที่ผ่านมา

สต็อกน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวลงกว่า 5 ล้านบาร์เรล โดยเป็นการลดลงแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายนของปีที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงเพียง 1 ล้านบาร์เรลเท่านั้น ส่วนปริมาณการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปก็ลดลงถึง 10% ซึ่งมากที่สุดในรอบ 13 เดือน หลังบรรดาโรงกลั่นเดินเครื่องกำลังการผลิตเพียง 80% เท่านั้น สาเหตุก็เพราะในเดือนตุลาคมปกติจะเป็นรอบการหยุดเครื่องเพื่อซ่อมแซมและ upgrade เครื่องจักรต่างๆ

นักวิเคราะห์ของ Morgan Stanley ก็ออกมาให้คำแนะนำลงทุนในหุ้นโรงกลั่น จากการคาดการณ์ว่าราคาหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้นตลอดในช่วงสิ้นปีนี้ ตามดีมานด์ของน้ำมันดีเซลที่จะมีมากขึ้น ขณะการปรับลดปริมาณการผลิตจะเป็นตัวฉุดซัพพลายในตลาดลง

ถัดจากเรื่องราคาน้ำมันก็เป็นปัจจัยเศรษฐกิจที่มีส่วนฉุดตลาดหุ้นในช่วงแรกของการซื้อขายเมื่อคืนนี้ นั่นก็คือ รายงานสภาวะการผลิตที่จัดทำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาฟิลาเดลเฟีย ที่ดัชนีการผลิตขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในเดือนนี้ และยังต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ด้วย

ทางด้านสถานการณ์ที่กดดันหุ้นกลุ่มการเงิน โดยเฉพาะหลังจากการประกาศผลประกอบการของ Citigroup และ Goldman Sachs นั้น ธนาคารที่เป็นผู้ให้บริการเครดิตการ์ดรายใหญ่ อย่าง JPMorgan และ Bank of America ก็รายงานว่า มีลูกค้าจำนวนมากขึ้นที่ผิดนัดชำระบิลค่าการ์ดในเดือนกันยายน ขณะที่ทาง Credit Suisse ยังคาดการณ์ว่ายอดการขาดทุนในส่วนนี้จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อยอีกเป็นปี


EU -เกาหลีใต้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี

ตัวแทนเจรจาการค้าจากสหภาพยุโรป (EU) และเกาหลีใต้ได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวานนี้

ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินการค้าระหว่างกันที่ราว 19,000 ล้านยูโร หรือ 28,000ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยข้อตกลงฉบับนี้ประกอบด้วยรายละเอียดของการยกเลิกภาษีส่งออก 99% รวมถึงยกเลิกกำแพงการค้าภายใน 5 ปี ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น 76,000 ล้านยูโร หรือ 113,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แคเธอรีน แอชตัน คณะกรรมาธิการค้าของ EU กล่าวภายหลังลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับคิม จองฮุน รัฐมนตรีการค้าเกาหลีใต้ว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในเชิงลึกระหว่าง EU กับเกาหลีใต้ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทในภาคอุตสาหกรรมบริการ การผลิต และการเกษตรของยุโรปได้รับโอกาสใหม่ๆทางการค้ามากขึ้น

ทั้งนี้ ข้อตกลงระหว่าง EU และเกาหลีใต้ครั้งล่าสุดถือเป็นข้อตกลงการค้าครั้งใหญ่ที่สุดในโลกนับตั้งแต่ปี 2537 และถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจโลกหลุดพ้นจากภาวะถดถอยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 70

นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังช่วยกระตุ้นให้องค์การการค้าโลก (WTO) เปิดตลาดเสรีมากขึ้น หลังจากที่การเจรจาข้อตกลงการค้าหยุดชะงักมาเป็นเวลา 8 ปี เนื่องจากบรรดาผู้นำทั่วโลกเกรงว่าจะจุดชนวนให้มีการใช้นโยบายกีดกันทางการค้ามากขึ้นจนส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกเลวร้ายลงมากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจาก 27 ประเทศในกลุ่ม EU รวมถึงรัฐสภายุโรปและรัฐสภาเกาหลีใต้ ตลอดจนประธานาธิบดีจะต้องลงนามเห็นชอบข้อตกลงดังกล่าวก่อนที่จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ


จำนวนบ้านถูกยึดในสหรัฐไตรมาส 3 พุ่งกว่า 20%

เรียลตี้แทรค (RealtyTrac) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนบ้านที่ถูกยึดในสหรัฐในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยอัตราการถูกยึดบ้านอยู่ที่ระดับ 937,840 หลัง หรือเพิ่มขึ้น 23% จากไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว เนื่องจากธนาคารผู้ปล่อยกู้ได้ยึดอสังหาริมทรัพย์จากผู้กู้ที่ผิดนัดชำระเงินมากขึ้น

ริชาร์ด กรีน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอสังหาริมทรัพย์ในสังกัดมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ในลอสแองเจลิส กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือกลุ่มลูกค้าชั้นดีเริ่มผิดนัดชำระหนี้และทำให้ถูกยึดอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะประชาชนตกงานจำนวนมากและส่งผลให้รายได้ลดลง จำนวนบ้านถูกยึดที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในไตรมาส 3 เป็นตัวเลขที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่นักวิเคราะห์จาก Amherst Securities Group ในนิวยอร์กกล่าวว่า จำนวนบ้านถูกยึดที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงในสหรัฐบ่งชี้ว่าราคาบ้านในสหรัฐมีแนวโน้มลดลง และคาดว่าจำนวนบ้านที่อยู่ในกระบวนการยึดทรัพย์จะมีอยู่กว่า 7 ล้านหลัง เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ที่ระดับ 1.27 ล้านหลัง

มอร์ริส เดวิส อดีตนักวิเคราะห์ประจำธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ที่ Wisconsin School of Business กล่าวว่า จำนวนบ้านที่ถูกยึดในสหรัฐพุ่งขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากตัวเลขจ้างงานในประเทศร่วงลงอย่างหนัก โดยตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนก.ย.ลดลง 263,000 ราย ซึ่งเป็นการปรับตัวลง 21 เดือนติดต่อกัน และร่วงลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลงเพียง 175,000 ราย ขณะที่อัตราการว่างงานพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 26 ปีที่ 9.8 % เทียบกับระดับ 9.7%


เศรษฐีอังกฤษอ่วมหลังรัฐบาลขึ้นภาษีคนรวย

นักการธนาคารจากเอดินเบิร์ก กล่าวว่า อังกฤษอาจต้องสูญเสียสินทรัพย์ให้กับประเทศในเอเชียอย่างดูไบ ฮ่องกง และสิงคโปร์ หลังรัฐบาลประกาศขึ้นภาษีสำหรับผู้มีฐานะดี

ไมค์ สมิธ นักการธนาคารจากบริษัท SG Hambros กล่าวว่า ผู้ที่มีรายได้เกิน 150,000 ปอนด์ (237,664 ดอลลาร์) ต่อปีจะต้องจ่ายภาษีสูงถึง 50% ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป

ขณะเดียวกันการเก็บภาษีรายได้และภาษีมรดกก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน นั่นส่งผลให้คนรวยบริหารเงินได้น้อยลง

ไมค์ สมิธ กล่าวว่า "เมื่อรัฐบาลไม่มีเงินพวกเขาก็จะหันมาหาคนรวยก่อน มันเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการเงินด้วยซ้ำ" และ "คนรวยหลายคนปลงแล้วว่าสถานการณ์คงเลวร้ายลงเรื่อยๆ"

รัฐบาลขึ้นภาษีคนรวยเพราะต้องการนำเงินมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจและลดตัวเลขขาดดุลงบประมาณที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกันพรรคฝ่ายค้านเองก็ยืนยันว่าจะตรึงดอกเบี้ยคนรวยไว้ที่ 50% หากชนะการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายนปีหน้า

เทรย์ซี เอมิน ศิลปินดังในอังกฤษ กล่าวว่า เธออาจย้ายไปอยู่ฝรั่งเศสเนื่องจากไม่ต้องการเสียภาษีไปมากกว่านี้แล้ว ขณะที่ เทอร์รี เลฮี ซีอีโอของ เทสโก บริษัทค้าปลีกรายใหญ่สุดของประเทศ กล่าวว่ารัฐบาลควรช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการไม่ขึ้นภาษี


อสังหาริมทรัพย์ในเอเชียยังคงความร้อนแรง

ราคาแฟลตหรูในฮ่องกงพุ่งทำสถิติสูงสุดของโลกด้วยราคาถึง 767,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (113,900 ดอลลาร์สหรัฐหรือ 3.75 ล้านบาท) ต่อตารางเมตร ทำลายสถิติเดิมของแฟลตหรูในลอนดอนที่ราคา 6,000 ปอนด์ต่อตารางฟุต (105,090 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.46 ล้านบาทต่อตารางเมตร)

บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เฮนเดอร์สัน แลนด์ เปิดเผยว่า แฟลตหรูดังกล่าวตั้งอยู่บนชั้น 68 ของอาคาร มีห้องนอน 5 ห้องและพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 572 ตารางเมตร (6,158 ตารางฟุต) ถูกขายไปด้วยราคา 439 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (56.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1857 ล้านบาท)

ส่วนแฟลตหรูอีกหลายห้องในโครงการเดียวกันก็ทำราคาได้น่าตื่นตาตื่นใจเช่นเดียวกัน โดยแฟลตห้องหนึ่งบนชั้นเดียวกันซึ่งมีพื้นที่ 571 ตารางเมตร สามารถทำราคาได้ถึง 397 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (50.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ปัจจุบันราคาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงกลับมาสู่ระดับเดียวกับเมื่อช่วงกลางปี 2551 หลังจากที่ปรับฐานลงในระยะเวลาสั้นๆ อันเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ราคาปัจจุบันยังต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2540 และมีเพียงแฟลตหรูเท่านั้นที่มีราคาสูงกว่าเดิม

ขณะที่ความร้อนแรงในตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนก็ยังคงร้อนแรงฉุดไม่อยู่เช่นกัน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า ราคาที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่และเมืองขนาดกลางปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนก.ย. เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว

และเมื่อเทียบกับเดือนส.ค. ราคาบ้านปรับตัวขึ้น 0.7% โดยราคาที่อยู่ในอาศัยในบางเมืองขยายตัวขึ้นเร็วกว่าบางเมือง เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ราคาบ้านในเมืองกวางโจวและหยินชวน เพิ่มขึ้น 7.3% ขณะที่บ้านในเมืองคุนหมิงสูงขึ้น 6.1% ส่วนราคาบ้านมือมองในเมืองต่างๆ 70 เมือง เพิ่มขึ้น 3.8% จากระดับปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 0.5% จากระดับเดือนส.ค.
money wake up
*********
14/10/52
หุ้นสหรัฐนิวไฮรอบปี - น้ำมันพุ่งยืนเหนือ 73 เหรียญ

เปิดต้นสัปดาห์ด้วยการบวกขึ้นไปทำนิวไฮในรอบปีสำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากการเก็งว่าผลประกอบการจะดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ท่ามกลางการปริมาณการซื้อขายที่เบาบางเนื่องจากเป็นวันหยุด “Columbus Day” และตลาดพันธบัตรหยุดทำการ

ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันก็บวกเป็นวันที่ 3 ด้วยการปรับตัวขึ้น 2.1% มาที่ 73.27 เหรียญต่อบาร์เรล และถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ นักลงทุนยังเชื่อมั่นในแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและจะทำให้ความต้องการพลังงานน่าจะถีบตัวสูงขึ้นในปีหน้า นอกจากนั้น ยังเป็นผลมาจากการที่เงินดอลลาร์อ่อนค่า ทำให้หลายคนหันเข้ามาพักเงินในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะที่เป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ

ราคาน้ำมันบวกต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ที่แล้ว หลัง IEA หรือ Internatinal Energy Agency ปรับเพิ่มคาดการณ์ดีมานด์ในปี 2553 เป็นครั้งที่สาม ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศในเอเชียและอเมริกามียอดการใช้สูงกว่าที่คาด ซึ่งทำให้ต้องเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ปริมาณการใช้พลังงานในปีนี้ด้วย

ผลจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ก็ผลักดันให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน นำโดย Exxon Mobil ปรับตัวขึ้น 1.2% ซึ่งมากที่สุดในบรรดา 10 กลุ่มอุตสาหกรรมในดัชนี S&P

ทางด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ก็ดูจะสดใสเช่นกัน เมื่อ Ford Motor ออกมาบอกว่า ยอดขายรถของตนในยุโรปพุ่งขึ้นกว่า 12% ในเดือนที่แล้ว และรถรุ่นเล็กได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ซึ่งก็ทำให้ราคาหุ้นของ Frd วิ่งขึ้นไปปิดบวกได้ 7% เมื่อคืนนี้

ส่วนในอุตสาหกรรมอื่นที่น่าสนใจก็อยู่ที่กลุ่มเทคโนโลยี เมื่อนักวิเคราะห์จาก UBS ออกมาปรับเพิ่มคำแนะนำการลงทุนในหุ้นผู้ผลิตชิพรายใหญ่อันดับสองของโลก อย่าง AMD หรือ Advanced Micro Devices ขึ้นเป็น “ซื้อ” จากที่เคยให้เรทติ้งอยู่ในระดับ “ปานกลาง” ซึ่งวันนี้นักลงทุนก็กำลังรอลุ้นผลประกอบการของผู้ผลิตในวงการชิพคอมพิวเตอร์เบอร์หนึ่ง อย่าง บริษัท Intel ที่มีคิวจะประกาศผลการดำเนินงานเช่นกัน และราคาหุ้นได้บวกขึ้นไปก่อนแล้ว 1.1% เมื่อคืนที่ผ่านมา


ยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้ายุโรปประกาศกำไรเหนือคาด หลังโหมลดต้นทุน

ถึงเวลาของยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจากยุโรปประกาศผลการดำเนินงานกันบ้าง คราวนี้บริษัท Royal Philips Electronics รายงานผลกำไรออกมาเหนือความคาดหมาย ซึ่งยิ่งไปสนับสนุนมุมมองที่เก็งกันว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกำลังเข้าที่เข้าทางมากขึ้นแล้ว

ผู้ผลิต consumer electronics รายใหญ่ที่สุดในยุโรปเจ้านี้ประกาศผลกำไรไตรมาสสามที่มาจากยอดขายในกลุ่มลูกค้าผู้บริโภคที่ดีขึ้นมากกว่าเท่าตัว โดยกำไรสุทธิกระโดดขึ้นเป็น 174 ล้านยูโร จากแค่เพียง 57 ล้านยูโรในช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นักวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ก็คาดว่าบริษัทจะขาดทุนที่ราวๆ 40 ล้านยูโร

หลายคนต่างชื่นชมความพยายามของบริษัทที่มีฐานที่มั่นในเมืองอัมเตอร์ดัมรายนี้ ที่สามารถฟันฝ่าสภาวะถดถอยได้เร็วกว่าคาด ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะแผนการปรับลดต้นทุนลงอย่างหนัก และหลังจากนี้ก็เหลือแค่เพียงรอให้ยอดขายกระเตื้องขึ้นได้อย่างต่อเนื่องอีกเท่านั้น

เมื่อย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคม ซีอีโอ นาย Gerard Kleisterlee (เจอราร์ด ไคลสเตอร์ลี) เคยปรับเป้าหมายของแผนการลดต้นทุนขึ้นมาเป็น 600 ล้านยูโรเป็นอย่างน้อย จากความคาดหวังเดิมที่ระดับ 500 ล้านยูโร และเขาก็ยังบอกว่าพร้อมที่จะเดินหน้าหั่นค่าใช้จ่ายลงอีกหากมีความจำเป็น แม้จะมีการปลดพนักงานไปแล้วกว่า 6,000 คนในช่วงที่ผ่านมา

ผลกำไรที่ออกมาสองไตรมาสติดต่อกันของบริษัทสัญชาติดัทช์นี้ ก็ตามหลังยอดขาดทุนที่รวมกันมากกว่า 1,200 ล้านยูโรในช่วงสองไตรมาสก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่สภาวะเศรษฐกิจกำลังเข้าถึงจุดต่ำสุด

สถานการณ์ในเวลานี้ก็ทำให้ CFO ของ Philips มั่นใจว่ากระเป๋าผู้บริโภคกำลังเริ่มมีสถานะที่ดีขึ้นบ้างแล้ว แต่บริษัทเองก็มีความระมัดระวังในแนวโน้มระยะใกล้ๆ นี้เช่นกัน เมื่อยังมองไม่เห็นการฟื้นตัวเชิงโครงสร้างในเกือบทุกตลาด ณ ขณะนี้ ซึ่งแผนงานในปีหน้าก็จะไปมุ่งเน้นในเรื่องการปรับโครงสร้างในหน่วยธุรกิจผลิตหลอดไฟและอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ

ในส่วนของธุรกิจทีวีของ Philips ข่าวดีก็คือยอดขาดทุนในธุรกิจนี้ลดลงมาอยู่ที่ 26 ล้านยูโรในไตรมาสล่าสุด หลังจากที่เคยติดลบสูงถึง 73 ล้านยูโรเมื่อปีที่แล้ว


รัฐบาลอังกฤษเตรียมขายสินทรัพย์ระดมทุน 3 พันล้านปอนด์

กอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เตรียมประกาศขายสินทรัพย์ของรัฐบาลเพื่อระดมทุน 3 พันล้านปอนด์ (4.8 พันล้านดอลลาร์) เพื่อลดตัวเลขขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยสินทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินซึ่งจะถูกขายในอีก 2 ปีข้างหน้าประกอบด้วยทางเชื่อมอุโมงค์รถไฟ สะพานดาร์ทฟอร์ด อุโมงค์ข้ามแม่น้ำเธมส์ บริษัทพนัน Tote และหุ้น 33% ที่รัฐบาลถืออยู่ในบริษัท Urenco ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมของยุโรปด้านยูเรเนียม

