วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552

ข่าวกลุ่มสื่อ สิ่งพิมม์ และบันเทิง 1

21/12/52
การเมืองทุบนิตยสารอ่วม ยอดโฆษณารวมหด10%
วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ผู้ผลิตนิตยสารอ่วมพิษเศรษฐกิจ อมรินทร์พริ้นติ้ง ยอดโฆษณา ลดกว่า 10% เร่งปรับตัวเสริมสื่อใหม่ปีหน้า ค่ายรักลูกบุกทีวีดาวเทียม

นางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการ สายธุรกิจสำนักพิมพ์ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง เปิดเผยว่า ปีนี้ธุรกิจนิตยสารโดยรวมยอดโฆษณาลดลงกว่า 20% ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพ
ขณะที่ค่ายอมรินทร์ฯ มีรายได้จากค่าโฆษณาลดลง 10-12% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทำให้รายได้รวมปีนี้ลดลง แม้เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นมาแล้วก็ตาม

“แต่ต้องถือว่ายอดโฆษณาที่ลดลงในปีนี้ดีกว่าที่คาดไว้ เพราะหากเทียบกับปี 2540 โฆษณาหดตัวลงถึง 40%” นางระริน กล่าว

สำหรับค่ายอมรินทร์ฯ ในปีที่ผ่านมา พยายามปรับตัวด้วยการเสริมสื่อใหม่เข้ามามากขึ้น แต่ในปีหน้าจะให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจออนไลน์ และตั้ง เป้าหมายว่าภายใน 5 ปีข้างหน้ารายได้ จากโฆษณาออนไลน์จะมีสัดส่วน 10%

นอกจากนี้ จะเพิ่มนิตยสารหัวใหม่ในปีหน้า 1 เล่ม โดยลดรายได้จากการโฆษณา แต่หันพึ่งพารายได้จากการจำหน่ายเป็นหลัก รวมถึงการขยายรายการโทรทัศน์บ้านและสวนเพิ่มขึ้นทางช่องทีเอ็นเอ็นของทรูวิชั่นส์

นายธีระพงษ์ เขมฤกษ์อำพล กรรมการผู้จัดการ บริษัท รักลูก กรุ๊ป กล่าวว่า ภาพรวมผลการดำเนินของนิตยสารในเครือรักลูกปีนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากนิตยสารเกี่ยวกับแม่และเด็กถือเป็น สิ่งจำเป็น คาดว่ารายได้รวมสำหรับกลุ่ม สื่อจะอยู่ที่ 310 ล้านบาท

สำหรับนโยบายปีหน้า รักลูกจะเน้นขยายสื่อใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค เป้าหมาย ทั้งการพัฒนาเว็บไซต์ให้แข็งแรงและจะเพิ่มรายการโทรทัศน์โมเดิร์นมัมทางททบ.5 และกำลังพิจารณาผลิตรายการป้อนให้กับโทรทัศน์ดาวเทียมด้วย
posttoday**********
16/12/52
16 ธันวาคม 2009
กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ : "ลงทุนปกติ" - บล.ฟิลลิป

Industry Update

กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ – MEDIA - ลงทุนปกติ

งบโฆษณาเดือน ต.ค. - พ.ย. 52 เพิ่มขึ้น 7.65% YoY
- งบโฆษณารวมในเดือน ต.ค. - พ.ย. เพิ่มขึ้น 7.65% YoY โดยในเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 7.01% และ พ.ย. เพิ่มขึ้น 8.29% YoY จากการใช้งบมากขึ้นก่อนเริ่มงบประมาณใหม่ในเดือน ม.ค. 2553 และการกลับ มาใช้งบทางช่อง 7 ของยูนิลีเวอร์
- สื่อโทรทัศน์เติบโตดีที่ 11.66% YoY ในเดือน ต.ค. - พ.ย. และยังมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 59.10% จาก 56.98% โดย MCOT มีการเติบโตทั้งรายได้และส่วนแบ่งตลาดสูงสุด
- แนะนำ “ลงทุนปกติ” ในกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ โดย Top Pick คือ MCOT จากราคาที่ยังต่ำกว่าพื้นฐาน มากและใน 4Q52 แนวโน้มกำไรออกมาดีตามการเติบโตของรายได้ แนะนำ “ซื้อ” ราคาพื้นฐานปี 2553 ที่ 30 บาท

งบโฆษณาเดือน ต.ค. - พ.ย. 52 เพิ่มขึ้น 7.65% YoY
ข้อมูลงบโฆษณาของนีลเส็นมีเดียฯ เดือน ต.ค. - พ.ย. 2552 อุตสาหกรรมรวมปรับตัวขึ้น 7.65%YoY โดยในเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 7.01% และ พ.ย. เพิ่มขึ้น 8.29% YoY โดยสื่อหลักโทรทัศน์ที่ในเดือน ต.ค.-พ.ย. เพิ่มขึ้น 11.66% YoY จากการหันกลับมาใช้งบมากขึ้นของผู้ลงโฆษณารายใหญ่ยูนิลีเวอร์หลังจาก สามารถตกลงกับทางช่อง 7 ได้สำเร็จ จึงกลับไปใช้งบทางช่อง 7 มากขึ้น ประกอบกับในช่วงที่ถอนงบออก จากช่อง 7 ก็ไม่สามารถนำงบไปใช้ในช่องอื่น ๆ ได้ทั้งหมด เพราะแต่ละช่องก็มีลูกค้าของตนเองอยู่แล้ว ทำให้งบที่ค้างอยู่กลับมาใช้มากขึ้น รวมถึงจะเป็นการปิดงบโฆษณาของเจ้าของสินค้าและเอเจนซี่ต่างๆ ใน เดือน ธ.ค. 2552 ก่อนที่จะเริ่มงบใหม่ในเดือน ม.ค. 2553 ทำให้มีการเร่งใช้งบประมาณที่ตั้งไว้ให้หมด ส่วนงบโฆษณาในโรงภาพยนตร์ที่เติบโตดี มาจากการที่มีภาพยนตร์ทำเงินเข้าฉายหลายเรื่อง เช่น รถไฟฟ้ามาหานะเธอ (รายได้ 145 ล้านบาท), 2012 วันสิ้นโลก (204 ล้านบาท), The Twilight Saga : New Moon (84 ล้านบาท) และแหยมยโสธร 2 (39 ล้านบาทใน 4 วันที่เข้าฉาย)

สื่อโทรทัศน์ปรับตัวขึ้น 11.66% ในเดือน ต.ค. - พ.ย.
สื่อโทรทัศน์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 และ 5 โดยในเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 11.53% และ พ.ย. เพิ่มขึ้น 11.79% โดยส่วนแบ่งตลาดก็ปรับตัวสูงขึ้น โดย MCOT ยังเป็นสถานีที่มีการเติบโต YoY ในเดือน ต.ค.-พ.ย. มากที่สุดที่ 24.97% ตามด้วยช่อง 5 ในส่วนของ BEC ก็ยังมีการเติบโต 8.70% อยู่ในอันดับที่ 4 จากทั้งหมด 5 สถานี ซึ่งการเติบโตของ MCOT คาดว่ามาจากงบของหน่วยงานรัฐที่ใช้ในโครงการไทย เข้มแข็ง และรายการใหม่ ๆ ที่ได้มีการปรับขึ้นค่าโฆษณาก็ได้รับความนิยมมากขึ้น

MCOT นอกจากจะมีการเติบโตสูงสุดแล้ว ยังมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นมากสุดจาก 17.57% เป็น 19.66% ตามด้วยช่อง 5 ที่เพิ่มขึ้นจาก 18.98% เป็น 19.37% ในขณะที่ 2 ช่องหลัก ช่อง 3 และช่อง 7 มี ส่วนแบ่งตลาดลดลง

