วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

ข่าวอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน 1

25/12/52
AUTO ยอดผลิตรถยนต์พ.ย.ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบปี พร้อมทำสถิติสูงสุดรอบ 12 เดือน มั่นใจรอบผลิต ธ.ค.2552-ก.พ.2553 จะ
ขยายตัวต่อเนื่อง 58% ด้านการส่งออก 11 เดือน ติดลบ 30% มูลค่า 3.6 แสนล้านบาท (กรุงเทพธุรกิจ)
ความเห็น: การผลิตรถยนต์ในเดือน พ.ย. ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.26%YoY และ 5.17%MoM มาอยู่ที่ 120,985 คัน ได้รับผลดีจาก
ยอดขายรถยนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นถึง 23.8%YoY คาดว่าเกิดจากผลดีของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ ขณะที่ใน
แง่ของการส่งออกอยู่ที่ 58,665 คัน ยังคงติดลบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11%YoY แต่เป็นการติดลบที่น้อยที่สุดในรอบปี
(แต่เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 52 ลดลงเล็กน้อย 1%MoM) สำหรับแนวโน้มการผลิตรถยนต์ในเดือน ธ.ค. 52 ต่อเนื่องจนถึง
เดือน ก.พ. 53 ทาง ส.อ.ท. คาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นถึง 58%YoY จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเรามองว่ามีความเป็นไปได้
ค่อนข้างมาก ทั้งจากแนวโน้มยอดขายรถยนต์ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง (โดยเฉพาะในงาน Motor Expo ที่มียอดจองสูงสุดเป็นสถิติ
ถึง 25,000 คัน) และฐานการผลิตที่ค่อนข้างต่ำในปี 52 สำหรับนำหนักการลงทุนเรา จากแนวโน้มอุตสาหกรรมที่แสดงให้เห็น
ถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในปี 53 จะมีโครงการ Eco Car เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความต้องการด้านชิ้นส่วนรถยนต์ใน
ประเทศมากขึ้น และจะเป็นผลดีกับผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เราจึงปรับน้ำหนักการลงทุนเพิ่มเป็น “มากกว่าตลาด”
โดยแนะนำให้เก็งกำไรใน SAT, AH และ STANLY
cgs*********
24/12/52
รถยนต์ลุ้นปีนี้ผลิตทะลุ1ล.คัน
ตลาดรถยนต์ฟื้นแรง ลุ้นผลิตทะลุ 1 ล้านคัน ดันยอดในประเทศ 5.3-5.4 แสนคัน มั่นใจปีหน้าผลิตไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคัน ถ้าการเมืองนิ่ง

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ยอดการผลิตรถยนต์ใน เดือนพ.ย. 2552 ที่พุ่งขึ้นไปถึง 120,985 คัน ทำให้ใน 11 เดือนแรกของปีนี้มียอดผลิตไปแล้ว 887,656 คัน ซึ่งในเดือนธ.ค. คาดว่าจะมียอดผลิตไม่น้อยกว่า 1.2 แสนคันแน่นอน จะทำให้มีการผลิตรถยนต์ในประเทศปีนี้ไม่น้อยกว่า 1.007 ล้านคัน หดตัวเพียง 28% เท่านั้น
ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 11 เดือนแรกที่ปิดไปที่ 476,786 คัน คาดว่าในเดือนสุดท้ายน่าจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นคันอย่างแน่นอน เมื่อดูจากยอดการจองรถยนต์ในงานมหกรรมยานยนต์ที่มีจำนวนมาก จึงอยู่ที่ผู้ประกอบการว่าจะส่งมอบรถได้มากเพียงใด แต่เชื่อว่าตลาดในประเทศจะปิดที่ 5.3-5.4 แสนคันอย่างแน่นอน ในส่วนของการผลิตเพื่อการส่งออกในช่วง 11 เดือนแรกของปีมีแล้วทั้งสิ้น 493,357 คัน มีการผลิตลดลง 33%

แหล่งข่าวเปิดเผยต่อว่า แนวโน้มที่ตลาดรถยนต์ในปี 2553 จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งมีค่อนข้างมาก เห็นได้จากตัวเลขเป้าหมายการผลิตรถยนต์ที่ค่ายรถยนต์วางเอาไว้ระหว่างเดือนธ.ค. 2552–มี.ค. 2553 พบว่ามีถึง 345,880 คัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 1.2 แสนคัน ทำให้คาดว่าทั้งปีจะมีเป้าหมายการผลิตไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคัน อย่างแน่นอน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 6 แสนคัน และส่งออก 6 แสนคัน

ด้านนายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า หากดูแนวโน้มของตลาดรถยนต์ในประเทศไทยแล้ว คาดว่าในปี 2553 อาจจะมีการผลิตได้มากถึง 1.4 ล้านคัน โดยคาดว่าจะเป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศถึง 6.5 แสนคัน และที่เหลือเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งมีโอกาสที่ตลาดจะเติบโตอย่างมาก

“ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยจะมีการเปิดตัวอีโคคาร์ของนิสสันและรถเล็กอย่างฟอร์ด เฟียสต้า ซึ่งเป็นโมเดลที่เน้นการส่งออกทั้งคู่ ทำให้การผลิตน่าจะเติบโตอีกมาก แต่ทั้งนี้ต้องดูปัจจัยหลักอย่างการเมืองมาประกอบ ว่าจะส่งผลกระทบในเชิงลบ หรือไม่” นายวัลลภ กล่าว
posttoday
*********
22/12/52
ญี่ปุ่นคาดยอดขายรถในประเทศปีหน้าเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 ปี

สมาคมผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า ยอดขายยานยนต์ในญี่ปุ่นในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากมาตรการงดเว้นภาษีและให้เงินอุดหนุนของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นดีมานด์รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ซาโตชิ อาโอกิ ประธานสมาคมฯ กล่าวเสริมว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยที่จำเป็นในการสนับสนุนยอดขายรถยนต์ หลังจากที่มาตรการต่างๆของรัฐบาลหมดอายุลง

ทั้งนี้ ยอดขายยานยนต์ในประเทศญี่ปุ่นในช่วง 11 เดือนแรกปีนี้ รวมอยู่ที่ 4,236,581 คัน ลดลง 11.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

นายอาโอกิกล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ในสหรัฐจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปีหน้า แต่ปริมาณรวมจะยังห่างไกลจากจำนวน 11 ล้านคัน ขณะที่ยอดขายรถในประเทศจีนจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง

ขณะที่เมื่อวานนิ้ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า กิจกรรมด้านอุตสาหกรรม ในประเทศมีการขยายตัว 1.2% ในเดือนตุลาคม

ข้อมูลดังกล่าวช่วยให้ญี่ปุ่นผ่อนคลายความตึงเครียดได้บ้าง หลังจากที่ตัวเลขอุตสาหกรรมหดตัวลงในเดือนก.ย. จนทำให้วิตกว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจถดถอยอีกครั้ง

ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นเดือนรัฐบาลผสมโดยการนำของพรรคดีพีเจ เพิ่งประกาศทุ่มงบ 7.2 ล้านล้านเยน (8 หมื่นล้านดอลลาร์) เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และป้องกันมิให้ภาวะเงินฝืดทวีความรุนแรงขึ้น
money wake up***********
21/12/52
Automotive

คำแนะนำ “Neutral”

เดือน พ.ย. 52 ยอดขายยานยนต์ในประเทศเติบโต yoy ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 งาน Motor Expo ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. 52 มียอดจองกว่า 2.5 หมื่นคัน สูงสุดตั้งแต่เคยจัดมา ยอดผลิตยานยนต์เดือน ต.ค. 1.15 แสนคัน ฟื้นตัว mom ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แม้ว่าสัญญาณการฟื้นตัวของอุตฯ ยานยนต์ไทยมีความชัดเจนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาหุ้นกลุ่มยานยนต์ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นกว่า 67% แล้ว ดีกว่าการฟื้นตัวของ SET Index และราคาหุ้นในกลุ่มยานยนต์ที่เราติดตามข้อมูลก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนใกล้เคียงกับราคาเหมาะสมในปี 53 ที่เราประเมินใหม่แล้ว นอกจากนี้ ในระยะยาวอุตฯ ยานยนต์ไทยยังมีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ทำให้เราให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มยานยนต์เพียง “ปานกลาง”
โดย บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน จำกัด ประจำวันที่ 21 ธันวาคม 2552
******
18/12/52
สูตรสำเร็จ "งานโชว์รถยนต์เมืองไทย" ค่ายรถ-คนซื้อ...ผู้จัด แฮปปี้กันทั่วหน้า

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ยอดจองรถยนต์ ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปดีดตัวทะลุเป้าขึ้นไป 2.5 หมื่นคัน เม็ดเงินสะพัดเฉียด 3 หมื่นล้าน และงานนี้มีคนเข้าชมงานถึง 1.6 ล้านคน พอจะตอบคำถามซึ่งก่อนหน้านี้ค่ายรถยนต์เกือบทุกค่ายบ่นกันหนักหนาว่า งานมอเตอร์โชว์บ้านเราเยอะไปรึป่าว ? ได้ดีทีเดียว

ถึงจะมีคนแย้งว่า เหตุผลที่มันทะลักทลายมาจากตลาดมัน "อั้น" มาตั้งแต่ต้นปีด้วยพิษเศรษฐกิจ แต่ไม่ว่าจะมองมุมไหน "อีเวนต์" แบบนี้ก็กระตุ้นการขายได้ดีเกินคาด

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมาเป็นอันดับต้น ๆ เห็นได้จากความสำคัญในฐานะที่ประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะตลาดรถปิกอัพขนาด 1 ตัน รวมทั้งอนาคตอันใกล้นี้ยังจะกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กอย่าง "อีโคคาร์" ที่กำลังจะแจ้งเกิดด้วย

ดังนั้นถ้า "ไม่ร่วมด้วยช่วยกัน" กระแสขายรถฟีเวอร์คงไม่เกิด

ย้อนรำลึก "งานโชว์รถ" บ้านเราเกิดขึ้นมากกว่า 30 ปี ทุกคนรู้จัก "มอเตอร์โชว์" หรือที่ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า "บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์" ซึ่งจัดโดยค่ายกรังด์ปรีซ์ฯ นำทีมโดย "ปราจิน เอี่ยมลำเนา" และจาตุรนต์ โกมลมิศร์ ที่ยึดหัวหาดพื้นที่จัดงานที่ "ไบเทค" บางนา โดยงานจะมีขึ้นในช่วงระหว่างปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายนของทุกปี ด้วยแนวคิดบวกกับการพัฒนารูปแบบการจัดงาน รวมถึงการสรรค์สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อหวังให้งานโชว์รถยนต์ของเมืองไทยได้ทัดเทียมกับงานโชว์ของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโตเกียว, เจนีวา หรือแฟรงก์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์ ที่ต่างก็จัดขึ้นมาเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาห กรรมยานยนต์ในประเทศนั้น ๆ

นอกจากงานมอเตอร์โชว์ซึ่งถือเป็นงานประจำปีของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์เมืองไทย ขายรถใหม่ที่เพิ่งออกจากโรงงานผลิต ค่ายกรังด์ปรีซ์ ในฐานะผู้จัดงาน ยังได้เกิดแนวความคิดจัดงานให้กลุ่มรถยนต์มือสอง ดังนั้นปีนี้จึงถือเป็นปีแรกที่ประเทศไทยได้มีการจัดงานโชว์รูมรถยนต์มือสองอย่างเป็นทางการ ภายใต้งาน บางกอก ยูสคาร์โชว์ 2009 ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยให้งานนี้เป็นงานโชว์สำหรับรถมือสองโดยเฉพาะ และยังเป็นสถานที่ซื้อขายรถมือสองระหว่างบริษัทรถยนต์และผู้ประกอบการรายย่อยต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อเป็น การปลุกกระแสในตลาดรถยนต์ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังซบเซาอยู่ในขณะนั้น และถือเป็นครั้งแรกที่ค่าย กรังด์ปรีซ์ได้เลือกสถานที่จัดงานข้ามฟากมาใช้พื้นที่ของอาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ เมืองทองธานี เป็นสนามจัดงาน

ซึ่งงานนี้แม้จะเป็นการจัดงานปีแรกแต่ก็ได้รับการตอบรับจากบรรดาค่ายรถยนต์ ที่มีกลุ่มธุรกิจรถยนต์มือสองตบเท้าเข้า ร่วมงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง รวมทั้งบริษัทผู้นำเข้ารถยนต์หรือที่เรียกติดปากว่าเกรย์มาร์เก็ต รวมทั้งผู้ประกอบการรถยนต์มือสองอีกเป็นจำนวนมาก ด้วยความสำเร็จดังกล่าวทำให้บิ๊กเต้ "จาตุรนต์ โกมลมิศร์" หนึ่งในโต้โผผู้จัดงานถึงกับออกปากว่า เมื่อได้รับกระแสตอบรับทั้งจากผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี ครั้งที่สองที่สามก็ต้องมีตามมาแน่

ส่วนอีกฟากที่เพิ่งสร้างปรากฏการณ์ขายรถมากสุดในประวัติศาสตร์ "มอเตอร์ เอ็กซ์โป" ซึ่งจัดโดยบริษัท สื่อสากล จำกัด ภายใต้การบริหารงานของ "ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์" ยึดพื้นที่จัดงานย่านเมืองทองธานีมาช้านาน ครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 26

งานนี้ทุกคนรู้ดีว่าเป็นงานเทกระจาด เรียกยอดขายปลายปี ซึ่งทุกปีก็ทำตัวเลข ได้สวยงามมาตลอด จะแย่หน่อยก็เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งวันเปิดงานตรงกับวันที่ "พันธมิตร" ยึดสนามบินพอดิบพอดี

ไอเดียของผู้จัดงานค่ายนี้นอกจากจะจัดในพื้นที่ กทม. ซึ่งถือเป็นระดับประเทศไทยแล้ว ก็ยังได้มีการบุกเบิกความคิดในการจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โปลงไปสู่ระดับภูมิภาค โดยเน้นการจำลองรูปแบบการจัดงานให้มีขนาดย่อมลงไปจากงานประจำปี เข้าไปเจาะตลาดจังหวัดใหญ่ ๆ ศูนย์กลางของแต่ละภาค โดยเริ่มต้นจัดงานที่เชียงใหม่เป็นที่แรก แต่เนื่องจากติดขัดปัญหาด้านสถานที่จัดงานทำให้งานดังกล่าวได้ถูกยกเลิกในปีถัด ๆ มา รวมทั้งที่ขอนแก่น ซึ่ง "ขวัญชัย" เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า หากปัญหาที่ติดขัดเรื่องสถานที่จัดงานหมดไป แผนการจัดงาน "มอเตอร์เอ็กซ์โป" ระดับภูมิภาคก็พร้อมนำมาปัดฝุ่นและเดินหน้าอีกครั้ง

และจากผลของความสำเร็จงานมอเตอร์ เอ็กซ์โปที่เมืองทองธานี ในปีนี้ที่ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะถือเป็นปีแรกที่มีการเชิญค่ายรถยนต์นำเข้าอิสระอย่าง "ทีเอสแอล" และ "บีอาร์จี" 2 ค่ายยักษ์แห่งวงการรถยนต์นำเข้า เข้าร่วมงานอย่างเต็มรูปแบบเป็นปีแรก และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากยอดขายรวมกันเฉียด 400 คัน ทำให้ "ขวัญชัย" พร้อม จะหาลูกเล่นสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์นำเข้าโดยเฉพาะ และมีความเป็นไปได้ว่า เร็ว ๆ นี้เราจะได้เห็นงานมอเตอร์ เอ็กซ์โปสำหรับเกรย์มาร์เก็ตโดยเฉพาะ

คำถามที่ยังคาใจ...ว่า ประเทศอื่นจัดมอเตอร์โชว์ปีละครั้ง บ้านเรามีสองครั้ง ต้นปีครั้ง ปลายปีครั้ง แถมระหว่างปียังมียิบย่อย เล็ก ๆ น้อย ๆ ตามกันมาอีกเป็นพรวน จนจะกลายเป็นมอเตอร์โชว์รายไตรมาส