ปีเตอร์ แมนเดลสัน รัฐมนตรีกระทรวงธุรกิจ กล่าวว่า การขายสินทรัพย์ครั้งนี้จะช่วยให้รัฐบาลลดตัวเลขขาดดุลงบประมาณได้โดยไม่ต้องตัดงบประมาณเกี่ยวกับบริการสาธารณะ

ขณะเดียวกันรัฐบาลท้องถิ่นก็เตรียมขายสินทรัพย์อย่างแหล่งทำธุรกิจและศูนย์พักผ่อนหย่อนใจมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านปอนด์ (2.1 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวจะช่วยให้รัฐบาลสามารถชำระหนี้และนำเงินไปลงทุนได้

ก่อนหน้านี้รัฐบาลก็เคยพยายามขายบริษัทพนัน Tote แต่แผนก็ล่มไปเนื่องจากไม่มีผู้เสนอราคาที่สูงพอ อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์กล่าวว่าท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้รัฐบาลควรขายบริษัทพนันออกไปในราคาต่ำ แต่แมนเดลสัน รัฐมนตรีกระทรวงธุรกิจ ยังยืนกรานว่าสภาพตลาดกำลังดีขึ้นแล้ว

อังกฤษกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งรุนแรงสุดในรอบหลายสิบปี นอกจากนั้นตัวเลขขาดดุลงบประมาณยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงกระนั้นนายกฯอังกฤษก็ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวราว 1.5% ในปีหน้า ซึ่งมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนมากคาดการณ์ไว้

ถ้อยแถลงของนายบราวน์ในวันนี้ถือเป็นการโต้แย้งความเห็นของพรรคฝ่ายค้านที่ระบุว่าการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ตัวเลขขาดดุลงบประมาณลดลงและทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

ทั้งนี้ ประเด็นเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งทั่วประเทศซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นภายในกลางปีหน้า โดยผลสำรวจความเห็นหลายสำนักพบว่า เดวิด คาเมรอน หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม มีคะแนนนำทิ้งห่างนายบราวน์จากพรรคแรงงาน


ชาติเอเชีย เริ่มปรับ GDP ขึ้น หลังเห็นสัญญาณฟื้นตัว

สิงคโปร์ได้เปิดเผยตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 3 ว่าขยายตัว 14.9% ต่อปี (หลังจากขยายตัวอย่างแข็งแกร่งถึง 22%ต่อปี ในไตรมาส 2)

รายงานตัวเลขดังกล่าวมีขึ้นหลังจากสิงคโปร์ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปีพ.ศ.2552 ว่าจะหดตัวลงเพียง 2.5% ซึ่งน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะหดตัวลงราว 4-6% ซึ่งภาวะที่ฟื้นตัวเช่นนี้อาจทำให้รัฐบาลสิงคโปร์อาจยุติการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

กระทรวงการค้า และอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ พูดถึงในประเด็นการยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า “การยุติการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา เนื่องจากสิงคโปร์ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงหลายด้านในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสิงคโปร์จะกลับไปสู่ภาวะถดถอยเหมือนในช่วงที่ผ่านมานั้น มีน้อยมาก เนื่องจากตลาดการเงินของสิงคโปร์เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวแล้ว”

คำพูดที่น่าสนใจของนักวิเคราะห์จาก JPMorgan ในสิงคโปร์ ที่อยากจะ Highlight คือ การประมาณตัวเลขจีดีพีของสิงคโปร์ค่อนข้างแม่นยำ ซึ่งการที่สิงคโปร์ปรับประมาณการณ์ ทำให้มุมมองของเศรษฐกิจในภูมิภาคดีขึ้น และจุดที่ย่ำแย่สุดของวิกฤติได้ผ่านมาแล้ว ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจึงไม่ได้จำเป็นมากอีกต่อไป

ส่วนทางเกาหลีใต้ รัฐมนตรีกระทรวงคลังเกาหลีใต้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในปีหน้าจะสดใสกว่าเดิมเมื่อเทียบกับปีนี้ เนื่องจากดีมานด์ทั่วโลกฟื้นตัวขึ้น (เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัว 2.6% ในไตรมาส 2 นับเป็นสถิติการขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดในรอบเกือบ 6 ปี และดัชนีหุ้นเกาหลีใต้ก็ปรับตัวขึ้นมากกว่า 45% ในปีนี้ เนื่องจากมีการคาดการณ์มากขึ้นเรื่อยๆถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ) อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังคงต้องเผชิญกับความผันผวนเพราะประเทศยังคงต้องพึ่งพาการส่งออก

ธนาคารกลางสิงคโปร์ ได้ออกมายืนยันชัดเจนว่า จะยังคงนโยบายคงอัตราแลกเปลี่ยน และเป็นที่ทราบดีว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ธนาคารกลางสิงคโปร์ใช้นโยบายดูแลอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการกำหนดจากอัตราดอกเบี้ย (เพราะสิงคโปร์จัดว่าเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก) แต่ธนาคารกลางยังจับตาดูความเคลื่อนไหวในตลาดการเงินภายในประเทศอย่างระมัดระวัง รวมถึงความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในระยะกลางที่เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้น

การดูแลค่าเงินในเอเชีย ธนาคารกลางหลายแห่งในเอเชียเข้าแทรกแซงตลาดเงินตราด้วยการเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รวมถึงประเทศไทย เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เพื่อทำให้สกุลเงินในประเทศของตนเองอ่อนค่าลง โดยธนาคารกลางส่วนใหญ่มองว่าการร่วงลงของดอลลาร์เป็นปัจจัยคุกคามต่อเศรษฐกิจของประเทศเอเชียที่ต้องพึ่งพาการส่งออก


นายกฯรัสเซียเยือนจีนกระชับความสัมพันธ์ด้านพลังงาน

นายวลาดิเมียร์ ปูติน นายกรัฐมนตรีรัสเซีย เดินทางถึงประเทศจีนเมื่อวานนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะกระชับความสัมพันธ์ในด้านพลังงาน เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันให้กับจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของรัสเซีย

ในปีนี้ รัสเซียได้ทำสัญญาส่งออกน้ำมันกับจีนไปแล้วมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ และล่าสุดก็อยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อทำข้อตกลงในการซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับบริษัทไชน่า โอเอโอ ก๊าซพรอม

สำนักงานบริการศุลกากรของรัสเซียชี้ว่า จีนและรัสเซียมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกันมากขึ้น โดยมูลค่าการค้าระดับทวิภาคีมีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นถึง 6 เท่าในรอบ 6 ปี

บลูมเบิร์กรายงานว่า ฟีโอดอร์ ลุคยานอฟ บรรณาธิการนิตยสารโกลบอล แอฟแฟร์ส กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางการเมืองของทั้ง 2 ประเทศนั้นดีมาก เรียกได้ว่าอาจจะดีที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการปฏิวัติของจีนเมื่อปี 2492 เลยทีเดียว นอกจากนี้ จุดยืนของทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังใกล้ชิดกัน รวมถึงจีนและรัสเซียไม่มีความขัดแย้งในเรื่องเขตแดนด้วย

จีนและรัสเซีย เป็น 2 ประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจากทั้งหมด 5 ชาติ และยังเป็นสมาชิกในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ BRIC โดยความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศดีขึ้นเมื่อปี 2522 เมื่อนายมิคาอิล กอร์บาชฟ ประธานาธิบดีรัสเซียสมัยนั้นได้เดินทางเยือนจีน

นายปูตินมีกำหนดการเข้าพบประธานาธิบดีหู จิ่นเท่า และนายเหวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนในวันนี้ นอกจากนี้ นายกฯรัสเซียยังจะเข้าร่วมการประชุมเซี่ยงไฮ้ โคออเปอเรชั่น ออแกไนเซชั่น ซึ่งประกอบด้วยอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียต 4 ประเทศที่ตั้งอยู่ในเอเชียกลางด้วย
money wake up
************
13/10/52
ออสเตรเลียยังไม่ยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

Posted on Tuesday, October 13, 2009
นายเควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย บอกว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เศรษฐกิจออสเตรเลียขยายตัวเร็วสุดและมีอัตราว่างงานต่ำสุดในกลุ่ม 33 ประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลก

รวมทั้งยังช่วยให้ออสเตรเลียเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักประเทศเดียวที่ไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย โดยมีตัวเลขหนี้สินและตัวเลขขาดดุลงบประมาณ ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก

นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย บอกว่า หากรัฐบาลตัดสินใจยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจประจำปีงบประมาณ 2553-2554 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจออสเตรเลียอาจลดลงถึง 1.5% และจำนวนผู้ว่างงานอาจเพิ่มขึ้นถึง 100,000 อัตรา
money news update
**********
13/10/52
ยอดค้าปลีกนิวซีแลนด์เดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 1.1%

Posted on Tuesday, October 13, 2009
สำนักงานสถิติแห่งชาตินิวซีแลนด์ ระบุว่า ยอดค้าปลีกนิวซีแลนด์เดือนสิงหาคมได้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์ได้ประมาณการไว้ ส่งสัญญาณว่าการปริโภคภายในประเทศกำลังขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจนิวซีแลนด์ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงในรอบหลายๆ ปี

สำนักงานสถิติแห่งชาตินิวซีแลนด์ แจ้งว่า ยอดค้าปลีกรวมนิวซีแลนด์ในเดือนสิงหาคมได้เพิ่มขึ้น 1.1 %จากเดือนกรกฎาคม และหากแยกประเภทธุรกิจออกมาจะพบว่า ยอดค้าปลีกเสื้อผ้าและสิ่งทอเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น 6.5%

ยอดค้าปลีกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพิ่มขึ้น 7.2% และยอดค้าปลีกที่ห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้น 2.4% ขณะที่ ยอดค้าปลีกที่ร้านขายของชำลดลง 0.2%

สำหรับสถิติยอดค้าปลีกในนิวซีแลนด์ ดังกล่าว ยังไม่รวมถึงค่าบริการด้านยานยนต์ และค่าบริการที่สถานีบริการน้ำมันซึ่งเพิ่มขึ้นด้วย 1.2%

money news update
***********
12/10/52
ปัจจัยผลประกอบการดันหุ้นนิวไฮ – โซรอสขยับเข้าลงทุน Clean Energy

ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกรายสัปดาห์ได้แรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ดัชนีดาวโจนส์ของฝั่งสหรัฐฯ ก็สามารถปิดได้ที่ระดับสูงสุดของปีด้วยเช่นกัน โดยมาจากปัจจัยผลประกอบการของหุ้นผู้ผลิตอลูมินั่มรายใหญ่ อย่าง Alcoa ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจและผลสำรวจยอดขายของธุรกิจค้าปลีกก็มีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศการลงทุนในทางที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ หุ้น Deutsche Bank และ Barclays จากยุโรปยังได้อานิสงส์ไปด้วย หลังนักวิเคราะห์จาก Bank of America – Merrill Lynch ปรับเพิ่มมุมมองการลงทุนขึ้นเป็นระดับ “overweight”

ปัจจัยการควบรวมและซื้อกิจการก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นด้วยเช่นกัน โดยในสัปดาห์ที่แล้วทาง Julius Baer Group ที่ทำธุรกิจ private banking อายุกว่า 120 ปีจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ประกาศเข้าซื้อหน่วยงานด้าน wealth management ของบริษัท ING Group ด้วยเงินสดมูลค่า 520 ล้านฟรังก์สวิส หรือประมาณ 504 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ล่าสุดมหาเศรษฐีนักลงทุน อย่าง นาย George Soros ก็ประกาศจะเข้าลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด (Clean Energy) ในวงเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผู้ก่อตั้งบริษัทลงทุนชื่อดัง Soros Fund Management รายนี้ ยังได้กล่าวถึงแผนการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานในการประชุมทางด้านสิ่งแวดล้อมที่กรุงโคเปนเฮเกนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และย้ำว่าแผนดังกล่าวจะเป็นแนวทางที่จะสามารถสร้างกำไรและช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ไปพร้อมกันได้อีกด้วย

นอกจากนั้น นายโซรอสจะยังจัดตั้งหน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่ใช้ชื่อว่า Climate Policy Initiative ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเมืองซานฟรานซิสโก โดยจะบริจาคเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในช่วง 10 ปีจากนี้ และหน่วยงานดังกล่าวก็จะทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้กำหนดนโยบายในประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

นักลงทุนกำลังจับตาหุ้นบริษัทใหญ่ที่จ่อประกาศผลประกอบการ อย่างเช่น Johnson & Johnson, Goldman Sachs Group และผู้นำในธุรกิจการค้นหาทางอินเตอร์เน็ต อย่าง บริษัท Google

ปธน. รางวัลโนเบล เตรียมเผชิญโจทย์กำลังซื้อในประเทศร่วงต่อ

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาเว็บบล็อกของบรรณาธิการหัวหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ต่างเกาะติดอยู่กับคำวิพากษ์วิจารณ์กรณีประธานาธิบดี บารัค โอบามา เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพรายล่าสุด ด้วยเหตุผลที่ว่า ได้เห็นความพยายามที่เขาได้เรียกร้องให้ทั่วโลกลดการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ และประสานต่อให้เกิดการเจรจาภายในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ได้หยุดชะงักในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งก็แน่นอนว่ามีทั้งผลตอบรับในแบบที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทางฟากคนเห็นด้วยก็บอกว่า มีผู้นำเพียงบางคนเท่านั้นที่จะสามารถเปลี่ยนบรรยากาศทั้งโลกในเวลาแค่เพียงสั้นๆ และเห็นผลกระทบได้ทันที ขณะที่คนมองในอีกมุมหนึ่งก็จะบอกว่า ทั้งหมดนั่นก็เป็นเพียงแค่ความพยายามในเบื้องต้นและเพิ่งจะเริ่มขึ้นเท่านั้น ซึ่งยังไม่ได้เกิดผลจริงแต่อย่างใด


นักเศรษฐศาสตร์คาดยอดค้าปลีกสหรัฐฯมีแนวโน้มร่วง 2%

ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ที่จัดทำโดยสำนักข่าว Bloomberg คาดว่า ยอดค้าปลีกของเดือนกันยายที่กระทรวงพาณิชย์จะเปิดเผยออกมาในวันพุธจะออกมาลดลง 2% ซึ่งจะเป็นอัตราการหดตัวที่มากที่สุดของปีนี้ หลังจากที่ตัวเลขเพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ยอดขายรถยนต์ที่ร่วงลงเมื่อเดือนกันยายนก็เป็นสัญญาณที่นอกจากจะบอกว่าตลาดเริ่มซบเซาหลังโปรโมชั่นซื้อรถของรัฐบาลได้หมดลง แต่ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ผู้บริโภคยังคงแวดล้อมไปด้วยผลกระทบจากวิกฤติการเงินรอบล่าสุด ตราบใดที่แนวโน้มการว่างงานยังขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ ความกังวลในเรื่องกำลังซื้อผู้บริโภคเริ่มมีขึ้น หลังตัวเลขยอดขายรถยนต์ในเดือนกันยายนออกมาดิ่งลงถึง 35% นำโดย ยอดขายในโชว์รูมของ General Motors, Toyota Motor และ Ford Motor ลดลงทั้งสิ้น

ยอดส่งออกเยอรมันทรุด-อุตสาหกรรมฝรั่งเศส-อิตาลีสดใส

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนีเปิดเผยว่า ยอดส่งออกร่วงหนักเกินคาดในเดือนส.ค. โดยเยอรมนีมียอดส่งออกลดลง 1.8% จากก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 6 หมื่นล้านยูโร หรือประมาณ 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนยอดนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น 1.1% มีมูลค่าที่ 52,000 ล้านยูโร ตัวเลขการส่งออกของเยอรมนีที่ออกมาในเดือนส.ค.ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ซึ่งสวนทางกับที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ว่ายอดส่งออกจะเพิ่มขึ้น 1.7% ขณะที่ยอดนำเข้าจะขยายตัว 0.9% นอกจากนี้ ยอดส่งออกของเยอรมนี ทรุดฮวบลง 20.0% และยอดนำเข้าตกลง 19.3% หากเทียบกับเดือนสิงหาคม 2551

ขณะที่ยอดผลผลิตอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสและอิตาลีทะยานขึ้นในเดือนเดียวกัน เพราะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการซื้อรถใหม่ นับเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่ามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลกำลังช่วยให้เศรษฐกิจของบางประเทศยูโรโซน หลุดพ้นจากภาวะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 60 ปี โดยผลผลิตอุตสาหกรรมฝรั่งเศสเดือนส.ค.ปรับตัวขึ้น 1.8% จากเดือนก.ค. ดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมของอิตาลีกระโดดขึ้นถึง 7% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบอย่างน้อย 20 ปี

นักวิเคราะห์กล่าวว่าการปรับตัวขึ้นในภาคการผลิตของฝรั่งเศสและอิตาลี นับเป็นหลักฐานล่าสุดที่ยืนยันว่าภูมิภาคยุโรปจะมีเศรษฐกิจขยายตัวในช่วงไตรมาสที่สิ้นสุดในเดือนก.ย. หลังจากที่หดตัวมา 5 ไตรมาส

ทั้งนี้ ภาคการผลิตของฝรั่งเศสและอิตาลี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจยูโรโซน

เศรษฐกิจรัสเซียอาจหดตัวถึง 7.5% ในปีนี้

ประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ ของรัสเซีย ยอมรับว่า เศรษฐกิจของประเทศอาจหดตัว 7.5% ในปีนี้ หลังจากที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่าง ๆ ย่ำแย่กว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้มาก

ดมิทรี เมดเวเดฟกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ของรัสเซีย ว่า เศรษฐกิจรัสเซียลงสู่ระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ และความเสียหายที่แท้จริงจากวิกฤติที่มีต่อเศรษฐกิจของรัสเซียนั้นมากกว่าที่ได้มีการคาดการณ์กันไว้ไม่ว่าจะโดยรัฐบาลเอง ธนาคารโลก และองค์กรอื่นๆ

บลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลรัสเซียคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศจะหดตัว 6.8% ในช่วงครึ่งปีหลัง และจะหดตัว 8.5% ตลอดปีนี้ หลังจากที่จีดีพี ทำสถิติหดตัวหนักสุดถึง 10.9% ในไตรมาส 2/52

เมดเวเดฟกล่าวว่า การว่างงานเป็นความท้ายทายที่เด่นชัดที่สุดสำหรับประธานาธิบดี คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานอื่นๆของรัฐบาล โดยอัตราว่างงานเดือนส.ค.อยู่ที่ 7.8% หรือมีจำนวนคนว่างงานอยู่ที่ 6 ล้านคน นอกจากนี้รัฐบาลจะต้องกดอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5-7% ด้วย รัฐบาลจึงจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ในอัตราดอกเบี้ยปกติ เพื่อที่ประชาชนจะสามารถกู้เงินไปซื้อบ้านและใช้จ่ายได้ในอัตราดอกเบี้ยที่สมเหตุสมผล โดยเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 10.7% ในเดือนก.ย.

