วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

ข่าวกลุ่มขนส่งและโลจิสติก 1

28/12/52
ธุรกิจการบินโลกคุมเข้มหลังเกิดเหตุการณ์ก่อการร้าย

เหตุการณ์ก่อการร้ายเกิดขึ้นช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา มีรายงานว่าชายชาวไนจีเรีย มีชื่อว่า นายอูมาร์ ฟารุค อับดุล มูตัลลับ วัย 23 ปี มีความเกี่ยวข้องกับเครือข่ายอัล-กออิดะห์ได้พยายามจุดระเบิดก่อนที่เที่ยวบิน 253 ซึ่งเป็น เครื่องบินโดยสารแอร์บัส 330 ของสายการบินนอร์ธเวสต์ แอร์ไลน์ ที่เดินออกจากกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ จะลงจอดที่สนามบินดีทรอยท์ เมโทร ในมิชิแกน แต่โชคดีที่ระเบิดไม่ทำงาน ทำให้ผู้โดยสารทั้งหมด 278 คนบนเครื่องรอดชีวิต

โฆษกหญิงของสายการบินนอร์ธเวสต์ แอร์ไลน์เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้โดยสารบนเครื่องบิน แต่บรรดาผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบินได้ช่วยกันขัดขวาง และสามารถลงจอดได้อย่างปลอดภัย แต่ความพยายามที่จะจุดระเบิดส่งผลให้ผู้ต้องสงสัยได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุมได้ทันที

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพักร้อนที่ฮาวาย ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สหรัฐคุมเข้มด้านความปลอดภัยมากขึ้น และยังได้ร้องขอไปยังสนามบินต่างๆ และสายการบินพยายามเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบมากขึ้น

ขณะที่สนามบินชาร์ลส เดอ โกล ของฝรั่งเศส ประกาศเพิ่มมาตรการคุมเข้มด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะกับเที่ยวบินที่จะมุ่งหน้าไปยังสหรัฐอเมริกา โดยผู้โดยสารทุกคนที่จะเดินทางไปยังสหรัฐต้องผ่านการค้นตัวและตรวจกระเป๋าถืออย่างละเอียดเป็นพิเศษ

ส่วนท่าอากาศยานซิดนีย์ และไต้หวัน ประกาศใช้มาตรการคุมเข้มด้านความปลอดภัย โดยนายไมเคิล ซามาราส โฆษกท่าอากาศยานซิดนีย์ของออสเตรเลียเปิดเผยว่า ผู้โดยสารที่จะเดินทางจากซิดนีย์ไปยังสหรัฐ จะต้องถูกตรวจร่างกายและสัมภาระอย่างละเอียดถี่ถ้วน ตามคำขอจากทางสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้โดยสารที่เดินทางด้วยเที่ยวบินไปยังสหรัฐจะถูกตรวจร่างกายและสัมภาระอย่างละเอียดในลักษณะสุ่มตรวจเท่านั้น

ส่วนที่สนามบินไต้หวันนั้น นายหลี่ ชางฮุย โฆษกสำนักงานตำรวจการบินแห่งไต้หวันกล่าวว่า ท่าอากาศยานไต้หวันได้เพิ่มมาตรการตรวจสอบผู้โดยสารและสัมภาระที่เข้มงวดมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะผู้โดยสารที่จะเดินทางจากไต้หวันไปยังสหรัฐ

ขณะที่ สายการบินเจแปน แอร์ไลน์ส (JAL) และสายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ส (ANA) ประกาศใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดกับผู้โดยสารที่จะเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาตามคำเรียกร้องของสหรัฐเช่นกัน

ทั้งสองสายการบินจะทำการตรวจร่างกายผู้โดยสารอย่างละเอียดก่อนขึ้นเครื่อง จากปกติที่ผู้โดยสารต้องผ่านเครื่องตรวจจับโลหะเท่านั้น นอกจากนั้นก็จะเพิ่มจำนวนพนักงานรักษาความปลอดภัยที่สนามบินและตรวจกระเป๋าทุกใบอย่างละเอียด และผู้โดยสารบนเครื่องทุกคนต้องนั่งอยู่กับที่ในช่วงเวลา 1 ชม. ก่อนเครื่องจะลงจอดที่สหรัฐ

ทางกระทรวงคมนาคมญี่ปุ่นจึงแนะนำให้ผู้โดยสารที่จะเดินทางไปสหรัฐเตรียมตัวมาขึ้นเครื่องเร็วกว่าปกติ เนื่องจากการตรวจร่างกายและตรวจกระเป๋าอย่างเข้มงวดจะทำให้ต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าเดิม และในช่วงปีใหม่ก็มีผู้โดยสารมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก
money wake up*********
21/12/52
การรถไฟฯเดินหน้าสร้างรถไฟรางคู่ 3 เส้นทาง คาดเริ่มเปิดสายอีสานได้ปีหน้า