ถึงวันนี้พอจะมีคำตอบแล้วสินะว่า "อีเวนต์" แบบนี้มันกระตุ้นตลาดที่ซบเซาให้กลับมาคึกคักได้จริง
prachachat
*************
17/12/52
ส่งออกรถยนต์ปี53กระเตื้อง12%
แม้ในปี 2552 การส่งออกรถยนต์ของไทยจะหดตัวลงเป็นครั้งแรก หลังจากขยายตัวสูงมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไทยเริ่มส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศปี 2539 โดยสาเหตุหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอย่างมากนับตั้งแต่สหรัฐฯประสบกับปัญหาวิกฤติทางการเงิน
สำหรับการส่งออกในปี 2553 นั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในปัจจุบันและทิศทางการส่งออกรถยนต์ของไทย โดยสถิติการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ที่ผ่านมีมูลค่า 5,827.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นการหดตัวที่รุนแรงถึงร้อยละ 36.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้สูงถึง 9,110.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้เนื่องจากมูลค่าการส่งออกรถยนต์แต่ละประเภทของไทยยังคงหดตัวสูง โดยประเภทรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ 26.8 ประเภทรถบรรทุกหดตัวร้อยละ 22.3 ขณะที่ประเภทรถกระบะหดตัวสูงถึงร้อยละ 48.6
อย่างไรก็ตามแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2552 นี้ จากทิศทางการฟื้นตัวส่งสัญญาณให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานที่ต่ำในปีก่อน คาดว่าจะส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกรถยนต์โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมนี้มีโอกาสที่จะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกสูง และจะกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปริมาณการส่งออกรถยนต์ไทยเริ่มหดตัวต่อเนื่องหลังจากเดือนพฤศจิกายนปี 2551
ด้วยทิศทางการฟื้นตัวดีขึ้นดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะส่งผลทำให้ปริมาณการส่งออกรถยนต์ไทยปี 2552 หดตัวประมาณร้อยละ 31 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 34 ถึง 37 โดยคิดเป็นจำนวนประมาณ 533,000 คัน เพิ่มขึ้นจากที่คาดไว้เดิมที่ 490,000 - 510,000 คัน
สำหรับในปี 2553 นี้คาดว่าปัจจัยบวกต่างๆที่เริ่มมีการส่งสัญญาณให้เห็นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 นี้ จะช่วยกระตุ้นการส่งออกรถยนต์ไทยให้มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งปัจจัยบวกต่างๆประกอบไปด้วย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ, แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดเพิ่มสูงขึ้น, การเปิดเสรีการค้า, การเปิดตัวรถอีโคคาร์ และฐานตัวเลขการส่งออกที่ต่ำในปีนี้จะทำให้อัตราการเติบโตในปี 2553 เติบโตขึ้นไม่ยากนัก
แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์ไทยหลายประการ แต่ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น โอกาสที่จะเกิดความไม่ต่อเนื่องของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะหากรัฐบาลแต่ละประเทศยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางใดทางหนึ่งไปในสภาวะที่เศรษฐกิจแม้จะมีสัญญาณการฟื้นตัวแล้วแต่ก็ยังคงมีความอ่อนแออยู่ โดยเฉพาะปัญหาการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลทำให้การบริโภคลดลง ทำให้รถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยชนิดหนึ่งอาจจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ
นอกจากนี้แนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่มีโอกาสจะแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าในอัตราที่มากกว่าค่าเงินประเทศอื่นในภูมิภาคมาก อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การส่งออกรถยนต์จากไทยเสียเปรียบทางด้านราคากับประเทศคู่แข่งได้ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มสูงจากราคาสินค้าต่างๆ เช่น ราคาน้ำมัน ซึ่งยังคงมีโอกาสผันผวนสูงในปีหน้า จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนอุตสาหกรรม และผู้บริโภค ซึ่งทำให้ความสามารถในการซื้อรถยนต์ลดลง
แต่ในทางกลับกันราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอาจจะส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้พลังงานทางเลือกและประหยัดพลังงานมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศไทยที่เริ่มมีการพัฒนาและขยายตลาดรถยนต์ขนาดเล็กที่ประหยัดพลังงานมาระยะหนึ่งแล้ว
อย่างไรก็ตามทิศทางตลาดดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถกระบะจากไทยอยู่บ้าง โดยส่วนแบ่งตลาดการส่งออกอาจจะลดลงไปจากเดิม ซึ่งผู้ประกอบการก็จำเป็นจะต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับทิศทางตลาดโลกและจากปัจจัยต่างๆดังกล่าวข้างต้นคาดว่าจะทำให้ในปี 2553 การส่งออกรถยนต์ไทยแม้จะมีโอกาสขยายตัวได้แต่จะยังคงต้องเผชิญกับภาวะที่ท้าทายอยู่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปริมาณการส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2553 จะอยู่ระหว่าง 575,000 -595,000 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 8 - 12 จากที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 31 ในปี 2552 โดยยังคงเผชิญกับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ราคาน้ำมัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่อาจจะยังคงฉุดรั้งการเติบโตของตลาดอยู่
อย่างไรก็ตามหากไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้กรอบอาฟต้าได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอุปสรรค เช่น การกีดกันการค้าโดยใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures) รูปแบบต่างๆจากประเทศผู้นำเข้า รวมถึงหากการตอบรับของตลาดต่อรถยนต์อีโคคาร์ซึ่งจะเปิดตัวในปี 2553 เป็นไปได้ดีกว่าที่คาด อาจจะผลักดันให้ตลาดเติบโตได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้ ซึ่งจะส่งผลให้ปี 2553 ไทยอาจจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ใกล้เคียง 1.2 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 จากที่คาดว่าจะผลิตได้ประมาณ 1 ล้านคันในปี 2552
แม้ภาวะการผลิตรถยนต์ของไทยจะกลับมาขยายตัวในปี 2553 แต่การที่อุตสาหกรรมจะสามารถฟื้นตัวกลับมามีระดับการผลิตเท่ากับก่อนเกิดวิกฤติที่ 1.4 ล้านคันนั้น อาจจะต้องใช้ระยะเวลาถึงประมาณ 3 ปีนับจากนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

************
16/12/52
ยอดขายรถยนต์เดือนพ.ย.สูงสุดรอบกว่า 4 ปี

Posted on Wednesday, December 16, 2009
นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บอกว่า ยอดขายรถยนต์เดือนพฤศจิกายน มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 57,031 คัน เพิ่มขึ้น 23.8% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 24,054 คัน เพิ่มขึ้น 32.3% รถเพื่อการพาณิชย์ 32,977 คัน เพิ่มขึ้น 18.2%

ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 4 ปี 5 เดือน โดยตลาดรถยนต์รถกระบะขนาด 1 ตัน จำนวน 28,885 คัน เพิ่มขึ้น 18.9% ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบกับราคาสินค้าการเกษตรที่ปรับราคาสูงขึ้น

นายวุฒิกรบอกด้วยว่า สำหรับยอดรถยนต์ในประเทศสะสม 11 เดือนของปีนี้ มีปริมาณทั้งสิ้น 476,786 คัน ลดลง 14.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลง 1.7% ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตลดลง 21.5%

สำหรับตลาดรถยนต์เดือนธันวาคม คาดว่าจะมีปริมาณการขายดีขึ้น เพราะเดือนธันวาคมเป็นเดือนที่มียอดขายสูงสุดในแต่ละปี ประกอบกับค่ายรถยนต์ต่างๆ ได้มีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ รุ่นพิเศษ ตลอดจนนำข้อเสนอพิเศษต่างๆมาเสนอต่อผู้บริโภคทั้งในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โปและต่อเนื่องตลอดเดือน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีสัญญาณการฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้มั่นใจว่าตลาดรถยนต์ในปีนี้จะสามารถขายรถยนต์ได้ถึงเป้าที่ตั้งไว้ 520,000 คัน

********
14/12/52
ยอดจองรถในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2009 ทะลุ 25,220 คัน

Posted on Monday, December 14, 2009
นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานบริษัท สื่อสากล จำกัด และประธานจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2009 บอกว่า ยอดจองรถยนต์ตลอดการจัดงานอยู่ที่ประมาณ 25,220 คัน สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 15,000 คัน และน่าจะมีเงินสะพัดเมื่อรวมยอดขายอุปกรณ์ตกแต่งและอื่นๆ กว่า 2.7 หมื่นล้านบาท

สำหรับจองรถที่ดีกว่าคาด และสูงกว่าปีก่อน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและตลาดรถยนต์เริ่มฟื้นตัว ขณะที่ค่ายรถก็พยายามสร้างยอด เพื่อปิดตัวเลขขายปลายปี ชดเชยยอดที่หายไปในช่วงต้นปี โดยอาศัยแคมเปญส่งเสริมการขายต่างๆ

ด้านผลสำรวจราคารถยนต์เฉลี่ยที่ถูกจองภายในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2009 จะอยู่ประมาณ 960,000 แสนบาท สูงกว่าปีก่อนที่เคยสำรวจไว้คือ 850,000 แสนบาท โดยเมื่อแบ่งตามประเภทรถยนต์ปรากฏว่า ยอดจองปิกอัพมีสัดส่วนเพียง 17% ขณะที่รถยนต์นั่งมีถึง 45% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นส่วนแบ่งของเก๋งเล็กกว่า 60% สอดคล้องกับทิศทางตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมานิยมรถยนต์นั่งขนาดเล็กมากขึ้น

ส่วนค่ายรถยนต์ที่มียอดจองสูงสุดในงาน ได้แก่ โตโยต้า 7,230 คัน อันดับสอง ได้แก่ ฮอนด้า ยอดจอง 4,239 คัน อันดับสาม ได้แก่ อีซูซุ ยอดจอง 2,539 คัน อันดับสี่ มาสด้า ยอดจอง 2,277 คัน อันดับห้า มิตซูบิชิ ยอดจอง 1,518 คัน และ อันดับที่หก โปรตอน ยอดจอง 1,388 คัน

นายขวัญชัยบอกด้วยว่า ปรากฏการณ์ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2009 ถือเป็นสัญญาณดีและจะเป็นจุดเริ่มให้ตลาดรถยนต์ไทยในปี 2553 กลับมาคึกคักอีกครั้ง ที่สำคัญเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกเริ่มนิ่ง ย่อมส่งผลให้ยอดส่งออกรถยนต์กลับมาอยู่ในภาวะปกติ
money news update********
12/12/52
นายกฯ มั่นใจอุตฯ ยานยนต์-พลังงาน อนาคตสดใส-เอกชนเทลงทุนเพิ่ม
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและอุตสาหกรรมพลังงานไทยถือเป็น 2 อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันมาอย่างยาวนาน

และต่างก็เป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลให้การสนับสนุนมาโดยตลอดย้อนหลังกลับไปร่วมครึ่งศตวรรษ
ในงานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 26 ที่จัดขึ้นอยู่นี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องทิศทางอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์และพลังงานไทย โดยยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมที่จะเดินหน้าให้การสนับสนุนทั้งสองอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องในเชิงนโยบาย และเชื่อมั่นว่าเอกชนก็พร้อมที่จะเดินหน้าลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน
“ช่วง 7-8 เดือนแรกของปีนี้เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบอย่างมากจากเศรษฐกิจทั่วโลก เห็นได้จากยอดการผลิตที่หดตัวลง แต่สถานการณ์เริ่มกลับมา ดีขึ้นอีกครั้ง เห็นได้จากยอดผลิตที่เริ่มกลับมา การรับพนักงานชั่วคราวกลับมาทำงานมากขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่า พึงพอใจ”

การพลิกฟื้นของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม จากเดิมที่หดตัวถึง 7.1% ในไตรมาสแรก และลดลงเหลือลบ 2.8% ในไตรมาส 3 รวมถึงมีการคาดการณ์ว่าจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้งในไตรมาสสุดท้าย และในปี 2553 คาดว่าจะเติบโตได้ 3-4% ซึ่งสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจขาขึ้นได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม อภิสิทธิ์ บอกว่า สิ่งที่รัฐบาลยืนยันและ พยายามดำเนินการมาโดยตลอดไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น แต่อยากเห็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ซึ่งการที่นั่งรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเดียวไม่มีทางทำได้ ดังนั้นเอกชนเองจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและมีการลงทุนเพิ่ม ซึ่งจากตัวเลขยอดผลิตที่เพิ่มขึ้นก็คาดว่าจะมีการลงทุนมากขึ้นในปีหน้า

“เราพยายามที่จะผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่มาอย่างยาวนาน ย้อนหลังไปตั้งแต่การเริ่มต้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2500 และเห็นการเติบโตที่ชัดเจนในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา มาจนปัจจุบันเรามีการผลิตรถยนต์ระดับ 1 ล้านคันต่อปี และคาดว่าอีก 2-3 ปีจะเพิ่มเป็น 2 ล้านคัน และเพิ่มเป็น 2.5 ล้านคันในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้เราติดอันดับ 10 ของฐานการผลิตรถยนต์ของโลก”

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ว่า พยายามกระจายพื้นที่ของอุตสาหกรรมไม่ให้อยู่แต่ในส่วนของเขตอุตสาหกรรมเท่านั้น รวมถึงมีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศไทย โดยมองไปที่คู่แข่งที่เกิดขึ้นใหม่ไม่ว่าจะเป็นจีนหรืออินเดีย ซึ่งมองว่าศักยภาพของผู้ประกอบการไทยยังสามารถแข่งขันได้

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น อภิสิทธิ์ ยืนยันว่ารัฐบาลได้ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิประโยชน์ในโครงการต่างๆ พร้อมทั้งให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลจะระมัดระวังเพื่อหาความสมดุลเพื่อให้นโยบายของรัฐบาลมีความยืดหยุ่น แต่ก็จะไม่ผ่อนผันจนกระทบกระเทือนต่อนโยบายที่ประกาศไปแล้ว รวมถึงผู้ประกอบการที่ดำเนินการไปแล้วด้วย

ในส่วนของอุตสาหกรรมพลังงานนั้น นายกฯ บอกว่า เป้าหมายที่จะเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนจาก 6% ในปัจจุบันเป็น 15% ในปี 2558 นั้น เชื่อมั่นว่าจะทำได้ และอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อให้เกิดการใช้งานได้มากขึ้นและเร็วขึ้นกว่าแผนงานเดิม โดยในช่วง 3-4 ปีนับจากนี้จะเน้นเรื่องการใช้พลังงานทดแทนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเอทานอล ไบโอดีเซล ไฮโดรเจน หรือเชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตไฟฟ้า

จากนั้นในช่วงสุดท้ายจะเป็นการพัฒนาต้นแบบการใช้พลังงานทดแทนให้เกิดขึ้น สร้างต้นแบบของการใช้พลังงานทดแทนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยสุดท้ายก็จะสามารถส่งเสริมเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนใหม่ๆ ไปสู่ เป้าหมายได้

อภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ทิศทางการเดินหน้านโยบายพลังงานทดแทนของรัฐบาลมีความชัดเจน ในส่วนของเอทานอลก็จะมีการใช้งานเพิ่มขึ้นจาก อี10 ไปเป็น อี20 และ อี85 ต่อไป แต่จะต้องมาดูการเตรียมความพร้อมของเอทานอลในประเทศไทยเสียก่อน

ขณะที่ในส่วนของเอ็นจีวีก็จะเดินหน้าต่อไป โดยเน้นการขยายสถานีบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องมาดูรายละเอียดทางด้านราคาให้เหมาะสม ไม่ใช่ดึงผู้บริโภคมาใช้แล้วปตท.แบกรับไม่ได้แล้วต้องปรับราคา ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

นายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปในตอนท้ายของการปาฐกถาว่า รัฐบาลพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอของเอกชนผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน เพื่อช่วยกันผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและมีบูรณาการ รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมในการเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก

โดยเฉพาะเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือ การเป็นตลาดเดียวของประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลง และเตรียมรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ที่สำคัญ ภายใต้คำมั่นที่ว่ารัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนเท่าที่จะทำได้ แต่ขณะเดียวกันภาคเอกชนเองก็ต้องพึ่งพาตัวเองสอดคล้องกันไป เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน!!!
posttoday*********
11/12/52
คาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 2553 โต 20%