ญี่ปุ่น-จีน-เกาหลีใต้ ประสานเสียงฟื้นการเจรจา 6 ฝ่าย

ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ร่วมกันเรียกร้องให้มีการเปิดโต๊ะเจรจา 6 ฝ่ายเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ พร้อมทั้งให้ความร่วมมือในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

นายกรัฐมนตรียูคิโอะ ฮาโตยามะ ของญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า ของจีน และประธานาธิบดีลี เมียง บัคของเกาหลีใต้ได้ออกแถลงการณ์ร่วมซึ่งมีใจความว่าจะให้ความร่วมมือกับชาติอื่นๆเพื่อเริ่มเดินหน้าเจรจา 6 ฝ่าย เพื่อปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ ชาติเอเชียทั้ง 3 ประเทศยังให้คำมั่นที่จะสร้างความก้าวหน้าให้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกบนหลักการของการเปิดเสรี โปร่งใส และครอบคลุม ในระยะยาว

การประชุมสุดยอดระดับไตรภาคี ระหว่างญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ มีขึ้นหลังจากที่นายคิม จอง อิล ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือได้เข้าพบกับนายกรัฐมนตรีจีน พร้อมกล่าวว่า เกาหลีเหนือพร้อมที่จะกลับสู่โต๊ะเจรจา 6 ฝ่ายเพื่อยุติโครงการนิวเคลียร์ หากความสัมพันธ์กับสหรัฐพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่นายคิม จอง อิล ได้พูดถึงความเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือจะหวนคืนสู่เวทีการเจรจา 6 ฝ่าย หลังจากที่ได้ประกาศถอนตัวจากการประชุมตั้งแต่เมื่อเดือนเม.ย.

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความแน่นอนในขณะนี้ที่ว่า การออกมาแสดงความพร้อมของคิม จอง อิล จะนำไปสู่การเจรจาได้จริงหรือไม่

สำหรับการประชุมที่เกิดขึ้น นอกจากจะให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือแล้ว ยังได้พูดถึงเรื่องประเด็นเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วย โดยจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ย้ำว่า ยังไม่ถึงเวลาระงับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรียูกิโอะ ฮาโตยามะ ของญี่ปุ่น แถลงในการประชุมสุดยอด 3 ชาติชั้นนำในเอเชียว่า ยังเร็วเกินไปหากจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายฮาโตยามะ กล่าวว่า ญี่ปุ่นกำลังเผชิญภาวะการว่างงานที่สูงเข้าขั้นอันตราย เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่กำลังประสบชะตากรรมเดียวกัน ดังนั้น จึงเห็นพ้องกันว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดำเนินมา จะไม่เป็นผลดีอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ จีนได้ทุ่มเงินงบประมาณราว 4 ล้านล้านหยวน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ญี่ปุ่นก็ทุ่มเงินถึง 15.4 ล้านล้านเยน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน ส่วนเกาหลีใต้ก็ทุ่มเงิน 28.9 ล้านล้านวอน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เสริมจากที่ได้ทุ่มเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไปก่อนหน้านั้นแล้ว

หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตุว่า แม้คำแถลงร่วมของ 3 ชาติสำคัญของเอเชียนี้จะยังไม่ก่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในทันทีทันใด แต่ก็เท่ากับเป็นการเน้นให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคีของชาติทั้ง 3 โดยไม่นำเอาความบาดหมางและความร้าวฉานในอดีตมาเป็นเรื่องสำคัญจนกลายเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือเหมือนที่ผ่านมา

ยูทูบ เผยยอดเข้าเว็บทะลุกว่า 1 พันล้านครั้ง/ วัน

ยูทูบ เว็บไซต์แลกเปลี่ยนคลิปวิดีโอชื่อดังในเครือกูเกิล อิงค์เปิดเผยถึงยอดการเข้าชมเว็บไซต์ที่พุ่งสูงกว่า 1 พันล้านครั้งต่อวัน โดยชัท เฮอร์ลีย์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งยูทูบกล่าวว่า รู้สึกภูมิใจมากที่ขณะนี้ยอดการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ยูทูบพุ่งสูงขึ้นถึงวันละ 1 พันล้านครั้ง ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ หลังจากที่เว็บไซต์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเพียงไม่นาน

ทั้งนี้ ชัท เฮอร์ลีย์ ยืนยันถึงช่วงเวลา 3 ปีหลังการเข้าซื้อหุ้นของกูเกิลว่า การทำธุรกิจของยูทูบจะพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง และจะยังคงยึดมั่นในการทำงานอย่างหนักเพื่อให้เว็บไซต์แลกเปลี่ยนคลิปวิดีโอแห่งนี้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ทั้งนี้ เว็บไซต์ยูทูบก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2548 ก่อนที่จะถูกกูเกิลซื้อกิจการไปด้วยวงเงิน 1.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนพ.ย. 2549
********
09/10/52
ตัวเลขค้าปลีก-แรงงาน ดันหุ้นขึ้นต่อ ขณะทองคำทำนิวไฮต่อเนื่อง

ข่าวดีทางเศรษฐกิจและความคาดหวังผลประกอบการยังเป็นปัจจัยผลักดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับขึ้นต่อ ล่าสุดตัวเลขตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ก็ออกมาดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ ขณะผลสำรวจยอดขายร้านค้าปลีกในประเทศก็เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน

ทางด้านความเคลื่อนไหวตลาดเงิน เมื่อคืนนี้เงินดอลลาร์ก็ร่วงลงไปทำระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 14 เดือนเมื่อเทียบกับตะกร้าเงินคู่ค้า 6 สกุลหลัก หลังตลาดเห็นสัญญาณบวกในเศรษฐกิจโลกที่ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดความต้องการกระจายเงินไปลงในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าเงินดอลลาร์ได้มากขึ้น เงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดออลาร์หลังจากประธานธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB บอกว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคกำลังหลุดพ้นจากสภาพการหดตัวแบบไร้ทิศทางได้แล้ว พร้อมส่งสัญญาณธนาคารกลางจะยังยืนอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำมากนี้ต่อไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

และจากเงินดอลลาร์ที่แข็งก็ทำให้ราคาทองดีดตัวกลับขึ้นไปทำนิวไฮเป็นรอบที่ 3 ต่อเนื่องกันอีกครั้ง ที่ระดับ 1,062.70 เหรียญต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองแดงและอลูมินั่มเป็นตัวนำการปรับขึ้นของราคาโลหะอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ และที่น่าจับตาก็คือ ราคาน้ำมันที่วิ่งขึ้นไปถึง 3% มาที่ 71.65 เหรียญต่อบาร์เรลที่ตลาดนิวยอร์ก สร้างสถิติสูงสุดในรอบสองสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

ย้อนกลับไปดูเรื่องดี ๆ สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ บริษัทวิจัย Retail Metrics ก็เปิดเผยผลสำรวจยอดขายของร้านค้าปลีกในประเทศ ออกมาเพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนที่แล้ว โดยมีผู้ประกอบการมากกว่า 70% ที่สามารถรายงานยอดขายได้สูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมคาดว่าเป็นเพราะผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายจากสินค้าใหญ่ๆ ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองนี้ จนทำให้บรรดาผู้ค้าปลีกต้องปรับกลยุทธ์การจัดเรียงและคัดเลือกสินค้าเข้าร้าน ไปจนถึงเรื่องโปรโมชั่นการลดราคา เพื่อดึงดูดลูกค้าให้ได้มากที่สุดด้วย

อีกหนึ่งรายงานเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยบวกเชื่อมโยงไปถึงแนวโน้มการบริโภคที่น่าจะดีขึ้นจากนี้ ก็คือ ตัวเลขคนอเมริกันที่ขอเข้ารับสิทธิสวัสดิการว่างงานในสัปดาห์ล่าสุด ที่ออกมาลดลงไปอยู่ที่ 521,000 ราย และเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ขณะที่ก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะอยู่ที่ 540,000 ราย


ECB ตัดสินใจคงดอกเบี้ย

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 1% โดยการประชุมครั้งล่าสุดนี้จัดขึ้นที่ เวนิส อิตาลี แม้จะเป็นการจัดประชุมที่เมืองโรแมนติกอย่างอิตาลี แต่ประธาน ECB ก็ไม่ได้มีมุมมองที่ดีนักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงนี้

ทั้งนี้ ECB ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ที่เริ่มมีการใช้เงินสกุลยูโรเมื่อปี 2542 ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา

ประธาน ECB นาย ชอง คล็อด ทริเชตต์กล่าวว่า ยังต้องให้ความระมัดระวังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เร็วเกินไป

ในการแถลงข่าวภายหลังการประชุม ชอง คล็อง ทริเชตต์ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายต่างๆ มีความเหมาะสมแล้ว และ ตลาดกำลังรอดูสัญญานต่างๆ ที่เหมาะสมในการเลือกเข้าสู่ Exit strategy หรือ การออกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

ประธาน ECB ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ Exit strategy แต่อย่างใด เพียงแต่บอกว่าพร้อมและสามารถนำมาใช้ได้ในยามจำเป็น

สำนักข่าวรอยเตอร์สำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ 82 ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า เศรษฐกิจของยุโรปในไตรมาสที่ 3 นั้นได้หลุดพ้นจากภาวะย่ำแย่ที่สุดนับตังแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นสัญญาณในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ECB คงดอกเบี้ยไว้ต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 5 แล้วและก็คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปถึงปลายปีหน้า

แม้ว่าธนาคารกลางออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G20 ที่นำร่องขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว แต่ ECB ก็ยังแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยตามในระยะนี้แน่นอน

ในขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุด 0.5% เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายวันนี้ และไม่เปลี่ยนแปลงโครงการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มูลค่า 1.75 แสนล้านปอนด์


Lloyds แบงก์ใหญ่อังกฤษย้ำยังมีทางเลือก หลังข่าวแผนเพิ่มทุนครั้งใหญ่

มีข่าวความเคลื่อนไหวของธนาคารรายใหญ่บนเกาะอังกฤษ เมื่อ Lloyds Banking Group ออกมาระบุถึงการพิจารณาทางเลือกต่างๆ หลังจากที่ถูกสื่ออย่าง the Financial Times รายงานว่า ผู้ปล่อยกู้เจ้านี้มีแผนที่จะออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 15,000 ล้านปอนด์ หรือ ประมาณ 24,000 ล้านเหรียญ เพื่อต้องการเดินหนีให้พ้นจากกฏเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้ภายใต้โครงการช่วยเหลือรับประกันสินทรัพย์ของรัฐบาล

ขณะที่ธนาคารที่มีฐานที่มั่นในลอนดอนรายนี้ออกข้อเสนอออกมาให้นักลงทุนพิจารณาถึงแผนการเพิ่มทุนดังกล่าว ก็มีการคาดกันว่าดีลนี้อาจจะกลายเป็นดีลที่มีมูลค่าสูงสุดในอังกฤษ แซงหน้ากรณีการออกหุ้นเพิ่มทุนมูลค่า 12,500 ล้านปอนด์ของ HSBC Holdings ไปได้ในที่สุด

The Financial Times รายงานว่า รัฐบาลอังกฤษที่ถือหุ้นสัดส่วน 43% ในธนาคาร Lloyds ยังเห็นด้วยและสนับสนุนถึงแผนดังกล่าว แถมยังอาจจะซื้อหุ้นส่วนหนึ่งจากการออกขายครั้งนี้ด้วย

เมื่อเดือนที่แล้ว ธนาคารระบุว่า กำลังพิจารณาแผนหาทางออกจากโครงการปกป้องสินทรัพย์ที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งนักวิเคราะห์จาก MF Global Securities ในลอนดอนมองว่า การที่จะเดินออกจากโครงการดังกล่าวได้ Lloyds จะต้องเพิ่มทุนราว 25,000 ล้านปอนด์ นอกจากนั้น ยังมีการพูดกันด้วยว่า ผู้ปล่อยกู้ภาคอสังหาฯ รายใหญ่ที่สุดในอังกฤษนี้ อาจจะต้องขายหุ้น รวมถึงสินทรัพย์ อย่างเช่นธุรกิจของ Scottish Widows insurance และธุรกิจการจัดการกองทุน เพื่อการระดมทุนคราวนี้

อย่างไรก็ดี ทางโฆษกของ Lloyds Banking Group ล่าสุดก็ออกมายืนยันท่าทีของธนาคารที่ยังเหมือนกับในคำชี้แจงที่ส่งให้ตลาดหลักทรัพย์เมื่อสองสัปดาห์ก่อน และก็บอกด้วยว่าธนาคารยังจะพิจารณาทางเลือกต่างๆ เท่าที่มีอีกด้วย

อาจจะมีคำถามว่าทำไมธนาคารถึงต้องดิ้นหนีให้หลุดจากโครงการรับประกันสินทรัพย์ของรัฐบาลนั้น ก็เป็นเพราะมูลค่าสินทรัพย์ที่รัฐค้ำประกันจำนวน 260,000 ล้านปอนด์ จะต้องแลกกับการจ่ายค่าธรรมเนียมถึง 15,600 ล้านปอนด์ และเพื่อที่จะจ่ายค่าธรรมเนียมนี้ Lloyds จะต้องออกขายหุ้นให้กับกระทรวงการคลัง ซึ่งจะทำให้รัฐเข้าไปถือหุ้นในแบงก์แห่งนี้ในสัดส่วนถึงกว่า 62% และสถานการณ์นี้เองก็เป็นเหมือนกับทางสองแพร่ง เมื่ออีกทางธนาคารก็กำลังพยายามที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลลง ก่อนที่จะถูกสหภาพยุโรปบังคับให้ขายสินทรัพย์และสาขาบางแห่งออกไปเพื่อให้เป็นไปตามกฎสำหรับธนาคารที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ


โตโยต้า เตรียมปิด 12 โรงงานหลังเจอไต้ฝุ่นเมอโลร์

พายุไต้ฝุ่นเมอโลร์ ที่มีความแรงลม 198 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้พัดเข้าสู่เกาะหลักของญี่ปุ่นในช่วงเช้าเมื่อวานนี้ และได้พัดผ่านย่านที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นทางภาคกลางของประเทศ ถนนและทางรถไฟถูกตัดขาด และสร้างความวิตกว่าจะเป็นพายุลูกแรกที่ทำให้เกิดดินถล่ม นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

บริษัทรถยนต์รายใหญ่ที่สุด โตโยต้า มอเตอร์ เตรียมระงับการผลิตของโรงงานทั่วประเทศรวม 12 แห่ง ส่วนฮอนด้า มอเตอร์ ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ได้ระงับการผลิตที่โรงงานในจังหวัดซูซูกะ และมิเอะ ด้านมิตซูบิชิ มอเตอร์ ปิดโรงงาน 3 แห่งไปตั้งแต่เมื่อวาน ขณะที่ไดฮัทสึ มอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ขนาดมินิรายใหญ่ที่สุด ได้ระงับการผลิตในโรงงาน 4 แห่ง ส่วนซูซูกิ มอเตอร์ ระงับการผลิตที่โรงงาน 6 แห่ง และนิสสัน มอเตอร์ ไม่ได้รับผลกระทบจากพายุ จึงสามารถดำเนินการผลิตต่อไปได้

สายการบินเจแปน แอร์ไลน์ส และออล นิปปอน แอร์เวย์สได้ยกเลิกเที่ยวบินในประเทศราว 380 เที่ยวบินส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศ ที่สนามบินนานาชาตินาริตะ

กระแสลมที่พัดรุนแรงในกรุงโตเกียว ทำให้ขบวนรถไฟสายยามาโนเตะที่วิ่งรอบกรุงโตเกียว และมีผู้โดยสารใช้บริการวันละหลายล้านคน ไม่สามารถให้บริการได้ ทำให้ประชาชนแย่งกันใช้บริการรถแท็กซี่

ขณะที่ทางการญี่ปุ่น ได้ขยายการสร้างสิ่งกีดขวางป้องกันน้ำท่วมและดินถล่ม รวมถึงคลื่นยักษ์ในพื้นที่ชายฝั่งด้วย

ภาพข่าวทางโทรทัศน์ ได้แสดงให้เห็นรถบรรทุกหลายคันจอดนิ่ง และรถยนต์หลายคันถูกทิ้งอยู่กลางถนนที่ถูกน้ำท่วม แต่เมืองนาโงย่า ที่เป็นนครใหญ่ที่สุดอันดับที่ 3 ได้เกิดดินถล่มแล้ว มีรายงานการเกิดคลื่นสูงถึง 9 เมตร พัดเข้าพื้นที่ชายฝั่งจนถึงพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงโตเกียว ถนนหลายสายถูกน้ำท่วมและเต็มไปด้วยเศษขยะ

พายุไต้ฝุ่น เมอโลร์ ซึ่งภาษามาเลย์ แปลว่า ดอกมะลิ เป็นไต้ฝุ่นที่มีความรุนแรงลูกล่าสุด ที่พัดกระหน่ำเอเชียในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากเมื่อเดือนสิงหาคม พายุเอตาว ทำให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน และดินถล่ม ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในญี่ปุ่นอย่างน้อย 25 คน แม้ว่าจะแค่เฉียดหางพายุก็ตาม