Posted on Monday, December 21, 2009
นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บอกว่า ในปีหน้าเส้นทางรถไฟรางคู่จะมีพร้อมดำเนินการได้ คือ เส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มตั้งแต่ มาบกะเบา - จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง 129 กิโลเมตร ใช้วงเงินงบประมาณ 1.1 พันล้านบาท ซึ่งหากสามารถหาผู้รับเหมาที่จะเข้ามาดำเนินการได้ในปีหน้าก็สามารถเริ่มงานได้ทันที

ส่วนเส้นทางสายเหนือ จังหวัดลพบุรี – นครสวรรค์ ระยะทาง 113 กิโลเมตร และสายใต้ จังหวัดนครปฐม – หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร จะมีการพัฒนาในระยะต่อไป ทั้งนี้คาดว่าหากทั้ง 3 เส้นทางสามารถเปิดให้บริการได้ จะมีปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางรถไฟเพิ่มขึ้นจาก 264,000 ตันต่อปีในปัจจุบัน เป็น 576,000 ตันต่อปี และลดต้นทุนค่าขนส่งได้ 27 % หรือ คิดเป็น 94.56 ล้านบาทต่อปี

นายยุทธนาบอกอีกว่า ในปีหน้ารัฐบาลมีนโยบายให้เป็นปีแห่งคมนาคมปลอดภัย โดยได้จัดสรรงบให้ 600 ล้านบาท ซึ่ง 400 ล้านบาทจะใช้ในการปรับปรุงเส้นทางรถไฟทั่วประเทศให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ และอีก 200 ล้านบาท จะใช้ในการพัฒนาและปรับปรุง 169 สถานี จากทั้งหมดที่มีอยู่ 442 สถานี เพื่อให้มีการบริการที่ทันสมัยมากขึ้น
money news update
*********
16/12/52
IATA คาดสายการบินทั่วโลกจะขาดทุนต่อเนื่องในปีหน้า

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่า สายการบินต่างๆจะขาดทุน 5,600 ล้านดอลลาร์ในปีหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 3,800 ล้านดอลลาร์ในการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ พร้อมกับคงคาดการณ์ตัวเลขขาดทุนของอุตสาหกรรมสายการบินในปีนี้ว่าจะสูงถึง 11,000 ล้านดอลลาร์

โจวานนี บิสิญานี ซีอีโอของ IATA กล่าวว่า ปี 2552 เป็นปีที่น่าหวาดผวาสำหรับอุตสาหกรรมการบิน แต่เชื่อว่า ช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดน่าจะผ่านพ้นไปแล้ว โดยในปีหน้าสายการบินต่างๆจะมีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศก็น่าจะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

IATA คาดการณ์ว่า ในปีหน้า สายการบินยุโรปน่าจะขาดทุนมากที่สุดที่ราว 2.5 พันล้านดอลลาร์ ส่วนสายการบินในอเมริกาเหนืออาจจะขาดทุนรวม 2 พันล้านดอลลาร์

สำหรับสายการบินในเอเชียแปซิฟิกนั้น มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวขึ้นมากที่สุด ขณะที่สายการบินลาตินอเมริกาน่าจะเป็นภูมิภาคเดียวที่สามารถทำกำไรได้

IATA ยังกล่าวด้วยว่า แม้มีความเป็นไปได้ที่จำนวนผู้โดยสารสายการบินจะดีดตัวกลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับเดียวกับในปี 2550 แต่รายได้จะน้อยกว่าในปีดังกล่าวถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์

ขณะที่ดีมานด์คาร์โกจะเพิ่มขึ้นในปีหน้า เนื่องจากธุรกิจต่างๆเริ่มกลับมาเติมสต็อกสินค้า โดย IATA คาดว่าการขนส่งสินค้าทางอากาศจะขยายตัว 7% แตะ 37.7 ล้านตันในปีหน้า เพิ่มขึ้นจากระดับ 5% ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

บิสิญานียังกล่าวเพิ่มเติมว่า การควบรวมกิจการถือเป็นความหวังสำหรับอุตสาหกรรมการบิน
money wake up
**********
25/11/52
รฟม.ดีเดย์ประมูลสายสีน้ำเงิน-ม่วง ต้นปีหน้า