Posted on Friday, December 11, 2009
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณณางกูร นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย บอกว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2553 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้ประมาณ 20% โดยคาดว่า จะสามารถผลิตรถยนต์ได้ถึง 1,200,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ 1 ล้านคัน

เนื่องจากในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 กำลังชื้อของผู้บริโภคเริ่มดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผ่านทางงบประมาณไทยเข้มแข็งและราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยขณะนี้ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 70% หลังจากในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ติดลบถึง 40-45%

นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย บอกด้วยว่า การที่อุตสาหกรรมยานยนตืไทยเติบโตและเข้มแข็งได้อย่างทุกวันนี้ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมาไม่น้อยกว่า 40-50ปี โดยเฉพาะในส่วนของการผลิตรถยนต์ปิกอัพ แต่สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการขณะนี้ คือ การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูง และการลดต้นทุนวัตถุดิบและเครื่องจักรให้ผู้ประกอบการในส่วนที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยการลดภาษีนำเข้าลง เป็นต้น
money news update
*********
08/12/52
ลุยหุ้นยานยนต์รับQ4ชุ่มฉ่ำ STANLYม้ามืดผลงานแจ่ม
ทันหุ้น
-บิ๊กยานยนต์เรียงหน้า โปรยยาหอมลุ้นผลงานไตรมาส 4 สุดสวย หลังยอดผลิตรถยนต์พุ่ง ความต้องการส่งออกทะลัก บิ๊ก STANLY เชื่อผลงานพุ่ง หลังออเดอร์ใน-นอกล้นหนุนกำลังการผลิตพุ่งแตะระดับ 80 % จากไตรมาสก่อนที่ผลิตเพียง 70 % เตรียมลุยเอเชีย อินเดียต่อ พร้อมรับข่าวดีอีโคคาร์ หลังย่องเจรจาค่ายรถยักษ์ใหญ่ทุกค่ายรับออเดอร์ใหม่
นายอภิชาต ลี้อิสสระนุกูล กรรมการ บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) STANLY เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานไตรมาส 3/2552 (ต.ค-ธ.ค52) นั้นเชื่อว่ามีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานช่วงไตรมาสที่ 2 ที่บริษัทสามารถทำกำไรได้ 209 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าผลการดำเนินงานไตรมาสนี้น่าจะปรับตัวค่อนข้างมาก ทั้งจากกำลังการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 80 % จากไตรมาส 2 ที่กำลังการผลิตเพียง 70 % เท่านั้น
อีกทั้งการปรับตัวของคำสั่งซื้อทั้งในส่วนของในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหลัก อย่างตะวันออกกลาง ยุโรป ออสเตรเรีย และอินเดียเริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ
ขณะเดียวกันในอนาคตบริษัทยังมีแผนการขยายงานในส่วนของการลงทุนมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของการขยายการรับงาน ในต่างประเทศ โดยเฉพาะภูมภาคเอเซีย อินเดีย ที่ยังมีแนวโน้มในการรับงานเพิ่มขึ้นอีกมาก ส่วนแนวโน้มการลงทุนใหม่นั้นขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาทั้งแหล่งการผลิตใหม่ในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทเชื่อว่าอย่างน้อยในปี 2553 น่าจะมีความชัดเจน
ทั้งนี้ในอนาคตบริษัทยังมีแนวโน้มการรับงานผลิตไฟ ของรถอีโคคาร์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับ ค่ายรถทุกค่ายที่สนใจเกี่ยวกับการลงทุนอีโคคาร์ โดยคาดว่าบริษัทมีโอกาสในการเข้าไปรับงานดังกล่าว ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนให้บริษัทมีออเดอร์เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
IHLยอดออเดอร์ทะลัก
แหล่งจากวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดเผย ถึงแนวโน้มของผลการดำเนินงานของ บริษัท อินเตอร์ไฮด์ จำกัด (มหาชน) IHLว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 4/2552 จะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส3และสูงสุดในรอบปีนี้ เพราะยอดคำสั่งซื้อจากลูกค้าเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงมีการสต๊อกวัตถุดิบ (หนังสัตว์) ต้นทุนต่ำที่ได้ส่งสินค้าไว้แล้วในช่วงวิกฤต และปัจจุบันยังมีสินค้าบางจำนวนที่ยังไม่ได้ส่งมอบให้บริษัท ซึ่งจะทำให้บริษัทมีสต็อกในราคาต้นทุนต่ำไปจนถึงครึ่งปีแรกของปี 2553
นอกจากนี้คาดว่ายอดการผลิตรถยนต์ในงวดไตรมาส 4/2552 จะเติบโตอย่างโดดเด่น เนื่องจากจะเป็นช่วงที่ผู้ผลิตรถยนต์เร่งผลิต เพราะในช่วงที่ผ่านมาดีมานต์ในตลาดยังคงมีสูง แต่ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ออกมาจำหน่ายในจำนวนที่น้อย ขณะเดียวกันในช่วงสิ้นปี มอเตอร์ เอ็กซ์โปร ที่เริ่มงานแล้วในขณะนี้ จะช่วยดันยอดขายให้เพิ่มขึ้น
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง แนวโน้มผลการดำเนินงานของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงไตรมาส 4/2552 นั้นเชื่อว่าผลการดำเนินงานทุกบริษัทน่าจะปรับตัวขึ้นถ้วนหน้า เนื่องจากทั้งจากการฟื้นตัวของยอดการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากเดือนตุลาคม 2552 ที่ผ่านมาที่ยอดกำลังการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น11 % เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน ซึ่งเชื่อว่การเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตนั้นน่าจะเห็นได้อีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ไปจนถึงต้นปี 2553 โดยเฉพาะการฟื้นตัวของความต้องรการยานยนต์ในประเทศ และยอดการส่งออกที่เริ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน เชื่อว่า บริษัทที่จะสามารถมีผลการดำเนินงานที่เติบโตมากขึ้น ได้แก่ AH ,SAT,STANLY,IHL ตามการฟื้นตัวของกลุ่มยานยนต์ทั้งกลุ่ม โดยคาดบริษัทที่มีความโดดเด่นในแง่ของผลการดำเนินงานนั้น ทั้งจากการเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันปีก่อน SAT น่าจะมีความโดดเด่นสุด เพราะเติบโตในทุกด้านจากยอดขายที่เติบโต
อย่างไรก็ตามการปรับตัวดีขึ้นทุกด้านในไตรมาส 4/2552 นั้นมาจาก กำลังการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 80% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่มีกำลังการผลิตเพียง 60-70 % ดังนั้นคาดว่าในส่วนของยอดขายน่าจะเติบโตใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมาที่ 1.4 พันล้านบาท ส่วนการคาดกาณณ์กำไรสุทธินั้นเชื่อว่าน่าจะเป็นไตรมาสสูงสุดที่ประมาณ 140 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการก้าวกระโดดขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนถึง 40 %
STANLYกำไรพุ่งต่อ
ส่วน STANLY แนวโน้มการฟื้นตัวของรายได้และกำไรสุทธินั้น ยังคงมีต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ทั้งจากกำลังการผลิตของบริษัทที่เพิ่มขึ้นเป็น 70 % เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ที่มีกำลังการผลิตที่ 60 % ทำให้ในส่วนของกำไรสุทธิน่าจะมากกว่า 209 ล้านที่บริษัททำได้เมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา
สำหรับ AH นั้น น่าจะเห็นการฟื้นตัวของไตรมาส 4 อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งจากการฟื้นตัวของยอดขายในประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากค่ายรถหลักอย่างนิสสัน โดยคาดว่าไตรมาสนี้จะเห็นการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 20 % ซึ่งมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากสัญญาณการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดรถยนต์ในประเทศ ซึ่งมีการเติบโต
ทั้งนี้ให้ราคาเป้าหมาย STANLY ที่ 130 บาท ซึ่งถือว่ายังมีอัฟไซน์ถึง 8 % ส่วน SAT ให้ราคาเป้าหมายที่ 17.65 บาท มีอัพไซน์ถึง 40 % เช่นเดียวกัน AH ที่มีอัพไซน์ 40% เช่นกัน
www.thunhoon.com**********
04/12/52
ยอดจองรถเล็กมหกรรมยานยนต์เฉียดพันคัน
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เชื่อบรรยากาศซื้อขายกลับคืน หวังการเมืองไม่ป่วน มุ่งดันยอดปีนี้ทะลุเป้า 1.5 หมื่นคัน
ครั้งที่ 26 ออกตัวแรง ยอดสะสม 993 คัน กระแสรถเล็กมาแรง "ขวัญชัย" เชื่อบรรยากาศการซื้อขายกลับคืน ระบุหากไม่มีเหตุการณ์การเมืองมาป่วนยอดทะลุเป้าหมาย 1.5 หมื่นคัน ได้แม่เหล็ก "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ร่วมปาฐกถาพิเศษ "ทิศทางอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ และพลังงานไทย" ศุกร์หน้า (11 ธ.ค.) หวังทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยฟันฝ่าวิกฤติสู่ความสำเร็จยั่งยืน แถมวันนี้ (4 ธ.ค.) ไฮไลต์เด็ดสตั้นท์ โชว์ระดับโลก

นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธาน บริษัท สื่อสากล จำกัด และประธานจัดงาน "มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 26" เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า บรรยากาศการตอบรับของผู้ชมงานมหกรรมยานยนต์ล่าสุด ถือว่ามีกระแสที่ดีเกินคาดหมายไว้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ทั้งนี้ สะท้อนจากยอดจองรถยนต์ในงานวันรอบสื่อมวลชนและรอบบุคคลสำคัญ เมื่อ 2 ธ.ค. 2552 มียอดจองสูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากรอบสื่อมวลชนปีที่แล้ว มียอดราว 70 คัน แต่งานปีนี้มียอดถึง 211 คัน ส่วนงานวันที่สองมียอดจอง 782 คัน รวมถึงขณะนี้ มียอดจองรถใหม่ในงานรวมแล้ว 993 คัน

บริษัทสื่อสากล คาดว่า ตลอดงานจะมีการจองรถใหม่จากลูกค้า 15,000 คัน และมีผู้ชมเข้าชมงาน 1.6 ล้านคน

"บรรยากาศเป็นที่น่าพอใจ ผมสำรวจจากผู้ที่มาออกงานต่างพอใจ ว่า มียอดสั่งจองดีกว่าคาดไว้ โดยยอดจองปกตินั้น เฉลี่ยในวันธรรมดาจะมีประมาณ 1,000 คัน และจะเพิ่มสูง 2-3 เท่าในวันหยุด ซึ่งเชื่อว่า เมื่อรวมวันหยุดแล้วจะสามารถทำยอดได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ต้องไม่มีผลกระทบจากบรรยากาศการเมืองซึ่งไม่แน่ใจว่า ก่อนที่จะสิ้นส่วนงานนี้จะมีข่าวเชิงลบมากระทบบรรยากาศการซื้อของผู้บริโภคหรือไม่ ก็หวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นอีก"

นายขวัญชัย กล่าวต่อไปว่า ทางด้านบรรยากาศในงาน ผู้เข้าชมให้ความสนใจส่วนของรถเล็ก ซึ่งทุกค่ายนำรถยนต์ขนาดเล็กมาแสดงมีทั้งรถเล็ก 3 แสนบาท และรถเล็ก 3 ล้านบาท อย่างเช่น รถทาทา นาโน จากอินเดีย ก็มีผู้ให้ความสนใจมาก และทางทาทาก็เก็บข้อมูลที่ได้สำรวจความต้องการของผู้บริโภคโดยเชื่อว่าอนาคตอาจจะเห็นรถเล็กราคา 2 แสนบาท ที่ตรงกับรสนิยมของคนไทยก็ได้ ทั้งนี้ ทาทาเองก็คาดหวังไว้เช่นนี้เหมือนกัน

สำหรับงาน "มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 26" หรือ "The 26th Thailand International Motor Expo 2009" จัดขึ้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีบริษัทรถยนต์ 32 ยี่ห้อ เข้าร่วมกิจกรรม

งานปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "ขับเคลื่อน...สู่ความยั่งยืน" หรือ DRIVING…FOR SUSTAINABILITY โดยผู้จัดต้องการให้ทุกภาคส่วน ร่วมแรงร่วมใจกัน "ขับเคลื่อน" อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้ฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจไปสู่ความสำเร็จอันยั่งยืนในอนาคต"

ล่าสุดผู้จัดได้รับการตอบรับจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "ทิศทางอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ และพลังงานไทย" ซึ่งจะมีขึ้นศุกร์ที่ 11 ธ.ค. 2552 เวลา 14.00-15.30 น. ณ ห้องรอยัล จูบีลี่ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ส่วนกิจกรรมล่าสุดซึ่งเป็นไฮไลต์ ในวันนี้ (4 ธ.ค.) คือ การแสดงสตั้นท์ โชว์ โดยรัฟฟ์ สวิฟท์ สตั้นท์โชว์ระดับโลก ที่ลานจอดรถ P 9 เวลา 09.00 น.
krungthepturakij
************
25/11/52
กลุ่มยานยนต์ ซูซูกิ ใส่เกียร์เดินหน้า โครงการอีโคคาร์ หลังเคยประกาศชะลอโครงการจากเศรษฐกิจซบเซา คาดเดินสายการผลิต
โรงงาน 7,500 ล้านบาท ไตรมาสแรกปี 2553 (กรุงเทพธุรกิจ)
ความเห็น การประกาศเดินหน้าโครงการ Eco Car ของ ซูซูกิ นับเป็นผู้ประกอบการรายที่ 5 ที่ประกาศเดินหน้าโครงการ
ดังกล่าวต่อจาก Nissan, Honda, Mitsubishi และ Toyota ที่ประกาศแผนมาก่อนหน้านี้ โดยทาง ซูซูกิจะเริ่มก่อสร้างโรงงานที่
จังหวัดระยองในช่วงปลายปี 52 และคาดว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์ออกขายได้ในปี 2555 (ตามหลัง Nissan ที่จะเปิดตัวในปี 53
Honda ที่จะเปิดตัวในช่วงปี 54 ส่วน Mitsubishi ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงโมเดลรถที่จะใช้ในโครงการดังกล่าว) เรามองว่า
การที่ ซูซูกิ เดินหน้าโครงการจะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศมีโอาสที่จะได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากยังเป็น
เพียงแผนการดำเนินงาน เราจึงยังไม่เห็นผลดีที่จะเกิดกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในระยะสั้นแต่อย่างใด
ด้านภาพรวมธุรกิจยานยนต์ของไทย มีสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่จุดต่ำสุดในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยภาคการ
ส่งออกรถยนต์ในเดือน ต.ค. อยู่ที่ 59,502 คัน นับเป็นยอดการส่งออกรายเดือนที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 51 และเป็นการติด
ลบที่ต่ำสุดเช่นกันโดยติดลบจากเดือน ต.ค. 51 เพียง 11%YoY และเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย. ถึง 20%MoM เราคาดว่าเกิด
จากการที่ประเทศคู่ค้าต่างๆของไทยเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่หากพิจารณาในส่วนของการผลิตรถยนต์ มีการปรับ
เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย. เช่นกันโดยเพิ่มขึ้น 11%MoM และเมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 51 มีการติดลบเหลือเพียง 8% เท่านั้น มา
อยู่ที่ 115,043 คัน ซึ่งนับเป็นการผลิตที่มากกว่า 100,000 คัน/เดือน เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยรวมแล้วในช่วง 10M52 ที่ผ่าน
มาการผลิตรถยนต์โดยรวมอยู่ที่ 766,671 คันลดลง 36%YoY สำหรับช่วงที่เหลืออีก 2 เดือน ทางสภาอุตสาหกรรมคาดว่าการ
ผลิตรถยนต์ยังมีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเนื่องจากเป็นช่วง High Season ของการขาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อเนื่องไปถึง
เดือน ม.ค. 53 ด้วย (ทางสภาอุตสาหกรรมคาดการผลิตในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (พ.ย. 52 – ม.ค. 53) จะเพิ่มขึ้นจาก ช่วง
เดียวกันของปีก่อน (พ.ย.51-ม.ค. 52) ประมาณ 22%) สำหรับนำหนักการลงทุนเรา เรามองว่าอุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มมี
สัญญาที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการขายรถยนต์ การส่งออกรถยนต์ ซึ่งจะทำให้การผลิตรถยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ตามไปด้วย อีกทั้งในช่วงปลายปีจะเป็นช่วงที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ พยายามออกรายการส่งเสริมการขายเพื่อเพิ่มยอดขายให้มาก
ขึ้น แต่เนื่องจากราคาหุ้นในปัจจุบันได้รับรู้ข่าวดีจากการฟื้นตัวของกลุ่มยานยนต์มาบ้างแล้ว เราจึงให้น้ำหนักการลงทุนไว้
เพียง “เท่าตลาด” เช่นเดิม cgs
***********
24/11/52
อุตฯชิ้นส่วนรถลุ้นไตรมาส4ฟื้น
ผู้ประกอบการลุ้นกำไรพลิกเป็นบวกพร้อมหวังการเมืองไม่สะดุด ขณะที่ไทยสตีลรับสภาพทั้งปีวูบกว่า 25% แม้ไตรมาส 4 จะเริ่มฟื้น
คาดไตรมาส 4/52 ฟื้น หวังการเมืองไม่สะดุด "อาปิโก" มั่นใจพลิกกำไร เหตุเดือนต.ค.ยอดขายรถยนต์ แตะ 5 หมื่นคันแล้ว ลุ้นปีหน้าผลประกอบฟื้นกลับเท่าปี 2551 เตรียมทุ่ม 200-300 ล้านบาทซื้อที่ดิน-ผุดโรงงานที่จีนเพิ่ม ด้านไทยสตีลฯ เชื่อไตรมาสสุดท้ายดีกว่าไตรมาส 3/52 แต่ภาพรวมรายได้-กำไรปีนี้วูบ 25-30% ขณะที่ปีหน้าตั้งเป้าโตตามอุตสาหกรรม 15-20%