ไฮบริดโตโยต้าได้อานิสงส์ หลังพานาฯ เทคโอเวอร์ซันโย

โตโยต้า มอเตอร์ ได้รับอานิสงส์จากการที่พานาโซนิคเดินเรื่องเทคโอเวอร์ซันโย อิเล็กทริค เนื่องจากความต้องการรถไฮบริดที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น และการขาดแคลนแบตเตอรี่ที่ใช้งานในรถอาจจะบีบให้บริษัทผู้ผลิตรถต้องแข่งกันหาแหล่งผลิตแบตเตอรี

โตโยต้าตั้งเป้าผลิตรถทุกรุ่นในเครือให้เป็นรถไฮบริดตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ซึ่งการหาแบตเตอรี่อาจเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น หลังจากที่พาร์ทเนอร์ของบริษัทอย่างพานาโซนิคดึงซันโยเข้ามาเป็นบริษัทในเครือ

พานาโซนิคและซันโยครองสัดส่วนแบตเตอรี่ที่มีการใช้งานในรถไฮบริดทั่วโลกประมาณ 80% ในตลาดรถไฮบริด สิ่งผู้ผลิตทุกแห่งกลัวมากที่สุด คือ บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่อาจจะมีอำนาจในการขายมากขึ้น

โตโยต้า ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายรถไฮบริดรายใหญ่สุดของโลก กำลังขยายขอบเขตการผลิตแบตเตอรี่ที่บริษัทร่วมทุนคือ พานาโซนิค เอ็นวี เอ็นเนอร์จี เนื่องจากดีมานด์รถพรีอุสที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บลูมเบิร์กรายงานว่า เจนเนอรัล มอเตอร์ส, ฮอนด้า มอเตอร์ และนิสสัน มอเตอร์ ต่างวางแผนที่จะเปิดตัวรถไฮบริดและรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ โดยจีเอ็มเองซื้อแบตเตอรี่จากบริษัท แอลจี เคม ของเกาหลีใต้ เพื่อป้อนสายการผลิตเชฟโรเล็ต โวลท์ ซึ่งมีกำหนดจำหน่ายปีหน้า ส่วนนิสสันก็มีธุรกิจร่วมทุนผลิตแบตเตอรี่กับเอ็นอีซี คอร์ป


ซีอีโอโฟล์คสวาเกนคาดตลาดรถทั่วโลกฟื้นตัวเต็มรูปแบบปี 2556

มาร์ติน วินเทอร์คอร์น ซีอีโอบริษัท โฟล์คสวาเกน ผู้ผลิตรถรายใหญ่ที่สุดของยุโรปคาดการณ์ว่า ตลาดรถทั่วโลกจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยได้ในปี 2556 อย่างเร็วสุด

ส่วนยอดขายในอุตสาหกรรมยานยนต์ปีนี้อาจจะลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 2 แตะ 49 ล้านคัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลง 17% จากระดับสูงสุดในช่วงก่อนเกิดวิกฤต แต่การฟื้นตัวในปีหน้าจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถรับประกันได้

ซีอีโอโฟล์คสวาเกนกล่าวในที่ประชุมด้านยานยนต์ที่เยอรมนี กล่าวว่า ปีหน้าจะเป็นปีที่ลำบากอย่างเห็นได้ชัด มีสัญญาณมากขึ้นเรื่อยๆที่บ่งชี้ว่า ช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของภาวะวิกฤตได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่กว่าที่ตลาดจะฟื้นตัวได้ก็คงต้องใช้เวลาอีกมาก

บลูมเบิร์กรายงานว่า ไอเอชเอส โกลบอล อินไซท์ เผยยอดขายรถยนต์และรถบรรทุกขนาดเล็กทั่วโลกเมื่อปี 2550 อยู่ที่ 59.2 ล้านคัน ขณะที่โฟล์คสวาเกนได้ปรับลดคาการณ์ยอดขายในปีนี้ลงครึ่งหนึ่งเมื่อเดือนส.ค. หลังจากที่รัฐบาลเยอรมนีและจีน ซึ่งเป็นตลาดรถที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ


นิวซีแลนด์วิตกเงินแข็งค่า ฉุดภาคส่งออก

เงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ไต่ระดับขึ้นสูงสุด 74.21 เซนต์สหรัฐ/ดอลลาร์วานนี้ และพุ่งสูงขึ้น 50% ในช่วง 7 เดือนที่แล้ว หลังมีกระแสคาดการณ์ว่านายอลัน บอลลาร์ด ผู้ว่าการธนาคารกลางนิวซีแลนด์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่ธนาคารกลางออสเตรเลียได้ตัดสินใจใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วในสัปดาห์นี้

จากประเด็นดังกล่าว ได้ทำให้ทาง รัฐมนตรีคลังนิวซีแลนด์ (นาย บิล อิงลิช) ออกมาแสดงความเห็นว่า การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์อาจเป็นภัยคุกคามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาภาคธุรกิจส่งออก

นักวิเคราะห์จากเอเอสบีกล่าวว่า "อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่ระดับนี้จะสร้างความหนักใจให้กับหลายธุรกิจ และแนวโน้มการส่งออกค่อนข้างซบเซาซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้า ซึ่งจะทำให้มีการถกเถียงกันว่าแบงก์ชาตินิวซีแลนด์อาจขึ้นดอกเบี้ยไม่ช้าก็เร็ว"

เศรษฐกิจนิวซีแลนด์ในไตรมาส 2 ขยายตัว 0.1% ขณะที่เศรษฐกิจออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.6% และในระหว่างที่ทั่วโลกเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำหนักสุดนับตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่นั้น ต่อเนื่องไปยัง ตัวเลขการจ้างงานล่าสุดของออสเตรเลีย ที่ ขยายตัวเกินคาดในเดือนที่แล้ว ที่อัตราจ้างงานเดือนที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้น 40,600 อัตราจากเดือนสิงหาคม

สวนทางกับที่นักเศรษฐศาสตร์จากการสำรวจของบลูมเบิร์กคาดว่าจะลดลง 10,000 อัตรา โดยอัตราจ้างงานประจำเพิ่มขึ้น 35,400 อัตรา ขณะที่อัตราจ้างงานชั่วคราวเพิ่ม 5,200 อัตรา นับเป็นสัญญาณที่สนับสนุนมุมมองของเกลนน์ สตีเวนส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย ที่ระบุว่าเขาสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้โดยไม่ทำให้อัตราว่างงานพุ่งสูงเกินไป
money wake up
**************
07/10/52
ออสเตรเลียเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยรายแรก

เมื่อวานนี้ ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 3.25% ซึ่งทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นประเทศแรกที่ขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 3% ในการประชุม

การปรับตัวขึ้นของตัวเลขจ้างงานเอกชน ยอดค้าปลีก และราคาบ้านในออสเตรเลีย รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางมองว่าเศษฐกิจขยายตัวแข็งแกร่งมากพอที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นไปอยู่ที่ระดับปกติ

ขณะเดียวกันธนาคารกลางส่งสัญญาณว่าจะค่อย ๆ ชะลอการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์บางส่วนได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ว่า “การขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้สกุลเงินในประเทศแข็งค่าขึ้น และจะสร้างแรงกดดันต่อผู้ส่งออก” ผลจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย ได้ทำให้สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียทะยานขึ้น 0.8%

จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของออสเตรเลียในครั้งนี้ ได้สร้างความวิตกกับประเทศในเอเชีย อย่าง เกาหลีใต้พอสมควรว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้อาจขึ้นดอกเบี้ยตาม

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางออสเตรเลียจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้าด้วย เนื่องจาก อัตราว่างงานที่พุ่งขึ้นในออสเตรเลียจะกดดันให้นายเกลน สตีเฟ่นส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียขึ้นดอกเบี้ยในเดือนหน้าด้วย ประกอบกับดีมานด์ในภาคเอกชนฟื้นตัวขึ้นและดัชนีค่าเงินดอลลาร์เตรเลียพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน

นอกจากนี้ บลูมเบิร์กรายงานว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้คงอัตราดอกเบี้ยเป็นเดือนที่ 2 ในการประชุมเมื่อวานนี้ ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดที่ 1% ในการประชุมวันพฤหัสบดีนี้

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0-0.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 ก.ย.

ชณะที่ HSBC ยังประเมินว่า ธนาคารกลางของประเทศในภูมิภาคเอเชียจะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยออสเตรเลียอาจจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในปลายปีนี้ ส่วนเกาหลีใต้ และไต้หวันจะเริ่มเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสแรกของปีหน้า ในขณะที่จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนามและประเทศไทยจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า


หุ้นโลกบวกรับข่าวดอกเบี้ยออสซี่ ขณะราคาทองทำนิวไฮ

ผลจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของออสเตรเลียและการคาดการณ์กำไรที่มีแนวโน้มดีขึ้นก็ส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกมั่นใจเพิ่มเงินเข้าไปยังตลาดหุ้นมากขึ้น โดยดัชนี MSCI World Index ที่วัดอุณหภูมิหุ้นใน 23 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำปรับตัวขึ้น 1.9% เมื่อคืนที่ผ่านมา และถือเป็นการบวกแรงที่สุดในรอบสองเดือน

ทางด้านตลาดเงินก็ดูคึกคักไม่แพ้กัน โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบสองสัปดาห์ เมื่อเทียบกับยูโร หลังธนาคารกลางออสเตรเลียสร้างเซอร์ไพร์สด้วยการลดดอกเบี้ย จากเหตุผลที่เห็นสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ส่งผลให้เมื่อคืนนี้ค่าเงินออสเตรเลียกลายเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในบรรดาค่าเงินหลักๆ 16 ประเทศ

ผลของเงินดอลลาร์อ่อนก็ทำให้ราคาทองคำดีดตัวขึ้นไปทำนิวไฮที่ 1,045 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ที่ตลาดล่วงหน้านิวยอร์ก ซึ่งก็ยังมีอานิสงส์ต่อไปยังราคาโลหะมีค่าอื่น อย่างเช่น แพลทตินั่ม ให้ปรับตัวขึ้นด้วยเช่นกัน

นักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อคืนนี้ยังตอบรับท่าทีของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่ออกมาตอบสนองต่อตัวเลขตลาดแรงงานของประเทศที่ย่ำแย่ โดยบอกว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาโครงการใช้จ่ายและการปรับลดภาษีเพื่อเป็นตัวเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้

ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีมุมมองที่เป็นบวกของนักเศรษฐศาสตร์จาก Deutsche Bank Securities ที่มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น ขณะตลาดบ้านน่าจะพร้อมแล้วสำหรับการฟื้นตัว โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกในอัตรา 3% ในปีหน้า

เมื่อคืนนี้ หุ้นพลังงานก็เป็นกลุ่มที่ขยับตัวบวกขึ้นมากที่สุดในดัชนี S&P 500 ด้วยการปิดเพิ่มขึ้น 2.1% หลังจากที่ราคาน้ำมันบวกขึ้นรับข่าวแนวโน้มเศรษฐกิจที่สดใส จนขึ้นไปทำนิวไฮในรอบสองสัปดาห์ และปิดบวกได้ 0.7% มาอยู่ที่ 70.88 เหรียญต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาหุ้นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของอเมริกา อย่าง Exxon Mobil ปรับตัวขึ้น 1.6%


ลุ้นธุรกิจยักษ์สหรัฐฯ ประเดิมกำไรครั้งแรกไตรมาสนี้

ขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดูสดใสมากขึ้น นักลงทุนเองก็กำลังรอลุ้นผลประกอบการจากยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะชื่อของ Goldman Sachs Group, JPMorgan Chase และ Intel ที่มีการคาดการณ์ว่าน่าจะเป็น 3 รายแรกที่จะเป็นผู้นำในการแถลงผลกำไรที่ทำได้เป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 2 ปีสำหรับไตรมาสสุดท้ายปีนี้ และถือเป็นจุดสิ้นสุดสภาวะผลประกอบการถดถอยที่เกิดขึ้นยาวนานที่สุดครั้งประวัติการณ์

กำไรของธุรกิจขนาดใหญ่ทั้ง 3 บริษัทนี้ ถูกคาดการณ์ว่าจะโตขึ้นกว่า 60% ในไตรมาสปัจจุบัน ถือเป็นจุดสิ้นสุดการลดลงของผลประกอบการที่ดำเนินมานานกว่า 9 ไตรมาสติดต่อกัน ส่วนผลการดำเนินงานของไตรมาส 3 ที่เพิ่งจะผ่านไป นักวิเคราะห์ก็คาดว่าบริษัทในดัชนี S&P 500 อาจจะยังปรับตัวลงอีกราว 20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ผู้บริหารกองทุนในสหรัฐฯ รายหนึ่งมองว่า ไตรมาส 4 นี้อาจถือเป็นจุดพลิกผันสำหรับแนวโน้มผลประกอบการของบางบริษัทที่นักลงทุนอาจจะเริ่มเห็นกำไรได้บ้างแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ของสำนักข่าว Bloomberg ที่คาดว่าบริษัทใน S&P 500 จะรายงานผลประกอบการที่ดีขึ้นสูงกว่าเท่าตัวในไตรมาสนี้เมื่อเทียบกับปีก่อนที่แบงก์ยักษ์ใหญ่จำนวน 5 จาก 6 แห่งรายงานยอดการขาดทุนรวมกันมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญ ขณะที่ผลของวิกฤติเศรษฐกิจก็ทำให้ธนาคารทั่วโลกต่างรายงานมูลค่าการขาดทุนในตลาดสินเชื่อและหนี้เสียมาแล้วกว่า 1.6 ล้านล้านเหรียญนับตั้งแต่ปี 2007

ผู้บริหารของ Point View Financial Services ในนิวเจอร์ซี่ มองว่า ทั้ง Goldman Sachs และ JPMorgan รวมถึงธนาคารอื่นๆ กำลังได้รับผลดีจากต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำ และยอดการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ปัจจัยบวกก็มาจากสถานการณ์หนี้เสียในตลาดที่เริ่มจะทุเลาลง หลังราคาบ้านเริ่มหยุดร่วงลงแล้ว และนั่นก็หมายความว่ามูลค่าหลักประกันที่หนุนหลังสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้สามารถเขยิบเข้าสู่สภาวะความมีเสถียรภาพได้แล้ว

ทางด้านธนาคารขนาดใหญ่รายอื่น อย่าง Morgan Stanley นักวิเคราะห์ก็คาดว่าจะสามารถรายงานกำไรที่เกิดจากการดำเนินงานปกติได้เป็นครั้งแรกในรอบปีในไตรมาสที่แล้ว ขณะที่ทาง Citigroup ก็น่าจะประกาศผลขาดทุนที่ลดลงด้วยเช่นกัน


โพลล์ชี้ 1 ใน 3 ของพนักงานการเงินวอลล์สตรีทเชื่อว่าตัวเองจะได้โบนัสเพิ่มขึ้น

อีกหนึ่งประเด็นที่ยังคงติดตามกันอย่างต่อเนื่อง นั้นก็คือเรื่องของการจ่ายเงินโบนัส แม้จะมีข้อติติงออกมาสำหรับการจ่ายเงินโนบัสของภาคเอกชนในสายการเงิน แต่ ผลสำรวจระบุกว่า 1 ใน 3 ของผู้ประกอบอาชีพด้านการเงินในวอลล์สตรีทเชื่อว่า พวกเขาจะได้โบนัสมากขึ้นในปีนี้ หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ล่มสลายในตลาดสินเชื่อมาแล้ว 1 ปี

เว็บไซต์ eFinancialCareers.com ระบุว่า ราว 36% ของผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 1,000 คนระบุว่า พวกเขาคาดว่าจะได้เงินโบนัสประจำปีจากบริษัทเพิ่มขึ้น โดย 11% คาดว่า เงินโบนัสจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ขณะที่ 83% คาดว่าในปีนี้พวกเขาจะได้รับผลตอบแทนในลักษณะเดียวกับเงินโบนัส

อย่างไรก็ตาม 25% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า พวกเขาจะได้เงินโบนัสน้อยลงในปีนี้ ซึ่ง 54% ในจำนวนนี้ชี้ว่าเป็นผลจากการดำเนินงานของบริษัท และ 20% อ้างถึงผลพวงจากการปรับโครงสร้างการจ่ายผลตอบแทนพนักงาน

กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่เชื่อว่าจะได้โบนัสเพิ่มขึ้นในปีนี้นั้น มี 33% ที่คาดว่าการรับเงินโบนัสเพิ่มเป็นผลจากการที่เงินโบนัสในปีที่ผ่านมาต่ำกว่าปกติเพราะวิกฤติสินเชื่อ

ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผู้นำกลุ่มประเทศจี-20 ได้เห็นพ้องที่จะกำหนดแนวทางการจ่ายเงินชดเชยให้กับธนาคารและสถาบันการเงิน พร้อมกำหนดนโยบายควบคุมความเสี่ยงจากการจ่ายโบนัส และค่าใช้จ่ายอื่นๆตามแผนการในระยะยาว

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สภานิติบัญญัติของสหรัฐกำลังศึกษากรณีที่วอลล์สตรีทจ่ายเงินให้พนักงาน หลังสถาบันการเงินเหล่านี้ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไปเกือบ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ธนาคารหลายแห่ง อาทิ ซิตี้กรุ๊ป อิงค์, มอร์แกน สแตนลีย์ และยูบีเอส เอจี ต่างปรับเพิ่มเงินเดือนพนักงานในปีนี้ หลังจากที่มีการปรับนโยบายการจ่ายโบนัส (ไม่ให้จ่ายโบนัส ก็เลยขยับเงินเดือนแทน)

ส่วนโกลด์แมน แซคส์ อิงค์ได้จัดสรรเงิน 11,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านเงินชดเชยให้แก่พนักงานในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งคิดเป็นอัตราเฉลี่ยคนละ 386,429 ดอลลาร์สหรัฐ