ยังคงแนะนำ “ลงทุนปกติ” ในกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์
ทางฝ่ายฯยังคงแนะนำ “ลงทุนปกติ” ในกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ มองแนวโน้มในเดือน ธ.ค. 2552 เม็ดเงิน โฆษณาจะยังดีต่อเนื่อง จากการเร่งใช้งบก่อนเริ่มปี 2553 โดย Top Pick คือ MCOT ราคาพื้นฐานปี 2553 อยู่ที่ 30 บาท จึงแนะนำ “ซื้อ” ซึ่งหากดูจากงบโฆษณาใน 2 เดือนแรกของ 4Q52 ที่เติบโตถึง 24.97% YoY ก็บอกทิศทางของกำไรใน 4Q52 น่าจะออกมาดี

โดย บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประจำวันที่ 15 ธ.ค. 2552

**********
03/12/52
อุตฯกระดาษยิ้มรับดีมานด์ไปโลด
สำรวจบิ๊กผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่โค้งสุดท้ายปี 52 "เอสซีจีเปเปอร์" และ"ดั๊บเบิ้ล เอ" มองอุตสาหกรรมกระดาษดีมานด์กลับมาแล้วตั้งแต่ไตรมาสสอง ฟุ้งไทยได้อานิสงส์จากออร์เดอร์ ดีกว่ายุโรป อเมริกา และญี่ปุ่นที่ยังไม่ฟื้นตัว

กลุ่ม"เกษตรรุ่งเรือง" ยันภาพรวมดีขึ้นจากปีก่อนเพราะยังมีดีมานด์ การใช้กระดาษถ่ายเอกสารและกระดาษที่ใช้ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ เชื่ออานิสงส์นี้จะลากยาวถึงปีหน้าแน่

นายเชาวลิต เอกบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี เปเปอร์ ผู้นำในอุตสาหกรรมกระดาษในภูมิภาคอาเซียนเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงการดำเนินธุรกิจกระดาษในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2552 ว่า ถ้ามองโดยภาพรวมอุตสาหกรรมกระดาษถือว่าแย่ที่สุดในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมาเพราะมีการหดตัวของดีมานด์มาตั้งแต่ปลายปี 2551 ต่อเนื่องถึงปี2552 ในขณะที่ต้นทุนก็สูงขึ้น และเป็นช่วงดีมานด์ต่ำแต่ต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ที่ตกต่ำไปมาก แต่ไตรมาส2 เริ่มฟื้นมาและไตรมาส3 ดีขึ้น โดยดีมานด์กระดาษคราฟต์ และกระดาษพิมพ์เขียนเริ่มกลับมาเท่ากับปี 2551
ส่วนราคาก็ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้ราคาก็ยังไม่สูงเท่ากับปี 2551 ขณะที่ราคาวัตถุดิบในปี 2552 ก็ยังไม่สูงเท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์ตลอดปี 2552 เอสซีจี เปเปอร์สามารถปรับตัวได้ทัน ดูจากที่บริษัทได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ สำหรับการแข่งขัน ตลอดปี 2552 มองเห็นว่าตลาดในภูมิภาคนี้มีการแข่งขันที่รุนแรงพอสมควรแต่เป็นการแข่งขันที่มีเหตุมีผลมากขึ้น จากเดิมที่ผ่านมาการแข่งขันจะเล่นนอกกติกากันมาก เพราะผลิตด้วยต้นทุนสูง แต่ขายได้ในราคาที่ลดลงมาคือขายต่ำกว่าต้นทุน
อย่างไรก็ตามตลาดส่งออกในปี2552 จะมีการส่งออกมากขึ้นจากที่ปี 2551 ที่ส่งออกทั้งปีไม่ถึง 20% ปี 2552 ส่งออก 25% โดยเอสซีจี เปเปอร์จะขยายฐานตลาดเดิมในอาเซียน พร้อมเปิดตลาดใหม่ไปยังตะวันออกกลาง เอเชียใต้และออสเตรเลีย ดังนั้นจึงมั่นใจว่าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายปี 2552 น่าจะดีกว่า 3เดือนสุดท้ายปี 2551 เพราะมองเห็นออร์เดอร์ที่เข้ามามากขึ้น มีลูกค้าที่สั่งซื้อล่วงหน้า ทำให้ไตรมาสแรกปี 2553 ดีขึ้นแน่นอน
"ยืนยันได้เพราะค้าขายกับลูกค้าอยู่โดยดูจากปริมาณออร์เดอร์ที่เข้ามา และดูจากดีมานด์(ความต้องการใช้)สินค้าในเอเชียดีขึ้น กำลังซื้อกลับมาเล็กน้อย ซึ่งประเทศไทยก็ได้อานิสงส์จากออร์เดอร์นี้ซึ่งถือว่าดีกว่าประเทศยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่นที่ยังไม่ฟื้นตัวแต่ก็ไม่ได้ทรุดตัวลงไปอีก"
นายเชาวลิต กล่าวย้ำว่า ส่วนสาเหตุที่ 3 ประเทศนี้ยังไม่ฟื้นเพราะ อเมริกายังมีตัวเลขคนว่างงานสูงถึง 10.1% ส่วนยุโรปยังต้องใช้เวลาค่อนข้างยาวกว่าจะฟื้นตัวเพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่บริหารจัดการลำบาก ค่าเงินก็แพงกว่าดอลลาร์สหรัฐฯ สถาบันการเงินยังต้องปรับตัว ญี่ปุ่นก็ลักษณะคล้ายยุโรป เมื่อต้นปี2552 ค่าเงินอยู่ที่ 100 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันเหลือ 90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ คือแข็งค่าขึ้น10%
"เราโชคดีที่อยู่ในเอเชีย และปี 2552 ยังถือว่าโชคดีที่เศรษฐกิจไม่ได้เลวร้ายไปมากอย่างที่ทุกคนเคยคาดการณ์ไว้ ขณะที่รัฐบาลของแต่ละประเทศก็ดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ซึ่งเข้าใจว่าเม็ดเงินจริงๆใส่เข้าไปไม่มาก เพียงแค่บอกว่าใส่เม็ดเงินเข้ามาจะเท่าไหร่ก็ได้ ก็ทำให้คนเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นแล้ว และที่สำคัญรัฐบาลก็ควรอัดฉีดเงินลงระบบตามแผนที่ระบุไว้ พอเศรษฐกิจเดินไปได้รัฐบาลก็เก็บภาษีเข้าระบบได้มากขึ้น"
ด้านนายชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดั๊บเบิ้ล เอ ผู้ผลิตกระดาษพิมพ์เขียนในเครือเกษตรรุ่งเรืองมองว่าอุตสาหกรรมกระดาษในปีนี้ มีสะดุดบ้างในช่วงต้นปีที่ตลาดตื่นตระหนกจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่ช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นมา ตลาดก็กลับมาเป็นปกติ หากมองแล้วอุตสาหกรรมกระดาษปีนี้ ฟื้นตัวจากปีที่แล้ว แม้ราคากระดาษจะมีการปรับตัวขึ้นบ้างเล็กน้อย เพราะยังมีดีมานด์ ในการใช้กระดาษทั้งกระดาษถ่ายเอกสารและกระดาษที่ใช้ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ และมองว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมกระดาษในปีหน้าความต้องการของตลาดยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงปีหน้า
ส่วนราคาเยื่อกระดาษปรับตัวสูงขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาส 2 แล้วคาดว่าโรงงานกระดาษทั่วไปจะมีแรงกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ต้องปรับราคากระดาษขึ้นไปด้วย สำหรับดั๊บเบิ้ล เอ มีนโยบายจะคงราคาปลีกให้นานที่สุด หากราคาวัตถุดิบที่ขึ้นยังไม่ส่งผลกระทบการขาดทุน
ทั้งนี้ปัจจุบันสัดส่วนการจำหน่ายกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ในประเทศมีสัดส่วน 40% และส่งออก 60% ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ, ยุโรป,และญี่ปุ่น เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกของบริษัท เนื่องจากไม่ใช่ตลาดหลักในการส่งออก