นายเย็บ ซู ชวน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค (AH) กล่าวว่า กำไรสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2552 จะฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เชื่อว่าจะมีกำไรสุทธิ 100 ล้านบาท เป็นอย่างต่ำ ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการทั้งปีนี้ พลิกเป็นกำไรสุทธิ หรือไม่ขาดทุนได้ จากงวด 9 เดือนที่ผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 102 ล้านบาท

ทั้งนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ทิศทางการซื้อรถยนต์ดีขึ้น โดยมียอดขายรถยนต์ทั้งอุตสาหกรรมอยู่ในระดับ 5 หมื่นคัน

อย่างไรก็ตาม จะมีผลต่อการจ่ายเงินปันผลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการบริษัทที่จะมีขึ้นในช่วงต้นปีหน้า แต่ที่ผ่านมาบริษัทมีการจ่ายอย่างต่อเนื่องตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 10% ของกำไรสุทธิ
สำหรับผลประกอบการในปี 2553 บริษัทตั้งเป้าว่า น่าจะกลับมาดีในระดับเดียวกับปี 2551 ซึ่งมีรายได้จำนวน 9,516 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 241 ล้านบาท เนื่องจากมองว่าภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวและยอดขายรถน่าจะดีขึ้น ขณะที่โรงงานแห่งใหม่ที่ จ.ระยองได้เริ่มเดินการผลิตและรับรู้รายได้ และค่ายรถยนต์ที่มีฐานผลิตในไทยก็ออกรถยนต์รถใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอีโคคาร์

ทั้งนี้ จากคำสั่งสินค้าที่เพิ่มเข้ามา ส่งผลให้กำลังการผลิตของบริษัทในปี 2553 จะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 90% จากระดับ 60% ในปีนี้ ทำให้บริษัทมีแผนสร้างโรงงานแห่งใหม่ใน จ.ระยองเพิ่ม อย่างไรก็ตาม บริษัทจะพิจารณาจากคำสั่งซื้อที่จะเข้ามาจาก 3 ค่าย คือโตโยต้า ซูซูกิ และทาทา ทั้งนี้ หากคำสั่งซื้อมากถึงระดับ 50% ของระดับกำลังการผลิตในปัจจุบัน จึงจะตัดสินใจลงทุน โดยใช้ที่ดินเดิมในจังหวัดระยอง ซึ่งมี 80-90 ไร่ โดยเป็นที่ดินว่างเปล่า 40-50 ไร่

นอกจากนี้ ปี 2553 บริษัทยังมีแผนสร้างโรงงานแห่งใหม่ในประเทศจีน หลังจากเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีนฟื้นตัวอย่างแท้จริง โดยจัดสรรงบลงทุน 200-300 ล้านบาท ทั้งนี้ ประเทศจีนมีศักยภาพค่อนข้างสูงทั้งอุตสาหกรรมมียอดขายรถยนต์ 11 ล้านคันต่อปี เทียบกับประเทศไทยมียอดขายรถยนต์ 1 ล้านคันต่อปี

ด้านนายสริศ พัฒนะเมลือง กรรมการบริหาร บริษัทไทยสตีลเคเบิล (TSC) ผู้ผลิตชิ้นส่วน OEM และ REM เพื่อส่งให้แก่โรงงานประกอบของลูกค้า ผู้ผลิตชิ้นส่วน และศูนย์อะไหล่ กล่าวว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมไตรมาส 4 ปี 2552 น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นหากเทียบกับงวดครึ่งปีแรก หลังจากที่มีสัญญาณคำสั่งซื้อกลับเข้ามา แต่จะต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิด หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นอาจทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมไม่ดีตามที่คาดการณ์ไว้

"ภาพรวมรายได้และกำไรของบริษัทปีนี้จะลดลงตามอุตสาหกรรมรวม ประมาณ 25-30% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและความวุ่นวายทางการเมือง แต่อัตรากำไรขั้นต้นน่าจะรักษาไว้ที่ 6.7% ส่วนปีหน้าคาดว่ารายได้รวมน่าจะเติบโตตามทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะเติบโต 15-20% และอัตรากำไรจะพยายามรักษาให้เท่ากับปีนี้" นายสริศกล่าว

แผนการลงทุนในปีหน้าบริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 70 ล้านบาท คิดเป็น 2% จากรายได้การขาย โดยจะนำไปใช้ซื้อเครื่องจักร ซึ่งในปีนี้บริษัทใช้งบลงทุนเพียง 40 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดอยู่ที่ 300 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนที่สูงแต่บริษัทไม่ได้มีนโยบายเปิดพอร์ตลงทุน เพราะมองว่า การมีฐานะเป็นบริษัทมหาชน ควรให้ผลตอบแทนมากกว่าที่จะนำเงินไปลงทุน เพราะการลงทุนในตลาดหุ้นมองว่ามีความเสี่ยงมากเกินไป ส่วนนโยบายการจ่ายเงินปันผล บริษัทก็คาดว่าจะรักษาอัตราการจ่ายเงินปันผลให้อยู่ในระดับเท่าเดิมไว้ได้

ทั้งนี้ ในปี 2552 มีโมเดลรถยนต์ใหม่ 4 โมเดล ปี 2553 มีโมเดลรถยนต์ใหม่ 4 โมเดล ปี 2554 มีโมเดลรถยนต์ใหม่ 5 โมเดล และปี 2555 มีโมเดลรถยนต์ใหม่ 3 โมเดล โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าเพื่อเข้าไปประกอบชิ้นส่วนยานยนต์

ส่วนกรณีที่กลุ่มตระกูลจุฬางกูร ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ทยอยเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นโดยล่าสุดถือสัดส่วนแตะ 38% นั้น เนื่องจาก กลุ่มดังกล่าว เห็นอนาคตและราคาหุ้นก็ไม่ได้ปรับตัวขึ้นแรง จึงเข้ามาเพิ่มการลงทุน แต่ระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นยังไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการนำกลุ่มบริษัทของตระกูลจุฬางกูรเข้าตลาดทางอ้อม (แบล็คดอร์ลิสติ้ง)
krungthepturakij
***********
24/11/52
Ford Motor เปิดแผนลงทุนกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในบราซิล

Posted on Monday, November 23, 2009
Ford Motor เปิดแผนลงทุนกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในบราซิล

หลังจากสามารถประคับประคองธุรกิจไม่ให้ล้ม และไม่ต้องพึ่งเงินรัฐมาได้ ผู้ผลิตรถอันดับ 2 ของสหรัฐฯ อย่าง Ford Motor ก็เผยถึงแผนลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในตลาดที่ยังมีศักยภาพสูง

ผู้ผลิตรถยนต์ Ford Motor เปิดเผยว่า ขณะนี้ บริษัทกำลังวางแผนลงทุนกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในบราซิล เพื่อเพิ่มระดับการผลิต โดยหวังใช้โอกาสที่ต้นทุนการกู้ยืมในประเทศตลาดเกิดใหม่นี้ยังต่ำเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤติครั้งล่าสุด ส่งสัญญาณว่า ความต้องการรถยนต์ใหม่จะขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วย

Mark Fields ประธานบริษัทในภาคพื้นอเมริกา บอกว่า งบก้อนนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุน 4 พันล้านเรียลที่บริษัทเคยประกาศออกมาก่อนหน้านี้ โดยเชื่อว่า แผนการขยับขยายจะช่วยสร้างงานได้อีก 1,000 ตำแหน่ง และเร่งระดับการผลิตของโรงงานในเขตบราซิลตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นจาก 250,000 คันเป็น 300,000 คันต่อปีด้วย

ปัจจุบัน Ford เป็นผู้ผลิตรถอันดับ 4 ในบราซิล เมื่อดูจากยอดขายเป็นหลัก และเป็นอันดับ 2 ในอเมริกา ตามหลังเพียง General Motors เท่านั้น

**********
24/11/52
ส่งออกรถยนต์ตค.ลดลง11.89%
ส.อ.ท.เผยยอดส่งออกรถยนต์ ต.ค.ลดลง 11.89% มาที่ 59,502 คัน

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เผยเดือน ต.ค.52 ยอดส่งยอดส่งออกรถยนต์ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 11.89% มาที่ 59,502 คัน แต่ขยายตัว 20.10% จากเดือน ก.ย.52 และมียอดสูงสุดนับจากเดือน ธ.ค.51 ขณะที่ยอดขายในประเทศอยู่ที่ 53,271 คัน ขยายตัว 9.5% จากเดือน ก.ย.52 สูงสุดในรอบปี 52

"เดือนตุลาคม 2552 ส่งออกสูงสุดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 เป็นต้นมา...ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศสูงสุดในปีนี้" นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าว

ทั้งนี้ ส่งผลให้ยอดส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ต.ค.52) อยู่ที่ 423,298 คัน ขยายตัวลดลง 36.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีมูลค่า 198,498 ล้านบาท ขยายตัวลดลง 34.79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวว่า ประมาณการผลิตรถยนต์ช่วงเดือน พ.ย.52-ม.ค.53 จะมีจำนวน 332,164 คัน เพิ่มขึ้น 9.77% ของยอดผลิตจริงช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.52 และเพิ่มขึ้น 21.62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
posttoday
************
19/11/52
ยานยนต์กำไรพุ่ง229%
อุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นแล้วจ้า 13 บจ.อวดกำไรไตรมาส 3 กว่า 324 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 229.47% จากไตรมาส 2 บิ๊ก SAT พูดเต็มปากพ้นวิกฤต

จากการรวบรวมผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปี 2552 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในหมวด ธุรกิจยานยนต์จำนวน 13 บริษัท มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 324.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 229.47% จากงวดไตรมาส 2 ปี 2552 ที่มีกำไรสุทธิ 98.52ล้านบาท โดยไม่นับรวมบริษัท ยานภัณฑ์ (YNP) ที่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งให้แก้ไขงบการเงิน
สำหรับบริษัทที่มีกำไรเติบโตอย่างโดดเด่นที่สุด คือ บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) ที่ไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิ 97.20 ล้านบาท โตขึ้น 7,319.84% จาก ไตรมาส 2 ที่มีกำไรสุทธิเพียง 1.31 ล้านบาท รองลงมาคือ บริษัท ที. กรุงไทยอุตสาหกรรม (TKT) มีกำไรสุทธิ 17.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 987.19% จากไตรมาส 2 ที่มีกำไรสุทธิ 1.64 ล้านบาท และบริษัท อาปิโก ไฮเทค (AH) มีกำไรสุทธิ 4.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 110.85% จากไตรมาส 2 ที่ขาดทุนสุทธิ 38.42 ล้านบาท

สำหรับบริษัทที่ฟื้นตัวชัดเจน เช่น บริษัท ไทยรุ่งยูเนียนคาร์ (TRU) ขาดทุนสุทธิ 22.32 ล้าน บาท ดีขึ้น 28.45% จากไตรมาส 2 ที่ขาดทุนสุทธิ 30.91 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ YNP นั้น ไตรมาส 3 ขาดทุนหนัก 625.75 ล้านบาท หลังแก้ไขงบการเงินตามคำสั่งก.ล.ต. และขาดทุนมากขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ขาดทุนสุทธิเพียง 245.79 ล้านบาท

นายวีระยุทธ กิตะพาณิชย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) กล่าวว่า แนวโน้มผลดำเนินงานในงวดไตรมาส 4 จะออกมาดีกว่าไตรมาส 3 เพราะขณะนี้คำสั่งซื้อในสินค้าประเภทต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของบริษัทขึ้นมาอยู่ ในระดับ 70% จากไตรมาส 3 ที่ผลิตเพียง 60% ทำให้รายได้จากการขายของบริษัทดีขึ้นด้วย

สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี บริษัทมีรายได้รวม 2,929.34 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการขาย 2,889.96 ล้านบาท ซึ่งการที่ยอดขายดีขึ้น ทำให้บริษัทคาดว่าเมื่อ สิ้นปีรายได้ของบริษัทจะลดลงจาก ปีก่อน 24% จากต้นปีประเมินว่ารายได้จะลดลงจากปีก่อน 25-30%

“มาถึงตอนนี้ทำให้เห็นภาพชัดเจนแล้วว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจชัดเจนแล้ว และปีหน้าก็หวังว่าน่าจะ ยังคงดีต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” นายวีระยุทธ กล่าว

บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรีอยุธยา (AYS) ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปีนี้ของ SAT เป็น 280 ล้านบาท จากเดิมประมาณการว่าจะมีกำไร 251 ล้านบาท หลังไตรมาส 3 กำไรดีเกิน และไตรมาส 4 น่าจะดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 3 และจะมีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยทั้งปีที่ 17-18%

สำหรับปี 2553 ยอดขายจะ เพิ่มขึ้น 20% จากปีนี้ แนะนำซื้อ เก็งกำไร ให้ราคาเหมาะสมปี 2553 ที่ 13.58 บาท
posttoday
*************
18/11/52
ยอดขายโตโยต้าทั่วโลกเพิ่มครั้งแรกในรอบ 15 เดือน

Posted on Wednesday, November 18, 2009
ยอดจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลกของบริษัทโตโยต้า ในเดือน ตุลาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยสามารถจำหน่ายรถยนต์ได้ 640,000 คัน นับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน

บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ได้ประกาศในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ว่า ทางบริษัทได้กลับมามีผลกำไรในไตรมาส 3/52 เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากความต้องการรถยนต์ประหยัดพลังงาน จากก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่า ในปีนี้บริษัทจะประสบภาวะขาดทุน

ขณะที่ในปี 2551 บริษัทโตโยต้าของญี่ปุ่นสามารถไล่ตามทันบริษัทคู่แข่งอย่างเจเนอรัล มอเตอร์ส ของสหรัฐฯ จนกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในโลก แต่ต่อมายอดขายกลับดิ่งลงอย่างหนักเป็นครั้งแรกในปีการเงินดังกล่าว ซึ่งนับถึงเดือนมีนาคม 2552
***********
18/11/52
ได้ฤกษ์รถยนต์ราคาถูกจากจีนบุกตลาดไทยเริ่มต้น 3.8 แสนบาท