ชาติตะวันออกกลาง ปฏิเสธข่าวชาติอาหรับยุติใช้เงินดอลล์ซื้อขายน้ำมัน

ก่อนหน้านี้ ทางหนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนท์ ของอังกฤษรายงานการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่การธนาคารตะวันออกกลางและจีนว่า กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) เริ่มเจรจาร่วมกับจีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส เพื่อยุติการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายน้ำมัน โดยชาติอาหรับซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันกำลังมองหาลู่ทางที่จะเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินอื่นในตระกร้าเงิน รวมถึง สกุลเงินเยน หยวน ยูโร และทองคำ

ล่าสุดนายมูฮัมหมัด อัล-จาสเซอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางซาอุดิอาระเบีย ยืนยันกับผู้สื่อข่าวที่เมืองอิสตันบูลในวันนี้ว่า เขาไม่ได้เจรจาเรื่องการยกเลิกใช้สกุลเงินดอลลาร์ในการซื้อขายน้ำมันร่วมกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆและประเทศผู้นำเข้าน้ำมันยักษ์ใหญ่ รวมถึงจีน ขณะที่บลูมเบิร์กรายงานว่า นายฮิโรฮิสะ ฟูจิอิ รมว.คลังญี่ปุ่นก็ไม่ทราบเรื่องนี้เช่นกัน

ดิ อินดิเพนเดนท์ รายงานว่า กลุ่ม GCC ซึ่งมีซาอุดิอาระเบีย อาบูดาบี คูเวต และกาตาร์ เป็นสมาชิก ได้ประชุมหารือกันกับรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของจีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส เกี่ยวกับการวางแผนที่จะเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินอื่นในการซื้อขายน้ำมัน และ

นักวิเคราะห์กล่าวว่าอาจมีการใช้ทองคำแทนสกุลเงินในการซื้อขายน้ำมันด้วย ซึ่งหากเป็นจริงก็จะส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง โดยราคาทองคำในตลาด COMEX ทะยานขึ้นติดต่อกัน 3 วัน สู่ระดับสูงกว่า 1,000 ดอลลาร์/ออนซ์ เพราะได้รับแรงหนุนจากดอลลาร์ที่อ่อนค่า


ไมโครซอฟท์ยอมรับบัญชี hotmail นับหมื่นรั่วไหลจริง

ไมโครซอฟท์ ผู้ผลิตซอฟท์แวร์รายใหญ่ของโลก ออกมายอมรับว่าข้อมูลบัญชีรวมถึงพาสเวิร์ดของผู้ใช้งาน hotmail นับหมื่นบัญชีถูกเผยแพร่อย่างโจ่งแจ้งบนเว็บไซต์แห่งหนึ่งจริง

เว็บไซต์ด้านเทคโนโลยีอย่าง neowin.net เป็นที่แรกที่ตีแผ่ข่าวอื้อฉาวนี้ โดยระบุว่าบัญชีของผู้ใช้ hotmail ถูกโพสต์ในวันที่ 1 ตุลาคมบนเว็บไซต์ pastebin.com ซึ่งปกติเป็นเว็บไซต์ที่ใช้แลกเปลี่ยนโค้ดต่างๆ ระหว่างนักพัฒนาซอฟท์แวร์

ข้อมูลที่เผยแพร่ไปแล้วมีทิ้งสิ้น 10,028 บัญชี ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร A และ B และเป็นอีเมลแอดเดรสที่ลงท้ายด้วย hotmail.com, msn.com และ live.com ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยุโรป แต่ตอนนี้ได้มีการลบรายละเอียดดังกล่าวออกจากเว็บไซต์แล้ว

โฆษกของไมโครซอฟท์ กล่าว่า บริษัททราบแล้วว่าลูกค้า hotmail ส่วนหนึ่งถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวไปอย่างผิดกฎหมาย นอกจากนั้นยังถูกนำข้อมูลไปเปิดเผยในเว็บไซต์ด้วยและได้ทำการสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว
แกรห์ม คลูลีย์ ที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยของบริษัทแห่งหนึ่งกล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีนิวส์ว่า บัญชีอีเมลนับหมื่นที่พบอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทั้งหมดที่มีการเปิดเผยในอินเทอร์เน็ต

ขณะเดียวกัน เขาแนะนำให้ผู้ใช้งาน hotmail เปลี่ยนพาสเวิร์ดโดยเร็วที่สุด และถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนพาสเวิร์ดในเว็บไซต์อื่นด้วย เนื่องจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 40% มักใช้พาสเวิร์ดเดียวสำหรับทุกเว็บไซต์ที่ใช้งาน
money wake up
***********
06/10/52
Goldman Sachs ปรับเพิ่มมุมมองหุ้นแบงก์ใหญ่สหรัฐฯ

มีข่าวดีสำหรับหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ในอเมริกา เมื่อ Goldman Sachs ปรับยกระดับคำแนะนำในการลงทุนจากระดับ “ปานกลาง” (Neutral) ขึ้นเป็นระดับ “น่าลงทุน” (Attractive) ซึ่งหุ้นในกลุ่มนี้ก็รวมถึง Wells Fargo, JPMorgan Chase และ Bank of America โบรกเกอร์ใหญ่เจ้านี้ก็ให้เหตุผลถึงการปรับเพิ่มมุมมองว่าเป็นเพราะราคาของบรรดาธนาคารดังกล่าวยังไม่สะท้อนถึงแนวโน้มผลประกอบการที่แท้จริงแต่อย่างใด

นักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs คาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานในธุรกิจปกติสำหรับกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ณ ขณะนี้สูงกว่าตัวเลขในปี 2007 อยู่ 39% ขณะที่ราคากลับต่ำกว่าในขณะนั้นถึง 36%

ถ้าเจาะจงดูเป็นรายธนาคาร สำหรับ Wells Fargo ทาง Goldman Sachs ก็ได้อัพเกรดคำแนะนำหุ้นจากระดับ “ปานกลาง” (Neutral) ขึ้นเป็น “ซื้อ” (Buy) หลังจากที่เห็นว่ามูลค่าสินทรัพย์ต่อหุ้น ในส่วนที่เรียกว่า tangible assets per share เพิ่มขึ้นถึง 70% ในไตรมาสสอง เหตุผลก็เป็นเพราะการที่ Wells Fargo เข้าซื้อธนาคาร Wachovia ในราคาที่ถูกมากๆ ท่ามกลางกลยุทธ์ที่เหมือนกับธนาคารทั้งหลายที่ใช้กันในการเพิ่มรายได้ของตัวเองในระยะยาว โดยผ่านการเพิ่มขนาดทางธุรกิจจากภายนอก

ในกรณีของ Wells Fargo นั้น ธนาคารไปเข้าซื้อธุรกิจของ Wachovia ในมูลค่า 12,700 ล้านเหรียญเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเฉือนเอาชนะคู่แข่งอย่าง Citigroup ไปได้ หลังจากที่ต้องเผชิญกับภาวะการผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนทำให้ธนาคารต้องเผชิญกับการขึ้นไปยืนอยู่ที่ปากเหวว่าจะล้มหรือไม่ล้มในช่วงที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์ Goldman Sachs มองถึงสถานการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ตลาดยังไม่รับรู้ถึงปัจจัยความพร้อมในการฟื้นตัวของรายได้ของธนาคารขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับธนาคารที่มีธุรกิจจำกัดอยู่เฉพาะในภูมิภาค ซึ่งทำให้ราคาหุ้นยังไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ความเห็นของนักวิเคราะห์ของโบรกเกอร์เจ้านี้ กลับมีทิศทางตรงกันข้ามกับความเห็นของซีอีโอธนาคารยักษ์ใหญ่จากยุโรป อย่าง HSBC ที่ออกมาบอกเมื่อวานนี้ว่า เขาไม่เชื่อที่สภาวะความตกต่ำที่สุดของธุรกิจจะยุติลงแล้ว ในเมื่อกำไรของธนาคารยังจะต้องเผชิญกับภาวะการหดตัวอยู่ต่อไป


หุ้น-ทอง-น้ำมันบวก ขณะตัวเลขภาคบริการสหรัฐฯ ขยายตัวครั้งแรก

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขานรับปัจจัยบวกจากมุมมองของ Goldman Sachs ที่มีต่อหุ้นกลุ่มธนาคารในสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ก็รับข่าวดีจากรายงานสภาวะภาคบริการในประเทศที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้งในเดือนกันยายน หลังจากที่ร่วงติดต่อกันมานานถึง 11 เดือน นอกจากนั้น ผู้จัดการกองทุนบางรายก็ยังคาดหวังผลประกอบการไตรมาสสามที่น่าจะประกาศออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น แม้นักวิเคราะห์จะประเมินภาพรวมไว้ทางด้านต่ำเล็กน้อยก็ตาม

ทางด้านมุมมองที่มีต่อรายงานต่างๆ ที่ออกมาในตอนนี้ ทีมนักกลยุทธ์จาก Credit Suisse ก็มองว่า แม้อาจจะนำไปสู่การปรับลดคำแนะนำลงทุนในหุ้น แต่ก็ยังไม่ได้มีสัญญาณที่บ่งบอกว่าถึงเวลาที่จะต้องขายหุ้นออกมาแล้วแต่อย่างใด โดยมุมมองของโบรกเกอร์รายนี้เชื่อว่าอาจจะมีการปรับพักฐานได้ในช่วงสั้นๆ แต่ก็คาดว่าดัชนี S&P 500 จะสามารถจบลงได้ที่ 1,100 จุดในสิ้นปีนี้ เมื่อเทียบกับ 1,040 จุดตอนปิดตลาดเมื่อคืนนี้

สำหรับหุ้นในดาวโจนส์ที่จะประกาศผลประกอบการไตรมาสล่าสุดเป็นรายแรก ได้แก่ ผู้ผลิตอลูมินั่มรายใหญ่ที่สุดในโลก อย่าง Alcoa ที่มีคิวจะรายงานผลการดำเนินงานในวันพุธที่ 7 นี้ ขณะที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์จากสำนักข่าว Bloomberg ก็คาดว่าบริษัทในสหรัฐฯ โดยรวมจะรายงานภาวะการร่วงลงของกำไรเป็นไตรมาสที่ 9 ติดต่อกัน ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำไมผู้จัดการกองทุนรวมถึงนักวิเคราะห์บางคนถึงเชื่อว่าหุ้นจะมีโอกาสสร้างเซอร์ไพร์สในช่วงปลายปีต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า และเหตุผลอีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะสถานการณ์ของหุ้นในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมาที่ตกอยู่ในสภาพย่ำแย่มาก จนทำให้ภาพรวมในปีนี้ดูดีขึ้นโดยเปรียบเทียบ

สำหรับความเคลื่อนไหวของตลาดอื่นๆ ที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ ราคาน้ำมันขยับขึ้น 0.7% มาอยู่ที่ 70.41 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะที่ทองคำบวก 1.3% หลังเงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าเมื่อเทียบกับตะกร้า 6 สกุลเงินหลัก ซึ่งรวมถึงยูโรและเยนด้วยเช่นกัน


อุตสาหกรมการผลิตและบริการยูโรโซนปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาด

อุตสาหกรรมการผลิตและบริการในยุโรปปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาดการณ์ในเดือนก.ย. นับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยครั้งรุนแรงสุดในรอบ 60 ปี

Markit Economics รายงานว่า ดัชนีในภาคอุตสาหกรรมทั้ง 2 ประเภทในเดือน ก.ย. ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 51.1 จุด สูงกว่าเดือนก่อนหน้าและสูงกว่าคาดการณ์

ตัวเลขที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัว และตัวเลขดังกล่าวก็อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 มาเป็นเวลา 14 เดือน ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นมาแตะระดับ 50 จุดได้เมื่อเดือนส.ค.

เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรหดตัวลงเพียงเล็กน้อยในไตรมาส 2 เนื่องจากเยอรมนีและฝรั่งเศสซึ่งมีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคได้กลับมาขยายตัวขึ้น โดย IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัว 0.3% ในปีหน้า และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนในปีนี้จากเดิมที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนก.ค.ที่ -4.8% เป็น -4.2%

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม G-7 ระบุในแถลงการณ์ว่า แม้มีสัญญาณบ่งบอกการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบางและตลาดแรงงานก็ยังไม่ปรับตัวขึ้น โดยอัตราว่างงานในยูโรโซนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9.6% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว IMF ได้คาดการณ์ว่า อัตราว่างงานยูโรโซนจะขยายตัวแตะ 11.7% ในปีหน้า ซึ่งสูงกว่าในสหรัฐหรืออังกฤษ


สินค้ามือสองได้รับความนิยมท่ามกลางภาวะถดถอย

ภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นทำให้ยอดขายของค้าปลีกขนาดใหญ่ลดลง แต่ร้านขายสินค้ามือสองเติบโตมากขึ้น

ในเดือนส.ค. ผลสำรวจของ สมาคมค้าปลีกและสินค้าราคาประหยัดของสหรัฐฯ หรือ NARTS ที่ได้ทำการสำรวจยอดขายของสมาชิก 263 ร้านค้า ใน Q2/2009 เทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2008 พบว่า ยอดขายสินค้ามือสองเพิ่มมากขึ้น

64.1% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่ายอดขายเพิ่มขึ้น โดยมียอดขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 31%, ขณะที่ 11.5% บอกว่ายอดขายคงที่ และ 24.4% บอกว่ายอดขายลดลง ยกตัวอย่างเช่น ร้านขายหนังสือมือสองแห่งหนึ่งในดัลลัส ชื่อ Half Price Books ซึ่งมียอดขายมากขึ้นและเตรียมที่จะเปิดร้านอีกหลายสาขา

ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว มีคนจำนวนมากนำหนังสือมาขายคืนให้กับร้านหนังสือ เนื่องจากหาเงินสดมาหมุมเวียนมากขึ้น และก็ยินดีที่จะซื้อหนังสือมือสองที่มีราคาถูกกว่า และผู้บริโภคบางคนก็ได้ทำแบบเดียวกันกับพฤติกรรมการเลือกซื้อเสื้อผ้าด้วย

ขณะที่ร้านค้าเล็กๆ ก็ประสบความสำเร็จจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจแบบนี้แบบด้วยเช่นกัน อย่างเช่น ร้านขายเสื้อผ้าของดีไซเนอร์มือสอง ซึ่งสามารถสร้างเปิดสาขาได้ถึง 10 แห่ง จากปี 1991

เจ้าของร้านบอกว่าสินค้าที่นำมาขายก็จะมีคุณภาพดี เช่น เสื้อแจ็คเก็ต ในห้างขายร้อยเหรียญ ในร้านมือสองก็จะสามารถซื้อได้ในราคา 10 หรือ 20 เหรียญ

เจ้าของร้านได้แนะนำว่า ถ้าเกิดใครจะนำเสื้อผ้าไปทิ้ง ถ้าเสื้อผ้ายังอยู่ในสภาพที่ดี ก็ให้นำไปขายให้ร้านมือสองเหล่านี้เพราะจะสามารถเพิ่มเงินในกระเป๋าได้ด้วย การซื้อสินค้าราคาถูกและเหมาะสมกับคุณภาพก็เป็นอะไรที่เหมาะกับสถานการณ์ในขณะนี้


อังกฤษ-ฝรั่งเศสให้ IMF กู้ 4 พันล้านเหรียญ ด้านบราซิลก็สร้างประวัติศาสตร์ให้เงินสนับสนุน IMF ด้วย

รัฐบาลอังกฤษ และ ฝรั่งเศส เตรียมแบ่งงบประมาณ จำนวน 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 136,000 ล้านบาทให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งจะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปกระจายในรูปของเงินกู้รูปแบบใหม่ ให้กับประเทศยากจนที่ไม่มีงบประมาณพอสำหรับจ่ายค่าสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก


นายโดมินิก สเตราห์-คาห์น ผู้อำนวยการ IMF ยกย่องการทำหน้าที่ของอังกฤษและฝรั่งเศส พร้อมกับเรียกร้องประเทศร่ำรวยอื่น ๆ ให้ปฏิบัติตามเพื่อช่วยเหลือชาติยากจน

นอกจากนี้ยังนับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ของบราซิล หลังจากที่ทางรัฐบาลได้ตัดสินใจซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศในมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 340,000 ล้านบาท ซึ่งการซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว เปรียบเสมือนการให้เงินสนับสนุนกับ IMF นั้นเอง

Guido Mantega รัฐมนตรีคลังของบราซิล บอกว่า การตัดสินใจเกิดขึ้นหลังจากการประชุม G20 ที่เพิ่งผ่านมา ประเด็นการส่งเงินสนับสนุน IMF ได้ถูกหยิบยกขึ้นมา โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่บราซิลให้ IMF กู้ยืมเงิน ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนบทบาทจากผู้กู้มาเป็นผู้ให้กู้เป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นการช่วยให้ IMF มีเงินเพียงพอที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง

การให้กู้และการซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินครั้งนี้ ผ่านความเห็นชอบในที่ประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่อังกฤษ เมื่อเดือน เมษายนที่ผ่านมา โดยเงินกู้ที่อังกฤษและฝรั่งเศสจัดสรรให้ IMF คิดเป็น 20% ของเงินกู้รูปแบบใหม่ที่ IMF ตั้งขึ้น นอกจากนี้ G20 ยังเห็นพ้องที่จะเพิ่มบทบาทของ IMF ให้มากขึ้น ซึ่งการที่บราซิลเดินหน้าในเรื่องนี้ นับว่าเป็นก้าวแรก ที่เห็นได้ในเชิงปฏิบัติ

พร้อมกันนี้และภายใต้ข้อตกลงของกลุ่ม BRIC ประเทศ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ต่างมีมติที่จะให้เงินสนับสนุนแก่ IMF รวมทั้งหมด 8 หมื่นล้านเหรียญ หรือ 2.72 ล้านล้านบาท เพื่อที่จะช่วยเหลือต่อปัญหาวิกฤติการเงินทั่วโลก ซึ่งจากยอดรวมทั้งหมดนี้ จีนให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุน 5 หมื่นล้านเหรียญ หรือ 1.7 ล้านล้านบาท