นายเชาวลิต เอกบุตร
"3 เดือนสุดท้ายปี 2552 น่าจะดีกว่าช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว เพราะเห็นออร์เดอร์ที่เข้ามา มีลูกค้าที่สั่งซื้อล่วงหน้า ทำให้ไตรมาสแรกปี2553 ดีขึ้น"

นายชาญวิทย์ จารุสมบัติ

"อุตสาหกรรมกระดาษปีนี้ ฟื้นตัวจากปีที่แล้ว แม้ราคากระดาษจะมีการปรับตัวขึ้นบ้างเล็กน้อย เพราะยังมีดีมานด์ ในการใช้กระดาษอยู่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

************
18/11/52
BEC-MCOT ยังดีที่สุดในกลุ่มสื่อ
รายงานโดย :สถาบันวิจัยนครหลวงไทย:
วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ภายหลังตัวเลขมูลค่าโฆษณาโดยรวมเดือนต.ค. ออกมาสูงที่สุดในรอบปี สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ยังให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มสื่อปกติ และแนะนำซื้อหุ้นบริษัท บีอีซีเวิลด์ (BEC) และบริษัท อสมท (MCOT)

จากการรายงานของบริษัท นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ท (ประเทศไทย) มูลค่าการโฆษณารวมในเดือนต.ค. 2552 มี จำนวน 8,317 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 9% จากเดือนก.ย. ซึ่งถือว่าเป็นสถิติของมูลค่าการโฆษณาที่สูงที่สุดในรอบปี และมีอัตราการเติบโตที่เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการใช้จ่ายผ่านสื่อโทรทัศน์ที่เพิ่มมากขึ้นถึง 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 13% จากเดือนก.ย. ทำสถิติของการใช้งบโฆษณาที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4,991 ล้านบาท ในขณะที่สื่อหลักอื่นๆ ยังไม่เห็นการฟื้นตัวจาก ปีก่อน
ทั้งนี้ คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่งบโฆษณาของปี 2552 จะสูงกว่าที่ SCRI คาดไว้ที่ 8.8 หมื่นล้านบาท และไม่น่าจะเห็นอัตราการขยายตัวติดลบเมื่อเทียบกับปี 2551 เนื่องจากคาดว่าเม็ดเงินโฆษณาเดือนพ.ย. และธ.ค. น่าจะยังคงทรงตัวในระดับสูงเท่ากับเดือนต.ค. เพราะเข้าสู่ช่วง High Season ผนวกกับการใช้งบโฆษณาที่เพิ่มมากขึ้นของภาครัฐบาล

SCRI ยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อธุรกิจโฆษณาโทรทัศน์มากที่สุดจากการฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยเลือกให้ BEC และ MCOT เป็นหุ้นเด่นของกลุ่ม

สื่อโทรทัศน์ทำสถิติมูลค่าโฆษณาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ : มูลค่าโฆษณาของสื่อโทรทัศน์ในเดือนต.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยขยายตัวอีก 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 13% จากเดือนก.ย. จนทำให้สามารถสร้างสถิติการใช้งบโฆษณาที่สูงสุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูล สาเหตุที่ทำให้การใช้งบโฆษณาเพิ่มมากขึ้นผ่านสื่อโทรทัศน์ คาดว่าน่าจะมีเหตุผลสำคัญจากการใช้งบที่เพิ่มขึ้นมากของผู้ซื้อ

สำหรับสื่อโรงภาพยนตร์ มูลค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น 59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 10% จากเดือนก.ย. ในขณะที่เริ่มการขยายตัวเป็นบวกของสื่ออื่นๆ เล็กน้อย ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องรับประกันได้ว่าธุรกิจโฆษณาได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ส่งผลให้มูลค่าโฆษณาของ 10 เดือนของปี 2552 รวมเป็น 74,422 ล้านบาท ลดลงเพียง 1.5% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2551

งบโฆษณารายใหญ่ 10 รายแรก ซึ่งเพิ่มงบในเดือนต.ค. รวม 1,659 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 15% จากเดือนก.ย. โดยปกติแล้วผู้ซื้อโฆษณารายใหญ่จะจัดสรรงบผ่านสื่อโทรทัศน์มากกว่าสื่ออื่นๆ

SCRI คาดว่าผู้ซื้อโฆษณารายใหญ่น่าจะยังมีการใช้งบโฆษณาเพิ่มมากขึ้นจนถึงสิ้นปี เพราะเป็นฤดูกาลที่จะมีการแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดและทำยอดขาย ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลที่จะมีการจับจ่ายใช้สอยมากเป็นพิเศษ ซึ่งน่าจะส่งผลประโยชน์โดยตรงต่อผู้ประกอบการที่เป็นสถานีโทรทัศน์

ยูนิลีเวอร์ และพีแอนด์จี ทำสถิติใช้งบโฆษณาสูงสุดในรอบปี : จากรายงานการใช้งบโฆษณาของรายใหญ่ 10 รายแรก พบว่าการใช้เงินในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของยูนิลีเวอร์ และพีแอนด์จี ได้ทำสถิติสูงที่สุดของปี โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 103% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 26% จากเดือนก.ย. ตามลำดับ

SCRI ประเมินว่าน่าจะมาจากความเชื่อมั่นของผู้โฆษณาที่เห็นว่าเศรษฐกิจในประเทศมีสัญญาณการฟื้นตัวทั้งจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาครัฐ (สำนักนายกรัฐมนตรี) ใช้งบโฆษณามากขึ้นอีก 29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และติดอันดับ 1 ใน 10 ผู้ใช้งบโฆษณาสูงสุดเป็นเวลา 5 เดือนติดต่อกัน

ทั้งนี้ SCRI คาดว่าน่าจะเห็นการใช้งบโฆษณาของภาครัฐเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องหลังจากปีงบประมาณใหม่ได้เริ่มต้น อีกทั้งยังมีโครงการลงทุนตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอีกหลายโครงการ

มูลค่าโฆษณาปี 2552 อาจสูงกว่า 8.8 หมื่นล้านบาท : ในเดือนต.ค. ช่อง 9 ยังคงได้รับการจัดสรรงบเพิ่มมากขึ้น 32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 17% จากเดือนก.ย. ในขณะที่ช่อง 3 ได้รับงบเพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 9% จากเดือนก.ย.

ทั้งนี้ ช่อง 7 เริ่มเห็นการฟื้นตัวของงบโฆษณาแล้ว โดยเพิ่มขึ้นถึง 20% จากเดือนก.ย. สะท้อนให้เห็นว่าผู้ซื้อโฆษณารายใหญ่เริ่มกลับมาจัดสรรงบให้ช่อง 7 มากขึ้น

SCRI คาดว่าน่าจะเป็นยูนิลีเวอร์ เนื่องจากเข้าช่วง High Season อีกทั้งเวลาโฆษณาช่วงไพรม์ไทม์ของช่องอื่นๆ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ทั้งนี้ คาดว่างบโฆษณาของช่อง 7 จะขยายตัวสูงต่อเนื่องอีก หลังจากที่ยูนิลีเวอร์ประกาศที่จะกลับมาซื้อเวลาโฆษณากับช่อง 7 เพิ่ม แม้ว่าจะไม่ได้อัตราส่วนลดก็ตาม ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อช่องอื่นๆ ที่เคยได้รับงบจากยูนิลีเวอร์มากเป็นพิเศษในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี SCRI คาดว่าผลกระทบไม่น่าจะรุนแรง เพราะน่าจะมีอุปสงค์จากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ เข้ามาทดแทนได้

ดังนั้น จึงมีมุมมองเป็นบวกต่อ ผู้ประกอบการที่เป็นสถานีโทรทัศน์มากที่สุด : SCRI คาดว่าแนวโน้มของการใช้งบโฆษณาในช่วง 2 เดือน สุดท้ายของปีนี้ น่าจะยังได้รับอานิสงส์ของช่วง High Season ของปี จึงน่าจะยังคงเห็นมูลค่าโฆษณาที่สูงในระดับไล่เลี่ยกัน

ดังนั้นจึงเป็นไปได้สูงมากที่มูลค่าโฆษณารวมของปี 2552 จะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 8.8 หมื่นล้านบาท และอาจจะไม่เห็นอัตราการขยายติดลบเมื่อเทียบกับปีก่อน เหมือนกับที่เคยมีการคาดการณ์ไว้

posttoday
************
16/11/52
โฆษณา...เห็นแสงสว่างรำไร "โค้ก" ฮอต ทุ่มงบฯสูงสุด 3 เดือนซ้อน
อาจเป็นเรื่องที่เกินคาดหมายในหลาย ๆ ประเด็นสำหรับธุรกิจโฆษณาในปีนี้ !