Posted on Wednesday, November 18, 2009
นายวิทิต ลีนุตพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทย เฌอรี่ ยานยนตร์ บอกว่า ทางบริษัทจะเริ่มรุกตลาดซีตี้คาร์ในไทยมากขึ้น โดยได้นำรถ แบรนด์เฌอรี่ (Chery) จากประเทศจีนมาจำหน่าย วางกลุ่มเป้าหมายให้สามารถเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม เน้นจุดเด่นทางด้าน ดีไซน์ ความปลอดภัย และประหยัด โดยราคารถเริ่มต้นอยู่ที่ 380,000 บาทสำหรับเกียร์ธรรมดาและ 420,000 บาทสำหรับเกียร์ออโต้ ส่วนเงินดาวน์อยู่ที่ 15% และผ่อนขั้นต่ำเพียงเดือนละ 5,000 – 6,000 บาทเท่านั้น

ทั้งนี้จะบริษัทเปิดตัว รถเฌอรี่ อีกครั้งในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป วันที่ 2-13 ธันวาคมนี้ ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี และจะเร่งสร้างแบรนด์ให้ติดตลาด สำหรับส่วนแบ่งการตลาดรถประเภทชิตี้ คาร์ของบริษัทจะประเมินภายหลังงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป

นายดำรง ดำรงกุลวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เฌอรี่ ยานยนตร์ บอกว่า ได้ตั้งเป้าจำหน่ายรถยนต์เฌอรี่ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 300-400 คัน ส่วนแนวโน้มรถซิตี้คาร์ มองว่า จะมีคนหันมาใช้มากขึ้นและอาจจะมีการแข่งขันด้านราคา โดยบริษัทจะไม่เน้นเฉพาะราคาถูกเพียงอย่างเดียว แต่จะเพิ่มอุปกรณ์เสริมและการตกแต่งภายในรถให้ลูกค้า เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าทั้งเรื่องราคาและดีไซน์ทันสมัย
money news update
**********
17/11/52
กลุ่มยานยนต์ ยอดขายรถเดือนต.ค. พุ่ง 53,271 คัน ตลาดรถนั่งเริ่มตื่นโตทะลัก 23% ยอดพุ่งแตะ 2.2หมื่นคัน ขณะที่ยอดขาย 10
เดือน เกิน 4.1 แสนคัน ฟากโตโยต้าชี้ เดือนพ.ย. ยังไปได้สวย หลังค่ายรถเดินหน้าอัดโปรโมชั่นกระตุ้นเพียบ (ข่าวหุ้น)
ความเห็น ยอดขายรถยนต์ในเดือน ต.ค. 52 ที่ออกมา เป็นการทำสถิติยอดขายรายเดือนสูงสุดในรอบปี โดยเป็นการปรับตัว
เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน รวมทั้งยังเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย. อีก 9.5% โดยยอดขายรถยนต์ที่
เพิ่มขึ้นมาจากทั้งในส่วนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น 23%YoY และ 6%MoM รวมถึงรถกระบะเพื่อการพาณิชย์ขนาด 1
ตัน ที่เพิ่มขึ้น 1.5%YoY และ 14%MoM เราคาดว่าเกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ ที่เริ่มเห็นผลมากขึ้น
รวมทั้งค่ายรถยนต์มีการออกรายการส่งเสริมการขายออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยอดขายรถยนต์รวม 10M52 อยู่ที่ 419,755
คันลดลง 17.7%YoY เป็นอัตราที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 30% ในช่วงต้นปี โดยเราคาดว่าช่วงที่เหลือของปีอีก 2
เดือน (พ.ย.-ธ.ค.) ยอดขายรถยนต์จะมีแนวโน้มที่ปรับเพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจากเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของการขายรถยนต์ ที่จะมีการ
จัดงาน Motor Expo ในช่วงต้นเดือนธ.ค. และการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่อย่าง Mazda 2 และ Honda Freed ที่คาดว่าจะช่วย
กระตุ้นตลาดรถยนต็ในช่วงปลายปีได้อย่างมาก ซึ่งจากทิศทางยอดขายรถยนต์ที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราให้น้ำหนัก
การลงทุนอยู่ที่ “เท่าตลาด” เช่นเดิม โดยแนะนำให้เข้าลงทุนในหุ้นยานยนต์ที่มีพื้นฐานดีอย่าง STANLY หรือ SAT เป็นหลัก
cgs
*********
16/11/52
ตลาดรถยนต์ฟื้น รถยนต์นั่งโตสุดในรอบปี
ตลาดรถยนต์เดือนตุลาคมยอดขายรวม 53,271 คัน เพิ่มขึ้น 8.8% สะสม10 เดือนขาย 419,755 คัน ลดลง 17.7% รถยนต์นั่งเติบโตสูงสุดในรอบปี ที่ 23.4%
นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนตุลาคม 2552 ปริมาณการขาย 53,271 คัน เพิ่มขึ้น 8.8% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 22,747 คัน เพิ่มขึ้น 23.4% รถเพื่อการพาณิชย์ 30,524 คัน อัตราการเติบโตไม่เปลี่ยนแปลง รวมทั้ง รถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ จำนวน 26,487 คัน เพิ่มขึ้น 1.5%

สถิติการขายสะสม 10 เดือนของปี 2552 มีปริมาณทั้งสิ้น 419,755 คัน ลดลง 17.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยแบ่งออกเป็น รถยนต์นั่ง 175,552 คัน ลดลง 5.0% รถเพื่อการพาณิชย์ 244,203 คัน ลดลง 25.0% รวมทั้ง รถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซ็กเมนท์นี้จำนวน 211,377 คัน ลดลง 24.2%

ประเด็นสำคัญมีดังนี้

1. ตลาดรถยนต์เดือนตุลาคม มีปริมาณการขาย 53,271 คัน เพิ่มขึ้น 8.8% เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และสูงสุดในรอบ 18 เดือน โดยตลาดรถยนต์นั่งเติบโต 23.4% สูงสุดในรอบปี จากความนิยมอย่างต่อเนื่องของรถยนต์หลายรุ่นทั้งขนาดกลางและเล็ก ในขณะที่ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ มีอัตราการเติบโตไม่เปลี่ยนแปลง โดยตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 1.5% เป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการลงทุนของภาคเอกชน ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ส่งผลต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อที่ไม่เปลี่ยนแปลง และราคาสินค้าการเกษตรบางชนิดมีการปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง

2. ตลาดรถยนต์สะสม 10 เดือนมีปริมาณการขาย 419,755 คัน ลดลง 17.7% เป็นอัตราการเติบโตที่หดตัวน้อยที่สุดของปี เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลง 5.0% ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตลดลง 25.0% ทั้งนี้ยอดขายรถยนต์สะสมยังคงหดตัวแต่เป็นการหดตัวที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในท้ายไตรมาส 3 ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น การเร่งจ่ายงบประมาณภาครัฐ ตลอดจนการดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ดำเนินการในครึ่งปีหลัง ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น

3. สำหรับตลาดรถยนต์เดือนพฤศจิกายน คาดว่าจะมีปริมาณการขายดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแนะนำรถยนต์นั่งรุ่นใหม่ๆ ตลอดจนข้อเสนอพิเศษต่างๆ ที่แต่ละค่ายนำมาเสนอต่อผู้บริโภค เพื่อหวังบรรลุเป้าหมายทางการขายในช่วงสิ้นปี ประกอบกับราคาสินค้าการเกษตรที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการ ประกันราคาพืชผล ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน แต่อย่างไรก็ดี อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจซึ่งต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เดือนตุลาคม 2552

1.) ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 53,271 คัน เพิ่มขึ้น 8.8%

อันดับที่ 1 โตโยต้า 23,786 คัน เพิ่มขึ้น 15.8% ส่วนแบ่งตลาด 44.7%

อันดับที่ 2 อีซูซุ 10,614 คัน เพิ่มขึ้น 3.2% ส่วนแบ่งตลาด 19.9%

อันดับที่ 3 ฮอนด้า 9,009 คัน เพิ่มขึ้น 9.9% ส่วนแบ่งตลาด 16.9%

2.) ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 22,747 คัน เพิ่มขึ้น 23.4%

อันดับที่ 1 โตโยต้า 10,983 คัน เพิ่มขึ้น 36.4% ส่วนแบ่งตลาด 48.3%

อันดับที่ 2 ฮอนด้า 8,628 คัน เพิ่มขึ้น 11.6% ส่วนแบ่งตลาด 37.9%

อันดับที่ 3 นิสสัน 693 คัน เพิ่มขึ้น 13.8% ส่วนแบ่งตลาด 3.0%

3.) ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน* (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV) ปริมาณการขาย 26,487 คัน เพิ่มขึ้น 1.5%

อันดับที่ 1 โตโยต้า 11,465 คัน เพิ่มขึ้น 1.2% ส่วนแบ่งตลาด 43.3%

อันดับที่ 2 อีซูซุ 9,865 คัน เพิ่มขึ้น 4.1% ส่วนแบ่งตลาด 37.2%

อันดับที่ 3 นิสสัน 1,813 คัน เพิ่มขึ้น 14.0% ส่วนแบ่งตลาด 6.8%

*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน: 2,871 คัน

โตโยต้า 1,493 คัน - มิตซูบิชิ 654 คัน - อีซูซุ 612 คัน - ฟอร์ด 112 คัน

4.) ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 23,616 คัน ลดลง 0.2%

อันดับที่ 1 โตโยต้า 9,972 คัน ลดลง 0.5% ส่วนแบ่งตลาด 42.2%

อันดับที่ 2 อีซูซุ 9,253 คัน เพิ่มขึ้น 2.4% ส่วนแบ่งตลาด 39.2%

อันดับที่ 3 นิสสัน 1,813 คัน เพิ่มขึ้น 14.0% ส่วนแบ่งตลาด 7.7%

5.) ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 30,524 คัน ไม่เปลี่ยนแปลง

อันดับที่ 1 โตโยต้า 12,803 คัน เพิ่มขึ้น 2.6% ส่วนแบ่งตลาด 41.9%

อันดับที่ 2 อีซูซุ 10,614 คัน เพิ่มขึ้น 3.2% ส่วนแบ่งตลาด 34.8%

อันดับที่ 3 นิสสัน 1,842 คัน เพิ่มขึ้น 15.0% ส่วนแบ่งตลาด 6.0%

สถิติการจำหน่ายรถยนต์ เดือนมกราคม – ตุลาคม 2552

1) ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 419,755 คัน ลดลง 17.7%

อันดับที่ 1 โตโยต้า 177,666 คัน ลดลง 17.9% ส่วนแบ่งตลาด 42.3%

อันดับที่ 2 อีซูซุ 85,772 คัน ลดลง 23.3% ส่วนแบ่งตลาด 20.4%

อันดับที่ 3 ฮอนด้า 72,008 คัน ลดลง 0.2% ส่วนแบ่งตลาด 17.2%

2) ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 175,552 คัน ลดลง 5.0%

อันดับที่ 1 โตโยต้า 78,505 คัน ลดลง 11.4% ส่วนแบ่งตลาด 44.7%

อันดับที่ 2 ฮอนด้า 67,967 คัน เพิ่มขึ้น 5.6% ส่วนแบ่งตลาด 38.7%

อันดับที่ 3 นิสสัน 6,832 คัน เพิ่มขึ้น 10.3% ส่วนแบ่งตลาด 3.9%

3) ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน* (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV) ปริมาณการขาย 211,377 คัน ลดลง 24.2%

อันดับที่ 1 โตโยต้า 89,659 คัน ลดลง 22.6% ส่วนแบ่งตลาด 42.4%

อันดับที่ 2 อีซูซุ 80,054 คัน ลดลง 24.1% ส่วนแบ่งตลาด 37.9%

อันดับที่ 3 นิสสัน 15,180 คัน ลดลง 24.3% ส่วนแบ่งตลาด 7.2%

*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน: 21,167คัน

โตโยต้า 12,002 คัน - อีซูซุ 4,371 คัน - มิตซูบิชิ 4,268 คัน - ฟอร์ด 526 คัน

4) ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 190,210 คัน ลดลง 27.1%

อันดับที่ 1 โตโยต้า 77,657 คัน ลดลง 25.5% ส่วนแบ่งตลาด 40.8%

อันดับที่ 2 อีซูซุ 75,683 คัน ลดลง 24.6% ส่วนแบ่งตลาด 39.8%

อันดับที่ 3 นิสสัน 15,180 คัน ลดลง 24.3% ส่วนแบ่งตลาด 8.0%

5) ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 244,203 คัน ลดลง 25.0%

อันดับที่ 1 โตโยต้า 99,161 คัน ลดลง 22.4% ส่วนแบ่งตลาด 40.6%

อันดับที่ 2 อีซูซุ 85,772 คัน ลดลง 23.3% ส่วนแบ่งตลาด 35.1%

อันดับที่ 3 นิสสัน 15,471 คัน ลดลง 24.8% ส่วนแบ่งตลาด 6.3%

krungthepturakij*********
12/11/52
BMW ทุ่มลงทุนจีนสูงสุดในตลาดยานยนต์

Posted on Thursday, November 12, 2009
บีเอ็มดับเบิลยู เอจี บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมัน จะลงทุนในประเทศจีนเพิ่มอีก 5 พันล้านหยวน หรือประมาณ 735 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการลงทุนจากต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงที่สุดในตลาดยานยนต์ของจีนซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ทั้งนี้ บีเอ็มดับเบิลยูได้ลงนามในข้อตกลงกับหุ้นส่วนจีน คือ บริษัท บริลเลียนซ์ ออโตโมทีฟ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 8 ของจีน ในวันนี้ เพื่อขยายการร่วมทุนระยะที่สอง ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มก่อสร้างในปีหน้า

ปัจจุบัน บริลเลียนซ์ ออโต และ บีเอ็มดับเบิลยู ได้ร่วมทุนกันผลิตรถยนต์ บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 3 และ ซีรีส์ 5 ที่โรงงานในเมืองเฉินหยาง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
money news update***********
11/11/52
ส่งออกมอเตอร์ไซค์เติบโต ฮอนด้าส่งรุ่นใหม่ดันยอด
ฮอนด้ามั่นใจยอดส่งออกรถจักรยานยนต์ปีหน้าเติบโตดี เตรียมส่งรุ่นใหม่บุกตลาด

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออก รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยใน ปีหน้าจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยเฉพาะในส่วนของการส่งออก รถจักรยานยนต์สำเร็จรูป
ทั้งนี้ เนื่องจากมีการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ รุ่นใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นของฮอนด้าที่จะใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถ รุ่นพีซีเอกซ์ หรือค่ายรถจักรยานยนต์ที่มีการผลิตรถจักรยานยนต์ใหญ่ ในไทย

นอกจากนี้ เชื่อว่าในปีหน้าจะทำให้ตลาดส่งออกของรถจักรยานยนต์มีอัตราการขยายตัวเป็นบวก หลังจากที่แนวโน้มในปีนี้จะหดตัวอย่างมาก โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี ขยายตัวลดลงกว่า 20% มากกว่า การลดลงของตลาดในประเทศที่ 12%

สำหรับปัจจัยสำคัญมาจากภาวะ เศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบจาก การที่ฐานผลิตแต่ละแห่งหันไปใช้ชิ้นส่วนในประเทศกันมากขึ้น ก็ทำให้ตลาดส่งออกของประเทศไทย หดตัว

“ปีหน้าถ้าเราสามารถส่งออก รถจักรยานยนต์สำเร็จรูปได้ ก็จะส่งผลดีทั้งเรื่องการเป็นฐานผลิตของไทย และทำให้มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผมมองว่ามีโอกาส เพราะอย่างพีซีเอกซ์ที่จะเปิดตัวในประเทศไทย จะใช้เป็นฐานส่งออกจำนวนมาก รวมถึงการส่งกลับไปจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน” นายอดิศักดิ์ กล่าว

สำหรับฮอนด้านั้น ในปีนี้ยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนสำหรับตลาดในประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถ รักษายอดจำหน่าย 1.5 แสนเครื่องเอาไว้ได้ เนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชนระดับรากหญ้าโดยตรง