พิษตัวเลขว่างงาน ญี่ปุ่นเตรียมตั้งคณะทำงานฉุกเฉิน

รัฐบาลญี่ปุ่นเล็งตั้งคณะทำงานฉุกเฉินเพื่อรับมือและแก้ปัญหาอัตราว่างงานพุ่งสูงขึ้น โดยนายฮิโรฟูมิ ฮิราโน่ หัวหน้าเลขาธิการครม.ญี่ปุ่นรับสถานการณ์ตอนนี้เรียกได้ว่าย่ำแย่มาก ซึ่งจะเห็นได้จากตำแหน่งงานที่มีอยู่ ส่งผลให้นายยูคิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีแรงงานและรองนายกรัฐมนตรีดูแลเรื่องนี้

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า หากมีการจัดตั้งคณะทำงานดังกล่าวขึ้นมา คณะทำงานชุดนี้จะพิจารณเรื่องความเป็นไปได้ในการขึ้นค่าแรงสำหรับพนักงานที่ทำหน้าที่ในด้านการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งเรื่องการจัดหาคอร์สฝึกอบรมให้กับผู้หางาน

อัตราว่างงานของญี่ปุ่นในเดือนส.ค.อยู่ที่ 5.5% ลดลงไป 0.2 จุด จากระดับที่ย่ำแย่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ 5.7% เมื่อเดือนที่แล้ว แม้ว่าสถิติดังกล่าวจะร่วงลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยรัฐบาลระบุว่า เมื่อเดือนส.ค.มีผู้ว่างงาน 3.61 ล้านราย เพิ่มขึ้นถึง 890,000 รายจากระดับปีที่แล้ว และคาดว่าประชุมครม.ในวันพรุ่งนี้จะได้มีการพูดคุยกันในประเด็นนี้
money wake up
**************
05/10/52
G7 เลี่ยงแตะเรื่องดอลลาร์อ่อน

ในการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้บริหารธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ G7 ที่ตุรกีในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ไม่ได้ถูกชูขึ้นมาเป็นปัจจัยหลักในการพูดคุย

แม้ก่อนหน้านี้จะมีการคาดว่าที่ประชุม G7 จะใช้เวลาในการนั่งถกเถียงเรื่องนี้หลังจากค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงมาแล้วกว่า 14% นับจากต้นเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับค่าเงินของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ นี้

ขณะเดียวกันที่ประชุม G7 ยังเรียกร้องให้จีนหนุนสกุลเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นอีก เนื่องจากจีนได้ปล่อยให้สกุลเงินหยวนทรงตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์มานับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงินโลกในเดือนก.ค.ปีพ.ศ.2551 อย่างไรก็ตาม กลุ่ม G7 กล่าวชื่นชมจีนที่พยายามทำให้เงินหยวนมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกมีความสมดุลมากขึ้น

และหลังจากการประชุมสิ้นสุดลง รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของฝรั่งเศส ก็ออกมายืนยันความต้องการสถานะเงินดอลลาร์ที่แข็งแกร่ง ความอ่อนแอของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐทำให้ชาติสมาชิกวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะดอลลาร์ที่อ่อนค่าได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกของประเทศอื่นๆ

ขณะที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ นายทิมโมธี ไกท์เนอร์ ได้ตอกย้ำกับผู้สื่อข่าวว่า สหรัฐฯ ยังจำเป็นที่จะต้องรักษาสถานะของเงินดอลลาร์ไว้ต่อไป ตลอดจนการปกป้องค่าเงินในฐานะที่เป็นเงินสกุลสำรองหลักของโลกไว้ด้วย

ขณะที่นายฮิโรอิชิ ฟูจิอิ รมว.คลังญี่ปุ่นยืนยันในว่า เขาจะไม่แตะต้องประเด็นเงินเยนแข็งค่าในที่ประชุม G7 อย่างแน่นอน เพราะไม่ต้องการสร้างความผันผวนในตลาดปริวรรตเงินตรา ขณะรัฐบาลชุดใหม่ของญี่ปุ่นเองก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องของเงินเยนได้

สำหรับค่าเงินในปัจจุบัน ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าได้ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงสุดเมื่อเทียบกับยูโรในรอบเกือบหนึ่งเดือน

อย่างไรก็ดี ตัวเลขตลาดแรงงานที่ออกมาล่าสุดที่ดูแย่ลงก็ส่งผลให้เงินดอลลาร์กลับมาแผ่ว โดยตลาดเริ่มจะกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะยืดเวลาการคงนโยบายดอกเบี้ยที่ระดับศูนย์เปอร์เซ็นต์ยาวนานออกไปอีกถึงปีหน้า


คนอเมริกันตกงานสูงเกินคาดในเดือนก.ย.

ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาในวันศุกร์ยังดูน่ากังวล เมื่อกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่าคนอเมริกันตกงานเพิ่มขึ้นอีก 263,000 คนในเดือนกันยายน ซึ่งมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 175,000 คน

รายงานระบุว่าเป็นการจ้างงานที่ลดลงในภาครัฐไปจนถึงธุรกิจค้าปลีกและภาคก่อสร้าง นอกจากนั้น อัตราการว่างงานยังขยับขึ้นอีกจากระดับ 9.7% ในเดือนสิงหาคม ขึ้นมาเป็น 9.8% แล้ว และที่น่าจับตาก็อยู่ตรงที่ชั่วโมงการทำงานของลูกจ้างที่ยังทรงตัวอยู่แถวๆ ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ เดือนล่าสุด ส่งผลให้จำนวนคนอเมริกันตกงานรวมกันแล้วถึง 7.2 ล้านคนนับตั้งแต่ช่วงที่วิกฤติเศรษฐกิจถดถอยรอบนี้เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 2550

ข้อมูลเดือนกันยายนไม่เพียงแต่จะแสดงถึงแรงงานในภาคการผลิตที่โดนปลดเท่านั้น แต่รวมถึงภาคบริการด้วย ซึ่งตัวเลขในภาคบริการ อย่างเช่น ธุรกิจธนาคาร บริษัทประกัน ร้านอาหาร และร้านค้าปลีก มีการปลดแรงงานออกถึง 147,000 คนในเดือนกันยายน หลังจากที่ลดการจ้างงานมาแล้ว 69,000 คนในเดือนสิงหาคม

ปัญหาการว่างงานเมื่อรวมกับสภาวะการผลิตที่มีตัวเลขคำสั่งซื้อออกมาร่วงลงในเดือนสิงหาคม ส่งผลให้ Ben Bernanke ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ บอกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะไม่มีแรงมากพอที่จะกดให้อัตราการว่างงานทุเลาลงได้

ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนก็ตีความว่า ท่าทีของเฟดน่าจะหมายความถึงการค่อยๆ ใช้วิธีดึงเงินที่เคยอัดฉีดสู่ระบบเศรษฐกิจออกทีละน้อย


บราซิลฉลองชัยหลังได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2559

ที่ประชุมคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้เลือกให้ กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล เป็นสถานที่จัดการแข่งขันโอลิมปิก 2559 เฉือนคู่แข่งอย่างกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น // ชิคาโก สหรัฐอเมริกา // และมาดริด ประเทศสเปน

สมาชิกของ IOC ซึ่งประชุมกันที่กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์กได้ลงคะแนนเสียงกันเพื่อเลือกเมืองที่จะทำหน้าที่เจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2559

ชิคาโก ก็เป็นเมืองแรกที่ตกรอบแรกไป และที่เฉือนกันในรอบต่อไปก็คือ กรุงโตเกียวของญี่ปุ่น แต่แล้วในที่สุดริโอเดอจาเนโรก็เข้าตากรรมการมากที่สุด

คณะผู้แทนจากริโอเดอจาเนโร ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย ชูประเด็นเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์เพื่อโน้มน้าวให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากลเลือกเมืองของบราซิลเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2016

ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีของบราซิล กล่าวต่อสมาชิกไอโอซีว่า บราซิลรับประกันว่าการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงริโอฯจะมีความปลอดภัย

และยังชี้ด้วยว่า เศรษฐกิจของบราซิลขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยรับประกันเสถียรภาพทางการเงินได้ โดยริโอฯเสนอแผนใช้จ่าย 14,400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดในบรรดาผู้ท้าชิงทั้ง 4 เมือง โดยอีก 3 เมืองได้แก่ชิคาโก โตเกียว และมาดริด

สำหรับเจ้าโอลิมปิกที่จะจัดขึ้นครั้งถัดไปเป็นครั้งที่ 30 ในปี 2555 คือกรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ หลังจากที่กรุงปักกิ่งของจีน เพิ่งจะจัดเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันไปเมื่อปีที่แล้ว


จับตาปัจจัยการเมืองความเสี่ยงของเอเชีย

สำหรับปัจจัยที่จัดว่าเป็นความเสี่ยงสำหรับประเทศแถบเอเชีย หนึ่งในความเสี่ยงที่หลายประเทศในเอเชียต้องเผชิญอย่างหนีไม่พ้น นั้นคือ ประเด็นทางการเมือง

ญี่ปุ่น : คณะทำงานของนายกฯ ยูกิโอะ ฮาโตยามะ นั้นก็ได้เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ด้วยประเด็นการแข็งค่าของเงินเยน หลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นายฮิโรอิสะ ฟูจิอิi ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งก็มีกระแสคัดค้านจากคณะทำงานด้วยเช่นกัน ต้อติดตามว่าประเด็นดังกล่าว จะสร้างความแตกร้าวให้เกิดขึ้นกับคณะรัฐบาลใหม่ของนายฮาโตยามะหรือไม่ เกี่ยวกับการวางแผนนโยบายต่อไปข้างหน้า

ญี่ปุ่น: อดีต รัฐมนตรีคลัง ที่สร้างประเด็นฉาว เมาระหว่างการประชุม G7 เมื่อเดือน ก.พ. เสียชีวิตแล้ว

สุดสัปดาห์ตำรวจและสำนักข่าวต่างๆของญี่ปุ่นพากันรายงานในวันนี้ว่า ได้พบศพนายโซอิชิ นาคานาว่า อดีตรัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นวัย 56 ปี ผู้ถูกบีบให้ลาออก หลังจากแถลงข่าวด้วยท่าทีมึนเมาในระหว่างเข้าร่วมการประชุม G-7 ที่กรุงโรมของอิตาลี เรื่องอื้อฉาวส่งผลกระทบหนักต่อนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น ก็คือ นายทาโร่ อาโซ ผู้ลาออกเมื่อเดือนที่แล้ว หลังจากพรรคเสรีประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมของเขา พ่ายแพ้ยับเยินในการเลือกตั้งให้กับนายกรัฐมนตรียูคิโอ ฮาโตยาม่า จากพรรคประชาธิปไตย ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนสิงหาคม หลังปกครองประเทศมาเกือบพรรคเดียวในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา


จีน : ผู้นำจีน นายเหวินเจียเป่าเดินทางไปเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ "an official goodwill visit"

นายเหวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีนได้เดินทางถึงกรุงเปียงยาง ประเทศเกาหลีเหนือแล้วในวันอาทิตย์ โดยมีนายคิม จอง อิล ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือเดินทางไปให้การต้อนรับด้วยตนเองที่สนามบิน

ขณะที่ชาติมหาอำนาจทั้งในตะวันตกและเอเชียต่างจับตาดูว่าจีนจะสามารถโน้มน้าวเกาหลีเหนือให้กลับสู่การเจรจา 6 ฝ่ายได้หรือไม่ ซึ่งการเจรจาดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะยับยั้งโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

นายเหวินเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในรอบ 8 ปีของจีนที่เดินทางเยือนเกาหลีเหนือ หลังจากนายหลี่ เผิง อดีตนายกรัฐมนตรีจีนเดินทางเยือนเกาหลีเหนือเมื่อปีพ.ศ.2534 และนับเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่นายคิม จอง อิล เดินทางไปรับอคันตุกะต่างประเทศด้วยตนเองที่สนามบิน หลังจากเคยต้อนรับนายนอง ดั๊ค มานห์ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนามในเดือนต.ค.ปีพ.ศ.2550

ก่อนหน้านี้ จีนซึ่งเป็นประธานการเจรจา 6 ฝ่าย ได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนไปยังเกาหลีเหนือ เพื่อพยายามโน้มน้าวเกาหลีเหนือให้ร่วมเจรจาพหุภาคี นับตั้งแต่เกาหลีเหนือมีความขัดแย้งกับสหรัฐและเกาหลีใต้ ภายหลังจากเกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธีและเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์

อินเดีย : กำลังจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งจัดว่าเป็นครั้งแรกของรัฐสภาที่เพิ่งได้รับการจัดตั้งขึ้น ตลาดต่างเฝ้ารอว่า ภาวะแห้งแล้ง และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และเป็นแรงกดดันต่อเสียงสนับสนุนของรัฐบาล โดยเฉพาะที่รัฐ มหาราชา ที่ มุมไบ หากเสียงสนับสนุนลดลง อาจจะแรงส่งให้เกิดการปรับคณะรัฐมนตรี หรือ อาจนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ก็ได้
*************
02/10/52
ECB ชี้รัฐบาลยูโรโซนควรยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในปี 2554
นายฌอง คล้อด ทริเชต์ ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรปกล่าวว่า การถอดถอนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมีความจำเป็นต่อการฟื้นตัว และต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้ภาคธุรกิจและประชาชนว่ารัฐบาลจะไม่สร้างหนี้สาธารณะเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวันนี้ รัฐมนตรีการเงินของประเทศสมาชิกยูโรโซนไม่ได้ให้คำมั่นที่จะยกเลิกมาตรการกระตุ้นในปี 2554

อัตราว่างงานยูโรโซนเดือนส.ค.เพิ่มขึ้นแตะ 9.6% สูงสุดในรอบ 10 ปี
ในเดือนส.ค.มีคนตกงานรวมทั้งสิ้น 15.2 ล้านคน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังคงส่งผลกระทบต่อภาคแรงงาน ซึ่งได้เพิ่มความวิตกว่าตลาดแรงงานที่อ่อนแอจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้มีข้อมูลบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจหลายประเทศในยูโรโซนกำลังฟื้นตัวจากภาวะถดถอย แต่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า อัตราว่างงานจะยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ซิสโก้ซิสเต็มส์รุกซื้อกิจการแทนด์เบิร์ก 2.96 พันล้านดอลลาร์
นับเป็นการซื้อกิจการบริษัทมหาชนนอกสหรัฐครั้งแรกของซิสโก้ และยังจะส่งผลให้ตลาดวิดีโอคอนเฟอเรนซ์คึกคักมากยิ่งขึ้น เพราะบริษัทเองก็ได้ให้บริการในระบบเทเลเพรสเซนส์หรือการประชุมเสมือนจริงในรูปหลายแบบอยู่แล้ว จอห์น ชอมเบอร์ส ซีอีโอของซิสโก้ กล่าวว่า การซื้อแทนด์เบิร์กจะช่วยให้ซิสโก้มีระบบที่มีราคาไม่สูงมากไว้ดึงดูดลูกค้าในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่าได้)


ชาวอเมริกันขอรับสวัสดิการว่างงานมากกว่าคาดในสัปดาห์ล่าสุด

นักลงทุนผิดหวังกับตัวเลขยอดผู้ขอรับสิทธิสวัสดิการว่างงานในสหรัฐฯ สัปดาห์ล่าสุดที่ออกมาเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด โดยตัวเลขจากกระทรวงแรงงานนี้แสดงให้เห็นถึงจำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการเพิ่มขึ้น 17,000 ราย มาอยู่ที่ 551,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา ขณะที่ยอดสะสมของผู้ใช้สิทธิในสวัสดิการนี้ลดลงมาอยู่ที่ 6,090,000 คน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน

นักเศรษฐศาสตร์กำลังรอดูตัวเลขตลาดแรงงานที่จะมีออกมาอีกในวันนี้ ด้วยการคาดว่าจำนวนผู้ตกงานน่าจะชะลอลงมากในเดือนที่แล้ว แม้อัตราการว่างงานจะยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และถือเป็นการตอกย้ำว่าสถานการณ์การจ้างงานของผู้ประกอบการยังดำเนินไปอย่างช้าๆ ผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า อัตราการว่างงานจะพุ่งขึ้นไปที่ระดับ 9.8% สร้างสถิติใหม่อีกครั้งด้วยระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2526

นักเศรษฐศาสตร์จาก Goldman Sachs Group เป็นหนึ่งในผู้ที่เป็นห่วงว่ายอดการจ้างงานในเดือนที่แล้วอาจจะออกมาแย่กว่าที่คิด เมื่อดูจากเครื่องชี้ต่างๆ ที่ออกมาล่าสุด ไม่ว่าจะเป็นยอดโฆษณารับสมัครงานออนไลน์ ดัชนีการจ้างงานของ ISM ผลสำรวจความเห็นผู้บริโภคต่อตลาดแรงงานของ the Conference Board เป็นต้น

จำนวนผู้ว่างงานในสหรัฐฯ สูงถึง 6.9 ล้านคนแล้วนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจถดถอยเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2550 และถือเป็นระดับการว่างงานที่รุนแรงกว่าวิกฤติครั้งไหนที่เศรษฐกิจเคยเผชิญมาตั้งแต่ the Great Depression ในทศวรรษ 1930 สำหรับท่าทีเรื่องการจ้างงานจากบริษัททั้งหลายในตอนนี้ก็ยังดูไม่สดใสนัก อย่างเช่นกรณีล่าสุดของ General Motor ที่บริษัทเปิดเผยในสัปดาห์นี้ว่า จะยุติการผลิตรถแบรนด์ Saturn ที่มีอายุกว่า 24 ปี โดยหวังจะเดินตามรอยคู่แข่ง อย่าง Toyota Motor ที่เคยใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้สำเร็จมาแล้ว

ทางด้านอีกหนึ่งรายงานทางเศรษฐกิจที่สามารถช่วยฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุนขึ้นได้บ้างเมื่อคืนนี้ ก็คือ ตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์ที่ชี้ถึงสภาวะการใช้จ่ายผู้บริโภคที่ออกมาเพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม ด้วยอัตราการเพิ่มที่สูงสุดในรอบเกือบ 8 ปีเลยทีเดียว ยอดการจับจ่ายของผู้บริโภคนี้ปรับตัวขึ้น 1.3% ซึ่งมากกว่าตลาดคาดการณ์และขยายตัวได้ต่อจากการเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกัน ทางด้านตัวเลขรายได้ก็เพิ่มขึ้นในอัตรา 0.2% เป็นเดือนที่สองอีกด้วย