เพราะบรรยากาศโดยรวมในช่วงครึ่งแรกนั้น ตัวเลขธุรกิจโฆษณาออกมาติดลบทุกเดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ กระทั่งถึงเดือนกรกฎาคม โดยมีอัตราติดลบโดยรวมราว 4-5%

ที่สำคัญหลาย ๆ ฝ่ายยัง

ประเมินภาพไว้แบบน่ากลัวว่า สินค้าต่าง ๆ แห่ตัดงบฯกันแบบระเนระนาด โดยเฉพาะโกลบอลแบรนด์

แต่จากรายงานของนีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ซ (ประเทศไทย) ในช่วง 10 เดือนของปี (มกราคม-ตุลาคม) กลับพบว่ามีมูลค่ารวม 73,422 ล้านบาท ติดลบเพียงแค่ 1.45% ซึ่งไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คาด

โดยสื่อทีวีมีมูลค่ารวม 43,236 ล้านบาท ขยายตัว 1.83% วิทยุ 5,052 ล้านบาท ติดลบ 12.18% หนังสือพิมพ์ 11,283 ล้านบาท ติดลบ 10.10% นิตยสาร 4,356 ล้านบาท ติดลบ 11.93% โรงหนัง 3,812 ล้านบาท ขยายตัว 14.54% สื่อกลางแจ้ง 3,327 ล้านบาท ติดลบ 5.51% สื่อเคลื่อนที่ 1,471 ล้านบาท ขยายตัว 30.41% สื่อในห้าง (in store) 689 ล้านบาท ขยายตัว 1.47% และอินเทอร์เน็ต 197 ล้านบาท ขยายตัว 31.33%

อย่างไรก็ตาม หากดูบริษัทที่ใช้งบฯสูงสุด 10 อันดับแรก พบว่ามีถึง 8 บริษัทที่ใช้งบฯเพิ่มขึ้น มีเพียง 2 บริษัทเท่านั้นที่ใช้งบฯลดลง และก็เป็นการใช้งบฯลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หรือกรณีของยักษ์ใหญ่ด้านคอนซูเมอร์ โปรดักต์อย่าง "ยูนิลีเวอร์" ที่เดิมทีเดียวคาดว่าน่าจะใช้งบฯลดลงถึงเท่าตัว แต่ เอาเข้าจริง ๆ กลับใช้งบฯในสัดส่วนที่ เพิ่มขึ้นถึงกว่า 540 ล้านบาท ในช่วง 10 เดือนแรก

แถมยังเป็นบริษัทที่หยุดใช้งบฯโฆษณาผ่านช่อง 7 สี ไปถึง 6 เดือนเต็ม ๆ ด้วยซ้ำ

เช่นเดียวกับ "นีเวีย" ของไบเออร์ สดร๊อฟ ก็มีอัตราการใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อเพิ่มขึ้นถึงกว่า 530 ล้านบาท หรือกรณีของเครื่องดื่ม "โคคา-โคลา" ก็พบว่าเป็นค่ายที่ใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อเพิ่มขึ้นถึงกว่า 250 ล้านบาท

โดยในส่วนของโคคา-โคลานั้นยังพบว่าใช้งบฯโฆษณากับเครื่องดื่ม "โค้ก" ไปมหาศาลทีเดียวในปีนี้

และพบว่า "โค้ก" เป็นเบรนด์ที่ใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อสูงสุดเป็นอับ 1 ติดต่อกัน ถึง 3 เดือนแล้ว นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา และยังเป็นผู้นำใช้งบฯสูงสุด อันดับ 1 ที่นำโด่งอันดับ 2 และ 3 อย่างชัดเจนอีกด้วย โดยในเดือนสิงหาคม โค้ก ใช้งบฯโฆษณาไปถึง 100 ล้านบาท ขณะที่อันดับ 2 ออย ออฟ โอเลย์ ใช้งบฯ 67.92 ล้านบาท เดือนกันยายน โค้กใช้งบฯโฆษณา 80.28 ล้านบาท ขณะที่อันดับ 2 คือโทรศัพท์แบบเติมเงินแฮปปี้ ใช้งบฯ 59.39 ล้านบาท และล่าสุดเดือนตุลาคม โค้กใช้งบฯโฆษณา 93.66 ล้านบาท ขณะที่ อันดับ 2 คือไทยประกันชีวิต ใช้งบฯ 88.34 ล้านบาท

ส่งผลให้ "โค้ก" เป็นแบรนด์ที่ใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในรอบ 10 เดือนแรกที่ผ่านมา โดยใช้เพิ่มงบฯเพิ่มขึ้นถึงกว่า 200 ล้านบาท

รานงานข่าวแจ้งว่า ปีนี้เป็นปีที่โค้กวางแผนบุกตลาดอย่างหนักตั้งแต่ต้นปี โดยจะพบว่ามีการทุ่มงบฯโฆษณาและ การตลาดเพิ่มขึ้นทุกเดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และมาเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในเดือนสิงหาคม เนื่องจากมีแคมเปญ ใหญ่อย่างต่อเนื่อง อาทิ แคมเปญ "อร่อยขึ้น สนุกขึ้น อย่างเนี้ย...ต้องโค้ก" ด้วยการเลือกร้านอาหารชื่อดังสุดอร่อยจาก 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ มาให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลองแบบอร่อยซ่ายกกรุง ในช่วงเดือนกรกฎาคม กิจกรรมฉลอง 50 ปี ไทยน้ำทิพย์ ในช่วงเดือนสิงหาคม

ล่าสุด เดือนตุลาคมยังได้ออกแคมเปญ "โอเพ่น แฮปปี้เนส" ซึ่งเป็นแคมเปญระดับโลก ที่โคคา-โคลาในแต่ละประเทศร่วมส่งความสุขผ่านเสียงเพลงไปยังทุกคนผ่านศิลปิน ซึ่งในประเทศไทยได้เลือกศิลปินวงแทททู คัลเลอร์ ผ่านเพลงไทยแลนด์ โอเพ่น

พร้อมเตรียมจัดมหกรรมดนตรี "โค้กซ่า เฟสติวัล 2009" กับศิลปิน 13 วง ตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืน ในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ ที่ลานมอเตอร์สปอร์ตแลนด์ ซึ่งเป็นแคมเปญที่ต่อเนื่องมาจาก "เปิดโค้กซ่า เปิดความสุข" ซึ่งเป็นโกบอลแคมเปญก่อนหน้านั้น

ว่ากันว่า แค่แคมเปญนี้แคมเปญเดียว โค้กใช้งบฯโฆษณาและการตลาดไปถึง 75 ล้านบาทเลยทีเดียว