ด้านตลาดส่งออกในปีนี้น่าจะลดลงเหลือ 1.3 ล้านเครื่อง จากปกติที่ส่งออกประมาณ 1.7 ล้านเครื่อง หรือหดตัวไปประมาณ 26% จากตลาดสหรัฐและยุโรป
posttoday*************
05/11/52
โตโยต้า เตรียมถอนตัวจาก F1 หลังจบฤดูกาล 2552

โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป แถลงข่าวการถอนตัวจากการแข่งขันรถสูตร 1 หรือฟอร์มูลาวันเมื่อจบฤดูกาลแข่งขันปัจจุบัน โดยให้เหตุผลว่าต้องการลดต้นทุน ตามรอยฮอนด้า มอเตอร์ โค บริษัทผลิตยานยนต์อันดับ 2 ของญี่ปุ่นที่ตัดสินใจถอนตัวไปก่อนแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า โตโยต้าไม่ต้องการแบกรับต้นทุนการทำทีมฟอร์มูลาวันที่สูงถึงปีละหลายสิบล้านเยน ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้ทำให้ไม่เหลือบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นในการแข่งขันฟอร์มูลาวันแม้แต่บริษัทเดียว และโตโยต้ากำลังมองหาบริษัทในยุโรปให้มาเทคโอเวอร์ทีมฟอร์มูลาวันต่อไป

โตโยต้ามีตัวเลขขาดทุนจากการดำเนินงาน 461,010 ล้านเยนในปีงบการเงิน 2551 ซึ่งถือว่าเป็นปีแรกที่ขาดทุนนับตั้งแต่ปีงบการเงิน 2480 และคาดว่าจะขาดทุนเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันในปีงบ 2552 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมปีหน้า โดยคาดว่าอาจมีตัวเลขขาดทุนจากการดำเนินงานถึง 7.5 แสนล้านเยน ซึ่งถือว่าแย่สุดเป็นประวัติการณ์

หลังถอนตัวจากการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน หรือ เอฟวัน โตโยต้าจะหันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนารถประหยัดพลังงานซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้บริษัทได้เป็นอย่างดี โดยดูได้จากรถไฮบริดรุ่นพรีอุสของโตโยต้าที่มียอดขายอย่างท่วมท้น

ทั้งนี้ โตโยต้าเข้าร่วมการแข่งขันรถฟอร์มูล่าวันเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2545 โดยหวังพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีและสร้างภาพลักษณ์ในยุโรป และเคยกล่าวว่าจะร่วมแข่งจนถึงปี 2555 โดยโตโยต้ารั้งอันดับ 5 จากทั้งหมด 10 ทีมในปีนี้
***********
03/10/52
"ฮอนด้า"ฟุ้งส่งออกปี"52ทะลุ7หมื่นล. 9เดือนซิตี้แชมป์-จยย.เริ่มมีออร์เดอร์
ไตรมาส 4 ยอดส่งออกฮอนด้าดีขึ้น คาดส่งออกปี"52 มากกว่า 70,000 ล้านบาท ชูไทยฐานผลิตมอเตอร์ไซค์พีซีเอ็กซ์ ส่งทั่วโลก
นายฟูมิฮิโกะ อิเคะ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ยอดส่งออกผลิตภัณฑ์ของฮอนด้าประเทศไทยในช่วง 9 เดือนแรกมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 51,459 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 37%

สำหรับยอดส่งออกในไตรมาส 3 ของ ปีนี้มีมูลค่า 20,067 ล้านบาท ลดลง 21% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาเทียบกับไตรมาสแรกและไตรมาส 2 ซึ่งลดลง 40% และ 46% ตามลำดับ คาดการณ์ว่าการส่งออกในไตรมาส 4 จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ฮอนด้ายังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก ทั้งนี้คาดว่ายอดส่งออกถึงสิ้น ปี 2552 จะมีมูลค่ามากกว่า 70,000 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว 32% รวมมูลค่าสะสม 625,665 ล้านบาท

สำหรับตลาดรถยนต์ใน 9 เดือนแรก ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วน เพื่อการประกอบรถยนต์มีมูลค่าทั้งสิ้น 31,781 ล้านบาท ลดลง 39% จากช่วงเวลาเดียวกัน ปีที่แล้ว ยอดส่งออกในไตรมาส 3 มีมูลค่า 13,240 ล้านบาท ลดลง 17% จากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และการส่งออกชิ้นส่วนเพื่อการประกอบรถยนต์ในไตรมาส 3 มีมูลค่า 6,824 ล้านบาท คิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น 3% เนื่องมาจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียมีการเพิ่มจำนวนการผลิต

รถยนต์สำเร็จรูปในช่วง 9 เดือนแรก ฮอนด้าส่งออกทั้งหมด 30,052 คัน โดยฮอนด้า ซิตี้ถือเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมสูงสุด ยอดส่งออกทั้งสิ้น 11,505 คัน ตามมาด้วยฮอนด้า ซีวิค 7,484 คัน และฮอนด้า แจ๊ซ 5,189 คัน รวมทั้ง 3 รุ่น คิดเป็นสัดส่วน 80.5% ของจำนวนรถยนต์ที่ส่งออกทั้งหมด ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดโลกให้ความนิยมในรถยนต์นั่งขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันฮอนด้าส่งออกรถยนต์จากประเทศไทยไปกว่า 40 ประเทศทั่วโลก

รถจักรยานยนต์ การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนเพื่อการประกอบรถจักรยานยนต์ในช่วง 9 เดือนแรกมีมูลค่า 11,189 ล้านบาท ลดลง 35% จากช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว โดยยอด ส่งออกในไตรมาส 3 มีมูลค่าทั้งสิ้น 3,998 ล้านบาท ลดลง 28% จากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว การส่งออกชิ้นส่วนเพื่อการประกอบรถจักรยานยนต์เริ่มส่งสัญญาณ ฟื้นตัวเนื่องมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดหลัก เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย

นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังจะเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์รุ่นพีซีเอ็กซ์ โดยจะเริ่มส่งออกรถรุ่นดังกล่าวไปยังประเทศกลุ่มอาเซียนในต้นปี 2553 และจะทยอยส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ต่อไป ขณะที่เครื่องยนต์อเนกประสงค์ ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องยนต์อเนกประสงค์เพื่อส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของฮอนด้า ปัจจุบันส่งออกไปจำหน่ายกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ในตลาดหลักคือ สหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ฮอนด้าส่งออกเครื่องยนต์อเนกประสงค์แบบสำเร็จรูปและชิ้นส่วนจำนวนทั้งสิ้น 933,285 เครื่อง คิดเป็นมูลค่า 5,697 ล้านบาท ลดลง 28% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว

ในไตรมาส 3 ฮอนด้าส่งออกเครื่องยนต์อเนกประสงค์จำนวนทั้งหมด 321,456 เครื่อง เป็นมูลค่า 1,925 ล้านบาท ลดลง 16% แม้ว่าความต้องการในตลาดหลัก คือสหรัฐอเมริกา และยุโรป ยังคงชะลอ ตัว แต่ฮอนด้าสามารถขยายการส่งออกเครื่องยนต์อเนกประสงค์ในตลาด แถบภูมิภาคเอเชีย อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย ไต้หวัน เกาหลี เป็นต้น

ชิ้นส่วนอะไหล่ อุปกรณ์ตกแต่ง และแม่พิมพ์ : สำหรับชิ้นส่วนอะไหล่ยังคงมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกมีมูลค่าการส่งออก 1,769 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว แต่ด้านอุปกรณ์ตกแต่งและแม่พิมพ์มีการชะลอตัว ในช่วง 9 เดือนแรกยอด ส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น 2,792 ล้าน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว 27%
prachachart
**********
02/10/52
ยอดขายรถยนต์เดือนต.ค.ของ ญี่ปุ่นเพิ่ม 12.6%

Posted on Monday, November 02, 2009
สมาคมผู้แทนจำหน่ายยานยนต์แห่งญี่ปุ่น ระบุว่า ยอดขายรถยนต์ในญี่ปุ่นเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น 12.6% มาอยู่ที่ 263,506 คันจาก 233,922 คันในเดือนเดียวกันปีก่อน แต่ลดลงจาก 310,991 คันในเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายรถยนต์นั่งและรถยนต์ขนาดเล็กในเดือนดังกล่าวเพิ่มขึ้น 2.4% และ 15.5% ตามลำดับ ขณะที่ยอดขายรถบรรทุกลดลง 28.4% และยอดขายรถโดยสารลดลง 21.1%

ยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลดีจากที่รัฐบาลมีมาตรการอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์ไฮบริด ซึ่งมีคุณสมบัติในการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ในวันนี้ นายกรัฐมนตรียูกิโอะ ฮาโทยาม่าของญี่ปุ่นประกาศว่า รัฐบาลจะใช้งบประมาณ 3 ล้านล้านเยนในการกระตุ้นเศรษฐกิจจนถึงเดือนมีนาคม 2553
money news update
**********
28/10/52
ฮอนด้ามอเตอร์มีกำไรQ3ลดลงจากปีที่แล้ว56%
28 ตค. 2552 09:14 น.

ฮอนด้า มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 มีกำไรลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 56% โดยมีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 54,000 ล้านเยน หรือป 19,900 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่เคยได้กำไรถึง 123,300 ล้านเยน อย่างไรก็ตาม ผลกำไรของฮอนด้าที่ลดลงถือว่าไม่มากอย่างที่คาดไว้ และเชื่อว่าผลกำไรตลอดทั้งปีนี้ จะเป็นไปตามเป้าที่บริษัทวางไว้ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผลกำไรของ ฮอนด้า ลดลง เกิดจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับเงินสกุลสำคัญอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อยอดขาย โดยเฉพาะ ในตลาดต่างประเทศ โดยตลาดในประเทศยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งการยกเว้นภาษี และให้งบประมาณสนับสนุนในการพัฒนารถยนต์ไฮบริด
***********
27/10/52
ยอดส่งออกรถยนต์ก.ย.ลดลง 33.71%
27 ตค. 2552 13:38 น.

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ ส.อ.ท.เปิดเผยว่า ยอดการส่งออกรถยนต์ในเดือน ก.ย. ลดลง 33.71% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 49,542 คัน แต่มากกว่าเดือน ส.ค.14.72% หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 23,896.37 ล้านบาท ลดลง 30.04% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการผลิตรถยนต์มีจำนวน103,390 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.51% ขณะที่การผลิตรถยนต์ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ มีจำนวน 651,628 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 39.03%

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศอยู่ที่ 48,649 คัน เพิ่มขึ้นจากจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.60% และมากกว่าเดือน ส.ค. 12.48% เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้นจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้การบริโภคขยายตัว ภาคการส่งออกเริ่มติดลบน้อยลงและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเริ่มดีขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าการผลิตรถยนต์ในช่วงไตรมาสที่ 4 จะมีจำนวน 316,558 คัน เทียบกับยอดผลิตจริงในไตรมาสที่ 3 ซึ่งมี 262,543 คัน เพิ่มขึ้น 54,015 คัน หรือ 20.57% แต่หากเทียบกับยอดผลิตจริงในไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว ที่อยู่ที่ 325,310 คันแล้ว ลดลง 8,752 คัน หรือ 2.69% นอกจากนี้ คาดว่าทั้งปีนี้ จะส่งออกได้ตามเป้าที่ 510,000 คัน
*************
26/10/52
“อีโคคาร์” กู้วิกฤตยานยนต์ไทย ได้ขับแน่มีนาคมปีหน้า

Posted on Monday, October 26, 2009
อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีในวงการว่าไทยเป็นฐานการผลิตรถปิคอัพรายใหญ่ของโลก แต่แนวโน้มของรถยนต์ในอนาคตจะต้องประหยัดน้ำมันและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้แผนการส่งเสริมการผลิตอีโคคาร์เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีการกำหนดคุณสมบัติตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะมาตรฐานยุโรป ซึ่งถือได้ว่ามีประสิทธิภาพสูง อาทิ การใช้น้ำมันเพียง 5 ลิตร และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 120 กรัมต่อ 1 กิโลเมตร เท่านั้น โดยในขณะนี้มีผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนและได้เริ่มพัฒนารถอีโคคาร์ในประเทศไทยไปแล้ว 6 ราย คาดว่าในปีหน้าจะเริ่มออกสู่ตลาดประมาณ 2 ราย

สิทธิประโยชน์ที่ผู้ผลิตได้รับคือจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ รวมถึงชิ้นส่วนที่ยังผลิตไม่ได้ในประเทศเป็นเวลา 2 ปี ตลอดจนการลดภาษีสรรพสามิต ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนได้ประมาณ 3-5 หมื่นบาทต่อคัน โดย BOI กำหนดว่าภายใน 5 ปีหลังได้รับสิทธิประโยชน์จะต้องมีรถออกสู่ตลาดประมาณ 1 แสนคัน โดยจะจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

เพียงใจ แก้วสุวรรณ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรองผู้จัดการใหญ่ รัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด คาดว่า ในปีนี้ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ 1 ล้านคัน จากเดิมที่คาดว่าจะผลิตได้ 9.4 แสนคัน โดยคาดว่าจะส่งออกได้ 5.1 แสนคัน ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ยอดขายในประเทศอาจไม่เพิ่มมากนัก เพราะคนไทยยังไม่มั่นใจที่จะบริโภค แม้ว่าจะมีเงินในกระเป๋าก็ตาม

นิสสันเตรียมนำรถอีโคคาร์ออกสู่ตลาดในราวเดือนมี.ค. ปีหน้า ซึ่งเป็นการออกแบบใหม่หมดทั้งคัน มีขนาดเล็ก เน้นความคล่องตัว โดยจะเน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก และได้รับการส่งเสริมจาก BOI มาตั้งแต่ปี 2550 และในปีที่ 5 - 8 คือประมาณปี 2555 – 2558 จะต้องผลิตให้ได้ปีละ 1 แสนคัน ทั้งนี้การผลิตตามมาตรฐานที่ทาง BOI กำหนด และการที่ต้องใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ต้นทุนถูกลง และน่าจะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยมีเอเชียเป็นตลาดหลัก I

hard topics
************
23/10/52
“ฮุนได” กำไร Q 3 พุ่งทำสถิติสูงสุดรายไตรมาส

เอพี รายงานว่า ฮุนได มอเตอร์ บริษัทรายใหญ่ของเกาหลีใต้ รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 3 เท่า

โดยฮุนไดมีรายได้สุทธิพุ่งแตะระดับ 979.2 พันล้านวอน (ราว 827.3 ล้านดอลลาร์) ในช่วงไตรมาส 3 ที่สิ้นสุด ณ 30 กันยายน เทียบกับ 264.8 พันล้านวอนในช่วงเดียวกันของปีก่อน

“คี จิน-โฮ” โฆษกของฮุนได ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวทำสถิติสูงสุดในรายไตรมาส แซงหน้าไตรมาส 2 ของปีนี้ที่เคยทำสถิติสูงสุดที่ 811.85 พันล้านดอลลาร์

ยอดขายของฮุนไดในไตรมาสล่าสุดพุ่งขึ้น 33.8% อยู่ที่ 8.1 ล้านล้านวอน เพิ่มจาก 6.1 ล้านล้านวอนในปีก่อนหน้า

ในส่วนยอดขายในตลาดโลก เพิ่มขึ้น 41% อยู่ที่ 824,181 คัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ยอดขายของฮุนไดโตขึ้น 7.5% อยู่ที่ 2.23 ล้านคัน

บริษัทระบุว่า ในไตรมาส 3 ฮุนไดมีส่วนแบ่งตลาด 5.5% ในตลาดรถยนต์โลก เพิ่มจาก 4.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 5.2% ในไตรมาส 2 ของปีนี้