Posted on Wednesday, November 25, 2009
นายชูเกียรติ โพธยานุวัตร ว่าที่ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บอกถึงความคืบหน้า โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และ หัวลำโพง-บางแค หลังจากเมื่อวานนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับเพิ่มกรอบวงเงินเป็น 52,460 ล้านบาท จากเดิม 48,821 ล้านบาท ว่าหลังจากนี้ รฟม.จะจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางเพื่อประเมินราคาทั้ง 5 สัญญา โดยคาดว่าจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ รฟม. ประมาณกลางเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นจะทยอยเริ่มขั้นตอนการเปิดประมูลทั้ง 5 สัญญาภายในเดือนมกราคม 2553 และคาดว่าจะคัดเลือกผู้รับเหมาได้ ภายในเดือนกันยายน และจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ซึ่งการดำเนินการสายสีน้ำเงินจะใช้เวลาเร็วกว่าสายสีม่วงประมาณ 4-5 เดือน เพราะใช้เงินกู้ในประเทศทั้งหมด

สำหรับงานโยธาของส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินจะแบ่งเป็น 5 สัญญา ได้แก่ งานก่อสร้างโครงสร้างใต้ดิน 2 สัญญา คือ สัญญาที่1 ช่วงหัวลำโพง-สนามชัย วงเงิน 11,649 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงสนามชัย-ท่าพระ วงเงิน 10,818 ล้านบาท

ส่วนโครงสร้างยกระดับ 2 สัญญา คือ สัญญาที่3 ช่วงเตาปูน-ท่าพระ วงเงิน 11,395 ล้านบาท สัญญาที่ 4 ช่วงท่าพระ-บางแค รวมงานศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร วงเงิน 13,429 ล้านบาท ส่วนสัญญาที่ 5 คือ งานระบบรางวงเงิน 5,169 ล้านบาท

นายชูเกียรติ บอกถึง การเปิดประมูลหาผู้เดินรถและลงทุนระบบการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่)ด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยในหลักการจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนระบบการเดินรถ และรัฐจะจ่ายเงินคืนภายหลัง รวมทั้งรูปแบบบริการการเดินรถจะเป็นลักษณะว่าจ้าง ไม่ใช่เป็นการให้สัมปทาน

ทั้งนี้ คาดว่าจะจัดทำร่างทีโออาร์แล้วเสร็จประมาณเดือนมกราคม ปี 2553 และจะเปิดประมูลได้ภายในเดือน มีนาคม และจะรู้ผลการประมูลหลังจากนั้นประมาณ 3-4 เดือน
money news update
***********
19/11/52
กลุ่มเดินเรือ
ดัชนี BDI Spot ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 14 เดือน
หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 15 ดัชนีล่าสุดปิดที่
4,643(+6%) จุดจากวันก่อนหน้า โดยได้รับผลดีตามความต้องการ
ใช้เรือเพื่อการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นเนื่องจาก
1) แนวโน้มความต้องการบริโภคสินแร่เหล็กในประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น
ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวโดยในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี
2009 จีนได้มีการนำเข้าถ่านหินจำนวน 515 ล้านตันซึ่งขยายตัว
เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
2) ความต้องการการบริโภคถ่านหินในประเทศจีนและอินเดียที่เพิ่มมากขึ้น 3)การเข้าสู่ช่วงฤดูการส่งออกธัญพืชของสหรัฐในช่วงปลายปี
ขณะที่ปัจจัยด้าน supply ของกองเรือใหม่ในระยะสั้นเราประเมินว่าจะไม่ส่งผลกระทบในด้านลบต่อค่าระวางเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา
ผู้ประกอบการหลายรายได้ทำการชะลอการส่งมอบลงหลังประสบปัญหาเรื่อง Demand ที่ชะลอตัว แต่จะส่งผลกระทบในระยะยาว
มากกว่าทำให้การปรับตัวขึ้นของค่าระวางทำได้จำกัด
ด้านการลงทุน จากแนวโน้มค่าระวางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำ New High ในรอบ 14 เดือนทำให้ความน่าสนใจในการเก็งกำไรของหุ้นในกลุ่ม
อย่าง TTA และ PSL มีความน่าสนใจทั้งคู่ แม้ว่าในส่วนของ TTA อาจได้รับผลกระทบในเรื่องของแนวโน้มผลประกอบ ในช่วงไตรมาส4
งวดบัญชี ก.ค.-ก.ย. ที่กำลังจะประกาศในช่วงปลายเดือนนี้ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากไตรมาสก่อน
cgs
*************
11/11/52
ครม.ศก.ไฟเขียวแผนพัฒนารฟท.งบประมาณแสนล้าน
ครม.เศรษฐกิจ อนุมัติใช้งบประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อใช้พัฒนารถไฟทั้งระบบ ตามหลักการแผนพัฒนารฟท. พร้อมเห็นชอบก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ(ครม.ศก.) เห็นชอบในหลักการแผนพัฒนาการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) โดยอนุมัติกรอบงบประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงระบบรางรถไฟทั่วประเทศ การจัดซื้อหัวรถจักร รวมทั้งพัฒนาบุคลากร