ตัวเลขเศรษฐกิจฉุดหุ้นร่วง ขณะดอลลาร์กลับมาแข็ง

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อคืนที่ผ่านมา ร่วงลงแรงที่สุดในรอบ 3 เดือน ขณะที่ตลาดพันธบัตรและเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นคึกคัก ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังในตลาดแรงงานและตัวชี้วัดสภาวะการผลิตส่งผลให้เกิดแรงขายออกมาในหุ้นหลักๆ อย่างเช่น JPMorgan Chase, Dupont รวมไปถึง American Express ที่ราคาร่วงลงอย่างน้อย 4% ในเวลาเดียวกัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ก็ร่วงลงต่ำกว่าระดับ 4% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายนเมื่อตลาดเห็นรายงานเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป

ผู้จัดการกองทุนรายหนึ่งมองว่า ตลาดดูเหมือนจะตอบรับปัจจัยทางเศรษฐกิจไปก่อนล่วงหน้าเล็กน้อย ท่ามกลางสัญญาณเตือนที่มีออกมาว่าจะมีการปรับฐานในเดือนนี้ สำหรับรายงานเศรษฐกิจที่ออกมากดดันความเชื่อมั่นนักลงทุนระลอกล่าสุด นอกจากจะเป็นตัวเลขผู้ขอรับสิทธิในสวัสดิการว่างงานที่ออกมาเพิ่มขึ้นสูงกว่าตลาดคาดการณ์แล้ว ดัชนีชี้วัดสภาวะการผลิตจาก ISM ก็แผ่วลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่าคาดด้วย

ในส่วนของปัจจัยค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นกว่า 0.8% เทียบกับยูโร เมื่อประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายเบน เบอร์นันกี้ ระบุว่า เขายังมองไม่เห็นถึงความเสี่ยงในปัจจุบันที่จะมาเปลี่ยนแปลงสถานะของเงินดอลลาร์ที่ใช้เป็นเงินสกุลสำรองหลักของโลกแต่อย่างใด ส่งผลให้ Dollar Index ที่วัดค่าเงินของอเมริกาเทียบกับคู่ค้าหลัก 6 ประเทศ ปรับตัวขึ้นถึงกว่า 0.8% ที่ตลาดนิวยอร์ก

นักกลยุทธ์ค่าเงินจาก Citigroup มองว่า รายงานทางเศรษฐกิจที่ออกมาส่งผลให้นักลงทุนปรับกลยุทธ์รับความเสี่ยง ซึ่งเป็นแรงสนับสนุนแก่ค่าเงินดอลลาร์ในตอนนี้ ส่วนราคาทองคำ Gold Futures ส่งมอบเดือนธันวาคมปรับตัวลง 9.50 เหรียญ หรือเกือบ 1% ลงมาที่ 999.8 เหรียญต่อออนซ์ที่ตลาดนิวยอร์ก และเป็นการปรับลงครั้งแรกในสัปดาห์นี้ในช่วงที่เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น


IMF คาดเศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวช้า

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า การฟื้นตัวจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยูโรโซน จะเป็นไปอย่างเชื่องช้าในระยะใกล้ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจของบางประเทศ โดยส่งผลให้ภาคการเงินยังคงตึงตัว นอกจากนี้ตลาดแรงงานที่ซบเซาก็เป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวเช่นกัน

ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกรอบครึ่งปีที่มีการเผยแพร่ IMF ได้ประเมินเอาไว้ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนน่าจะขยายตัว 0.3% ในปีหน้า หลังจากที่หดตัว 4.2% ในปีนี้ พร้อมระบุด้วยว่าถึงแม้ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2553 ครั้งล่าสุดนี้ จะดีขึ้นกว่าคาดการณ์เมื่อเดือนก.ค.ที่ว่าจะหดตัว 0.3% แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนยังอ่อนแอกว่าสหรัฐและญี่ปุ่นมาก

นอกจากนี้ IMF ระบุว่า ธนาคารยุโรปไม่ได้ตระหนักถึงการแก้ไขและฟื้นฟูสินทรัพย์มากเท่ากับที่ธนาคารในสหรัฐตระหนัก พร้อมกับกล่าวว่า ธนาคารต่างๆของยุโรปจะต้องดิ้นรนไปอีกสักพัก เพราะแม้ผลประกอบการของธนาคารจะแข็งแกร่งขึ้นและสนับสนุนระดับเงินทุน แต่ผลประกอบการที่ดีขึ้นนี้ยังไม่สามารถชดเชยมูลค่าสินทรัพย์ที่ลดลงได้ทั้งหมดในช่วงระยะเวลาอีก 18 เดือนข้างหน้า

IMF คาดการณ์ว่า เยอรมนี ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดในยูโรโซน จะขยายตัวเพียง 0.3% ในปี 2553 และคาดว่า เศรษฐกิจฝรั่งเศสจะขยายตัว 0.9% ในปี 2553 โดยทั้งเยอรมนีและฝรั่งเศสได้หลุดพ้นจากภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการแล้วหลังจากที่ตัวเลขจีดีพีแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของสองประเทศกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในไตรมาสสอง

IMF ระบุว่า ภาวะถดถอยในเยอรมนีรุนแรงกว่าเนื่องจากประเทศพึ่งพาการส่งออกมาก ขณะที่ฝรั่งเศสได้รับผลกระทบเบาบางกว่าจากความไม่แน่นอนในการค้าโลก เนื่องจากฝรั่งเศสทำการค้ากับต่างประเทศในระดับที่ต่ำกว่าและมีภาคสาธารณะที่ใหญ่กว่า สำหรับประเทศอื่นๆในยูโนโซนนั้น คาดการณ์ว่า อิตาลีจะขยายตัว 0.2% ในปีหน้า ขณะที่สเปนจะยังคงประสบกับภาวะถดถอยต่อไปอีก โดย IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจสเปนจะหดตัว 0.7% ในปี 2553

ในส่วนของประเทศยุโรปที่อยู่นอกยูโรโซนนั้น IMF คาดการณ์ว่า อังกฤษจะเริ่มขยายตัวอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เนื่องจากตลาดที่อยู่อาศัยและตลาดการเงินมีเสถียรภาพและเงินปอนด์ที่อ่อนค่าเป็นผลดีต่อการส่งออก โดยคาดว่าอังกฤษจะขยายตัว 0.9% ในปี 2553 ขณะที่ประเทศในแถบยุโรปตะวันออกนั้น ก็ได้รับการคาดหมายเช่นกันว่าจะกลับมาขยายตัวได้ในปี 2553 แต่ IMF ยังเตือนว่า จังหวะของการฟื้นตัวจะช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากการขาดแคลนเงินทุน

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปโดยรวมนั้น IMF ระบุว่า ความเสี่ยงเชิงลบหลักๆจะเกี่ยวข้องกับภาคการเงินและภาคเอกชน ตลอดจนอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นทั่วทั้งทวีป IMF ระบุว่า ความเสี่ยงเชิงลบอาจลึกกว่าถ้าหากรัฐบาลยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วเกินไป ถ้าปัจจัยการเมืองกดดันให้การแก้ไขภาคการเงินล่าช้า หรือถ้าเกิดการสะดุดในการประสานนโยบาย ขณะที่ความเสี่ยงเชิงบวกหลักๆได้แก่การค้าโลกและความเชื่อมั่นที่ฟื้นตัวเร็วเกินคาด
morning brief
**********
02/10/52
สถาบันการเงินใน EU อาจขาดทุน 4 แสนล้านยูโร

Posted on Friday, October 02, 2009
ผลทดสอบสถานะทางการเงิน (Stress Test) ของสถาบันการเงินในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการหน่วยงานกำกับดูแลด้านธนาคารของยุโรป (CEBS) บ่งชี้ว่า ธนาคารยักษ์ใหญ่ 22 แห่ง ใน EU อาจมียอดขาดทุนที่ 4 แสนล้านยูโร หรือ 581,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 1-2 ปีนี้

รัฐมนตรีคลัง EU ระบุในแถลงการณ์ว่า หากปัจจัยทางเศรษฐกิจเลวร้ายมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ตัวเลขขาดทุนในแผนกสินเชื่อและเทรดดิ้งของสถาบันการเงิน อาจเพิ่มขึ้นเกือบถึง 4 แสนล้านยูโรในปีนี้และปีหน้า

นายแอนเดอร์ส บอร์ก รัฐมนตรีคลังสวีเดน บอกว่า ผล stress test แสดงให้เห็นว่า ธนาคารยุโรปมีเม็ดเงินทุนที่มากพอ แม้จะอยู่ในช่วงคับขันที่สุด นอกจากนี้ สถานะทางการเงินของธนาคารยังอยู่ในระดับที่สามารถรักษาเม็ดเงินทุนให้เหมาะสมภายใต้สถานการณ์เลวร้าย

ขณะที่กลุ่มรัฐมนตรีคลังบอกว่า ระบบการธนาคารในยุโรปที่เริ่มฟื้นตัวได้ส่งผลให้มีการคาดการณ์รายได้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพราะได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการภาครัฐไปจนถึงสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการอัดฉีดเงินทุนและการค้ำประกันสินทรัพย์

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอียูจะหดตัว 4% ในปีนี้ ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นในปี 2553 หรือ อาจหดตัวลง 5.2% ในปีนี้ และขยายตัวอยู่ที่ 2.7% ในปีหน้า
moneyline news*********
02/10/52
อัตราว่างงานญี่ปุ่นเดือน ส.ค. ลดเหลือ 5.5%

Posted on Friday, October 02, 2009
กระทรวงฝ่ายกิจการภายในของญี่ปุ่น บอกว่า อัตราว่างงานประจำเดือนสิงหาคม ของญี่ปุ่นปรับตัวลงสู่ระดับ 5.5% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกรกฎาคมที่ระดับ 5.7% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี และเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวขึ้น

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีจำนวนคนว่างงานทั้งสิ้น 1.24 ล้านคน เพิ่มขึ้น 610,000 จากปีที่แล้ว ขณะที่สัดส่วนตำแหน่งงานที่ว่างอยู่สำหรับผู้ที่มองหางาน 100 คนนั้น มีอยู่เพียง 42 ตำแหน่ง ซึ่งทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ระบุว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำไตรมาส 3 ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นแตะระดับ -33 จุด จากไตรมาส 2 ที่ระดับ -48 จุด
moneyline news**********
02/10/52
โกลด์แมน แซคส์ คาดตัวเลขจ้างงานเดือนก.ย.สหรัฐร่วงเกินคาด 250,000 ตำแหน่ง
Source - IQ Biz (Th) Friday, October 02, 2009 08:49 5993 XTHAI XECON XGEN XLABOR XINTER V%WIREL P%IQ อินโฟเควสท์ (02 ต.ค. 52)--

โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (nonfarm payroll) ประจำเดือนก.ย.ของสหรัฐจะร่วงลง 250,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 200,000 ตำแหน่ง หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขว่างงานประจำสัปดาห์ร่วงลงเกินคาด กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานเมื่อคืนนี้ว่า ตัวเลขชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการระหว่างว่างงานในรอบสัปดาห์ที่แล้ว พุ่งขึ้นแตะ 551,000 ราย มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 535,000 ราย โดยแจน เฮเตียส หัวหน้านักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์กล่าวว่า ตัวเลขว่างงานประจำสัปดาห์ของสหรัฐออกมาน่าผิดหวังมาก จึงทำให้เชื่อว่าตัวเลขว่างงานนอกภาคการเกษตรเดือนก.ย.ของสหรัฐจะร่วงลงอีก ADP Employer Services ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านแรงงานภาคเอกชนของสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนทั่วสหรัฐลดลง 254,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า จะลดลงเพียง 210,000 ตำแหน่ง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงเมื่อคืนนี้ ข้อมูลภาคเอกชนที่ลดการจ้างงานในเดือนก.ย.ทำให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์จับตาดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย.ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันศุกร์นี้ โดยนักวิเคราะห์ที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กสำรวจความคิดเห็น คาดการณ์ซ่า ตัวเลขการจ้างงานเดือนก.ย.จะลดลง 180,000 ตำแหน่ง หลังจากดิ่งลง 216,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. และอัตราว่างงานจะอยู่ที่ 9.8% ในเดือนก.ย. เพิ่มขึ้นจาก 9.7% ในเดือนส.ค.
***********
01/10/52
สำนักงานสถิติยุโรปเผยเงินเฟ้อยูโรโซนร่วงต่อเนื่อง
อัตราเงินเฟ้อร่วงแตะ -0.3% ในเดือนก.ย. จากระดับ -0.2% ในเดือนส.ค. โดยยูโรแสตทเผยว่าเงินเฟ้อ ในยูโรโซนปรับตัวลงเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกันที่ตัวเลขเงินเฟ้อได้ร่วงติดลบ เนื่องจากราคาน้ำมันลดลงอย่างมากในรอบเดือนที่ผ่านมา จากกระแสความวิตกที่ว่า ผู้บริโภคในสหรัฐยังลังเลที่จะใช้จ่ายเนื่องจากไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนหรือไม่

ทางการอังกฤษขีดเส้นตาย คราฟท์ฟู้ดส์ ยื่นข้อเสนอซื้อแคดบิวรีใน 6 สัปดาห์
คราฟท์ฟู้ดส์ บริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ต้องตัดสินใจว่าจะยื่นข้อเสนอซื้อกิจการแคดบิวรีภายในวันที่ 9 พ.ย. นี้หรือไม่ ซึ่งหากคราฟท์ฟู้ดส์ไม่สามารถยื่นข้อเสนอภายในกรอบเวลาที่กำหนด แคดบิวรีจะขอให้เจ้าหน้าที่ระบุให้ข้อเสนอดังกล่าวเป็นโมฆะทันที นักวิเคราะห์ชี้ว่า แคดบิวรีวางกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดด้วยการกดดันคราฟท์ผ่านทางอำนาจของเจ้าหน้าที่ในการกำหนดกรอบเวลา

โตโยต้าเตรียมเรียกคืนรถยนต์ 3.8 ล้านคันในสหรัฐ
โตโยต้าให้เหตุผลว่า พรมปูพื้นรถยนต์ไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจจะไปกดทับบริเวณส่วนคันเร่งความเร็วและยังสงสัยว่าจะเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดผู้เสียชีวิต โดยการเรียกคืนรถยนต์ในครั้งนี้รวมถึงรถยนต์รุ่นยอดนิยม อย่าง พริอุสไฮบริดด้วย นักวิเคราะห์ประเมินเบื้องต้นว่าการเรียกคืนรถนั้นจะทำให้เกิดต้นทุนประมาณ 50-100 ล้านดอลลาร์และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือด้วย ราคาหุ้นโดโยต้าร่วง 1.1%


กรีนสแปนเตือนระวังเศรษฐกิจชะลอ หลังหุ้นแผ่วปีหน้า

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลดลง 0.3% เมื่อคืนนี้ส่งท้ายไตรมาสสาม แม้สภาวะการลงทุนตอนช่วงเปิดตลาดจะรับข่าวดีจากการเปิดเผยตัวเลขจีดีพีไตรมาสสองที่ออกมาหดตัวน้อยกว่าตัวเลขเดิมที่กระทรวงพาณิชย์เคยประกาศไว้ ด้วยอัตราการหดตัว 0.7% เมื่อเทียบกับตัวเลขเดิมที่ 1.2%

ขณะเดียวกันรายงานดัชนีชี้วัดสภาวะธุรกิจ ISM-Chicago กลับออกมาลดลงไปอยู่ที่ระดับ 46.1 ซึ่งผิดไปจากที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 52 แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะแผ่วลงในช่วงหลังๆ แต่ทั้งไตรมาสสามที่เพิ่งจะจบลงไป ดัชนี S&P 500 ก็สามารถบวกขึ้นได้ถึงเกือบ 15% ทำสถิติการบวกสองไตรมาสติดต่อกันได้ 34%

ในส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจ เมื่อคืนนี้อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายอลัน กรีนสแปน ก็ออกมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bloomberg ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะชะลอตัวลงในปีหน้า ขณะที่การดีดขึ้นของตลาดหุ้นจะยุติลงในที่สุด กรีนสแปนคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะขยายตัวได้ 3-4% ต่อปี ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ก่อนที่จะชะลอตัวลง และผลก็คือ อัตราการว่างงานไม่น่าจะลดลงได้มากนักจากระดับ 9.7% เมื่อเดือนที่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม

กรีนสแปนเองก็ไม่ได้คาดว่า เศรษฐกิจของประเทศจะร่วงกลับเข้าไปสู่ความถดถอยอีกครั้ง ในเรื่องแนวโน้มเงินเฟ้อ กรีนสแปนบอกว่าไม่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ แต่ถ้าดูในระยะยาว เงินเฟ้ออาจจะดีดกลับขึ้นมาได้ ถ้าธนาคารกลางไม่ยอมถอนมาตรการอัดฉีดเงินต่างๆ ออกจากระบบเศรษฐกิจ แม้แรงกดดันทางการเมืองจะเป็นอุปสรรคห้ามไม่ให้ทำเช่นนั้นก็ตาม สำหรับแนวโน้มในระยะใกล้ๆ นี้ กรีนสแปนมองว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะถูกผลักดันจากวัฏจักรสินค้าคงคลัง (Inventory Cycle) ที่บรรดาภาคธุรกิจต่างกำลังเร่งกลับมาตุนสินค้าเข้าสต็อกเพื่อให้สอดคล้องกับยอดขายที่เริ่มกระเตื้องขึ้น ขณะเดียวกัน อีกตัวช่วยหนึ่งก็คือสถานการณ์ตลาดหุ้นที่บวกขึ้นมาได้แล้วกว่า 50% ในปีนี้