ทั้งนี้ ฮุนไดใช้การตลาดที่สร้างสรรค์ ทำให้ได้รับความสนใจ แม้ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญที่ให้ลูกค้าในสหรัฐและบางประเทศสามารถคืนรถที่ซื้อไปได้ หากพวกเขาตกงาน นอกจากนี้บริษัทยังได้ประโยชน์จากค่าเงินวอนที่อ่อนค่าลง ทำให้สินค้าของฮุนไดสามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น
prachachart
*********
21/10/52
เกรดหุ้นยานยนต์ยังปกติ
ยอดขายรถยนต์รวมเดือนก.ย. ปรับ สูงขึ้นครั้งแรกในรอบปี แต่เกรดหุ้นยานยนต์ยังปกติ

ยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนก.ย. มีจำนวนทั้งสิ้น 48,649 คัน เพิ่มขึ้น 1.60% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ 21,426 คัน ปรับตัวดีขึ้น 14.66% ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นสูงสุดในรอบปี อย่างไรก็ตาม ยอดขายในส่วนของรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงปรับตัวลดลง 6.75% โดยเป็นการปรับตัวลดลง ของรถกระบะ 1 ตัน 6.54%
รวม 9 เดือนยอดขายรถยนต์ในประเทศอยู่ที่ 366,484 คัน ลดลง 20.55% จาก ช่วงเดียวกันของปีก่อน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลลดลงน้อยสุด 8.16% ด้วยจำนวน 152,805 คัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจำนวน 152,805 คัน ลดลง 8.16% และรถยนต์เชิงพาณิชย์จำนวน 213,679 คัน ลดลง 27.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) ได้ปรับคำแนะนำเป็น “ลงทุนปกติ” จากน้อยกว่าปกติ และแนะนำให้ซื้อสูงสุดใน หุ้นบริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) ราคาพื้นฐาน 11.50 บาท

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ แม้ว่าทางโตโยต้าปรับลดคาดการณ์ยอดขายรถยนต์ปี 2552 ลงมาอยู่ที่ 4.8 แสนคัน ลดลง 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (จากประมาณการเดิมที่คาดว่าลดลง 15.4%) โดยเฉลี่ยราว 3.8 หมื่นคันต่อเดือน

บล.ฟิลลิป มองว่าเป็นการประมาณการอย่างระมัดระวัง เนื่องจากแนวโน้มยอดขายรถยนต์ในช่วงปลายปีมักจะปรับตัวสูงขึ้นจากการออกรถยนต์รุ่นใหม่ และปรับเปลี่ยนโฉมเพื่อกระตุ้นยอดขายช่วงปลายปี

ในส่วนของปี 2553 คาดว่ายอดขายรถยนต์จะดีขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับการกระตุ้นจากภาครัฐ ประกอบกับราคาผลผลิตทางการเกษตรที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น

ด้านสถาบันวิจัยนครหลวงไทย คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์พ้นจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2/2552 แล้ว และเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2553 ยังคงเป็นการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยเฉพาะภาคการส่งออก เนื่องจากสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศต่างๆ ที่แม้ว่าจะเริ่มฟื้นตัว แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงอีกครั้ง

นอกจากนี้ ประเมินว่าต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี ยอดผลิตรถยนต์ของไทยจึงจะฟื้นกลับสู่ระดับเดิมก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาได้สะท้อนการคาดการณ์ถึงการฟื้นตัวของผลประกอบการในปี 2553 แล้ว ดังนั้นจึงมีมุมมองว่าน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ที่เหมาะสมจึง เป็นเพียง “ปกติ”

คาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศได้รับอานิสงส์จากโครงการไทยเข้มแข็ง : ประเมินว่ายอดขายรถยนต์โดยเฉพาะรถปิกอัพ 1 ตัน และรถมอเตอร์ไซค์จะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4/2552 และต่อเนื่องในไตรมาส 1/2553 จากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” ที่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด

ดังนั้น ประเมินว่ายอดขายของหุ้นในกลุ่มยานยนต์ที่มียอดขายอิงกับรถปิกอัพ 1 ตัน SAT และบริษัท อาปิโก้ ไฮเทค (AH) และรถมอเตอร์ไซค์ (บริษัท ไทย แสตนเลย์การไฟฟ้า (STANLY) และบริษัท อีโนเวรับเบอร์ (IRC) จะได้รับประโยชน์จากโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” มากที่สุด

ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ต้องใช้เวลาอีก 3 ปี จึงจะกลับสู่ระดับเดิม : ประเมินว่าอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ของประเทศไทยต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี (หรือปี 2555) ยอดผลิตรถยนต์จึงกลับสู่ภาวะปกติก่อนเกิดวิกฤตเลห์แมนฯ คือ ประมาณ 1.4 ล้านคันต่อปี เช่นเดียวกับยอดขายของหุ้นในกลุ่มยานยนต์ก็ต้องใช้เวลา 3 ปีเช่นกัน จึงจะมียอดขายกลับสู่ระดับเดิมในปี 2551

นอกจากนี้ ในช่วงปี 2553 แม้ว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะเริ่มฟื้นตัว แต่ยังคงมีความเสี่ยงเรื่องการส่งออกที่อาจชะลอตัวลง หากรัฐบาลประเทศต่างๆ ยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลง

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย ยังคงคำ แนะนำ “ขาย” SAT : การที่ SAT ได้ทำการ ขอเลื่อนชำระหนี้เงินกู้กับสถาบันการเงินออกไป ทำให้ติดภาระผูกพันที่ทำให้ไม่สามารถจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้จน กว่าจะทำการชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว คาดว่า SAT จะไม่สามารถจ่ายปันผลสำหรับ ผลประกอบการปี 2552 และอาจต่อเนื่องจนถึงครึ่งแรกของปี 2553 ได้ ดังนั้น แม้ผลประกอบการจะเริ่มฟื้นตัวตามภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมก็ตาม

แต่สถาบันวิจัยนครหลวงไทย ยังคงคำแนะนำ “ขาย” SAT โดยประเมินมูลค่าเหมาะสมปี 2553 ไว้เท่ากับ 12.9 บาท

posttoday
***********
20/10/52
ยอดผลิตรถยนต์ในจีนพุ่งแตะ 10 ล้านคันแล้ว

Posted on Tuesday, October 20, 2009
สมาคมผู้ผลิตยานยนต์ของจีน (CAAM) ระบุว่า การผลิตรถยนต์ในประเทศนับตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบันได้พุ่งแตะ 10 ล้านคันแล้ว นับเป็นประเทศที่ 3 ในโลกที่มียอดการผลิตรถต่อปีทะลุหลัก 10 ล้านคัน ตามหลังสหรัฐฯและญี่ปุ่น

ยอดขายที่ทะลุหลัก 10 ล้านคันในปีนี้ทำให้ สมาคมผู้ผลิตยานยนต์ได้จัดงานเฉลิมฉลอง ร่วมกับ สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ของจีนที่สำนักงานใหญ่ของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่าง First Automobile Works Group ในฉางชุน เมืองหลวงของมณฑลจีหลินทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

ขณะที่ผู้ประกอบการยานยนต์ คาดว่า ยอดขายรถยนต์ในจีนปีนี้มีมากถึง 12 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มียอดขายราว 8.8 ล้านคัน ซึ่งเป็นผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับมาตรการภาษีรถยนต์ จนขณะนี้จีนสามารถแซงหน้าสหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่มียอดขายรถยนต์มากที่สุดในโลกไปแล้ว และในปีหน้านั้นยังต้องลุ้นว่า ทางการจีนจะขยายมาตรการด้านภาษีรถยนต์และอุดหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์หรือไม่
money news update************
16/10/52
Automotive ยอดขายรถยนต์เดือน ก.ย. 2552 เพิ่มขึ้น 12.48% mom และ 1.6% yoy (ที่มา : www.toyota.co.th)

ความเห็นนักวิเคราะห์ :
ยอดขายรถยนต์รวมทุกประเภทเดือน ก.ย. 2552 : โตโยต้ารายงานยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยเดือน ก.ย. 2552 เท่ากับ 48,649 คัน เพิ่มขึ้น 12.48% mom และ 1.6% yoy ซึ่งถือว่าเป็นยอดขายรายเดือนในระดับสูงที่สุดของปี 2552 ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศนั้นได้พ้นจุดต่ำสุดอย่างชัดเจนแล้ว อย่างไรก็ตามหากแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 1) รถยนต์นั่ง และ 2) รถปิกอัพ 1 ตัน จะเห็นได้ชัดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศเดือน ก.ย. 2552 ที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการเติบโตของยอดขายรถยนต์นั่งที่เติบโตสูงถึง 14.7% yoy และ 20.4% mom เป็น 21,426 คัน สอดคล้องกับมุมมองเดิมของ SCRI ว่ายอดขายรถยนต์นั่งจะเติบโตได้ดีกว่ารถปิกอัพ 1 ตัน และยังมีปัจจัยบวกเรื่องรถยนต์รุ่นใหม่เช่น โตโยต้า คัมรี่ ไฮบริด ขณะที่ยอดขายรถปิกอัพ 1 ตันในเดือน ก.ย. 2552 ลดลง 6.5% yoy แต่เพิ่มขึ้น 6.35% mom เป็น 23,161 คัน ทั้งนี้ SCRI คาดยอดขายรถปิกอัพ 1 ตันจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปี 2552 และในช่วงปี 2553 เนื่องจากได้รับอานิสงค์จากมาตรการไทยเข้มแข็ง ขณะที่ยอดขายรถยนต์นั่งจะได้รับอานิสงค์จากรถยนต์รุ่นใหม่ที่จะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงปลายปี 2552
ยังคงน้ำหนักการลงทุนเป็น “Neutral” : แม้ SCRI จะประเมินว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศจะเริ่มฟื้นตัวและเข้าสู่ High Season ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี แต่เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอีกปัจจัยหนึ่งยังคงอยู่ที่ยอดการผลิตเพื่อส่งออก เนื่องจากประเทศที่เป็นฐานลูกค้าหลักของการส่งออกรถยนต์จากประเทศไทยเช่นสหรัฐฯและยุโรป ยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และคาดว่าภายหลังจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เช่นมาตรการ “Crash for Clunkers” จะทำให้ยอดขายรถยนต์ในต่างประเทศมีโอกาสชะลอตัวลงอีกครั้ง ดังนั้น SCRI จึงยังคงน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ เป็นระดับ “Neutral” และยังคงคำแนะนำ “ขาย” SAT (มูลค่าเหมาะสม 12.90 บาท) เนื่องจากคาดว่าจะไม่สามารถจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นสำหรับผลประกอบการช่วงปี 2552 และ 1H/53 ได้ เพราะยังคงมีภาระผูกพันกับสถาบันการเงินเรื่องการขอเลื่อนชำระหนี้เงินกู้ออกไป

**********
08/10/52
คาดยอดขายรถยนต์จีนปีหน้าชะลอความร้อนแรง

Posted on Thursday, October 08, 2009
นายชิพปิ้ง ต่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไชน่าออโต้ ลอจิสติคส์ ผู้นำเข้ารถยนต์รายใหญ่ของจีน คาดว่า ตลาดยานยนต์จีนในปีหน้าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เหลือประมาณ 15% หลังจากที่คาดว่ายอดขายในปีนี้ที่จะขยายตัวสูงเกือบ 40% นับเป็นการขยายตัวที่สูงอย่างมาก และทำให้จีนสามารถขึ้นแท่นกลายเป็นตลาดรถรายใหญ่สุดของโลก

เมื่อปีที่แล้วยอดขายรถในจีนมีเพียง 8.8 ล้านคันเนื่องจากตลาดได้รับผลกระทบหนักจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่นายตงคาดว่า ยอดขายรถในปีนี้จะเพิ่มขึ้นแตะ 12 ล้านคัน อันเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวแล้ว รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล

แต่ตลาดยานยนต์ปีหน้าอาจจะมีแรงกระตุ้นที่ลดลง เนื่องจากทางการจีนยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะใช้มาตรการให้เงินช่วยเหลือและลดหย่อนภาษียานยนต์ต่อไปในปีหน้าหรือไม่ แต่ทางศูนย์ข้อมูลแห่งรัฐซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาของรัฐบาล กำลังโน้มน้าวให้รัฐบาลขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ ชาวจีนที่ซื้อรถต่างชาติส่วนมากนิยมรถโตโยต้า ขณะที่เจเนอรัล มอเตอร์ ก็ติด 1 ใน 5 อันดับ

money news update
***********
05/10/52
มิตซูบิชิตั้งเป้าครองมาร์เก็ตแชร์ปีนี้ 4%

Posted on Monday, October 05, 2009
นายจารุกร เรืองสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บอกว่า ยอดการจำหน่ายรถยนต์ของบริษัทตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ คือเดือนเมษายนถึงกันยายน มียอดขายรวม 10,000 คัน ซึ่งปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค

แต่ยังมั่นใจว่า ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ หรือ จนถึงเดือนมีนาคม 2553 บริษัทจะสามารถจำหน่ายรถยนต์ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 23,400 คัน และมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 4 % เพราะเศรษฐกิจมีสัญญาณที่ดีขึ้น รวมถึงบริษัทมีการออกรถยนต์รุ่นใหม่ในทุกประเภทสินค้า จึงน่าจะดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจซื้อรถยนต์ได้

นายจารุกร บอกอีกว่า ขณะนี้บริษัทได้เพิ่มชั่วโมงการทำงานเป็น 2 กะเท่าเดิม จากก่อนหน้าที่มีการลดชั่วโมงการทำงานลงเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะมีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนการส่งออกที่เริ่มมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามา โดยบริษัทยังคงกำลังการผลิตไว้ที่ 2 แสนคัน เท่าเดิม แบ่งเป็นรถกระบะ 1.5 แสนคัน และรถยนต์ส่วนบุคคล 5 หมื่นคัน

*********
02/10/52
"นิสสัน" ประกาศความพร้อมขาย "อีโคคาร์" เดือน มี.ค. 2553 ปูพรมแจงรายละเอียดตัวรถให้ลูกค้าปลายเดือน ต.ค.ปีนี้ ตั้งเป้าขายปีแรก 1 หมื่นคัน
นายโทรุ ฮาเซกาวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า วานนี้ (1 ต.ค.) ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 30 นาที เพื่อรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการรถเล็กประหยัดพลังงาน หรืออีโคคาร์ (Eco Car) ของนิสสัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการเติบโตของรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ซึ่งเป็นทิศทางใหม่ของโลกและพลังงาน และเชื่อว่าจะเป็นคลื่นลูกที่ 2 ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ต่อจากการเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพ 1 ตัน

พร้อมขายอีโคคาร์ มี.ค. 53

นายฮาเซกาวา กล่าวว่า ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรี ทราบว่า โครงการลงทุนผลิตรถอีโคคาร์ จะช่วยสร้างสรรค์เศรษฐกิจของประเทศไทยได้ โดยนิสสันยืนยันแผนการลงทุนอีโค คาร์ มูลค่าโครงการ 5,050 ล้านบาทเช่นเดิม แม้ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะชะลอตัว พร้อมจ้างงานเพิ่มกว่า 1,000 ตำแหน่ง และได้เลือกวันที่ 1 ต.ค. 2552 ซึ่งเป็นวันที่ภาษีสรรพสามิตรถอีโคคาร์ในอัตรา 17% เริ่มมีผลบังคับใช้ มาเป็นวันเริ่มโครงการอีโคคาร์ของนิสสันอย่างเป็นทางการ

"ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า รถอีโคคาร์ ของนิสสันจะมีราคาเท่าใด เพราะเวลาที่เหลืออีก 6 เดือนนั้น สามารถปรับเปลี่ยนด้วยการลดต้นทุนหรือปรับปรุงสเปครถได้อีก แต่ยืนยันว่าราคาจำหน่ายจะสมเหตุสมผล คนทั่วไปครอบครองได้ ไม่ผิดหวังแน่นอน" นายฮาเซกาวาระบุ

นายฮาเซกาวา กล่าวว่า อีโคคาร์ ถูกพัฒนาขึ้นด้วยแนวคิด "รถที่ใช่ ในเวลาที่ถูกต้อง และสถานที่ที่เหมาะสม" ทั้งนี้ นิสสันพร้อมที่จะเผยแพร่รายละเอียดของรถให้กับผู้บริโภคได้ในช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้ และพร้อมจะเปิดจำหน่ายอย่างเป็นทางการในงาน "บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2010" ในเดือน มี.ค.ปีหน้า ทั้งนี้ นิสสันกำหนดเป้าหมายการผลิตในปีแรก 3 หมื่นคัน โดยแบ่งเป็นการจำหน่ายในประเทศ 1 ใน 3 ของยอดการผลิต ส่วนที่เหลือเป็นการส่งออก โดยเน้นหนักในตลาดเอเชีย