แนวโน้มอัดกันแรงขนาดนี้ เสียงคนโฆษณาส่วนใหญ่จึงเชื่อกันว่า ธุรกิจโฆษณาโดยรวมในปีนี้น่าจะรักษาสถานภาพให้อยู่ในภาวะเอาตัวรอดได้...หรือหากติดลบ ก็ไม่น่าหนักอย่างที่คาดการณ์กันไว้เมื่อต้นปี
prachachart
**********
10/11/52
โฆษณาห้าว ขึ้นราคา8%
มีเดีย เอเยนซี ชี้สื่อเตรียมขยับราคา 5-8% อ้างเศรษฐกิจปีหน้าฟื้น เตือนกระทบอุตฯ โฆษณา เล็งปั้นสื่อใหม่ เคเบิล- ทีวีดาวเทียม

น.ส.กนกกาญจน์ ประจงแสงศรี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส เปิดเผยว่า ปีหน้าค่าโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ อาจปรับเพิ่มขึ้นอีก 5-8% โดยเจ้าของสื่อให้เหตุผล เพราะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยปีหน้าจะฟื้นตัว ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผ่านงบไทยเข้มแข็งมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท ผลดังกล่าวอาจทำให้อุตสาหกรรมโฆษณาจะฟื้นตัวช้าเป็นรูปตัวยู เนื่องจากค่าโฆษณาสูงขึ้น
สำหรับปีนี้คาดว่าอุตสาหกรรมโฆษณาจะติดลบ 5% หรือมีมูลค่าการใช้จ่ายรวม 9.4 หมื่นล้านบาท และปี 2553 คาดว่าอุตสาหกรรมโฆษณา จะมีมูลค่าเท่ากับปี 2551 หรือมีมูลค่าการใช้จ่าย 9.9 หมื่นล้านบาท หากไม่มีปัจจัยการเมืองเข้ามากระทบ ซึ่งคาดเดายาก เนื่องจากขณะนี้ สถานการณ์เริ่มคุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้ง

“เศรษฐกิจที่ถดถอยทำให้เจ้าของสินค้าหันมาโฟกัสที่สื่อหลัก ซึ่งก็คือทีวี แต่ด้วยช่องและเวลาที่มีจำกัด ทำให้ดีมานด์ยังมีและสามารถปรับราคาเพิ่มขึ้นได้ ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวแพงขึ้น แต่มีปัญหาว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ นี่คือปัจจัยลบต่ออุตสาหกรรม” น.ส.กนกกาญจน์ กล่าว

นอกจากนี้ ปัจจัยลบเรื่องอัตราค่าโฆษณาที่สูงขึ้นของฟรีทีวี จะกระทบต่อการใช้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณา พฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อยังเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด ดูทีวีลดลง ขณะที่ดูเคเบิลทีวีเพิ่มขึ้น ปัจจุบันระยะเวลาการชมทีวีกับเคเบิลทีวีใกล้เคียงกัน 2-3 ชั่วโมงต่อวัน และยิ่งเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมสามารถโฆษณาได้ ยิ่งเป็นโอกาสสำหรับผู้โฆษณา แต่ต้องเลือกพื้นที่และสื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้ชมอย่างแท้จริง

ปัจจุบันจำนวนบ้านที่มีเคเบิลท้องถิ่นประมาณ 3 ล้านครัวเรือน เพิ่มขึ้น 20% จากปีที่แล้ว ทรูวิชั่นส์ 1.8 ล้านครัวเรือน เพิ่มขึ้น 50% และจานดาวเทียม 1.5 ล้านครัวเรือน เพิ่มขึ้น 400% จากปีที่แล้ว ซึ่งรวมแล้วประมาณ 6.3 ล้านครัวเรือน หรือเข้าถึง 20 ล้านคน คิดเป็น 31% ของจำนวนประชากร ถือเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ

น.ส.กนกกาญจน์ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มการใช้เงินผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์เริ่มลดลงเรื่อยๆ ด้วยภาวะเศรษฐกิจ แต่ถูกทดแทนด้วยสื่อใหม่ เช่น อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งในต่างประเทศหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับปิดตัวลง แต่เปิดใหม่ในเวอร์ชันอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับวิทยุที่แนวโน้มผู้ฟังจะรับฟังผ่านสื่อใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
posttoday
*********
10/11/52
News Comment

Media การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศทำให้การซื้องบโฆษณาใน Q3/52 เริ่มกระเตื้องขึ้นโดยเฉพาะผู้ซื้อโฆษณารายใหญ่ที่กลับมาเพิ่มงบโฆษณามากขึ้น 12% yoy

ความเห็นนักวิเคราะห์ :
สื่อโทรทัศน์ฟื้นตัวได้เร็วกว่าสื่อประเภทอื่นๆ : การใช้งบโฆษณาในสื่อโทรทัศน์ใน Q3/52 ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง โดยเติบโต 3% yoy ในเดือน ก.ค. 5% yoy ในเดือน ส.ค. และ 7% yoy ในเดือน ก.ย. ทำให้งบโฆษณาของสื่อโทรทัศน์ เพิ่มขึ้น 6% qoq และกลับมาขยายตัวเป็นบวก 1% yoy เป็นครั้งแรกของปี ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีขึ้นจาก Q1/52 และ Q2/52 ทำให้สื่อโทรทัศน์ยังเป็นสื่อประเภทเดียวในกลุ่มสื่อหลักอื่น (หนังสือพิมพ์ วิทยุ และนิตยสาร) ที่มูลค่าโฆษณาลดลงจากปีก่อนในอัตรา -5% -11% และ -20% ตามลำดับ โดย SCRI คาดว่าเป็นผลจากที่ผู้ซื้อโฆษณารายใหญ่เริ่มมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจมากขึ้น สะท้อนว่าสื่อโทรทัศน์ได้ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดได้เร็วกว่าสื่อประเภทอื่นๆ
คาด BEC ว่ามีกำไรสุทธิดีขึ้น qoq จากค่าใช้จ่ายที่ลดลง : SCRI คาดว่ากำไรสุทธิของ BEC จะเติบโต 14% qoq เป็น 685 ล้านบาท โดยปัจจัยที่ทำให้กำไรดีขึ้น qoq มาจากค่าใช้จ่ายที่ลดลงมากเนื่องจากใน Q2/52 มีเงินบริจาคเนื่องในโอกาสครบรอบ 39 ปี การตั้งสำรองหนี้ของ BEC Virgin Radio อีก 20 ล้านบาท รวมถึงอัตราภาษีจ่ายที่คาดว่าจะลดลงมาอยู่ในระดับปกติ อย่างไรก็ดี BEC น่าจะมีต้นทุนบริการที่สูงขึ้นจากการขยายเวลาช่วงไพร์มไทม์ในวันเสาร์และอาทิตย์ สำหรับกำไรสุทธิที่ลดลง 7% yoy เป็นผลจากต้นทุนบริการที่เพิ่มขึ้นจากการขยายช่วงไพร์มไทม์ การผลิตรายการละคร และ การซื้อลิขสิทธิ์รายการต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี EBITDA ยังคงทรงตัวในระดับสูง SCRI มีมุมมองที่เป็นบวกต่อ BEC เพิ่มมากขึ้นหลังจากที่การเจรจากับ MCOT ที่ค่าใช้จ่ายในการต่อสัมปทานต่ำกว่าที่คาดไว้ว่าจะสูงถึง 6.5% ของรายได้ค่าโฆษณาของบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ SCRI จึงแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าเหมาะสม 25 บาท
MCOT คาดว่ามีกำไรสุทธิ 685 ล้านบาท : กำไรสุทธิของ MCOT จะปรับตัวดีขึ้นมากจากปีก่อนถึง 27% yoy เนื่องจากการฟื้นตัวของธุรกิจวิทยุและการเพิ่มกิจกรรมพิเศษที่มาสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจโทรทัศน์ ในขณะที่กำไรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4% qoq เกิดจากค่าใช้จ่ายลดลง สำหรับ ประเด็นบวกของ MCOT คือ การรับรู้รายได้พิเศษจาก TrueVisions จำนวน 111 ล้านบาท และ ส่วนแบ่งรายได้จาก TrueVisions ที่จะเพิ่มขึ้นจากการโฆษณาเชิงพาณิชย์ SCRI จึงแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าเหมาะสม 23.40 บาท
ยูนิลีเวอร์ กลับไปซื้อเวลาโฆษณากับช่อง 7 กระทบทั้งช่อง 3 และ ช่อง 9 : การที่ ยูนิลีเวอร์ กลับไปซื้อเวลาโฆษณาในช่อง 7 โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย. 2552 เป็นต้นไป จะส่งผลกระทบต่อสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 มากกว่า สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาช่อง 9 ได้รับงบโฆษณาของยูนีลีเวอร์มากกว่าช่อง 3 โดยเห็นได้จากมูลค่าโฆษณาในระหว่างเดือน มี.ค. – ก.ย. ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละเดือนเฉลี่ยที่ 9% yoy ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของช่อง 3 ที่ 3% yoy
ต่อสัญญาสัมปทาน ช่อง 3 ยอมจ่ายเงินกินเปล่าให้ MCOT เพิ่มอีกไม่เกิน 600 ล้านบาท : MCOT และ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (บริษัทลูกของ BEC) ได้สรุปแนวทางการจ่ายผลประโยชน์เพิ่มเติมเป็นเงินให้เปล่า ประมาณ 300 – 600 ล้านบาท รวมกับ ค่าตอบแทนตลอดอายุสัญญา 10 ปี อีก 2,002 ล้านบาท โดยทั้งสองบริษัทจะมีการหารืออีกครั้งเพื่อสรุปตัวเลขว่าจะเป็นมูลค่าเท่าไรก่อนจะส่งเรื่องให้สำนักนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป SCRI ประเมินว่า ข้อตกลงที่ออกมาที่ไม่เกิน 600 ล้านบาท หรือ 60 ล้านบาทต่อปี ถือว่าเป็นข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์แก่ทั้ง MCOT ที่จะได้รายได้เพิ่มมากขึ้นจากเดิม และ BEC จากเงินตอบแทนที่ไม่สูงถึง 6.5% ของรายได้
(ติดตามรายละเอียดในรายงาน Sector Update ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552)