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ถึงรายละเอียดโครงการและแหล่งเงินทุนให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน แล้วเสนอกลับมาให้รัฐบาลพิจารณาอนุมัติ

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบกรอบความเป็นไปได้การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง โดยให้เวลาศึกษา 3 เดือน ประกอบด้วย เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กิโลเมตร, กรุงเทพฯ-หนองคาย 615 กิโลเมตร, กรุงเทพฯ-จันทบุรี 330 กิโลเมตร และกรุงเทพฯ-ปาดังเปซาร์ 985 กิโลเมตร

โดยเบื้องต้นนายกรัฐมนตรีให้ศึกษาเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางกรุงเทพฯ-จันทบุรี ก่อนให้เสร็จภายใน 45 วัน และรายงานกลับมาให้ทราบ

สำหรับแผนพัฒนา รฟท.ที่กระทรวงคมนาคมเสนอต่อที่ประชุมครม.เศรษฐกิจวันนี้ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนเป็นการบูรณะเส้นทางเดินรถเดิม และเพิ่มเติมหัวรถจักร ซึ่งต้องดำเนินการระหว่างปี 53-57 วงเงินประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท เช่น โครงการปรับปรุงความแข็งแรงของทางระยะทาง 2,272 กม., โครงการเปลี่ยนหมอนรองรางระยะทาง 1,382 กม., โครงการเปลี่ยนรางให้เป็นขนาด 100 ปอนด์ระยะทาง 2,835 กม.,

โครงการเปลี่ยนประแจและระบบอาณัติสัญญาณจำนวน 223 สถานี, โครงการเร่งรัดปรับปรุงฝูงหัวรถจักร โดยจัดหาหัวรถจักรใหม่ทดแทนหัวรถจักรเดิมจำนวน 77 คัน และซ่อมบำรุงขนาดใหญ่หัวรถจักร ALSTOM จำนวน 56 คัน, โครงการเร่งจัดหาระบบล้อเลื่อน โดยจัดหารถโดยสารรูปแบบชุด 6 ขบวน รถโดยสารดีเซลปรับอากาศ 20 ขบวน รถดีเซลรางธรรมดา 58 คัน และรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า 308 คัน

ส่วนระยะที่ 2 เป็นการขยายโครงข่ายทางรถไฟสายใหม่ ซึ่งจะขยายไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคใต้ และภาคตะวันออก รวมระยะทาง 2,651 กม. และโครงข่ายเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน วงเงินประมาณ 392,348 ล้านบาท รวมทั้งโครงการเพิ่มสายทางคู่ทั่วประเทศ วงเงินประมาณ 324,710 ล้านบาท

และระยะที่ 3 ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงใน 4 เส้นทางหลัก คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-หนองคาย กรุงเทพฯ-จันทบุรี และกรุงเทพฯ-ปาดังเปซาร์ วงเงินประมาณ 708,855 ล้านบาท

ขณะที่แผนการพัฒนาด้านทรัพย์สินจะจำแนกประเภทที่ดินที่มีอยู่ให้ชัดเจน คือ ที่ดินที่ใช้ในกิจการเดินรถไฟ จำนวน 198,674.76 ไร่ ซึ่งจะมีการรายได้เชิงพาณิชย์จากการพัฒนาพื้นที่ในสถานี โดยเริ่มนำร่องจากสถานีหัวหิน และพระนครศรีอยุธยา และที่ดินที่ไม่เกี่ยวกับกิจการรถไฟ จำนวน 36,302.19 ไร่ จะนำมาพัฒนาเพื่อสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มที่

โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.ที่ดินศักยภาพสูงจำนวน 7,547.32 ไร่ เช่น ที่บริเวณย่านพหลโยธิน รัชดาภิเษก มักกะสัน และริมแม่น้ำ 2.ที่ดินศักยภาพกลางจำนวน 7,218.12 ไร่ และ 3.ที่ดินศักยภาพต่ำจำนวน 21,536.80 ไร่
ส่วนแผนพัฒนาด้านบุคลากรและอัตรากำลังนั้น รฟท.จะปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ โดยแบ่งเป็น 3 หน่วยธุรกิจ คือ 1.ฝ่ายการเดินรถ 2.ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน 3.ฝ่ายการช่างกลและซ่อมบำรุง และมี 1 บริษัทเดินรถโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน และช่วยให้การบริหารงานมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเดิมการแบ่งงานไม่ชัดเจน ทำให้การบริหารงานและการแก้ปัญหาต่างๆไม่เบ็ดเสร็จ