นอกจากนี้ นิสสันยังยืนยันว่า ในปีที่ 5 จะเพิ่มการผลิตได้เป็น 1 แสนคัน/ปี ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดในการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้อย่างแน่นอน

ชูโกลบอลแพลตฟอร์มรถเล็ก

นายฮาเซกาวา กล่าวว่า รถอีโคคาร์ ของนิสสัน ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการออกแบบและพัฒนา ภายนอกสวยงามทันสมัย ภายในกว้างขวางลูกค้า โดยสามารถรองรับผู้โดยสารที่มีความสูง 180 เซนติเมตร ได้ 5 คน แบบไม่อึดอัด จากเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำหน้า ทั้งนี้ รถดังกล่าวใช้โกลบอล แพลตฟอร์ม ร่วมกับสายการผลิตในหลายประเทศ อาทิเช่น จีน อินเดียและยุโรป ขณะที่อัตราสิ้นเปลือง ก็ทำได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยในโอกาสนี้ นิสสัน ได้นำภาพสเกตช์ของอีโคคาร์ มาแสดงให้ดูด้วย

ทั้งนี้ สำหรับข้อกำหนดของอีโคคาร์ มีข้อหลักๆ คือ เครื่องยนต์เบนซินขนาดไม่เกิน 1,300 ซีซี หรือเครื่องดีเซล ไม่เกิน 1,400 ซีซี มาตรฐานไอเสียยูโร 4 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า 200 กรัม/กม. อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต้องทำได้ 5 ลิตร/100 กม. มีการผลิต 1 แสนคัน ภายในปีที่ 5 และมาตรฐานความปลอดภัย UNECE 94/95ุสมผล คนทั่วไปครอบครองได้ ไม่ผิด

ทั้งนี้ คาดว่ารถยนต์อีโคคาร์ ของนิสสันจะทำตลาดในชื่อมาร์ช จะมีทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล แต่จะทำตลาดโดยเครื่องยนต์เบนซิน 1,200 ซีซี 3 สูบก่อน โดยมีรายงานด้วยว่า นิสสันพยายามควบคุมต้นทุน เพื่อกำหนดราคาขายในระดับ 3.5 แสนบาท

ชู"นิสสัน เวย์"เพิ่มแชร์ตลาด 2 เท่า

นอกจากนี้ นิสสันยังได้ประกาศแผนธุรกิจ 4 ปี ภายใต้ชื่อ นิสสัน เวย์ (Nissan Way) หรือแผนการปรับปรุงปฏิรูป 2555 มุ่งหวังเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดเป็น 2 เท่าของปัจจุบัน หรือจาก 5% ในปี 2551 เพิ่มเป็น 10% ในปี 2555 พร้อมทั้งจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่สู่ตลาดเมืองไทยอย่างน้อยปีละ 1 รุ่น

แผนการปรับปรุงปฏิรูป 2555 ประกอบด้วย กลยุทธ์ 3 ประการ คือ ความสำเร็จของการเปิดตัวรถยนต์นิสสันอีโคคาร์ การพัฒนาการบริหาร ผลิตภัณฑ์ และคุณภาพขายและการให้บริการ และการนำหลักการ "นิสสัน เวย์" ซึ่งเป็นทัศนคติและข้อควรปฏิบัติของพนักงานบริษัท นำมาเพื่อเป็นหลักในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่เหมือนกับนิสสันทั่วโลก

นายฮาเซกาวา กล่าวว่า โครงการอีโคคาร์ จะทำให้นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) เป็นหนึ่งในฐานการส่งออกที่สำคัญของเครือข่ายการผลิตของนิสสันที่มีอยู่ทั่วโลก เพราะความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตจากชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ ปริมาณผลิตคุ้มทุนภายใต้มาตรฐานระดับโลก

ในส่วนการยืนยันด้านคุณภาพ นิสสันจะบรรลุเป้าหมายได้นั้น จะต้องใช้การพัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อให้ได้ระดับมาตรฐานการส่งออก ขณะเดียวกัน ยกระดับมาตรฐานการขาย การบริการหลังการขายขั้นสูงสุด เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีที่สุด พร้อมๆ กับการปรับปรุงการบริหารให้อยู่ในทิศทางเดียวกันของนิสสันทั่วโลก

ในส่วนวัฒนธรรมองค์กร "นิสสัน เวย์" ได้เริ่มจากการประกาศเปลี่ยนชื่อองค์กรจากเดิม บริษัทสยาม นิสสัน ออโตโมบิล มาเป็น บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อไม่นานมานี้ โดยถือเป็นจุดเริ่มในการนำวัฒนธรรมการทำงานในระดับมาตรฐานสากล ด้วยบุคลากรในประเทศมาใช้อย่างเป็นทางการ รวมถึงการส่งเสริมการทำงานแบบข้ามสายงาน เพื่อให้เกิดความหลากหลายในที่ทำงาน กระตุ้นให้เกิดความหลากหลายและความร่วมมือ

นายฮาเซกาวา กล่าวว่า แผนงานนี้ได้แสดงผลก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันนิสสันมีส่วนแบ่งทางการตลาด 5.7% โตขึ้นจากในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2551 ที่มีส่วนแบ่งการตลาด 5% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปิดตัวนิสสัน เทียน่าใหม่ เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
กรุงเทพธุริกิจ
*********
02/10/52
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ ธุรกิจเช่าซื้อในไตรมาส 4 จะกลับมาฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2552 ธุรกิจให้เช่าซื้อรถน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น โอกาสการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถเพิ่มสูงขึ้น โดยที่คุณสมบัติหรือความน่าเชื่อถือทางการเงินของผู้เช่าซื้อปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้อัตราการอนุมัติสินเชื่อของผู้ประกอบการให้เช่าซื้อรถเพิ่มสูงขึ้นตาม ซึ่งมีส่วนอย่างมากต่อยอดขายรถใหม่ เนื่องจากประมาณ 80% ของยอดขายรถใหม่ ใช้บริการสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถ

ขณะที่หากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ อาทิ การเมืองในประเทศ สามารถควบคุมได้ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็น่าจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการตัดสินใจซื้อสินค้าคงทนราคาแพงอย่างรถยนต์ ให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 3/2552 ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่แห่งหนึ่งประกาศรุกตลาดสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถ ด้วยการเสนออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าท้องตลาดพร้อมข้อเสนอพิเศษจูงใจดีลเลอร์ผู้ขายรถ ซึ่งทำให้กระแสการแข่งขันให้สินเชื่อเช่าซื้อกลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง อันเป็นผลดีต่อบรรยากาศการซื้อขายรถ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อยอดขายรถยนต์ ก็คือราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปัจจัยทั้งสองน่าจะมีผลไม่มากนัก เนื่องจากระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นน่าจะอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 10-15% ขณะที่ผู้บริโภคที่ซื้อรถใหม่ มีโอกาสเลือกใช้พลังงานทางเลือกได้

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาว อาจส่งผลต่อต้นทุนการเงินของธุรกิจให้เช่าซื้อในระยะต่อไป แต่กระแสการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยเพื่อเช่าซื้อรถ น่าจะปรับขึ้นได้ไม่มากนัก โดยมีแนวโน้มทรงตัวถึงสิ้นปี 2552 ก่อนจะปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยประมาณ 0.1-0.2% ในปีหน้า จากระดับประมาณ 2.55-2.65% ในปัจจุบัน ตามทิศทางขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในระบบ

ที่ผ่านมา สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของระบบสถาบันการเงิน (ไม่รวมบริษัทลูก) ณ 30 มิ.ย. 2552 เพิ่มขึ้นสุทธิจำนวน 10,795 ล้านบาทจากสิ้นปี 2551 คิดเป็นอัตราการเติบโต 2.89% จากสิ้นปี 2551 และเพิ่มขึ้น 9.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และยอดขายรถยนต์ แต่ก็ยังเป็นบวกเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่หดตัว 2.7% จากสิ้นปี 2551 (แต่เพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยพิเศษเนื่องจากการเข้าซื้อกิจการลีสซิ่งรายเล็กที่อยู่นอกระบบสถาบันการเงินของธนาคารขนาดเล็ก แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศในช่วงครึ่งแรกของปีที่หดตัวลงถึง 27.74% หรือลดลง 88,855 คัน เป็น 231,429 คัน ประกอบกับคุณสมบัติของผู้กู้ยืมด้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงถึง 6.0% ในช่วงเดียวกัน ส่งผลให้อัตราการพิจารณาให้สินเชื่อของสถาบันการเงินมีสัดส่วนลดลงก็ตาม
กรุงเทพธุรกิจ
************
02/10/52
ยานยนต์เฮรัฐหั่นภาษีอีโคคาร์ SAT ออเดอร์ล้นได้งานคูโบต้า
SAT ทุ่มงบ 100 ล้านบาท เล็งผุดโรงงานใหม่ รองรับออเดอร์จากคูโบต้า พร้อมยิ้มร่ารับอานิสงส์ยานยนต์ฟื้นออเดอร์ทะลัก พ่วงข่าวดีรัฐลดภาษีอีโคคาร์เหลือ 17% คาดยอดขายรถเล็กพุ่ง ด้าน STANLY ชี้ชัดยานยนต์ผงาดแล้ว เตรียมกางโกดังรับออเดอร์ใหม่
*************
30/09/52
ยอดส่งออกรถยนต์สิงหาลด36.21%
สภาอุตฯเผยยอดส่งออกรถยนต์สิงหาลด 36.21%มาที่ 43,106 คัน

วันนี้(30กันยายน) นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดการส่งออกรถยนต์ในเดือน ส.ค.52 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 36.21% มาอยู่ที่ 43,106 คัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 20,840 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 36.62% ในขณะที่การส่งออกรถยนต์ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ส.ค.52) ส่งออกได้ 314,445 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 40.08% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 146,524 ล้านบาท ลดลง 39.10%

ส่วนการผลิตรถยนต์ในเดือน ส.ค.52 มีจำนวนทั้งสิ้น 84,107 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 18.86% ในขณะที่การผลิตรถยนต์ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 548,238 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 41.98%
posttoday
**************
30/09/52
ยอดส่งออกรถชั้นนำของญี่ปุ่นเดือนส.ค.ร่วง

บริษัทรถชั้นนำ 5 รายของญี่ปุ่นเผยยอดการผลิตรถทั่วโลกและการส่งออกเดือนส.ค.ร่วงลงเมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่บริษัทรถอีก 4 รายสามารถทำยอดขายในประเทศได้เพิ่มขึ้นจากระดับปีที่แล้ว

ในบรรดาค่ายรถชั้นนำทั้ง 5 นั้น มิตซูบิชิ มอเตอร์ มียอดการผลิตทั่วโลกที่ลดลงมากที่สุดถึง 32.1% เหลือ 62,924 คัน ขณะที่ยอดการผลิตทั่วโลกของฮอนด้า มอมเตอร์ ร่วง 16.6% เหลือ 246,403 คัน ส่วนนิสสัน มอเตอร์ ตกลง 13.7% แตะ 217,954 คัน มาสด้า มอเตอร์ ร่วง 12.8% เหลือ 84,823 คัน และโตโยต้า มอเตอร์ อ่อนตัวลง 9.9% เหลือ 566,262 คัน โดยในกรณีของโตโยต้านั้น นับรวมฮีโน่ มอเตอร์ส และไดฮัทสุ มอเตอร์ ด้วยเช่นกัน

มิตซูบิชิยังทำยอดส่งออกได้น้อยที่สุด โดยยอดส่งออกของมิตซูบิชิร่วง 66.8% รองลงมาคือ ฮอนด้าที่ยอดส่งออกตกลง 60.7% โตโยต้าร่วง 40.2% นิสสัน 36.3% และมาสด้า 31.5%

สำหรับยอดขายในประเทศนั้น มิตซูบิชิมียอดขายเพิ่มขึ้น 15% นับเป็นยอดขายที่ปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ส่วนโตโยต้ามียอดขายเพิ่มขึ้น 4.5% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ฮอนด้า เพิ่มขึ้น 4.2% ขยายตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่วนนิสสันมียอดขายเพิ่มขึ้น 0.8% ขณะที่มาสด้ามียอดขายในประเทศลดลงไป 3.4% แต่สถิติที่ลดลงไปนั้นน้อยลงเมื่อเทียบกับยอดเดือนก.ค.ที่ลดลงไป 14.3%

*************
30/09/52
ยอดผลิตและส่งออกรถยนต์ของไทยเริ่มกระเตื้อง หลังเศรษฐกิจฟื้นตัว คำสั่งซื้อเริ่มเข้ามามากขึ้น

Posted on Tuesday, September 29, 2009
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกยานยนต์ของไทยติดลบถึง 40% ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการส่งออกในปี 2551 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7.7 แสนคัน ซึ่งนับว่าเป็นฐานตัวเลขที่สูง ในขณะที่ปีนี้ส่งออกไปได้เพียง 3.17 แสนคันเท่านั้น โดยยอดขายเริ่มตกลงมาตั้งแต่เดือนม.ค. ทำให้ส่งออกได้เพียงประมาณเดือนละ 3.4 หมื่นคัน แต่ในเดือนส.ค.ยอดส่งออกยานยนต์ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.3 หมื่นคัน ซึ่งน่าจะช่วยรับประกันได้ว่า สถานการณ์การส่งออกได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

นอกจากนี้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้มีการปรับลดเป้าการผลิตรถยนต์ประจำปีนี้จาก 1.4 ล้านคัน เหลือเพียง 9.4 แสนคัน ซึ่งเท่ากับว่า ภาวะการส่งออกยานยนต์ได้ถดถอยลงไปเท่ากับเมื่อ 3-4 ปีก่อนหน้านี้ เพราะไทยเพิ่งจะฉลองการผลิตรถยนต์ได้ 1 ล้านคันไปเมื่อปี 2548 และสามารถผลิตได้ 1.39 ล้านคันในปี 2551

สำหรับในปีนี้ในช่วง 8 เดือนแรกยอดการผลิตรถยนต์อยู่ที่เพียง 5.5 แสนคัน แต่ในช่วง 3 เดือนที่เหลือนับจากนี้การผลิตจะเพิ่มขึ้นมาก โดยคาดว่าจะผลิตได้เดือนละเกือบ 1 แสนคัน และทำให้เป้าการผลิตของปีนี้ที่ 9.4 แสนคันเป็นจริงได้

สุรพงษ์ยังกล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และในช่วง 2-3 ปีมานี้ไทยผลิตเพื่อส่งออกมากกว่าการขายในประเทศ และเมื่อลดกำลังการผลิตลงทำให้สต็อกมีไม่เพียงพอ ในช่วงที่ผ่านมาผู้ซื้อรถในประเทศ ซึ่ง 80% เป็นรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดน้ำมันต้องจองรถนาน 2-3 เดือนจึงจะได้รับรถ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแผนการผลิตที่ผู้ผลิตแต่ละรายแจ้งเข้ามาจะพบว่า มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่ทางการมีการอัดฉีดมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ใบสั่งซื้อสินค้าที่เริ่มมีเข้ามาในระยะนี้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ บ่งชี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้อีกในอีก 3 เดือนข้างหน้า และหากผลการดำเนินงานในไตรมาส 4 ออกมาดี ก็จะส่งผลต่อเนื่องไปยังไตรมาส 1 และ 2 ในปีถัดไปด้วย โดยดุสิตเชื่อว่า การเมืองที่มีเสถียรภาพ จะทำให้ผู้ประกอบการชาวต่างชาติที่ลงทุนในประเทศไทยอยู่เดิม เลิกคิดที่จะย้ายฐานผลิตไปยังประเทศอื่น และนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ในไทยมักจะติดใจในฝีมือแรงงานและอุปนิสัยของคนไทยอยู่แล้ว
hard topic
*************
ข่าวอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น