*********
22/10/52
เม็ดเงินโฆษณาปีหน้าโต
โอกิลวี่ คาดผู้ประกอบการอั้นงบปีนี้ ส่งผลโหมทุ่มโฆษณาปีหน้า ดันตลาดโต 10%

นางพรรณี ชัยกุล รองประธานกลุ่มบริษัท โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ ประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ แอดเวอร์ไทซิ่ง เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าตลาดรวมโฆษณาในปีหน้าจะเติบโตได้ 10% เพราะบริษัทต่างๆ ที่หยุดใช้งบโฆษณาในปีนี้ไปเนื่องจากไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ จะหันไปทุ่มโฆษณาในปีหน้าแทน โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ธนาคาร มหาวิทยาลัย ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และกาแฟลดความอ้วน ที่เชื่อว่าจะใช้งบโฆษณากระตุ้นยอดขายมากขึ้น”นางพรรณีกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีสื่อใหม่ๆ ที่เติบโตอย่างมากในปีนี้ เช่น เคเบิลทีวี ที่จะได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ และสื่ออินเทอร์เน็ต เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ แม้ปัจจุบันมูลค่าการโฆษณาผ่านสื่อดังกล่าวยังมีน้อย แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต รวมถึงการขึ้นราคาโฆษณาของช่องฟรีทีวีตามอัตราเงินเฟ้อ ก็จะส่งผลให้ตลาดโตด้วย

สำหรับภาพรวมโฆษณาในปีนี้ พบว่าหลังจากเศรษฐกิจดีขึ้นและการเมืองที่เริ่มนิ่ง ทำให้ยอดการโฆษณาจนถึงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ติดลบน้อยลดลงเหลือลบ 3% จากติดลบ 5% ของการคาดการณ์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ดังนั้นหาก 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ไม่มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น เชื่อว่าจะส่งผลให้ตลาดรวมไม่ติดลบ หรือมีมูลค่าเท่ากับปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ บริษัทหวังว่ารายได้ในปีหน้าจะเติบโตได้ 5% ส่วนปีนี้คาดว่ารายได้จะไม่มีการเติบโต แม้ว่าจะมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นถึง 7 ราย เนื่องจากลูกค้าเก่าบางรายหยุดการโฆษณาไป และในปีที่แล้วบริษัทเติบโตถึง 10% ทำให้ภาพรวมรายได้ในปีนี้เติบโตได้ยาก

อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมการสร้างการเติบโตในปีหน้า บริษัทจึงแต่งตั้งนายวิศิษฏ์ ล้ำศิริเจริญโชค และนายนพดล ศรีเกียรติขจร ขึ้นเป็นผู้อำนวยการบริหารฝ่ายสร้างสรรค์ เพื่อดูแลบริษัทในเครือทั้งหมด 6 บริษัท ภายใต้ทิศทางการตอบโจทย์ให้กับลูกค้าครบ 360 องศา ซึ่งจะส่งผลดีต่อบริษัทในเครือทั้งหมดอย่างเท่าเทียมกัน

นางพรรณี กล่าวต่อว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่บริษัทประสบความสำเร็จ เพราะสามารถคว้ารางวัลสำคัญมาครองได้ถึง 2 งานใหญ่ คือ รางวัลเอเยนซีแห่งปีจากงานแอดแมน อะวอร์ดส์ 2009 และงานสไปก์ส เอเชีย
posttoday
**********
17/10/52
หนังไทย...ฮิตติดลม (ฝัน) ปีนี้รายได้ทะลุ 1,300 ล้าน

คอลัมน์ จับกระแสตลาด
คงไม่ไกลเกินฝันนัก สำหรับ เป้าหมายที่ "จาฤก กัลย์จาฤก" นายกสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ที่ตั้งเป้าว่า ธุรกิจหนังไทยจะแซงหน้าหนังเกาหลีได้ในอีก 5 ปี ข้างหน้า เพราะ "หนังไทย" มีความโดดเด่นมากกว่าหนังเกาหลีหลายเท่าตัว โดยเห็นได้ชัดจากผลงานที่ได้รับรางวัลระดับโลกในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้

ขอเพียงแค่ภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เท่านั้น

สำหรับปีนี้ "วิสูตร พูลวรลักษณ์" นายใหญ่ค่ายจีทีเอช (GTH) วิเคราะห์ว่า ธุรกิจหนังไทยในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวได้สูงกว่า ปีที่ผ่านมาราว 15% หรือราวๆ 1,300 ล้านบาท จาก 1,100 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา

โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีหนังไทยเข้าฉายไปแล้ว 35 เรื่อง ทำรายได้รวมราว 826 ล้านบาท เฉลี่ยรายได้ต่อเรื่องประมาณ 23.6 ล้านบาท

ถือว่าอยู่ในทิศทางที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา และสวนกระแส

จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นทำให้หนังไทยมีส่วนแบ่งการตลาด 37% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 40% ได้ภายในสิ้นปี เพราะไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะมีหนังไทยเข้าฉายประมาณ 17 เรื่อง รวมทั้งปีน่าจะมีหนังไทยเข้าฉายเฉลี่ยใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันหนังไทยที่ทำรายได้สูง ๆ ในปีนี้ยังมีมากกว่าปีที่ผ่านมาอีกด้วย อาทิ 5 แพร่ง ที่ทำรายได้กว่า 100 ล้าน วงศ์คำเหลากว่า 88 ล้าน สาระแนฯ เกือบ 90 ล้าน ก้านกล้วย กว่า 71 ล้าน ฯลฯ