IMF เชื่อตลาดการเงินฟื้นส่งผลยอดหนี้เสียลด

ผลพวงจากเศรษฐกิจและสภาวะตลาดสินเชื่อที่ดีขึ้นก็ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ปรับลดคาดการณ์ยอดการล้างหนี้เสียทั่วโลกลง 15% มาอยู่ที่ 3.4 ล้านล้านเหรียญ

รายงานฉบับนี้ระบุว่าการขาดทุนของภาคธนาคารในยูโรโซนอาจจะเพิ่มขึ้นอีก 470,000 ล้านเหรียญนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาไปจนถึงปีหน้า ขณะที่ของอเมริกา ทาง IMF คาดว่ายอดขาดทุนในสินทรัพย์หนี้เสียจะเพิ่มขึ้น 420,000 ล้านเหรียญ ส่วนของอังกฤษตัวเลขน่าจะเพิ่มขึ้น 140,000 ล้านเหรียญ พร้อมกันนั้นข้อมูลของ IMF ยังเปิดเผยให้เห็นถึงมูลค่าการล้างหนี้สูญของธนาคารทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาสูงถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งอาจจะมีอีกกว่า 1.5 ล้านล้านเหรียญที่เป็นหนี้ที่มีปัญหาอยู่ในบัญชีของตน และนั่นก็ถือเป็นความเสี่ยงที่จะขัดขวางการฟื้นตัวของธุรกิจต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า อีกทั้งยังต้องการการเอาใจใส่ดูแลจากภาครัฐเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติรอบใหม่อีกด้วย

ถ้าย้อนไปในปี 2550 มาจนถึงปัจจุบัน ยอดการล้างหนี้เสียของสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารทั่วโลกอยู่ที่ 2.8 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งในจำนวนนี้ 1 ล้านล้านเหรียญมีที่มาจากสหรัฐฯ ขณะที่ 814,000 ล้านเหรียญเป็นของยูโรโซน และ 604,000 ล้านเหรียญมาจากอังกฤษ

ในส่วนความคืบหน้าของแวดวงการเงินอเมริกา เมื่อคืนนี้ราคาหุ้น CIT Group ผู้ปล่อยกู้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ดิ่งลงถึง 45% จากข่าวว่าบริษัทกำลังวางแผนที่จะเริ่มการแลกเปลี่ยนการถือครองตราสารของบริษัท ซึ่งรวมถึงทางเลือกก่อนเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า บริษัทกำลังพิจารณาข้อเสนอการให้แหล่งเงินทุนจากธนาคาร Citigroup และ Barclays Capital

ขณะเดียวกัน ทางด้านผู้ถือพันธบัตรก็กำลังหาทางที่จะจัดสรรเงินกู้วงเงิน 2,000 ล้านเหรียญให้กับบริษัทในอีกทางหนึ่งก่อนจะถึงกำหนดเส้นตายภายในวันนี้ สถานการณ์ของ CIT group มีความไม่แน่นอนหลังจากที่บริษัทออกมาเปิดเผยในเดือนกรกฎาคมว่าจะเดินเข้าขอความคุ้มครองจากศาลล้มละลาย เมื่อซีอีโอ นาย Jeffrey Peek ประสบกับความล้มเหลวในการขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลก้อนที่สอง จนต้องหันเข้าหาผู้ถือพันธบัตรของบริษัทสำหรับเงินช่วยเหลือมูลค่า 3,000 ล้านเหรียญ


วอลมาร์ทคาดเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า-ลดราคาของเล่นกระตุ้นยอดขาย

นายร็อบสัน วอลตัน ประธานบริษัท วอลมาร์ท สโตเรส ยักษ์ใหญ่ห้างค้าปลีกของสหรัฐ กล่าวแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมซีอีโอภาคธุรกิจโลกที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า แม้เศรษฐกิจจีนและอินเดียมีแนวโน้มการขยายตัวที่แข็งแกร่งก็ตาม

วอลตันกล่าวว่า แม้เอเชียมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญความท้าทายอันใหญ่หลวง สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า ในส่วนของวอลมาร์ทนั้น แม้ยอดขายของบริษัทได้รับผลพวงจากการที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าลดราคา รวมถึงยาและอาหาร แต่เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าก็จะส่งผลกระทบต่อวอลมาร์ทด้วย นอกจากนี้วอลตันยังกล่าวด้วยว่า จีนและอินเดียเป็นประเทศที่สร้างโอกาสให้กับบริษัทค้าปลีก รวมถึงวอลมาร์ท ซึ่งเป็นเสมือนโอกาสที่เปิดกว้างท่ามกลางวิกฤตการณ์ ดังนั้น ถ้าเราอยากประสบความสำเร็จ เราก็จะคว้าโอกาสนั้นไว้ อุตสาหกรรมค้าปลีกจึงต้องทำงานหนักและแข่งขันกันอย่างดุเดือดทั้งในเรื่องการลดต้นทุนและพัฒนาศักยาภาพของธุรกิจ

การแสดงความคิดเห็นของประธานวอลมาร์ทสอดคล้องกับความคิดเห็นของนายเจฟฟรีย์ อิมเมลท์ ซีอีโอบริษัท เจนเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) ที่เตือนว่าอัตราว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นและการที่สถาบันการเงินชะลอการปล่อยกู้ให้ภับภาคเอกชน จะส่งผลขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ทั้งนี้ วอลมาร์ทมีสาขากว่า 250 แห่งในจีน แต่การลงทุนในประเทศอินเดียอยู่ในรูปของการร่วมทุนกับบริษัทอื่นเท่านั้น ทำให้วอลมาร์ทเก็บเกี่ยวรายได้จากตลาดค้าปลีกในอินเดียได้เพียง 4.30 แสนล้านดอลลาร์ โดยบริษัทร่วมทุนดังกล่าวคือ ภารตี วอลมาร์ท ไพรเวท

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวแบบไม่แข็งแรงมากนักทำให้ วอลมาร์ทต้องจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงเทศกาลที่กำลังจะมาถึงในช่วงปลายปี โดยวอลมาร์ทได้เตรียมขายสินค้าประเภทของเล่นนับ 100 รายการ ในราคา 10 ดอลลาร์ ซึ่งโปรโมชั่นดังกล่าวได้เริ่มทำเมื่อปีที่แล้วแต่สินค้ามีเพียง 10 ราย โดยการสำรวจชองวอลมาร์ทพบว่า ปัจจัยแรกที่ผู้บริโภคนำมาตัดสินใจซื้อสินค้าท่ามกลางวิกฤติแบบนี้ก็คือ ราคา ทำให้วอลมาร์ทตัดสินใจที่จะใช้โปรโมชั่นดังกล่าว
morning brief
*************
30/09/52
USA:สื่อเผยไอเอ็มเอฟเตรียมเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกปีหน้าโต 3.1%
นิวยอร์ค--30 ก.ย.--รอยเตอร์
หนังสือพิมพ์ Handelsblatt ของเยอรมนีรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่าง ประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าขึ้นเป็น 3.1% จาก 2.5% เพื่อสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น Handelsblatt ยังรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อในไอเอ็มเอฟ และรัฐบาลเยอรมนีว่า ไอเอ็มเอฟได้ทบทวนตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้มาที่ -1.1% จาก -1.4% ที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟจะทบทวนตัวเลขคาดการณ์ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ที่จะประกาศออกมาในกรุงอิสตันบูลวันพรุ่งนี้ Handelsblatt ยังรายงานว่า ไอเอ็มเอฟได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ผลิตภัณฑ์ มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเยอรมนีขึ้นเป็นขยายตัว 0.3% ในปีหน้า หลังจากที่ ก่อนหน้านี้คาดว่าจะติดลบ 0.6% ขณะที่การผลิตในเยอรมนีจะหดตัวลง 5.3% ในปีนี้ เทียบกับที่ไอเอ็มเอฟคาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะติดลบ 6.2%
cgs
***********
30/09/52
จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซื้อหุ้นครูเซลล์ ผนึกกำลังพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ในเบื้องต้นจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันจะซื้อหุ้นในครูเซลล์ในสัดส่วน 18% คิดเป็นมูลค่า 301.8 ล้านยูโร โดยจะร่วมกันให้ความสำคัญกับการพัฒนาแอนติบอดี้ flu-mAb ที่ใช้ป้องกันและรักษาไข้หวัด นอกจากนั้น บริษัทจะดำเนินการวิจัยแอนติบอดี้และวัคซีนสำหรับป้องกันโรคประเภทอื่นที่สามารถรักษาได้ทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ

IMF เตรียมปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกปีหน้าจาก 2.5% เป็น 3%
รองผู้อำนวยการ IMF ให้เหตุผลว่า จากการเศรษฐกิจในหลายประเทศโดยเฉพาะในประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วเกินคาดทำให้ IMF ต้องปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2553 โดย IMF อาจจะประกาศอย่างเป็นทางการในอีก 2-3 ข้างหน้านี้

ประธาน ECB ชี้ การที่ดอลลาร์แข็งค่าถือเป็นความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจโลก
การแสดงความคิดเห็นของนาย ช็อง คล็อด ทริเชตต์ นี้เกิดขึ้นหลังจากที่ เงินดอลลาร์อ่อนค่าไปแล้วถึง 15% เมื่อเทียบกับยูโรนับตั้งแต่เดือน ก.พ. ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ขัดขวางการฟื้นตัวจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจกลุ่มยูโร นอกจากนี้ประธาน ECB บอกว่ายังเร็วเกินไปที่ ECB จากถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ Exit Strategy ของธนาคารกลางยุโรปก็มีความพร้อมที่จะนำออกมาใช้ทุกเมื่อ


ปัจจัยควบรวมหนุนหุ้นฟื้น เฮดจ์ฟันด์เล็ง Q4 ตลาดหุ้นทำสถิติใหม่

หลังจากที่ตลาดหุ้นยุโรปสามารถปิดบวกได้ 1.8% นำโดยตลาดหุ้น DAX ของเยอรมันที่พุ่งขึ้นรับข่าวนางแองเกล่า แมร์เคล ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทก็ฟื้นกลับขึ้นมาได้เช่นเดียวกัน ปัจจัยบวกมาจากข่าวการควบรวมกิจการของบริษัทในธุรกิจเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมยา โดยบริษัท Xerox เห็นชอบเข้าซื้อกิจการของ Affiliated Computer Services ด้วยมูลค่า 6,400 ล้านเหรียญ ขณะที่ Abbott Laboratories วางแผนเข้าซื้อธุรกิจยาของบริษัท Solvay นอกจากนั้น ยังมีมุมมองทางด้านรายได้ของบริษัทเทคโนโลยีที่ดีขึ้นจากโบรกเกอร์ออกมาด้วยเช่นกัน

นักวิเคราะห์จาก Barclays คาดการณ์ว่าบริษัท Cisco Systems ที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เน็ตเวิร์คไอทีรายใหญ่ที่สุดในโลก จะมีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมกับปรับเพิ่มคำแนะนำลงทุนจาก equal-weight ขึ้นเป็น overweight ส่งผลให้ราคาหุ้น Cisco ปิดบวกขึ้นได้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 วันด้วยการกระโดดขึ้น 4.4%

ข้อมูลจาก Bloomberg ชี้ให้เห็นว่า มูลค่าการควบรวมกิจการ (M&A) ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทอเมริกันมียอดรวมกันถึง 49,100 ล้านเหรียญในเดือนกันยายน เปรียบเทียบกับ 26,600 ล้านเหรียญในเดือนสิงหาคม ขณะที่แนวโน้มสภาพคล่องของธุรกิจ ก็มีรายงานของ Credit Suisse ที่คาดการณ์ว่ากระแสเงินสดของบริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้นจากตัวเลข 1.5 ล้านล้านเหรียญที่ทางกระทรวงพาณิชย์เคยรายงานไว้ หลังจากเศรษฐกิจสามารถหลุดพ้นจากสภาพถดถอยในรอบหลายทศวรรษได้แล้ว และยังคาดว่าในปีหน้าระดับเงินสดเมื่อเทียบกับราคาหุ้นจะแตะระดับสูงสุดในรอบอย่างน้อย 20 ปีเลยทีเดียว สำหรับมุมมองแนวโน้มหุ้นในไตรมาสที่จะมาถึง

นาย Byron Wien รองประธานของบริษัทเฮดจ์ฟันด์ชื่อดัง อย่าง Blackstone Group ก็บอกว่า ดัชนี S&P 500 กำลังเตรียมที่จะทำวิ่งขึ้นทำสถิติสร้างผลตอบแทนได้สูงสุดในรอบ 10 ปี ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและผลประกอบการที่ออกมาเหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์


จับตาแรงขายในตลาดโภคภัณฑ์ แม้กองทุนยังสนใจต่อเนื่อง

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นตัวฉุดให้หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องปรับตัวลงในตลาดเอเชียเมื่อวานนี้ โดยหุ้นผู้ผลิตทองแดง อย่าง เจียงซี คอปเปอร์ ของจีน ร่วงลงกว่า 5% ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ที่แล้วที่ราคาหุ้นลดลงมาแล้ว 10% ขณะที่หุ้น อานโตฟากัสตา (Antofagasta) ที่เป็นผู้ผลิตเหมืองในประเทศชิลี ก็เป็นตัวนำให้เกิดแรงขายในหุ้นผู้ผลิตโลหะในตลาดลอนดอน ส่วนราคาทองคำที่เมื่อวานนี้ลดลงที่ตลาดเอเชีย ก็ได้สร้างแรงกดดันต่อหุ้นผู้ผลิตเหมืองด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์กำลังถูกแรงขายกระหน่ำอยู่ตอนนี้ ธนาคารยักษ์ใหญ่จากสวิสเซอร์แลนด์ อย่าง เครดิต สวิส กลับแสดงท่าทีสนใจในการหาช่องทางขยายเงินลงทุนของกองทุน ETF เข้าไปยังตลาด Commodity ในฐานะทางเลือกการลงทุน ซึ่งก็รวมถึงสินค้าโลหะมีค่าทั้งหลายด้วย ข้อมูลจาก Barclays Capital แสดงให้เห็นว่ามีเม็ดเงินไหลเข้าไปลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์แล้วกว่า 2,630 ล้านเหรียญในเดือนที่แล้ว และอย่างน้อยก็เป็นการทำสถิติเงินไหลเข้าไปลงทุนในจำนวนที่สูงกว่าเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมาด้วย โดยเม็ดเงินที่โยกผ่านกองทุน ETF นั้นมีถึง 1,740 ล้านเหรียญ ทางด้านหัวหน้าแผนกขายนักลงทุนสถาบันของ เครดิต สวิส ก็มองว่า สินค้าโลหะอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงทองแดงและอลูมินั่ม จะเป็นคิวต่อไปที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนด้วยเช่นกัน

สำหรับ Theme การลงทุนที่น่าสนใจในขณะนี้ก็น่าจับตามุมมองของนายจอห์น คาลามอส เจ้าของกองทุนที่สามารถทำผลงานสูงกว่าคู่แข่งเกือบทั้งหมดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เขาระบุว่า หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและธุรกิจการสำรวจพลังงานนั้น น่าจะได้รับประโยชน์จากการกลับมาขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะสร้างผลตอบแทนได้น่าประทับใจกว่าหุ้นกลุ่มธนาคารที่ผลักดันการฟื้นตัวของตลาดหุ้นมาแล้วในปีนี้ และดูเหมือนว่าหุ้นแบงก์นั้นจะขึ้นอยู่กับความคาดหวังมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของปัจจัยพื้นฐานไปแล้วในตอนนี้
morning brief*************
28/09/52
เกาหลีใต้เพิ่มงบกระตุ้นเศรษฐกิจ

Posted on Monday, September 28, 2009
นายยูน เจียง ฮุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเกาหลีใต้ บอกว่า กระทรวงฯ เตรียมเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 อีก 2.5% เป็น 291.8 ล้านล้านวอน หรือ 245,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นการสร้างงานและช่วยเหลือครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ

กระทรวงฯ คาดว่าหนี้สาธารณะในปีงบประมาณหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 36.9% จาก 35.6% ของจีดีพี ในปีงบประมาณนี้ เนื่องจากรัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายเชิงรุก เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ บอกว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเกาหลีใต้ในเดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 114 จุด สูงสุดในรอบ 7 ปีที่ 114 จุด ซึ่งตัวเลขที่อยู่เหนือระดับ 100 หมายความว่า จำนวนผู้ที่มีมุมมองในทางบวกต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีมากกว่าผู้ที่มองในมุมลบ ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นนี้อยู่ในระดับที่สูงกว่า 100 มาเป็นเวลา 5 เดือนติดต่อกันแล้ว

เจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางเกาหลีใต้บอกว่า แม้ว่าดัชนีจะยังคงอยู่ที่ระดับเดิม แต่ตัวเลขดังกล่าว ก็สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่เป็นบวกทางด้านเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

**********
USA:จี-20 ออกแถลงการณ์ยืนยันคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป
พิตส์เบิร์ก--25 ก.ย.--รอยเตอร์
ร่างแถลงการณ์จากที่ประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา 19 ประเทศ รวมทั้งสหภาพยุโรป หรือจี-20 ระบุว่า บรรดาผู้นำโลกประกาศยืนยัน ที่จะคงมาตรการฉุกเฉินในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปจนกว่าเศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัว อย่างแข็งแกร่ง และจะทำงานร่วมกันเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมในการยกเลิกมาตรการ ดังกล่าว นอกจากนี้ ที่ประชุมยังตกลงกันที่จะดำเนินมาตรการเพื่อสกัดกั้นเม็ดเงิน ส่วนเกินในภาคการเงินที่นำไปสู่วิกฤติการเงิน และจะดำเนินการร่วมกันเพื่อยกระดับ มาตรฐานเงินทุนสำหรับภาคธนาคาร ทั้งนี้ จี-20 ประกอบด้วยประเทศอาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เม็กซิโก, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย, แอฟริกาใต้, เกาหลีใต้, ตุรกี, อังกฤษ, สหรัฐ และสหภาพยุโรป--จบ--
(รอยเตอร์ โดย เสาวณีย์ เอกปัญญาชัย แปล; ก้องเกียรติ กอวีรกิติ เรียบเรียง)cgs

ข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น