และการพัฒนาด้านกฎหมาย จะต้องขอยกเว้นมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ค.41 เรื่องการงดรับพนักงานใหม่ ที่กำหนดให้สามารถรับพนักงานในตำแหน่งเกี่ยวกับการเดินรถ และตำแหน่งที่ใช้วุฒิพิเศษได้ไม่เกิน 5% ของพนักงานที่เกษียณอายุ ซึ่งส่งผลให้ รฟท.ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร
krungthep
**************
10/11/52
ปีหน้าโลจิสติกส์จ่อขึ้นราคา20-30%
ทริพเพิลไอ ชี้ค่าบริการโลจิสติกส์ จ่อคิวปรับราคาขึ้น 30% รับธุรกิจนำเข้า-ส่งออกฟื้น ตั้งเป้าโต 27% รายได้ 1,400 ล้าน

นายทิพย์ ดาลาล ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัททริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ ผู้ให้บริการ ด้านขนส่งทางเรือ ทางอากาศและโลจิสติกส์ครบวงจร เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือและทางอากาศ เตรียมปรับค่าระวางขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 15-30% ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวขึ้นสูง
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าในปีหน้า ธุรกิจ การขนส่งโดยเฉพาะการขนส่งสินค้า ในแถบเอเชีย เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะประเทศอินเดีย จะเป็นตัวหลักที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก รวมถึงการเปิดเสรีทางการค้าในอาเซียน (อาฟตา) จะช่วยผลักดันให้เกิดการขนส่งสินค้าในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น

“ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่กล้าคาดเดาสถานการณ์ล่วงหน้าในระยะยาว เพราะมีปัจจัยลบจำนวนมาก ทั้งปัญหาการเมือง สภาวะเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาท และราคาน้ำมัน ซึ่งการประมาณการล่วงหน้าหากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ 70-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาค่าขนส่งจะปรับขึ้น 15-20% แต่ถ้าราคาน้ำมันพุ่งถึง 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาค่าขนส่งจะปรับขึ้นประมาณ 30%” นายทิพย์ กล่าว

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะไม่เน้นการทำสงครามราคาเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการในการขนส่งเริ่มกระเตื้อง ซึ่งบริษัท ตั้งเป้าปีหน้ามีรายได้ 1,400 ล้านบาท เติบโต 27% เทียบกับปีนี้มีรายได้ 1,100 ล้านบาท

นายทิพย์ กล่าวว่า สำหรับ ผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ ช่วงไตรมาส 1-3 ที่ผ่านมา มีรายได้รวม 752 ล้านบาท แต่ในช่วงไตมาส สุดท้าย คาดว่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้น โดยทั้งปีเฉลี่ยลดลง 2% ซึ่งในปีนี้ธุรกิจการขนส่งทางอากาศมีอัตราการเติบโต 25% เนื่องจากได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์ แอร์ไลน์) ไทย แอร์เอเชีย ในจัดแคมเปญส่งเสริมการขนส่งสินค้าร่วมกัน

ทั้งนี้ บริษัทได้ให้บริการทุกเส้นทางที่สายการบินไทย แอร์เอเชีย ของประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซียให้บริการ ซึ่งไทยแอร์ เอเชีย โดยช่วงแรกที่เปิดให้บริการ บริษัทมีปริมาณบรรทุก สินค้าราว 400 ตัน/วัน แต่ปัจจุบันได้เพิ่มเป็น 1,000 ตัน/วัน ในปีหน้าคาดว่าจะขนส่งสินค้าเพิ่มเป็น 1,500 ตัน/วัน

ขณะที่ภาพรวมการขนส่งทางเรือทั้งปีเฉลี่ย ลดลง 21% มีรายได้ 448 ล้านบาท เทียบกับปีที่ผ่านมามีรายได้ 570 ล้านบาท และการขนส่งบรรทุกสินค้าทางบก ลดลง 2% มีรายได้ 122 ล้านบาท เทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ 124 ล้านบาท

ด้านแผนการลงทุนในปีหน้า จะเน้นลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเชื่อมโยงระบบการขนส่งสินค้าให้มีความรวดเร็ว และการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบริการเพิ่มขึ้น โดยในปีหน้าเตรียมเปิดโครงการคืนกำไรให้กับสังคม (ซีเอสอาร์) หลายโครงการ
posttoday*********
05/11/52
ชงแผน1.4ล้านล.ปฏิวัติรถไฟ ขายฝันไฮสปีด-รางคู่-เพิ่มเส้นทางทั่วปท.