สำหรับค่ายจีทีเอช "วิสูตร" บอกว่า ปีนี้มีหนังเข้าฉาย 4 เรื่อง คือ ความจำสั้น แต่รักฉันยาว ทำรายได้ 49 ล้านบาท หนีตามกาลิเลโอ ราว 30 ล้านบาท 5 แพร่ง คาดว่าน่าจะปิดตัวเลขได้ราว 111-112 ล้านบาท และล่าสุดที่กำลังเข้าฉายคือ รถไฟฟ้ามาหานะเธอ ที่ตั้งเป้าไว้สูงพอสมควร

"หลักการบริหารหนังไทยในวันนี้ เราต้องทำให้มีคุณภาพทั้งในส่วนงานโปรดักชั่นและแผนการตลาด หากหนังมีคุณภาพ แต่แผนการตลาดไม่ดี รายได้ก็จะไม่เป็นไปตามเป้า แต่เมื่อไหร่ที่งาน

โปรดักชั่นดี และได้แรงส่งจากการตลาดที่ดีรายได้ก็วิ่งไปได้อีก"

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวในวงการโฆษณาตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันการทำการตลาดของกลุ่มผู้ผลิตหนังไทยมีการวางแผนมาค่อนข้างดี โดยเฉพาะค่ายใหญ่ที่อยู่ในธุรกิจมานาน อาทิ จีทีเอช สหมงคลฟิล์ม ซึ่งจะวางแผนการตลาดหนังแต่ละเรื่องอย่างเป็นสเต็ปว่า เมื่อรายได้ของหนังแตะ 20 ล้านจะทำอย่างไรต่อ หรือรายได้แตะ 50 ล้านแล้วจะทำอย่างไรต่อ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการสื่อสารและวิธีการใช้สื่อที่หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้หนังเรื่องนั้น ๆ เกิดกระแสและมีการบอกต่อ หนังเรื่องไหนที่เกิดกระแสการบอกต่อที่ดี รายได้หนังก็จะดีต่อเนื่องไปอีก

สอดรับกับมุมมองของ "สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์" หรือ "เฮียฮ้อ" ซีอีโอ "อาร์เอส" ที่บอกว่า การลงทุนทำหนังในยุคนี้ต้องมีการบริหารจัดการที่ใกล้ชิดและประมาทไม่ได้ และต้องชัดเจนว่าหนังแต่ละเรื่องลงทุนเท่าไหร่ ต้องใช้งบฯในการทำการตลาดเท่าไหร่ จะโปรโมตให้หนังเกิดกระแสเร็วที่สุดและอยู่ฉายในโรงได้นานที่สุด

"การตลาดเป็นเรื่องของกลยุทธ์ถ้าโปรดักชั่นหนังดี การตลาดดีจะยิ่งทำให้รายได้ดียิ่งขึ้น ถ้าโปรดักชั่นหนังพอใช้ได้ การตลาดที่ดีจะช่วยเสริมให้หน้าหนังดูดีขึ้นได้"

"เฮียฮ้อ" บอกด้วยว่า ที่ผ่านมา นักการตลาดและเจ้าของสินค้ายังหันมาให้ความสำคัญกับการนำเอาหนังไปเป็นเครื่องมือในการทำการตลาดหรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์ มาร์เก็ตติ้งมากขึ้น โดยจะพบว่าสินค้าจำนวนมากเริ่มทำการตลาดร่วมกับหนังตั้งแต่เริ่มวางแผนงานสร้างหนังมากขึ้น

ขณะที่ "วัชรินทร์ สุทธิประภา" กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการสร้าง "โอเรียนทัล อายส์" บริษัทสร้างหนังน้องใหม่บอกว่า หนังไทยยังมีช่องว่างในการเติบโตอีกมาก เพราะปัจจุบันมีหนังเข้าฉายในแต่ละปีมีเพียง 40 เรื่อง ทั้ง ๆ ที่น่าจะมีศักยภาพในการเข้าฉายได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 เรื่อง หรือประมาณ 100 เรื่อง/ปี

ตัวเลขนี้สะท้อนว่าตลาดหนังไทยยังเปิดกว้างสำหรับผู้สร้างหนังรายใหม่ ๆ ให้เข้ามาได้อีกกว่าเท่าตัว

อยู่ที่ว่าใครจะเข้าใจตลาด เข้าใจกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย และทำหนังได้ถูกใจตลาดมากกว่ากัน
prachachart***********
15/10/52
บล.ยูไนเต็ด: MEDIA SECTOR แนะ Neutral ชู BECดี
บล.ยูไนเต็ด : MEDIA SECTOR น้ำหนักการลงทุนระดับ Neutral TOP PICK ได้แก่ BEC เป้าหมาย 26บาท

เม็ดเงินโฆษณา ก.ย.เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
เม็ดเงินโฆษณาเดือนก.ย.ส.ค.+1.43% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ขณะที่ 9M52 หดตัวเหลือเพียง -2.62%
ตัวเลขเม็ดเงินเริ่มสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะดีขึ้นในช่วงปลายปี
TOP PICK ได้แก่ BEC เป้าหมาย 26บาท

Investment Theme :
เหตุการณ์:

รายงานตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาจาก AGB Neilsen Media Research เดือนก.ย.52 พบว่า ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณามีมูลค่า 7,629 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% YoY โดยสื่อที่มีอัตราการเติบโตสูงได้แก่สื่อขนาดเล็กอย่าง สื่ออินเตอร์เนท (+114%) สื่อเคลื่อนที่ (+27%) และสื่อโรงภาพยนตร์ (+17%) ขณะที่สื่อหลักอย่างโทรทัศน์ก็เติบโตดีขึ้นต่อเนื่อง (+7%) สำหรับสื่อที่ปรับตัวลงหนักยังได้แก่สื่อนิตยสาร (-22%) และสื่อวิทยุ (-14%)

สำหรับภาพเม็ดเงินโฆษณา 3Q52 เริ่มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดย +6.4% QoQ และ 1.1%YoY ถ้าดูเม็ดเงินโฆษณา 9M52 มีมูลค่า 64,995 ล้านบาท หดตัวน้อยลงเหลือเพียง -2.6% โดยสื่อที่มีการเติบโตสูงยังคงเป็นสื่อเล็กๆ ขณะที่สื่อใหญ่อย่างโทรทัศน์เม็ดเงินสะสมตั้งแต่ต้นปีเริ่มกลับมาเติบโตได้เป็นเดือนแรกโดย +0.6%

ผลกระทบ:
ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาเดือนก.ย.เริ่มเป็นเดือนที่สองที่เติบโตมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน นับแต่เดือนม.ค.เป็นต้นมา ซึ่งโมเมนตัมเริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงปลายปีจากมาตรการภาครัฐที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มเห็นผล คาดว่าจะทำให้อุตสาหกรรมโฆษณาดีกว่าที่คาดไว้ตอนต้นปีที่คาดว่าจะหดตัวลง โดยมีโอกาสอย่างมากที่จะทรง
ตัวถึงเติบโตขึ้นจากปีก่อนได้เล็กน้อย

สำหรับเม็ดเงินโฆษณาผ่านโทรทัศน์คาดว่าทั้งปีน่าจะปรับเพิ่มขึ้นได้ดีกว่าเดิมที่คาดว่าทรงตัวเนื่องจากโมเมนตัมที่ดีขึ้น เม็ดเงินช่อง 7 ใน 3Q52 เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น +15.7% QoQ แล้ว ขณะที่ช่อง 3 ยัง +2.5% ช่อง 5 +3.7% แต่ช่อง 9 เริ่มลดลง -1.34% ถ้าดูตัวเลขดังกล่าว คาดว่าผลประกอบการ 3Q52 ของ BEC น่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 2Q52 ที่เป็น High Season นอกจากนี้ ใน 3Q52 ก็ไม่มีค่าใช้จ่ายที่เป็นรายการพิเศษอย่าง 2Q52 ประมาณ 100 ล้านบาท ทำให้แนวโน้มผลประกอบการ 3Q52 น่าจะยังดีขึ้น สำหรับ MCOT ตัวเลขที่รายงานโดยนีลเส็นเริ่มชะลอตัวลงจาก 2Q52 ซึ่งน่าจะเป็นไปตาม seasonal บางส่วนคงต้องดูว่าเม็ดเงินจากยูนิลีเวอร์เริ่มกลับไปหรือยัง ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบถามไปยัง MCOT อยู่