คมนาคมสบช่องรื้อใหญ่โครงสร้างพื้นฐานรถไฟฯ ของบฯ 1.48 ล้านล้านบาทยกเครื่อง 3 เฟส เร่งปรับปรุงสภาพราง ระบบอาณัติสัญญาณไฟ ซื้อ หัวรถจักรใหม่ สร้างทางคู่-เส้นทางใหม่ครอบคลุมทั้ง 4 ภาค เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมผุดรถไฟความเร็วสูงจาก กทม.จดเหนือ-ใต้-อีสาน-ตะวันออก เปิดพิมพ์เขียวแผนลงทุน หอการค้าทั่วประเทศดันเป็นวาระแห่งชาติ ชี้หนุนท่องเที่ยว ส่งออก ด้านรับเหมาเชียร์สุดฤทธิ์

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การจัดทำรายละเอียดการปรับปรุงโครงสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) คืบหน้าไปมากแล้ว โดยคณะกรรมการทั้ง 4 ชุดที่นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งขึ้นกำลังเร่งจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอให้นายโสภณพิจารณา จากนั้นกลางเดือนพฤศจิกายนนี้น่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้านเศรษฐกิจพิจารณาอนุมัติ

ลงทุน 3 ระยะ 1.48 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้จากการประมวลภาพรวมของคณะกรรมการชุดที่ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้าง พื้นฐาน แบ่งการพัฒนา ร.ฟ.ท.ออกเป็น 3 ระยะ ใช้เงินลงทุน 1.48 ล้านล้านบาท

ได้แก่ 1.ระยะเร่งด่วน (ปี 2553-2555) ใช้เงินลงทุน 46,000 ล้านบาท อาทิ ปรับปรุงสภาพทางรถไฟทั่วประเทศให้ปลอดภัยในการเดินรถและมีประสิทธิภาพในการทำความเร็ว โดยจะเปลี่ยนขนาดรางระยะทาง 2,570 กิโลเมตร จาก 70 ปอนด์ เป็น 100 ปอนด์ เพื่อให้รับน้ำหนักได้ 20 ตัน/เพลา โดยใช้ความเร็ว 160 กิโลเมตร/ ชั่วโมง ปรับเปลี่ยนไม้หมอนคอนกรีต ทั่วประเทศ 1,250 กิโลเมตร ปรับเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณไฟสี 2,100 กิโลเมตร เปลี่ยนประแจ สร้างรั้วกั้นตลอดเขตทางรถไฟทั่วประเทศ 4,363 กิโลเมตร ปรับปรุงจุดตัดทางรถไฟกับถนน 2,463 แห่ง และก่อสร้างสะพานรถไฟใหม่ 1,321 แห่ง

ซื้อหัวรถจักรจีน 1.4 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้จะจัดซื้อหัวรถจักรเพิ่มอีก 48 หัว ทดแทนของเก่าที่มีอายุใช้งานเกิน 40 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านี้ ครม.อนุมัติให้จัดซื้อแล้ว 27 หัว แต่จะซื้อเพิ่มใหม่อีก 21 หัว วงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยจะใช้เงินกู้จากประเทศจีนที่เสนอมา 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 14,000 ล้านบาท โดยจะซื้อขายในแบบรัฐบาล ต่อรัฐบาล หรือจีทูจี ดอกเบี้ย 1% ส่วนที่เหลือจะใช้จัดซื้อราง

สร้างทางคู่ทั่ว ปท. 3.4 แสนล้านบาท

2.ระยะกลาง ดำเนินการ 10 ปี (ปี 2553-2562) ลงทุนก่อสร้างทางคู่ทั่วประเทศในเส้นทางสายหลัก 3,039 กิโลเมตร วงเงิน 3.4 แสนล้านบาท โดย ร.ฟ.ท.จะกู้เงินมาก่อสร้าง เฉลี่ย 3 หมื่นล้านบาท/ปี ซึ่งบางช่วงต้องก่อสร้างในระยะเร่งด่วน (ปี 2553-2555) ระยะทาง 762 กิโลเมตร วงเงิน 66,110 ล้านบาท เช่น ลพบุรี-นครสวรรค์ 113 กิโลเมตร วงเงิน 7,860 ล้านบาท สายมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 132 กิโลเมตร 11,640 ล้านบาท สายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 185 กิโลเมตร 13,010 ล้านบาท สายนครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน 165 กิโลเมตร 16,600 ล้านบาท สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 167 กิโลเมตร 17,000 ล้านบาท

เปิดโครงข่ายเส้นทางใหม่ 2.6 พัน ก.ม.

ขณะเดียวกันมีแผนพัฒนาโครงข่ายเส้นทางสายใหม่ทั่วประเทศ 2,651 กิโลเมตร วงเงิน 392,348 ล้านบาท ได้แก่ ภาคเหนือ 744 กิโลเมตร 1.1 แสนล้านบาท คือ สายเด่นชัย-เชียงราย 246 กิโลเมตร 36,408 ล้านบาท นครสวรรค์-ตาก 185 กิโลเมตร 27,380 ล้านบาท พิษณุโลก-ตาก 138 กิโลเมตร 20,424 ล้านบาท หัวดง-ตาก 175 กิโลเมตร 15,900 ล้านบาท

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 983 กิโลเมตร 145,484 ล้านบาท มีสายลำนารายณ์-เลย 300 กิโลเมตร 44,400 ล้านบาท ชัยภูมิ-เลย 225 กิโลเมตร 33,300 ล้านบาท บัวใหญ่-นครพนม 398 กิโลเมตร 28,904 ล้านบาท อุบลราชธานี-ช่องเม็ก 60 กิโลเมตร 8,880 ล้านบาท

ภาคตะวันตก สายน้ำตก-ด่านเจดีย์ สามองค์ 75 กิโลเมตร 11,100 ล้านบาท ภาคใต้ 624 กิโลเมตร 92,352 ล้านบาท สายบ้านภาชี-สุพรรณบุรี 147 กิโลเมตร 21,756 ล้านบาท ชุมพร-ระนอง 117 กิโลเมตร 17,316 ล้านบาท สุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น 110 กิโลเมตร 16,280 ล้านบาท ตรัง-ปากบารา 150 กิโลเมตร 22,200 ล้านบาท สงขลา-ปากบารา 100 กิโลเมตร 14,800 ล้านบาท และภาคตะวันออก 225 กิโลเมตร 33,300 ล้านบาท สายมาบตาพุด-ระยอง 45 กิโลเมตร 6,660 ล้านบาท และระยอง-ตราด 180 กิโลเมตร 26,640 ล้านบาท

ไฮสปีดเทรน 4 สาย เชื่อม 4 ภาค

3.ระยะยาว จะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง จำนวน 4 สาย ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ วงเงินรวมกว่า 7 แสนล้านบาท บางซื่อ-เชียงใหม่ 745 กิโลเมตร 184,335 ล้านบาท สายบางซื่อ-หนองคาย 615 กิโลเมตร 149,600 ล้านบาท จากมักกะสัน-จันทบุรี 330 กิโลเมตร 103,320 ล้านบาท และบางซื่อ-ปาดังเบซาร์ 985 กิโลเมตร 271,600 ล้านบาท โดยจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน

หอการค้า "อีสาน-เหนือ" หนุนรางคู่

นางสุบงกช วงศ์วิชยาภรณ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ที่ประชุมหอการค้าจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 19 จังหวัดมีมติให้ผลักดันรถไฟรางคู่มายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากต้นทุนการเดินทางและการขนส่งด้วยรถยนต์ของภาคอีสานค่อนข้างสูง ส่งผลให้สินค้าและค่าโดยสารของภาคอีสานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมหอการค้าทั่วประเทศที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27-29 พ.ย. 2552 นี้ที่จังหวัดเชียงใหม่

"การพัฒนาระบบรางคู่มีต้นทุนต่ำกว่ามอเตอร์เวย์มาก โดยมอเตอร์เวย์ลงทุนสูงถึงกิโลเมตรละ 300 ล้านบาท แต่รถไฟรางคู่ใช้งบฯก่อสร้างเพียงกิโลเมตรละ 80 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารถูกลงจากปัจจุบันกว่าครึ่ง นอกจากนี้ยังช่วยลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล และมีผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมการส่งออกทำให้สามารถเชื่อมโยงไปยังตลาดอินโดจีน เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย" นางสุบงกชกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ก็ประกาศผลักดันโครงการขนส่งระบบรางในภาคเหนือเต็มที่ และเตรียมเสนอที่ประชุมหอการค้าทั่วประเทศเช่นกัน

อย่างไรก็ตามที่ประชุมหอการค้าทั่วประเทศซึ่งจังหวัดสงขลาเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2551 ก็เคยมีมติให้การพัฒนาระบบรถไฟรางคู่เป็นวาระแห่งชาติ แต่ถึงขณะนี้ก็ยัง ไม่เป็นรูปธรรม

รับเหมาเชียร์สุดฤทธิ์

ขณะที่นายพลพัฒ กรรณสูต นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ความเห็นว่า ในส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้างเห็นด้วยกับแผนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟฯ ที่ใช้เงินลงทุน 1.48 ล้านล้านบาท แต่อยากขอให้รัฐบาลจริงจังกับการลงทุน

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด ผู้รับเหมาในการรถไฟฯ กล่าวว่า หากรัฐบาลเอาจริงเรื่องพัฒนาการรถไฟฯ แผนการลงทุนทั้งหมดก็น่าจะเป็น ไปได้ แม้ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก

ดักคอรัฐอย่ามีแค่แผน

ด้านนายอนันต์ พัฒนะธเนศ ผู้จัดการฝ่ายซัพพลายเชนสเปเชี่ยลลิสต์ การจัดส่งและส่งออก เปิดเผยถึงประเด็นที่กระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม.ปรับปรุงการรถไฟฯครั้งใหญ่ว่า ขอให้ทุกฝ่ายดำเนินการอย่างจริงจังเสียที ที่ผ่านมามีแต่แผน แต่ไม่ได้ดำเนินการ จริง ๆ แล้วน่าจะทำตามแผนเดิมให้ได้ก่อน เพราะการพัฒนาการรถไฟฯต้องใช้เวลา 5-10 ปี แต่รัฐบาลอายุค่อนข้างสั้น รัฐบาลใหม่มาก็มารื้อแผนของรัฐบาลเดิมทิ้งอีก

การขนส่งสินค้าทางรถไฟในขณะนี้มีแต่จะถอยหลังเข้าคลอง ใกล้จะเหลือ 0% เข้าไปทุกขณะ เพราะขณะนี้ค่าขนส่งสูงกว่า รถบรรทุกถึง 5% จากเดิมต่ำกว่ารถบรรทุก 10% ยังไม่รวมค่าประกันภัยพิเศษ ป้องกันสินค้าเสียหายจากอุบัติเหตุรถไฟตกรางบ่อย ความล่าช้าในการขนส่งที่อาจควบคุมเวลาไม่ได้

รถไฟจีนสนใจลงทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ครั้งที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางไปเยือนประเทศจีนช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้พบกับประธานบริษัท China Railway Engineering Corporation ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างทางรถไฟที่ใหญ่ที่สุดของจีนด้วย โดยจีนแจ้งว่า ยืนดีจะให้ความร่วมมือกับไทย แต่ขอศึกษารายละเอียดรวมถึงความคุ้มค่าทางธุรกิจก่อน

ปมขัดแย้งยังไม่จบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แผนปรับปรุงโครงสร้าง ร.ฟ.ท.เป็นผลต่อเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหาร ร.ฟ.ท.กับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) ที่บานปลายถึงขั้นพนักงาน ร.ฟ.ท.หยุดเดินรถหลายครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมาติดต่อกันนานหลายวัน รมว. คมนาคมจึงแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น 4 ชุด แก้ไขปัญหาในระยะยาว 1.คณะกรรมการศึกษาระเบียบข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคปัญหา 2.การพัฒนาบุคลากรและสิทธิประโยชน์ 3.การพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐาน และ 4.การบริหารทรัพย์สิน

สร.ร.ฟ.ท.ยื่นนายกฯเคลียร์ 6 ข้อ

ล่าสุดวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สร.ร.ฟ.ท.ยื่นข้อเสนอ 6 ข้อ ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมเข้าหารือการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยไม่ได้แจ้งหรือเชิญนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ผู้บริหารของการรถไฟฯ และผู้บริหารกระทรวงคมนาคมเข้าร่วมหารือ

สำหรับข้อเสนอ 6 ข้อ 1.ยกเลิกคำสั่ง ไล่ออกพนักงาน 12 คน 2.ถอนฟ้องกรรมการ สหภาพการรถไฟฯ ให้มีกระบวนการสอบสวนที่เป็นไปตามคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ 3.เปิดเวทีสาธารณะเรื่องความปลอดภัย 4.จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงพัฒนาการรถไฟฯ พร้อมเสนอให้สื่อของรัฐเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน 5.ให้ปลดนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟฯ และ 6.ยุติการแปรรูปการรถไฟฯ
prachachart**************
02/10/52
กลุ่มเดินเรือฝีพายแกร่งขานรับ BDI เข้ายุคทอง
กลุ่มเดินเรือลิงโลดยกแผงขานรับดัชนีค่าระวางเรือมีสัญญาณพุ่งต่อเนื่องในระยะ 1 เดือนข้างหน้าล่าสุดปิดบวก 35 จุด มาอยู่ที่ 2.22 พันจุดได้ หลังจีนเร่งเครื่องตุนสินแร่เหล็กไม่หยุด นักวิเคราะห์ประเมิน BDI เฉลี่ยไตรมาส 3/2552 อยู่ที่ระดับ 2.5 พันจุด หนุนกลุ่มเดินเรือขึ้นแท่นเศรษฐี ด้านราคาทางเทคนิคยังขยับรับข่าวดี ส่อแววเด้งได้อีกไกลแนะช็อปทั้งกลุ่ม
*********
ข่าวอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น