คำแนะนำ:
เรายังคงให้น้ำหนักการลงทุนระดับ Neutral ในหุ้นกลุ่ม Media จากที่คาดว่าปลายปีเศรษฐกิจฟื้นและความเชื่อมั่นในการบริโภคจะกลับมา สำหรับ Top Pick ยังคงเป็น BEC ราคาเป้าหมาย 26 บาท คาดผลประกอบการ 3Q52 ดีกว่า 2Q52 ที่เป็น High Seasonal ได้

***********
03/10/52
ยักษ์สิ่งพิมพ์ผู้ดีชักเท้าเข้าไทย ดูลู่ทางการค้า-ย้ายฐานลงทุน
10 บิ๊กผู้ผลิตสิ่งพิมพ์เมืองผู้ดี ตบเท้าดูลู่ทางการค้า-ลงทุนในไทย สนใจย้ายฐานผลิต เล็งสั่งซื้อสิ่งพิมพ์จากไทยเพิ่ม ตามรอยยักษ์ "แมค มี แลนด์" ที่จ้างไทยผลิตตำราเรียนส่งออกเกือบ100% ล่าสุดกลุ่มสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สภาอุตฯ ตั้งเป้าปี 2558 ยอดส่งออกไต่ระดับแสนล้านบาท/ปี เผยงาน "แพค พริ้นต์" เสียงตอบรับดีเกินคาด ออร์เดอร์สั่งซื้อเครื่องจักรมากกว่า 1,000 ล้านบาท
ฐานธุรกิจ
*************
26/09/52
งบโฆษณาทีวีโค้งท้ายปีจองล้น สถานี-รายการเก็บพรีเมียมชาร์จ15%

เม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวีฟื้น ดันทีวีโค้งสุดท้ายโฆษณาล้น สถานีทีวี-ผู้ผลิตรายการ ใช้เทคนิค "พรีเมียม ชาร์จ" 15% โฆษณาแรกและสุดท้าย
หลังจาก ยูนิลีเวอร์ (ไทย) โฮลดิ้งส์ ผู้ลงโฆษณารายใหญ่ของประเทศ ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นราคาโฆษณาของช่อง 7 ด้วยการยกเลิกส่วนลด 15% ตั้งแต่เดือนมี.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ยูนิลีเวอร์ฯ ไม่ลงโฆษณากับช่อง 7 ถึงปัจจุบัน

แหล่งข่าวจาก มีเดีย เอเยนซี เปิดเผยว่า ช่วงที่ยูนิลีเวอร์ฯ ไม่ลงโฆษณากับช่อง 7 ทำให้งบประมาณโฆษณาย้ายมาอยู่ที่ช่อง 3, ช่อง 5 และช่อง 9 จำนวนมาก โดยเฉพาะรายการที่มีเรทติ้งสูงของแต่ละช่องจะมียอดจองโฆษณาเต็มจนล้น โดยเฉพาะช่อง 3 ซึ่งเป็นช่องที่มีเรทติ้งเป็นอันดับที่ 2 จากช่อง 7 มีส่วนแบ่งงบโฆษณาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ภาวะที่มียอดโฆษณาจองเต็มนี้ ทำให้ตั้งแต่ต้นปีช่อง 3 ได้ใช้เทคนิคเรียกเก็บ "พรีเมียม ชาร์จ" ในอัตรา 15% ของราคาสปอตโฆษณา หรือการยกเลิกส่วนลดสปอตโฆษณาในตำแหน่งแรกเมื่อจบเบรกรายการ (frist brake) และตำแหน่งสุดท้ายก่อนเข้าเบรกรายการ (last brake) เนื่องจากเป็นตำแหน่งโฆษณาที่มีเรทติ้งผู้ชมรับชมสูงสุด

"ช่วงที่มีดีมานด์ล้น สถานีทีวีและซัพพลายเออร์ ผู้ผลิตรายการ จะใช้เทคนิคเรียกเก็บ พรีเมียม ชาร์จ นี้กับผู้ลงโฆษณา หากผู้ลงโฆษณา ต้องการได้เรทติ้งผู้ชมสูงสุด และเห็นว่าคุ้มค่า ก็มักจะยอมจ่าย และเห็นว่าดีกว่าการขึ้นราคาโฆษณาทั้งรายการ" แหล่งข่าวกล่าว

จากสถานการณ์การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมโฆษณา โดยเฉพาะสื่อทีวีที่เม็ดเงินโฆษณาเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้งตั้งแต่เดือนส .ค.ที่ผ่านมา และมีการใช้พื้นที่โฆษณาเต็มในเดือนก.ย. นี้ และยอดจองล้นในเดือนต.ค. เช่นกัน เนื่องจากเจ้าของสินค้าและบริการ เริ่มมั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคที่น่าจะกลับมาฟื้นตัว ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ พบว่าสถานีทีวีเกือบทุกช่อง และผู้ผลิตรายการที่มีเรทติ้งสูง ไม่ว่าจะเป็นรายการละคร ข่าว และ วาไรตี้ ได้ใช้เทคนิคการเก็บ พรีเมียม ชาร์จ ตำแหน่งสปอตโฆษณา เพื่อหวังรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น

กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวกลุ่มสื่อ สิ่งพิมม์ และบันเทิง

1 ความคิดเห็น:

  1. ขออนุญาตประชาสัมพันธ์แนะนำหนังสือใหม่นะครับ ขอบคุณครับ
    นักเล่นหุ้นแนวคุณค่ารู้และเข้าใจดีว่างบการเงินมีความสำคัญแค่ไหนในการคัดสรรเลือกหุ้นว่าตัวไหนมีผลประกอบการดีมีอนาคตน่าซื้อหรือไม่แค่ไหนอย่างไร หนังสือโฟกัสหุ้นสื่อและสิ่งพิมพ์คุ้ยแคะแกะงบการเงินย้อนหลัง3ปีพร้อมวิเคราะห์ว่าหุ้นตัวไหนจะมีอนาคตสามารถทำกำไรได้ให้กับเรามากน้อยแค่ไหนเหมาะสำหรับนักลงทุนแนวVIมือใหม่ที่กำลังหาข้อมูลไว้ต่อยอดการตัดสินใจในการค้นหาและเลือกสรรหุ้นที่ดีมีศักยภาพสามารถทำเงินให้กับเราได้
    รายละเอียด
    - เล่มเดียว ที่โฟกัสหุ้นเป็นรายตัว ในหมวด MEDIA เจาะลึกข้อมูลหุ้น พร้อมด้วยข้อมูลเชิงวิเราะห์ครบครัน
    - หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมข้อมูลหุ้นของบริษัทชั้นนำ รวมถึงผลการดำเนินงานของทั้ง 26 บริษัท ตั้งแต่ปี 2554-2556 เพื่อเป็นข้อมูลเอาไว้ต่อยอดในการตัดสินใจของนักลงทุน ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเนื้อหาภายในเล่ม จะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่กำลังแสวงหาหุ้นคุณค่าสายพันธุ์ดีจากบริษัทชั้นนำเหล่านี้
    - เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่สืบค้นข้อมูลพื้นฐาน งบการเงิน ผลการดำเนินงานและความโปร่งใสของบริษัทเหล่านี้ ยิ่งการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนก็ต้องยิ่ง “โฟกัส” ข้อมูลของบริษัทให้ลึกซึ้งมากกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว

    ตอบลบ